ความจริงที่ชายแดนใต้

ผ่านมัสยิดกรือเซะ ระหว่างการเดินทาง

เข้าสู่พื้นที่สีแดง เดี๋ยวนี้จุดตรวจน้อยลง ความรู้สึกคนในพื้นที่คงดีขึ้นบ้าง

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาเรามีโอกาสได้ไปลงพื้นที่ทำข่าวเสวนา ซึ่งเป็นสื่อเดียวที่ถูกเชิญไป โดยผู้เชิญคือ สมาคมปัญญาชนมุสลิม ซึ่งร่วมกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 จัดการเสวนา Prepare for Peace หรือการเสวนาสันติสุขใต้ เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหาและเข้าถึงประเด็นความต้องการที่แท้จริงของชาวมุสลิมในเขต 5 จังหวัดชายแดนใต้ และกลุ่มผู้นำขบวนการต่างๆ ที่เคยมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนใต้
------เรามองว่า การไปทำสกู๊ปครั้งนี้น่าสนใจมากและเป็นโอกาสอันดี เพราะเราอยากฟังความจริงจากแกนนำขบวนการหลายๆ คน ว่าเขามีความคิดอย่างไรกันบ้าง -------
ในการเสวนาครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการระดมสมองจากบรรดาแกนนำขบวนการทั้งอดีตและปัจจุบัน ผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา ครู และเหล่าปัญญาชนมุสลิมที่ได้รับการยอมรับจากผู้คนใน 5 จังหวัด คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ สตูล เพื่อหาหนทางในการแก้ไขปัญหาและลดระดับความรุนแรงในการเขตสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง

อาวุธมากมายในรถที่นำเราไปในพื้นที่ ช่วยให้อุ่นใจขึ้นได้บ้าง แต่แหม...เอ็ม 16 หนักจังเลย มีไรจริงๆ เราจะยกไหวมั้ยเนี่ยยย...

บรรยากาศในการเสวนา ---ข้าพเจ้าอาจเป็นคนเดียวที่ไม่ได้เป็นมุสลิม และเป็นหญิงคนเดียวที่ไม่ได้คลุมฮิญาบเข้าฟัง เป็นคนเดียวที่พูดและฟังยาวีไม่ได้-ไม่เข้าใจ แต่ทุกคนก็ต้อนรับดีมาก คนใต้มีน้ำใจ เป็นมิตร ยิ้มรับและดูแลเทคแคร์อย่างอบอุ่นจริงๆ ฉันไม่รู้สึกว่าที่นี่น่ากลัวอะไรเลย

ในวันนั้น พลโท อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาค 4 ในฐานะผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ผู้รับผิดชอบพื้นที่ในเขตนี้โดยตรง ได้เข้าร่วมการเสวนาเปิดใจรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ ด้วย ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี ซึ่งการเสวนาครั้งนี้เป็นไปอย่างเข้มข้น มีการยกประเด็นที่เป็นเหมือนตัวจุดชนวนปัญหาให้ฝังรากลึกขึ้นมาถกกันในที่ประชุมอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งปัญญาชนมุสลิมบางคนถึงกับกล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายรัฐยินดีรับฟังแบบเปิดกว้าง เพราะที่ผ่านมาพูดไม่ได้ อธิบายไม่ได้เพราะเข้าไม่ถึง ไม่มีใครยอมฟังใคร ซึ่งต่างจากเหตุการณ์ครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ภาครัฐจะได้นำปมปัญหาไปแก้ไขคลายปมทีละจุด ซึ่งปัญญาชนมุสลิมทุกคนยินดีให้ความร่วมมือ หากรัฐมีความจริงใจในการแก้ปัญหาเช่นนี้ต่อไป
“ปัตตานีในอดีตกับปัจจุบันต้องศึกษาให้ชัด และตรงไปตรงมา อยากให้รัฐสร้างความเจริญให้เรา และมีความยุตะรรม แก้ไขประวัติศาสตร์ที่มันบิดเบือนไป ที่สำคัญปัญหานี้จะไม่มีวันแก้ได้เลยถ้าไม่พูดความจริงต่อกัน ที่ผ่านมาหลายคระพยายารมแก้ด้วยสันติวิธี เราก้อยากบอกว่าที่แก้ไม่ได้ก็เพราะ แก้ไม่ตรงจุดและไม่พูดความจริงกัน”
เราสังเกตว่า ในการเสวนาครั้งสำคัญนี้มีเพียงคนของ กอ.รมน.ภาค 4 มารับฟังประเด็นปัญหาเท่านั้น น่าแปลกที่ความพยายามในแนวทางดังกล่าวไม่ได้รับความสนใจจากฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครองแต่อย่างใด จึงน่าจะเป็นเรื่องที่แม่ทัพภาค 4 ที่อิงกับแนวทางพิราบขาว อาจปฎิบัติงานนี้ค่อนข้างลำบาก เผลอๆ อาจถูกโดดเดี่ยวได้(ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็ดีใจกับท่านด้วย) แม้จะมีเจตนาดีและใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการจะปรับท่าทีและแผนปฎิบัติการให้เป็นไปโดยละมุนละม่อมก็ตาม ผู้นำมุสลิมแนวสันติวิธี เปิดใจว่า แม้แม่ทัพภาค 4 คนใหม่จะเป็นที่ยอมรับของชาวมุสลิมใน 5 จังหวัดชายแดนใต้อย่างมาก ทว่าหากไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครอง ก็ยากที่จะขับดันแนวทางสันติวิธีให้ไปถึงจุดหมายได้
สำหรับประเด็นที่เหล่าปัญญาชนมุสลิมจาก 5 จังหวัดเรียกร้องต้องการให้มีการเปิดใจปรับแก้ไขร่วมกันคือ
1. แนวโน้มถึงการพูดคุยกันระหว่างรัฐกับขบวนการ โดยรัฐต้องรับรองว่า เมื่อแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มใดก็ตามยินยอมไปพูดคุยแล้ว จะต้องได้รับความปลอดภัย ให้รัฐมองเสมือนเป็นผู้มีแนวคิดที่แตกต่างเท่านั้น ไม่ใช่โจร และรัฐไม่ควรยัดเยียดคำว่า ‘โจรแบ่งแยกดินแดน’ หรือใช้คำเรียกว่า ‘โจรใต้’ แบบเหมารวม ดังที่สื่อทั่วไปใช้ในการตีข่าว-พาดหัวข่าวเสมอ นั่นถือเป็นการตราหน้าเจ้าของพื้นที่ซึ่งอยู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษอย่างไม่เป็นธรรม
2. อยากให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เพียงรับฟังปัญหาอย่างเดียวแต่ไม่ดำเนินการอะไรจริงจังเช่นที่ผ่านมา จุดนี้ผู้นำชุมชนมุสลิมจากจ.นราธิวาส มองว่าคนที่ยอมเปิดใจรับฟังทุกเรื่องจริงๆ ณ วันนี้ มีเพียงแม่ทัพ 4 คนปัจจุบันคนเดียวในประเทศนี้เท่านั้น ซึ่งหวังว่าจะมีคนอื่นที่มีอำนาจสั่งการยอมรับฟังด้วยบ้าง
3. ความยุติธรรม เป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะที่ผ่านมาภาครัฐไม่มีความเสมอภาคต่อมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้เท่าไหร่นัก ปัญญาชนกลุ่มครูมุสลิมจากนราธิวาสท่านหนึ่งยกตัวอย่างว่า ความไม่เสมอภาคนี้สังเกตจากการให้เบี้ยเสี่ยงภัยแก่ครูหรือข้าราชการที่ทำงานในพื้นที่สามจังหวัด แต่ครูจากโรงเรียนปอเนาะไม่เคยได้ ทั้งที่ก็มีความเสี่ยงภัยเหมือนกัน อีกทั้งในเรื่องของสวัสดิการทางสังคมก็ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่สูงระหว่างชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม
4. ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน เช่น ป้ายชื่อหรือชื่อเรียกหมู่บ้าน ตลอดจนถนนหนทางที่ทางการเข้าไปจัดการเปลี่ยนแปลง โดยไม่เคยถามชาวบ้าน ไม่สนใจความรู้สึกของชาวมุสลิม ซึ่งชื่อหมู่บ้านมักเป็นชื่อที่มีมาแต่ดั้งเดิมนานแล้ว และเป็นภาษาถิ่นที่ใช้เป็นหลักโดยทั่วไป คือ มลายู และ อาหรับ แต่ทางการกลับมาตั้งชื่อใหม่สวมแทนที่ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางความรู้สึก ที่ชาวบ้านสะสมความไม่พอใจนี้มายาวนานแต่ไม่กล้าโต้แย้ง เพราะหวาดเกรงในอำนาจที่เจ้าหน้าที่รัฐมี และแสดงออกอย่างชัดเจนโจ่งแจ้งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ว่าห้ามหือห้ามอือ

เกี่ยวกับ 4 ประเด็นที่ปัญญาชนมุสลิมจากสามจังหวัดได้เสนอเป้นหนทางขั้นต้นๆ ที่รัฐควรเข้าไปแก้ไขเยียวยาเสียก่อน กรณีนี้แม่ทัพภาค 4 ยืนยันว่า หลายข้อ แต่ละชุมชนสามารถเรียกร้องแก้ไขได้ตามสิทธิของชุมชนอยู่แล้ว และขอรับข้อเสนอไปดำเนินการ และพูดคุยกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง แต่ที่สิ่งสำคัญที่สุดคือ นโยบายของแม่ทัพ 4 ณ วันนี้ไม่ได้ปฎิเสธการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของกลุ่มตัวเอง “สิ่งที่เน้นย้ำอย่างชัดเจนกับเหล่าปัญญาชนและผู้นำมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็คือ สนับสนุนให้ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ตามสิทธิเสรีภาพ แต่ไม่สนับสนุนการต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น ” พลโทอุดมชัยกล่าว

แม่ทัพภาค 4 ให้ข้อเสนอที่น่าฟังและน่าคิดมากคือข้อเสนอแนะที่ว่า การต่อสู้ที่ท่านสนับสนุนก็คือ ให้ไปทางการเมือง โดยให้มุสลิมเกาะกลุ่มกัน สามัคคีกัน อย่าตีกันเอง อีกทางคือ ไปทางราชการ หมายถึงให้ชาวมุสลิมเปิดกว้างในเรื่องของการศึกษานอกทางอิสลามบ้าง เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าไปรับราชการได้ เพราะหากเรียนแต่ในโรงเรียนสอนศาสนาเพียงอย่างเดียว ก็ไม่อาจสร้างกำลังของกลุ่มก้อนของตนเองให้ก้าวไปกุมอำนาจในส่วนราชการต่างๆ ได้ แต่หากเปิดกว้างทางการศึกษา คนรุ่นใหม่ๆ ก็จะมีโอกาสก้าวไปในระบบราชการส่วนต่างๆ ไม่ว่า ตำรวจ ทหาร ข้าราชการฝ่ายปกครอง ซึ่งการสร้างคนเหล่านี้ไปสู่จุดนั้น อนาคตก็จะช่วยเป็นกลไกในการพัฒนาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ให้อยู่ดีมีสุข มีความมั่นคงในชีวิตกันมากขึ้น นี่ถือเป็นการแก้อย่างตรงจุด ซึ่งเป็นเรื่องชาวมุสลิมเองก็ต้องยอมรับที่จะปรับเปลี่ยนแนวคิดของตัวเองเพื่อไปสู่การพัฒนาอย่างจริงจังด้วย
“การลงมือปฎิบัติจริงจัง ลงมือทำเอง แก้ไขตัวเราเองก่อน ย่อมดีกว่าการเรียกร้องอย่างเดียว ซึ่งมันได้พิสูจน์แล้วว่าที่ผ่านมามันไปไม่ถึงไหน ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ตัวเราเอง ชุมชน ทหาร และรัฐ” แม่ทัพภาค 4 กล่าว
สุดท้ายกลุ่มปัญญาชนมุสลิมยังเรียกร้องให้ภาครัฐ ช่วยส่งเสริมให้ใช้สื่อหะดิษเข้าไปช่วยคลี่คลายปัญหา และเพื่อนเตือนสติมุสลิมนอกลู่นอกทาง และในที่ประชุมยังมีการกล่าวถึงเรื่องของคนต่างถิ่นอย่าง คนอีสานที่เข้าไปเปิดสถานบันเทิง เช่น คาราโอเกะใกล้มัสยิด ซึ่งแม้ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายทหาร แต่ก็มีการรับฟังปัญหานี้อย่างตั้งใจ ทั้งที่ในความรับผิดชอบนั้น ฝ่ายปกครองท้องถิ่นอย่าง อบต.แต่ละท้องที่ในเขตสามจังหวัดที่ชาวมุสลิมได้เลือกตั้งพวกตนเข้าไปทำหน้าที่นั้น ก็สามารถดำเนินการตามเทศบัญญัติที่มีอยู่แล้วได้ ว่าจะอนุญาตให้มีสถานบันเทิงเหล่านี้ได้หรือไม่-อย่างไร




จบจากงานเสวนาได้ไปแวะที่บ้านดาโต๊ะที่ซึ่งเจอวาตะภัยและน้ำท่วมเสียหายอย่างหนักมากๆ ทางเดินเข้าสู่อ่าวปัตตานี เห็นบ้านเรือนพังยับเยินอยู่ตลอดสองข้างทาง

เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นน่าคิดว่า ข้อเรียกร้องหลายๆ ประการที่ปัญญาชนมุสลิมได้ฝากไว้กับ กอ.รมน.ภาค 4 นั้น หลายเรื่องกลับเป็นปัญหาของชุมชนมุสลิมด้วยกันเอง ที่มีศักยภาพและสิทธิโดยชอบธรรมตามกฎหมายเช่นคนไทยทุกชุมชนทั่วประเทศสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้เองอยู่แล้ว แต่กลับไม่มีการลงมือแก้ไขตามสิทธิที่ตนมีเสียก่อน กลับไปเรียกร้องนอกบ้านแบบผิดที่ผิดทาง นี่จึงกลายเป็นปัญหาคาราคาซังจนถึงวันนี้.

ฮัลวา ตาญี-รายงานจากปัตตานี




Create Date : 17 ธันวาคม 2553
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2554 17:28:19 น.
Counter : 1338 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

meenna
Location :
  Australia

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



ธันวาคม 2553

 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31