เมษายน 2559

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
24
25
26
27
28
29
30
 
All Blog
รักเธอที่สุด!! บันทึกการเลี้ยงลูกของยุสุ




รักเธอที่สุด!! บันทึกการเลี้ยงลูกของยุสุ

ผู้เขียน Mizuho Aimoto
มังงะขนาดประมาณ 165 หน้า/เล่ม
ยังไม่จบเรื่อง ภาคไทยล่าสุด เล่ม 4, ภาคญี่ปุ่น เล่ม 10 (ยังไม่จบ)
สำนักพิมพ์ CUTE COMICS โดยลิขสิทธิ์จาก Kodansha Ltd.
พิมพ์ครั้งแรก 2552 (ภาคไทย)
ราคาเล่มละ 45 บาท


ความเห็นนี้บันทึกครั้งแรกเมื่อปี 2552 เพื่อร่วมเล่นเกมอ่านหนังสือในห้องสมุดพันทิป ตอบโจทย์ของคุณปีศาจความฝัน: 14 พฤศจิกายน วันคนพิการแห่งชาติ อ่านหนังสือที่มีตัวเอกเป็นคนพิการ


ไม่ทันวันคนพิการแห่งชาติ ขอขยับมาอ่านในวันคนพิการสากล (3 ธันวาคมของทุกปี) แทนนะคะ

รักเธอที่สุด!! บันทึกการเลี้ยงลูกของยุสุ จากผลงานเรื่อง Daisuki!! Yuzu no Kosodate Nikki ของ Mizuho Aimoto เริ่มตีพิมพ์ในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เล่มล่าสุดในญี่ปุ่นคือเล่ม 10


ยุสุเป็นผู้พิการทางสติปัญญาระดับไม่รุนแรง ได้พบรักกับโซสุเกะเพื่อนในสถาบันฝึกวิชาชีพ โซสุเกะประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ขณะที่ครอบครัวพบว่ายุสุตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน ความมุ่งมั่นของยุสุที่จะให้กำเนิดลูกซึ่งเกิดจากคนที่เธอรัก สั่นคลอนจิตใจของคุณแม่ที่ตอนแรกไม่ต้องการให้ยุสุคลอดเด็ก จนหันกลับมาให้ความร่วมมือและสนับสนุนการเลี้ยงลูกของยุสุ สำหรับผู้พิการทางสติปัญญาแล้ว อย่าพูดถึงการคลอดและเลี้ยงลูกเลย แค่พูดถึงความรักและการแต่งงานมีครอบครัวก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ยุสุก็ฝ่าฟันอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ด้วยหัวใจรักของแม่ และด้วยความรัก ความเข้าใจ การสนับสนุนช่วยเหลือของครอบครัวและบุคคลรอบข้าง นอกจากความสนุก ซาบซึ้ง ตื้นตัน เรายังได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายจากบันทึกการเลี้ยงลูกของยุสุชุดนี้


เล่ม 1 ความรักของยุสุ - ฮิมาวาริ 1 ขวบ

ยุสุต้องก้าวข้ามอคติของครอบครัวที่ไม่คิดว่าเธอจะดูแลลูกได้ เพราะลำพังดูแลตัวเองก็เป็นเรื่องลำบาก อีกทั้งเด็กที่เกิดมาก็อาจจะพิการด้วยเช่นกัน แต่ความมุ่งมั่นของยุสุก็เปลี่ยนใจคนในครอบครัว โดยเฉพาะแม่ และด้วยคำพูดของอันไซ - เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนของสถานฝึกอาชีพที่ยุสุทำงานอยู่ "พ่อแม่ที่ สมบูรณ์แบบในโลกนี้ไม่มีหรอกค่ะ แม้จะพิการหรือไม่พิการก็เหมือนกันไม่ใช่เหรอคะ เพราะว่าส่วนที่ยังขาดอยู่ ก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้" เป็นจุดเริ่มต้นที่พวกเขาจะร่วมมือกันเพื่อยุสุและลูกที่จะเกิดมา

ยุสุตั้งชื่อให้ลูกสาวว่า ฮิมาวาริ หรือ ทานตะวัน ตามชื่อดอกไม้ที่โซสุเกะชอบที่สุด ยุสุพยายามจะเลี้ยงลูกเอง แต่ก็ไม่สามารถจัดการได้ดีนัก เธอไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือใช้ไหวพริบปฏิภาณได้ แต่ถ้ามีการกำหนดวิธีทำเป็นขั้นตอนอย่างละเอียด เธอจะสามารถทำตามได้ เมื่อมีเจ้าหน้าที่จากสถานีอนามัยมาตรวจเยี่ยมและลงความเห็นว่าเธอไม่สามารถ ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ ยุสุจะก้าวข้ามอคติของเจ้าหน้าที่ท่านนี้ไปได้อย่างไร



เล่ม 2 ฮิมาวาริเข้าโรงเรียน

เมื่อฮิมาวาริเริ่มรู้เรื่องอายุประมาณ 2 ขวบ วัยของการเริ่มเรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่น แต่ยุสุไม่สามารถสอนลูกได้ เพราะไม่มีวิธีคิดเรื่องการสอน จึงจำเป็นที่จะส่งฮิมาวาริเข้าโรงเรียน ปัญหาเริ่มมีตั้งแต่การหาโรงเรียน แต่ด้วยความพยายามของบุคคลรอบข้างทำให้ฮิมาวาริได้โรงเรียนที่เข้าใจในปัญหา และพร้อมจะช่วยเหลือ และร่วมกันสร้างความรู้สึกอยากจะเป็นแม่ที่ดี แม้จะมีอุปสรรคจากอคติของเพื่อนผู้ปกครองคนอื่นให้ก้าวข้าม แต่ยุสุก็ได้เพื่อนที่ดีที่ไม่ได้เป็นคนพิการเป็นคนแรก คือ โนมุระ คุณแม่ของฮารุโตะ ยุสุเริ่มมีความรู้สึกต้องการยืนหยัดด้วยตัวเอง เพื่อความสุข ความภูมิใจ แต่มีคำถามว่า ถ้าพิการจะต้องล้มเลิกความคิดนี้ไหม และเมื่อฮิมาวาริเริ่มทำอะไรตามใจตัวเอง ไม่ฟังที่บอก ยุสุจะรับมือกับเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร

เล่ม 3 จบช่วงเวลาการเป็นทารก

เมื่อเด็กถึงช่วงเวลาที่จะมีพัฒนาการด้านต่างๆ พ่อแม่มักเป็นกังวลว่าลูกจะพัฒนาช้า และมักกลายเป็นความกดดันทั้งต่อพ่อแม่และลูกเอง ยุสุและฮิมาวาริก็ต้องผ่านพ้นช่วงเวลานี้เช่นกัน และเมื่อฮิมาวาริเริ่มสังเกตเห็นความแตกต่างของแม่กับคนอื่นๆ เด็กน้อยจะตอบรับความพิการของแม่อย่างไร พร้อมๆ กับความไม่มั่นใจของโนมุระที่จะสอนลูกชายเกี่ยวกับความพิการ อันไซแนะนำว่า "ให้ลองเชื่อในสัญชาตญาณของเด็กๆ มากกว่าอคติของผู้ใหญ่ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการให้เค้าได้สัมผัสสิ่งนั้นโดยตรงด้วยตัวเค้าเอง" ในช่วงปีนี้ ยุสุยังได้มีโอกาสเป็นกรรมการชั้นเรียนที่ต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบให้เธอ ได้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมๆ กับลูก และผู้คนรอบข้าง


เล่ม 4 คนพิการน่ากลัว และความรักของน้าชาย

สิ่งที่ไม่รู้จักก็ย่อมน่ากลัวเป็นธรรมดา ทำให้คนปกติซึ่งไม่รู้จัก ไม่เข้าใจผู้พิการทางสติปัญญามักจะเกิดความกลัว โรงเรียนได้จัดกิจกรรมและเชิญให้ผู้พิการจากสถานฝึกอาชีพที่ยุสุทำงานอยู่มาร่วมงานด้วย จะมีอุปสรรคปัญหาอย่างไร และจะเกิดความเข้าใจระหว่างกันเพิ่มขึ้นหรือไม่

นอกจากนั้นในเล่มนี้ยังพูดถึงเรน - น้องชายของยุสุ ผู้สุขุมหนักแน่น น้องชายที่เติบโตมาโดยแม่ต้องทุ่มเทเวลาและความเอาใจใส่ทั้งหมดให้ยุสุ และด้วยความตั้งใจที่จะดูแลพี่สาวผู้พิการไปตลอดชีวิต จึงไม่เคยคิดเรื่องแต่งงาน แม้จะมีคนรัก


ในตอนท้ายแต่ละเล่มจะมี เบื้องหลังการเขียน และแหล่งข้อมูล การ์ตูนชุดนี้เกิดจากแฟกซ์แผนงานจากกองบ.ก. ให้เขียนเรื่องราวของคนพิการทางสติปัญญาที่คลอดและเลี้ยงลูก   จากนักเขียนสาวโสด ไม่เคยเลี้ยงลูก และไม่มีความรู้เรื่องคนพิการทางสติปัญญา เธอศึกษาข้อมูลเป็นอย่างดี และเขียนงานออกมาได้ทั้งสาระและสนุกมากๆ การ์ตูนชุดนี้ถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์แล้วในชื่อ Daisuki!! ค่ะ


ลิงก์ละคร
//wiki.d-addicts.com/Daisuki!!

ลิงก์ละคร ตอนแรก ยุสุ 'โหวกเหวก' กว่าในจินตนาการพอสมควร :)




อย่าง ที่อันไซพูดในเรื่อง "พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบในโลกนี้ไม่มีหรอกค่ะ แม้จะพิการหรือไม่พิการก็เหมือนกันไม่ใช่เหรอคะ เพราะว่าส่วนที่ยังขาดอยู่ ก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้" และจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องเริ่มจากความรู้จัก ความเข้าใจ การ์ตูนชุดนี้ทำหน้าที่ในส่วนนี้ได้ดีมาก เพียงแค่ 4 เล่มเท่านั้น ก็ได้เรียนรู้่อะไรมากมาย นอกจากได้รู้จัก เข้าใจคนพิการทางสติปัญญามากขึ้น เรายังได้รับรู้เข้าใจคนที่อยู่แวดล้อม พ่อแม่ที่มีลูกพิการ พี่น้อง เพื่อน หน่วยงานสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง ได้เห็นตัวอย่างโรงเรียนที่ดี ครูที่ดี เห็นปฏิกิริยาของสังคม เห็นปัญหา เห็นการเรียนรู้ ได้รู้จัก เข้าใจเด็กๆ ด้วย ในส่วนเนื้อเรื่องก็น่ารักมาก ได้ทั้งหัวเราะร่าและน้ำตารินเลยทีเดียว ต้นฉบับมีถึงเล่ม 10 แล้วและยังไม่จบด้วย ก็ตั้งใจว่าจะติดตามไม่ให้พลาดสักเล่มเดียวค่ะ และอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ที่อ่านมังงะ ลองหยิบมาอ่านดูด้วยค่ะ



Create Date : 23 เมษายน 2559
Last Update : 23 เมษายน 2559 13:01:51 น.
Counter : 2670 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เที่ยงวัน
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]