The Blog To Love @ First Click - - ความเหงาไม่เคยทำร้ายใคร มีแต่เจ้าของหัวใจที่ทำร้ายตน-- รักแรกคลิก
ตลาดนัดชาวนา

พี่ที่ทำงานเพิ่งกลับมาจากเที่ยวตลาดสามชุก บ่นเหมือนกับที่ฉันเคยบ่นว่าเสียดายความเป็นสามชุกที่บัดนี้หายไปไม่เหลือเค้าความคลาสสิกแบบเดิมๆ

ฉันนึกถึงบันทึกชิ้นหนึ่งที่เขียนเกี่ยวกับการเดินทางผจญภัยไปเที่ยวตลาดนัดชาวนาของฉัน หวังใจลึกๆว่าเดี๋ยวนี้ บรรยากาศน่ารักเป็นกันเองของตลาดนัดชาวนาที่นั่นจะคงเดิม

บันทึกส่วนตัว เรื่อง ตลาดนัดชาวนา - 19 สิงหาคม 2549



ส่วนมากการเดินทางท่องเที่ยวของฉันแบบไม่ได้วางแผนล่วงหน้ามักมาจากข้อความเล็กๆในนิตยสาร หรือป้ายประกาศระหว่างทาง รู้สึกตื่นเต้นที่ได้ผจญภัยไปในที่ที่ไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่มีแม้แต่ภาพตัวอย่างสวยๆหรือคำเชิญชวนสำนวนสวิงสวายแบบสถานที่ท่องเที่ยวดังๆที่อื่น

ฉันหยิบเอกสารรายงานข่าวสารรายเดือนของเขตเทศบาลที่ฉันอยู่ขึ้นมาอ่านเล่นๆ เจอข้อความแค่ไม่กี่บรรทัดว่า

อย่าลืมไป Boroondara Farmers' Market เสาร์ที่19 สค นี้ ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงบ่ายโมง ที่Patterson Reserve, Auburn Road. ที่เก่าเวลาเดิมนะ


เหมือนข้อความชวนคนกรุงไปเที่ยวตลาดนัดสวนจตุจักรวันอาทิตย์อย่างไรอย่างนั้น ทำเอาฉันตาลุกและสนใจข้อความเล็กๆนี้ขึ้นมาทันที

ฉันหาข้อมูลทางอินเตอร์เนตอย่างเคย แต่มันคงไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ จึงไม่มีข้อมูลหรือแม้แต่ภาพให้พอจินตนาการได้คร่าวๆเลย ได้ข้อมูลเพิ่มมาแค่ว่าสามารถนั่งรถไฟไปลงสถานี Kooyongแล้วเดิน หรือจะจับรถรางสาย 69 แล้วเดินเอาก็ได้

เช้าตรู่ ตื่นโดยไม่ต้องอาศัยนาฬิกาปลุก นึกหมั่นไส้ตัวเองตงิดๆว่าวันไปเที่ยวล่ะตื่นได้ตื่นดี วันไหนมีเรียนล่ะก็ต้องงัดหัวขึ้นจากหมอนยากเย็น พอเตรียมตัวเส็จก็ออกไปซื้อตั๋วเดินทางและจับรถรางสาย 16 ย้อนลงไปทางทิศใต้

ฉันเดาเอาว่าในสายตาผู้โดยสารคนอื่น กิริยาเวลานั่งรถไฟหรือรถรางของฉันคงน่าขัน เพราะเดี๋ยวๆก็เหลือบซ้ายก้มขวาดูป้ายดูทางยังกับชาวอะบอริจินเต้นระบำพื้นเมือง ขณะที่คนอื่นนั่งพิงกระจกหาวหวอดๆบ้าง นั่งอ่านหนังสือบ้าง ฉันเลยแก้เก้อด้วยการถือแผนที่เส้นทางเดินรถไว้ในมือ ใครมองแบบแปลกๆจะได้คาดเดาเอาว่า อ๋อ… เขาเป็นนักท่องเที่ยวน่ะ …

ขึ้นรถรางนั่งหวานเย็นไปไม่นานก็เจอป้ายสีฟ้าบอกชื่อสถานี Kooyong อยู่ริมถนน พอลงจากรถรางก็ข้อมูลตัน เอาล่ะสิแล้วจะเลี้ยวไปทิศไหนต่อล่ะ ผู้คนที่นี่ก็ไม่ค่อยเดินพลุกพล่านเสียด้วย

ฉันทำใจเย็นเดินขึ้นไปตามบาทวิถีที่เป็นเนินสูงไปเรื่อยๆ ก่อน ผังเมืองของที่นี่มักเป็นเนินสูงสลับกับที่ราบ เหมือนปลูกบ้านบนอัฒจันทน์ มองจากตอนนั่งรถก็สวยดี แต่ถ้าตอนเดินแล้วละก็ ความสวยงามของบ้านเมืองจะแปรผกผันตามระยะทางที่เริ่มไกลและลมหายใจที่หอบถี่ขึ้นเรื่อยๆ

เจอคุณตาแต่ยังหล่อเฟี๊ยวเดินผ่านมา เลยตกเป็นเหยื่อให้ฉันถาม พอคุณตารู้ว่าฉันต้องการจะไป Farmers' market คุณตาก็ร้องอ๋อ ฉันใจชื้นขึ้นเป็นกอง แต่มาใจแป้วในอีกวินาทีถัดมาตอนที่คุณตากล่าวต่อว่า เดินจากนี่ไป มันออกจะไกลทีเดียวนะไอ้หนู

คุณตาบุ้ยใบ้ให้เดินขึ้นเนินเขาข้างหน้าไปอีกจนเจอถนน Toorak แล้วเลี้ยวซ้าย เดินไปอีกเรื่อยๆก็จะเจอตลาดที่ว่า ฉันขอบคุณและเริ่มต้นเดินตามลายแทงดังกล่าว นึกถึงข้อมูลจากอินเตอร์เนตที่ว่า Take train to Kooyong station or Tram no 69 and walk. แล้วหัวเราะในใจ คนทำข้อมูลนี้คงไม่อยากให้นักท่องเที่ยวที่ไม่มีรถถอดใจจนไม่อยากมาแน่ๆ เลยเขียนข้อมูลคลุมเครือแค่ …and walk…

คุณตาไม่ได้ขู่ฉันจริงๆเสียด้วย ฉันดำเนินชีวิตตามวิถีคุณ Johnny Walker ทุกประการโดยการ Keep Walking ไปเรื่อยๆ ผ่านถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ผ่านสะพานที่มีน้ำไหลเอื่อยๆ ก็เจอป้ายบอกว่า ‘เลี้ยวซ้ายไปตลาด’ ช่างเป็นป้ายที่เป็นกันเองเอามากๆ เข้าบรรยากาศตลาดนัดชาวนาจริงๆเลย

ดีที่อากาศไม่ร้อนชื้นอย่างเมืองไทย ฉันจึงสนุกกับการเดินกึ่งมั่วกึ่งมั่นของฉันเป็นพิเศษ พอเดินเข้าไปถึงจุดที่ตั้งตลาดนัด ฉันผิดหวังนิดหน่อยที่ตลาดไม่ใหญ่เท่าตลาดไทอย่างที่จินตนาการไว้ แต่เป็นแค่เต้นท์ตั้งเรียงล้อมกันเป็นวงกลมบนสนามหญ้าขนาดใหญ่ แต่ฉันมั่นใจว่ามาเที่ยวแบบลุ่มๆดอนๆครั้งนี้อย่างน้อยคงได้เจอผลิตภัณฑ์เกษตรน่าสนใจ หรือแม้แต่ได้สบตาหนุ่มน้อยลูกเกษตรกรที่มาช่วยพ่อขายของที่ตลาดสักคนบ้างก็ยังดี

ก่อนเข้าต้องจ่ายค่าผ่านทางสองเหรียญ ที่นี่ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทองไปหมดจริงๆ พอเข้าไปก็เจอบรรยากาศตลาดนัดแบบฝรั่ง กลิ่นอาย Good day ลอยอวลทั่วตลาด ฉันได้รับมรดกการชอบเดินตลาดมาจากพ่อ พ่อสอนลูกๆว่าถ้าอยากรู้จักวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นนั้นๆ ให้เที่ยวตลาดสดเพราะเป็นที่ที่ไม่เสแสร้ง และได้เห็นว่าเขาอยู่อย่างไร กินอย่างไรอย่างแท้จริง



ของที่บรรดาเกษตรกรออสซี่เอามาขายมีตั้งแต่ขนมปังโฮมเมด น้ำผึ้งแท้ชนิดเหล็กไนลอยหน้า แยมสูตรดั้งเดิมประจำตระกูล ชีสและเนยแข็งตำรับคุณย่ายังสาว ผักสดชนิดยังเห็นเศษดินตรงราก แอปเปิลและผลไม้ที่ยังไม่ลืมต้น รวมไปถึงไส้กรอกลูกวัวกำพร้าแม่ (เพราะแม่โดนเอามาทำเนื้อเสต็กไปแล้ว)

ตลาดนี้เขามีสโลแกนเรียบง่ายว่า Picked on Friday. Sold on Saturday. - เก็บวันศุกร์ เอามาขายวันเสาร์แม่เอ๊ย ฉันไม่เชื่อง่ายๆเลยเลาะชิมทุกร้านไป แรกๆก็เขินอยู่ แต่อาศัยใจกล้าช่วงฝรั่งมุง จึงทำเนียนหยิบของในถาด ที่เขียนกำกับว่า Please try / หรือ Taste me มาชิมร้านละหนึ่งชิ้นเล็กๆเพลินไป



นอกจากสนุกกับการชมผลิตภัณฑ์เกษตรกับสำเนียงแปร่งๆน่ารักของคนขายแล้ว ฉันยังแอบสังเกตมือของแต่ละคนด้วยว่ามือและนิ้วของเกษตรกรฝรั่งเป็นอย่างไร คนที่ทำงานหนักโดยเฉพาะงานใช้แรงงานกลางแดดลมมักมีข้อนิ้วใหญ่ ฝ่ามือใหญ่และเล็บกร้านแข็ง ฉันไม่รังเกียจชาวนาชาวไร่ที่มีมือเท้าไม่สวย แต่กลับชื่นชมที่พวกเขาเสียสละทำงานหนักกว่าฉันและคนอื่นๆ อยู่กลางแดดกลางฝนเพื่อสร้างสรรค์ของดีๆมาให้เราซื้อกิน

พ่อเคยบอกฉันว่าตอนเด็กๆเคยอ่านเจอการทดลองแบบใหม่ในสมัยนั้นที่เรียกว่าไร่นาสวนผสม ทั้งปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ไปพร้อมๆกัน พ่อสนใจกับแนวคิดนี้มาก พ่อเลยเคยฝันอยากเป็นเกษตรกร พ่อบอกว่าถ้ามีที่กว้างๆและเลี้ยงวัวมากๆคงสนุกน่าดู ฉันประทับใจกับความฝันเล็กๆสมัยเด็กของพ่อนี้มาก แม้ชีวิตพ่อจะหักเหและไม่ได้มีฟาร์มวัวแข่งกับตระกูลบูลกุลในวันนี้ แต่ฉันก็ยังภูมิใจกับฝันเรียบง่ายของพ่อ

คนเรายังชีพได้ด้วยความหวัง และมีความฝันไว้หล่อเลี้ยงหัวใจ

ลงคิดดูว่าถ้าเรารู้ว่าจะไม่มีพรุ่งนี้ เราคงไม่นึกอยากทำอะไร หรือต่อสู้อดทนกับเรื่องราวแต่ละวันอย่างที่เราเป็นกันทุกวันนี้เป็นแน่ แต่เพราะเรามีพรุ่งนี้ไว้หวัง และเรามีฝันไว้เชิดชูปัจจุบัน เราจึงยังทำหน้าที่ของเราเพื่อต่อเวลาของวันนี้ และวันนี้ของวันรุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ



ฉันเดินไม่ถึงชั่วโมงก็รอบตลาด เดินไปได้สักสี่ห้าเต้นท์ก็นึกขันกับตัวเองว่าเหมือนมางานเลี้ยงคอกเทล พอเดินหมดรอบก็อิ่มไปเกือบครึ่งท้อง หันกลับไปมองข้างหลัง แหม อยากเดินไปเต้นท์โน้นอีกจัง เจ้าของร้านนิ้วสวยมาก นิ้วเรียวไม่มีข้อแตกเหมือนไส้กรอกที่เธอขายเลย แต่ความจริงคือไส้กรอกเขาอร๊อยอร่อยต่างหาก

ขากลับ ฉันนึกสนุกอยากออกกำลังกายด้วยการเดินกลับบ้าน แม้ว่าตั๋วรถรางจะยังไม่หมดเวลาแต่อยากเดินเล่นเรื่อยเปื่อยมากกว่านั่งรถรางเก๊งก๊างกลับบ้าน แม้ขากลับใช้เวลาเดินมากกว่าขามาเพราะไม่ได้นั่งรถราง แต่ฉันไม่รีบร้อน ปล่อยให้เป็นเรื่องของเข็มสั้นกับเข็มยาวบนหน้าปัดนาฬิกาเขาตกลงกันเอง



A short journey of mine mostly is inspired by a short notice on public board or several brief lines in magazine column.

Recently I have found a small section reminding the local community about ‘Boroondara Farmer’s market’ to be held on this promising Saturday at Petterson Reserve, Auborn road.

With such limited information, it draw me curiosity to find the way to visit the market and learn the Melbournian farmers’ lifestyle. Information from Internet recommended to drop by Kooyong train station or take Tram No 69 to that direction and ‘walk’.

I catched a tram No 16 down the South as my feeble intuition echoed the sense that I had seen Kooyong station down that way before.

When I had arrived the station, I was stuck like the error computer program waiting for control-alternate-delete. I came across an old man passing by and he relieved me enough with his nod as recognizing the place.

A second later, though, he consoled me with aching fact , in his truly aussie accent : “such a long wai from hie , young laidy…. Almost there but not quite.”

So I followed the spirit celebrity Johny Walker, to fill up my own ‘spirit’; I kept walking and walking. Across super highway and passed the bridge until I reached out my destination.

I chuckled when reminded of what was informed on internet. ‘and walk’… so dimensional to interpret its real sense. And the webmaster might not want to desperate the tourists who have no car. Then he made it in ambiguity’s sake.

Farmer’s market was interesting. Atmosphere of ‘G’d day’ interaction filled the air and I felt as fresh as those products they were selling.

Its slogan was ‘Picked on Friday. Sold on Saturday’. It was worthless unless you tried to prove the truth. And I did.

2$ entrance fee was needed. And I felt as though I paid the fee for casual cocktail party. Since the price was not as ‘friendly’ as the way those farmers smiled to the customers, I just played the role of a good observer and grabbed a cute toothpick in hand as cocktail weapon, gliding from kiosk to kiosk like a gourmet in culinary art competition.

I wish I bought something back home, maybe to fulfill the eventual moment of visiting the market yet those organic /homemade products were dramatically high at price more than it’s reasonable to afford.

If I were rich, I wouldn’t buy any either. But I would effort to take part in Farmers' market management. And I would attempt to relocate its location, so that any other poor tourists ( like me) can join this interesting event more easily.

My father introduced a favor for fresh market travel to me. He says, if you want to picture how they eat and live a daily life, fresh market is the key answer where all in there are not fake.

A lesson from the day at Farmers’ market I learn today:

‘You can be successful and
even the happiest person in your career like those cheerful farmers.
You don’t need to be CEO nor to earn much money each day.
What matters is that you have just got to love what you do…’





Create Date : 28 ตุลาคม 2552
Last Update : 29 ตุลาคม 2552 12:35:58 น. 2 comments
Counter : 1652 Pageviews.

 
แวะมาอ่านค่ะ น่าไปเที่ยวมาก อยากซื้อต้นไม้ในกระถางในรูปจริงๆ


โดย: Thairabian วันที่: 28 ตุลาคม 2552 เวลา:16:44:10 น.  

 
I like what you guys are up too. Such intelligent work and reporting! Carry on the superb works guys I have incorporated you guys to my blogroll. I think it'll improve the value of my site :)
Mulberry Alexa Bag //www.wooden-plantation-shutters-aylesbury-buckinghamshire.co.uk/


โดย: Mulberry Alexa Bag IP: 94.23.252.21 วันที่: 4 สิงหาคม 2557 เวลา:3:31:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Love At First Click
Location :
ชลบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 20 คน [?]




An ordinary woman who loves to write and who loves to know what love is.
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
28 ตุลาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Love At First Click's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.