someday we write , someday we wrong









บันได 7 ขั้นสู่การออกหมัด Sucker Punch ใส่ชีวิต [Spoil]




บทความนี้เป็นการตีความภาพยนตร์ Sucker Punch จากมุมมองอันว่าด้วยการกล้าที่จะใช้ชีวิต
หากผิดพลาดประการใด โปรดติชม แนะนำ และขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ >_<

นอกเหนือไปจากฉากบู๊ล้ำจินตนาการ ชุดคอสตูมสุดได้ใจ และอะไรต่อมิอะไรแล้ว
เรายังสามารถแบ่งประเด็นของ Sucker Punch ออกเป็น 7 ส่วนเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจง่ายได้ - ดังนี้



บันไดขั้นที่ 1 – ชีวิตสามารถเส็งเคร็งได้โดยไม่เกริ่นก่อน บอกล่วงหน้า หรือแจ้งเตือนใดๆ
ความไม่แน่นอนของชีวิตคือสิ่งปรากฏในฉากแรกของ Sucker Punch
อย่างกะทันหัน... จู่ๆ เด็กสาวคนนึง (เบบี้ดอล) ก็สูญเสียแม่กับน้องสาว ถูกพ่อเลี้ยงทำร้ายป้ายสี จับส่งโรงพยาบาลบ้า และสูญเสียอิสระภาพโดยไม่มีความผิด

ก่อนที่จะทำพูดถึงการดิ้นรนต่อสู้ของตัวละครทั้ง 5 ใน Sucker Punch นี่คือความจริงข้อแรกๆ ที่คนดูต้องคำนึงถึง เพราะในหนังตลอดทั้งเรื่อง สาวๆ ทั้ง 5 ต่างไม่ได้กำลังใช้ชีวิตในแบบที่ตนต้องการ ความสุขตกหล่นหาย และมองหาหนทางที่จะเปลี่ยนแปลงไม่เจอ ยิ่งเราเข้าใจความจริงข้อนี้ได้เร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งมองภาพรวมของตัวละครออกไวขึ้นเท่านั้น

นั่นอาจรวมถึงการมองชีวิตของตัวเราเองด้วยเช่นกัน


บันไดขั้นที่ 2 – บลู ฝันชั้นแรกของบรรทัดฐานทางสังคม
บลูคือบุรุษพยาบาลในโรงพยาบาลบ้า ผู้มีความฝันอยากให้โรงพยาบาลเป็นซ่อง จิตแพทย์เป็นแม่เล้า และตัวเขาเป็นเจ้าของผู้ครองครอบทุกสิ่ง ทันทีที่เบบี้ดอลถูกจับส่งโรงพยาบาลบ้า เธอรวมถึงสาวๆทุกคนต่างติดอยู่ในฝันของบลู จากเดิมต้องเป็นคนไข้ก็กลายเป็นดารานักเต้นบนเวที ในหนัง - ความฝันของบลูเปรียบได้กับความต้องการของสังคมในโลกแห่งความเป็นจริง

เหมือนกับสิ่งที่บลูต้องการจากสาวๆ ในซ่องของตน (ให้เต้น ให้รับแขก ให้ทำตามหน้าที่ และเชื่อฟังคำสั่ง) สังคมเองก็ต้องการระเบียบวินัย อยากให้ทุกคนก้มหน้าทำตามหน้าที่ของตนไป สังคมบอกกับเราว่า ‘ทุกคนต้องเรียนสูงๆ ทำงานที่มั่นคง โดยไม่แคร์ว่าเราจะต้องตอกบัตรทำงานอย่างไร้ความสุข ทำในสิ่งที่ไม่ตรงกับใจรัก และขาดความสุขหรืออะไรใดๆ ขอแค่ให้ทำๆ ไปก็พอ’

ซึ่งคน 3 ประเภทที่จะอยู่รอดในสังคมแบบนี้มี ประเภทแรกคือคนที่ยอมปฏิบัติตามไปอย่างว่าง่าย
พวกสองคือพวกที่ใจคิดอยากต่อต้าน ส่วนพวกสุดท้ายคือพวกที่คิดแล้วกล้าลุกขึ้นต่อต้านจริงๆ ...




บันไดขั้นที่ 3 – ฝันขั้นที่ 2 มายาภาพในสมองของคนบ้า
ว่ากันว่า ‘8 ใน 10 ของคนบนถนนต่างมีปัญหาทางจิต’

การที่ฉากหลังของ Sucker Punch เป็นโรงพยาบาลบ้านั้น มีนัยยะแฝงที่น่าสนใจ ภายใต้ชีวิตที่อาจเน่าได้โดยไม่ต้องการเหตุผลและสังคมที่บีบให้เราเดินตามบทพลเมืองดี มันบีบให้เราไม่ด้ใช้ชีวิตตามที่หวัง จนบ่อยครั้งคนเราจึงเริ่มเกิดภาพขึ้นในหัว เราจะมองเห็นอะไรที่คนอื่นมองไม่เห็น ถ้าเอาไปเล่าให้ใครฟัง เขาจะบอกว่ามันไร้สาระ เป็นไปไม่ได้หรอก คิดไปได้บ้าไปแล้ว!

ภาพในหัวที่ว่าคือความฝันที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม
ซึ่งหากการมองเห็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงคืออาการของคนบ้า อย่างนั้นคนที่มีความฝันก็เป็นคนบ้ากันทุกคน

ใน Sucker Punch สาวๆ ทั้ง 5 ติดอยู่ในฝันของบลู พวกเธอถูกบีบให้กลายเป็นนักเต้นอย่างไม่เต็มใจ ไม่ต่างอะไรกับเด็กที่ถูกบังคับให้ลงเรียนพิเศษ นักศึกษาที่ทนเรียนคณะที่ไม่ชอบ และพนักงานกินเงินเดือนที่ฝืนทำงานแบบซังกะตายไปวันๆ เพียงเพื่อให้อยู่รอด - ร็อคเก็ต , บลอนดี้ , แอมเบอร์ และสวีทพี ต่างยอมแพ้ให้กับความต้องการของสังคม

แม้จะคิดฝันถึงอิสระภาพในหัวอยู่บ้าง แต่ก็ไม่กล้าที่จะพูดเพราะกลัวจะถูกมองว่าเป็นคนบ้า

นั่นเป็นธรมชาติของความฝัน ตอนอยู่ในหัวมันจะทำให้เรากลายเป็นคนบ้า เพราะเรากำลังเห็นอะไรที่ไม่มีอยู่จริง พูดถึงเรื่องเพ้อเจ้อไปวันๆ แต่หากเราหยิบมันออกมาจากหัว ลงไม้ลงมือทำมัน จนกลายเป็นความจริงได้ จากคนบ้าก็อาจกลายเป็นคนที่มีความสุข ประสบความสำเร็จ หรือถึงขั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นอัจฉริยะ

ภายหลังที่เบบี้ดอลเข้ามาพร้อมแผนการที่จะสู้เพื่ออิสระภาพ ชีวิตของ 4 สาวจึงเปลี่ยนไป
ว่ากันว่า ‘มีเพียงเส้นบางๆ เท่านั้นที่แบ่งคนบ้ากับอัจฉริยะออกจากกัน’ และพวกเธอกำลังจะทำการพิสูจน์เรื่องนี้



บันไดขั้นที่ 4 - ปริมาณความน่ากลัวของความคิด...ที่น่าเก็บมาคิดเวลาคนเราฝันอยากทำอะไรสักอย่าง สิ่งที่ไล่ตามความหวังมาติดๆ มักจะเป็นความน่ากลัวของความคิดที่เราเพิ่งคิดออกมา
“มันจะเป็นจริงได้เหรอ ท่าจะยากนะ อย่างเราจะทำได้หรือเปล่านะ คนอื่นยังไม่รอดเลย ฯลฯ” อะไรต่ออะไรลอยฟุ้งไปหมด

คิดไปเรื่อย – คิดจนภาพในหัวมันน่ากลัวกว่าความเป็นจริง ประเด็นนี้ถูกสื่อผ่านการทำตามความฝันของสาวๆ ที่พอพวกเธอฝันอยากหลบหนี แต่กลับกลัวความคิดที่จะหนีของตัวเอง... กลัวบลูจับได้ กลัวยาม กลัวตาย (กรี๊ดดดดด!) กลัวๆๆๆ มากเสียจนการไล่ตามความฝันในหัวของพวกเธอเป็นเรื่องน่ากลัวเกินความจริง

เมื่อถูกความกลัวครอบงำ ลำพังแค่การขโมยแผนที่ของสาวๆ จึงน่ากลัวดุจการออกไปรบกับทัพนาซี
ส่วนการจะฉกไฟแช็คอันเดียวเลยกลายเป็นความยากกระดับต้องไปล้มมังกรกันเลยทีเดียว!


คนเรามักเป็นซะแบบนี้ คือฝันแล้วกลัวสิ่งที่ตนฝัน กังวลเกินหน้าความเป็นจริง ฝันอยากเป็นนักร้องแต่กลัวไปสมัคร The Star แล้วเจอ น้องนท เป็นคู่แข่ง โอยไม่ไหวๆ น้องเขาร้องเพลงได้บอสซ่าน่าฟัง เต้นแร้งเต้นกาดุจปาล์มมี่เข้าสิง สู้ไม่ได้แน่ๆ ไม่สมัครดีกว่าฉัน , ฝันอยากเป็นเจ้าของกิจการแต่แอบคิดว่าทำงานออฟฟิศก็ปลอดภัยกว่านิดนึง ไม่ต้องกังวลเรื่องทำแล้วกิจการเจ๊ง กินเงินเดือนต่อไปก่อนดีกว่าไหมเรา รอโบนัสไปเรื่อยๆ , ฝันอยากทำงานที่ใจรักแต่ถ้ามันทำเงินน้อยกว่างานเดิมที่เราทำล่ะ จะอยู่ได้หรอ ทำงานแบบนั้นไปขอลูกสาวบ้านไหนเขาจะยอมยกให้ไหมเนี่ย ฯลฯ



มันเป็นความน่ากลัวที่เราควรเก็บมาคิดถึง ว่ามันน่ากลัวอย่างนั้นจริงๆ หรือเป็นเราที่คิดมากไปเสียเอง



บันไดขั้นที่ 5 – ไอเทมที่เรามีอยู่แล้ว , ยังไม่มี และอันที่มีแล้วแต่ไม่รู้ตัวว่ามี
ใน Sucker Punch แผนการหลบหนีของสาวๆ ประกอบไปด้วยการไล่ตามหาไอเทม 5 ชิ้น 4 ชิ้นแรกประกอบไปด้วย แผนที่ , ไฟแช็ก , มีด และกุญแจ ประเด็นนี้ของหนังสื่อถึง “วิธีการทำตามความฝัน” พวกเธอรู้ว่าพวกตนต้องมีอะไรบ้างเพื่อใช้ในการหลบหนี เหมือนๆ กับพวกเราส่วนใหญ่ที่ก็รู้วิธีการไล่ตามความฝันอยู่ในมือกันอยู่แล้ว อยากเป็นนักร้องไปสมัคร The Star ค้นฟ้าคว้าดาว อยากเป็นเจ้าของกิจการก็ตั้งใจเก็บออมและต้องกล้าลาออกมาตั้งตัว อยากมีความสุขกับงานก็ไปเลือกทำงานที่เรารัก

แต่ ‘การรู้วิธี’ กับ ‘การทำให้มันเป็นจริง’ นั้น มันเป็นคนละเรื่องกัน

นั่นเป็นที่มาของไอเทมชิ้นที่ 5 คือ การเสียสละตัวเราเอง นอกเหนือจากการรู้วิธีไล่ตามความฝันแล้ว เรายังต้องมี ‘ความกล้า’ ที่จะเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงท้าชนกับความต้องการของสังคม ต้องกล้าออกจาก “พื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง” อย่ากลัวผิดหวัง อย่ากลัวล้มเหลว เอาชนะความกลัวในหัวของเราให้ได้ แล้วเราจะพบว่าการไล่ตามความฝันนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิด เพราะเรามีทั้งไอเทมชี้ทางว่าเราควรจะต้องทำอะไรบ้าง และมีความกล้าที่เราเคยคิดว่าเราไม่มีแล้ว

ในที่นี้หาก “การล้มมังกร” คือระดับความน่ากลัวของความฝันเวลาอยู่ในหัวเรา ทันทีเรากล้าที่จะก้ามข้ามมันไปได้ (แบบที่สาวๆ ในหนังทำได้) เราก็จะพบว่าตอนที่เราเอาความฝันไปปฏิบัติจริง ความน่ากลัวของมันจะแค่เสียวๆ ระดับ “ขโมยไฟแช็ค” จากคนที่ไม่ทันระวังตัวเท่านั้นเอง

บางอย่างเริ่มต้นที่ใจ...แต่สำหรับความฝัน บางครั้งมันจะเริ่มต้นและสำเร็จในตอนท้ายได้ โดยวัดกันที่ใจล้วนๆ





บันได้ขึ้นที่ 6 – ประเภทของความฝันของผู้กำกับ แซ็ก สไนเดอร์
เมื่อดูจากผลงานเก่าๆ ของแซ็ก สไนเดอร์ จะพบว่าเขาไม่ใช่ผู้กำกับที่โปรดปรานการจบแบบ Happy Ending ชนิดตามสูตรสำเร็จ (อย่างใน 300 กว่าความปรารถนาจะเป็นจริง กษัตริย์เลโอนิดาส์ต้องสังเวยชีวิตคาสนามรบ ส่วนราชินีของพระองค์ก็ทั้งถูกข่มขืนและหักหลัง หรืออย่างใน Watchmen เหล่าฮีโร่ถึงกับต้องฆ่าคนเป็นล้านและห่ำหั่นกันเองเพื่อให้ได้มาซึ่งสันติ) ดังนั้นใน Sucker Punch การที่ 5 สาวคิดพากันหลบหนีจึงไม่ได้หมายความว่าจะหนีรอดกันทั้ง 5 คน

ใน Sucker Punch ความฝันแนวดาร์คๆ ประเภทแรกของผู้กำกับ แซ็ก สไนเดอร์ คือ ‘ความฝันที่มีค่ากว่าผู้คนรอบข้าง’ ในฉากหนึ่ง – เมื่อต้องเลือกว่าจะอยู่ในซ่องกับพี่สาวต่อไปหรือดำเนินแผนการหลบหนีต่อดี , ร็อคเก็ต เลือกที่จะทิ้งพี่สาว (สวีทพี) เพื่อไล่ตามความฝันให้เป็นจริง ในขณะที่ความฝันอีกแบบคือความฝันของ เบบี้ดอล เธอก็ฝันถึงอิสระภาพเช่นเดียวกันกับร็อคเก็ต แต่ในท้ายที่สุด เมื่อตระหนักได้ว่า ความฝันของเธอนั้นมันมีคุณค่าก็เพราะมันเป็นฝันที่เพื่อนๆ ทุกคนต่างร่วมกันสู้ เอาตัวเข้าเสี่ยง และสละชีวิตเพื่อมัน เธอจึงไม่ลังเลที่จะสละชีวิตตัวเองบ้างเพื่อให้มันกลายเป็นจริง

ดูหนังแล้วแอบก้มมองดูตัวเอง...ว่าเรากำลังมีความฝันแบบไหนอยู่
จะเป็นแบบที่ทำให้เราไล่ตามัน โดยต้องสูญเสียคนรอบข้างไปเรื่อยๆ และเฉลิมฉลองอยู่เพียงลำพัง
หรือเป็นความฝันที่เมื่อวันที่มันเป็นจริง เราจะมีคนร่วมแชร์กันอย่างอบอุ่น




บันไดขึ้นที่ 7 – เกริ่นแรกและส่งท้าย
อันที่จริงแล้ว ประเด็นเรื่องความฝัน การเปรียบเทียบความน่ากลัวในหัวสมอง และความกล้าที่เราควรใส่ไปเต็มร้อย ของ Sucker Punch ได้ถูกบรรจุไว้ตั้งแต่ช่วงบทเกริ่นนำของหนัง ที่บอกว่า “เราต่างมีเทพประจำตัวกันทุกคน เป็นเทพในหัวที่บันดาลความฝันมาให้ แต่บางครั้งเทพก็มาในหลายรูปแบบ เป็นคนแก่เจนโลกที่พูดให้ร้ายความฝันว่ามันน่ากลัวก็มี เป็นเด็กน้อยน่ารักที่สดพอจะกล้าท้าชนกับทุกสิ่งก็มี อยู่ที่เราต้องเลือกฟัง”

รวมถึงบทบรรยายในตอนท้ายที่ถามว่า “ใครเป็นผู้ที่ปล่อยสัตว์ร้ายมาโจมตีเราและยินดีเมื่อเรารอดชีวิต ตอนนี้เรามีอาวุธพร้อมแล้วเริ่มลุยได้เลย” ซึ่งนั่นบอกกับคนดูว่า ความคิดของเราสามารถทำให้เราทั้งท้อถอยและฮึกเฮิมได้ และเราต้องก้าวข้ามเอาชนะความอ่อนแอของตัวเองให้จงได้ แน่นอนมันเป็นแค่คำพูดเก่าๆ เชยๆ และอาจเก่ามากจนใครบางคนลืมมันไปแล้วด้วยซ้ำ หวังว่าการตอกย้ำคำพูดนี้ผ่านฉากแอ๊คชั่นมันๆ ภาพฉากหลังตระการตา และสาวๆ ในชุดนักเรียนญี่ปุ่น มันจะมีส่วนช่วยให้ใครต่อใครจดจำมันได้แม่นขึ้น

จำให้แม่นพอ...ที่จะไม่ลืมหยิบไปใช้ในชีวิต


Create Date : 31 มีนาคม 2554
Last Update : 31 มีนาคม 2554 14:44:06 น. 2 comments
Counter : 3348 Pageviews.

 
กล้าที่จะใช้ชีวิตเหรอ อืมๆ
ความคิดของเราสามารถทำให้เราทั้งท้อถอยและฮึกเฮิมได้ และเราต้องก้าวข้ามเอาชนะความอ่อนแอของตัวเองให้จงได้ อืมๆ
ยังทำไม่ได้อะ
ตอนนี้คิดจนภาพในหัวมันน่ากลัวกว่าความเป็นจริง คิดว่าจะเกิดภัยพิบัติต่างๆนานา
ดีนะที่มีน้องนทมาช่วยชีวิตไว้ ทำให้ละความคิดเรื่องภัยพิบัติ มาดูเดอะสตาร์แทน วันนี้หวังว่านทจะรอดนะ ชอบดูนทเพราะรู้สึกว่านทมีความคิดด้านบวกอยู่มาก มีความสุข โลกสดใสดี จะได้ดึงความคิดตัวเองจากด้านลบให้มาอยู่ด้านบวกได้มากขึ้น
ส่งยิ้มจ้า
ปล. เห็นด้วยกับข้อความนี้นะ "จากคนบ้าก็อาจกลายเป็นคนที่มีความสุข ประสบความสำเร็จ หรือถึงขั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นอัจฉริยะ"


โดย: pumpond วันที่: 3 เมษายน 2554 เวลา:13:47:55 น.  

 
ฝันร้าย แห่งความคิดในแง่ร้าย น่ากลัวที่สุด
น่ากลัวกว่าความจริง
น่ากลัวกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะความคิดมันไม่รู้จบ
ยิ่งคนจินตนาการเก่งยิ่งร้ายมาก
ควบคุมความคิด เป็นสิ่งท้าทายและต้องพยายามล่ะค่ะ


โดย: BeCoffee วันที่: 3 พฤษภาคม 2554 เวลา:8:04:43 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอรบกวนทั้งชุดนอน
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
31 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ขอรบกวนทั้งชุดนอน's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.