บุญนำพามาช่องเม็ก (๒)
เย็นวันที่ ๙ พฤศจิกายน ศรัทธาญาติโยม คนใจดีศรีอุบลฯ มาตั้งโรงทานในบริเวณวัดหลายสิบโรง พอให้ผู้เดินทางมาจากทางใกล้ทางไกลได้อาศัยเป็นอาหารมื้อเย็น เวลาประมาณหนึ่งทุ่มตรงพวกพ่อออกแม่ออก(ภาษาอีสานหมายถึงญาติโยมที่เป็นชาย/หญิง)ก็มารวมตัวกันบนศาลา เพราะจะมีการสวดมนต์ทำวัตรเย็นและเทศน์ฉลององค์กฐินถึง๔กัณฑ์

พระที่นำสวดคือพระอาจารย์สมปอง ผาสุกวิหาโร จากวัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม วังน้ำเขียว โคราช สวดมนต์บททำวัตรเย็นเสร็จก็ต่อด้วยบทสวดพิเศษอีกหลายบทแล้วจบด้วยบทแผ่เมตตา ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงพอดี หลังจากนั้นก็มีพระเถระจากวัดสาขาวัดหนองป่าพง มาแสดงธรรมกัณฑ์แรก ผมจำฉายาท่านไม่ได้ ท่านใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ในการเทศน์เรื่องการประพฤติปฏิบัติธรรมของชาวบ้าน ผมฟังเพลินจนลืมบันทึกไว้เล่าสู่กันฟัง พอท่านจบก็มีเทศน์จากพระเถระรูปอื่นต่อ ผมเพลียจากการเดินทางเลยกราบพระแล้วไปพักผ่อนในเต้นท์สนามข้างศาลา กะว่าจะนอนฟังธรรมไปพลางๆแต่ก็หลับไปเสียก่อน

วันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ ๑๐ และเป็นวันสุดท้ายที่จะมีการทอดกฐินได้ ตอนสายๆ พ่อออกแม่ออกและผู้มาร่วมทำบุญทยอยเข้ามาเป็นระยะ โรงทานก็ได้บริการอาหารอีกครั้งหนึ่ง หลังพระฉันเช้าเสร็จแล้ว ก็ได้เวลาทอดกฐิน พระอาจารย์หนูเจียมเป็นประธานฝ่ายสงฆ์เหมือนวันก่อน และมีพระเถระจากต่างจังหวัดมาร่วมรับกฐินอีกหลายรูป เช่นหลวงพ่อประยงค์ เตชธมฺโม จากบุรีรัมย์ หลวงปู่อึ่งหรือหลวงพ่อวรินทร์ ธมฺมวโร จากนครสวรรค์ หลวงพ่อกานต์ วรธมฺโม จากอุตรดิตถ์ หลวงพ่อสุพจน์ สุวโจ จากแพร่ หลวงพ่อภูมิพงษ์ ถามิโก จากเชียงใหม่ เป็นต้น

ก่อนทอดกฐินมีเทศน์ก่อนหนึ่งกัณฑ์โดยพระอาจารย์สกล อนนฺตชิโน ประธานสงฆ์สำนักปฏิบัติธรรมสวนป่าวังกระแจะ ไทรโยค กาญจนบุรี

ท่านกล่าวว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่จะทอดกฐินได้ พระที่จะรับกฐินได้ต้องอยู่ในอาวาสนั้นตลอดสามเดือน และอย่างน้อยต้องมี๕องค์ เนื่องจากพระที่จะตัด เย็บ ฟอก ย้อมผ้า จะต้องมีความรู้ความสามารถด้านนี้ ต้องสามัคคีกันทำจึงจะเสร็จได้ในวันเดียว ถ้ามีน้อยกว่า๕รูปก็อาจจะไม่เสร็จตามเวลา พระภิกษุองค์ที่จะรับผ้าต้องเป็นพระที่รู้ธรรมแปดประการตามพุทธบัญญัติ ท่านเน้นว่าบุญทอดกฐินนั้นสำคัญอยู่ที่ใจ มากกว่าวัตถุทานหรือปัจจัยเงินทอง บางครั้งอกุศลนำไปสู่กุศล เช่น ญาติโยมบางคนไม่อยากมาทำบุญเลยแต่ขัดที่ถูกพ่อแม่ญาติมิตรชักชวนไม่ได้ จำเป็นต้องมา คือมีอกุศลเสียแล้ว แต่เมื่อมาแล้วเห็นการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์องค์เจ้าที่เคร่งครัดในศีลาจาวัตร เห็นปฏิปทาของผู้อื่นแล้วเกิดความเลื่อมใส จิตเกิดเป็นกุศลขึ้น และได้ร่วมทำบุญด้วยใจศรัทธา บางครั้งกุศลนำมาซึ่งอกุศล คือตั้งใจที่จะมาทำบุญ พอมาถึงวัดเห็นอะไรรู้สึกขัดใจไปหมด เช่นไม่พอใจที่รถจอดเกะกะ ขัดใจที่เห็นบางคนไม่สำรวม ไม่พอใจที่มีเสียอึกทึกคึกโครม เป็นต้น คือจับผิดผู้อื่น ไม่รู้จักดูจิตดูใจตนเอง จิตเป็นอกุศล แทนที่จะได้บุญกลับจะได้บาป จึงกล่าวว่าทำบุญสำคัญอยู่ที่จิตใจ ใจต้องสะอาด สงบ ไม่วุ่นวาย จิตที่เกิดจากการทำดี พูดดี คิดดี ย่อมนำสุขมาให้

หลังพิธีทอดกฐินแล้ว พ่อออกแม่ออก ต่างก็ล่ำลาแยกย้ายกันกลับ ผมได้อาศัยรถตู้ที่มารับญาติโยมวัดแพร่ธรรมารามเดินทางกลับ ระหว่างทางเราเห็นน้ำท่วมทุ่งหลายแห่งในเขตอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมือง จังหวัดอุบลฯ และอีกหลายแห่งในจังหวัดใกล้เคียง ทราบว่าสภาพน้ำท่วมเช่นนี้เกิดทุกปี แต่ก็ดีใจที่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังมีข้าวออกรวงเหลืองอร่ามอยู่

เป็นอันว่าการนำทัวร์กฐินวัดแพร่ธรรมารามและสาขาปีนี้คงหมดเพียงแค่นี้นะครับ ปีนี้ผมได้ไปร่วม๑๐วัด เป็นวัดในภาคเหนือ๘ ภาคอีสาน๒
ขอให้ผู้ผ่านเข้ามาอ่านบล็อกนี้มีความเจริญในธรรมกันทุกคนนะครับ




สองภาพแรก...พ่อออกแม่ออกที่มาทำบุญร่วมกัน




สองภาพต่อมา...กำลังถวายผ้า


แม่น้ำมูลที่เอ่อล้นฝั่ง




สองภาพนี้....สภาพน้ำท่วมทุ่งข้างเส้นทาง



Create Date : 13 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2554 17:19:38 น.
Counter : 1864 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อุษา
Location :
แพร่  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]



พฤศจิกายน 2554

 
 
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
13 พฤศจิกายน 2554
All Blog