Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2554
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
20 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 

ธรรมรัฐ - ธรรมราชา : ธรรมาภิบาลพุทธ (ตอน ๘)


เรียบเรียงโดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณทิต


พุทธธรรมาภิบาลกลุ่มต่อไปที่จะพูดถึงในวันนี้ เป็นกลุ่มที่ว่าด้วย

ความถูกต้องเที่ยงธรรม ที่ผู้นำการเมือง และผู้นำองค์กรต่าง ๆ

ต้องมีประกอบด้วย เว้นจากอคติ ๔ มีศีล มีอาชวะ

และยึดอวิโรธนะผู้นำที่มีความถูกต้องเที่ยงธรรมต้องมีจิตใจที่มั่นคง

หนักแน่น ไม่มีความลำเอียงเพราะอคติ ๔ ประการ คือ

๑. ลำเอียงเพราะชอบ ที่เรียกว่า ฉันทาคติ

๒. ลำเอียงเพราะชัง หรือ โทสาคติ

๓. ลำเอียงเพราะหลงหรือเขลา อันเป็น โมหาคติ

๔. ลำเอียงเพราะกลัว หรือ ภยาคติ

หลายคนนึกว่าหลักปราศจากอคตินี้ ใช้สำหรับผู้พิพากษาหรือตุลาการเท่านั้น

ความจริงหลักนี้เป็นเสาเอกของผู้พิพากษาก็จริง

แต่ผู้นำประเทศหรือองค์กรก็ต้องมีธรรมะข้อนี้ด้วย

เพราะผู้นำมีอำนาจตัดสินใจให้คุณให้โทษคนได้

ดังนั้น ถ้าผู้นำมีความลำเอียงด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งแล้ว

การตัดสินใจก็จะไม่มีความเที่ยงธรรม และผู้รับผลกระทบก็คือผู้ตาม

และผลกระทบนี้อาจรุนแรงถึงเกิดสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเลยทีเดียว

ดังเช่นที่ปรากฏในรามเกียรติ์ ที่ทศกัณฐ์เจ้าเมืองลงกาหลงรักนางสีดา

แล้วไปลักตัวนางสีดามา จนพระรามตามมาทำสงครามชิงตัวกลับ

รบกันจนโคตรวงศ์พงศาตายเกือบหมด นี่ไม่ใช่เพราะความรักและโมหะ

คือความเขลาของผู้นำดอกหรือ? แม้แต่เรื่องสงครามเมืองทรอย

ที่คนทั้งเมืองต้องรบกับทัพกรีกก็เพราะฉันทาคติของเจ้าชายปารีส

ลูกเจ้าเมืองทรอยนั้นเอง ที่ทำให้คนทั้งเมืองเดือดร้อนถึงกับถูกฆ่าเผาทั้งเมือง!

พุทธธรรมาภิบาลข้อนี้ เน้นที่ความเที่ยงตรง เที่ยงธรรมในจิตใจผู้นำ

แต่ฝรั่งสมัยใหม่เขาเน้นตรงสาเหตุที่จะทำให้เกิดความลำเอียง

เขาจึงห้ามผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปตัดสินใจในเรื่องที่ตนมีส่วนได้เสีย

เพื่อป้องกันความขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม

ที่ตำแหน่งนั้น ๆ ต้องดูแลรักษา ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินบ่อย ๆ

ว่าเรื่องนี้เป็น conflict of interest ห้ามคนที่มีส่วนได้เสียตัดสินใจ

ถ้าทำไปก็จะทำให้การตัดสินใจนั้นเสียไป เหมือนที่ศาลปกครอง

เคยเพิกถอนการแปรรูป กฟผ. โดยมีเหตุผลข้อหนึ่งว่า

กรรมการที่อยู่ในการแปรรูปมีส่วนได้เสียสำคัญ

ทำให้การตัดสินใจไม่เที่ยงธรรม

ถ้าพิจารณาเช่นนี้ เราจะเห็นได้ว่าหลักปราศจากอคติของพุทธ

กับหลักห้ามมีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ก็คือเรื่องเดียวกันนั้นเอง!

นอกจากไม่มีอคติแล้ว ผู้นำประเทศยังต้องมี ศีล

ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์อธิบายว่า หมายถึง “รักษาความสุจริต

คือประพฤติดีงาม สำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริต

รักษากิตติคุณ ประพฤติให้ควรเป็นตัวอย่าง

และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ มิให้มีข้อที่ผู้ใดจะดูแคลน”

หลักที่ผู้นำต้องมีศีลนี้ ต้องเข้าใจว่ามีความหมายอย่างกว้าง

คือ มีศีลตามหลักศาสนา เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ และต้องมีศีลของบ้านเมืองด้วย

คือต้องไม่ทำผิดกฎหมายด้วย หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ

ผู้นำต้องมีความมั่นคงใน ศีลธรรม (morality) และ นิติธรรม (rule of law)

คือไม่ทำผิดทั้งหลักศาสนา หลักศีลธรรมและหลักกฎหมาย

พุทธธรรมาภิบาลข้อนี้ตรงกับหลักธรรมาภิบาลของฝรั่ง

ที่เน้นความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและนิติธรรมนั่นเอง

หลักข้อต่อไปที่จะทำให้ผู้นำตัดสินด้วยความเที่ยงธรรม

ก็คือหลัก อาชวะ (honesty) ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์

สรุปว่า “ปฏิบัติภาระโดยซื่อตรง คือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา

ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน”

หลักนี้คือหลักที่ผู้นำต้องเป็นคนตรงไปตรงมา จริงใจ

รักษาสัจจะหรือคำพูด ที่สำคัญคือไม่ทุจริต คดโกง

นอกจากนั้น ผู้นำต้องมี อวิโรธนะ (integrity)

ซึ่งหมายถึงความถูกต้องเที่ยงธรรมนั่นเอง ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์

ท่านอธิบายว่า “อวิโรธนะ มิปฏิบัติคลาดจากธรรม คือประพฤติมิให้ผิดจาก

ประศาสนธรรม อันถือประโยชน์สุขความดีงามของรัฐและราษฎร์เป็นที่ตั้ง

อันใดประชาราษฎร์ปรารถนาโดยชอบธรรมก็ไม่ขัดขืน

การใดจะเป็นไปโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนก็ไม่ขัดขวาง

วางตนเป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหว

เพราะถ้อยคำดีร้าย ลาภสักการะหรืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ใด ๆ

สถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คือความเที่ยงธรรมก็ดี

นิติธรรม คือระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง

ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามก็ดี

ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป”

หลักอวิโรธนะนี้ถ้าสรุปง่าย ๆ ก็คือผู้นำต้องยึด ความถูกต้องเที่ยงธรรม

ใครผิดก็ว่าผิด ใครถูกก็ว่าถูก ไม่ยอมให้คนทำผิด

ตัวอย่างของการยึดความถูกต้องก็เช่น การที่พันท้ายนรสิงห์เอาชีวิตของตน

รักษากฎมนเทียรบาลไว้ทั้ง ๆ ที่พระเจ้าเสือพระราชทานอภัยโทษแล้ว เป็นต้น

ถ้าผู้นำประเทศและผู้นำองค์กรมีการยึดหลักความถูกต้องเที่ยงธรรม ๔ หลักนี้

เชื่อว่า บ้านเมืองจะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข มีแต่ความสุจริต

และมีแต่คนดี ๆ ที่ปกครองบ้านเมือง.


คัดจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับ วันพุธ ที่ 19 ตุลาคม 2554

............................................

อ้างอิงจาก : //www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=630&contentID=170489




 

Create Date : 20 ตุลาคม 2554
0 comments
Last Update : 19 พฤษภาคม 2556 12:34:52 น.
Counter : 1689 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.