พฤศจิกายน 2550

 
 
 
 
1
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog
เรื่องสั้นเดือนสิบเอ็ด : เธอไม่เคยไปไกลถึงที่นั่น
เรื่อง : เธอไม่เคยไปไกลถึงที่นั่น
ผู้เขียน : ดาริกามณี


เธอว่า...ในโลกล้วนมีวัฒนธรรมที่แตกต่าง และแม้จะแตกต่างก็หลอมรวมให้เป็นหนึ่งเดียวได้ด้วยหัวใจ เขาฟังแล้วหัวเราะหัวใคร่ จะเป็นไปได้ยังไงเพราะวัฒนธรรมประเพณี เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และความเชื่อ หล่อหลอมคนแต่ละคนมาให้ไม่เหมือนกัน เอาง่ายๆ แค่ภาคใต้กับภาคอีสาน ก็กินอาหารไม่เหมือนกัน ภาษาพูดแตกต่างกัน ความเชื่อก็ไม่เหมือนกันด้วย จะให้อยู่ด้วยกันได้ยังไง ไม่มีทางหรอก - -

นั่นทำให้เธอร้าวไปถึงกระดูก ปวดไปถึงลำไส้ เมื่อได้ยินประโยค เพราะเธอมาจากจังหวัดเหนือสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเขามาจากภาคใต้ กรุงเทพมหานคร คือศูนย์รวมของความแตกต่าง นั่นทำให้กรุงเทพฯ ไม่มีเอกลักษณ์ของตัวเองโดดเด่น เว้นแต่เมื่อถึงฤดูเทศกาลที่คนต่างจังหวัดต้องกลับบ้านเกิด กรุงเทพฯ จะเป็นตัวของตัวเองให้รถเมล์เหยียบคันเร่งไว้หนี-ยมบาล กรุงเทพฯ เหมือนเมืองร้างไปชั่วขณะ ถ้ากรุงเทพฯ เป็นคน ก็คงปลดภาระอันหนักอึ้งลงบนบ่าแม้สักชั่วขณะเวลา...

เธอมาจากริมแม่น้ำโขง จังหวัดเลย เขามาจากริมฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต เธอรักเขาอย่างตรงไปตรงมาในความรักแบบหญิงสาวกับชายหนุ่มทั่วโลกที่มีความรัก และความรักของเธอกับเขาก็น่าจะดำเนินไปได้ด้วยดีถ้าหากไม่มีวันหนึ่งที่ทั้งคู่มีเรื่องเบาะแว้งเพราะความไม่เข้าใจกัน ประโยคหนึ่งที่หลุดออกมาจากปากเขาโดยไม่ตั้งใจ... อย่างน้อยเธอก็เชื่ออย่างนั้น

“ผู้หญิงคนนั้นก็เป็นคนใต้เหมือนผม คุยกันง่าย เข้าใจกันง่าย” เธออึ้ง นิ่งเงียบในโลกสุญญากาศ แต่ขอโทษขอโพย – ฉันไม่ได้ตั้งใจทำให้คุณโกรธ... ถ้าไม่ใช่เพราะความรัก เธอจะไม่เอ่ยออกไปอย่างนั้น แต่นั่นไม่ได้ช่วยรั้งให้เขาอยู่ เพราะหัวใจคนเมื่อต้องการจากไป ไม่เคยมีอะไรฉุดรั้งเอาไว้ได้

เธอ – ในวัยที่อายุเลยเลขสองมาแล้วไม่มาก เคยมีเพื่อนหลายคนเป็นมุสลิม กรุงเทพฯ สอนให้เธอเปิดใจรับเพื่อนต่างศาสนาหรืออีกบางทีอาจเพราะภาวะกำจัดบางอย่างทำให้จำเป็นต้องมีเพื่อนต่างศาสนา แต่เธอเคยคัดง้างความรู้สึกนี้ของตัวเอง, ไม่ใช่เพราะกรุงเทพฯ แต่เพราะมิตรภาพ... เธอมีเพื่อนที่นับถือศาสนาอิสลามมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญา เธอติดสอยห้อยตามพวกเขาไปทำพิธีกรรมทางศาสนา ไปงานชุมนุมสานสัมพันธ์ของเพื่อนมุสลิมด้วยกัน และกิจกรรมต่างๆ ของพวกเขา เธอก็มักจะเข้าร่วมโดยไม่รู้สึกถึงความแปลกแยกของตัวเอง และแน่นอน พวกเขายิ้มรับกับมิตรสหายต่างศาสนาอย่างไม่มีเงื่อนไข จนเมื่อออกมาทำงานก็มีเพื่อนร่วมงานและร่วมห้องพักเป็นสาวสวยนับถือศาสนาอิสลาม นั่นทำให้หลายคนแปลกใจ ทำไมเราอยู่ด้วยกันได้, คนหนึ่งไหว้พระก่อนนอน มีพระพุทธรูปอยู่บนหัวนอน จุดธูป เทียน วางมาลัยดอกไม้ในวันพระ ขณะอีกคนละหมาดวันละห้าเวลา มีปฏิทินศาสนาแขวนอยู่ใกล้ๆ มีผ้าละหมาดพับเรียบร้อยวางอยู่ข้างหมอน
และในเวลานอน เราสองคนหันหัวไปคนละทาง...

เมื่อได้ยินคำถามทำไมเราอยู่ด้วยกันได้ เราสองคนหัวเราะร่า และยิ้มให้กัน เธอตอบคำถามนั้นว่าเพราะเราต่างก็มีศรัทธาของใครของมันแต่เรามีมิตรภาพเป็นอันเดียวกัน --อย่างนั้นตลอดมา จนตราบเมื่อเพื่อนย้ายไปทำงานที่อื่น มิตรภาพของเราก็หาได้เหือดหายไปกับเวลา เพื่อนมุสลิมยังคอยส่งของฝากมาให้อยู่เรื่อยๆ ถึงรอมฎอนก็ส่งอินทผาลัมมาให้ ถึงหน้าลองกองก็ให้ไปรับกล่องใหญ่ที่หัวลำโพง ข้าวเกรียบปลาของโปรดจากปัตตานี มักจะส่งมาทางกล่องไปรษณีย์อยู่บ่อยครั้ง หรือแม้คราวที่อยู่ด้วยกัน เมื่อใดเพื่อนกลับปัตตานีไปก็มักกลับขึ้นมาพร้อมเครื่องแกงสำหรับประกอบอาหารที่เธอก็ไม่รู้ว่าไปหลงชอบเข้าตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่มักจะรอคอยอย่างกระตือรือร้นเสมอที่จะได้กินอาหารใต้

เธอชอบคนใต้ เธอบอกตัวเองอย่างนั้น ไม่ใช่เพราะของฝากหรืออาหาร แต่เพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรมประเพณี และทุกๆ อย่างที่รวมเป็นคนใต้ - คนใต้ที่ไม่ใช่จำกัดว่าเป็นมุสลิม...

เธออ่านงานเขียนของกนกพงศ์ สงสมพันธ์ นักเขียนซีไรต์ปี 2539 ทุกเล่มและทุกเรื่องอย่างละเมียดละไม ไล่สายตาไปทุกบรรทัดอย่างไม่มีบกพร่อง เธอชอบการบรรยายถึงความเป็น “ภาคใต้” ของกนกพงศ์ โลกของภาคใต้สำหรับเธอชัดเจนในงานเขียนของเขา เธอแปลกและอัศจรรย์ใจถึงวิธีการบรรยายและเล่าเรื่องอย่างละเอียดอดทนของนักเขียนคนนี้ จนในหลายคราวครั้งเธอเผลอนึกว่าตัวเองนั่งอยู่เคียงข้างในระหว่างที่เขากำลังเขียนเรื่องสั้นสักเรื่อง, ไม่ใช่แต่กนกพงศ์เท่านั้นที่เธอชื่นชอบถึงขั้นหลงไหลในผลงาน แต่นักเขียนภาคใต้หลายคนที่เธอกวาดหนังสือเขามาทั้งแผง... เรื่องราวเกี่ยวกับภาคใต้ในรูปแบบของเรื่องสั้น นวนิยาย นั่นทำให้เธอจินตนาการถึง “ภาคใต้” ที่เธอไม่เคยไปเยือนไกลกว่าระนอง... ระนองก็แค่เกาะหาดทรายดำ ในคราวไปช่วยสร้างบ้านเมื่อครั้งคลื่นยักษ์สึนามิถล่มทำลาย คราวนั้นเธอเจ็บปวดรวดร้าว ราวภูกระดึง ภูหลวงทลายลงต่อหน้า เห็นอกเห็นใจสงสารผู้คนจนน้ำตานองคลอสองตา ตลอดเวลาการขนอิฐ ขนกระเบื้องลงจากเรือเพื่อสร้างบาราย เธอสลดใจและเศร้าไปกับพวกเขา เธอไปภาคใต้ใกลถึงระนอง แต่เธออยากไปไกลกว่านั้น เมื่อเธอมองไปยังสุดขอบทะเล

เธอวาดภาพของภาคใต้เอาไว้ในใจ เธออยากเห็นโลกของภาคใต้ให้ชัดเจนกว่านั้น แต่ข่าวสารข้อมูลที่กระหน่ำเข้ามาทุกวันถึงความไม่ปลอดภัยของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้เธอลังเลที่จะไปเยือน ข่าวสารที่สื่ออกมามักจะน่าตกใจอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นการวางระเบิด การเผาโรงเรียน การลอบยิงไปจนถึงยิงแบบไม่ต้องลอบ ทั้งหมดเป็นเรื่องที่น่าหดหู่สำหรับคนที่ไม่เคยไปไกลถึงที่นั่น เธอมองภาพทั้งหมดไม่ออก แต่เธอรู้ว่าน่ากลัว และรู้สึกกลัวทั้งที่เธอไม่เคยไปที่นั่น- - แต่กระนั้นก็ตามเธอก็ยังหมายใจเอาไว้ว่าสักวันเธอจะต้องหาโอกาสไปเยือนภาคใต้อย่างที่เคยตั้งใจเอาไว้ให้ได้

เธอเคยมีความรักและคนรักเป็นคนใต้ – คนที่ไม่ใช่เขาตอนนี้,

เขาคนนั้นเป็นคนจังหวัดสงขลา อำเภอหาดใหญ่ แต่ชีวิตทันสมัยของกรุงเทพฯ ก็ฉุดลากเขาให้เปลี่ยนแปลงตัวเองกับสังคมที่อยู่ เขาไม่เหลือคราบคนน้ำเค็มเมื่อเป็นเจ้าหน้าที่การเงินของธนาคารแห่งชาติ สองถึงสามปีต่อครั้งที่เขาจะกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ที่หาดใหญ่ เขาว่าเดินทางไกล ค่าใช้จ่ายสูง เขาคิดตามแบบฉบับของคนการเงินแต่ไม่พูดถึงการเดินทางด้วยเครื่องบินของเขา เธอรักกับเขาอยู่หลายปี เคยร้องขอจะไปเที่ยวหาดใหญ่ดูบ้างสักที แต่สามปีกลับบ้านครั้ง ทำให้เธอรู้ว่าไม่มีทางถ้าจะหวังเอากับเขา เธออยากเห็นหาดสมิหรา เธออยากรู้ว่าทะเลอันดามันกับทะเลไทยต่างกันตรงไหน เธออยากกินแกงไตปลาที่เป็นฝีมือของคนใต้แท้ๆ ทำให้กิน เพราะหลายครั้งที่เธอซื้อติดมือกลับบ้านแล้วเขาวางช้อนลงทันทีที่ตักเข้าปากคำแรก “ไม่ใช่คนใต้ทำ”

- - การเป็นเจ้าหน้าที่การเงินของธนาคารแห่งชาติ ไม่ได้ช่วยให้เขาลืมรสชาติอาหารของบ้านเกิดสักนิด เขาเพียงแค่คิดว่าเขาลืมมันได้...

เธอเลิกร้างกับเขาคนนั้นไปหลายปีและมีเขาอีกคนเข้ามาในชีวิต เพราะความคิดและรูปแบบการใช้ชีวิตที่คล้ายคลึงกัน เราอ่านหนังสือประเภทเดียวกัน ชื่นชอบในอะไรหลายอย่างคลับคล้ายกัน ความคิดใกล้เคียงกัน นั่นทำให้เราต่างเชื่อว่าเราน่าจะอยู่ด้วยกันได้ในโลกที่ชื่อว่า กรุงเทพฯ และการอยู่ร่วมกันน่าจะดำเนินไปได้ด้วยดีถ้าเพียงแต่จะไม่มีเรื่องราวเล็กๆ น้อยที่เกี่ยวกับความเชื่อทางวัฒนธรรมมาเกี่ยวข้อง... เราจำเป็นต้องปรับตัวเข้าหากันในท่ามกลางความแตกต่างของความเป็นมา จังหวัดเลยของเธอมีทุ่งนา มีเด็กขี่ควาย มีภูเขาและมีแม่น้ำโขง มีอากาศที่หนาวจัดจนบางครั้งเวลาผ่านเลยมาถึงเที่ยงหมอกยังจับหนากลางภูเขา จังหวัดภูเก็ตของเขามีทะเล มีนักท่องเที่ยว ไม่มีทุ่งนา ไม่มีควาย และไม่มีอากาศหนาวจัด เขาไม่เคยสัมผัสอากาศหนาวจัดของจังหวัดเลย แม้จะเคยไปต่างประเทศที่หนาวยิ่งกว่า--

การบอกเล่าสู่กันฟังถึงวัฒนธรรมของตัวเองนั้นยากที่ใครอีกคนจะเข้าใจหากไม่เคยเข้าไปสัมผัส เธอคิดว่าหาดป่าตองก็คงไม่ต่างจากหาดบางแสน ภูเก็ตน่าจะเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยชาวต่างชาติ และทุกสิ่งทุกอย่างราคาแพง เพราะที่นั่นเป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญของประเทศ แต่สิ่งที่เธออยากรู้มากกว่านั้น ไม่ใช่เรื่องของชายหาดและนักท่องเที่ยว แต่เธออยากรู้จักต้นสะตอ หน้าตาของต้นสะตอ ต้นลูกเหนียง ต้นเต่าร้างแดง กระทั่งสวนยาง เธอไม่เคยเห็นสวนยาง เธอไม่รู้ว่าการกรีดยางต้องทำยังไง เธออ่านในหนังสือเกี่ยวกับการปลูกยาง--ละเอียดยิบ แต่ในนั้นไม่มีกลิ่น กลิ่นของน้ำยางที่ไหลออกมาจากต้น กลิ่นของต้นยางในอากาศชื้นของภาคใต้และเสียงของใบไม้เมื่อต้องลม...

เธออยากดูหนังตะลุง เธอไม่เคยเห็นการแสดงหนังตะลุง เธอรู้จัก-เท่งจากพวงกุญแจของที่ระลึกที่เพื่อนสาวจากปัตตานีเคยส่งมาให้ เป็นรูปคนจมูกยาวพุงโตยืนหันข้าง เจาะรูด้านบนร้อยเป็นพวงกุญแจ แค่นั้น แต่เธอไร้จินตนาการอย่างสิ้นเชิงถึง-เท่ง เธออยากรู้จักหมูขี้พร้า มันจะเหมือนหมูบ้าน หรือหมูป่าไหมก็ไม่รู้ เธออยากรู้วิธีการทำน้ำบูดู และกินแกงไตปลาฝีมือคนใต้แท้ๆ - - เธอ, โดยพื้นฐานไม่ชอบอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารรสเผ็ด เธอจะไม่แตะมันถ้ารู้ว่ามันเผ็ด ยกเว้นอาหารปักษ์ใต้ทุกชนิด เธอกล้าหาญที่จะรับรสเผ็ด และกลิ่นแปลกๆ ของเครื่องแกงปักษ์ใต้

การกินอาหารปักษ์ใต้ก็เหมือนการเดินขึ้นภูกระดึง - - มันไม่สนุกหรอก, ถ้าให้คนอื่นเดินขึ้นไปแทน

อาหารก็เหมือนกัน, มันจะไปอร่อยอะไร ถ้าเรานั่งกินแกงไตปลาในห้างเอ็มโพเรียม...เธอใฝ่ฝันจะไปนั่งกินข้าวแกงบนม้านั่งที่ตัดจากซุงทั้งท่อนหั่นให้พอดีขนาดนั่งแล้วคางไม่เกยโต๊ะ มีโต๊ะกินข้าวจากไม้ซุงผ่าซีก มีแกงไตปลา และปลาทอดขมิ้น ว่ากันว่าอาหารใต้มักอุดมไปด้วยผัก ผักชนิดต่างๆ ที่เอาไว้เคียงกับอาหารรสเผ็ดจัดจ้านเหล่านั้น เธออยากไปนั่งฟังเสียงคนใต้คุยกันด้วยภาษาท้องถิ่น นั่งฟังเสียงหล่นลงบนหลังคาของทุเรียนก้านยาวลูกเล็กๆ มีเงาะสวนห้อยระย้าเป็นพวง และฝนตกอยู่เสมอ เหมือนในหนังสือของกนกพงศ์

หรือเพราะหนังสือของกนกพงศ์ ทำให้เธออยากเห็นภาคใต้ของจริง – หรือเพราะคนรักของเธอเป็นคนใต้จึงทำให้เธอสนใจใคร่รู้ในความเป็นมาของเขาและบ้านเกิดเมืองนอนของเขา หรือเพราะความรักทำให้คนเราอยากรู้อยากเห็นไปหมดเกี่ยวกับคนที่เรารัก เธอไม่รู้ว่าเพราะอะไรแต่เธอก็ยังอยากไปภาคใต้ดูสักครั้ง สักครั้งหนึ่งในชีวิตก็ยังดี เธอนึกถึงครูจูหลิง ครูจูหลิงอยู่ที่นั่นเพราะความรักการเป็นครู และเธอต้องรักภาคใต้ เพราะการเป็นครูจะอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าไม่รักในที่ที่อยู่ก็จะไม่อยากอยู่ แต่ครูจูหลิงเธออยู่ภาคใต้ แสดงว่าเธอต้องรักที่นั่น...

แต่ประโยคหนึ่งแว่วมาจากเพื่อนนักข่าวสายเศรษฐกิจว่า

“คนใต้ไม่ชอบคนอีสาน ไม่รู้ทำไม แต่รู้ว่าไม่ชอบ” เธอสงสัย และยังสงสัยมาจนวันนี้ว่าเป็นจริงดังนั้นหรือ เธอมีคนรักสองคนเป็นคนใต้ทั้งสองคนก็ไม่เห็นว่าเขาจะรังเกียจความเป็นลูกข้าวเหนียวของเธอ - - หรือว่าเขาอาจปกปิดความรังเกียจนั้นเอาไว้... เธอไม่อยากเดา เพื่อนนักข่าวคนเดิมบอกอีกว่า คนอีสานอยู่ทางใต้ส่วนใหญ่เป็นพวกใช้แรงงาน เป็นลูกเรือประมง เป็นลูกจ้างสวนยาง และเป็นผู้หญิงค้าประเวณี หรืออย่างดีก็แค่เป็นแม่ค้าขายส้มตำ มีไม่กี่คนหรอกที่จะทำมาหากินที่นั่นได้ ถ้าไม่ใช่คนที่นั่น นักข่าวว่าอย่างนั้น แต่เธอก็ยังนึกภาพไม่ออกอยู่ดี เพราะเธอไม่เคยไปภาคใต้ – เธอไม่เคยไปไกลถึงที่นั่น เธอไม่เชื่อเพื่อนนักข่าว เพราะคนเราไม่เหมือนกันทุกคนหรอก ทุกคนมีสาเหตุของการชอบและไม่ชอบ แต่เท่าที่ได้ยินจากที่อื่นมาบ้าง เขาก็ว่าคนใต้รักพวกพ้องเพื่อนฝูง ถ้าคนใต้นับใครเป็นเพื่อนก็จะรักและปฏิบัติเสมือนหนึ่งเป็นญาติในครอบครัวทีเดียว นั่นทำให้เธอมองคนใต้ในทัศนคติทางบวกเสมอมา

และยิ่งเมื่อเขาพาไปแนะนำให้แม่รู้จัก – แม่เป็นครู และขึ้นมาจากภูเก็ตเพื่ออยู่กับลูกชายในวันหยุดปิดเทอมของโรงเรียนประถม นั่นยิ่งทำให้เธอรักคนใต้มากขึ้นอีกมากนัก เพราะแม่เป็นผู้ใหญ่ใจดี และใจดีกับเธอเหมือนเธอเป็นลูกสาว หญิงร่างท้วมวัยต้นห้าสิบ ผิวคล้ำอย่างคนใต้ ตาคมดุจเหยี่ยว แต่มีรอยยิ้มอยู่เสมอ เธอได้กินแกงเหลืองฝีมือแม่ คนใต้แท้ๆ ทำให้กิน รสชาติต่างจากกินแกงเหลืองในห้างลิบลับ

เธอจะเป็นสะใภ้คนใต้ เธอบอกกับตัวเองอย่างนั้น เธอศึกษาวัฒนธรรมประเพณี ความเป็นอยู่และลักษณะนิสัยใจคอของคนใต้มาจนละเอียดยิบ เธอว่า...ในโลกล้วนมีวัฒนธรรมที่แตกต่าง และแม้จะแตกต่างก็หลอมรวมให้เป็นหนึ่งเดียวได้ด้วยหัวใจ เขาฟังแล้วหัวเราะหัวใคร่ จะเป็นไปได้ยังไงเพราะวัฒนธรรมประเพณี เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และความเชื่อ หล่อหลอมคนแต่ละคนมาให้ไม่เหมือนกัน เอาง่ายๆ แค่ภาคใต้กับภาคอีสาน ก็กินอาหารไม่เหมือนกัน ภาษาพูดแตกต่างกัน ความเชื่อก็ไม่เหมือนกันด้วย จะให้อยู่ด้วยกันได้ยังไง ไม่มีทางหรอก - -

แล้วเรื่องราวก็มาจบตรงที่ว่า

“ผู้หญิงคนนั้นก็เป็นคนใต้เหมือนผม คุยกันง่าย เข้าใจกันง่าย” แล้วเขาก็จากไปกับผู้หญิงคนนั้น สาวจังหวัดกระบี่ มาเรียนและทำงานที่กรุงเทพฯ หลายปีแล้ว - -

เธอเจ็บปวดร้าวราน...

เธอรักภาคใต้ แต่เธอไม่เคยไปไกลถึงที่นั่น...
----------------------------------------------------------


หมายเหตุ : แรงบันดาลใจมาจากเรื่องสั้นของกนกพงศ์ สงสมพันธ์ นิทานประเทศ, รอบบ้านทั้งสี่ทิศ, คนตัวเล็ก, คนใบเลี้ยงเดี่ยว, แผ่นดินอื่น (ซีไรต์), สะพานขาด, โลกหมุนรอบตัวเอง



Create Date : 02 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 29 เมษายน 2551 15:27:04 น.
Counter : 1114 Pageviews.

10 comments
  
ภาวะกำจัด---> ภาวะจำกัดหรือเปล่า

อ่านเรื่องนี้จบแล้วรู้สึกอึ้ง หนูคิดว่าไม่ใช่แค่คนใต้หรอกที่รักพวกพ้อง แต่น่าจะเป็นคนทุกภาคนั่นแหละ แต่ถึงยังไงไม่ว่าจะภาคไหนก็คนไทยเหมือนกัน
ไม่น่าจะยากเกินไปที่จะคุยและทำความเข้าใจ การที่จะบอกว่าเป็นคนภาคเดียวกันคุยกันเข้าใจกันง่ายกว่า มันก็อาจจะมีส่วน แต่คงไม่ทั้งหมด มันน่าขึ้นอยู่กับว่าคนๆอยากจะคุยหรือทำความเข้าใจหรือเปล่า
เท่านั้นแหละ ขนาดต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างศาสนา ยังรักกันได้เลย
โดย: น้องเก้อ IP: 117.47.34.222 วันที่: 2 พฤศจิกายน 2550 เวลา:21:12:14 น.
  
โดย: มณีมรกต วันที่: 2 พฤศจิกายน 2550 เวลา:22:58:17 น.
  
เฮ่อ ชีวิต...
โดย: ศิลป์ใจ ศิริกาลกุล (ศิลป์ใจ ) วันที่: 3 พฤศจิกายน 2550 เวลา:3:37:10 น.
  
รู้จักปักษ์ใต้เกือบทุกเรื่อง
คำว่า หมูขี้พร้า ไม่ได้ยินไม่ได้เห็นมาเกือบยี่สิบปีแล้ว
มาอ่านเจออีกทีก็ทำให้คิดถึงบ้าน คิดถึง Big 3 ของปักษ์ใต้ ลูกเนียง ลูกเหรียง ลูกตอ (สะตอ)
ทั้งสามอย่างนี้เรากินได้อย่างเดียวคือลูกตอ

วัฒนธรรม ประเพณี เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา มิใช่เส้นแบ่งหากคนสองคนหรือมากกว่าตั้งใจและเต็มใจที่จะเดินไปด้วยกัน
แต่หากไม่เต็มใจ เรื่องเล็ก ๆ ก็เป็นเส้นแบ่งที่ใหญ่จนยากที่จะก้าวข้าม
เพื่อนสนิทที่สุดของพ่อเราเป็นคนอีสาน มาจากอำเภอหนองสองห้อง ขอนแก่น แต่งงานกับสาวกระบี่
เวลาพ่อพูดคุยกับเพื่อนคนนี้ คนนึงพูดใต้ อีกคนพูดสองสำเนียงปนกัน อีสานปนใต้ ไม่เห็นมีใครจะเดือดเนื้อร้อนใจอะไร แต่ที่สำคัญคือการกระทำที่แต่ละคนได้แสดงออกมาได้พิสูจน์ตัวเองเป็นระยะ ๆ ซึ่งอีกฝ่ายก็จะรับรู้ได้ว่านี่คือของแท้ แม้ไม่ใช่คนบ้านเดียวกันมาก่อน
โดย: รายารีย์ IP: 125.25.78.34 วันที่: 4 พฤศจิกายน 2550 เวลา:6:45:29 น.
  
อ่านแล้วน้ำตาซึมค่ะ

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะมีคนที่รักเป็นคนที่แสนจะแตกต่าง หรือว่าเพราะตัวเองเป็นคนใต้ที่จากบ้านมานาน

อยากจะเชื่อว่าในความแตกต่างเราสามารถเดินไปพร้อมๆกันได้ แต่ในความเป็นจริงบางครั้งกำแพงนั้นก็สูงเกินจะข้าม

คิดถึงแกงพุงปลา ต้นยางและลูกตอค่ะ
โดย: ศานติ์ IP: 61.113.174.133 วันที่: 4 พฤศจิกายน 2550 เวลา:18:59:58 น.
  
มาส่งการบ้านตามคำบัญชา

สรุป ความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้นไม่ใช่สาเหตุที่แปลกแยก
แต่เรากับกล่าวถึงส่วนนี้เป็นเรื่องหลัก ....
คนอ่านที่คิดตามอาจหลงทาง หรือได้หลงทางไปแล้ว(อย่างที่ผู้เขียนตั้งใจ?)
เพราะคงคาดเดาเอาว่า หนุ่มหาดใหญ่คนแรก คงเป็นมุสลิมที่อาจจะปรับบางสิ่งเข้าหากันไม่ได้
ไม่เหมือนอย่างเพื่อนร่วมห้อง ที่แตกต่างแต่กลับผูกพันได้แน่น

ผู้อ่านก็ยังรอความกระจ่างว่าสาเหตุนั้นน่าจะคืออะไร? และจะฟังขึ้นหรือไม่?

รักต่อมาที่หนุ่มภูเก็ต ก็ไม่ใช่มุสลิม เมื่อชายหนุ่มทั้งสอง ไม่ใช่มุสลิมและไม่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งปรากฎให้เห็นแล้วมันอะไรล่ะ ที่เป็นเหตุให้เธอยังรักคนใต้(ต่อไป) จนเธออยากไป(อยู่) แต่สุดท้ายก็ยังไปไม่ถึง…

“ผู้หญิงคนนั้นก็เป็นคนใต้เหมือนผม คุยกันง่าย เข้าใจกันง่าย”
แก่นของเรื่องมาจากประโยคข้างบน
บทสรุปของเรื่องสั้นเรื่องนี้ ถ้าเป็นคนที่มีประสบการณ์ร่วม(คนที่ไม่ถูกเลือก)
อาจจะเข้าใจความรู้สึกนี้ดีขึ้น ประมาณ อึ้งๆ เพราะไม่รู้นั่นคือข้ออ้าง หรือ ความจริง
“เพราะเรา ไม่ได้เป็นคนใต้เหมือนคนที่เขาเลือกรัก”
ความรู้สึกนี้ อธิบายยาก(ว่ะ) ถ้าไม่เจอกับตัวเอง อาจจะเข้าไม่ถึงอารมณ์

ปล.เออ จริงๆเวลาเราจะพูดถึงคนใต้ เราจะรวมไปไม่ถึง 3-4-5 จังหวัดนั้นมาเป็นภาพรวมกว้างๆของคนใต้ด้วย
เพราะความจริงอย่างที่เรารู้อยู่แก่ใจก็คือ มีความแตกต่างกัน งานของกนกพงศ์ เท่าที่ได้อ่านจะได้กลิ่นปักษ์ใต้ที่เป็นวัฒนธรรมของชุมชนชาวบ้านที่นับถือพุทธ ใช่ป่ะ?ไม่แน่ใจ(ในทั้งหมด)....นั่นแหละ คือสังคมคนใต้จริงๆ

โดย: เพื่อนปีขาล วันอาทิตย์ IP: 58.8.192.20 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2550 เวลา:16:48:07 น.
  
เรื่องสั้นเรื่องนี้ มันเขียนแบบ เฮือกๆ มันหมิ่นเหม่ระหว่างการโดนเตะ กับความน่ารักในเนื้อหาของมัน และมันมีหลายมุมให้มอง ถ้าเลือกจะมอง มันได้ทั้งการมองในแง่บวกและแง่ลบ - - เราเขียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นส่วนใหญ่ และนั่นทำให้เรายัง "สงสัย" แต่ไม่กล้าพาตัวเองไปไกลถึงที่นั่น,

มีสองอย่างที่เราผูกพันโดยไม่รู้ว่ามันคือความผูกพัน คือ คนใต้ และ วันที่ 5 เดือน 11

โดย: ดาริกามณี วันที่: 5 พฤศจิกายน 2550 เวลา:18:55:29 น.
  
เรื่องสั้นก็โอเคนะ

แล้วก็ชอบดีเทลของ คห.6
โดย: ป้ากวิ้น IP: 58.10.128.44 วันที่: 8 พฤศจิกายน 2550 เวลา:10:26:57 น.
  
อ๊ากกกก อ่านแล้วคิดถึงภาคใต้ขึ้นมาอย่างรุนแรง
...ไม่น่ามาอ่านตอนสามทุ่มเลย หิวแกงส้ม ลูกเนียง แกงไตปลา น้ำพริกกุ้งเสียบ ลองกอง ลูกหยี...ขึ้นมาทันที

เข้าใจอารมณ์มากๆ เลยล่ะค่ะ
ชอบอ่านงานของนักเขียนชาวใต้มาตั้งแต่เริ่มอ่านหนังสือใหม่ๆ ตั้งแต่ตอนประถมที่ยังไร้เดียงสาเกินกว่าจะเข้าใจ ก็ได้เพียงแต่ซึมซับบรรยากาศ และจนโตมาพอที่จะรู้สึกสะเทือนและสะท้อนใจกับหลากหลายเรื่องราวของลูกน้ำเค็ม เด็กสวนยาง วิถีมุสลิม ศิลปะพื้นบ้านที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่

รักหนังสือของคุณกนกพงศ์มากๆ เหมือนกัน น่าเสียดายฝืมือและมุมมองโลกแบบนั้น น่าเศร้าที่คนอย่างเขาไม่อาจจะอยู่ฝากผลงานไว้นานกว่านี้

เราไปภาคใต้บ่อยมาก โดยเฉพาะภูเก็ต แต่สุดท้ายแล้วภาคใต้ในความทรงจำของเรามันก็มักจะจำกัดอยู่แค่ชายหาด วัดวาที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว และสองข้างทางคดเคี้ยวที่เต็มไปด้วยป่าดิบเขียวๆ กับต้นยางเรียงราย นอกจากโลกใต้ทะเลที่แสนงดงามกับอาหารใต้แท้ๆ แล้ว เราก็ยังไม่เคยสัมผัสมุมมองของความเป็น "ปักษ์ใต้" ในแง่ของวัฒนธรรม แง่ของสังคมอีกฟากหนึ่งจริงๆ ... แปลกนะ ทีเวลาเราไปเที่ยวเหนือ เรามักจะสัมผัสถึงความเป็นเหนือได้ทุกทีทุกแห่งที่เราไป ไม่ใช่ความรู้สึกว่ามันลึกลับและน่าค้นหาแบบนี้

...ในแง่ที่ว่า คนใต้ไม่ยอมรับคนนอกง่ายๆ แต่กลับทุ่มเทให้กับคนเป็นเพื่อนอย่างสุดๆ นั้น ... เราว่ามันคล้ายๆ กับสังคมคนญีป่นเหมือนกัน เพียงแต่คนญี่ปุ่นมักจะใช้ความสุภาพเป็นกำแพงกั้นคนนอกเท่านั้นเอง


...วันนี้ยาวเลย ไม่ได้คุยกันนาน ฝากความคิดถึงมาค่ะ...
โดย: The SoVo (http://kangalala.spaces.live.com/) IP: 123.224.90.251 วันที่: 9 ธันวาคม 2550 เวลา:19:34:35 น.
  
มุมมองคนใต้ต่อคนอีสานน่ะเหรอ เท่าที่ศึกษาและรู้มานานส่วนหนึ่งนะครับ มุมมองคนใต้ที่มองไปก็แย่อยู่รึว่าไม่ถูกกันเท่าไหร่ และยังรู้มาอีกว่า ถ้าจะหาสะใภ้หาคนที่ไหนก
หาได้ แต่ห้ามรับคนอีสาน เพราะวัฒนธรรมต่างกัน

(แค่ส่วนหนึ่งครับ)

จากที่อ่าน น่าจะเข้าใจถูกต้องคนจะไปฉุดไม่อยู่หรอก
โดย: this is life IP: 210.246.182.17 วันที่: 25 กันยายน 2551 เวลา:19:40:34 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ดาริกามณี
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]



Just Do it :


* มีอีกชื่อว่า หญ้าเจ้าชู้

* เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์บทประพันธ์
รักข้ามรั้ว (หญ้าเจ้าชู้)
ลุ้นสุดฤทธิ์ พิชิตรัก (หญ้าเจ้าชู้)
ภารกิจรักพิทักษ์เธอ (หญ้าเจ้าชู้)
ปีกแห่งฝัน (ดาริกามณี)

* เป็นสาวก 'รงค์ วงษ์สวรรค์
* เป็นแฟน คาราบาว
* เป็นกิ๊ก เฉลียง
* ฝืนอะไรที่เป็นอื่น ฝืนอัตตา
สูงเทียมฟ้าก็มิเท่า เป็นเราเอง

* การปรากฎตัวของคนคนหนึ่ง
อาจเปลี่ยนใครอีกคนไปทั้งชีวิต

* หากต้องการอ่านนิยายที่ใส่รหัส,
รบกวน "ฝากข้อความหลังไมค์" จ่ะ