ตุลาคม 2548

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
31
 
 
All Blog
กัมพูชาพริบตาเดียว
กัมพูชาสีฟ้าอ่อน-อ่อน :
เส้นทางชีวิตของเราแค่มาตัดกันในหนึ่งห้วงเวลาเท่านั้น, ไม่ใช่ตลอดไป

ภาพบรรยากาศที่ตั้งใจเอาไว้ก่อนอ่าน “กัมพูชาพริบตาเดียว” คือ จะค่อยๆ “ละเลียด” ดังคล้ายกำลังดื่มด่ำกับรสชาติของกาแฟถ้วยโปรด ที่คลอไปพร้อมเสียงเพลงนุ่มหูอย่าง The look of love ของ Diana Krell แล้วตามติดมาด้วย I Can’t make you love me ของ George Michael ในร้านกาแฟเล็กๆ สลัวรางริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าฝน... โอ้... ช่าง “ชวนฝัน” จริงๆ เลยทีเดียวเชียว..

ฉันหมายมั่นปั้นมือไว้อย่างนั้น ด้วยเพราะฉันไม่ต้องรีบส่งคืนเหมือนคราวของ “โตเกียวไม่มีขา” ที่ฉันหยิบยืมจากคนอื่นมา... นั่นเพราะฉันเป็นเจ้าของ “กัมพูชาพริบตาเดียว” เล่มนี้ พร้อมถ้อยคำและลายเซ็นนักเขียนที่รูปร่าง “นิ้วกลม” คล้ายคลึงกับหวอรถแอมบูแลนซ์เอามากๆ... เขาเขียนในใบรองปกให้ฉันว่า “รดน้ำพรวนดินดอกไม้เยอะๆ นะครับ” ซึ่งจนบัดนี้ฉันก็ไม่เข้าใจในความหมายอันลึกซึ้งนี้ แต่คาดเดาว่าตอนที่จรดปากกาลงไปบนหน้ากระดาษนั้น... เขาคิดประโยคนี้ออกพอดีเท่านั้นเอง...

อ่ะ, เตร็ดเตร่อยู่แบบนี้ เดี๋ยวก็ไม่ถึง “กัมพูชา” กันพอดี...

หลังจากที่คิดว่าจะค่อยๆ ละเลียดอ่านเหมือนควายน้อยคอยรักกำลังเคี้ยวเอื้องโดยมีน้องเอี้ยงตัวดำร้องเพลงอยู่บนหลังก็ต้องพังพินาศไม่เหลือเค้าเดิมของภาพบรรยากาศในจินตนาการ เพราะนอกจากจะไม่ได้ละเลียดแล้ว ยังเรียกได้ว่า “ซดโฮก” แบบไม่เกรงใจไส้พุงปานนั้น....

สีฟ้าอ่อนๆ ที่หากเป็นสีของเสื้อจะสวยดี หรือถ้าเป็นสีของน้ำตาลปั่นพันใส่ไม้เอาเข้าปากปุ๊บก็ละลายคล้ายกินอากาศเข้าไปนี่ก็ท่าทางอร่อย แต่มันไม่ “เด่น” เลยเมื่อมันกลายเป็นปกหนังสือที่มีสีเหลืองของคำว่า กัมพูชา-พริบตาเดียวขีดเส้นใต้ และด้วยฟอนท์ที่ไม่จริงใจเลยเพราะตัวหนังสือเล็กมากกับคำว่า “การเดินทางคนเดียวสามวันกับเรื่องราวที่มหัศจรรย์กว่านครวัด” ถ้าไม่ตั้งใจ “จ้อง” อย่างเอาเป็นเอาตายก็คงไม่รู้หรอกว่าใต้บรรทัด “พริบตาเดียว” นั้นมีอะไรเขียนไว้.... แล้วที่ขีดเส้นตรงลงมาหน้าตาเหมือนใบมีดโกน เหมือนแง้มประตูด้วยภาพถ่ายขาวดำบางส่วนของปราสาทที่อำนวยการสร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่เท่าไหร่ก็ช่างหัวมันเถอะ นั่นน่ะ... มีไว้เพื่อการใดหรือ? เพื่อดึงดูความน่าสนใจของปก? หรือเพื่อไม่ให้ปกไร้ความน่าสนใจจนเกินไป?

รู้ไหม? ฉันถือหนังสือเล่มนี้โดยหันปกออกจากถุงพลาสติกใส เพื่อให้คนอื่นรู้ว่า ฉันมีหนังสือชื่อ “กัมพูชาพริบตาเดียว” อยู่ในมือนะ... แต่ทว่า... ตัวหนังสือของปกมันช่างไม่เย้ายวนชวนให้หันมา หรือแม้แต่จะนักเลงถึงขั้นเตะตาคนมองหรือก็เปล่า? สันปกด้วยซ้ำที่โดดเด่นกว่า....

หน้าคำนำที่ฉันอยากบอกเหลือเกินว่า “ไปอินเดียอีกสักครั้งเถอะนะ แล้วเขียนอีก อยากอ่านเรื่องอินเดีย เอาอีก เอาอีก เอาอีก” (ยกมือขวาเหมือนกำลังดูคอนเสิร์ตไมโคร) เพราะภาพของ ห้องน้ำสกปรก ถึงสกปรกมาก รถยนต์ยี่ห้อทา ทา ยี่ห้อเดียวกับชื่อซุปเปอร์สตาร์ที่อึ๋มมากคนหนึ่งของเมืองไทย, มีเด็กๆ วิ่งขอเศษเงินและลูกอมตลอดเวลา ฉันคิดอย่างชั่วร้ายว่า “เอาดิ่ ถ้าเขียนออกมาชวนฝันถึงกับทำให้คนอ่านอยากไสหัวตัวเองไปอัดเป็นปลากระป๋องบนรถไฟของอินเดีย หรือได้ไปจูบแก้มทัชมาฮาลสักครั้งได้ละก็... มันก็เจ๋งละวะ”

ฉันนึกถึงคำพูดของ “น้องเอ๋” ซึ่งเป็นญาติสนิทของ “นิ้วกลม” วันที่ฉันซื้อหนังสือเล่มนี้มา เขาบอกว่า “ค่อยๆ อ่านนะพี่ ไม่ต้องรีบ” แต่พอเปิดผ่านหน้า-ลูกกะตาตี่ๆ มาได้ก็เหมือนน้ำมันได้ไฟ... ไม่ได้ตั้งใจจริงๆ นะที่จะทำให้มันจบลงภายในสามชั่วโมงน่ะ สาบานสิเอ้า!

ในห้องที่แอร์คอนดิชั่นเย็นเยียบเหมือนนั่งอยู่บนก้อนน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกา ความรู้สึกฉันกลับคลับคล้ายว่าฉันได้ไปเที่ยวกัมพูชาจากตัวหนังสือของนิ้มกลม.... อ่อ ฉันเพิ่งถึง “สถานีอโศกนานาเพลินจิต” พร้อมกับนิ้วกลมนั่นแหละ ก็ “เรา” กำลังเดินทางไปด้วยกันนี่...

ฉันเคยไปอรัญฯ ตลาดโรงเกลือนานมาแล้วเพราะมีเพื่อนเป็นคนอรัญฯ อือ... พริบตาของนิ้วกลมผ่านอรัญฯ ไปไม่ได้ยินอีกภาษาหนึ่งของคนอรัญฯ บางหมู่บ้าน... นอกจากเขาจะพูดภาษาเพื่อนบ้านเสมือนเป็นภาษาของตัวเองได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว เขายังพูดภาษาอีสานได้ชัดเจนเสมือนหนึ่งว่าจังหวัดสระแก้วนี้ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเลยทีเดียว...

ฉันหัวเราะคิกคักไปกับภาษาเขียนที่ได้ใจมากของนิ้วกลม พ่อเอ๊ย... ไปสรรหาประโยคที่ทำให้คนอ่านยิ้มกริ่ม ถึงขั้น หึหึ อย่างนี้มาจากไหนเยอะแยะ

ถ้อยคำประชดประเทียดเสียดสีผีการพนันเล็กๆ ของนิ้วกลมทำให้ฉันอมยิ้ม... “เมื่อไรจะพอ” นั่นสิ... คนเราก็เป็นอย่างนี้ ไม่จำเพาะแต่คนที่ไปบ่อนหรอก... บางครั้งเราคนอื่นๆ ก็เป็นแบบนี้โดยไม่รู้ตัว... (อย่างนี้เราต้องรู้จักครอบครองตัวเองเหมือนที่หลวงพี่ถุยท่านว่าแล้วสินะ)

เล่มนี้นิ้วกลมเริ่มปฐมบทของเนื้อหาอย่างนิ่มๆ พาคนอ่านลิ้มรสฝุ่นแดงๆ ของถนนหนทางขณะเดินทางไปสู่จุดหมาย ภาษาที่สวยงามน่ารักน่าหยิกและ “ชวนฝัน” เหลือเชื่อของเขา ทำให้แฟนคลับที่น่าจะเพิ่มขึ้นจากเล่มก่อน (โตเกียวไม่มีขา) เป็นสาวๆ ... แฮ่ะๆ นั่นหมายความรวมถึงฉันด้วยนะ... เขาไม่ได้ทิ้งห่างรูปแบบการเขียนไปจากเล่มเดิมมากนัก ที่แตกต่างนั้นเห็นจะเป็นอารมณ์ ใช่... มันต้องเป็นอารมณ์อยู่แล้ว เพราะการไปกับน้ำและการไปคนเดียวมันต่างกันมากเลย... สามวันเหมือนกะพริบตา อารมณ์นี้ของนิ้วกลมคลับคล้ายกับคราวที่เขาไปอินเดีย (ในหน้าคำนำ) เขายังไม่ได้ “กลิ่น” แท้ๆ ของกัมพูชา ที่เขาได้มาเป็นเพียงความมั่นใจขึ้นที่จะ “ไปคนเดียว” ใน “เที่ยว” ต่อไป กัมพูชาครั้งนี้เป็นแค่โรงเรียนกวดวิชาก่อนเอ็นทรานส์เท่านั้น...

โดยไม่ทันรู้ตัว... ฉันอ่านมาถึงกลางเล่มพร้อมกับสังเกตว่าเนื้อหาเริ่มหนักขึ้น มันหนักขึ้นตอนไหนก็ลืมรู้สึก อาจจะตั้งแต่เขาเริ่มก้าวขาขึ้นนั่งบนมอเตอร์ไซค์ของ “หนี” ก็เป็นได้... นี่ไง, อีกความน่ารักหนึ่งในตัวหนังสือของนิ้วกลมล่ะ เขาทำให้คนอ่านลืมความหนักของเนื้อหาไปเลย ก็เขาเล่นเล่าเรื่องเหมือนพูดไปเรื่อยๆ จนลืมตั้งข้อสังเกตไปว่านี่เขาพาเราปีนปราสาทไปตั้งกี่ปราสาทก็ไม่รู้แล้ว...

นิ้วกลมชอบเล่นกับภาษา เขามองภาษาแปลกไปจากความหมายโดยตรงของคำแต่ละคำ อย่าง... “เขาเพื่อนผม” “หนี” “นานาเพลินจิต” เหล่านี้... เป็นการตีความของภาษาในทัศนะที่ต่างออกไป... ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแล้ว “สวยงามขึ้น”

เอ..... หรืออาจเพราะความน่ารักของบรรดา “คนผ่านทาง” อย่างกันเงีย หนี หลวงพี่ถุย มาเรีย เด็กชายผู้ไม่ส่งเสียใดใด พี่หนวดหน้าเข้ม เหล่านี้ที่นิ้วกลมเก็บรายละเอียดมาฝากก็ได้ ทำให้ความหนักของปราสาทดูคลายลงอย่างไม่รู้ตัว...

กันเงีย เธอน่ารักจริงๆ นั่นแหละ ฉันเห็นด้วยกับนิ้วกลม... เด็กๆ นี่นะ ไม่ว่าจะเป็น “เจ้าชายน้อย” หรือ “กันเงีย” ความใสซื่อของวัยก็มักจะกระชากใจผู้ใหญ่อย่างเราๆ ให้เอ็นดูเขาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ต่อให้เด็กคนนั้นจะเป็นเด็กเกเร ดื้อรั้นและน่าดีดกะโหลกแค่ไหน แต่ผู้ใหญ่ก็โกรธไม่ลงสักที นี่แหละความสามารถพิเศษของเด็กล่ะ...

ฉันจะไม่บอกหรอกนะว่า ระหว่างโตเกียวมีขากับกัมพูชาพริบตาเดียว ฉันชอบเล่มไหนมากกว่ากัน ความเหมือนกันของทั้งสองเล่มคือ การมองโลกในแง่ดีของคนเขียน มันทำให้ตัวหนังสือของเขาน่ารัก น่ารักที่ไม่ได้แปลว่าอบอุ่นแบบบินหลา สันกาลาคีรี ในหนังสือทุกเล่มของเขา

เพราะนิ้วกลม เป็นนิ้วกลม ไม่เหมือนบินหลา สันกาลาคีรี ไม่เหมือนเพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย ไม่เหมือน ภาณุ มณีวัฒนกุล และไม่คล้ายนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว... ใช่, คนเหล่านี้เป็นนักเขียนเรื่องการเดินทางที่ฉันอ่านมา... เพราะตัวหนังสือของนิ้วกลมยังติดอารมณ์ “วัยรุ่นเดินทาง” อ่อ เป็นวัยรุ่นที่มองโลกในแง่ดีเสียด้วยสิ... กลุ่มคนอ่านของนิ้วกลมจึงน่าจะชัดเจน แน่นอนว่าเป็นแฟนๆ จากโตเกียวไม่มีขาด้วยล่ะส่วนหนึ่ง...

กัมพูชาทริปนี้เขาได้ไกด์ดี “หนี” นอกจากจะเป็นสารถีด้วยแล้วยังเป็นไกด์พาเที่ยวไปด้วยในตัว ฉันว่าหากเขาอยู่ที่นั่นกว่านี้ “หนี” จะต้องพาเขาไปไกลกว่าเสียมเรียบ แน่ๆ

ไม่แน่ใจว่าเพราะอารมณ์ของหนังสือ หรือเพราะสถานที่กันแน่ที่ทำให้รู้สึกว่า เล่มนี้ของนิ้วกลมเดินตามก้นโตเกียวไม่มีขามา “ติดๆ” จนเกินไป แต่ก็อดคิดอีกไม่ได้ว่า ถ้าบังเอิญได้อ่านกัมพูชาพริบตาเดียวก่อน แล้วจะอยากตามอ่านโตเกียวไม่มีขาเป็นเล่มถัดมาหรือเปล่า?

อ่อ... ฉันรู้ความหมายของ “รดน้ำพรวนดินดอกไม้เยอะๆ นะครับ” ของปกในที่นิ้วกลม (เหมือนหวอรถแอมบูแลนซ์)ในตอน “อีสท์ เมบอน เด็กชายผู้ไม่ส่งเสียงใดๆ” นั่นเอง... และฉันก็ชอบตอนนี้มากที่สุดด้วยสิ...

ฉันอยากจะเขียนถึง “กัมพูชาพริบตาเดียว” มากกว่านี้นะ... แต่เอาไว้ให้ฉันอ่านจบครั้งที่สองก่อน ซึ่งก็คงอีกไม่นานนัก ฉันอาจจะได้ทัศนะใหม่มาเล่าให้ฟังอีก - แต่อีกนั่นแหละ ไม่ว่านิ้วกลมจะเขียนอะไร ฉันก็ยังชอบตัวหนังสือของเขาอยู่ดี ก็จะมีสักกี่คนกันล่ะที่เล่าประสบการณ์เดินทางด้วยภาษาง่ายๆ น่ารักอย่างคนมองโลกในแง่ดีให้ได้อ่านแบบนี้... ^_^

อ่ะ - แถม.....

“ก้อนหินหนึ่งก้อน เอาไว้ทับกระดาษ ก้อนหินหลายก้อนเอาไว้สร้างกำแพงเมืองจีน”

อ่ะ ลงท้ายในคอลัมน์อะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับสร้างๆ ของ “นิ้วกลม” ในอะเดย์ น่ะนะ อ่านแล้วก็คิดถึงประโยคนึงที่ไปเจอในหนังสือพิมพ์ ฉบับไหนก็ลืมไปแล้ว เขาว่า “ที่ศิลปินวาดท้องฟ้าเป็นสีแดงได้ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่ามันเป็นสีฟ้า” ประโยคที่ไม่เกี่ยวกันเลยกับก้อนหินของนิ้วกลม ไม่รู้เหมือนกันว่าฉันคิดโยงเข้าหากันได้ยังไง แต่ฉันกำลังจะบอกว่า “คนเรามันต้องมีจินตนาการ”

ท้องฟ้าของใครก็ท้องฟ้าของคนนั้น มันไม่เหมือนกันหรอก บางคนมีท้องฟ้าเป็นสีชมพู ถ้านั่นอยู่ในห้วงเวลาที่เขากำลังตกหลุมความรัก บางคนก็มีท้องฟ้าเป็นสีดำถ้าชีวิตเขากำลังอยู่ในช่วงตกหลุมความทุกข์ ฉันเป็นอีกคนหนึ่งที่ชอบท้องฟ้า อาจจะเพราะฉันชอบเมฆ ชอบถึงขั้นที่ว่าตั้งใจจะถ่ายรูปเมฆเป็นคอลเลคชั่นโดยเฉพาะนั่นเลยแหละ...

ก้อนหินหนึ่งก้อน กับเมฆหนึ่งก้อน ไม่ต่างกันในรูปแบบของผลที่ได้จากมัน... ก้อนหินทับกระดาษได้ แต่ก้อนเมฆทับกระดาษไม่ได้ ก้อนหินเป็นกำแพงเมืองจีนได้ แต่ก้อนเมฆเป็นกำแพงเมืองจีนไม่ได้... สิ่งที่ก้อนเมฆทำได้... คือทำให้เกิด “น้ำ” ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของก้อนหินและกำแพงเมืองจีน....

ศิลปินไม่ได้วาดได้แค่ท้องฟ้าสีแดงหรอก
ที่จริงเขายังวาดกำแพงเมืองจีนบนท้องฟ้าได้อีกด้วย....
เพราะเขารู้อยู่แล้ว ว่า.... มันเป็นก้อนหิน!






Create Date : 26 ตุลาคม 2548
Last Update : 24 ธันวาคม 2550 15:09:03 น.
Counter : 807 Pageviews.

1 comments
  
ชอบกัมพูชาพริบตาเดียวมากกว่าโตเกียวไม่มีขา เพราะมีแนวคิดดีๆ มากกว่า
โดย: คนขับช้า วันที่: 13 สิงหาคม 2551 เวลา:18:43:11 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ดาริกามณี
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]



Just Do it :


* มีอีกชื่อว่า หญ้าเจ้าชู้

* เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์บทประพันธ์
รักข้ามรั้ว (หญ้าเจ้าชู้)
ลุ้นสุดฤทธิ์ พิชิตรัก (หญ้าเจ้าชู้)
ภารกิจรักพิทักษ์เธอ (หญ้าเจ้าชู้)
ปีกแห่งฝัน (ดาริกามณี)

* เป็นสาวก 'รงค์ วงษ์สวรรค์
* เป็นแฟน คาราบาว
* เป็นกิ๊ก เฉลียง
* ฝืนอะไรที่เป็นอื่น ฝืนอัตตา
สูงเทียมฟ้าก็มิเท่า เป็นเราเอง

* การปรากฎตัวของคนคนหนึ่ง
อาจเปลี่ยนใครอีกคนไปทั้งชีวิต

* หากต้องการอ่านนิยายที่ใส่รหัส,
รบกวน "ฝากข้อความหลังไมค์" จ่ะ