Group Blog
 
<<
เมษายน 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
22 เมษายน 2549
 
All Blogs
 

แนะนำชาดก ตอนที่7 (ต่อ-2)

(ต่อ)

๑๒. ทสพราหมณชาดก
ว่าด้วยชาติพราหมณ์ ๑๐ ชาติ
[๒๐๐๑] พระเจ้ายุธิฏฐิละผู้ทรงฝักใฝ่ในธรรม ได้ตรัสกะวิธูระอำมาตย์ว่า ดูกร
วิธูระ ท่านจงแสวงหาพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจาก
เมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนาหารของฉัน ดูกรสหาย ฉันจะ
ให้ทักษิณาในพวกพราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.
[๒๐๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีล เป็นพหูสูต งด
เว้นจากเมถุนถรรม ที่สมควรจะบริโภคโภชนาหารของพระองค์นั้นหาได้
ยาก ข้าแต่พระมหาราชา ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า ชาติพราหมณ์
มี ๑๐ ชาติ ขอพระองค์จงทรงสดับการจำแนกแจกแจงชาติพราหมณ์เหล่า
นั้น ของข้าพระองค์. ชนทั้งหลายถือเอาร่วมยาอันเต็มไปด้วยรากไม้
ปิดเรียบร้อย ปิดสลากบอกสรรพคุณยาไว้ รดน้ำมนต์และร่ายมนต์.
ข้าแต่พระราชา ชนเหล่านั้นแม้จะเป็นเหมือนกับหมอ ก็ยังเรียกกันว่า
เป็นพราหมณ์ ข้าแต่พระมหาราชา ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงพราหมณ์
พวกนั้นแก่พระองค์แล้ว เราจะต้องการพราหมณ์เช่นนั้นหรือหาไม่
พระเจ้าข้า?
[๒๐๐๓] (พระเจ้าโกรพยะตรัสดังนี้ว่า) ดูกรวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่อง
ความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่า เป็นพราหมณ์ไม่ได้ ท่านจงแสวงหา
พราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสม
ควรบริโภคโภชนาหารของฉัน ดูกรสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวก
พราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.
[๒๐๐๔] ชนทั้งหลายถือกระดิ่งตีประกาศไปข้างหน้าบ้าง คอยรับใช้บ้าง ศึกษา
ในการขับรถบ้าง ข้าแต่พระราชา ชนเหล่านั้นแม้จะเหมือนกับคนบำเรอ
ก็ยังเรียกกันว่า เป็นพราหมณ์ ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงพราหมณ์
พวกนั้นแก่ข้าพระองค์แล้ว เราจะต้องการพราหมณ์เช่นนั้นหรือหาไม่
พระเจ้าข้า?
[๒๐๐๕] (พระเจ้าโกรพยะตรัสดังนี้ว่า) ดูกรวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่อง
ความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่า เป็นพราหมณ์ไม่ได้ ท่านจงแสวงหา
พราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสม
ควรบริโภคโภชนาหารของฉัน ดูกรสหาย ฉันจะให้ทักษิณาในพวก
พราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.
[๒๐๐๖] พวกพราหมณ์ ถือเต้าน้ำ และไม้สีฟัน คอยเข้าใกล้พระราชาทั้งหลาย
ในบ้าน และนิคมด้วยตั้งใจว่า เมื่อคนทั้งหลาย ในบ้าน หรือนิคมไม่
ให้อะไรๆ พวกเราจักไม่ลุกขึ้น ข้าแต่พระราชา ชนเหล่านั้นแม้จะ
เหมือนกับผู้กดขี่ข่มเหง ก็ยังเรียกกันว่า เป็นพราหมณ์ ข้าพระพุทธเจ้า
กราบทูลถึงพราหมณ์พวกนั้นแก่พระองค์แล้ว เราจักต้องการพราหมณ์
เช่นนั้นหรือหาไม่ พระเจ้าข้า?
[๒๐๐๗] (พระเจ้าโกรพยะตรัสดังนี้ว่า) ดูกรวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณ
เครื่องความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่า เป็นพราหมณืไม่ได้ ท่านจงแสวง
หาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสม
ควรบริโภคโภชนาหารของฉัน ดูกรสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวก
พราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.
[๒๐๐๘] ชนทั้งหลายมีเล็บ และขนรักแร้งอกยาว ฟันเขลอะ มีธุลีบนศีรษะเกรอะ
กรังด้วยฝุ่นละออง เป็นพวกยาจกท่องเที่ยวไป ข้าแต่พระราชา ชนพวก
นั้นแม้จะเหมือนกับมนุษย์ขุดตอ ก็ยังเรียกกันว่า เป็นพราหมณ์ ข้าแต่
พระมหาราชา ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงพราหมณ์พวกนั้นแก่พระองค์
แล้ว เราจะต้องการพราหมณ์เช่นนั้นหรือหาไม่ พระเจ้าข้า?
[๒๐๐๙] (พระเจ้าโกรพยะตรัสดังนี้ว่า) ดูกรวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่อง
ความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่า เป็นพราหมณ์ไม่ได้ ท่านจงแสวงหา
พราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสม
ควรบริโภคโภชนาหารของฉัน ดูกรสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวก
พราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.
[๒๐๑๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งประชาชน ชนทั้งหลายขายสิ่งของเครื่อง
ชำ คือ ผลสมอ ผลมะขามป้อม มะม่วง ชมพู่ สมอพิเภก
ขนุนสำมะลอ ไม้สีฟัน มะตูม พุทรา ผลเกด อ้อย และงบน้ำอ้อย
เครื่องโบกควัน น้ำผึ้ง และยาหยอดตา ข้าแต่พระราชา ชนเหล่านั้นแม้
จะเหมือนกับพ่อค้า ก็ยังเรียกกันว่า เป็นพราหมณ์ ข้าแต่พระมหาราชา
ข้าพระองค์กราบทูลถึงพราหมณ์พวกนั้นแก่พระองค์แล้ว เราจะต้องการ
พราหมณ์เช่นนั้นหรือหาไม่ พระเจ้าข้า?
[๒๐๑๑] (พระเจ้าโกรพยะตรัสดังนี้ว่า) ดูกรวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่อง
ความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่า เป็นพราหมณืไม่ได้ ท่านจงแสวงหา
พราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควร
บริโภคโภชนาหารของฉัน ดูกรสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวกพราหมณ์
ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.
[๒๐๑๒] ชนทั้งหลาย ใช้คนให้ทำการไถ และการค้า ใช้ให้เลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะ
สู่ขอนางกุมารีทำการวิวาหมงคลและอาวาหมงคล ชนเหล่านั้นแม้จะ
เหมือนกับกุฏมพีและคฤหบดี ก็ยังเรียกกันว่า เป็นพราหมณ์ ข้าแต่พระ
มหาราชา ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงชนพวกนั้นแก่พระองค์แล้ว เราจะ
ต้องการพราหมณ์เช่นนั้นหรือหาไม่ พระเจ้าข้า?
[๒๐๑๓] (พระเจ้าโกรพยะตรัสดังนี้ว่า) ดูกรวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่อง
ความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้ ท่านจงแสวงหา
พราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควร
บริโภคโภชนาหารของฉัน ดูกรสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวก
พราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.
[๒๐๑๔] ยังอีกพวกหนึ่งเล่า เป็นปุโรหิตในบ้าน บริโภคภิกษาที่เก็บไว้ ชนเป็น
อันมากพากันถามปุโรหิตบ้านเหล่านั้น พวกเหล่านั้นจักรับจ้างตอนสัตว์
แม้ปศุสัตว์ คือ กระบือ สุกร แพะ ถูกฆ่าเพราะปุโรหิตชาวบ้าน
เหล่านั้น ข้าแต่พระราชา คนเหล่านั้นแม้จะเหมือนกับคนฆ่าโค ก็ยัง
เรียกกันว่า เป็นพราหมณ์ ข้าแต่พระมหาราชา ข้าพระพุทธเจ้ากราบ
ทูลถึงชนพวกนั้นแก่พระองค์แล้ว เราจักต้องการพราหมณ์เช่นนั้นหรือ
หาไม่ พระเจ้าข้า?
[๒๐๑๕] (พระเจ้าโกรพยะตรัสดังนี้ว่า) ดูกรวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่อง
ความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่า เป็นพราหมณ์ไม่ได้ ท่านจงแสวงหา
พราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควร
บริโภคโภชนาหารของฉัน ดูกรสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวกพราหมณ์
ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.
[๒๐๑๖] อีกพวกหนึ่ง เป็นพราหมณ์ถือดาบและโล่ห์เหน็บกระบี่ ยืนเฝ้าอยู่ที่ย่าน
พ่อค้าบ้าง รับคุ้มครองขบวนเกวียนบ้าง ชนเหล่านั้นแม้จะเหมือนกับ
คนเลี้ยงโคและนายพราน ก็ยังเรียกกันว่า เป็นพราหมณ์ ข้าแต่พระมหา
ราชา ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงพราหมณ์พวกนั้นแก่พระองค์แล้ว เราจะ
ต้องการพราหมณ์เช่นนั้นหรือหาไม่ พระเจ้าข้า?
[๒๐๑๗] (พระเจ้าโกรพยะตรัสว่าดังนี้) ดูกรวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่อง
ความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่า เป็นพราหมณ์ไม่ได้ ท่านจงแสวงหา
พราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่ง
สมควรบริโภคโภชนาหารของฉัน ดูกรสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวก
พราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.
[๒๐๑๘] ชนทั้งหลายปลูกกระท่อมไว้ในป่า ทำเครื่องดักสัตว์ เบียดเบียนกระต่าย
และเสือปลาตลอดถึงเหี้ย ทั้งปลาและเต่า ข้าแต่พระราชา ชนทั้งหลาย
แม้จะเป็นผู้เสมอกับนายพราน เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ข้าแต่พระมหา
ราชา ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงพราหมณ์พวกนั้นแก่พระองค์แล้ว เรา
จะต้องการพราหมณ์เช่นนั้นหรือหาไม่ พระเจ้าข้า?
[๒๐๑๙] (พระเจ้าโกรพยะตรัสดังนี้ว่า) ดูกรวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่อง
ความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่า เป็นพราหมณ์ไม่ได้ ท่านจงแสวงหา
พราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควร
บริโภคโภชนาหารของฉัน ดูกรสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวกพราหมณ์
ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก.
[๒๐๒๐] อีกพวกหนึ่ง ย่อมนอนใต้เตียง เพราะปรารถนาทรัพย์ พระราชาทั้งหลาย
สรงสนานอยู่ข้างบนในคราวมีพิธีโสมยาคะ ข้าแต่พระราชา ชนพวกนั้น
แม้จะเหมือนกับคนกวาดมลทิน ก็ยังเรียกกันว่า เป็นพราหมณ์ ข้าแต่
พระมหาราชา ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงพราหมณ์พวกนั้นแก่พระองค์
แล้ว เราจะต้องการพราหมณ์เช่นนั้นหรือหาไม่ พระเจ้าข้า?
[๒๐๒๑] (พระเจ้าโกรพยะตรัสดังนี้ว่า) ดูกรวิธูระ ชนเหล่านั้นปราศจากคุณเครื่อง
ความเป็นพราหมณ์ จะเรียกว่า เป็นพราหมณ์ก็ไม่ได้ ท่านจงแสวงหา
พราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล เป็นพหูสูต งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควร
จะบริโภคโภชนาหารของฉัน ดูกรสหาย ฉันจักให้ทักษิณาในพวก
พราหมณ์ที่ให้ทานแล้วจักมีผลมาก
[๒๐๒๒] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีล เป็นพหูสูต งด
เว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรบริโภคโภชนาหารของพระองค์ มีอยู่แล
พราหมณ์เหล่านั้นบริโภคภัตตาหารหนเดียว และไม่ดื่มน้ำเมา ข้าแต่
พระมหาราชา ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถึงพราหมณ์เหล่านั้นแก่พระองค์
แล้ว พวกเราคงต้องการพราหมณ์เช่นนั้นสิ พระเจ้าข้า.
[๒๐๒๓] ดูกรวิธูระ พราหมณ์เหล่านั้นแหละเป็นผู้มีศีล เป็นพหูสูต ดูกรวิธูระ
ท่านจงแสวงหาพราหมณ์พวกนั้น และจงเชิญพราหมณ์พวกนั้นมาโดยเร็ว
ด้วยเถิด.
จบ ทสพราหมณชาดกที่ ๑๒.
๑๓. ภิกขาปรัมปรชาดก
ว่าด้วยการให้ทานในท่านใด มีผลมาก
[๒๐๒๔] ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นสุขุมาลชาติ เคยประทับใน
พระตำหนักอันประเสริฐ ทรงบรรทมเหนือพระยี่ภู่อันใหญ่โต เสด็จจาก
แว่นแคว้นมาสู่ดง จึงได้ทูลถวายข้าวสุกอย่างดีแห่งข้าวสาลี เป็นภัต
อันวิจิตร มีแกงเนื้ออันสะอาดด้วยความรักต่อพระองค์ พระองค์ทรงรับ
ภัตนั้นแล้ว มิได้เสวยด้วยพระองค์เอง ได้พระราชทานแก่พราหมณ์
ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ ข้อนี้เป็นธรรมอะไรของพระองค์?
[๒๐๒๕] พราหมณ์เป็นอาจารย์ของฉัน เป็นผู้ขวนขวายในกิจน้อยกิจใหญ่ ทั้งเป็น
ครู และเป็นผู้คอยตักเตือน ฉันควรให้โภชนะ.
[๒๐๒๖] บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านพราหมณ์ผู้โคดมอันพระราชาทรงบูชา พระราชา
ทรงพระราชทานภัต อันมีแกงเนื้ออย่างสะอาดแก่ท่าน ท่านรับภัตนั้น
แล้วได้ถวายโภชนะแก่ฤาษี ชะรอยท่านจะรู้ว่า ตนมิได้เป็นเขตแห่งท่าน
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแก่ท่าน ธรรมข้อนี้เป็นธรรมอะไรของท่าน?
[๒๐๒๗] ข้าพเจ้ายังกำหนัดอยู่ในเรือนทั้งหลาย ต้องเลี้ยงบุตรและภรรยา ถวาย
อนุศาสน์แก่พระราชา เชิญให้เสวยกามอันเป็นของมนุษย์ ข้าพเจ้าควร
ถวายโภชนะแก่ฤาษี ผู้อยู่ในป่าสิ้นกาลนาน ผู้เรืองตบะ เป็นวุฒบุคคล
อบรมตนแล้ว.
[๒๐๒๘] บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านฤาษีผู้ซูบผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น มีเล็บ
และขนรักแร้งอกยาว ฟันเขลอะ มีธุลีบนศีรษะ ท่านอยู่ในป่าผู้เดียว
ไม่ห่วงใยชีวิต ภิกษุที่ท่านถวายโภชนะนั้นดีกว่าท่านด้วยคุณข้อไหน?
[๒๐๒๙] อาตมภาพยังขุดเผือก มันมือเสือ มันนก ยังเก็บข้าวฟ่างและลูกเดือย
มาตากตำ เที่ยวหาฝักบัว เหง้าบัว น้ำผึ้ง เนื้อสัตว์ พุทราและมะขาม
ป้อมมาบริโภค ความยึดถือนั้นของอาตมายังมีอยู่ เมื่ออาตมายังหุงต้ม
ก็ควรถวายโภชนะแก่ท่านผู้ไม่หุงต้ม ยังมีกังวลก็ควรถวายโภชนะแก่
ผู้ไม่มีความห่วงใย ยังมีความถือมั่น ก็ควรถวายโภชนะแก่ท่านผู้ไม่มี
ความถือมั่น.
[๒๐๓๐] บัดนี้ กระผมขอถามท่าน ภิกษุผู้นั่งนิ่ง มีวัตรอันดี พระฤาษีถวาย
ภัตตาหารอันปรุงด้วยเนื้อสะอาดแก่ท่านดังนั้น ท่านรับภัตตาหารนั้นแล้ว
นั่งนิ่ง ฉันอยู่องค์เดียว ไม่เชื้อเชิญใครๆ อื่น กระผมขอนมัสการแด่
พระคุณท่าน นี้เป็นธรรมอะไรของพระคุณท่าน?
[๒๐๓๑] อาตมาไม่ได้หุงต้มเอง ไม่ได้ให้ใครหุงต้ม ไม่ได้ตัดเอง ไม่ได้ให้ใคร
ตัด ฤาษีรู้ว่าอาตมาไม่มีความกังวล เป็นผู้ห่างไกลจากบาปทั้งปวง จึง
ถือภิกษาหารด้วยมือซ้าย ถือเต้าน้ำด้วยมือขวา ถวายภัตตาหารอันปรุง
ด้วยเนื้อสะอาดแก่อาตมา. บุคคลเหล่านี้ยังมีความห่วงใย ยังมีความยึด
ถือ จึงสมควรจะให้ทาน อาตมาเข้าใจเอาว่า การที่บุคคลเชื้อเชิญผู้ให้
นั้นเป็นการผิด
[๒๐๓๒] วันนี้ พระราชาผู้ประเสริฐเสด็จมา ณ ที่นี้เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระ-
พุทธเจ้าหนอ ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งทราบชัดวันนี้เองว่าทานที่ให้ในท่าน
ผู้ใดจะมีผลมาก. พระราชาทั้งหลายทรงกังวลอยู่ในแว่นแคว้น พราหมณ์
ทั้งหลายกังวลอยู่ในกิจน้อยกิจใหญ่ ฤาษีกังวลอยู่ในเหง้ามันและผลไม้
ส่วนพวกภิกษุหลุดพ้นได้แล้ว
จบ ภิกขาปรัมปรชาดกที่ ๑๓.

*********************************************
อรรถกถา จันทกินนรชาดก ว่าด้วย นางจันทกินนรี

พระศาสดา เมื่อทรงอาศัยกรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ทรงพระปรารภพระมารดาของพระราหุล ตรัสเรื่องนี้ในพระราชนิเวศน์ มีคำเริ่มต้นว่า อุปนียติทํ มญฺเญ ดังนี้.

ที่จริงชาดกนี้ควรจะกล่าวตั้งแต่ทูเรนิทาน

ก็แต่นิทานกถานี้นั้น จนถึงพระอุรุเวลกัสสปบันลือสีหนาทในลัฏฐิวัน กล่าวไว้ใน อปัณณกชาดก

ต่อจากนั้นจนถึงเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ จักแจ้งใน เวสสันดรชาดก

ก็แล พระศาสดาประทับนั่งในพระนิเวศน์ของพุทธบิดา ในเวลากำลังเสวย ตรัสมหาธัมมปาลชาดก เสวยเสร็จทรงดำริว่า เราจักนั่งในนิเวศน์ของมารดาราหุล กล่าวถึงคุณของเธอ แสดงจันทกินนรชาดก ให้พระราชาทรงถือบาตรเสด็จไปที่ประทับแห่งพระมารดาของพระราหุล กับพระอัครสาวกทั้งสอง.

ครั้งนั้น นางระบำ ๔๐,๐๐๐ ของพระนางพากันอยู่พร้อมหน้า. บรรดานางทั้งนั้นที่เป็นขัตติยกัญญาถึง ๑,๐๙๐ นาง. พระนางทรงทราบว่าพระตถาคตเสด็จมา ตรัสบอกแก่นางเหล่านั้นว่า จงพากันนุ่งผ้าย้อมน้ำฝาดทั่วกันทีเดียว. นางเหล่านั้นพากันกระทำอย่างนั้น พระศาสดาเสด็จมาประทับนั่งเหนือพระแท่นที่เตรียมไว้.

ครั้งนั้น พวกนางเหล่านั้นทั้งหมดก็พากันร้องไห้ประดังขึ้นเป็นเสียงเดียวกันอื้ออึงไป เสียงร่ำให้ขนาดหนักได้มีแล้ว ฝ่ายพระมารดาของพระราหุลเล่าก็ทรงกันแสง ครั้นทรงบรรเทาความโศกได้ ก็ถวายบังคมพระศาสดา ประทับนั่งด้วยความนับถือมาก เป็นไปกับความเคารพอันมีในพระราชา.

ครั้งนั้น พระราชาทรงพระปรารภคุณกถาของพระนาง ได้ตรัสเล่าพรรณนาคุณของพระนางด้วยประการต่างๆ เช่น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สะใภ้ของโยม ฟังว่าพระองค์ทรงนุ่งกาสาวพัสตร์ ก็นุ่งกาสาวพัสตร์เหมือนกัน

ฟังว่า พระองค์เลิกทรงมาลาเป็นต้น ก็เลิกทรงมาลาเป็นต้น

ฟังว่า ทรงเลิกบรรทมเหนือพระยี่ภูอันสูงอันใหญ่ ก็บรรทมเหนือพื้นเหมือนกัน

ในระยะกาลที่พระองค์ทรงผนวชแล้ว นางยอมเป็นหญิงหม้าย มิได้รับบรรณาการที่พระราชาอื่นๆ ส่งมาให้เลย นางมีจิตมิได้เปลี่ยนแปลงในพระองค์ถึงเพียงนี้.

พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร ไม่น่าอัศจรรย์เลย ที่นางมีความรักไม่เปลี่ยนแปลงในอาตมภาพอย่างไม่ไยดีในผู้อื่นเลย ในอัตภาพสุดท้ายของอาตมภาพครั้งนี้ แม้บังเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน ก็ยังได้มีจิตไม่เปลี่ยนแปลงในอาตมภาพอย่างไม่ไยดีในผู้อื่นเลย

แล้วทรงรับอาราธนานำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในพระนครพาราณสี

พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดกินนรในหิมวันตประเทศ ภรรยาของเธอนามว่า จันทา ทั้งคู่เล่าก็อยู่ที่ภูเขาเงินชื่อว่า จันทบรรพต

ครั้งนั้น พระเจ้าพาราณสีมอบราชสมบัติแก่หมู่อำมาตย์ ทรงผ้าย้อมฝาดสองผืน ทรงสอดพระเบญจาวุธ เข้าสู่ป่าหิมพานต์ลำพังพระองค์เดียวเท่านั้น ท้าวเธอเสวยเนื้อที่ทรงล่าได้เป็นกระยาหาร เสด็จท่องเที่ยวไปถึงลำน้ำน้อยๆ สายหนึ่งโดยลำดับ ก็เสด็จขึ้นไปถึงต้นสาย ฝูงกินนรที่อยู่ ณ จันทบรรพต เวลาฤดูฝนก็ไม่ลงมา พากันอยู่ที่ภูเขานั่นแหละ ถึงฤดูแล้งจึงพากันลงมา.

ครั้งนั้น จันทกินนรลงมากับภรรยาของตน เที่ยวเก็บเล็มของหอมในที่นั้นๆ กินเกษรดอกไม้ นุ่งห่มด้วยสาหร่ายดอกไม้ เหนี่ยวเถาชิงช้าเป็นต้น เล่นพลางขับร้องไปพลาง ด้วยเสียงจะแจ้วเจื้อยจนถึงลำน้ำน้อยสายนั้น หยุดลงตรงที่เป็นคุ้งแห่งหนึ่ง โปรยปรายดอกไม้ลงในน้ำ ลงเล่นน้ำแล้วนุ่งห่มสาหร่ายดอกไม้ จัดแจงแต่งที่นอนด้วยดอกไม้ เหนือหาดทรายซึ่งมีสีเพียงแผ่นเงิน ถือขลุ่ยเลาหนึ่ง นั่งเหนือที่นอน.

ต่อจากนั้น จันทกินนรก็เป่าขลุ่ยขับร้องด้วยเสียงอันหวานฉ่ำ จันทกินรีก็ฟ้อนหัตถ์อันอ่อนยืนอยู่ในที่ใกล้สามีฟ้อนไปบ้าง ขับร้องไปบ้าง.

พระราชานั้นทรงสดับเสียงของกินนรกินรีนั้น ก็ทรงย่องเข้าไปค่อยๆ ยืนแอบในที่กำบัง ทรงทอดพระเนตรกินนรเหล่านั้น ก็ทรงมีจิตปฏิพัทธ์ในกินรี ทรงดำริว่า จักยิงกินนรนั้นเสียให้ถึงสิ้นชีวิต ถึงสำเร็จการอยู่ร่วมกินรีนี้ แล้วทรงยิงจันทกินนร.

เธอเจ็บปวดรำพันกล่าวคาถา ๔ คาถาว่า

ดูก่อนนางจันทา ชีวิตของพี่ใกล้จะขาดอยู่แล้ว พี่กำลังเมาเลือด จันทาเอ๋ย พี่เห็นจะละชีวิตไปแม้ในวันนี้ ลมปราณของพี่กำลังจะดับ ชีวิตของพี่กำลังจะจม
ความทุกข์กำลังเผาผลาญหัวใจพี่ พี่ลำบากยิ่งนัก ความโศกของพี่ครั้งนี้ เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้
พี่จะเหี่ยวแห้งเหมือนต้นหญ้าที่ถูกทิ้งไว้บนแผ่นหินร้อน เหมือนต้นไม้มีรากอันขาด พี่จะเหือดหายเหมือนแม่น้ำที่ขาดห้วง ความโศกของพี่ครั้งนี้เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้
น้ำตาของพี่ไหลออกเรื่อยๆ เหมือนน้ำฝนที่ตกลงที่เชิงบรรพตไหลไปไม่ขาดสายฉะนั้น ความโศกของพี่ครั้งนี้เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปนียติ ความว่า ชีวิตของพี่ใกล้จะขาดอยู่แล้ว. บทว่า อิทํ ได้แก่ ชีวิต. บทว่า ปาณา ความว่า ดูก่อนจันทา ลมปราณคือชีวิตของพี่ย่อมจะดับ.

บทว่า โอสธิ เม ความว่า ชีวิตของพี่ย่อมจะจมลง. บทว่า นิตมานิ แปลว่า พี่ย่อมลำบากอย่างยิ่ง. บทว่า ตว จนฺทิยา ความว่า นี้เป็นความทุกข์ของพี่.

บทว่า น นํ อญฺเญหิ โสเกหิ ความว่า โดยที่แท้นี้เป็นเหตุแห่งความโศกของเธอผู้ชื่อว่าจันที เมื่อกำลังเศร้าโศกอยู่ เพราะเหตุที่เธอเศร้าโศก เพราะความพลัดพรากของเรา. ด้วยบทว่า ติณมิว มิลายามิ เธอกล่าวว่า ข้าจะเหี่ยวเฉา เหมือนต้นหญ้าที่ถูกทอดทิ้งบนแผ่นหินอันร้อน เหมือนป่าไม้ที่ถูกตัดรากฉะนั้น. บทว่า สเร ปาเท ความว่า เหมือนสายฝนที่ตกบนเชิงเขาไหลซ่านไปไม่ขาดสายฉะนั้น.

พระมหาสัตว์คร่ำครวญด้วยคาถาสี่เหล่านี้ นอนเหนือที่นอนดอกไม้นั่นเอง ชักดิ้นสิ้นสติ.

ฝ่ายพระราชายังคงยืนอยู่.

จันทากินรี เมื่อพระมหาสัตว์รำพัน กำลังเพลิดเพลินเสียด้วยความรื่นเริงของตน มิได้รู้ว่าเธอถูกยิง แต่ครั้นเห็นเธอไร้สัญญานอนดิ้นไป ก็ใคร่ครวญว่า ทุกข์ของสามีเราเป็นอย่างไรหนอ พอเห็นเลือดไหลออกจากปากแผล ก็ไม่อาจสะกดกลั้นความโศกอันมีกำลังที่เกิดขึ้นในสามีที่รักไว้ได้ ร่ำไห้ด้วยเสียงดัง.

พระราชาทรงดำริว่า กินนรคงตายแล้ว ปรากฏพระองค์ออกมา จันทาเห็นท้าวเธอหวั่นใจว่าโจรผู้นี้คงยิงสามีที่รักของเราจึงหนีไปอยู่บนยอดเขา พลางบริภาษพระราชา

ได้กล่าวคาถา ๕ คาถา ดังนี้

พระราชบุตรใด ยิงสามีผู้เป็นที่ปรารถนาของเรา เพื่อให้เป็นหม้ายที่ชายป่า พระราชบุตรนั้นเป็นคนเลวทรามแท้ สามีของเรานั้นถูกยิงแล้วนอนอยู่ที่พื้นดิน

พระราชบุตรเอ๋ย มารดาของท่านจงได้รับสนองความโศกในดวงหทัยของข้าผู้เพ่งมองดูกินนรผู้สามีนี้

ชายาของท่านจงได้รับสนองความโศกในดวงหทัยของข้าผู้เพ่งมองดูกินนรผู้สามีนี้

พระราชบุตรเอ๋ย ท่านได้ฆ่ากินนรผู้ไม่ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา ขอมารดาของท่านอย่าได้พบเห็นบุตรและสามีเลย

ท่านได้ฆ่ากินนรีผู้ไม่ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา ขอชายาของท่านจงอย่าได้พบเห็นบุตรและสามีเลย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วรากิยา แปลว่า ผู้กำพร้า. บทว่า ปฏิมุจฺจตุ ได้แก่ จงกลับได้ คือถูกต้องบรรลุ. บทว่า มยฺหํ กามาหิ ได้แก่ เพราะความรักใคร่ในฉัน.

พระราชา เมื่อจะตรัสปลอบนางผู้ยืนร่ำไห้เหนือยอดภูเขาด้วย ๕ คาถา จึงตรัสคาถาว่า

ดูก่อนนางจันทา ผู้มีนัยน์ตาเบิกบานดังดอกไม้ในป่า เธออย่าร้องไห้ไปเลย เธอจักได้เป็นอัครมเหสีของฉันมีเหล่านารีในราชสกุลบูชา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จนฺเท ความว่า เพราะได้สดับชื่อของพระโพธิสัตว์เวลาคร่ำครวญ จึงได้ตรัสอย่างนั้น. บทว่า วนติมิรมตฺตกฺขิ แปลว่า ผู้มีนัยน์ตาเสมอด้วยดอกไม้ที่มืดมัวในป่า.

บทว่า ปูชิตา ความว่า เธอจะได้เป็นอัครมเหสีผู้เป็นหัวหน้าของบรรดาหญิง ๑๖,๐๐๐ คน.

นางจันทากินรีฟังคำของท้าวเธอแล้วกล่าวว่า ท่านพูดอะไร

เมื่อจะบันลือสีหนาท จึงกล่าวคาถาต่อไปว่า
ถึงแม้ว่าเราจักต้องตาย แต่เราจักไม่ขอยอมเป็นของท่านผู้ฆ่ากินนรสามีของเรา ผู้มิได้ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปิ นูนาหํ ความว่า ถึงแม้เราจักต้องตายอย่างแน่นอนทีเดียว.

ท้าวเธอฟังคำของนางแล้วหมดความรักใคร่ ตรัสคาถาต่อไปว่า

แน่ะนางกินรีผู้ขี้ขลาด มีความรักใคร่ต่อชีวิต เจ้าจงไปสู่ป่าหิมพานต์เถิด มฤคอื่นๆ ที่บริโภคกฤษณาและกระลำพัก จักยังรักใคร่ยินดีต่อเจ้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปิ ภีรุเก แปลว่า ผู้มีชาติขลาดเป็นอย่างยิ่ง. บทว่า ตาลิสตคฺครโภชนา ความว่า มฤคอื่นๆ ที่บริโภคใบกฤษณาและใบกระลำพัก จักยังรักษาความยินดีต่อเจ้า.

ท้าวเธอได้กล่าวกะนางว่า เธอจงอย่าไปจากความลับในราชตระกูล.

ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ก็เสด็จหลีกไปอย่างหมดเยื่อใย นางทราบว่าท้าวเธอไปแล้ว ก็ลงมากอดพระมหาสัตว์ อุ้มขึ้นสู่ยอดภูเขา ให้นอนเหนือยอดภูเขา ยกศีรษะวางไว้เหนือขาของตน พลางพร่ำไห้เป็นกำลัง

จึงกล่าวคาถา ๑๒ คาถาว่า

ข้าแต่กินนร ภูเขาเหล่านั้น ซอกเขาเหล่านั้นและถ้ำเหล่านั้นตั้งอยู่ ณ ที่นั้น ฉันไม่เห็นท่านในที่นั้นๆ จะกระทำอย่างไร

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่เทือกเขา ซึ่งเราเคยร่วมอภิรมย์กัน จะกระทำอย่างไร

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่แผ่นผาอันลาดด้วยใบไม้เป็นที่น่ารื่นรมย์ พวกมฤคร้ายกล้ำกลาย จะทำอย่างไร

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่แผ่นผาอันลาดด้วยดอกไม้ เป็นที่น่ารื่นรมย์ พวกมฤคร้ายกล้ำกลาย จะทำอย่างไร

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ลำธารอันมีน้ำใสไหลอยู่เรื่อยๆ มีกระแสเกลื่อนกล่นไปด้วยดอกโกสุม จะกระทำอย่างไร

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีเขียว น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์มีสีเหลืองอร่าม น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีแดง น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันสูงตระหง่าน น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีขาว น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันงามวิจิตร น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่เขาคันธมาทน์ อันดารดาษไปด้วยยาต่างๆ เป็นถิ่นที่อยู่ของหมู่เทพเจ้า จะกระทำอย่างไร

ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ภูเขาคันธมาทน์ อันดารดาษไปด้วยโอสถทั้งหลาย จะกระทำอย่างไร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เต ปพฺพตา ความว่า ภูเขาเหล่านั้นซอกเขาเหล่านั้น และถ้ำเขาเหล่านั้น ที่เราเคยขึ้นร่วมอภิรมย์ ตั้งอยู่ ณที่นั้นนั่นแล บัดนี้ เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่เทือกเขานั้น เราจะทำอย่างไรเล่า เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่แผ่นผาลาดอันงดงามไปด้วยใบไม้ดอกและผลเป็นต้น ร่ำไรอยู่ว่าเราจะอดกลั้นได้อย่างไร.

บทว่า ปณฺณสณฺฐตา ความว่า ดารดาษด้วยกลิ่นและใบ ของใบกฤษณาเป็นต้น. บทว่า อจฺฉา ได้แก่ มีน้ำใสสะอาด. บทว่า นีลานิ ได้แก่ สำเร็จด้วยแก้วมณี. บทว่า ปีตานิ ได้แก่ สำเร็จด้วยทองคำ. บทว่า ตมฺพานิ ได้แก่ สำเร็จด้วยมโนศิลา. บทว่า ตุงฺคานิ ความว่า มีปลายคมสูง.

บทว่า เสตานิ ได้แก่ สำเร็จด้วยเงิน. บทว่า จตฺรานิ ได้แก่ เจือด้วยรัตนะ ๗ ประการ.

บทว่า ยกฺขคณเสวิเต ความว่า อันภุมเทวดาเสพแล้ว.

นางร่ำไห้ด้วยคาถาสิบสองบทด้วยประการฉะนี้แล้ว วางมือลงตรงอุระพระมหาสัตว์ รู้ว่ายังอุ่นอยู่ ก็คิดว่า พี่จันท์ยังมีชีวิตเป็นแน่ เราต้องกระทำการเพ่งโทษเทวดา ให้ชีวิตของเธอคืนมาเถิด. แล้วได้กระทำการเพ่งโทษเทวดาว่า เทพเจ้าที่ได้นามว่าท้าวโลกบาลน่ะไม่มีเสียหรือไรเล่า หรือหลบไปเสียหมดแล้ว หรือตายหมดแล้ว ช่างไม่ดูแลผัวรักของข้าเสียเลย.

ด้วยแรงโศกของนาง พิภพท้าวสักกะเกิดร้อน. ท้าวสักกะทรงดำริทราบเหตุนั้น แปลงเป็นพราหมณ์ถือกุณฑีน้ำมาหลั่งรดพระมหาสัตว์. ทันใดนั้นเองพิษก็หายสิ้น แผลก็เต็ม แม้แต่รอยที่ว่าถูกยิงตรงนี้ก็มิได้ปรากฏ. พระมหาสัตว์สบายลุกขึ้นได้ จันทาเห็นสามีที่รักหายโรค แสนจะดีใจ ไหว้แทบเท้าของท้าวสักกะ กล่าวคาถาเป็นลำดับว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ผู้เป็นเจ้า ฉันขอไหว้เท้าทั้งสองของท่านผู้มีความเห็นดู มารดาสามีผู้ที่ดิฉันซึ่งเป็นกำพร้าปรารถนายิ่งนักด้วยน้ำอมฤต ดิฉันได้ชื่อว่าเป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยสามีผู้เป็นที่รักยิ่งแล้ว.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมเตน ความว่า นางจันทากินรีสำคัญว่า เป็นน้ำอมฤตจึงกล่าวอย่างนั้น. บทว่า ปิยตเมน แปลว่า น่ารักกว่า บาลีก็อย่างนั้นเหมือนกัน.

ท้าวสักกะได้ประทานโอวาทแก่กินนรทั้งคู่นั้นว่า ตั้งแต่บัดนี้ เธอทั้งสองอย่าลงจากจันทบรรพตไปสู่ถิ่นมนุษย์เลย จงพากันอยู่ที่นี้เท่านั้นนะ ครั้นแล้วก็เสด็จไปสู่สถานที่ของท้าวเธอ.

ฝ่ายจันทากินรีก็กล่าวว่า พี่เจ้าเอ๋ย เราจะต้องการอะไรด้วยสถานที่อันมีภัยรอบด้านนี้เล่า มาเถิดค่ะ เราพากันไปสู่จันทบรรพตเลยเถิดคะ แล้วกล่าวคาถาสุดท้ายว่า

บัดนี้ เราทั้งสองจักเที่ยวไปสู่ลำธารอันมีกระแสสินธุ์อันเกลื่อนกล่นด้วยดอกโกสุม ดารดาษไปด้วยบุบผชาติต่างๆ เราทั้งสองจะกล่าววาจาเป็นที่รักแก่กันและกัน.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อนนางก็ไม่ได้เอาใจออกห่างเรา มิใช่หญิงที่ผู้อื่นจะนำไปได้เหมือนกัน

ทรงประชุมชาดกว่า
พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็น เทวทัต
ท้าวสักกะได้มาเป็น อนุรุทธะ
จันทากินรีได้มาเป็น มารดาเจ้าราหุล
ส่วนจันทกินนรได้มาเป็น เราตถาคต แล.

จบอรรถกถาจันทกินนรชาดกที่ ๒

*********************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 22 เมษายน 2549
0 comments
Last Update : 22 เมษายน 2549 10:17:37 น.
Counter : 509 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.