Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2548
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
16 ธันวาคม 2548
 
All Blogs
 

อนาถบิณฑิกเศรษฐีและท่านพระฉันนะ

ขอกล่าวถึงอุบาสกคนสำคัญผู้หนึ่งในพระศาสนาครับ คือท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี คุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ประการหนึ่งของท่านคือท่านเป็นผู้สร้างวัดพระเชตวันซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงจำพระพรรษาอยู่ที่นั้นนานนับหลายพรรษา ได้ทรงแสดงธรรมโปรดมนุษย์และเทวดาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นสถานที่อันพุทธศาสนิกชนได้บำเพ็ญทาน และเหล่าภิกษุสงฆ์ได้เจริญภาวนาด้วยครับ เรื่องราวของท่านสามารถอ่านได้จากเรื่องของอนาถบิณฑิกเศรษฐีครับ พระสูตรนี้กล่าวถึงท่านในเวลาป่วยใกล้จะทิ้งสังขารไป และเมื่อไปบังเกิดเป็นเทวดาได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ทั้งนี้นั้นท่านเป็นพระโสดาบันในพระพุทธศาสนาครับ สำหรับพระสูตรที่สองนั้นเป็นเรื่องของท่านพระฉันนะ โดยทำนองเดียวกับพระสูตรแรกครับคือกล่าวถึงท่านในวาระสุดท้ายของชีวิต โดยท่านหาศาสตรามาสังหารชีวิตตนเองเสีย แต่แม้เป็นเช่นนี้พระพุทธองค์ได้พยากรณ์ถึงคติภพของท่านเอาไว้ว่าท่านพระฉันนะนั้นมรณะภาพลงโดยฐานะที่ไม่น่าตำหนิครับ คิดว่าคงไม่ต้องขยายความในทั้งสองพระสูตรครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สฬายตนวรรค ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

************************************
๒. อนาถปิณฑิโกวาทสูตร (๑๔๓)

[๗๒๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วยทนทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก จึงเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า มาเถิดพ่อมหาจำเริญ พ่อจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วจงถวายบังคมพระบาทพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าตามคำของเรา แล้วจงกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ทนทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก ขอถวายบังคมพระบาทพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า อนึ่ง จงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรยังที่อยู่ แล้วจงกราบเท้าท่านพระสารีบุตรตามคำของเรา และเรียนอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ทนทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก ขอกราบเท้าท่านพระสารีบุตรด้วยเศียรเกล้า และเรียนอย่างนี้อีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โอกาสเหมาะแล้ว ขอท่านพระสารีบุตรจงอาศัยความอนุเคราะห์ เข้าไปยังนิเวศน์ของอนาถบิณฑิกคฤหบดีเถิด บุรุษนั้นรับคำอนาถบิณฑิกคฤหบดีแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๗๒๑] พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ทนทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก ขอถวายบังคมพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ต่อนั้น เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรยังที่อยู่ กราบท่านพระสารีบุตรแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้วจึงเรียนท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ทนทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก ขอกราบเท้าท่านพระสารีบุตรด้วยเศียรเกล้าและสั่งมาอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โอกาสเหมาะแล้ว ขอท่านพระสารีบุตรจงอาศัยความอนุเคราะห์เข้าไปยังนิเวศน์ของอนาถบิณฑิกคฤหบดีเถิด ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรนุ่งสบงทรงบาตรจีวร มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เข้าไปยังนิเวศน์ของอนาถบิณฑิกคฤหบดี แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้ ฯ

[๗๒๒] พอนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวกะอนาถบิณฑิกคฤหบดีดังนี้ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านพอทน พอเป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลา ไม่กำเริบ ปรากฏความทุเลาเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความกำเริบละหรือ ฯ

อ. ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ กระผมทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ

[๗๒๓] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ลมเหลือประมาณกระทบขม่อมของกระผมอยู่ เหมือนบุรุษมีกำลังเอาของแหลมคมทิ่มขม่อมฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ

[๗๒๔] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ลมเหลือประมาณเวียนศีรษะกระผมอยู่ เหมือนบุรุษมีกำลังให้การขันศีรษะด้วยชะเนาะมั่นฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏมีความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ

[๗๒๕] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ลมเหลือประมาณปั่นป่วนท้องของกระผมอยู่ เหมือนคนฆ่าโค หรือลูกมือคนฆ่าโคผู้ฉลาดเอามีดแล่โคอันคมคว้านท้อง ฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ

[๗๒๖] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ความร้อนในกายของกระผมเหลือประมาณ เหมือนบุรุษมีกำลัง ๒ คน จับบุรุษมีกำลังน้อยกว่าที่อวัยวะป้องกันตัวต่างๆ แล้ว นาบ ย่าง ในหลุมถ่านเพลิง ฉะนั้นกระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ

[๗๒๗] สา. ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นจักษุ และวิญญาณที่อาศัยจักษุจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโสต และวิญญาณที่อาศัยโสตจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นฆานะ และวิญญาณที่อาศัยฆานะจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นชิวหา และวิญญาณที่อาศัยชิวหาจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นกาย และวิญญาณที่อาศัยกายจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นมโน และวิญญาณที่อาศัยมโนจักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ

[๗๒๘] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่าเราจักไม่ยึดมั่นรูป และวิญญาณที่อาศัยรูปจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเสียง และวิญญาณที่อาศัยเสียงจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นกลิ่น และวิญญาณที่อาศัยกลิ่นจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นรส และวิญญาณที่อาศัยรสจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโผฏฐัพพะ และวิญญาณที่อาศัยโผฏฐัพพะจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นธรรมารมณ์ และวิญญาณที่อาศัยธรรมารมณ์จักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ

[๗๒๙] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นจักษุวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัยจักษุวิญญาณจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโสตวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัยโสตวิญญาณจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นฆานวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัยฆานวิญญาณจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นชิวหาวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัยชิวหาวิญญาณจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นกายวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัยกายวิญญาณจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นมโนวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัยมโนวิญญาณจักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ

[๗๓๐] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นจักษุสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยจักษุสัมผัสจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโสตสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยโสตสัมผัสจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นฆานสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยฆานสัมผัสจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นชิวหาสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยชิวหาสัมผัสจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นกายสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยกายสัมผัสจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นมโนสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยมโนสัมผัสจักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ

[๗๓๑] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่จักษุสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยเวทนาเกิดแต่จักษุสัมผัสจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่โสตสัมผัสและวิญญาณที่อาศัยเวทนาเกิดแต่โสตสัมผัสจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่ฆานสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยเวทนาเกิดแต่ฆานสัมผัสจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่ชิวหาสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยเวทนาเกิดแต่ชิวหาสัมผัสจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่กายสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยเวทนาเกิดแต่กายสัมผัสจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่มโนสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยเวทนาเกิดแต่มโนสัมผัสจักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ

[๗๓๒] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นปฐวีธาตุ และวิญญาณที่อาศัยปฐวีธาตุจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นอาโปธาตุ และวิญญาณที่อาศัยอาโปธาตุจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเตโชธาตุ และวิญญาณที่อาศัยเตโชธาตุจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นวาโยธาตุ และวิญญาณที่อาศัยวาโยธาตุจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นอากาสธาตุ และวิญญาณที่อาศัยอากาสธาตุจักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ

[๗๓๓] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นรูป และวิญญาณที่อาศัยรูปจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนา และวิญญาณที่อาศัยเวทนาจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นสัญญา และวิญญาณที่อาศัยสัญญาจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นสังขาร และวิญญาณที่อาศัยสังขารจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัยวิญญาณจักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ

[๗๓๔] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นอากาสานัญจายตนฌาน และวิญญาณที่อาศัยอากาสานัญจายตนฌานจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นวิญญาณัญจายตนฌานและวิญญาณที่อาศัยวิญญาณัญจายตนฌานจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นอากิญจัญญายตนฌานและวิญญาณที่อาศัยอากิญจัญญายตนฌานจักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน และวิญญาณที่อาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนฌานจักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ

[๗๓๕] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโลกนี้ และวิญญาณที่อาศัยโลกนี้จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโลกหน้า และวิญญาณที่อาศัยโลกหน้าจักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ

[๗๓๖] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า อารมณ์ใดที่เราได้เห็น ได้ฟัง ได้ทราบ ได้รู้แจ้ง ได้แสวงหา ได้พิจารณาด้วยใจแล้ว เราจักไม่ยึดมั่นอารมณ์แม้นั้น และวิญญาณที่อาศัยอารมณ์นั้นจักไม่มีแก่เรา ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด ฯ

[๗๓๗] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวแล้วอย่างนี้ อนาถบิณฑิกคฤหบดีร้องไห้ น้ำตาไหล ขณะนั้นท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะอนาถบิณฑิกคฤหบดีดังนี้ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านยังอาลัยใจจดใจจ่ออยู่หรือ ฯ

อ. ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ กระผมมิได้อาลัย มิได้ใจจดใจจ่อ แต่ว่ากระผมได้นั่งใกล้พระศาสดาและหมู่ภิกษุที่น่าเจริญใจมาแล้วนาน ไม่เคยได้สดับธรรมีกถาเห็นปานนี้ ฯ

อา. ดูกรคฤหบดี ธรรมีกถาเห็นปานนี้ มิได้แจ่มแจ้งแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาว แต่แจ่มแจ้งแก่บรรพชิต ฯ

อ. ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอธรรมีกถาเห็นปานนี้ จงแจ่มแจ้งแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาวบ้างเถิด เพราะมีกุลบุตรผู้เกิดมามีกิเลสธุลีในดวงตาน้อย จะเสื่อมคลายจากธรรม จะเป็นผู้ไม่รู้ธรรม โดยมิได้สดับ ฯ

ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรและท่านพระอานนท์กล่าวสอนอนาถบิณฑิกคฤหบดีด้วยโอวาทนี้แล้ว จึงลุกจากอาสนะหลีกไป ฯ

[๗๓๘] ต่อนั้น อนาถบิณฑิกคฤหบดีเมื่อท่านพระสารีบุตรและท่านพระอานนท์หลีกไปแล้วไม่นาน ก็ได้ทำกาลกิริยาเข้าถึงชั้นดุสิตแล ครั้งนั้น ล่วงปฐมยามไปแล้ว อนาถบิณฑิกเทพบุตรมีรัศมีงามส่องพระวิหารเชตวันให้สว่างทั่ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

พระเชตวันนี้มีประโยชน์ อันสงฆ์ผู้แสวงบุญอยู่อาศัยแล้ว อัน
พระองค์ผู้เป็นธรรมราชาประทับ เป็นที่เกิดปีติแก่ข้าพระองค์
สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕ อย่างนี้ คือ กรรม ๑
วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอุดม ๑ ไม่ใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตร
หรือด้วยทรัพย์ เพราะฉะนั้นแล บุคคลผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็ง
เห็นประโยชน์ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย จะ
บริสุทธิ์ในธรรมนั้นได้ด้วยอาการนี้ พระสารีบุตรนั้นแล ย่อม
บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ด้วยศีล และด้วยความสงบ ความจริง
ภิกษุผู้ถึงฝั่งแล้ว จะอย่างยิ่งก็เท่าพระสารีบุตรนี้ ฯ

อนาถบิณฑิกเทวบุตรกล่าวดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ต่อนั้น อนาถบิณฑิกเทวบุตรทราบว่า พระศาสดาทรงพอพระทัยจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วกระทำประทักษิณ หายตัวไป ณ ที่นั้นเอง ฯ

[๗๓๙] ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไปแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ล่วงปฐมยามไปแล้ว มีเทวบุตรตนหนึ่ง มีรัศมีงาม ส่องพระวิหารเชตวันให้สว่างทั่ว เข้ามาหาเรายังที่อยู่ อภิวาทเราแล้ว ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะเราด้วยคาถานี้ว่า

พระวิหารเชตวันนี้มีประโยชน์ อันสงฆ์ผู้แสวงบุญอยู่อาศัยแล้ว
อันพระองค์ผู้เป็นธรรมราชาประทับอยู่ เป็นที่เกิดปีติแก่ข้าพระองค์
สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยธรรม ๕ อย่างนี้ คือ กรรม ๑
วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอุดม ๑ ไม่ใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตร
หรือด้วยทรัพย์ เพราะฉะนั้นแล บุคคลผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็งเห็น
ประโยชน์ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย จะบริสุทธิ์
ในธรรมนั้นได้ด้วยอาการนี้ พระสารีบุตรนั้นแล ย่อมบริสุทธิ์
ได้ด้วยปัญญา ด้วยศีล และด้วยความสงบ ความจริง ภิกษุผู้
ถึงฝั่งแล้วจะอย่างยิ่งก็เท่าพระสารีบุตรนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวบุตรนั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว รู้ว่าพระศาสดาทรงพอพระทัย จึงอภิวาทเรา แล้วกระทำประทักษิณ หายตัวไป ณ ที่นั้นแล ฯ

[๗๔๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เทวบุตรนั้น คงจักเป็นอนาถบิณฑิกเทวบุตรแน่ เพราะอนาถบิณฑิกคฤหบดีได้เป็นผู้เลื่อมใสแล้วในท่านพระสารีบุตร ฯ

พ. ดูกรอานนท์ ถูกแล้วๆ เท่าที่คาดคะเนนั้นแล เธอลำดับเรื่องถูกแล้ว เทวบุตรนั้นคืออนาถบิณฑิกเทวบุตร มิใช่อื่น ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

จบ อนาถปิณฑิโกวาทสูตร ที่ ๑

๒. ฉันโนวาทสูตร (๑๔๔)

[๗๔๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเคยเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาจุนทะ และท่านพระฉันนะ อยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ เฉพาะท่านพระฉันนะอาพาธ ทนทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก ฯ

[๗๔๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระมหาจุนทะยังที่อยู่ แล้วได้กล่าวกะท่านพระมหาจุนทะดังนี้ว่า ดูกรท่านจุนทะ มาเถิด เราจะเข้าไปหาท่านพระฉันนะยังที่อยู่ ไต่ถามถึงความไข้ ท่านพระมหาจุนทะรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ต่อนั้น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะ ได้เข้าไปหาท่านพระฉันนะยังที่อยู่ แล้วทักทายปราศรัยกับท่านพระฉันนะ ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะท่านพระฉันนะดังนี้ว่า ดูกรท่านฉันนะ ท่านพอทน พอเป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลา ไม่กำเริบ ปรากฏความทุเลาเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความกำเริบหรือ ฯ

ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ

[๗๔๓] ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ลมเหลือประมาณกระทบขม่อมของกระผม เหมือนบุรุษมีกำลังเอาของแหลมคมทิ่มขม่อม ฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ

[๗๔๔] ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ลมเหลือประมาณเวียนศีรษะของกระผมอยู่ เหมือนบุรุษมีกำลังให้การขันศีรษะด้วยชะเนาะอย่างมั่น ฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ

[๗๔๕] ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ลมเหลือประมาณปั่นป่วนท้องของกระผม เหมือนคนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ฉลาด เอามีดแล่โคอันคมคว้านท้อง ฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ฯ

[๗๔๖] ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ความร้อนในกายของกระผมเหลือประมาณ เหมือนบุรุษมีกำลัง ๒ คน จับบุรุษมีกำลังน้อยที่อวัยวะป้องกันตัวต่างๆ แล้ว นาบ ย่าง ในหลุมถ่านเพลิง ฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมจักหาศาตรามาฆ่าตัว ไม่อยากจะได้เป็นอยู่เลย ฯ

[๗๔๗] สา. ท่านฉันนะอย่าได้หาศาตรามาฆ่าตัวเลย จงเป็นอยู่ก่อนเถิด พวกเรายังปรารถนาให้ท่านฉันนะเป็นอยู่ ถ้าท่านฉันนะไม่มีโภชนะเป็นที่สบาย ผมจักแสวงหามาให้ ถ้าท่านฉันนะไม่มีเภสัชเป็นที่สบาย ผมจักแสวงหามาให้ ถ้าท่านฉันนะไม่มีคนบำรุงที่สมควร ผมจักคอยบำรุงท่านเอง ท่านฉันนะอย่าได้หาศาตรามาฆ่าตัวเลย จงเป็นอยู่ก่อนเถิด พวกเรายังปรารถนาให้ท่านฉันนะเป็นอยู่ ฯ

[๗๔๘] ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ไม่ใช่กระผมไม่มีโภชนะเป็นที่สบาย ไม่ใช่ไม่มีเภสัชเป็นที่สบาย ไม่ใช่ไม่มีคนบำรุงที่สมควร ก็แหละกระผมได้ปรนนิบัติพระศาสดามาตลอดกาลนาน ด้วยความพอพระทัย มิใช่ด้วยความไม่พอพระทัย ความจริงการที่ภิกษุปรนนิบัติพระศาสดาด้วยความพอพระทัย มิใช่ด้วยความไม่พอพระทัย นั่นเป็นการสมควรแก่สาวก ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ขอท่านจงทรงจำไว้อย่างนี้ว่า ฉันนภิกษุจักหาศาตรามาฆ่าตัว อย่างมิให้ถูกตำหนิได้ ฯ

สา. พวกเราจักขอถามปัญหาท่านฉันนะสักเล็กน้อย ถ้าท่านฉันนะเปิดโอกาสพยากรณ์ปัญญาได้ ฯ

ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร โปรดถามเถิด กระผมฟังแล้วจึงจักรู้ ฯ

[๗๔๙] ดูกรท่านฉันนะ ท่านพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเราหรือ
ท่านพิจารณาเห็นโสต โสตวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นฆานะ ฆานวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นกาย กายวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่านั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเราหรือ ฯ

ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ฯ
กระผมพิจารณาเห็นโสต โสตวิญญาณ ...
กระผมพิจารณาเห็นฆานะ ฆานวิญญาณ ...
กระผมพิจารณาเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ...
กระผมพิจารณาเห็นกาย กายวิญญาณ ...
กระผมพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่านั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ฯ

[๗๕๐] สา. ดูกรท่านฉันนะ ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ในจักษุ ในจักษุวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ฯ
ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ในโสต ในโสตวิญญาณ ...
ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ในฆานะ ในฆานวิญญาณ ...
ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ในชิวหา ในชิวหาวิญญาณ ...
ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ในกาย ในกายวิญญาณ ...
ท่านเห็นได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร ในมโน มโนวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ฯ

ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในจักษุ ในจักษุวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ฯ
กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในโสต ในโสตวิญญาณ ...
กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในฆานะ ในฆานวิญญาณ ...
กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในชิวหา ในชิวหาวิญญาณ ...
กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในกาย ในกายวิญญาณ ...
กระผมเห็นความดับ รู้ความดับในมโน ในมโนวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ฯ

[๗๕๑] เมื่อท่านพระฉันนะกล่าวแล้วอย่างนี้ ท่านพระมหาจุนทะได้กล่าวกะท่านพระฉันนะดังนี้ว่า ดูกรท่านฉันนะ เพราะฉะนั้นแล ท่านควรใส่ใจคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคนั้นไว้ตลอดกาลเนืองนิตย์แม้ดังนี้ว่า บุคคลผู้อันตัณหาและทิฐิอาศัยอยู่แล้ว ย่อมมีความหวั่นไหว สำหรับผู้ไม่มีตัณหาและทิฐิอาศัย ย่อมไม่มีความหวั่นไหว เมื่อไม่มีความหวั่นไหว ก็มีความสงบ เมื่อมีความสงบ ก็ไม่มีตัณหาตัวน้อมไปสู่ภพ เมื่อไม่มีตัณหาตัวน้อมไปสู่ภพ ก็ไม่มีการมาเกิด ไปเกิด เมื่อไม่มีการมาเกิดไปเกิด ก็ไม่มีจุติและอุปบัติ เมื่อไม่มีจุติและอุปบัติ ก็ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกหน้า ไม่มีระหว่างกลางทั้งสองโลก นี่แหละที่สุดแห่งทุกข์ ครั้นท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะ กล่าวสอนท่านพระฉันนะด้วยโอวาทนี้แล้ว จึงลุกจากอาสนะ หลีกไป ฯ

[๗๕๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระฉันนะ เมื่อท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะหลีกไปแล้วไม่นาน ได้หาศาตรามาฆ่าตัวเสียทันทีนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระฉันนะหาศาตรามาฆ่าตัวเสียแล้ว ท่านจะมีคติอย่างไร มีสัมปรายภพอย่างไร ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร ฉันนภิกษุพยากรณ์ ความเป็นผู้ไม่ควรตำหนิต่อหน้าเธอแล้วมิใช่หรือ ฯ

สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีบ้านในแคว้นวัชชีนามว่าปุพพชิระ ที่หมู่บ้านนั้น ท่านพระฉันนะยังมีสกุลมิตร สกุลสหาย และสกุลคนที่คอยตำหนิอยู่ ฯ

[๗๕๓] พ. ดูกรสารีบุตร ฉันนภิกษุยังมีสกุลมิตร สกุลสหาย และสกุลที่คอยตำหนิอยู่ก็จริง แต่เราหาเรียกบุคคลว่า ควรถูกตำหนิด้วยเหตุเพียงเท่านี้ไม่ ดูกรสารีบุตร บุคคลใดแล ทิ้งกายนี้และยึดมั่นกายอื่น บุคคลนั้นเราเรียกว่า ควรถูกตำหนิ ฉันนภิกษุหามีลักษณะนั้นไม่ ฉันนภิกษุหาศาตรามาฆ่าตัวอย่างไม่ควรถูกตำหนิ ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

จบ ฉันโนวาทสูตร ที่ ๒

************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 16 ธันวาคม 2548
0 comments
Last Update : 16 ธันวาคม 2548 16:36:03 น.
Counter : 690 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.