Group Blog
 
<<
เมษายน 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
11 เมษายน 2549
 
All Blogs
 

การได้รับพยากรณ์เพื่อความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

อธิบายจากเนื้อหาใน //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aragorn&month=04-2006&date=10&group=2&blog=1 ครับ

นับจากปัจจุบันย้อนไปในอดีตกาลได้สี่อสงไขยกับเศษอีกแสนกัป ครั้งนั้น พราหมณ์ชื่อสุเมธอาศัยอยู่ในนครอันรุ่งเรืองชื่อว่าอมรวดี พราหมณ์ผู้นี้เป็นผู้มีเชื้อสายพราหมณ์อันบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายบิดาและมารดานับได้เจ็ดชั่วตระกูล เป็นผู้มีรูปอันงาม มีผิวพรรณงาม ศึกษาศิลปะของพราหมณ์เป็นอันดี บิดาและมารดาของพราหมณ์นี้เสียชีวิตลงแต่ครั้งพราหมณ์ผู้นี้ยังหนุ่ม ทั้งบิดาและมารดาเขาทิ้งทรัพย์สินไว้แก่เขามากมาย พราหมณ์สุเมธเป็นผู้ไม่ประมาท มีความคิดว่าทรัพย์สืนนี้จะติดตามเขาไปเมื่อตนสิ้นชีวิตไปแล้วก็หาไม่ แต่ผลบุญนี้แหละที่เขาจะนำไปด้วยได้ พราหมณ์ได้แจกจ่ายทรัพย์สินทั้งหมดนับได้หลายร้อยโกฏิเป็นทานแก่มหาชน มีคนกำพร้า คนเดินทางไกล เป็นต้น แล้วออกบวช

ในเหตุที่ท่านพราหมณ์สุเมธออกบวชนี้เพราะท่านคิดด้วยเหตุผลอันถูกทำนองคลองธรรมว่า เมื่อมีทุกข์ ก็ยังมีสุขอันเป็นปฏิปักษ์ของทุกข์ เมื่อมีภพ ก็ย่อมมีความปราศจากภพอันเป็นปฏิปักษ์แห่งภพอยู่เป็นแน่ และในเมื่อมีความร้อน ก็ยังมีความเย็นอันเป็นที่บรรเทาแห่งความร้อน ดังนั้นเมื่อมีไฟคือราคะ ก็ย่อมจะมีพระนิพพานอันเป็นที่ระงับของราคะเป็นแน่ เมื่อธรรมอันลามกมีอยู่ ก็ยังมีธรรมอันงามที่เป็นปฏิปักษ์แห่งธรรมอันลามก ดังนี้แหละ ในเมื่อมีชาติอันลามกอยู่ พระนิพพานอันเป็นที่ดับแห่งการเกิดทั้งปวงก็ย่อมจะมี ในเมื่อมีพระนิพพานอันเป็นที่ดับทุกข์อยู่ บุคคลที่ประสบทุกข์ไม่สละเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายแล้วหาหนทางไปสู่พระนิพพาน เป็นความผิดของบุคคลนั้น หาใช่ความผิดของพระนิพพานไม่ บุคคลพึงละทิ้งกายอันเป็นเหตุแห่งตัณหานี้ แล้วมุ่งต่อพระนิพพานว่าเป็นสิ่งอันประเสริฐ ความคิดอันประกอบด้วยเนกขัมมะนี้แล เป็นเหตุให้พราหมณ์สุเมธออกบวชเป็นฤาษี อาศัยที่ภูเขาธรรมิกะในป่าหิมพานต์ มีบรรณศาลาเป็นที่อาศัย บรรณศาลาที่สร้างอย่างดี ทั้งมีที่สำหรับเดินจงกรมอันเว้นจากโทษ5ประการนี้ บ้างกล่าวกันว่าท่านเนรมิตขึ้นด้วยกำลังแห่งบุญ บ้างกล่าวว่าท้าวสักกะเทวราชมีพระบัญชาให้วิสสุกรรมเทพบุตรสร้างขึ้นถวายแก่พระมหาสัตว์ เพื่อที่ท่านจักบำเพ็ญสมาธิโดยการละเสียซึ่งนิวรณ์5ประการ เพื่อให้ได้มาซึ่งกำลังคืออภิญญา ประกอบไปด้วยคุณ8ประการ ท่านได้ออกบวชเป็นฤาษี มีจิตมั่นคง ละทิ้งผ้าสาฎกอันมีโทษ9ประการเสียในบรรณศาลานั้น แล้วนุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ที่ประกอบด้วยคุณ12ประการ ครั้นบวชแล้วก็ละบรรณศาลาอันมีโทษ8ประการ อาศัยที่โคนต้นไม้ซึ่งประกอดบด้วยคุณ10ประการ ท่านไม่รับข้าวที่ต้องปลูกเพื่อเป็นอาหาร บริโภคแต่ผลไม้ที่หล่นเองจากต้น ท่านเริ่มตั้งความเพียรในขณะอิริยาบถนั่ง ยืน และเดินจงกรม ภายในเจ็ดวันนั้นเอง ท่านก็ได้อภิญญา5 สมาบัติ8 ตามที่ท่านได้ตั้งความปรารถนา

บัดนี้จะอธิบายถึงความหมายของธรรมต่างๆที่ได้กล่าวถึงครับ ดังนี้

โทษของที่จงกรม5ประการคือ
1.ที่จงกรมอันแข็งกระด้างและขรุขระ จะทำให้เท้าเจ็บและพอง ทำให้จิตไม่แน่วแน่ กรรมฐานจะถึงพร้อมด้วยการอยู่สบายในพื้นที่อ่อนนุ่มและราบเรียบ
2.ที่จงกรมมีต้นไม้ภายใน ผู้เดินจงกรมเมื่อเผลอสติก็อาจเดินชน ศีรษะหรือใบหน้ากระทบ
3.ที่จงกรมมุงไว้รกรุงรังด้วยหญ้าหรือเถาวัลย์ ในตอนกลางคืนผู้เดินจงกรมอาจเหยียบสัตว์เช่นงูเป็นต้น จะทำให้สัตว์ที่ถูกเหยียบตายหรือถูกสัตว์นั้นกัดเอา
4.ที่จงกรมคับแคบเกินไป โดยกว้างเพียงศอกเดียวหรือครึ่งศอก ผู้เดินจงกรมก็อาจสะดุด เล็บแตก นิ้วมือแตก
5.ที่จงกรมกว้างขวางเกินไป จะทำให้จิตวิ่งพล่าน ไม่เกิดสมาธิ
ที่จงกรมควรกว้างได้ศอกครึ่ง เว้นที่ว่างด้านข้างด้านละศอกหนึ่ง ส่วนความยาวประมาณ60ศอก มีพื้นอ่อนนุ่ม โรยทรายไว้เรียบเสมอ

สุขของสมณะ8ประการคือ
1.สมณะไม่ต้องหวงแหนทรัพย์สินและข้าว
2.สมณะแสวงหาแต่บิณฑบาตอันไม่มีโทษ
3.สมณะบริโภคแต่บิณฑบาตที่เย็น
4.สมณะไม่แสวงหาบิณฑบาตโดยการบังคับเหมือนดังพวกเจ้าพนักงานบีบบังคับเอาทรัพย์สินจากราษฎร
5.สมณะปราศจากความกำหนัดในสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย
6.สมณะไม่ต้องกังวลว่าจะถูกโจรปล้น
7.สมณะไม่ต้องคลุกคลีกับผู้ปกครองบ้านเมือง ทั้งพระราชาและอำมาตย์
8.สมณะไม่กระทบกระทั่งขัดแย้งกับผู้ใดในทิศทั้ง4

โทษ9ประการของผ้าสาฎกคือ
1.เป็นผ้ามีราคามาก
2.เป็นของที่ยังความเกี่ยวพันกับผู้อื่น
3.เมื่อใช้แล้วผ้าย่อมเศร้าหมองได้เร็ว
4.เมื่อผ้าเศร้าหมองแล้วก็ต้องซักย้อม
5.ผ้าเก่าแล้วก็ต้องปะชุน ต้องแสวงหาอีกโดยยาก
6.ไม่เหมาะกับการบวชเป็นดาบส
7.ศัตรูมีความคุ้นเคยแก่ผ้าจำพวกนี้
8.ต้องป้องกันมิให้ศัตรูถือเอาไป
9.เป็นของที่ผู้มักมากใช้ประจำตัว

ฤาษีสุเมธนั้นนุ่งผ้าเปลือกไม้แทน ผ้าเปลือกไม้คือใช้หญ้ามุงกระต่ายมาฉีกเป็นชิ้นใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ถักเข้าเป็นผ้าเพื่อใช้นุ่งห่ม ผ้าเปลือกไม้มีคุณ12ประการคือ
1.ราคาถูก
2.ทำเองได้
3.ใช้แล้วเศร้าหมองช้า ซักได้โดยเร็ว
4.เมื่อใช้ไปจนเก่าแล้วก็ไม่ต้องเย็บ
5.หาใหม่ได้ง่าย
6.เหมาะกับการบวชเป็นดาบส
7.ศัตรูไม่ยึดว่าเป็นของมีราคา ไม่ใช้สอย
8.เมื่อใช้ก็ไม่ถือเป็นของประดับประดา
9.เมื่อนุ่งห่มก็เบา
10.เป็นสิ่งแสดงว่าผู้ใช้มีความมักน้อยในจีวร
11.เปลือกไม้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปราศจากโทษ
12.หากสูญหายไปก็ไม่ต้องเสียดาย

การใช้สอยบรรณศาลามีโทษ8ประการคือ
1.บรรณาศาลาต้องทำขึ้นด้วยการรวบรวมสัมภาระจำนวนไม่น้อย
2.ต้องคอยซ่อมแซม
3.เมื่อผู้มีอายุมาเยือนก็ต้องลุกให้เสนาสนะแก่เขา จิตจะแน่วแน่ไม่ได้
4.เสนาสนะจะกำจัดความร้อนหนาว ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง
5.เป็นที่ปกปิดอันน่าติเตียน ผู้อื่นอาจแอบเข้ามาทำกิจอันเลว
6.ทำให้เกิดความหวงแหน
7.การมีเรือนเป็นเครื่องความเป็นผู้มีภรรยา
8.เป็นของปกติทั่วไปสำหรับชนหมู่มาก สัตว์มีเล็บ เรือด ตุ๊กแกเป็นต้นถือเอาเป็นที่อาศัยได้

คุณของโคนต้นไม้10ประการคือ
1.มีความยุ่งยากน้อย
2.เพราะไม่ต้องมีประตู เข้าถึงง่าย ไม่ต้องดูแลรักษา
3.จะปัดกวาดก็ตาม ไม่ปัดกวาดก็ตามก็อยู่ได้
4.ไม่ใช่ที่ปกปิด ผู้จะทำชั่วในที่นั้นย่อมละอาย
5.โคนไม้เป็นที่กลางแจ้ง ไม่ทำให้ร่างกายอึดอัด
6.ไม่ทำให้เกิดความหวงแหน
7.ทำให้ละซึ่งความอาลัยในบ้านเรือน
8.เมื่อจะปัดกวาดเช็ดถูในเวลาใด ก็ไม่ต้องไล่ผู้อื่นให้ออกไปก่อนดังขณะอยู่ในบ้านเรือน
9.ผู้อยู่ย่อมอื่มเอิบใจ
10.ไม่ต้องอาลัยอาวรณ์เพราะโคนต้นไม้หาได้ง่าย

ฤาษีสุเมธผู้เป็นพระมหาสัตว์ครั้นแล้วได้เลือกเอาโคนต้นไม้เป็นที่อาศัย รุ่งขึ้นก็เข้าไปหาภิกษาโดยการบิณฑบาต ได้รับภิกษามาพอสมควร ครั้นพระมหาสัตว์มาคิดว่าโภชนะที่ประชาชนบริโภคอันได้จากการเพาะปลูกจักทำให้ตนเมาในรสอาหาร ท่านก็ละเสีย มาบริโภคผลไม้ที่หล่นเอง เมื่อท่านกระทำดังนี้เอง ท่านได้สมาบัติ8 และอภิญญา5ให้เกิดขึ้นโดยการทำความเพียรภายในหนึ่งสัปดาห์ สุเมธดาบสเสวยสุขอันเกิดจากสมาบัติดังนี้แล ก็ในกาลนั้น พระศาสดาพระนามว่าทีปังกรเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เมื่อครั้งพระองค์ทรงอุบัติในพระครรภ์ของพระพุทธมารดา ประสูติ ตรัสรู้ และประกาศพระธรรมจักร ทั้ง4กาลนี้ โลกธาตุหมื่นหนึ่งทั้งสิ้นได้หวั่นไหว สะท้านสะเทือน ปรากฏนิมิต32ประการ แต่สุเมธดาบสยังเวลาให้ผ่านไปด้วยสุขอันเกิดจากสมาบัติ ไม่ได้ยินเสียง ไม่ได้ทราบนิมิตนั้นเลย

ในกาลนั้น พระทศพลนามทีปังกร ห้อมล้อมด้วยพระอรหันตขีนาสพจำนวนสี่แสนรูป เสด็จจาริกถึงรัมมกนคร ประทับ ณ สุทัสนมหาวิหาร ชาวรัมมกนครได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรทรงบรรลุพระโพธิญาณ ทรงประกาศพระธรรมจักรแล้ว เสด็จจาริกไปโดยลำดับมาถึงรัมมกนคร เสด็จประทับอยู่ที่สุทัสนมหาวิหาร พากันเข้าไปเฝ้าพระศาสดา แล้วถวายบังคม บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ฟังพระธรรมเทศนา แล้วทูลนิมนต์เพื่อเสวยในวันรุ่งขึ้น พากันลุกจากที่นั่ง แล้วหลีกไป พากันตระเตรียมของที่จะถวายพระผู้มีพระภาคพระนามว่าทีปังกรนั้น ตลอดจนพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ประดับประดาเมืองและถนนหนทางที่พระองค์จะเสด็จมา ในที่ถนนที่มีน้ำเซาะก็เอาดินถมให้ราบเสมอกัน โรยทราย โปรยข้าวตอกดอกไม้ ประดับธงและผ้าสี และตั้งต้นกล้วยกับหม้อน้ำเต็มด้วยดอกไม้เรียงรายเป็นแถว

ครั้งนั้นเอง สุเมธดาบสเหาะมาทางอากาศ เห็นการกระทำกิจและประดับประดา ตลอดจนกิริยายินดีร่าเริง ปราโมทย์ของชาวเมืองแล้ว ได้ลงจากเวหาสมาสอบถามพวกชาวเมือง ครั้นได้ทราบว่าพระผู้มีพระภาคจะเสด็จมาตามทางนั้น สุเมธดาบสคิดว่า แม้เพียงคำกล่าวว่าพระพุทธเจ้าก็ยังยากจะปรากฏในโลก จะกล่าวไปไยถึงการมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ท่านจะปลูกพืชคือกุศลบารมี ณ ที่นั้น มิให้โอกาสผ่านไปโดยเสียเปล่า ท่านสมควรจะร่วมตกแต่งทางที่พระทศพลจะเสด็จร่วมกับชาวเมืองด้วย จึงกล่าวความประสงค์แก่ชาวเมือง พวกเขาก็รับปาก ทั้งทราบว่าสุเมธดาบสมีฤทธิ์ จึงกำหนดที่ว่างซึ่งมีน้ำเซาะให้ส่วนหนึ่งเพื่อสุเมธดาบสจะช่วยตกแต่งให้เรียบ สุเมธดาบสผู้มีอภิญญาย่อมสามารถตกแต่งทางนั้นด้วยฤทธิ์ แต่ท่านยึดเอาปิติอันมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ คิดว่าเมื่ออาศัยฤทธิ์แล้ว ใจของท่านจะไม่มีความยินดีมากนัก ท่านตัดสินใจใช้กำลังกายเข้าตกแต่งพื้นที่นั้น แต่ว่าที่ว่างนั้น ท่านสุเมธดาบสยังไม่ทันตกแต่งแล้วเสร็จเลย พระทศพลทีปังกร มีพระอรหันตขีณาสพห้อมล้อมสี่แสนรูป ล้วนเป็นผู้ได้อภิญญา6 เหล่าเทวดาและมนุษย์บูชาอยู่ด้วยของหอมและดอกไม้ทั้งที่เป็นของมนุษย์และดอกไม้ทิพย์ เสด็จมาด้วยพระพุทธลีลาอันหาที่เปรียบมิได้ ประดุจราชสีห์ สุเมธดาบสมองดูพระวรกายของพระทศพล ซึ่งถึงความเลิศด้วยพระรูปโฉม ประกอบด้วยพระมหาปุริสลักษณะ32ประการ ประกอบด้วยพระอนุพยัญชนะ80ประการ มีแสงสว่างเปล่งออกจากพระวรกายล้อมรอบได้ประมาณวาหนึ่ง มีพระพุทธรัศมีหนาทึบมีสี6ประการประหนึ่งสายฟ้าบนท้องฟ้า มีสีราวแก้วมณี ฉายแสงแปลบปลาบเป็นคู่ๆ สุเมธดาบสมีความคิดจะถวายชีวิตแด่พระทศพล ปรารถนาว่าพระทศพลจงอย่าทรงเหยียบบนเปือกตม แต่จงทรงย่ำบนหลังของท่าน ตามเสด็จด้วยพระอรหันตขีณาสพทั้งหลายเหมือนทรงเหยียบสะพานแก้วมณี สุเมธดาบสแก้ผมออก เปลื้องผ้าเปลือกไม้และหนังเสือ ณ ที่นั้น ลาดลงบนเปลือกตม นอนคว่ำหน้า ท่านลืมตาทั้งสอง เห็นพุทธศิริของพระทศพลทีปังกร คิดขึ้นว่า หากท่านต้องการเป็นพระสงฆ์สาวกของพระทศพลทีปังกร ก็จะเผากิเลสทั้งปวงได้ บรรลุพระนิพพานในที่นั้น แต่ว่าประโยชน์อะไรเล่าที่ท่านผู้เป็นลูกผู้ชายผู้มีร่างกายแข็งแกร่งนี้ ที่จะข้ามสาครคือสงสารไปคนเดียว ท่านปรารถนาเป็นเช่นดังพระทศพลทีปังกร บรรลุพระอภิสัมโพธิญาณอันประเสริฐ ประกาศพระธรรมดุจนาวา ยังมหาชนให้ข้ามสงสารอันประดุจสาคร แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพานจึงสมควรแก่ท่าน โดยการประมวลธรรม8ประการ ท่านกระทำความปรารถนาอันยิ่งใหญ่เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จึงได้นอนลง

บุคคลผู้ปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ จะสำเร็จความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ได้นั้น เพราะประมวลมาซึ่งธรรม8ประการคือ
1.ความป็นมนุษย์
2.ความถึงพร้อมด้วยเพศ
3.เหตุ
4.การเห็นพระศาสดา
5.การบรรพชา
6.การสมบูรณ์ด้วยคุณ
7.การกระทำยิ่งใหญ่
8.ความพอใจ

(ยังมีต่อ)




 

Create Date : 11 เมษายน 2549
0 comments
Last Update : 11 เมษายน 2549 17:59:53 น.
Counter : 428 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.