www.facebook.com/ibehindyou

ทุก comment ที่คุณให้มา ทำให้เรารู้ว่า เราไม่ได้สนุกกับการเขียน blog แล้วอ่านอยู่คนเดียว

Blog No.13 : ไม่รู้บ้างได้ปะ (Curiosity killed the Society)


ถ้าสื่อมวลชนที่ทำข่าวการเมือง, สังคม , อาชญากรรม ฯลฯ สวมวิญญาณเดียวกับสื่อที่ทำข่าวคุณปอ ทฤษฎี คือมีความอยากรู้อยากเห็น(curiosity) , ตามติดอย่างต่อเนื่องไม่ทิ้ง(ข่าว)ไว้กลางทาง , ใช้ทักษะสืบค้น(investigate) , หาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องเกี่ยวข้องมาให้ประชาชน , เสาะหาสายข่าวหรือข้อมูลวงในที่ถูกปกปิดมาเผยแพร่ , นำเสนอทุกรายละเอียดที่ได้มาลงในหน้าข่าว...ผมมั่นใจครับว่าถ้าไปอยู่อเมริกา รางวัลใหญ่แบบพูลิตเซอร์มาแน่นอน Smiley

ที่เขียนข้างต้นไม่ได้ประชดนะครับคือถ้าตัดประเด็นดราม่าตอนนี้ทิ้งไปก่อนเอาเฉพาะคุณสมบัติข้างต้นมันคือคุณสมบัติที่ประชาชนควรคาดหวังจากนักข่าว

ลองนึกดูซิครับถ้านักข่าวสายการเมืองหรืออาชญากรรมสวมวิญญาณแบบเดียวกันนั้นนักข่าวจะกลายเป็นบุคคลสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไปในทางที่ดียิ่งขึ้นแน่นอน จะมีความจริงที่ชั่วร้ายมากมายถูกเปิดโปง

เพียงแต่ถ้าจะใช้คุณสมบัติดังกล่าวกับข่าวสังคมหรือการเมืองก็ต้องอาศัยความกล้าเพิ่มเติมเข้าไปด้วย ซึ่งก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่เราเห็นคุณสมบัติสุดยอดนักข่าวข้างต้นในวงการข่าวบันเทิงเป็นส่วนใหญ่

*****

Curiosity กับ โลกยุคใหม่

...บล็อกนี้ไม่ใช่เรื่องจริยธรรมสื่อไม่ใช่เรื่องความเหมาะสมในการทำข่าวนะครับเพราะมีคนพูดถึงมากแล้วและส่วนตัวผมเองก็คิดว่าประเด็นตอนนี้ไม่ใช่แค่เรื่อง‘จริยธรรมสื่อ’ แต่มันซับซ้อนกว่านั้น

มันยังเป็นเรื่องความอยากรู้อยากเห็น(curiosity) ที่ถูกตามใจจนเคยตัวในโลกยุคใหม่

ความอยากรู้อยากเห็น(curiosity) เป็นธรรมชาติของมนุษย์ตั้งแต่ทารก มันเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เราตอนเป็นเด็กออกจากเปลไปสำรวจโลกช่วยให้เรียนรู้ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ช่วยในการผลิตงาน ฯลฯ

ผมขอใช้นิยามตามที่เคยอ่านเจอคุณจอร์จโลวินสทีน เคยเขียนไว้ในงานวิจัยเรื่องจิตวิทยาของความอยากรู้แกรวบรวมความหมายของcuriosityนี้ออกมาเป็นสามด้านคือ

(1) ความปรารถนาภายในตัวเราที่ต้องการข้อมูล (intrinsically motivated desire for information)

(2)Passion โดยเฉพาะ passion ในการเรียนรู้

(3)สภาวะหิว(ข้อมูล/คำตอบฯลฯ)

อ่านจบผมเห็นภาพเลยครับลองจินตนาการ curiosity ในตัวคุณเป็นแมวน่ารักขนฟู อ้าปากอยากกินอาหารเป็น ‘ข้อมูล ความรู้ เรื่องชาวบ้านข่าวสาร ข่าวลือ ฯลฯ’

แล้วเราก็จะพบว่าในตัวเรามี
 curiosity หลายตัว ที่รอการตอบสนองแล้วคุณก็ป้อนมันอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว

เช่น ตื่นมาก็อยากรู้ว่าทำไมปีนี้อากาศหนาวมาช้าคุณก็ลองหาข้อมูลในกูเกิ้ล / อยากรู้ว่าข้อสอบบ่ายนี้จะตรงกับที่อ่านมั้ยคุณก็ไลน์ไปแย็บๆกับเพื่อน / อยากรู้ว่าไข้เลือดออกที่กำลังเป็นข่าวดังเป็นอย่างไรคุณก็เข้าเว็บสุขภาพ / เห็นข่าวในเฟซเรื่องคุณมัด คุณก็คลิกเข้าไปอ่านต่อฯลฯ

สิ่งสำคัญอยู่ตรงนี้ครับ

ตัวcuriosity ของคนรุ่น ‘ก่อนมีอินเตอร์เน็ต’ จะมีนิสัยต่างออกไปมันจะเคยชินกับการไม่ได้คำตอบ มันเคยชินกับการอดทนรอเช่นกว่าจะรู้คำตอบก็ต้องเข้าห้องสมุดต้องค้นตามชั้นหนังสือ ต้องเสียเวลาไล่อ่านฯลฯ ดังนั้นบางตัวมันก็แห้งเหี่ยวตายโดยไม่ได้คำตอบแล้วชีวิตเราก็ไม่ได้กระทบอะไรนัก

ในขณะที่ตัวcuriosity ของคนรุ่น ‘โซเชียลมีเดีย’ มันโตมากับการถูกป้อนข้อมูลตลอด มันเคยตัวแล้วกับการที่อยากรู้อะไรก็ได้รู้มันเคยชินกับการได้คำตอบเร็วๆ ถ้ารอนานก็จะเริ่มพาลเพราะหงุดหงิด กูเกิ้ลคอยทำให้มันเคยตัว แล้วเฟซบุ้คก็ส่งเสริมนิสัยการอยากรู้อยากเห็นเรื่องชาวบ้านจนติดเป็นนิสัย Smiley

มันจึงเป็นเป็นเรื่องยากถ้าเราต้องบอกตัว curiosity ของเราว่า “ไม่รู้บ้างได้ปะ”

ความจริงผมไม่ชอบคำพูดทำนองว่า“ไม่รู้ซักเรื่องบ้างได้มั้ย” นะครับเพราะผู้ใหญ่หลายคนใช้คำพูดนี้กับเด็กเวลาที่ตัวเองตอบไม่ได้คล้ายจะโยนให้เป็นความผิดของเด็กแล้วอาจทำให้เด็กคนนั้นไม่กล้าที่จะถามอะไรนอกกรอบของผู้ใหญ่อีก

แต่สำหรับคนรุ่นโซเชียลมีเดียผมคิดว่าเราต้องฝึกเรียงลำดับความสำคัญของเจ้าตัว curiosity ว่าตัวไหนควรป้อน ตัวไหนควรรอ

เพราะเราไม่มีเวลามากพอที่จะรู้ทุกเรื่องแต่เราถูกเทคโนโลยีกับอุปกรณ์สื่อสารยุคใหม่ที่คอยกระตุ้นให้เราอยากรู้ไปหมด แล้วมันก็ตอบสนองความอยากนั้นง่าย จนบางทีเราก็เสียเวลาส่วนใหญ่ไปตอบสนอง curiosity ในเรื่องดราม่าที่อ่านไปสองชั่วโมงกว่าก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นนอกจากเพลินแต่ที่เสียไปแน่ๆคือเสียงาน Smiley

เราจึงต้องเริ่มถามตัวเองด้วยคำถาม“ไม่รู้ซักเรื่องบ้างได้มั้ย” บ้างนะครับกับบางเรื่องที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราและอาจเป็นการทำลายความเป็นส่วนตัวของคนอื่น

ในขณะเดียวกันก็ควรปลุกตัว curiosityบางตัวให้สนใจมาเสพข้อมูลข่าวสารมากขึ้นในเรื่องที่กระทบกับชีวิตของเรากระทบกับความเป็นไปหรือความมั่นคงของสังคม

เพราะบางเรื่องที่สังคมควรจะให้ความสนใจมากกว่านี้เรากลับยอมรับที่จะให้มันเงียบหายไปง่ายๆก็หลายเรื่อง Smiley

*****
Curiosity กับ ความเป็นส่วนตัว

... กลับมาที่ข่าวคุณปอทฤษฎี ความจริงไม่ใช่แค่กรณีคุณปอหรอกครับไม่ว่าจะนักร้อง นักแสดง พิธีกร ฯลฯคนใดก็ตามที่เราเรียกว่าเป็นบุคคลสาธารณะ สมมติว่าชื่อคุณ A มานอนโรงพยาบาลด้วยอาการป่วยหนักในภาวะวิกฤติ

การเป็นบุคคลสาธารณะแปลว่าคุณ A ไม่ได้มีคุณค่าแค่เป็นดาราหรือนักร้องนะครับแต่สำหรับแฟนคลับพวกเขามีความผูกพันกับคุณ A เป็นแรงบันดาลใจ บางคนอาจรู้สึกราวกับเป็นคนในครอบครัว ดังนั้นเมื่อคุณ A นอนโรงพยาบาลก็จะเกิดความกังวลระคนเป็นห่วงซึ่งก็ทำให้อยากรู้ความเป็นไปของอาการป่วย

ทีนี้ละครับตัว curiosity ก็จะอยากได้ข้อมูลเพราะห่วงใยอยากรู้ความเป็นไปอย่างใกล้ชิด

แต่ประเด็นคือทีมผู้รักษาพยาบาลไม่สามารถตอบสนอง curiosity ของแฟนคลับหรือประชาชนที่มีหลักร้อยถึงหลักแสนไม่ใช่แค่เพราะเป็นงานหนัก แต่มันยังเป็นเรื่อง ‘ความเป็นส่วนตัว’ ของคนไข้

หน้าที่จำเป็นหลักๆในการตอบสนองความอยากรู้ของทีมผู้รักษาพยาบาลคือตอบสนองcuriosity ของครอบครัวคุณ

แล้วถ้าตัวcuriosity ของนักข่าวกับตัวcuriosity ของแฟนคลับอยากรู้มากขึ้น มันก็จะกลายเป็นการกระตุ้น cusiosity ของสังคม เพราะใน news feed ก็จะมีแต่เรื่องของคุณ A เรื่องครอบครัวคุณเรื่องพ่อมดหมอผีที่อยากช่วยคุณ A ฯลฯ

แล้วยิ่งความcuriosity ทำงานมาก ก็เท่ากับเราทุกคนมีส่วนกระตุ้นการลิดรอนความเป็นส่วนตัวของคุณA

ทั้งที่การเป็นบุคคลสาธารณะไม่ได้แปลว่าจะต้องสละ‘ความเป็นส่วนตัว’ให้ผู้คนในทุกนาที แล้วจะว่าไปไม่ต้องมองในแง่บุคคลสาธารณะก็ได้ครับมองในแง่เป็นคนเหมือนกัน

นึกถึงตัวเองก็ได้ครับ เวลาที่คนที่เรารักป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลอาการยังไม่รู้ว่าจะดีหรือร้ายยังอยู่ในภาวะวิกฤติอย่าว่าแต่ต้องรับมือกับคนแปลกหน้าเลยครับแค่งานประจำหรือกิจวัตรประจำวันก็ไม่อยากจะทำแล้ว

แค่สถานการณ์ความเจ็บป่วยก็คือความเครียดที่ต้องรับมือก็หนักแล้วการยังต้องปรากฎตัวให้สื่อถ่ายรูปคอยรับมือกับสื่อที่มีมากหน้าหลายตา ฯลฯ

มันคือ
 ‘ภาระ’ ที่เราเอาไปเพิ่มให้ครอบครัวของเขา 

*****


จะให้ Curiosity ของคุณ พาสังคมไปในทิศทางใด ?

... การจะหยุดภาวะกระหายข่าวแบบกรณีคุณปอ ทฤษฎีในโลกยุคโซเชียลมีเดียจึงไม่ใช่แค่ฝากความคาดหวังไว้ที่ ‘จริยธรรมสื่อ’ เพราะคำว่าสื่อทุกวันนี้มันครอบคลุมถึงเราทุกคนทีเป็นสื่อพลเรือนการที่คุณโพสต์หรือแชร์ คุณก็ทำหน้าที่สื่อแล้ว

ดังนั้นถ้าผมไปได้ภาพข่าวเด็ดมา แล้วโพสต์ลง facebook แล้วมีคนแชร์มากมีคนกดไลค์มาก ในเพจผมมีคนสนใจเรื่องนี้ เพิ่มยอดไลค์มากขึ้นตามลำดับ ผมก็จะยิ่งหาภาพข่าวนั้นมาตอบสนองคนอ่าน แต่ผมไม่ต้องรับผิดชอบเหมือนสื่อมืออาชีพ ผมไม่ต้องสนเรื่องจรรยาบรรณ Smiley

แล้วอย่าลืมว่าแอดมินเพจหรือคนใช้โซเชียลมีเดียที่มีเป็นหลักล้านเราไม่สามารถคาดหวังที่จะใช้จริยธรรมสื่อควบคุมได้หรอกครับ มันไม่ใช่เรื่องของการซื้อหรือไม่ซื้อหนังสือพิมพ์ที่ผิดจรรยาบรรณ

แต่มันคือเรื่องการแชร์การไลค์ ที่ใครๆก็ทำจนเคยชิน

ดูตัวอย่างง่ายๆซิครับเรารังเกียจเรื่องของคนที่ใช้พลังวิเศษหาผลประโยชน์จากกรณีคุณปอมากแค่ไหนแต่เราก็ยังเอามาล้อเลียนยังเอามาโพสต์ด่า ยังเอามาแชร์ต่อๆกันไปมันไม่ได้ทำให้พวกนั้นเดือดร้อนนะครับ แต่การ ‘พูดถึง’มันยิ่งตอบสนองความต้องการที่จะทำตัวเองให้เป็นที่รู้จัก

ดังนั้นนอกจากจะคาดหวังจากสื่อ สิ่งสำคัญที่สุดคือตัวเรานี่แหละครับ  

เราจะทำได้ไหมกับการไม่ต้องไปสนใจกับพวกหาผลประโยชน์ ไม่ต้องแชร์ ไม่ต้องจับมาโพสต์ให้ทันกระแส แต่ปล่อยให้พวกนั้นเงียบหายไปเองเมื่อไม่มีคนพูดถึงเหมือนวิธีจัดการกับเกรียนในอินเตอร์เน็ต (หลักการเดียวกับ Don’t feed the troll)

เราจะทำได้ไหมที่ยังติดตามความคืบหน้าของบุคคลสาธารณะที่เรารักและเป็นห่วงเท่าที่ทางครอบครัวและโรงพยาบาลยินดีให้ข่าว แล้วก็ส่งความรักอาจจะเป็นการสวดมนต์ ส่งจดหมาย ฯลฯแต่ไม่รบกวนความเป็นส่วนตัว

แล้วสมมติว่า...

ถ้าโรงพยาบาลไม่ป้อนข้อมูลแบบอัพเดตรายวัน จะแจ้งสื่อก็ต่อเมื่อครอบครัวอนุญาตแล้วแจ้งเฉพาะเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ(แต่ยังคงอัพเดตกับครอบครัวอย่างระยะตามเดิม) 

ถ้าโรงพยาบาลต้องการปกป้อง‘ความเป็นส่วนตัว’ ของคนไข้และญาติโดยกำหนดพื้นที่ให้สื่อไม่สามารถเข้าถึงครอบครัวของคนไข้ได้ง่ายๆ ยกเว้นพวกเขาอยากจะแถลงเอง

...แล้วสื่อหรือแฟนคลับไม่พอใจที่ไม่ได้รู้ พากันกดดันและรุมด่าบุคลากร

ถึงตอนนั้นเราจะยืนหยัดเคียงข้างการตัดสินใจของโรงพยาบาลหรือไม่ ?

*****

... สุดท้ายครับผมเชื่อว่าถ้าคนในสังคมเลือกป้อน 'ตัว curiosity' ของนักข่าวได้ถูกตัว

คือกดดันให้นักข่าวอยากรู้ในเรื่องสำคัญที่ควรรู้มากกว่านี้ กดดันให้ไล่บี้หาข้อมูลมาให้เราแล้วลดความสำคัญกับการมอบพื้นที่ข่าวของบางเรื่องลง 

ความ curiosity นี่แหละครับอาจผลักดันให้สังคมเราโปร่งใสและดีขึ้นได้แน่นอน

และที่สำคัญอย่าลืมว่าข่าวส่วนใหญ่ที่สื่อทำ ไม่ใช่เพราะความ curiosity ของพวกเขาอย่างเดียว

แต่พวกเขาก็อ่านตามเฟซบุ้ค ตามทวิตเตอร์นี่แหละครับว่า curiosity ของสังคมเป็นอย่างไร กระแสคนอ่านเทไปเรื่องไหน แล้วเขาก็คอยตอบสนองความอยากรู้ของพวกเรา




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2558
0 comments
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2558 10:19:53 น.
Counter : 2247 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


"ผมอยู่ข้างหลังคุณ"
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2558
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
27 พฤศจิกายน 2558
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add "ผมอยู่ข้างหลังคุณ"'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.