www.facebook.com/ibehindyou

ทุก comment ที่คุณให้มา ทำให้เรารู้ว่า เราไม่ได้สนุกกับการเขียน blog แล้วอ่านอยู่คนเดียว

Yes , บทกวีอีโรติค ความรัก การเมือง และ การมีตัวตน



Spoiler alert บทความนี้เผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ และ ประโยคที่เป็นตัวอักษรเอียงสีฟ้าเป็นประโยคสำคัญในหนัง หากยังไม่ต้องการรับรู้ กรุณาอ่านข้ามตัวอักษรเอียงสีฟ้าด้านล่าง



Yes , เธอ ตอบรับการเชิญชวนของ เขา

เขา (Simon Abkarian) เป็นชายหนุ่มชาวเบรุต เธอ (Joan Allen) เป็นหญิงสาวชาวเบลฟาสต์ ทั้งคู่มาจากดินแดนที่มีกลิ่นอายของควันปืนและความตาย เธอเลือกที่จะลืมอดีตและใช้ชีวิตใหม่อย่างคนอเมริกัน เขาเลือกเปลี่ยนมีดผ่าตัดให้กลายเป็นมีดทำครัวและมาอาศัยทำมาหากินในอเมริกา เธอใช้ชีวิตอยู่กับเซลล์และความจริงทางวิทยาศาสตร์ เขาใช้ชีวิตภายใต้ความเชื่อและศรัทธา

....ก่อนที่จะเป็นเรื่องของเขาและเธอ หนังเริ่มต้นด้วยตัวละคร แม่บ้านทำความสะอาด ที่ หันหน้ามามองกล้องและพูดกับคนดูตั้งแต่ฉากแรกและเราจะพบกับเธอในอีกหลายๆฉากเหมือนกับพิธีกรที่พาเราเข้าไปสู่เรื่องราวของ เธอ สามีของเธอ และ เขา

เธอเริ่มต้นบอกกับเราเรื่อง ความสะอาด และ ภาพลวง เธอเชื่อว่าความสะอาดเป็นเพียงภาพลวง เพราะไม่ว่าเราจะทำความสะอาดสิ่งสกปรกนั้นมากเพียงใด แต่ที่สุดของความสกปรกยังคงหลงเหลือหลักฐานไม่ให้เราทำลายมันไปได้ ทุกสิ่งล้วนมีหลักฐานของการมีตัวตนของมัน

...เมื่อหนังพูดถึงการมีตัวตน ทำให้ผมคิดไปถึงทฤษฎี Existential ที่พูดถึงการคงอยู่ของมนุษย์และสิ่งต่างๆ และ 4 องค์ประกอบสำคัญของการคงอยู่ที่ Yalom หนึ่งในบุคคลสำคัญของทฤษฎีนี้ได้กล่าวไว้ ล้วนมีอยู่ในตัวละครของเขาและเธอ นั่นคือ Death , Freedom , Isolation , meaning

...ทั้งเขาและเธอเดินหันหลังมาจากดินแดนแห่งความตาย (Death) ไม่ใช่แค่เดินจากมา ทั้งคู่เปลี่ยนแปลงตัวตน เขาเปลี่ยนอาชีพที่ต้องคลุกคลีกับความตายอย่างศัลยแพทย์มาเป็นการทำอาหาร เธอพยายามทิ้งทุกอย่างที่เป็นอดีต เห็นได้จากการพยายามเลี่ยงที่จะไปพบป้า บุคคลซึ่งสามารถยืนยันตัวตนที่แท้จริงของอดีตของเธอ ทั้งคู่ก้าวเข้ามาในดินแดนแห่งเสรีภาพ (Freedom) และใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว (Isolation) จน เมื่อได้มาเจอกันก็แลกเปลี่ยนวันเวลาของกันและกันแสวงหาความหมายของชีวิต (meaning) ในแต่ละแง่มุม ทั้งความรัก ศาสนา การเมือง ความเชื่อ ฯลฯ

... หากคนเรามีแก่นคือตัวตน(self) มีเปลือกหลายชั้นที่ห่อหุ้มแสดงความเป็นตัวตน (identity) ตัวละครในเรื่องล้วนแสวงหาการมีตัวตนอยู่ในสังคม

เธอ ที่มีชีวิตเหมือนไร้จิตวิญญาณ ชีวิตที่เหมือนไร้ตัวตน สูญเสียความมีคุณค่าของตัวเอง(Self esteem) หลังจากชีวิตสมรสที่ล่มสลาย

เขา ที่เมื่อพบเธอก็มอบตัวตนให้กับเธอที่เขารักและเชิดชู แต่คนเราไม่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างไร้ตัวตน เมื่อวันที่เขาสูญเสียสถานภาพทางสังคมที่เสมือนเปลือกของชีวิต เขาจึงจำเป็นที่ต้องทวงตัวตนคืนจากเธอ

ลูกเลี้ยงของเธอ ก็แสวงหาอัตลักษณ์ในสังคม ทั้งรูปร่างหน้าตา การแต่งตัว การยอมรับ ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่คนที่ไม่สลักสำคัญอย่างเพื่อนร่วมงานของเขา ที่รู้สึกว่า ถูกคนต่างชาติมาแย่งที่แย่งอาชีพเหมือนกับถูกขโมยสถานภาพที่ควรจะเป็นของเขา

สำหรับ เขา แล้ว

ในสถานภาพของประชาชน เขาถือสิทธิเป็นพลเมืองคนหนึ่งในประเทศ มีอาชีพ มีหลักแหล่ง

ในสถานภาพของความรัก เขาเป็นที่พักชั่วคราวของความเหงา เป็นร่มไม้ที่ให้ร่มเงาแก่เธอที่กำลังแห้งเหี่ยว

....แล้ววันหนึ่ง เมื่อเขาถูกขับออกจากงาน ก็เสมือนสูญเสียการมีอยู่ของตัวตนในอเมริกา ชายชาวตะวันออกกลางอย่างเขาในยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 ย่อมเป็นความแปลกแยกเป็นบุคคลที่ไม่ทัดเทียมกับพลเมืองคนอื่นๆ กับ สถานภาพคนรักนั้นเล่า แม้เขาจะมีเธอแต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขามีตัวตน เพราะตัวตนของเขาสำหรับเธอไม่เคยมีอยู่ถาวรจีรัง เขาเป็นเพียง คนชั่วคราวที่ไม่อาจมีตัวตน เขาจึงตัดสินใจเดินจากเธอไป

สำหรับเธอแล้ว

ชีวิตที่อยู่อย่างไร้ตัวตนก็เหมือนต้นไม่ที่ขาดการรดน้ำดูแล
เมื่อได้มาพบกับเขาก็เหมือนกับการได้รดน้ำ ตัวตน ที่กำลังจะเหี่ยวแห้งตายให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ตัวตนของเธอ กำเนิดขึ้นมาอีกครั้ง เพราะ เขาที่เห็นคุณค่าและยกย่องพร้อมกับรดน้ำให้กับมัน เขาทำให้เธอได้มี ชีวิต ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

... เมื่อเขาเดินจากเธอไป เมื่อนั้นความขัดแย้งของเขาและเธอก็เริ่มต้น และ มันบานปลายไปมากกว่าการถกเถียงในเรื่องของความรัก แต่มันบานปลายไปเป็นสงครามของเชิ้อชาติ ศาสนา ฯลฯ

..เขาสงสัยว่า เธอและคนอื่นๆ เคยรู้หรือไม่ว่าภาษาของเขาพูดอย่างไร ในขณะที่เขาต้องเรียนแทบตายเพื่อพูดภาษาของเธอ

..เขาสงสัยว่าเธอและคนอื่นๆ เคยอ่านพระคัมภีร์ของเขาหรือไม่ในขณะที่คนทั่วไปต้องรู้จักไบเบิ้ล

..เขาสงสัยว่า เธอและคนอื่นๆ ที่รวมกันเป็น เรา เคยเห็นความสำคัญของคนอื่นหรือไม่ นอกจากตั้งตนเป็นใหญ่

บทสนทนาของเขาและเธอ จากการต่อสู้ของความรัก กลายเป็นการต่อสู้ของ ประชาชนอเมริกันที่ไม่ได้คิดฝันจะมีส่วนร่วมกับสงคราม กับ ประชาชนชาวตะวันออกกลางที่เป็นผู้ถูกกระทำจากประเทศมหาอำนาจ เธอไม่เข้าใจว่าอะไรที่ทำให้มันต้องมาลงเอยเช่นนี้ อะไรที่มันบานปลายมาได้ถึงขนาดนี้ ?

... ตัวละครใน Yes พูดคุยกันด้วยภาษาที่งดงามราวบทกวี ความงดงามเกิดจากทั้งรูปประโยคและเนื้อความ (เขาว่ากันว่าเป็นลักษณะฉันทลักษณ์แบบ Iambic pentameter ที่มักพบอย่างในผลงานของ Shakespeare) ไม่ใช่แค่รูปแบบที่พูดกันเป็นภาษากวีที่ทำให้มันงดงาม เนื้อความที่เขาและเธอโต้ตอบแลกเปลี่ยนกันก็แฝงด้วยความลึกซึ้งในทางปรัชญา (ฉากที่ทั้งคู่คุยกันถึงความรักแต่เปรียบกับตัวเลขเป็นบทสนทนาที่ฉลาดและโรแมนติก) ไม่เท่านั้นหนังยังอุดมไปด้วยเทคนิคทางภาพยนตร์อีกแพรวพราวทั้งภาพและเสียงที่ทำให้การนั่งชมภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อารมณ์เดียวกับการอ่านบทกวี

เสียง

...เสียงที่ได้ยินระหว่างเธอและสามี มีแต่เสียงของความโกรธขึ้ง เสียงของการตำหนิติเตียน ไร้ซึ่งสำเนียงของความรัก ทั้งที่เราเองในฐานะคนดูได้ยินเสียงในใจของตัวละครที่ไม่ได้พูดออกมา เราได้ยินเสียงที่เพรียกหาความรัก ความเอาใจใส่ทะนุถนอม แต่นั่นเป็นแค่เสียงที่กักเก็บไว้ในใจ

...เมื่อ เธอ ได้พบกับ เขา ซึ่งเอ่ยถ้อยวจีคำหวานที่มันออกมาจาก เสียงในใจที่โหยหา เทิดทูน โดยไม่ปิดบัง เสียงที่เธอได้ยินเขาพูด จึง เป็นเสียงแห่งความรัก เสียงแห่งความปรารถนา นำพาให้เขาและเธอออกเดินทางไปสู่โลกใบใหม่ด้วยกัน

...หนังทำให้เราได้ยินเสียงตัวละคร มากกว่า เสียงที่ตัวละครพูด เพราะเสียงในเรื่องถูกนำเสนอออกมาเป็น

เสียงที่พูดออกมา - เสียงที่เราได้ยินตัวละครพูด

เสียงที่อยู่ในใจ - เสียงที่ตัวละครไม่พูดแต่เราได้ยินเสียงในใจที่กำลังพูดอยู่

เสียงที่ไม่ได้พูด - ตัวละครไม่พูดให้เราได้ยิน แต่ตัวละครอีกตัวหนึ่งถ่ายทอดให้เราได้รับรู้ ผ่านความคิดที่พูดอยู่ข้างในใจ

ตัวอย่างในเรื่องที่มีเสียงที่ได้ยินจากทั้งการพูดของตัวละครและจากใจตัวละครพร้อมๆกัน คือ ประโยคหนึ่งในรถลีมูซีนที่เธอส่งเสียงให้เราได้ยินระหว่างนั่งอยู่กับสามี

Nobody warned me , nobody said
That losing love like being death
Or deaf and dumbed and blind and strangled…
How could you? In our house?

...ทั้งหมดนี้เป็นเสียงในใจของเธอ แต่ เสียงที่เธอพูดกับสามีเอ่ยออกมาเพียง How could you? In our house?

เสียงที่สามีเธอได้ยินจึงเป็นเสียงของการตำหนิ แต่ เสียงในใจของเธอที่เราได้ยินมันคือเสียงของผู้หญิงที่กำลังจะตายจากความเจ็บปวด

จะเห็นว่าตัวละครในเรื่องทำร้ายกันและกันด้วยเสียงที่พูดออกมา เอ่ยออกมาเป็นคำพูดที่ว่าร้ายต่อกัน แต่เสียงที่อยู่ในใจกลับเก็บงำไว้ไม่เอ่ยออกมา

..ปัญหาของชีวิตคู่ที่เกิดขึ้น มักเกิดจาก เราไม่ค่อยพูดว่า เรารู้สึกอย่างไร มันมักจะเป็นเสียงที่อยู่ในใจแต่ไม่ได้เอื้อนเอ่ย คำพูดที่เราเอ่ยออกมา มักเป็นแต่คำว่าร้าย ตำหนิกันและกัน เป็นเสียงที่มาจากความไม่พอใจ เราไม่พูดว่า “ฉันรู้สึก...” แต่เป็น “ทำไมเธอถึง..” ทั้งที่จริงแล้วมันล้วนมาจากรากของความปรารถนาในใจอันเดียวกัน นั่นคือ ความปรารถนาความรัก ความทะนุถนอม ความเอาใจใส่ ความเป็นเจ้าของ ฯลฯ นั่นจึงเป็นเหตุให้ คนเรา ก่อสงครามระหว่างกัน

...คนเรามักเข้าใจผิดว่า การบอกความรู้สึกในใจ เช่น อ้างว้าง ปวดร้าว ฯลฯ เป็นการเผยให้คนอื่นมองว่าเราอ่อนแอ เราจึงปกป้องความอ่อนแอด้วยการแสดงออกที่รุนแรง นั่นทำให้ การว่าร้าย ตำหนิกัน มันหลุดปากออกมาได้ง่ายกว่า และ เมื่อมันเอื้อนเอ่ยออกมาแล้ว อีกฝ่ายก็ไม่สามารถล่วงรู้ความต้องการและความรู้สึกของเราได้ มันจะเหลือก็แต่การสร้างบาดแผลและรอยร้าวให้แก่กันเท่านั้นเอง

...เสียงถูกนำมาเล่นในอีกหลายๆฉาก ฉากหนึ่งที่ดีที่สุดคือเสียงของป้าที่นอนบนเตียง เป็นฉากที่ดูแล้วเงียบจับใจแต่มิอาจทำให้คนดูละสายตาไปจากจอได้

ภาพ

...ภาพของเขาและเธอ ที่เดินเคียงคู่กันในสวนงดงามดังภาพวาด

...ภาพของเขาและเธอ ในร้านอาหารที่เร่าร้อนด้วยไฟแห่งรักและปรารถนา

...ภาพของเธอและสามีในห้องอาหารที่มีเพียงโต๊ะอาหารกั้นกลางคน 2 คน แต่ดูเหมือนทั้งคู่อย่างห่างกันไกลเกินกว่าจะได้ยินเสียงของกันและกัน

...ภาพของห้องสีขาวที่ข้าวของวางอย่างเป็นระเบียบ กลับไม่ได้ให้ความรู้สึกสะอาดน่าอยู่แต่กลับดูอ้างว้างเงียบเหงา

....ไม่เพียงแค่เสียงที่หนังเล่นกับการสื่อสารออกมา ภาพของหนังก็งดงามไม่แพ้กัน หนังใช้ภาษาภาพถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้ดีมาก ยอดเยี่ยมตั้งแต่การจัดรายละเอียดหรือตำแหน่งของภาพ เช่น ฉากที่เธอและสามีนั่งบนโต๊ะอาหารที่แสดงถึงความเหินห่างเย็นชาออกมาชัดเจน ลักษณะของภาพที่ถ่ายออกมาให้เราได้เห็น หนังพูดถึง illusion ให้เราได้ยินอยู่ มันหมายถึง ภาพลวงที่บิดเบือนจากความจริง คำว่าภาพลวงบางครั้งมันเกิดจากการที่ภาพนั้นถูกบิดเบือน เช่น ภาพที่หนังถ่ายให้เห็นตัวละครแล้วกล้องค่อยๆเคลื่อนไปถ่ายผ่านแก้วน้ำเราก็จะเห็นภาพของตัวละครนั้นดูเบลอไป หรือ ภาพไม่ได้บิดเบือนแต่การรับรู้ ( perception ) ของเราเองที่บิดเบือน ฉากการล่วงล้ำในร้านอาหารเป็นฉากอีโรติคที่มีเสื้อผ้ามากชิ้นที่สุด แต่เร่าร้อนวาบหวามสวยงาม เป็นฉากที่ Meg ryan ใน When harry met Sally ต้องกลายเป็นเด็กๆ เมื่อ orgasm ในร้านอาหารของ Yes เป็นภาพที่งดงามรัญจวนใจอย่างมีศิลปะ

...หรือปีนี้จะเป็นปีของ Joan allen สองเรื่องติดกันแล้วที่ตัวละครที่เธอเล่นเป็นศูนย์กลางของหนัง และ เธอก็ถ่ายทอดพลังกับเสน่ห์ของอิสตรีออกมาได้อย่างน่าชื่นชม ใน The Upside of Anger เธออาจดูหงุดหงิดเกรี้ยวกราดราวกินยาผิดขนาน แต่ใน Yes เธอกลับดูเก็บกดแต่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ทางเพศที่ล้นทะลักออกมา นิยามที่พบคิดออกขณะดูสำหรับเธอคือ ดูดีและมี passion สองเรื่องนี้เป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมและเป็นบทนำที่มีบทแข็งแรงร่วมกับการแสดงที่แข็งแรง ตัวละครที่เหลือก็ล้วนประกบเธอได้อย่างเหมาะสมเข้าคู่กัน แม้ว่าตัวละครของเธอจะเป็นศูนย์กลางและมีการแสดงที่ดึงดูดใจอย่างเหลือเชื่อแต่ตัวละครที่สำคัญที่สุด ที่สรุปเรื่องราวของ Yes ได้ชัดเจนคือ ตัวละคร แม่บ้านคนทำความสะอาด

...หนังทั้งเรื่องมีเพียงตัวละครอาชีพนี้เท่านั้น ที่หันหน้ามามองคนดู ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้านคนไหนก็ตามสังเกตได้ว่าก่อนจะจบฉากนั้นไป จะหันหน้ามาสบตากับคนดู และ คนที่สำคัญที่สุดคือคนทำความสะอาดประจำบ้าน ที่ต้องดูแลจัดการสิ่งสกปรกของตัวบ้าน สิ่งสกปรกที่เป็นวัตถุอันเป็นผลพวงมาจากรอยเปื้อนของจิตใจ เธอเป็นเหมือนพิธีกรที่พาคนดูไปพบเรื่องราวของ Yes พร้อมกับออกมาเปิดและปิดหนังด้วย ไดอะล็อคที่สำคัญอย่างยิ่งยวด

... ผู้กำกับ Sally Potter ประมวลเรื่องราวของความรักความปรารถนา การเมือง ความเชื่อและศาสนา ความแตกต่างของชนชั้น มาไว้ในหนังเรื่องเดียวได้อย่างลงตัว แม้จะเป็นเรื่องของความรักแต่หนังสามารถแสดงประเด็นอื่นๆออกมาได้อย่างครบถ้วนไม่ประดักประเดิด เธอผสมผสานตัวอักษรที่เป้นคำพูดบทกวีอันสวยงามกับภาพและเสียงของภาพยนตร์ได้อย่างเหมาะเจาะ แม้บทสนทนาของตัวละครจะพูดออกมาเป็นบทกลอนแต่มันก็ร่วมสมัยและไม่ทำให้คนดูรู้สึกแปลกประหลาดกลับชวนพิศมัยอย่างน่าประหลาดใจ

... ในฉากหนึ่งที่คู่สามี – ภรรยา พูดคุยกันเหมือนกับถึงขีดสุดของความอดทน สามีของเธอกล่าวภาคภูมิใจที่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีและไม่แสดงอารมณ์ เธอหงุดหงิดรำคาญใจที่เขาไม่แสดงอารมณ์ออกมา ต่างฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองทำถูก แต่ในชีวิตคู่เมื่อเกิดปัญหา มันไม่ได้ขึ้นว่าใครถูกหรือผิด มันไม่ได้ขึ้นกับว่าใครวางตัวได้ดีกว่ากัน มันสำคัญที่ว่าทั้งสองฝ่ายจะสื่อสารอย่างไรให้กลับมาเข้าใจกัน การนิ่งเงียบไม่ทะเลาะหรือการเกรี้ยวกราดไม่ได้ให้ผลลัพธ์อะไรที่ดีไปกว่า เป็นการเก็บสะสมบาดแผลของหัวใจ

...เพราะเราไม่พูดกัน มันจึงทำให้เราต้องไกลกันมากขึ้นทุกทีตามกาลเวลา

...เพราะเราไม่เอื้อนเอ่ยเสียงที่ความต้องการที่โหยหาดังก้องในใจ เราจึงได้ยินแต่เสียงที่ว่าร้ายต่อกันตำหนิกันไปมา

...เพราะเราไม่ยอมรับในบาดแผลของความรักและโชคชะตา เราจึงได้แต่กลบเกลื่อนและแสร้งว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นมา

...เราอาจแกล้งลืม เราอาจเดินหนี เราอาจพยายามแก้ไข แต่ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกสิ่งที่เราทำ ทุกสิ่งที่เราพูด เราไม่สามารถทำให้มันหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นได้ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว มันไม่มีวันจางหายไป แม้จะพยายามเพียงใด เพียงแต่มันอาจฝังอยู่ในส่วนที่ลึกที่สุด กลายเป็นสิ่งที่เล็กที่สุด แต่ไม่มี “การไม่มี” ในสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว

.. เปรียบเหมือนหกล้มได้บาดแผล มันก็จะแห้งกรังเป็นแผลเป็น ต่อให้เราลบรอยแผลเป็น มันก็ยังคงเป็นร่องรอยของการลบแผลเป็น ถึงเราจะลบหรือรักษามันอย่างไร มันก็ไม่ใช่ผิวหนังเดิมที่ไม่เคยได้บาดแผลมาก่อน

ดังนั้น ทุกการกระทำและคำพูดของเราล้วนสร้างหลักฐานไว้ในตัวเราและชีวิตคู่เสมอ เมื่อเกิดบาดแผลของความรักแล้วเราทำได้ดีที่สุดคือให้มันเป็นแผลเล็กที่สุด แต่เราไม่สามารถทำให้มันหมดไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราจึงเป็นผู้ที่เลือกได้ว่า จะทิ้งหลักฐานความรักให้หลงเหลือในรูปแบบใด ดังที่แม่บ้านทำความสะอาด หันมาบอกคนดูว่า


That "no" does not exist. There's only "yes"


สิ่งที่ชอบ

1.ภาพ ... ภาพที่ถ่ายทอดออกมาทั้งจากการเลือกวางตำแหน่ง เทคนิคการถ่าย ฯลฯ เป็นเหมือนงานศิลปะที่อยู่บนจอภาพยนตร์ แค่ฉากก็ถ่ายทอดความรู้สึกได้โดยตัวละครไม่ต้องส่งเสียงใดๆออกมา ความเย็นชาที่โต๊ะอาหาร ความต้องการที่ร้านอาหาร ความโรแมนติกที่สวน ฯลฯ ภาพในเรื่องที่เป็นผลงานของ Aleksei Rodionov เป็นผลงานที่ทำให้เขาต้องได้รับคำชื่นชมและเป็นที่จับตามอง

2.เสียง ... เป็นเรื่องที่ผมเห็นว่าหนังใช้ประโยชน์จากเสียงได้คุ้มและน่าชื่นชม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องเทคนิค ที่มี เสียงพูดจากปากและเสียงในใจ หรือจะเป็น ลักษณะ ที่เอื้อนเอ่ยออกมาเป็นภาษากวี หรือจะเป็น เนื้อความ ที่ยามโรแมนติกก็หวานจับใจ เมื่อเร่าร้อนก็ร้อนรุ่ม เมื่อถกปรัชญาก็ลึกซึ้ง ฯลฯ เสียงของหนังเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้สมาธิในการฟัง จึงจะจับเนื้อความทั้งที่ตัวละครพูดและที่ตัวละครไม่พูดออกมา นอกจากเสียงพูดแล้วเสียงดนตรีประกอบของหนังเรื่องนี้ก็ไพเราะเย้ายวนอย่างเหลือหลาย หลังจากผมตกหลุมเสน่ห์ของเส้นเสียงจากดนตรีประกอบของ proof ได้ไม่นาน ไม่น่าเชื่อว่า ผมจะตกหลุมรักดนตรีประกอบอีกครั้งได้เร็วขนาดนี้ โดยเฉพาะ Paru River โดย Philip Glass ที่ละเมียดละไมแฝงรายละเอียดความรู้สึกไว้ในดนตรีเป็นอย่างยิ่ง (คลิกเข้าไปฟังตัวอยางได้ในเว็บของภาพยนตร์เรื่อง Yes)

3. Sally Potter ... ผมชื่นชม Joan allen ผมชื่นชอบตัวละครสาวทำความสะอาดที่เลื้อยมาพูดกับคนดู แต่หากจะมีใครสักคนที่สมควรได้รับคำชมมากที่สุดย่อมต้องเป็น ผู้กำกับ และ คนเขียนบท ซึ่งเป็นคนๆเดียวกันนั่นคือ Sally Potter เธอผสมผสานความสวยงามของตัวอักษรที่เป็นบทกวีมาไว้ในภาพยนตร์ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว กล้าหาญที่จะให้ตัวละครพูดออกมาเป็นภาษากวี เธอฉลาดที่ผสมผสานความเก่าและใหม่ได้อย่างลงตัว

สรุป ... ด้วยความงดงามดังบทกวี จึงทำให้ Yes แตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ Yes เป็นหนังที่เริ่มเรื่องและปิดเรื่องโดยผู้หญิง กำกับและเขียนบทโดยผู้หญิง ตัวละครหลักเป็นผู้หญิง และ หาก Yes เป็นผู้หญิง เธอก็คือผู้หญิงที่ภายนอกดูเงียบเรียบร้อยแต่แฝงด้วยความเร่าร้อนวาบหวามรัญจวนใจ เธอเป็นผู้หญิงช่างคิดแต่ก็มีความรู้สึกล้นเหลือ เธอเป็นผู้หญิงที่ดูเรียบๆแต่ก็มีเสน่ห์ชวนค้นหา Yes เป็นหนังที่สวยงามทั้งภาพและเสียงคนดูต้องใช้สมาธิพอสมควร เพราะในบางช่วงหากไม่ตั้งใจอาจหลุดและตามไม่ทัน โดยเฉพาะตอนที่ตัวละครพูดคุย Yes อาจเป็นหนังที่สนุกสำหรับบางคนและอาจน่าเบื่อมากมายสำหรับบางคน ความสนุกไม่สามารถนำมาเป็นหลักประกันกับการดูหนังเรื่องนี้ เพราะผมเองก็ยอมรับว่าหลายช่วงไม่ได้สนุกกับตัวหนัง แต่หากถามผมว่าคุ้มค่ากับการเสียเงินหรือไม่? คุ้มค่ากับการเสียเวลาไปดูหรือไม่? ผมชอบมันหรือไม่? มันเป็นหนังดีหรือไม่? ผมตอบได้คำเดียวว่า Yes



ความเห็นของคุณมีประโยชน์กับผู้อ่านคนถัดมา คำทักทายของคุณเป็นกำลังใจให้ผู้เขียน คำติชมหรือคำแนะนำของคุณจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพัฒนาหากคุณเข้ามาอ่านครั้งถัดไป

ติดตามบทความใหม่ๆ หรือ บทความน่าสนใจ หรือ เริ่มต้นอ่านBlogนี้มีข้อสงสัย คลิกไปเริ่มต้นที่ --> หน้าแรก


รวบรวมรายชื่อหนังเรื่องเก่าๆที่เคยเขียนไว้แล้วที่ ---> ห้องเก็บหนัง




 

Create Date : 13 พฤศจิกายน 2548
14 comments
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2548 2:02:25 น.
Counter : 2644 Pageviews.

 

มาจ่ายค่าอ่านค่ะ
ดูรูป และอ่านกระโดดๆ
น่าสนใจดี จะไปหามาดู
แล้วกลับมาอ่านวิจารณ์ใหม่

 

โดย: woodchippath 13 พฤศจิกายน 2548 5:30:17 น.  

 

สปอยล์เยอะไปหรือเปล่าคะ
โดยเฉพาะประโยคที่แม่บ้านพูดตอนท้าย
น่าจะให้คนที่ยังไม่ได้ดู ไป "ค้นหา" คำพูดนี้ใ
ความหมายของคำ Yes นี้ในโรงเอง

ดิฉันคิดว่า "คำพูดที่สำคัญมาก"
อีกหลายๆคำพูด คือ คำพูดในครัว คำพูดของผู้คนที่เปรียบเสมือนพลเมืองชั้นสองของอเมริกา
ก่อนที่พระเอกของเรื่องต้องเดินจากมา

อ้อ ไม่แน่ใจว่า จขบ.จะเข้าใจความหมายของ
อัตลักษณ์ (Identity ) เหมือนกับที่ดิฉันเข้าใจหรือเปล่านะคะ เพราะอ่านระหว่างบรรทัดแล้ว ไม่น่าจะเข้าใจตรงกัน

 

โดย: grappa 13 พฤศจิกายน 2548 7:50:27 น.  

 

อยากดูครับ ชอบหนังแนวนี้ ขอบคุณที่แนะนำ

 

โดย: ตี๋น้อย (Zantha ) 13 พฤศจิกายน 2548 8:50:32 น.  

 

ไม่ได้อ่านครับ กลัวสปอยล์

กะว่าจะไปดูวันที่คนมันน้อย ๆ

 

โดย: I will see U in the next life. 13 พฤศจิกายน 2548 13:00:44 น.  

 

grappa ... ขอบคุณครับที่มาทักเรื่อง spoiler ปักป้ายไว้แล้วครับหลังจากที่มาทักไว้ เรื่อง identity หลังไมค์ไปแลกเปลี่ยนความเห็นแล้วนะครับ

 

โดย: "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" 13 พฤศจิกายน 2548 15:36:34 น.  

 

สงสัยจะได้ไปดูหนังเรื่องนี้อาทิตย์หน้าช่วงที่กระแส Harry Potter ฉุดไม่อยู่แน่ ๆ ค่ะ เพราะไม่อยากไปแย่งตั๋ว เบียดเสียดกับผู้คนในโรงหนัง เพราะ Harry ก็คงมีเวลาจะไปดูอีกนาน แต่สำหรับหนังเรื่อง Yes นี้หนังดีหาดูยาก ต้องรีบ ๆ ดู เดี๋ยวออกจากโรงแล้วจะแย่

นี่ก็ยังมีหนังที่อยากดูหลายเรื่องแต่ตามไม่ทันอย่าง Lord of War ไม่รู้อาทิตย์หน้าจะยังมีอยู่รึเปล่า?

 

โดย: Tai-Sarunya IP: 203.107.203.209 13 พฤศจิกายน 2548 16:40:59 น.  

 

ขอแปะโป้งไว้ก่อน
จะมาจ่ายค่าอ่านค่ะ

 

โดย: ภูสุภา IP: 203.188.59.225 13 พฤศจิกายน 2548 21:11:09 น.  

 

อ่าน scan ไว้ก่อนค่ะ ยังไม่แน่ใจว่าจะได้ดูรึเปล่า แต่เท่าที่อ่าน อืม...น่าดูแฮะ

 

โดย: azzurrini 13 พฤศจิกายน 2548 21:20:54 น.  

 

rakke

 

โดย: 13 พฤศจิกายน 2548 IP: 22:28:33 58.10.32.151 น.  

 

เมื่อเช้าที่เห็นไปคอมเม้นท์ก็คลิกกลับมาแล้วแต่ที่หน้าแรกยังไม่เห็นขึ้นบทวิจารณ์หนังเรื่องนี้ค่ะ

แต่พอไปเยี่ยมคุณแกรปป้า เห็นคุณคอมเม้นท์ไว้ก็เลยคลิกมาดูอีกที คราวนี้มีแล้ว


ชอบฉากอีโรติกที่ร้านอาหารเช่นกันค่ะ เร่าร้อนและเร้าใจมากๆ

 

โดย: สาวไกด์ใจซื่อ 14 พฤศจิกายน 2548 19:00:12 น.  

 

เข้ามาจ่ายค่าอ่านค่ะ น่าสนใจมาก แล้วจะตามไปดูเร็วๆนี้ค่ะ ขอบคุณนะคะที่วิจารณ์ให้

 

โดย: mlin IP: 58.10.185.71 15 พฤศจิกายน 2548 10:36:46 น.  

 

YES พูดได้คำเดียวจริงๆค่ะ

 

โดย: quin toki 17 พฤศจิกายน 2548 12:24:14 น.  

 

มีโอกาสไปดูเมื่อคืนวันลอยกระทง ร้องไห้ให้กับสงคราม...ความแตกต่าง...ความรัก...

ปล. จ่ายค่าอ่านแล้วนะคะ

 

โดย: ohhh IP: 221.128.88.91 17 พฤศจิกายน 2548 14:44:37 น.  

 

ป่านนี้คงออกจากโรงไปแล้วมังคะ
อ่านแล้วอยากดูมากๆเลยค่ะ
ถ้าไม่ทัน คงได้รอเก็บตอนเป็นแผ่นออกมา ..เฮ้อ

 

โดย: DeadPoet IP: 203.188.38.220 30 พฤศจิกายน 2548 18:52:03 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


"ผมอยู่ข้างหลังคุณ"
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2548
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
13 พฤศจิกายน 2548
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add "ผมอยู่ข้างหลังคุณ"'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.