www.facebook.com/ibehindyou

ทุก comment ที่คุณให้มา ทำให้เรารู้ว่า เราไม่ได้สนุกกับการเขียน blog แล้วอ่านอยู่คนเดียว

Blog No.6 : Big Brother ผู้หลงรักซิงเกิ้ลเกตเวย์ (1984 ตอน 1)

... จอร์จ ออร์เวลส์ น่าจะได้ชื่อว่าเป็น เจ้าพ่อนิยาย 'แบน' นะครับ Smiley เพราะนิยายของเขาโดนแบนจากรัฐบาลเป็นว่าเล่น เช่น Animal farm โดนแบนในโซเวียตและประเทศคอมมิวนิสต์ , เกาหลีเหนือ ฯลฯ , 1984 โดนแบนในโซเวียตก่อนจะได้พิมพ์ภายหลังเมื่อมีการเรียบเรียงใหม่

หลังจากเคยเขียน
Animal farm + Snowpiercer ลง Filmax   เมื่อ 2 ปีก่อนก็ตั้งใจว่าจะเขียน1984  ผลงานของผู้เขียนคนเดียวกันต่อกันเลย  แต่ที่ไม่เคยได้เขียนซักทีเพราะ 1984 เป็นนิยายที่อ่านยากพอสมควรสำหรับคนรุ่น’ยาวไปไม่อ่าน’ มันเรียกร้องสมาธิสูง อ่านแล้วพักเป็นช่วงๆจนลืมอ่าน แต่หลังจากอ่านจบมันกระตุ้นต่อมอยากเขียนได้ไม่ต่ำกว่า 2-3 บทความ เอาแค่ประเด็น 2+2=5 , กระบวนการปลูกฝังให้รักและศรัทธาโดยกระทรวงแห่งความรัก, ‘ผู้ควบคุมปัจจุบันคือผู้ควบคุมอดีต’, Doublethink และ Newspeak ก็เขียนได้เป็นเดือนๆแล้วนะครับผมว่าSmiley

แต่ที่ผมสนใจมากเป็นอันดับแรกจาก 1984 แล้วขอเขียนถึงก่อนคือเรื่องของ Big Brother ที่จะเชิญผู้สมัครจากทางบ้านมาใช้ชีวิตร่วมกันโดยคนดูจะ... เฮ้ย ไม่ใช่ละครับ Smiley นั่นมันรายการเรียลิตี้ที่ชื่อ Big Brother ซึ่งชื่อรายการ(รวมถึงรูปแบบการสอดส่อง)ก็มาจากตัวละคร Big Brother ใน 1984

แต่ก่อนจะไปถึง Big Brother ผมขอแนะนำให้รู้จัก 1984 คร่าวๆก่อนว่า

พระเอกของเรื่องคือวินสตัน ชายอายุ 39เท่าที่อ่านจินตนาการได้เลยว่า ไม่ใช่คนหล่อไม่เท่ไม่เก่ง เป็นเหมือนข้าราชการประจำที่ไม่มีจุดเด่นให้ใครจำได้ เขาทำงานอยู่ในกระทรวงแห่งความจริงแห่งเมืองโอชันเนีย งานของเขาคือตรวจสอบเอกสารของรัฐในแต่ละวัน แล้วคอยดัดแปลงคำ , ตัวเลข หรือบิดเบือนข้อมูลของรัฐก่อนบันทึกลงเอกสารราชการให้เป็นตามเจตจำนงที่พรรคต้องการ

เขารู้สึกเป็นคนนอกของสังคม เพราะแม้จะพยายามทำตัวให้กลมกลืนกับคนอื่นๆแต่กิจกรรมหลายอย่างของชาวเมืองโอชันเนียทำให้เขารู้สึกแปลกแยก ตัวอย่างเช่น ในแต่ละวันจะมีกิจกรรมที่ผมขอตั้งชื่อว่า‘ 2 นาทีแห่งความเกลียดชัง’ คือ พรรค(ซึ่งเป็นผู้ปกครองเมือง)จะจัดให้คนในเมืองนั่งดูคลิปของชายชื่อโกลด์สไตน์ซึ่งทรยศต่อพรรค เขาเป็นบุคคลที่สนับสนุนให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเต็มที่ แต่เขาถูกรัฐทำให้กลายเป็นปีศาจที่น่าขยะแขยง

ในแต่ละวันเครื่องโทรภาพที่ติดตั้งอยู่ทั่วเมืองรวมถึงในที่ทำงาน จะเปิดคลิปแล้วให้ประชาชนออกมาแสดงความเกลียดโห่ร้อง ประมาณว่าให้ทุกคนระเบิดความขยะแขยงใส่'บุคคลที่รัฐหล่อหลอมให้เกลียด'ได้ตามที่ตัวเองต้องการ แล้วเมื่อวิดิโอจบลง ก็จะปิดด้วยภาพของ Big Brother  เมื่อนั้นทุกคนก็จะสวดร้องด้วยน้ำเสียงของความศรัทธา

แต่วินสตั้น ไม่เป็นเช่นนั้น

หลักการที่พรรคกำหนดมาแต่ละอย่างทำให้เขารู้สึกขัดแย้งมากเอาแค่ค่านิยมของพรรคที่ติดทั่วเมืองว่า - สงครามคือสันติภาพ เสรีภาพคือความเป็นทาส อวิชชาคือพลัง – มันก็ขัดกับสามัญสำนึกของเขาแล้ว

แต่ถึงจะรู้สึกแปลกแยกอย่างไรก็ไม่สามารถแสดงออกได้เพราะสิ่งที่ผู้ปกครองเมืองโอชันเนียให้ความสำคัญที่สุดคือประชาชนต้องคิดเหมือนกัน, รักและศรัทธาเหมือนกัน กระทั่งเกลียดก็ต้องเกลียดเหมือนกัน

ดังนั้นอย่าว่าแค่อยากประพฤติตนแตกต่างจากชาวบ้านเลยครับแค่คิดต่างก็ถือเป็นความผิดแล้ว เพราะ
ในโอชันเนียจะมี ‘ตำรวจความคิด’ ทำหน้าที่ตรวจจับความคิดที่ผิดแผกจากแนวคิดที่พรรคกำหนด และไม่ใช่แค่มีตำรวจที่เดินสอดส่อง ทั่วเมืองยังมีป้ายของชายวัยกลางคนมีหนวดพร้อมตัวหนังสือติดไว้ชัดเจนว่า

‘Big Brother กำลังจับตาดูคุณ’

มันไม่ใช่เป็นประโยคขู่แต่มันคือการจับตามองอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ เพราะทั้งเมืองจะมีอุปกรณ์ที่เรียกว่าโทรภาพ ซึ่งเป็นทั้งเครื่องส่งสัญญาณผ่านจอโทรทัศน์ คอยถ่ายทอดข่าวสารจากรัฐให้ประชาชนติดตาม ส่วนใหญ่ก็จะเป็นโฆษณาชวนเชื่อของพรรคสลับกับกิจกรรมชวนคนให้มาเกลียดคนคิดต่าง

ที่แสบมากคือไอ้เครื่องนี้ มันสามารถหรี่เสียงได้แต่ไม่สามารถปิดให้เงียบ แปลว่าประชาชนต้องทนฟังแม้จะไม่อยากฟังSmiley

และคุณสมบัติอีกอย่างของโทรภาพคือเป็นเครื่องรับ ทำหน้าที่ดักฟัง ดักจับความคิดของประชาชน ตามที่วินสตันบรรยายว่า

“คุณต้องดำเนินชีวิตโดยมีนิสัยเป็นสัญชาติญาณว่ามีคนได้ยินเสียงทุกเสียงที่ทำความเคลื่อนไหวทุกอย่างของคุณจะถูกจับตามองดังนั้น”

เรียกได้ว่ามีกล้องจับตามองทุกซอกมุมตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงเหมือนอยู่ในรายการเกมโชว์ บิ๊กบราเธอร์

ดังนั้นถึงวินสตันจะพบ ความไม่ชอบมาพากลที่รัฐบิดเบือนความจริงแก่ประชาชน ,

เกลียดชัง
Big Brother,

ขยะแขยงพฤติกรรมคนในสังคม ,

รังเกียจการปลูกฝังให้เด็กสนุกกับการฆ่าคนคิดต่าง(อาชญากรความคิด),

รังเกียจการสนับสนุนให้เด็กทำร้ายคนที่แข็งข้อต่อรัฐ ,

รังเกียจกิจกรรมการแขวนคอคนขบถต่อรัฐให้เป็นความบันเทิงอย่างหนึ่ง, 

อึดอัดกับชีวิตที่ไร้เสรีภาพซึ่งไม่ใช่แค่แนวคิดทางการเมือง แต่ยังรวมถึงเซ็กส์ , ความรัก , การใช้ชีวิต ฯลฯ

และอึดอัดกับการที่ไม่สามารถคิดขัดแย้งกับสิ่งที่รัฐบอกว่า
‘ถูก’

แต่วินสตันก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะแม้จะเขียนสาปแช่งลงกระดาษก็ยังกลัวว่าจะถูกจับได้

แม้แต่จะ’คิด’ก็ยังกลัวว่าจะถูกจับได้เช่นกัน

สังคมที่ผู้คนแบบวินสตันใช้ชีวิตด้วยความกลัวจึงกลายเป็นสังคมที่สงบและเป็นระเบียบอย่างมากSmiley

*****


... ชะตากรรมของ วินสตันชายที่เริ่มคิดต่างจะเป็นอย่างไร
? ไว้มีโอกาสเขียนถึง 1984 ต่อบล็อกหน้าครับแต่จะขอเขียนในส่วนที่ผมสนใจมากคือแนวคิด ‘Big Brother กำลังจับตาดูคุณ’

ในนิยายบรรยายไว้ว่า “ไม่มีใครเคยเห็น Big Brotherตัวจริง เขาคือใบหน้าในใบประกาศ คือเสียงในโทรภาพ คือหน้ากากที่พรรคเลือกแสดงต่อโลก

หน้าที่ของเขาคือประพฤติตนเสมือนหนึ่งศูนย์รวมแห่งความรัก ความกลัว และ ความเคารพยำเกรง”

การจับตาดูประชาชนของ Big brother ผ่านเครื่องโทรภาพ ทำให้ผมเห็นว่ามันมีหน้าที่สำคัญสามอย่าง

(1) ทำลายเส้นแบ่งของความเป็นส่วนตัวและความเป็นสาธารณะ

(2) สอดส่อง ...ความเป็นไปของประชาชน

(2) คัดกรอง ...สิ่งที่ให้ประชาชนเสพ

ที่น่าสนใจคืเพราะอะไรประชาชนส่วนใหญ่ของโอชันเนีย จึงไม่ตะขิดตะขวงต่อการมี Big Brother

โอเค เราเข้าใจว่าบางคนยินยอมเพราะ 'กลัว' เช่นพระเอกของเรื่องSmiley

แต่คนจำนวนมากในโอชันเนียไม่ได้ยอมเพราะกลัวแต่ยอมโดยไม่ตะขิดตะขวงที่รัฐจะรู้เรื่องส่วนตัว ยอมเพราะยินดีที่จะให้มีการสอดส่องและคัดกรอง

พวกเขาเชื่อจริงๆว่า การที่รัฐมีอำนาจทั้งหมดนี้จะทำให้สังคมของตัวเองมั่นคงทำให้พวกเขาปลอดภัย

พวกเขาไม่รู้สึกอายที่จะถูกล้วงเรื่องส่วนตัว เพราะพวกเขาคิดว่าเรื่องส่วนตัวนั้นไม่สำคัญเท่าความมั่นคงปลอดภัยของชาติ

พวกเขาเชื่อมั่นให้รัฐคัดกรองข้อมูลให้ เพราะมั่นใจว่ารัฐจะเลือกสิ่งดีๆมากกว่าที่ตัวเองเลือกได้

พวกเขาไม่ได้รู้สึกถึงการถูกลิดรอนเสรีภาพ เพราะพวกเขาไม่ได้คิดว่าเสรีภาพนั้นมีความสำคัญเท่าความมั่นคงปลอดภัยของชาติ

(มันทำให้ผมคิดถึงเหล่าตัวละครทาสใน 12 Years A slave เมื่อทาสที่ใช้ชีวิตกับนายทาสใจดีแบบพี่เบเนดิคต์ พวกเขาก็หลงลืมรสชาติของ 'เสรีภาพ' แล้วคิดว่าอยู่อย่างทาสนี้ไปเรื่อยๆก็สบายดีเหมือนกัน มันจึงทำให้ความกดขี่กลายเป็นความชอบธรรมในบางสังคม)

ซึ่งผมคิดว่า Mindset แบบประชาชนในโอชันเนียที่ยินดีให้มีการสอดส่องและควบคุมไม่ได้มีแค่นิยาย เพราะธรรมชาติของมนุษย์เราให้น้ำหนักกับแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน ตามยีนส์ที่กำหนดมาและตามสิ่งแวดล้อมที่เราเติบโต

บางคนชอบเปิดเผย บางคนมีความเป็นส่วนตัวมาก

บางคนชอบมีอิสระแล้วทำอะไรด้วยตัวเอง บางคนชอบให้มีคนมากำหนดให้

บางคนให้น้ำหนักของเสรีภาพมากในการดำรงชีวิต บางคนยินยอมให้มีเสรีภาพน้อยแลกกับความมั่นคง

เราคงไม่สามารถบังคับคนทั้งโลกให้คุณค่าได้เท่าเทียมกัน แต่เมื่อสังคมคือการใช้ชีวิตร่วมกัน ในแต่ละสังคม สมาชิกจึงต้องมีการตกลงร่วมกันว่า เราจะหาจุดสมดุลอย่างไร

บางสังคม ประชาชนจึงมีเสรีภาพมาก และ บางสังคม ประชาชนจึงยินดีให้มี Big Brother

แต่ประเด็นคือ ปรากฎการณ์พร้อมใจรัก Big Brother ใน 1984 ไม่ได้เกิดจากการตกลงหรือเจรจาร่วมกันของคนในเมืองแล้วยินยอมให้มี Big Brother แต่พวกเขาไม่มีโอกาสเลือก และพวกเขาก็ไม่เคยรู้ด้วยว่าตัวเองมีตัวเลือก

เพราะพรรคใช้สื่อในมือกล่อมประชาชนตั้งแต่แรกเกิด คล้ายกับการทำหมันเสรีภาพตั้งแต่เล็ก กำหนดให้แล้วว่าต้องเลือกอย่างไร  แถมยังกำหนดบทลงโทษอันรุนแรงสำหรับคนคิดต่างไว้ด้วยอีกต่างหาก 

สื่อที่ Big Brother จัดหาให้ก็มีเพียงเป้าหมายเดียวคือให้ เชื่อมั่นว่ารัฐทำสิ่งดีงามแล้วทำตามที่รัฐบอกก็เพียงพอ

*****


...  ถ้า Big Brother มีอยู่จริงในโลกความเป็นจริง ในยุคสมัยนี้ บทบาทของโทรภาพของ Big Brother ที่น่าจะถูกต่อต้านมากที่สุดจากสามหน้าที่หลักข้างต้นคือ การสอดส่อง

เพราะคนรุ่นใหม่ถึงจะรักในถ่ายทอดชีวิตตัวเอง ป่าวประกาศเรื่องส่วนตัวให้โลกรู้ผ่านโซเชียลมีเดีย แต่พวกเขาก็ไม่ได้ยินดีกับการถูกสอดส่องเลย 

เราเปิดเผยเรื่องส่วนตัว กับการที่มีคนมาสอดส่องเรื่องส่วนตัว มันเป็นคนละเรื่องกัน

กรณีแรกคือ การที่มนุษย์มีอำนาจสูงสุดในการเลือกว่าจะเปิดเผยอะไรแล้วจะปกปิดอะไร  

กรณีหลังคือ การที่มนุษย์ไม่ได้มีอำนาจนั้นแต่รัฐมีอำนาจมากกว่า

แต่กระนั้นก็ดี ถึงมีเสียงต้านในการถูกสอดส่องโดยรัฐ ก็มักจะมีเสียงจากประชาชนฝั่งที่ยินดีให้รัฐสอดส่องถามออกมาว่า "ไม่ได้ทำผิด จะกลัวอะไร" ซึ่งผมคิดว่าเป็นคำถามสุดแคลสสิคเสมอ เมื่อกระบวนการเซ็นเซอร์หรือสอดส่องเกิดขึ้น

ถ้าลองไปถามว่า "ไม่ได้ทำผิด จะกลัวอะไร" ต่อหน้าวินสตันพระเอกใน 1984 อาจมีโดนต่อยกลับนะครับ Smiley

วินสตันมั่นใจว่าเขาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ไม่ผิดศีลธรรม ไม่ผิดทำนองคลองธรรม ไม่ผิดกฎหมายส่วนใหญ่ในโลกใบนี้ แต่เขากลับโดนจับแล้วทรมานปางตาย เพราะสิ่งที่เขาทำคือ 'ผิด' จากกฎที่พรรคและ Big Brother แห่งเมืองโอชันเนียตั้งไว้เท่านั้นเอง 

และไม่ใช่แค่นั้น แต่ยังมีสิทธิถูกยัดเยียด 'ความผิด' เหมือนผู้คิดต่างคนก่อนๆโดนเล่นงาน ซึ่งก็ไม่สามารถจะแก้ตัวอะไรได้ เพราะอำนาจในการเผยแพร่ข้อมูลอยู่ในมือ Big Brother

"ไม่ได้ทำผิด จะกลัวอะไร" จึงเป็นคำถามที่ผู้ถามยังไม่ประสบความเดือดร้อนด้วยตัวเอง ยังไม่เห็นพลังอำนาจของการเข้าถึงข้อมูล ยังมองไม่เห็นภาพรวมขนาดใหญ่ว่าหากผู้มีข้อมูลส่วนตัวของเราไปจะทำอะไรเราได้บ้าง

และอยู่ภายใต้ความเชื่อว่าถ้าข้อมูลส่วนตัวอยู่ในมือของคนดีๆตัวเขาคงไม่เดือดร้อน (ทั้งที่พวกเขาไม่มีวันรู้หรอกว่า คนที่จะได้ข้อมูลของเราจะดีจริงหรือไม่ แล้วต่อให้ดีจริงก็อย่าลืมว่าคนดีก็เปลี่ยนเป็นไม่ดีในบางสถานการณ์ได้เสมอ)


คำว่า Information is Power ที่ใช้ในโลกยุคใหม่จึงดูจะเชยไปเลยเพราะ Big Brother นี่แหละทำให้เห็นตั้งแต่หลายปีก่อนแล้วว่า เขาคือตัวอย่างของผู้มีอำนาจจากข้อมูลอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกข้อมูลให้ประชาชนเสพ , คัดกรองข้อมูลที่ประชาชนคิด หรือกระทั่งแก้ไขข้อมูลประวัติศาสตร์ให้เป็นอย่างที่ตัวเองต้องการ

*****


...  ตอนผมอ่าน
1984 อาทิตย์ก่อน (ที่เคยตั้งสเตตัสว่าจะเขียนถึง) ผมอ่านไปยังคิดอยู่เลยว่าถ้า Big Brother กับตำรวจความคิดต้องมาทำงานในปี 2015 น่าจะทำงานหนัก 

เพราะคนรุ่นนี้มีวิธีสื่อสารได้ล้ำกว่าแต่ก่อนมาก พวกเราสามารถส่งไลน์ , ส่งเมลล์ , ส่งอินบ็อก ฯลฯ ซึ่งเครื่องโทรภาพคงไม่สามารถตรวจจับได้หมดหรือเพียงแค่แอบหลบมุมเอานิ้วจิ้มมือถือเพื่อส่งข้อความก็น่าจะพอหลอกเครื่องโทรภาพได้

จนกระทั่งกระแส Single Gateway มาถึง ผมได้แต่ตบเข่าป้าดใหญ่ว่า ถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆ Big Brother กับตำรวจความคิดแห่งยุค1984 คงไม่ต้องกังวลกับการทำงานแล้ว Smiley พวกเขาน่าจะรัก Single Gateway เอามากๆ

เพราะในปี 1984 พวกเขาต้องหาทางทำลายความเป็นส่วนตัวของประชาชนด้วยการสอดส่อง แล้วพวกเขาสามารถปกครองประชาชนด้วยการนำเสนอข้อมูลด้านเดียวกล่อมประชาชนตลอดเวลา

ในขณะที่ปี 2015 คือยุคสมัยของ Big Data (ข้อมูลมากมายมหาศาลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ต่ำกว่า 
2.5 exabytes ถูกผลิตขึ้นในแต่ละวันรอบตัวเรา) ประชาชนช่วยทำลายเส้นแบ่งความเป็นส่วนตัวกับสาธารณะให้เอง ประชาชนมอบหลักฐานที่รัฐต้องการให้โดยพวกเขาไม่เคยรู้ตัว


เรื่องที่เคยอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวเช่น รูปก๋วยเตี๋ยวที่กินตอนเย็น , บทสนทนาที่ทะเลาะกับแฟน , คลิปลูกเดินเล่นหน้าบ้าน ,ไดอารี่ชีวิตของแมวที่ไม่ยอมกินข้าว ฯลฯ ก็กลายเป็นเรื่องสาธารณะให้เฟรนด์รับรู้ 

ทัศนคติหรือการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ก็กลายเป็น Digital footprint เช่น เคยใช้ agoda จองโรงแรมไหนไว้เมื่อวันหยุด , เคยกดไลค์เพจไหนในเฟซบุ้ค , เคยกูเกิ้ลหาข้อมูลอะไร ฯลฯ ทุกอย่างสามารถแกะรอยแล้วดึงออกมาได้

Big Brotherกับตำรวจความคิด จึงแทบไม่ต้องล้วงหาข้อมูลมาก แค่นั่งดักจับข้อมูลของประชาชนก็พอจะรู้ความเป็นไปของพวกเขาแล้ว  การมี single gateway ก็ยิ่งช่วยให้พวกเขาสบาย เพราะข้อมูลทั้งหลายจะเทอยู่ในท่อเดียวกัน พวกเขาแค่นั่งอยู่ปลายท่อ รอข้อมูลไหลมาแล้วก็นั่งกรองเฉพาะสิ่งที่อยากได้

ซึ่งจะว่าไปแล้วด้วย Mindset ของการอยากให้มี Single gateway เองก็สอดคล้องกับ Mindset แบบ Big brother เอามากๆครับ

คือนอกจากจะเป็นเหตุผลของความมั่นคงที่ไม่ให้น้ำหนักกับสิทธิส่วนบุคคลเท่าไหร่นัก เป็นวิธีคิดที่ต้องการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จ วิธีคิดของการอยากให้มี Single Gateway มันก็เป็น Mindset ในลักษณะผู้ใหญ่ปกครองเด็ก คือเป็นผู้คัดกรอง , เป็นผู้เลือกสิ่งที่คิดว่าเหมาะสมให้กับคนใต้ปกครองรับรู้

และต่อให้มีเหตุผลดีงามแค่ไหนก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าระบบการขนส่งข้อมูลในสังคมเป็นแบบ Single Gateway 
มันเอื้อต่อการที่รัฐหรือผู้ปกครองสามารถทำอะไรก็ได้ที่อยากทำกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ใต้ปกครอง หากคิดอยากจะล้วงข้อมูลหรือสอดส่องก็ทำได้โดยเราไม่มีสิทธิป้องกัน แล้วหากคิดอยากจะปลูกฝังหรือล้างสมอง เราก็ไม่มีวันจะรู้ตัว  

ดังนั้นต่อให้ Single Gateway จะล่มไปแต่ตราบใด 'วิธีคิด' แบบนี้ยังดำรงอยู่แล้วผู้ใต้ปกครองยอมรับได้ อีกไม่นานก็จะมีโครงการใหม่ๆภายใต้แนวคิดนี้กำเนิดออกมา แล้วถ้าประจวบเหมาะกับ  ‘Big Brother และ ตำรวจความคิด’ เดินทางมาถึงปี 2015 แล้วมีเจตจำนงสอดส่อง ควบคุมประชาชน จับคนเห็นต่าง เผยแพร่หลักการของตัวเองฝ่ายเดียว  

เราคงเห็น ‘Big Brother และ ตำรวจความคิด’ ลูบปากพลางคิดว่า หวานหมู แน่นอน Smiley

***
***

หมายเหตุ : ภาพส่วนใหญ่มาจากหนังเรื่อง 1984 และนิยายเรื่องนี้กำลังจะถูกสร้างเป็นหนังเร็วๆนี้โดย พอล กรีนกราส 

โคว้ตที่ยกมา นำมาจากในนิยายฉบับแปลไทย ตามปกสีส้ม (รูปปกจากเว็บ readery.com)

ลิสต์รายชื่อนิยาย'แบน' ที่โดนแบนจากรัฐบาลประเทศต่างๆ 
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_books_banned_by_governments




Create Date : 01 ตุลาคม 2558
Last Update : 3 ตุลาคม 2558 9:46:25 น. 3 comments
Counter : 2554 Pageviews.

 
เนื้อหาก็น่าถูกแบนอยู่นะคะ น่าอ่านมาก แต่ถ้าหนามาก อาจจะรอดูหนัง เพราะหนังสือท่าทางจะเรียกร้องสมาธิสูงอย่างที่ว่า .. เอ่ยถึงหนัง อ่านรีวิวนี้แล้วคิดว่า 12 Years A slave น่าจะเป็นหนังดีที่น่าดู เป็นหนังที่ลิตท์ไว้ว่าอยากดูมานานแล้วแต่ยังไม่ได้ดูเสียที และที่เอ่ยถึง Snowpiercer ชื่อเหมือนหนัง Snowpiercer ของเกาหลีเป๊ะเลยค่ะ แต่คิดว่าน่าจะเป็นคนละเรื่องกัน ..


โดย: prysang วันที่: 2 ตุลาคม 2558 เวลา:22:28:56 น.  

 
น่าจะ Snowpiercer เดียวกันครับ

เพราะเรื่องนี้มีนักแสดงเกาหลีร่วมด้วยกับนักแสดงฮอลลีวูด เหมาะแก่การดูคู่กับอ่านนิยาย Animal Farm ครับ เพราะมันพูดถึงประเด็นคมๆว่าด้วย 'การปฏิวัติ'เหมือนๆกัน ต่างกันแค่เรื่องหนึ่งเกิดบนรถไฟ อีกเรื่องเกิดในฟาร์มที่เหล่าสัตว์ทั้งหลายต้องการเปลี่ยนผู้นำ


โดย: "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" วันที่: 3 ตุลาคม 2558 เวลา:9:57:20 น.  

 
ถ้าทำเป็นหนัง จะเข้าฉายในไทยได้ไม๊ :)


โดย: Gonz IP: 1.10.254.9 วันที่: 5 ตุลาคม 2558 เวลา:10:00:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

"ผมอยู่ข้างหลังคุณ"
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2558
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
1 ตุลาคม 2558
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add "ผมอยู่ข้างหลังคุณ"'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.