Group Blog
 
 
เมษายน 2550
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
7 เมษายน 2550
 
All Blogs
 
น้ำ

น้ำ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เป็นจำนวนมหาศาลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังเป็นสิ่งสำคัญที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลก ทั้งประเทศอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ปริมาณที่ใช้กันในแต่ละประเทศ สามารถพิจารณาถึงการนำมาใช้ประโยชน์ได้ คือ ในการใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคจะมีปริมาณเพียงร้อยละ ๑๐ ของทรัพยากรน้ำที่ใช้ทั้งหมด และใช้เพื่อการอุตสาหกรรมประมาณร้อยละ ๒๐ และที่เหลืออีกร้อยละ ๗๐ ประเทศในโลกที่สองและโลกที่สามจำเป็นต้องใช้เพื่อการเกษตร (www.oecd.org/dataoecd/26/5/35785565.pdf)

ในปี พ.ศ.๒๕๔๖ องค์การสหประชาชาติได้แจ้งเตือนว่าอีก ๓๐ ปีนับต่อจากนี้ โลกจะประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ.๒๕๕๘ อาหารจะเริ่มไม่เพียงพอในการเลี้ยงพลโลกทั้งหมด รวมทั้งส่วนแบ่งน้ำที่แต่ละคนจะได้รับจะน้อยลงกว่าในปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ในโลกจึงจำเป็นจะต้องตระหนักถึงภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้นนี้ (//news.bbc.co.uk/2/hi/science/nature/2818615.stm) และคาดว่าอนาคตในปี พ.ศ. ๒๕๙๓ ประชากรจะเพิ่มขึ้นเป็น ๙,๐๐๐ ล้านคน อันจะทำให้การใช้น้ำของชาวโลก ๑,๒๐๐ ล้านคน จะไม่สามารถหาน้ำดื่มที่สะอาดได้ และอีกประมาณ ๒,๕๐๐ ล้านคน จะไม่มีระบบสุขาภิบาลที่ดี การกำจัดของเสียไม่เหมาะสมและยังคาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิต ๕ ล้านคนต่อปี จากโรคที่มีสาเหตุมาจากการใช้น้ำ
(//news.nationalgeographic.com/news/2005/01/0111_041105_maude_barlow.html)

จากเหตุผลนี้เองจึงได้มีการจัดตั้งองค์การน้ำแห่งสหประชาชาติขึ้น เพื่อสนับสนุนประเทศสมาชิกให้บรรลุข้อตกลงระหว่างกันในการแบ่งและจัดสรรทรัพยากรน้ำ (www.unwater.org/about.html) อันเป็นดัชนีที่ชัดเจนถึงความจำเป็นที่โลกจะต้องกำหนดมาตรการและควบคุมการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับการสร้างระบบประนีประนอมระหว่างชุมชนและระหว่างรัฐชาติ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งอย่างรุนแรงจากการแย่งชิงน้ำในอนาคต

ทรัพยากรน้ำและความขัดแย้งระหว่างสังคมและรัฐชาติ

แม้ว่าสงครามน้ำจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในประวัติศาสตร์ก็ตาม แต่แหล่งน้ำมีความเชื่อมโยงกับความขัดแย้งระหว่างสังคมต่าง ๆ ในหลายระดับด้วยกัน ดังเช่น
(www.oecd.org/dataoecd/26/5/35785565.pdf)

๑. ในระดับท้องถิ่น การแย่งชิงแหล่งน้ำแต่ละแห่ง หรือความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งต่อต้านการก่อสร้างเขื่อน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ต่างๆ ของโลก

๒. ในระดับประเทศ ความแตกต่างระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ซึ่งมีจุดมุ่งหมายแตกต่างกัน เช่น เกษตรกร อุตสาหกร นักท่องเที่ยว หรือนักสิ่งแวดล้อมนิยม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการน้ำ ดังเช่น การแย่งชิงแหล่งน้ำดิบสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ในภาคเศรษฐกิจ ย่อมมีผลประโยชน์ขัดแย้งกับภาคเกษตรกรรมโดยตรง

๓. ในระดับนานาชาติ ประเทศที่อยู่ต้นน้ำและปลายน้ำมีผลประโยชน์ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ดังเช่นที่ประเทศจีนสร้างเขื่อนปิดกั้นทางเดินของน้ำในแม่น้ำโขง ย่อมส่งกระทบโดยตรงต่อไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา

๔. ในระดับโลก ทรัพยากรน้ำมีความสำคัญโดยตรงต่อตลาดอาหารของโลก

ความสำคัญของทรัพยากรน้ำในแต่ละระดับ มีปัจจัยสำคัญคือการเข้าถึงแหล่งน้ำ ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์แห่งชาติที่สำคัญของทุกประเทศ และมีความเชื่อมโยงกับการตัดสินใจทางด้านการเมือง สังคมจิตวิทยา เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม อันสามารถนำไปสู่การใช้ความรุนแรงทางด้านการทหารได้โดยตรง ทั้งนี้เนื่องจาก ความขัดแย้งในระดับท้องถิ่นสามารถขยายตัวเป็นการใช้กำลังรบในระดับชาติได้ (Postel & Wolf. 2001;60-65)

ปัญหาของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยทั่วไปเกิดขึ้นเนื่องจากปัจจัยสำคัญ ๓ ประการ ดังต่อไปนี้

๑. แนวโน้มในเชิงลบต่อสถานการณ์น้ำ อันเป็นผลมาจาก
๑.๑ การเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากร
๑.๒ การพัฒนาอย่างรวดเร็วของภาคชนบท
๑.๓ การขาดการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องเหมาะสม
๑.๔ ความล้มเหลวของนโยบายการพัฒนาของรัฐบาล

๒. ปัญหาที่เกิดขึ้นจากทรัพยากรน้ำที่มีอยู่
๒.๑ แหล่งน้ำสะอาดมีไม่เพียงพอ
๒.๒ ประชาชนขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องสุขอนามัย
๒.๓ ขาดการให้บริการด้านอนามัยที่เหมาะสม

๓. ปัญหาทางด้านสังคมจิตวิทยา
๓.๑ ความยากจน
๓.๒ การขาดการศึกษา
๓.๓ ระบบการเมืองไม่แน่นอน
๓.๔ การสู้รบหรือความขัดแย้งต่างๆ

สถานการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในประเทศไทย

ประเทศไทยตั้งอยู่ระหว่างพื้นแผ่นดินอันกว้างใหญ่ของทวีปเอเซียกับพื้นน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิคและมหาสมุทรอินเดีย จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมซึ่งเป็นลมที่พัดเป็นประจำฤดูที่เกิดจากความแตกต่างระหว่างความกดและอุณหภูมิของอากาศที่อยู่เหนือพื้นดินและพื้นน้ำจึงทำให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม เป็นเหตุให้มีฝนตกชุกปริมาณน้ำฝนสูง แม่น้ำต่าง ๆ เกิดขึ้นหลายสายโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักที่สำคัญที่สุด มีพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ ๑๖๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณหนึ่งในสามของพื้นที่ประเทศ (ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ ๕๑๓,๑๑๕ ตารางกิโลเมตร)

ปัญหาน้ำในประเทศไทย

๑. ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทั้งด้านการเกษตรกรรม การอุตสาหกรรมและน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ประเทศไทยมีพื้นที่ลุ่มเพื่อการเก็บกักน้ำหล่อเลี้ยงชุมชนประมาณ ๔๐,๐๐ แห่งทั่วประเทศ แต่จากการตัดไม้ทำลายป่า ทั้งเพื่อการขยายพื้นที่การเกษตรและการค้าไม้ได้ก่อให้เกิดปัญหาแหล่งน้ำที่ลดน้อยลง (www.unesco.org/water/wwap/wwdr2/case_studies/pdf/thailand.pdf)โดยปรากฏข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
๑.๑ น้ำฝนเป็นน้ำที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆ โดยใช้ในภาคเกษตรร้อยละ ๙๓ ใช้ในภาคอุตสาหกรรมร้อยละ ๒.๔ และใช้ในครัวเรือนร้อยละ ๔.๖ ปัจจุบันภาคการเกษตรใช้น้ำอย่างขาดการวางแผนที่ดี มีบางส่วนเท่านั้นที่จัดการใช้น้ำแบบหมุนเวียน หรือมีระบบการใช้น้ำอย่างประหยัด การใช้ระบบชลประทานเข้ามาช่วยในการกักเก็บน้ำจะช่วยภาคเกษตรได้มาก แต่จะต้องมีการลงทุนสูง (กลุ่มคลังสมอง วปอ. ๒๕๔๖:๖๘-๖๙)
๑.๒ ในปัจจุบันต้นน้ำลำธารจะมีน้ำเฉพาะขณะที่มีฝนตกเท่านั้น การดูดซึมมีน้อยมาก การตัดไม้ทำลายป่าเป็นการทำลายระบบการดูดซับน้ำโดยตรง ต้นไม้ไม่สามารถทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้จะตายไป การสร้างฝายน้ำล้นบริเวณซอกเขาจะช่วยให้รักษาน้ำฝนที่ตกลงมาเก็บกักให้เกิดความชุ่มชื้นต่อต้นไม้ได้ และป้องกันมิให้น้ำไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเร็วเกินไป ถ้าสามารถทำให้การไหลของน้ำช้าลงบริเวณต้นน้ำลำธารจะเป็นการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นการช่วยความขาดแคลนน้ำได้โดยวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบสูงจะมีบ่อน้ำขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นบ่อแห้ง เพราะเก็บกักน้ำไม่ได้มีการรั่วซึม และไม่มีน้ำตามธรรมชาติไหลลงมาอย่างเพียงพอ
๑.๓ พื้นที่ลุ่มแถบแม่น้ำหลัก ๒๕ ลุ่มน้ำ แม่น้ำสาขาอีก ๒๕๔ ลุ่มน้ำ และยังมีลำน้ำลำธารเชื่อมต่ออีกเป็นจำนวนมาก มีพื้นที่รับน้ำเกือบทั้งประเทศ ปัจจุบันประสบปัญหาตื้นเขินไม่มีความจุของพื้นที่รับน้ำ เมื่อฝนตกลงมาจะเกิดการไหลบ่าลงสู่ที่ต่ำ เมื่อฝนตกลงมาจะเกิดการไหลบ่าลงสู่ที่ต่ำ ถ้าทำการขุดลอกให้ลำน้ำทั้งหมดมีความลึกและสร้างให้คงสภาพเดิมจะสามารถรับน้ำได้อีกเป็นจำนวนมาก จะช่วยให้เกิดพื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้นและยังเก็บกักน้ำที่จะไหลบ่าลงมาสู่ที่ต่ำ สามารถช่วยลดภาระที่จะทำให้น้ำท่วมได้
๑.๔ บริเวณอิทธิพลของลุ่มแม่น้ำยม เริ่มจากต้นน้ำจากสันปันน้ำและยอดดอยภูลังกา อ.ปง จ.พะเยา น้ำไหลลงใต้จนไปบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ ต.เคยไชย อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ยาว ๗๐๐ กม. มีพื้นที่ลุ่มน้ำ ๒๓,๖๑๖ ตร.กม. และยังมีลุ่มน้ำสาขาอีก ๑๑ ลุ่มน้ำ รวม ๑๑ จังหวัด พื้นที่ลุ่มน้ำที่ได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำ คือ จังหวัดแพร่ ๒๖.๐๒% หรือมีพื้นที่รับน้ำ ๖,๑๔๔.๘๘ ตร.กม. และจังหวัดสุโขทัย ๒๖.๒% หรือมีพื้นที่รับน้ำ ๖,๑๘๗.๓๙ ตร.กม. ปริมาณน้ำฝนที่ตกใน ๒ จังหวัด ๒๙,๓๐๗.๔๖ ล้าน ลบ.ม./ปี จากปริมาณน้ำฝน ดังกล่าว รวมกับปริมาณน้ำฝนที่ไหลมาจากทางเหนือ จึงทำให้เกิดน้ำท่วมทุกปี แต่เมื่อหมดฤดูฝนเข้าหน้าแล้งน้ำจะแห้งมากจนบางแห่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งน้ำแล้งอย่างถาวร เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้ามีเขื่อนบังคับน้ำและมีการปรับปรุงแม่น้ำลำคลองให้สามารถรับน้ำให้มากขึ้น

๒. ปัญหาน้ำท่วมขังในที่ลุ่ม ซึ่งเกิดจากปริมาณน้ำที่ไหลบ่ามาจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ และบริเวณที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุน
๒.๑ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเป็นบริเวณพื้นที่เป็นราบลุ่ม มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางไม่มาก บริเวณนี้ได้รับอิทธิพลจากฝนเฉลี่ยปีละ ๑๑๕ วัน แต่เป็นพื้นที่ที่รับน้ำจากบริเวณภาคเหนือไหลลงสู่ทะเล ถ้าปริมาณน้ำในพื้นที่เป็นฐานรองรับมีน้ำอยู่แล้วจะทำให้เกิดน้ำท่วมทันที สิ่งบอกเหตุว่าจะมีน้ำท่วมมากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำทางเหนือ สิ่งที่จะช่วยให้ปริมาณน้ำลดน้อยลงด้วยอาคารชลประทาน อาจจะเป็นฝายหรือเขื่อนกั้นน้ำ
๒.๒ กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่ออิทธิพลของน้ำท่วม พื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันมีสภาพการทรุดตัวจากการสูบน้ำบาดาลมาใช้มากเกินไป และยังมีเหตุที่ช่วยให้แผ่นดินทรุด จากการขุดลอกร่องน้ำ ประกอบกับในปัจจุบันคูคลองถูกถมเป็นถนนแล้วใช้ระบบท่อน้ำแทน การระบายน้ำออกเป็นไปได้ช้า จากการที่น้ำทะเลหนุนในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน และน้ำเหนือจะไหลมาในเวลาเดียวกัน ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำเหนือและฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ด้วย หากฝนตกหนัก การระบายน้ำไม่ทันน้ำจะเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
๒.๓ การประมาณการน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะปกติของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่ปริมาณน้ำเหนือที่ไหลมาสมทบสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามีการบริหารน้ำทางเหนือให้ทยอยไหลมาตลอดปี โดยผ่านการทำงานของเขื่อน อีกประการหนึ่งคือ อิทธิพลจากน้ำทะเลหนุน น้ำทะเลมีความสูงเฉลี่ยประมาณ ๑.๙๕ ม. ถึง ๒.๒๕ ม. แต่กรุงเทพฯ มีพื้นที่ที่ต่ำสุด ๑.๖๕ ม. เท่านั้น หากน้ำทะเลหนุนน้ำสามารถท่วมได้ การสร้างประตูน้ำกั้นปากแม่น้ำเจ้าพระยาน่าจะเป็นผลดี โดยออกแบบประตูน้ำให้เรือขนาดใหญ่สามารถแล่นผ่านเข้าออกได้

๓. ปัญหาการแทรกตัวของน้ำเค็มในฤดูแล้ง ที่มีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรกรรม และการใช้น้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค
๓.๑ พื้นที่ติดกับทะเล และพื้นที่บริเวณแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเล ประเทศไทยมีพื้นที่ติดทะเลทั้งสองฝั่งมากกว่า ๓,๐๐๐ กม. ผู้ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งทะเลจะไม่ค่อยเดือดร้อนมากมีความเคยชินต่อสภาพน้ำเค็มและน้ำกร่อย การดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจะเป็นผู้ที่อยู่ในบริเวณแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเลปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นช่วงที่น้ำเหนือลดน้อยลงหรือการควบคุมให้น้ำเหนือไหลลงสู่ทางใต้น้อยลง จะทำให้น้ำทะเลไหลเข้ามาแทนที่ บางครั้งไหลลึกเข้าไปในพื้นที่การเกษตร ทำความเสียหายต่อผลไม้บางชนิด ส่วนใหญ่เป็นพืชทางเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน เป็นต้น การใช้เพื่ออุปโภคและบริโภคจะมีผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยริมน้ำ บางครั้งกระทบต่อน้ำใช้ของประปา
๓.๒ การแก้ไขโดยอาคารกำกับน้ำและการคำนวณปริมาณน้ำที่จะใช้ผลักดันไม่ให้น้ำทะเลไหลเข้ามาในแม่น้ำมาก แต่ถ้าบริเวณใดสร้างเขื่อนป้องกันน้ำทะเลได้ก็จะหมดปัญหา จะเห็นว่าปริมาณน้ำจืดและน้ำเค็มมีข้อแตกต่างทางปริมาณ น้ำจืดมีเพียง ๒.๗% เท่านั้น ถ้ามีการปิดกั้นน้ำทะเลไม่ให้เข้ามาสู่น้ำจืดได้ จะถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

๔. ปัญหาน้ำเสียที่เกิดจากชุมชน และน้ำเสียอุตสาหกรรมอันเกิดมาจากการบำบัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำเสียทางเคมีและโลหะหนัก น้ำเสียจากสารพิษ และน้ำเสียเกิดจากน้ำใช้ระบายน้ำร้อน
๔.๑ น้ำเสียที่เกิดจากชุมชน ได้แก่ น้ำเสียเกิดจากที่อยู่อาศัย เป็นน้ำที่เกิดจากซักล้างจากครัวเรือน รวมทั้งสิ่งที่จะเกิดจากเน่าเปื่อยการรักษาคุณภาพของน้ำจะเกิดขึ้นได้จากผู้ใช้มีความรับผิดชอบอย่างไร การรักษาคุณภาพสามารถทำได้ตั้งแต่ครัวเรือน มีการตรวจและแยกของเสียที่จะปนไปกับน้ำก่อนทิ้งสู่แหล่งน้ำสาธารณะ การบำบัดน้ำเสียอาจจะทำขึ้นในระดับชุมชนขนาดเล็กไปสู่ขนาดใหญ่
๔.๒ น้ำเสียที่เกิดจากอุตสาหกรรมเป็นน้ำเสียที่แบ่งออกได้เป็นสองลักษณะ คือ น้ำเสียทางเคมี และโลหะหนัก ส่วนลักษณะที่สองเป็นน้ำเสียของสารพิษ น้ำเสียอุตสาหกรรมเป็นน้ำจืดที่นำไปใช้แล้วเกิดเป็นน้ำเสียแต่ไม่สามารถจะปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติได้จะต้องผ่านกรรมวิธีการบำบัดทางเคมีและฟิสิกส์เสียก่อน เมื่อบำบัดน้ำมีคุณภาพตามข้อกำหนดของกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว กากที่บำบัดซึ่งแยกตัวออกจากน้ำยังต้องดำเนินการปรับเสถียร เพื่อนำไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย จะไม่นำไปทิ้งไว้ในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด
๔.๓ พื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมตามปกติจะมีที่อยู่อาศัยของเจ้าหน้าที่และคนงานอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน จะมีน้ำเสียชุมชนเกิดขึ้นและมีบ่อบำบัดน้ำเสียแยกออกจากน้ำเสียอุตสาหกรรมจะนำน้ำเสียชุมชนไปบำบัดรวมกับน้ำเสียอุตสาหกรรมไม่ได้ เพราะวิธีการบำบัดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง มีนิคมอุตสาหกรรมบางแห่งพยายามบำบัดน้ำเสียรวม ซึ่งปกติการบำบัดน้ำเสียชุมชนจะสามารถลดขั้นตอนการบำบัดได้ สามารถนำน้ำที่บำบัดไปใช้ประโยชน์ได้เป็นน้ำที่มีสารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชอีกด้วย ส่วนน้ำทางอุตสาหกรรมไม่สามารถลดขั้นตอนการบำบัดได้ แม้กระทั่งน้ำที่บำบัดแล้วก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจะต้องตรวจสอบทุกครั้ง น้ำเสียทางอุตสาหกรรมไม่ควรปล่อยลงสู่ทะเล จะทำให้น้ำทะเลเกิดสภาพเปลี่ยนแปลงทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเสียไป
๔.๔ น้ำเสียที่เกิดจากน้ำระบายความร้อนของเครื่องจักรในโรงงานไม่ควรทิ้งลงในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยทันที ควรจะมีบ่อพักอุณหภูมิให้เย็นลงก่อน หรือบางแห่งมีระบบการระบายความร้อน เพื่อนำน้ำกลับมาใช้ได้อีก
๔.๕ น้ำเสียจากสารพิษ เกิดจากยาฆ่าแมลง หรือยาฆ่าหญ้า จะมีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์และสัตว์ เมื่อไหลลงไปตกค้างตามแหล่งน้ำ และมีปริมาณมากกระจายอยู่ในแหล่งน้ำและเคลื่อนต่อไปตามกระแสน้ำจนไปอยู่ในแหล่งรวมน้ำแปรสภาพเป็นสารพิษ ถ้ามนุษย์และสัตว์นำไปใช้อาจเกิดพิษเริ่มจากเล็กน้อยไปสู่ร้ายแรงขึ้นได้ถ้านำไปใช้กับพืชอาจเกิดการเสียหาย
๔.๖ น้ำเสียที่ไม่ทราบแหล่งกำเนิด (No point Source Wastewater) ได้แก่ น้ำฝน และน้ำหลากที่ไหลผ่านและชะล้างความสกปรกต่าง ๆ เช่น กองขยะมูลฝอย แหล่งเก็บสารเคมี ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และคลองระบายน้ำ (www.thaiwater.net)

๕. ปัญหาการใช้น้ำที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน ในพื้นที่เดียวกัน มีการขัดแย้งกับความต้องการใช้น้ำสะอาดในชุมชน
๕.๑ การใช้นำตามปกติจากสภาพการใช้น้ำมีความต้องการหลายลักษณะใช้เพื่อการเกษตรกรรม การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การประมง การใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคในการดำรงชีวิต ปริมาณการใช้ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของชุมชน การใช้น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมเพื่อกระบวนการผลิต การใช้น้ำเพื่อเป็นพลังงานการผลิตกระแสไฟฟ้าจะต้องมีเขื่อนเก็บกักน้ำ การใช้นำเพื่อการคมนาคมและกิจกรรมอื่นๆ อีกมาก
๕.๒ การใช้น้ำที่ผิดปกติ ได้แก่ การนำน้ำไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์เป็นการเฉพาะ เช่น การนำน้ำเค็มผสมน้ำจืด เพื่อให้เกิดน้ำกร่อย ปกติแล้วน้ำเค็มจะดูดซึมเข้าไปในดินได้ง่ายกว่าน้ำจืด จะทำให้พื้นที่บริเวณกักน้ำเกิดเป็นพื้นที่ดินเค็ม ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อพืช ในประเทศไทยเคยคิดจะนำน้ำเค็มมาผสมเพื่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ แต่ได้รับการต่อต้านจากหลายฝ่าย จึงต้องเลิกความคิดนี้ไปในที่สุด
๕.๓ ปัญหาเรื่องความต้องการน้ำสะอาดในชุมชน การทำน้ำสะอาดใช้ในประเทศไทยยังมีปัญหา พื้นที่ของประเทศ ความต้องการของชุมชนต้องการน้ำสะอาดที่ใช้ดื่มได้เลย แต่บางพื้นที่มีน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการชำระล้างร่างกายแต่ใช้ดื่มไม่ได้ ชุมชนที่มีปัญหามาก ได้แก่ ชุมชนที่เปิดให้มีการท่องเที่ยว และเป็นที่พักจะต้องเพิ่มความระมัดระวังว่าน้ำที่ใช้สามารถดื่มได้หรือไม่ ลักษณะเช่นนี้มีผลต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและสังคมนักท่องเที่ยวบางประเทศพยายามให้ข้อมูลกับประชากรของเขา ให้ทราบถึงการใช้น้ำสะอาด
๕.๔ น้ำเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคทางเดินอาหาร ถ้าน้ำไม่สะอาดเพียงพอจะเกิดผลเสียโดยตรงกับผู้บริโภค การผลิตน้ำสะอาดจึงเป็นปัจจัยหลักของทุกประเทศในโลก สหประชาชาติได้เคยออกแถลงว่าประชากร ๑,๒๐๐ ล้าน ดื่มน้ำไม่สะอาดประเทศไทยประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ถ้ามีการสำรวจน่าจะพบจำนวนมากเช่นเดียวกัน ทางภาคเอกชนได้มีการผลิตน้ำสะอาดออกจำหน่ายโดยวิธีการต่างๆ ทางรัฐควรจะกำหนดว่าน้ำที่สะอาดเป็นประโยชน์ ควรจะเป็นน้ำผลิตโดยระบบใด

๖. ปัญหาการจัดการน้ำ ที่ยังไม่สนองความต้องการของผู้ใช้ ไม่มีเอกภาพ ขาดผู้รับผิดชอบและการบริหารจัดการ
๖.๑ ประเทศไทยรู้จักการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการสร้างเหมืองฝ่ายขึ้นมาใช้แล้วกว่า ๗๐๐ ปี โดยเริ่มจากภาคเหนือ สมัยล้านนาเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๓๙ โดยใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นใช้กันในลักษณะฝ่ายน้ำล้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรู้จักการสร้างคูน้ำ คันดินล้อมรอบเมือง โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดหาและควบคุมน้ำใช้ในด้านการเกษตรกรรม สมัยสุโขทัยใช้ที่ราบเชิงเขาบริเวณใกล้แม่น้ำยมสร้างเป็นที่เก็บกับน้ำ มีการสร้างอ่างเก็บน้ำสูงกว่า เมืองสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยพระเจ้าอู่ทอง (พระรามาธิบดีที่ ๑) มีการพัฒนาน้ำรอบเกาะ โดยเชื่อมโยงจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี มีการขุดคลองเพื่อระบายน้ำและใช้ในการคมนาคม ตลอดจนเพื่ออุปโภคบริโภค สมัยรัตนโกสินทร์ได้มามีการพัฒนาลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
๖.๒ การพัฒนาแหล่งน้ำจะต้องมีการดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนา-เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงเป็นการพัฒนาแบบอเนกประสงค์ โดยถือการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรมเป็นหลักและดำเนินการเพื่อกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย ได้แก่ การผลิตพลังงานไฟฟ้า การอุตสาหกรรม การอุปโภคบริโภคการบรรเทาอุทกภัยการคมนาคม และการผลักดันน้ำเค็ม เป็นต้น
๖.๓ มีส่วนราชการที่ได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำถึง ๓๘ หน่วยงาน ใน ๙ กระทรวง มีคณะกรรมการระดับชาติที่เกี่ยวข้อง ๗ คณะ ทำให้การบริหารจัดการไม่เป็นไปอย่างมีเอกภาพ มีความซ้ำซ้อน รวมทั้งองค์กรส่วนท้องถิ่น และประชาชนมิได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ บางครั้งมีการปฏิบัติงานภายในส่วนราชการไม่สอดคล้องกัน มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลตลอดมา เท่าที่ได้ศึกษาการจัดการทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างไม่เป็นเอกภาค
๖.๔ ด้านกฎหมาย ปรากฏว่ายังมีกฎหมายใช้บังคับมีข้อแตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลไปถึงวิธีการปฏิบัติด้วยจึงควรจะปรับปรุงจัดทำกฎหมายและกำหนดกฎระเบียบแนวทางปฏิบัติ หน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจน

สรุป

จากสถานการณ์น้ำในประเทศไทย รวมทั้งปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรน้ำดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในการกำหนดยุทธศาสตร์ ลงมาถึงแผนงาน งาน และโครงการ ในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำนั้น จำเป็นจะต้องพิจารณาทั้งในระดับมหภาค คือการทำความตกลงและการจัดสรรผลประโยชน์เกี่ยวกับน้ำ กับประเทศเพื่อนบ้านที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำความตกลงในการบริหารและการใช้น้ำในแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ และขณะนี้จีนได้พัฒนาการก่อสร้างเขื่อนและการประมงในแม่น้ำโขงเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนในประเทศการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งทางด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการท่องเที่ยว จะต้องมีความสอดคล้องและประสานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างจริงจัง

บรรณานุกรม

กลุ่มคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม. ปัญหาน้ำในประเทศไทย. กรุงเทพ:อัดสำเนา. ๒๕๔๖.

Postel, S.L. & A.T.Wolf. Dehydrating Conflict. Foreign Policy, September/October. 2001.

//www.oecd.org/dataoecd/26/5/35785565.pdf

//www.thaiwater.net

//www.unesco.org/water/wwap/wwdr2/case_studies/pdf/thailand.pdf

//www.unwater.org/about.html

//news.nationalgeographic.com/news/2005/01/0111_041105_maude_barlow.html



Create Date : 07 เมษายน 2550
Last Update : 7 เมษายน 2550 20:43:43 น. 9 comments
Counter : 580 Pageviews.

 
ไม่รู้เรื่องเลยนะ


โดย: คนนามสกุลมนุษย์ IP: 222.123.85.15 วันที่: 28 ธันวาคม 2550 เวลา:18:18:36 น.  

 
เรียนคุณ คนนามสกุลมนุษย์

ขออภัยครับที่ผมเขียนหนังสือให้ท่านอ่านไม่รู้เรื่อง จะพยายามพัฒนาตนเองต่อไปให้เขียนได้ดีกว่านี้ครับ


โดย: อนุชาติ บุนนาค (anuchartbunnag ) วันที่: 29 ธันวาคม 2550 เวลา:16:43:05 น.  

 
ช่วยเขียนเรื่องปัญหาขยะมูลฝอยให้หน่อยได้ไหมครับ
(จะเอาไปทำงาน)


โดย: คนมีสกุล IP: 125.24.38.111 วันที่: 27 มกราคม 2551 เวลา:9:18:28 น.  

 
พูดผิดครับจะบอกว่า
ช่วยเขียนเรื่องลักษณะปัญหาขยะมูลฝอย


โดย: คนมีสกุล IP: 125.24.38.111 วันที่: 27 มกราคม 2551 เวลา:9:19:44 น.  

 
เรียน คุณ "คนมีสกุล"

ผมเขียนเรื่องที่อยากเขียนน่ะครับ ไม่ต้องการให้ใครลอกไปส่งครู เพราะผิดจริยธรรมมาก ซึ่งเรื่องจริยธรรมนี้ คนไทยไม่ค่อยสนใจ ขอให้ได้คะแนนก็พอ ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยดีๆ ในต่างประเทศ เขาไล่ออกครับ เพราะความไม่ซื่อสัตย์เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในอารยะประเทศ


โดย: พ.อ.ดร.อนุชาติฯ (anuchartbunnag ) วันที่: 29 มกราคม 2551 เวลา:13:26:56 น.  

 
ดีค่ะ แต่มันยากปายนิด เยอะปายหน่อย อิอิ
ก้อดีน๊าค๊า เรียนอยู่พอดี แต่ว่านะ ขี้เกลียดอ่านอ่ะ
มันยังม่ายน่าสนจัยเรยล่ะ
โทดนะค่ะ ลองเขียนให้น่าสนใจนิดนึ่งน๊า


โดย: Emo kids IP: 125.26.114.42 วันที่: 3 มิถุนายน 2551 เวลา:20:54:24 น.  

 
ได้ความรู้มากเลยค่ะ ขอขอบคุณ ที่เขียนเรื่องดี ๆ ให้อ่าน ผลกระทบเรื่องน้ำคงยังไม่รุนแรงพอ เราอยู่กันมาสบาย ๆ เลยขาดจิตสำนึกไปหน่อย ถ้าเริ่มสร้างจิตสำนึกให้รักษาคุณภาพน้ำซะตอนนี้ ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย


โดย: nok IP: 210.246.144.163 วันที่: 14 มิถุนายน 2551 เวลา:21:36:21 น.  

 
น่าจะมีภาพประกอบนะค่ะ ถึงจะได้น่าสนใจมากกว่านี้
ส่วนเนื้อหาก็น่าจะเจาะลึกกว่านี้นะค่ะ ปรับปรุงอีกหน่อยนะค่ะ


โดย: หอยจ้อ IP: 61.19.234.84 วันที่: 24 มิถุนายน 2551 เวลา:15:36:36 น.  

 
ขอบคุณมาก ๆ เลยคร้าบ

เอาไปทำงานได้เลยน่ะเนี่ย

ขอบคุณจริง ๆ ครับ



โดย: MamaDonghae IP: 117.47.73.237 วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:17:38:01 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

anuchartbunnag
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add anuchartbunnag's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.