กันยายน 2555

 
 
 
 
 
 
1
2
4
5
6
7
8
9
10
11
13
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
30
 
 
All Blog
บั ต ร ป ล า ห มึ ก ยั ก ษ์ ( O c t o p u s C a r d )


เมื่อไม่กี่วันก่อน โทรทัศน์ช่องเคเบิลของที่นี่นำภาพยนตร์จีนเรื่อง Eye in the Sky กลับมาฉาย เนื้อเรื่องก็สนุกสนานตื่นเต้นตามแนวหนังอาชญากรรมสืบสวนสอบสวนทั่วไป เป็นเรื่องราวของหน่วยงานสืบสวนของกรมตำรวจฮ่องกงหน่วยหนึ่ง ที่ตามล่าหาตัวแก๊งอาชญากรโดยใช้หลักฐานที่มีอยู่น้อยนิด ควานหาตัวผู้ต้องสงสัยจนมั่นใจว่าเป็นคนร้าย จับตัวได้ทีละคนสองคน จนสุดท้ายก็รวบตัวได้หมดทั้งแก๊ง


ประเด็นเล็ก ๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ทำให้ฉันติดใจจนอดไม่ได้ต้องเอามาเขียนถึง คือการที่ทีมตำรวจใช้วิธีการตรวจสอบพฤติกรรมการใช้ บัตรปลาหมึกยักษ์ (Octopus Card) ของผู้ต้องสงสัย จนตามล่าหาตัวคนร้ายได้ในที่สุด


เอ .. บัตรปลาหมึกยักษ์มันคืออะไรหนอ?





ขอบคุณภาพประกอบจาก Octopus Card



บัตรปลาหมึกยักษ์ หรือที่ชาวฮ่องกงเรียกกันว่า ปาดตาดท้ง เป็นบัตรอัจฉริยะ (Smart Card) ซึ่งใช้ชำระค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ และค่าสินค้าในร้านค้าชั้นนำหลายประเภท อันได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารจานด่วน คอฟฟี่ช็อป ฯลฯ


ตามสถิติพบว่าชาวฮ่องกงมีบัตรนี้ไว้ในครอบครอง 21 ล้านใบ มีการใช้บัตรในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นจำนวน 11 ล้านครั้งต่อวัน ถัวเฉลี่ยแล้วคนฮ่องกงไม่ว่าหนุ่มสาว เด็ก หรือคนชราใช้บัตรปลาหมึกยักษ์กันถึงคนละ 1.5 ครั้งต่อวันเลยทีเดียว


บัตรดังกล่าวมีจำหน่ายที่สถานีรถไฟใต้ดินของฮ่องกง ราคาเริ่มต้นของบัตรประเภททั่วไปคือ 150 เหรียญ ซึ่งเป็นค่ามัดจำบัตรเสีย 50 เหรียญ (ขอคืนได้ภายหลังจากเลิกใช้บัตร) และเป็นมูลค่าของบัตรอีก 100 เหรียญ


ฉันก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีบัตรปลาหมึกยักษ์ไว้ใช้ตั้งแต่ 2-3 วันแรกที่ย้ายมาอยู่ฮ่องกง และเมื่อต้องใช้บัตรในการชำระค่าสินค้าและค่ารถโดยสารอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแบบนี้ ฉันจึงคิดว่าน่าจะลงทะเบียนเป็นสมาชิกบัตรอย่างเป็นเรื่องเป็นราวทางเว็บไซต์ของบริษัทบัตร เพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เมื่อยอดค่าใช้จ่ายของบัตรมีมูลค่าตามกำหนด


ทางบริษัทมีข้อมูลส่วนตัวของฉันและชาวฮ่องกงกว่า 2.4 ล้านคนซึ่งลงทะเบียนใช้บัตรเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว และทางกรมตำรวจฮ่องกงก็ใช้ข้อมูลนี้ในการติดตามหาตัวคนร้ายในคดีดัง ๆ หลายคดีที่เกิดขึ้นในฮ่องกง จนมีคนนำข้อเท็จจริงที่น่าสนใจตรงนี้ไปสร้างเป็นภาพยนตร์นั่นแหละค่ะ


ในช่วงเดือนธันวาคม 2551 จนถึงเดือนธันวาคม 2552 เกิดเหตุการณ์ร้ายซึ่งทำให้นักช้อปทั้งหลายรวมถึงฉันด้วยเกิดอาการอกสั่นขวัญผวา ไม่กล้าออกไปเดินเที่ยวตามตลาดกลางแจ้งกันเลยทีเดียว เมื่อมีคนร้ายโรคจิตโยนขวดน้ำกรดเข้าใส่ฝูงชนที่กำลังเดินจับจ่ายหาซื้อสินค้าในย่านช้อปปิ้งชื่อดังหลายแห่งทั้งบนฝั่งฮ่องกงและเกาลูนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 4 ครั้ง โดยมีผู้บาดเจ็บรวมกันทั้งสิ้นกว่าหนึ่งร้อยคน


จากหลักฐานและร่องรอยที่ตำรวจพบ เชื่อว่าคนร้ายขว้างขวดน้ำกรดมาจากที่สูง อาจจะเป็นบนตึก หรือชั้นดาดฟ้า โดยเลือกช่วงเวลาที่มีผู้คนออกมาจับจ่ายซื้อของกันเป็นจำนวนมาก


ทางกรมตำรวจประกาศให้สินรางวัลในการนำจับ รวมถึงจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนเงินถึง 1.7 ล้านเหรียญฮ่องกงเพื่อติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดคุณภาพสูงไว้ตามตึกสูงหลายแห่งในย่านช้อปปิ้งต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะสืบหาตัวคนร้ายได้


จนเมื่อเวลาผ่านไป 13 เดือน ตั้งแต่เกิดเหตุสาดน้ำกรดเป็นครั้งแรกในมงก๊ก (Mong Kok) จนถึงครั้งสุดท้ายในย่านถงหลอว๊าน (Causeway Bay) ใกล้กับห้างสรรพสินค้าโซโก้ ทางตำรวจก็สามารถติดตามจับตัวคนร้ายได้ในที่สุด พอจะเดากันออกใช่ไหมคะว่าทางตำรวจฮ่องกงเขาใช้วิธีใด


ตำรวจพบหลักฐานในที่เกิดเหตุครั้งล่าสุด เป็นถุงกระดาษสีดำที่คนร้ายทิ้งไว้ก่อนหลบหนีไป เมื่อตรวจสอบจากโทรทัศน์วงจรปิดหลายตัวซึ่งติดตั้งไว้ในสถานีรถไฟใต้ดินซึ่งอยู่ใกล้เคียง ก็พบภาพผู้ต้องสงสัยกำลังเดินออกมาจากทางออกของสถานีรถไฟใต้ดิน โดยที่ในมือมีถุงกระดาษสีดำใบเดียวกับที่ทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุ และผู้ต้องสงสัยรายนั้น ชำระค่าโดยสารรถไฟใต้ดินด้วยบัตรปลาหมึกยักษ์


เมื่อปี พ.ศ. 2552 มีผู้พบศพทารกแรกเกิดในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งย่าน North Point ทางตำรวจลองเช็คข้อมูลของลูกค้าที่ใช้บัตรปลาหมึกยักษ์ชำระค่าสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งดังกล่าวในช่วงเวลาใกล้เคียงกับตอนที่พบศพทารก จนได้ผู้ต้องสงสัยจำนวนหนึ่งและสืบขยายผลจนได้ตัวแม่ของเด็ก


ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ชายผู้หนึ่งถูกศาลพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตในข้อหาฆาตกรรมโสเภณี 2 ราย โดยหลักฐานชิ้นเด็ดที่มัดตัวฆาตกรรายนี้อย่างแน่นหนา คือ ข้อมูลการใช้บัตรปลาหมึกยักษ์ของผู้ตายซึ่งคนร้ายนำไปใช้ชำระค่าโดยสารรถเมล์และซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตหลังการฆาตกรรม


ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 ชายผู้หนึ่งถูกจับกุมในข้อหาปล้นฆ่าครูสอนบัลเล่ต์วัย 44 ปี ซึ่งเหตุฆาตกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 5 เดือนก่อน ตำรวจสืบหาตัวคนร้ายโดยเช็คข้อมูลบัตรปลาหมึกยักษ์ของผู้ตาย ซึ่งผู้ต้องหาโยนทิ้งในถังขยะใกล้ที่พักของตนเอง แล้วมีเพื่อนบ้านรายหนึ่งเก็บขึ้นมาแล้วนำไปใช้ต่อ ทำให้ตำรวจสามารถตามรอยเพื่อนบ้านรายนั้นไปจนถึงที่พักของคนร้าย และจับกุมตัวได้ในที่สุด


ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะทำให้อาชญากรมืออาชีพเลิกใช้บัตรปลาหมึกยักษ์ไปเลยตลอดชีวิต ซึ่งทางกรมตำรวจเค้าก็ออกมาพูดอยู่เหมือนกันค่ะว่า อาชญากรส่วนใหญ่ที่ทางตำรวจจับตัวได้โดยวิธีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นมือใหม่ทั้งสิ้น คือใช้ชีวิตประจำวันด้วยบัตรอัจฉริยะใบนี้กันตามปรกติ แล้วมาก่ออาชญากรรมขึ้นโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า


ฉันก็คงต้องระวังตัวไว้บ้างเหมือนกัน เผื่อเผลอตัวไปทำอะไรผิดเข้าโดยไม่ได้ตั้งใจ วันรุ่งขึ้นฉันอาจไปจ๊ะเอ๋กับตำรวจนอกเครื่องแบบรออยู่ที่ร้านกาแฟเจ้าประจำขณะที่แก้วกาแฟยังคาปากอยู่ก็ได้ ใครจะไปรู้




Create Date : 29 กันยายน 2555
Last Update : 29 กันยายน 2555 12:55:45 น.
Counter : 3116 Pageviews.

0 comments

ป้าเดซี่
Location :
堅尼地城  Hong Kong SAR

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 77 คน [?]





เจ้าของบล็อกนี้มีชื่อไซเบอร์ว่า "ป้าเดซี่" ค่ะ ย้ายตามครอบครัวมาปักหลักและทำงานที่ฮ่องกงเป็นปีที่ 8

เป็นมนุษย์เงินเดือนไทยในต่างแดนมาก็หลายงาน ตั้งแต่เลขานุการผู้บริหาร พนักงานติดตามเร่งรัดหนี้สิน นักแปล ล่าม ฯลฯ

ปัจจุบันเป็นนักแปลอิสระสัญชาติไทยประจำบริษัทรับจองห้องพักออนไลน์สัญชาติดัตช์มากว่า 4 ปี เป็นผู้จัดการชุมชนออนไลน์สัญชาติไทยประจำบริษัทศึกษาวิจัยทางการตลาดสัญชาติฝรั่งเศสมากว่า 3 ปี และเป็นจิตอาสาทำงานแปลเอกสารให้กับมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ประเทศไทยมากว่า 4 ปีค่ะ

บล็อกนี้ก็เป็นบล็อกเกี่ยวกับการใช้ชีวิต และอาการวิปริตทางความคิดและจิตใจของผู้หญิงไทยสายสามัญคนหนึ่ง ซึ่งมาใช้ชีวิตแบบสุขบ้าง ทุกข์บ้างในฮ่องกง

หวังว่าทุกท่านที่พลัดหลงเข้ามาในบล็อกนี้คงได้รับความไร้สาระกลับออกไปบ้างตามยถากรรมนะคะ