It's All I Have to Bring Today !
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2555
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
8 ตุลาคม 2555
 
All Blogs
 
กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด




พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บริสุทธิ์หลุดพ้นแล้วจากอาสวกิเลสทั้งปวง กิจที่พระพุทธองค์จะต้องทำยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว พระองค์ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน  ทรงเป็นผู้รู้ คือรู้แจ้งโลกทั้งปวง ทั้งโลกนี้และโลกหน้า  ทรงเป็นผู้ตื่น คือตื่นจากกิเลส เพราะความไม่รู้ที่ครอบงำจิตใจไว้ เมื่อตื่นขึ้นมาก็กลายเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงในสรรพสิ่ง  ทรงเป็นผู้เบิกบาน เพราะไม่มีกิเลสอาสวะมาเกาะกุมจิตใจ ดวงใจจึงเบิกบานขยาย เหมือนดอกบัวที่โผล่ขึ้นเหนือน้ำ เบ่งบานรับแสงอรุโณทัย พวกเราเป็นพุทธศาสนิกชน ควรใช้ชีวิตของเราให้เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ บริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ โดยหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดให้นิ่ง จนกระทั่งเข้าถึงผู้รู้แจ้งภายใน คือ พระธรรมกาย ตามอย่างพระพุทธองค์ให้ได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน คงคาสูตร ความว่า


“ดูก่อนพราหมณ์ แม่น้ำคงคานี้ ย่อมเกิดแต่ที่ใด และย่อมถึงมหาสมุทร ณ ที่ใด เม็ดทรายในระยะนี้ เป็นของไม่ง่ายที่จะกำหนดนับได้ เท่านี้ร้อยเม็ด เท่านี้พันเม็ด เท่านี้แสนเม็ด ดูก่อนพราหมณ์ กัปทั้งหลายที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มากกว่าเม็ดทรายเหล่านั้น จึงมิใช่เป็นการง่าย ที่จะกำหนดนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้ร้อยกัป เท่านี้พันกัป เท่านี้แสนกัป”


     ข้อนี้เป็นเพราะว่า วัฏสงสารนี้ กำหนดเบื้องต้นและที่สุดมิได้ ในเมื่อเหล่าสัตว์ทั้งหลาย ถูกอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ถูกตัณหาผูกพันไว้ ยังต้องท่องเที่ยวไปมา ที่สุดและเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลายที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารนั้นได้เสวยทุกข์ ความทรมาน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนาน


     ครั้งนี้หลวงพ่อได้ยกพระพุทธวจนะที่เกี่ยวกับความยาวนานของสังสารวัฏขึ้นมากล่าวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อต้องการให้พวกเราตระหนักว่า ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนุกเลยในการเดินทางอันแสนยาวไกล ซึ่งเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก จะหาสรรพสัตว์ที่มีความสุขหรือโชคดีตลอดเส้นทางจนกว่าจะถึงพระนิพพานอันเป็นจุดหมายปลายทางนั้น หาได้ยากยิ่งนัก


     สรรพสัตว์ทั้งหลายในภูมิต่างๆ ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในห้วงวัฏสงสารอย่างไม่มีวันสิ้นสุด เพราะยังมีกิเลสตัณหาติดอยู่ในกมลสันดาน ตราบใดที่กิเลสตัณหายังมีอิทธิพลเหนือจิตใจ ย่อมพาให้หลงเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารไม่หยุดหย่อน กิเลสตัณหาที่นอนเนื่องอยู่ในใจก็มีอยู่มากมาย ซึ่งเราจะต้องใช้ความเพียรในการขจัดออกให้ได้


* ผู้รู้หลายท่านใช้คำว่า กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด คือ กิเลสมีอยู่ด้วยกันถึง ๑,๕๐๐ ชนิด ตั้งแต่อารมณ์ที่เป็นเหตุให้กิเลส ๑๐ ชนิดเกิดขึ้นได้ มี ๑๕๐ ชนิด คือ จิต ๑ เจตสิก ๕๒ นิปผันนรูป ๑๘ ลักขณรูป ๔ รวมเป็น ๗๕ แบ่งออกเป็นอารมณ์ให้เกิดกิเลสภายในตัวของเรา ๗๕ และภายนอกตัวของเรา ทั้งที่เป็นสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอีก ๗๕ รวมเป็น ๑๕๐ ชนิด เมื่อเอาอารมณ์ ๑๕๐ ชนิด คูณกับกิเลส ๑๐ อย่าง รวมเป็นกิเลส ๑,๕๐๐ ตัว


กิเลส ๑๐ ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่ โลภะ คือ ความยินดีพอใจในอารมณ์ต่างๆ  โทสะ คือ ความโกรธขุ่นข้องหมองใจ  โมหะ คือ ความหลง  มานะ คือ ความเย่อหยิ่งถือตัว  ทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด  วิจิกิจฉา คือ ความสงสัยลังเลใจในสิ่งที่ควรเชื่อ  ถีนมิทธะ คือ ความหดหู่ใจ  อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ  อหิริกะ คือ ความไม่ละอายต่อทุจริตต่างๆ  และกิเลสตัวสุดท้าย  อโนตัปปะ คือ ความไม่สะดุ้งกลัวต่อทุจริต



     สำหรับตัณหา ๑๐๘ ได้แก่ ตัณหา ๓ อย่างใหญ่ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา  ตัณหาทั้ง ๓ นี้ เกิดขึ้นทางประสาททั้ง ๖ คือ เพราะได้เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และธรรมารมณ์ คือนึกคิดในทางใจ  ความคิดสามารถทำให้เกิดกิเลสตัณหาได้เช่นกัน คิดอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ความอยากที่เกิดจากความคิด เป็นตัวตัณหา ตัณหาแต่ละอย่างเกิดขึ้นใน ๓ กาลด้วยกัน คือ ตัณหาที่เกิดในอดีต เกิดในปัจจุบัน และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ตัณหาในกามภพเรียกว่ากามตัณหา ในรูปภพเรียกว่ารูปตัณหา และตัณหาในอรูปภพเรียกว่าอรูปตัณหา รวมกันแล้วเป็นตัณหา ๑๐๘


หลวงพ่ออธิบายไว้พอสังเขปเท่านั้น เพราะต้องการให้รู้ว่า กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปดนั้น มีอยู่จริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงคำคล้องจองกัน หรือกล่าวขึ้นมาลอยๆ เท่านั้น แต่การที่จะเอากิเลสตัณหามาจาระไนอย่างละเอียด คงต้องใช้เวลานานมาก เพราะฉะนั้นจึงขอสรุปสั้นๆ ว่า กิเลสตัณหามากมายเหล่านี้ คือสิ่งที่ติดอยู่ในกมลสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ถ้าสามารถฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งได้แล้ว กิเลสตัณหาเหล่านี้ก็จะดับไป เราก็จะหลุดพ้นจากภพสามได้ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้



นอกจากนี้ ยังมีกิเลสละเอียดๆ อีกชนิดหนึ่งคือ อนุสัย อนุสัยนี้เปรียบเหมือนงูพิษ ที่แอบอาศัยอยู่ในขันธสันดานของสรรพสัตว์ คอยคายพิษราดรดลงในดวงจิตให้กำซาบไป ทำให้สรรพสัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ในวัฏสงสาร อนุสัยมีอยู่ ๗ อย่าง คือ กามราคานุสัย ภวราคานุสัย ปฏิฆานุสัย มานานุสัย ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และอวิชชานุสัย  อนุสัยทั้ง ๗ อย่างนี้บังเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ และติดอยู่ในขันธสันดานของสรรพสัตว์อยู่อย่างนั้น ขณะที่ยังไม่มีอารมณ์มากระทบ ก็ไม่อาจสังเกตได้ว่า เป็นสภาพที่มีอยู่ เมื่อใดมีอารมณ์มากระทบ จึงจะแสดงอาการออกมา



     ตามปกติ อนุสัยกิเลสนี้สงบนิ่งทีเดียว ไม่ปรากฏออกมาทางใดทางหนึ่ง เมื่อมีอารมณ์ต่างๆ ที่ดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครั้นกระทบแล้ว อนุสัยกิเลสที่เคยสงบอยู่นั้น ก็เปลี่ยนสภาพเป็น ปริยุฏฐานกิเลส คือ กิเลสที่ปรากฏขึ้นทางใจ ถ้าปริยุฏฐานกิเลสนี้มีกำลังแรงมาก ก็เปลี่ยนสภาพเป็น วีติกกมกิเลส จะเป็นกิเลสที่แสดงออกมาให้เห็นทางกาย และวาจา



     ถ้าจะอุปมาเปรียบเทียบระหว่างอนุสัยกิเลส ปริยุฏฐานกิเลส และวีติกกมกิเลสทั้ง ๓ อย่างนี้ เปรียบเหมือนการจุดไม้ขีดไฟ อนุสัยกิเลสเปรียบเหมือนเชื้อไฟที่หัวไม้ขีด หากไม่มีการกระทบขัดสีของหัวไม้ขีด ก็ไม่สามารถติดไฟได้ และอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เปรียบเหมือนกลักไม้ขีด เมื่อมีการเอาก้านไม้ขีดไปขีดที่ข้างกล่อง ไฟจึงติดขึ้น ไฟนี้เปรียบเหมือนปริยุฏฐานกิเลส และเมื่อเอาไฟที่ติดนั้นไปจุดวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ไฟก็ลุกติดวัตถุนั้นๆ เปรียบเหมือนวีติกกมกิเลส กระบวนการทำงานของอนุสัย มีลักษณะย่อๆ พอจะยกเป็นอุปมาให้เห็นได้ดังที่กล่าวมานี้
     นอกจากนี้ อนุสัยกิเลส อุปมาดุจงูพิษร้ายที่นอนหลับ เพราะยังไม่มีสิ่งใดมากระทบเจ้างูตัวนั้น ต่อเมื่อมีสิ่งใดมากระทบ มันก็จะยกศีรษะขึ้นฉกกัดทันที อนุสัยนี้ก็เช่นเดียวกัน ได้นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน รอคอยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางทวารทั้ง ๖ เมื่อมีอารมณ์มากระทบ จึงจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบขึ้นมาทันที การโต้ตอบส่งผลให้เกิดการทำกรรม ครั้นทำกรรมแล้วก็ส่งผลเป็นวิบาก และตามส่งผลข้ามชาติทีเดียว



เมื่อรู้ว่า กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด อนุสัยทั้งเจ็ด เป็นต้นเหตุ เป็นกลไกทำให้ต้องเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในวัฏสงสารเช่นนี้ ต้องตัดกิเลสตัณหา และอนุสัยทั้งเจ็ดนี้ให้ได้ จะได้เป็นผู้พ้นทุกข์ ได้รับความสุขที่เป็นนิรันดร์ ไม่ต้องท่องเที่ยวในภพสาม เวียนว่ายตายเกิดให้เหนื่อยยากอีกต่อไป วิธีการเพื่อให้ข้ามพ้นวัฏฏะ ให้บรรลุถึงพระนิพพานนั้น ต้องปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ ในเส้นทางสายกลางที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบแล้ว เป็นเอกายนมรรค ซึ่งเป็นทางเอกสายเดียวไปสู่อายตนนิพพาน



     สรุปคือ ให้เอาใจหยุดนิ่งลงไปในหนทางสายกลาง หนทางนั้นเริ่มต้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗  ถ้าหยุดใจได้เมื่อไรเป็นสำเร็จเมื่อนั้น ขอให้เราหมั่นทำใจหยุดใจนิ่ง ให้ใจของเราสะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใสอยู่เสมอ แม้เราจะยังไม่สามารถขจัดกิเลสตัณหา หรืออนุสัยให้หลุดร่อนออกจากใจได้หมดภายในชาตินี้ อย่างน้อยก็จะเป็นอุปนิสัยติดตัวไปในภพเบื้องหน้า กิเลสอาสวะในตัวเราก็จะเบาบางลง ฉะนั้นให้พวกเราทุกคนหมั่นควบคุมกาย วาจา ใจ ให้สงบสะอาดอยู่เสมอ เส้นทางการสร้างบารมีของเราจะได้ราบรื่น ปลอดจากภัยในสังสารวัฏ จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรม





พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
* ปรมัตถโชติกะ (พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ)


ขอบคุณพิเศษ ดีเอ็มซี



Create Date : 08 ตุลาคม 2555
Last Update : 8 ตุลาคม 2555 8:36:04 น. 0 comments
Counter : 1436 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Turtle Came to See Me
Location :
พัทลุง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]





★ที่มา ล็อกอิน ★Turtle Came to See Me ★( บทกวี Poem )
เป็นหนังสือ สำหรับเยาวชน
★Turtle Came to See Me
แต่งโดย :Margrita Engle
★★★★



BlogGang Popular Award #11

BlogGang Popular Award #12
Friends' blogs
[Add Turtle Came to See Me's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.