It's All I Have to Bring Today !
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
12 กรกฏาคม 2554
 
All Blogs
 
▷▷ อมรรัตนโกสินทร์ ●● (18-19 )◁◁ ●● คุยเรื่องประเทศไทยกับ วิษณุ เครืองาม

ใครรู้วิชาโหรน่าจะลองผูกดวง พระชะตาพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ดูว่าเป็นอย่างไร เพราะแปลกเหลือหลาย

เมื่อแรกประสูติจนทรงเป็นหนุ่ม ไม่มีใครคาดคิดว่าต่อไป “ทูลกระหม่อมเอียดน้อย” สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ พระราชโอรสพระองค์สุดท้องในรัชกาลที่ 5 ประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี และเป็นลำดับที่ 76 จากทุกพระครรภ์จะได้ครองราชสมบัติเพราะยังมีพระเชษฐาร่วมพระครรภ์อีกหลายพระองค์ ความจริงหลังจากประสูติ 1 วัน สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาได้ประสูติพระราชธิดาเป็นลำดับที่ 77 แต่อยู่ได้วันเดียวก็สิ้นพระชนม์

คนมักสะกดคำว่า “ศักดิเดชน์” ผิดเป็น “เดช” ซึ่งแปลว่าอำนาจ แต่ “เดชน์” แปลว่าลูกศร เมื่อครองราชย์แล้วจึงทรงใช้ตราประจำพระองค์เป็นรูปศร 3 เล่ม เมื่อทรงพระเยาว์ พระสุขภาพไม่ดีเจ็บออด ๆ แอด ๆ มาตลอด แพทย์แนะนำให้ทรงเรียนวิชาทหารเพื่อจะได้ออกพระกำลัง เสด็จกลับจากอังกฤษแล้ว
จึงได้ทรงเข้าทำราชการในสมัยรัชกาลที่ 6


ตอนต้นรัชกาลที่ 6 เข้าใจกันว่าถ้าแม้นไม่มีพระราชโอรส พระราชอนุชาที่ทรงพระชนม์และอยู่ในลำดับถัดไปคือสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ น่าจะได้สืบราชสมบัติ เพราะรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดและเจ้าชายพระองค์นี้ก็ทรงพระปรีชาสามารถมาก

เรื่องของเจ้าชายพระองค์นี้น่าสนใจ รัชกาลที่ 5 ทรงส่งไปเรียนที่รัสเซีย พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 กษัตริย์รัสเซียที่เคยช่วยไทยให้รอดจากการถูกยุโรปคุกคามทรงรับเป็นผู้ปกครอง วันหนึ่งเจ้าฟ้าหนุ่มจากสยามได้ทรงพบกับสาวรัสเซียในงานเลี้ยงหรูหราที่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จนเกิดเป็นความรักและเสกสมรสด้วยจนมีพระโอรสคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

ผมเคยไปชมวังปีเตอร์ฮอฟ ไกด์รัสเซียอธิบายละเอียดลออว่าทรงพบกันตรงนี้ เสด็จไปเต้นรำตรงนั้น ดนตรีเล่นเพลงอะไร วัทอะโรแมนติก! แต่เมื่อเสด็จกลับไทย รัชกาลที่ 5 กริ้วมาก วังของกรมหลวงพิษณุโลกฯ อยู่ข้างกระทรวงศึกษาธิการชื่อ “วังปารุสกวัน” ทรงมีพระอารมณ์ขันว่าไหน ๆ ฝรั่งก็ออกพระนามว่า “ปรินซ์ จักรกระบอง” (จักรพงษ์) จึงทรงคิดตราประจำพระองค์เป็นรูปจักรมีกระบองสอด ยังติดอยู่หน้าประตูวังปารุสก์ ถนนราชดำเนินนอก ผ่านไปมาลองสังเกตดู

ต่อมากรมหลวงพิษณุโลกฯ ทรงหย่าจากหม่อมชาวรัสเซีย วันหนึ่งเสด็จไปราชการที่สิงคโปร์ กลับจากงานเลี้ยงก็ประชวรสิ้นพระชนม์ที่นั่น

เมื่อเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ทรงผนวชประทับที่วัดบวรฯ และจะทรงลาผนวช สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์ทรงแนะนำว่าน่าจะบวชต่อไป เพราะสึกไปก็คงเอาดีทางโลกยาก พี่ชายก็มีอยู่หลายคน แม้นครองผ้าเหลืองต่อไปอาจได้ดีเป็นใหญ่ทางคณะสงฆ์ แต่ทูลกระหม่อมทูลว่าไปหลงรักผู้หญิงเข้าแล้ว

ลาผนวชแล้วได้เสกสมรสกับ ม.จ.รำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ พระธิดากรมพระสวัสดิ์ฯ (พระราชโอรสรัชกาลที่ 4 ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเปี่ยม จึงทรง
เป็นน้าแท้ ๆ ของเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ)

พระเชษฐาร่วมพระครรภ์ของเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ค่อย ๆ สิ้นพระชนม์ไปจนหมด คราวนี้มีวี่แววแล้วว่าอาจทรงเป็นรัชทายาทราชบัลลังก์สยาม รัชกาลที่ 6
จึงเริ่มให้ทรงศึกษาระบบระเบียบราชการเตรียมไว้ แต่ความไม่แน่นอนก็ยังมีเพราะใน พ.ศ. 2468 พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงพระครรภ์ ถ้าประสูติเป็นชาย เจ้าฟ้าพระองค์ใหม่ก็จะเป็นกษัตริย์ อย่างมากเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ก็แค่สำเร็จราชการแทนพระองค์

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2468 รัชกาลที่ 6 ประชวรหนัก พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ได้ประสูติพระราชธิดา นาทีนั้นจึงแน่แล้วว่า
เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ กรมหลวงศุโขทัยธรรมราชาจะได้ครองราชย์ วันต่อมารัชกาลที่ 6 สวรรคต ขณะพระชนมพรรษา 45 พรรษา

เจ้านายและเสนาบดีเปิดประชุมทันที และทูลเชิญเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ พระชนมายุ 32 พรรษา ทรงรับราชสมบัติแต่ตรัสถ่อมพระองค์ว่า พระชนมายุและพระประสบการณ์ยังน้อย พระเชษฐาต่างพระราชชนนีที่มีความสามารถยังมีอีกหลายพระองค์ โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต


กรมพระนครสวรรค์ฯ คุกเข่าลงถวายบังคมทูลย้ำว่าขอให้ทรงรับราชสมบัติเพราะเป็นไปทั้งตามกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 ที่รัชกาลที่ 6 ทรงตราไว้ และพระราชประสงค์รัชกาลที่ 6 ที่ทรงสั่งไว้ ทุกพระองค์ขอปฏิญาณความจงรักภักดีและสนองราชการแบ่งเบาพระราชภาระ นั่นแหละ
จึงทรงรับ

รัชกาลที่ 7 เป็นพระเจ้าแผ่นดิน 9 ปี จึงสละราชสมบัติ ที่จริงเป็นความยากลำบากในการเป็นผู้นำประเทศขณะนั้น เพราะ
เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ในอเมริกาเกิดเหตุยิ่งกว่าฟองสบู่แตกเรียกว่า Great Depression โรงงานในญี่ปุ่นหลายแห่งต้องปิด คนว่างงานทั่วโลก ในสยามการเก็บภาษีก็ทำได้น้อย การค้าขายฝืดเคือง รัฐบาลขาดเงินสดจนต้องเลื่อนบรรดาศักดิ์แทนขึ้นเงินเดือนข้าราชการ บางปีก็ต้อง “ดุลย์” คือ เอาข้าราชการออก พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงลดเงินปีของพระองค์และค่าใช้จ่ายประเทศ



ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระน้องนางเธอของรัชกาลที่ 1 ชื่อพระองค์เจ้าหญิงกุ กรมหลวงนรินทรเทวี มีวังอยู่ข้างวัดโพธิ์ คนทั่วไปเรียกว่าเจ้าครอกวัดโพธิ์ ทรงเป็นนักบันทึกจดหมายเหตุความทรงจำ จะว่าเป็นคนไทยคนแรกที่เขียนไดอารี่ก็ได้ เคยทรงบันทึกไว้ว่าเวลาลงเสาหลักเมืองพระนครนั้น เห็นงูอยู่ที่ก้นหลุม จะเขี่ยออกก็ไม่ทัน หลักเมืองเลื่อนลงไปทับพอดีจึงมีคำพยากรณ์ว่าพระนครจะอยู่แค่ 150 ปี

ข้อที่คนโบราณร่ำลือกันเรื่องคำทำนายอายุพระนคร ไม่ใช่ว่าคนจะเชื่อตามไปหมด บางคนที่รู้เรื่องดีก็แย้งว่าสมัยรัชกาลที่ 4 เคยมีการยกเสาหลักเมืองใหม่อีกหน จึงเท่ากับแก้เคล็ดไปแล้ว บ้างก็ว่าถ้าจะสิ้นพระนครก็น่าจะสิ้นเสียตั้งแต่รัชกาลที่ 5
เมื่อฝรั่งเศสและอังกฤษเข้ามาคุกคาม เมื่อรอดจากคราวนั้นจึงเห็นจะไม่มีอีก

รัชกาลที่ 7 ทรงทราบดีว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา โลกเห็นจะไม่เหมือนเดิม จึงทรงเตรียมการหลายอย่างเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะพระองค์เองก็เป็นนักเรียนอังกฤษ เรียนประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์มาไม่น้อย ได้ทอดพระเนตรเห็นความเปลี่ยนแปลงมาบ้าง

หลังครองราชย์ไม่นาน ดร.ฟรานซิส บี. แซยร์ นักกฎหมายอเมริกันซึ่งเคยรับราชการสมัยรัชกาลที่ 6 จนได้เป็นพระยากัลยาณไมตรี ผ่านมาทางเมืองไทยอีกหน ได้โปรดให้ฝรั่งผู้นี้ยกร่างรัฐธรรมนูญถวายฉบับหนึ่ง ราวปีพ.ศ. 2473 ได้โปรดให้ที่ปรึกษาชาวอเมริกันชื่อ นายสตีเวนส์และพระยาศรีวิสารวาจา ร่างรัฐธรรมนูญถวายอีกฉบับ แต่ก็ไม่ได้ประกาศใช้



ระหว่างนั้นได้ทรงแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และมีพระราชดำริให้ยกร่างกฎหมายเทศบาล (เรียกว่าประชาภิบาล) เพื่อให้ราษฎรในท้องถิ่นมีการปกครองตนเอง เลือกผู้บริหารเอง มีงบประมาณใช้เอง ตรัสว่าเป็นการเริ่มจากฐานล่างขึ้นไปถึงชั้นบน เมื่อฐานล่างทำได้ก็จะเริ่มใช้ในระดับประเทศ แต่ดูจะไม่มีใครเข้าใจกัน จนมีพระราชหัตถเลขาไปเร่งว่า “หวังว่าจะได้ทันเห็นก่อนชีวิตข้าพเจ้าหาไม่” แต่ก็ไม่เสร็จอยู่ดี

เคยมีพระราชหัตถเลขาไปถึงกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ว่า สักวันหนึ่งดีโมเครซี่คงเข้ามา ถ้าคิดว่าจะรักษาแอปโซลุท โมนากีไว้ได้ก็แล้วไป แต่ถ้าคิดว่าจะต้านทานไม่ได้ก็ให้เตรียมตั้งรับดีโมเครซี่เถิด น่าคิดว่าทำไมจึงทรงสั่งกระทรวงสอนหนังสือ ไม่สั่งกระทรวงกลาโหมหรือตั้ง ศอฉ.มารับมือการล้มเจ้า คำตอบคือมีพระราชประสงค์จะใช้การศึกษา ครู เด็กและเยาวชนเป็นฝ่ายตั้งรับนั่นเอง ซึ่งตรงกับความเข้าใจในปัจจุบันว่าประชาธิปไตยต้องเริ่มที่บ้านและโรงเรียน



แต่รัชกาลที่ 7 เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่อาภัพ ผู้มีอำนาจสมัยนั้นล้วนเป็นอาเป็นน้าเป็นพี่ท่านหรือไม่ก็ขุนนางหลายแผ่นดินทั้งนั้น จึงดูจะไม่ค่อยได้ดังพระราชหฤทัย ปัญหานี้รัชกาลที่ 5 ก็เคยประสบมาแล้วในช่วง 10 ปีแรก จึงอย่าคิดว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินจะทำอะไรได้ดังใจเสมอไป

วันที่ 6 เมษายน 2475 กรุงเทพ มหานครมีอายุครบ 150 ปี เคยมีคนคาดว่าอาจจะพระราชทานรัฐธรรมนูญเป็นของขวัญให้คนไทยปกครองกันเองแบบญี่ปุ่น แต่ก็ไม่มี เข้าใจว่ามีผู้ทักท้วงว่ายังไม่ถึงเวลา ควรให้ราษฎรมีการศึกษาและมีความรู้ความเข้าใจมากกว่านี้

ลงท้ายก็มีแต่พิธีเปิดสะพาน พุทธฯ เชื่อมกรุงเทพฯ กับกรุงธนฯ มีขบวนชลมารค และงานสมโภชพระนคร

หลังจากนั้นเข้าหน้าร้อน รัชกาลที่ 7 และพระประยูรญาติเสด็จฯไปประทับที่วังไกลกังวล หัวหิน ตามที่เคยปฏิบัติ ทางกรุงเทพฯ ก็โปรดให้กรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงรักษาพระนคร

ขณะนั้นข่าวลือว่าอาจเกิดการยึดอำนาจมีอยู่หนาหู นักเรียนนอกที่จบวิชากฎหมาย วิชาทหาร วิชาช่างจากฝรั่งเศส และเยอรมนีกลับมาหลายคน คนเหล่านี้เคยพบปะกันในเมืองนอกและเป็นห่วงบ้านเมืองว่าจะปล่อยไปอย่างเดิมไม่ได้ ในหลวงจะไปทรงรับผิดชอบทุกอย่างได้อย่างไร ราชการงานเมืองวันนี้ซับซ้อนกว่าแต่ก่อนมากนัก
วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2475 ฝนตกพรำ ๆ ทั้งคืน ตอนค่ำรถถังออกมาวิ่งเต็มถนน ใครถามก็ได้คำตอบว่า “ซ้อมรบ” หรือไม่ก็ “ผลัดเปลี่ยนกำลัง” คำตอบอย่างนี้คุ้น ๆ แฮะ!
พอย่ำรุ่งวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน รถถังก็บ่ายหน้าไปลานพระบรมรูปทรงม้า กำลังส่วนหนึ่งไปตัดสายโทรเลขโทรศัพท์ อีกส่วนเข้าคุมสถานที่สำคัญ หัวหน้าคณะก่อการซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” คือ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาก็ขึ้นยืนอ่านแถลงการณ์ยึดอำนาจบนลัง
ข้างพระบรมรูปทรงม้า

มีการเชิญเจ้านายผู้ใหญ่ เช่น จากวังบางขุนพรหม วังวรดิศ วังเทเวศร์ ตำหนักปลายเนินไป “อารักขา” ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ตกสายก็แจกใบปลิวแถลงการณ์ทั่วกรุง มีการต่อสู้เลือดตกยางออกแห่งเดียวที่กองพล 1

ขณะนั้นรัชกาลที่ 7 ประทับอยู่หัวหิน ตกบ่ายผู้แทนคณะราษฎรคือหลวงศุภชลาศัยก็ถือหนังสือหัวหน้าคณะราษฎรไปเฝ้าฯ ทูลเชิญเสด็จฯกลับกรุงเทพฯ

ตรัสว่าที่จริงความมุ่งหมายก็ตรงกัน แต่วิธีการอาจแตกต่างกัน ไม่มีพระราชประสงค์จะให้คนไทยต่อสู้กันเองเพราะแม้จะทรงพอมีกำลังทหาร แต่ลงท้ายจะเกิดศึกกลางเมือง คนไทยจะตายเปล่า ๆ จึงจะเสด็จฯกลับ พระองค์เองสุขภาพก็ไม่ดี พระราชโอรสก็ไม่มี ไม่ได้อยากได้ใคร่ดีจะเป็นกษัตริย์ต่อไป แต่ถ้าทรงต่อต้าน คณะราษฎรจะลำบากเพราะนานาประเทศคงไม่ยอมรับรองรัฐบาลใหม่ คราวนี้จะยุ่งยากมากขึ้นเห็นน้ำพระราชหฤทัยไหมล่ะครับ!

ในที่สุดก็เสด็จฯกลับ คณะราษฎรได้เข้าเฝ้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ ที่ทรงเสียพระราชหฤทัยที่สุดคือการที่แถลงการณ์คณะราษฎรได้กล่าวหาพระบรมราชจักรีวงศ์อย่างรุนแรง จนต้องมีผู้กราบบังคมทูลว่าเป็นธรรมดาของการยึดอำนาจที่จะต้องกล่าวหาอำนาจเก่า ซึ่งก็ได้พระราชทานอภัยโทษ

คณะราษฎรได้ถวายพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับแรกด้วย ซึ่งได้ประกาศใช้ในวันที่ 27 มิถุนายน ต่อมาก็มีการตั้งรัฐบาลเรียกว่า “คณะกรรมการราษฎร” มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธาน มีการตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังก็ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ถือเป็นฉบับที่ 2 แต่เป็นฉบับถาวรที่เรียกรัฐธรรมนูญฉบับแรก

วันที่ 10 ธันวาคม จึงเป็นวันรัฐธรรมนูญ มีการเรียกชื่อรัฐบาลว่าคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก พระยามโนฯ ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก

อะไรต่ออะไรดูจะเข้ารูปเข้ารอย การปกครองแบบใหม่เริ่มแล้ว แต่ก็ไม่ได้เรียบร้อย หลายอย่างกลับรุนแรงหนักขึ้นจนกลายเป็นการแตกหักครั้งใหญ่ในอีก 2 ปีต่อมา.

“ตรัสว่าที่จริงความมุ่งหมายก็ตรงกัน แต่วิธีการอาจแตกต่างกัน ไม่มีพระราชประสงค์จะให้คนไทยต่อสู้กันเองเพราะแม้จะทรงพอมีกำลังทหาร แต่ลงท้ายจะเกิดศึกกลางเมือง คนไทยจะตายเปล่า ๆ จึงจะเสด็จฯกลับ พระองค์เองสุขภาพก็ไม่ดี พระราชโอรสก็ไม่มี ไม่ได้อยากได้ใคร่ดีจะเป็นกษัตริย์ต่อไป แต่ถ้าทรงต่อต้าน คณะราษฎรจะลำบากเพราะนานาประเทศคงไม่ยอมรับรองรัฐบาลใหม่ คราวนี้จะยุ่งยากมากขึ้น”

******************
อมรรัตนโกสินทร์ (19)

ก่อนปี 2475 เรื่องราวของประเทศไทยคือเรื่องราวของกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ เมืองอื่น ๆ เป็นเพียงตัวประกอบ และเรื่องราวของกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ก็คือเรื่องราวของพระมหากษัตริย์เป็นหลัก อย่างที่รัชกาลที่ 1 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่าอันพระนครทั้งหลายก็เหมือนกับกายสังขารกษัตริย์คือจิตวิญญาณเป็นประธานแก่ร่างและอินทรีย์

แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 แม้ความเจริญจะยังไม่ไหลเทไปยังต่างจังหวัด ก็นับว่าทุกแห่งมีความสำคัญ การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรจากทุกจังหวัดทำให้คนไทยได้รู้ว่าปัตตานี นราธิวาส ระนอง เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของไทย ทั้งตัวละครที่เปลี่ยนหน้ามาเล่นในยุคใหม่นี้ไม่ใช่เจ้าพระยา หรือกรมหลวงกรมขุนอะไรอีกแล้ว แต่เป็นครู เป็นชาวนา เป็นกรรมกร เป็นพ่อค้า เป็นข้าราชการชั้นตรี ทหารยศนายสิบ เพราะอาจได้รับเลือกเป็น ส.ส. และสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ออกกฎหมายได้ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีเสียเองก็ได้

พระมหากษัตริย์นั้นทรงลดบทบาทลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญซึ่งถูกยกให้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศแทน อำนาจในการปกครองและบริหารราชการแผ่นดินไปตกอยู่แก่คณะรัฐบาล แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังทรงมีพระราชอำนาจทางสังคมที่สะสมมาแต่พระราชบรรพบุรุษ บางคนถือว่าถึงอย่างไรก็ทรงเป็นเทวราชา ถ้าไม่มีบุญ ไฉนจะได้เป็น บางคนถือว่าทรงเป็นธรรมราชา ถึงจะลดพระราชอำนาจลงแต่ก็ยังทรงไว้ซึ่งพระราชคุณธรรมซึ่งหาไม่ได้จากนักการเมือง

ความผูกพันระหว่างคนไทยกับพระมหากษัตริย์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองยังคงแยกกันไม่ออก เพราะเคยรัก เคยเคารพ เคยเห็นพระคุณของท่าน พี่ท่าน พ่อท่าน ปู่ท่าน ทวดท่านอย่างไรก็ยังทำอย่างนั้นเพราะได้สัมผัสมาแล้วกว่า 150 ปี

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนไทยทั่วไปมิได้คิดว่าพระราชสถานะของรัชกาลที่ 7 แตกต่างไปจากเดิมเท่าใดนัก หลายเรื่องที่รัฐบาลเป็นผู้ทำ เช่น การแต่งตั้งข้าราชการ สภาเป็นผู้ทำ เช่น การออกกฎหมาย หรือศาลเป็นผู้ทำ เช่น การพิพากษาคดีก็ยังต้องอาศัยพระราชลัญจกร พระปรมาภิไธย หรือพระบรมราชโองการอยู่ดี

แต่ความสัมพันธ์กันเองระหว่างคนภายในรัฐบาลไม่ดีนัก แม้แต่ระหว่างรัฐบาลหรือนักการเมือง ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามามีอำนาจกับพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่สู้ดีนัก การกระทบกระทั่งเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ ตั้งแต่เรื่องที่รัฐบาลถูกมองว่าไม่ได้ถวายพระเกียรติยศเท่าที่ควร การปฏิบัติที่รุนแรงต่อพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ เช่น กรมพระนครสวรรค์ฯ ซึ่งต้องเสด็จไปประทับที่ต่างประเทศ และยังมีการปล่อยให้เกิดการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์หลายครั้งจนถึงขนาดทรงถูกฟ้องร้องในศาล

ต่อมายังกระทบไปถึงงานในหน้าที่หรือพระราชเกียรติยศ เช่น เมื่อไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติบางฉบับ แต่รัฐสภาก็มีมติยืนยันจนต้องนำออกประกาศใช้โดยไม่มีพระปรมาภิไธย

ความกดดันทั้งหมดมาลงที่พระเจ้า อยู่หัว ไม่ว่าความกดดันจากพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่อาจทรงดูแลพระราชวงศ์ให้พ้นภัยได้ ความกดดันจากประชาชน ซึ่งต้องการที่พึ่งที่อาศัย อย่างสมัยก่อน แต่ก็ทรงถูกจำกัดพระราชอำนาจเสียแล้ว และความกดดันจาก พระสุขภาพอนามัยที่เบียดเบียนมาแต่ทรงพระเยาว์

ในการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นไปตามฤกษ์ที่พระธรรมวโรดม วัดสระเกศคำนวณ ท่านเป็นโหรใหญ่ เป็นอุปัชฌาย์ของสมเด็จเกี่ยว ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช

วันเสด็จพระราชดำเนินที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญ แม้จะทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์เต็มพระอิสริยยศแต่รับสั่งว่าไม่ต้องถวายพระมหาสังวาลที่รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างขึ้น และให้ชักพระแท่นมนังคศิลาของพ่อขุนรามคำแหงออก ตรัสว่าเมื่อรักษาของท่านไว้ไม่ได้ก็ไม่ควรใช้ของท่าน เมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญ เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นเป็นผู้เข้าไปรับ

หลายปีต่อมามีผู้กราบบังคมทูลถามถึงการทรงฉลองพระองค์ยิ่งใหญ่ครั้งนั้น ตรัสว่าเมื่อแรกที่ทรงบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์อย่างนี้คือเมื่อทรงรับราชสมบัติอันเป็นการถวายอำนาจมาให้พระองค์ทรงใช้ บัดนี้จึงทรงบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์นั้นเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อส่งต่อพระราชอำนาจกลับคืนสู่ราษฎรให้ไปปกครองกันเอง

ใครอยากเห็นว่าฉลองพระองค์นี้เป็นอย่างไรดูได้จากพระบรมราชานุสาวรีย์ที่หน้าอาคารรัฐสภา

ความจริงหลายเรื่องจะโทษคณะราษฎรก็ไม่ได้ ในภาพรวมต้องยกประโยชน์ให้ว่าคณะบุคคลกลุ่มนี้มีเจตนาดีที่จะเห็นบ้านเมืองมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางเป็นประชาธิปไตย ทั้งมีความกล้าหาญเสี่ยงตายไม่ใช่เล่น และเวลานั้นก็เป็น กระแสของโลกด้วย (หลวงประดิษฐ์ฯ จึงเสนอให้เรียกการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นว่า “การอภิวัฒน์”) แนวพระราช ดำริที่ว่าจะพระราชทานรัฐธรรมนูญและการปกครองตนเองแก่ราษฎรก็ใช่ว่าจะรับรู้กันในสมัยนั้น สถานะทางเศรษฐกิจและสภาพสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำอันเป็นมรดกตกทอดจากสมัยราชาธิปไตย ตลอดจนการกดขี่ข่มเหงราษฎรจากระบบเจ้าขุนมูลนายก็ยังคงมีอยู่จริง เหตุเหล่านี้เป็นตัวเร่งความเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น

คณะราษฎรประกอบด้วยบุคคลที่ต่างภูมิหลัง ต่างความคิด ต่างวิธีการ แม้เป้าหมายตอนแรกจะตรงกัน แต่พอได้อำนาจแล้วก็เกิดความขัดแย้งกันเอง อันดูจะเป็นธรรมดาของการยึดอำนาจทั่วโลกเพราะอำนาจไม่เข้าใครออกใคร หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ดร.ปรีดี พนมยงค์) นักกฎหมายจากฝรั่งเศสผู้ปราดเปรื่องดูจะเป็นนักเปลี่ยนแปลงคนสำคัญที่สุด แต่พรรคพวกและสังคมก็ยังตามไม่ทันในหลายเรื่องจนท่านเองต้องเคยถูกขอให้ไป “ดูงาน” ต่างประเทศเสียระยะหนึ่ง

ดาวรุ่งพุ่งแรงของคณะราษฎรในเวลานั้นยังมีหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (นายควง อภัยวงศ์) คนเหล่านี้ผลัดกันมีบทบาทในการเมืองไทยต่อมาอีกหลายสิบปี

ความรุนแรงครั้งใหญ่มาเกิดขึ้นในปี 2476 เมื่อเกิดขบถบวรเดช พระองค์เจ้าบวรเดชทรงนำทหารลงมาจากโคราช ประกาศจะยึดอำนาจถวายคืนรัชกาลที่ 7 ขณะนั้นประทับอยู่ที่หัวหิน รัฐบาลจึงทูลเชิญเสด็จกลับกรุงเทพฯ เหมือนให้เห็นว่าในหลวงอยู่ข้างรัฐบาล พวกขบถเป็นฝ่ายล้มเจ้าหรืออยากเป็นใหญ่เอง แต่ไม่ทรงต้องการเข้าไปข้องแวะกับข้อขัดแย้ง จึงเสด็จไปประทับที่สงขลา

รัฐบาลปราบขบถสำเร็จ หลังจากที่ปะทะกันที่หลักสี่จนล้มเจ็บหรือตายทั้งสองฝ่าย ตรงนั้นจึงมีอนุสาวรีย์ปราบขบถ หลังจากนั้นรัฐบาลดูจะมั่นใจตนเองมากขึ้น แต่ก็เหมือนจะกินใจอะไรต่ออะไรจนร้าวฉานไปหมด

หลังจากนั้นรัชกาลที่ 7 ก็เสด็จไปทรงรักษาพระเนตรที่อังกฤษ พอถึงวันที่ 2 มีนาคม 2477 ก็มีพระราชหัตถเลขามาถึงรัฐบาล ทรงสละราชสมบัติหลังจากอยู่ในราชสมบัตินาน 9 ปีเพราะไม่อาจจะทรงอยู่ภายใต้ภาวะกดดันได้อีกต่อไป และไม่ประสงค์จะให้ฝ่ายใดอาศัยประโยชน์จากพระองค์ไปจัดการกับอีกฝ่ายหนึ่ง

รัชกาลที่ 7 มีพระมเหสีพระองค์เดียวตามแบบยุโรป และไม่ทรงมีพระราช โอรสธิดา ได้เคยทรงขอพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาษ พระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช น้องร่วมพระครรภ์กับรัชกาลที่ 5 มาทรงเลี้ยงอย่างพระราชโอรสบุญธรรม พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ จึงมีศักดิ์เป็นลูกผู้น้องของรัชกาลที่ 7 เมื่อเสด็จไปประทับที่อังกฤษ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ได้เป็นนักบินเข้าร่วมกองทัพอากาศอังกฤษในระหว่างสงคราม และประสบอุบัติเหตุสิ้นพระชนม์

ทางเมืองไทยสถานการณ์การเมืองผันผวนหลายอย่าง ก่อนสละราชสมบัติ พระยามโนฯ นายกรัฐมนตรีมีข้อขัดแย้งกับสภาฯ จนออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ต่อมาคณะทหารขอให้ท่านลาออก สภาฯ เลือกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎรเป็นนายกฯ ต่อมาท่านได้เสนอให้ยุบสภาเป็นครั้งแรก พอเลือกตั้งใหม่ก็ได้จอมพลแปลก พิบูลสงครามเป็นนายกฯ

พระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติมีใจความสำคัญตอนหนึ่งที่เราจำกันได้ดีคือทรงเต็มใจสละอำนาจให้แก่ราษฎรทั้งหลาย ไม่ได้มอบให้แก่หมู่ใดคณะใด ความหมายประการหนึ่งที่ซ่อนอยู่คือทรงสละสิทธิที่จะยกราชสมบัติแก่ผู้ใดทั้งที่ตามกฎมณเฑียรที่ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงกระทำเช่นนั้นได้

หลังสละราชสมบัติ ทางการได้ยึดวังเจ้านายบางพระองค์โดยอ้างว่าใช้ทรัพย์ของแผ่นดินซื้อหามา ในจำนวนนี้มีวังสุโขทัย (เขียนศุโขทัย) ซึ่งเป็นเรือนหอรัชกาลที่ 7 และวังบางขุนพรหมของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ ด้วย

รัชกาลที่ 7 ประทับอยู่ที่อังกฤษกับสมเด็จพระบรมราชินีอย่างเงียบ ๆ นานถึง 7 ปี ทรงย้ายที่ประทับหลายครั้ง ขณะนั้นสงครามโลกเกิดขึ้นในยุโรปแล้วจึงทรงลำบากพอสมควร วันที่ 30 พฤษภาคม 2484 เสด็จสวรรคต พระชนมพรรษา 48 พรรษา

การถวายพระเพลิงทำอย่างเงียบ ๆ ที่สุสานในลอนดอน ไม่มีพระราชพิธี ไม่มีพระบรมโกศ ไม่มีการประโคม มีผู้มาร่วมงานไม่กี่คน ฝรั่งคนหนึ่งเห็นงานเงียบเชียบนักจึงอาสามาสีไวโอลินเพลงที่ทรงโปรดข้างหีบพระบรมศพ หลังจากนั้นอีกหลายปีจนสงครามสงบถึงสมัยรัชกาลที่ 9 รัฐบาลจึงกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีให้เสด็จกลับ รัฐบาลอังกฤษจัดเรือรบเชิญพระบรมอัฐิมาส่ง ทางการไทยจัดริ้วกระบวนเชิญพระบรมอัฐิไปประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง

เรื่องราวของรัชกาลที่ 7 ถ้าไม่อยากอ่านหนังสือก็แวะไปชมได้ที่พิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 7 ตรงหัวถนนราชดำเนินเชิงสะพานผ่านฟ้าที่เคยเป็นกรมโยธาธิการ บัดนี้สถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้ดูแล ในนั้นมีภาพเก่า ๆ งาม ๆ ข้าวของส่วนพระองค์รัชกาลที่ 7 หนังสือที่ทรงโปรด เครื่องทรงต่าง ๆ และภาพพระตำหนักในอังกฤษ รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นคนไทยรุ่นแรก ๆ ที่นำกีฬากอล์ฟมาเผยแพร่ สมเด็จฯ นั้นน่าจะเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่เล่นกอล์ฟด้วยซ้ำ

ครูควรพานักเรียนไปชม จะได้รู้จักพระมหากษัตริย์ผู้อาภัพและยิ่งด้วยความอดทน ความเสียสละพระองค์นี้

แม้รัชกาลที่ 7 สวรรคตในปี 2484 แต่รัชกาลใหม่ก็เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2477 คือ 7 ปีก่อนนั้นแล้ว วาระนั้นเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองครั้งใหญ่ ทุกคนรู้ว่าพระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระชนมายุ 9 ชันษาได้เป็นรัชกาลที่ 8 ในเวลาต่อมา แต่ที่อาจงง ๆ กันคือทำไมราชสมบัติจึงตกแก่เจ้านายพระองค์น้อยนี้และเหตุใดจึง กล่าวกันว่าการที่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงยินยอมให้พระราชโอรสรับราชสมบัติในครั้งนั้นเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งใหญ่

เรื่องนี้มีคำตอบครับ.


วิษณุ เครืองาม

wis.k@hotmail.com

***

Credit  //www.dailynews.co.th/


Create Date : 12 กรกฎาคม 2554
Last Update : 12 กรกฎาคม 2554 1:56:26 น. 0 comments
Counter : 5649 Pageviews.

Turtle Came to See Me
Location :
พัทลุง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]





★ที่มา ล็อกอิน ★Turtle Came to See Me ★( บทกวี Poem )
เป็นหนังสือ สำหรับเยาวชน
★Turtle Came to See Me
แต่งโดย :Margrita Engle
★★★★



BlogGang Popular Award #11

BlogGang Popular Award #12
Friends' blogs
[Add Turtle Came to See Me's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.