It's All I Have to Bring Today !
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
6 กรกฏาคม 2554
 
All Blogs
 
▷▷ อมรรัตนโกสินทร์ ●● (16-20 )◁◁ ●● คุยเรื่องประเทศไทยกับ วิษณุ เครืองาม

วิษณุ เครืองาม

wis.k@hotmail.com

ถ้าให้นึกถึงความยิ่งใหญ่ของรัชกาลที่ 5 เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยจะนึกถึงการเลิกทาส ภาพวาดฝีมือชาวฝรั่งใต้โดมพระที่นั่งอนันตสมาคมรูปทรงเลิกทาสนั้น เขียนคำอธิบายว่า “อภัยทาน” ใครได้ดูละครเรื่องนางทาสของวรรณสิริ หรือลูกทาสของรพีพร จะรู้ว่าการเป็นทาสเป็นเรื่องระทมขมขื่นนักหนา เลิกเสียได้เป็นอันว่าดี แต่มีข้อความจริงเบื้องหลังการเลิกทาสสองประการคือ แม้รัชกาลที่ 5 เป็นเจ้าชีวิต สั่งอะไรก็ย่อมได้ กลับต้องทรงใช้เวลานับสิบ ๆ ปีกว่าจะเลิกได้สำเร็จ เพราะไหนนายเงินจะขัดขวาง

ไหนทาสเองก็ไม่เต็มใจเกรงว่าเมื่อเป็นไทแล้วไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร พระองค์เองก็ทรงทราบว่ากว่าลินคอล์นจะเลิกทาสได้ต้องเกิดสงครามกลางเมืองในอเมริกาตายกันเป็นเบือ เรื่องนี้จึงละเอียดอ่อนมากสำหรับเมืองไทย

ที่ใครคิดว่าพอประกาศเลิกทาสปั๊บ ทาสก็ลุกขึ้นยืดอกสลัดโซ่ตรวน ยกมือชูกำปั้นเป็นอิสระทันทีนั้น เอาเข้าจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ต้องทรงเริ่มจากให้ทาสทุกคนมี “ค่าตัว” เพื่อจะได้หาเงินมาไถ่ ต่อมาก็ทรงกำหนด “การลดทอน” คือ ค่าตัวจะค่อย ๆ ลดลงจนเหลือน้อยพอไถ่ได้ ต่อไปจึงกำหนด “การสิ้นสุด” คือ ไถ่ไม่ไถ่ก็หมดเวลา ให้ทยอยเป็นไทได้ ระหว่างนั้นนายเงินและทาสก็พลอยปรับตัวว่าต่อไปจะเอาแรงงานมาจากไหนและทาสเองเป็นไทแล้วจะไปทำอะไรกิน

ข้อความจริงที่สองคือทาสนั้นเมืองไทยมีไม่มากนัก แต่ไพร่มีมากกว่าหลายสิบเท่า การเลิกไพร่จึงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นประโยชน์แก่ชายไทยแทบทุกคน ตั้งแต่สมัยอยุธยาชายไทยต้องถูกเกณฑ์แรงงานเข้าทำราชการเดือนหนึ่ง แล้วออกเวรกลับไปอยู่บ้านกับลูกเมียเดือนหนึ่งสลับกัน เรียกว่าเข้าเดือนออกเดือน เวลามีสงครามผู้หญิงเขายังเกณฑ์เป็นไพร่เลย

ต่อมาขยายเป็นเข้าสองเดือนหรือสามเดือน เข้า ๆ ออก ๆ อย่างนี้หลวงจะได้มีทหารไปรบ มีช่างไปก่อสร้าง มีแรงงานไว้ขุดคลอง แต่ไพร่ไม่ใคร่ได้อยู่บ้านไม่ได้ทำมาหากิน ไพร่ที่อยู่กับในหลวงเรียกว่า “ไพร่หลวง” ถ้าไปอยู่กับขุนนางคอยรับใช้เรียกว่า “ไพร่สม” ถ้ามีเงินจะไม่ไปก็ได้ให้ส่งเงินไปแทน หลวงจะได้เอาไปจ้างคนอื่นเรียกว่า “ไพร่ส่วย” พวกเรานี้ส่วนใหญ่อาจไม่ได้เป็นทาสแต่น่าจะเป็นไพร่ชนิดใดชนิดหนึ่ง รัชกาลที่ 5 ให้ยกเลิกระบบไพร่เปลี่ยนไปใช้ระบบเกณฑ์ทหารแทน พระเดชพระคุณเรื่องนี้จึงยิ่งใหญ่เท่ากับหรือมากกว่าการเลิกทาสเสียอีก

เมื่อเลิกไพร่แล้วพวกที่ยังประกาศตัวเป็นไพร่ชวนกันลุกขึ้นสู้กับอำมาตย์อยู่อีกจึงเป็นเพียงวาทกรรมในการปลุกระดมเรียกคนมาชุมนุม ยิ่งไปปลุกระดมกันต่อหน้าพระบรมรูปทรงม้าแล้วสงสารในหลวงพระองค์นี้นัก

ในปี 2425 รัชกาลที่ 5 ครองราชย์มา 14-15 ปี แต่กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ตั้งมาครบ 100 ปี ทรงโสมนัสมากว่าพระนครอยู่รอดปลอดภัยมาได้ครบศตวรรษ มีการจัดงานยิ่งใหญ่ ก่อนนั้นเคยทรงสร้างเครื่องราชฯ จุลจอมเกล้าพระราชทานเจ้านายขุนนางข้าราชการพ่อค้าราษฎรมาแล้วเพื่อตอบแทนความดีที่ “ช่วยกันบำรุงวงศ์ตระกูลและรักษาบ้านเมืองมาได้ด้วยความสามัคคี”

รัชกาลที่ 5 ทรงมี “เทสต์” มาก ไปต่างประเทศก็ทรงซื้อและสะสมของ ดี ๆ มาเก็บไว้เป็นมรดกของชาติจนทุกวันนี้ เช่น ชุดลายคราม จปร. เครื่องกังไสจีน ศิลปะของฟาร์แบเช่ แซฟวร์ ภาพวาดและรูปปั้นฝีมือจิตรกรประติมากรเอกของโลก ทั้งยังมีเวลาพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วและโคลงฉันท์กาพย์กลอนต่าง ๆ ที่ไพเราะเป็นอันมาก เช่น ไกลบ้าน พระราชพิธีสิบสองเดือน เงาะป่า นิทราชาคริต

ทรงรู้ว่าระบบราชการอายุ 500 ปีของเราง่อนแง่นเต็มที จึงทรง “รีฟอร์ม” แปลว่าปฏิรูป ยุบจตุสดมภ์ 4 กรมคือ เวียง วัง คลัง นา แล้วตั้งเป็นกระทรวง โดยมีเสนาบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายนโยบายมีปลัดทูลฉลองเป็นใหญ่ฝ่ายประจำ ทรงจ้างชาวต่างชาติเข้ามาเป็นที่ปรึกษาไปพลาง ระหว่างนั้นทรงตั้งโรงเรียนเฉพาะด้านผลิตข้าราชการพลเรือนส่งทุกกระทรวง

ตั้งโรงเรียนกฎหมายผลิต นักกฎหมายส่งกระทรวงยุติธรรม ตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารผลิตทหารส่งกระทรวงกลาโหม ตั้งโรงเรียนผลิตครู ผลิตหมอ ผลิตช่างจนพอใช้ในราชการ

ข้าราชการสมัยก่อนไม่มีเงินเดือน เป็นเสือจับเนื้อกินเองจึงเรียกว่า “กินเมือง” ทรงเปลี่ยนเป็น “ครองเมือง” และมีเงินเดือนให้

ทรงจัดระบบการศึกษา จัดระบบภาษี จัดระบบการปกครองใหม่ ตั้งเป็นเมือง เป็นจังหวัด มณฑล สยามจึงเป็นเอกภาพมาได้

ทรงริเริ่มธรรมเนียมตัดถนน สร้างสะพาน พวกที่ขึ้นต้นว่า “สะพานเฉลิม...” ใช่ทั้งนั้น สะพานผ่านพิภพลีลา

ผ่านฟ้าลีลาศ มัฆวานรังสรรค์ก็ทรงสร้าง ทั้งยังมีพระราชศรัทธาสร้างวัดเทพศิรินทร์ วัดราชบพิธ วัดเบญจมบพิตร เรื่องวัดเบญจฯ นี้ได้เห็นพระทัยเป็นธรรมจริง ๆ เดิมคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายทูลขอให้เป็นวัดธรรมยุตตามธรรมเนียมครั้งรัชกาลที่ 4

ตรัสว่าวัดธรรมยุตมีมากแล้ว ขอเป็นวัดมหานิกายบ้าง แต่ธรรมยุตจะมาอยู่ก็ไม่ห้าม เรียกว่าวัดนี้สร้างเพื่อ “สงฆ์จตุรทิศ” จึงเป็นวัดมหานิกายสืบมาจนบัดนี้



รัชกาลที่ 5 ท่านโชคดีเพราะมี “กาละ” คือมีกาลเวลาสร้างความเจริญนานถึง 42 ปี จึงต่อเนื่องและได้ทันเห็นผลสำเร็จ มี “ธรรมะ” คือมีคุณธรรม เที่ยงธรรม ใครไม่รู้ก็ทรงแนะทรงสอน ทรงให้อภัยแก่ฝ่ายตรงข้าม ทรงใช้มาตรฐานเดียวกันปกครอง “ตั้งแต่ลูกข้าแลเจ้านายราชตระกูลลงไปถึงลูกชาวไร่ชาวนา”

ทรงมี “เสนา” คือมีผู้คนที่จะสนองพระบรมราโชบายต่อมาอีกหลายปีต่างก็เป็นน้องบ้าง ลูกบ้าง หลานบ้าง ขุนนางเก่ง ๆ บ้าง ดังที่ด้านการปกครองทรงได้กรมพระยาดำรงฯ (ต้นราชสกุลดิศกุล) ด้านการช่างทรงได้กรมพระยานริศฯ (ต้นราชสกุลจิตรพงศ์) ช่วยออกแบบต่าง ๆ “ราวกับนั่งในใจฉัน” ด้านการต่างประเทศได้กรมพระยาเทววงศ์ฯ (ต้นราชสกุลเทวกุล) ด้านกฎหมายและการศาลได้กรมหลวงราชบุรีฯ (ต้นราชสกุลรพีพัฒน์) ด้านศาสนาทรงได้กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

ด้านการไปรษณีย์ทรงได้กรมพระยาภาณุพันธุ์ฯ (ต้นราชสกุลภาณุพันธุ์) ด้านเศรษฐกิจทรงได้กรมพระจันทบุรีฯ (ต้นราชสกุลกิติยากร) ด้านการทหารทรงได้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (สกุลแสงชูโต) กรมหลวงสิงหวิกรมฯ (ต้นราชสกุลฉัตรไชย) กรมพระนครสวรรค์ฯ (ต้นราชสกุลบริพัตร) ด้านการศึกษาทรงได้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (สกุลบุนนาค) เป็นต้น

สุดท้ายคือทรงมี “จักขุมา” แปลว่ามีสายตาที่กว้างไกลหรือวิสัยทัศน์ในการพัฒนา ทรงให้คนไทยมีการศึกษา ให้เสนาบดีฝึกหัดจัดประชุมเพื่อเตรียมเป็น ครม. และเป็นรัฐสภา ทรงละเอียดลออในการกำกับดูแลราชการ เช่น เมื่อทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ในวัดเบญจฯ ยอดด้วนก็ทรงมีจดหมายถึงเสนาบดีทันทีให้ไปดูว่า “เป็นโรคอะไร” ถนนแถววรจักรไฟตะเกียงดับทรงสั่งเสนาบดีนครบาลให้ไปดูว่า “ใครฉ้อน้ำมัน” หนังสือราชการจากหัวเมืองส่งผ่านเสนาบดีกว่าจะมาถึงพระองค์หลายวัน ทรงให้คนไปสอบว่าติดอยู่ที่ใคร นานกี่วัน ให้ปรับวันละบาทโทษฐาน “เข้าเกียร์ว่าง”

ทรงส่งพระราชโอรสไปเรียนวิชาการต่าง ๆ ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ รัสเซีย เยอรมนี พระราชโอรสพระองค์หนึ่งคือพระองค์เจ้าดิลกนพรัตน์ไปเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยทุมบิงเง็น เยอรมนี จนจบได้ปริญญาเอกเป็นคนแรกของไทย ทำวิทยานิพนธ์เรื่องข้าว แม่ท่านเป็นเจ้าทางเหนือ เสียดายที่กลับมาไม่นานก็ปลงพระชนม์พระองค์เองทั้งที่ยังหนุ่ม
แท้ ๆ

รัชกาลที่ 5 มีพระมเหสีเทวี เจ้าจอมหม่อมพระสนมมากน่าจะมากที่สุด แต่มีพระราชโอรสธิดารวมกัน 77 พระองค์ (น้อยกว่ารัชกาลที่ 4) พระองค์ที่ 76 คือ สมเด็จเจ้าฟ้าชายประชาธิปกศักดิเดชน์ ต่อไปได้เป็นรัชกาลที่ 7 ส่วนพระองค์ที่ 77 เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงประสูติได้เดือนเดียวก็สิ้นพระชนม์

สิ้นรัชกาลที่ 5 พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ประสูติจากพระอัครมเหสีจึงได้ขึ้นเป็นรัชกาลที่ 6

คนไทยเรียกรัชกาลที่ 5 ว่า “พระปิยมหาราช” ปิยะแปลว่าที่รัก ทั้งนี้เพราะทรงมีกาละ ธรรมะ เสนา และจักขุมา หลายคนบวงสรวงเซ่นไหว้พระองค์ทุกวันอังคาร เพราะบนอะไรก็มักได้ตามนั้น โดยเฉพาะว่ากันว่าบนด้วยซิการ์ (แปลกแท้!) จนเรียกท่านว่าเสด็จพ่อ ร.5 นักการเมืองคนไหนถ้าเอาความวิเศษของท่านเรื่องกาละ ธรรมะ เสนา จักขุมามาใช้สัก 1 ใน 10 คงนั่งอยู่ในใจประชาชนได้ตลอดกาล.



●●●●

●● อมรรัตนโกสินทร์ (17) ●●

เมื่อสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ.2453 ต้องถือว่าสยามมีความเจริญแข็งแกร่งในทุกทางชนิดที่ตะวันตกจะมาดูถูกเหยียดหยามไม่ได้อีก

พระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จประพาสเกือบทั่วยุโรปแล้วถึงสองครั้ง ในเอเชียก็อีกหลายครั้ง ได้มีพระราชดำรัสเป็นภาษาอังกฤษ ได้ทรงปฏิสันถารกับเจ้าแผ่นดินและผู้นำรัฐบาลทั่วยุโรปได้ทรงรับปริญญากิตติมศักดิ์จากออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ จนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วว่า คิง ออฟ ไซ แอม พระองค์นี้ไม่ธรรมดา

อาคารตึกรามบ้านช่อง ถนน สะพาน ระบบไปรษณีย์ ทางรถไฟเริ่มกระจายไปถึงหัวเมือง การปกครองในหัวเมืองและส่วนกลางเป็นระเบียบดีสยามดำรงความเป็น “รัฐสีมาอาณาจักร” อย่างแท้จริงและเป็นเอกภาพ ข้อสำคัญคือการมีอำนาจรัฐที่สมบูรณ์นี้ทำให้พระเจ้ากรุงสยามเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มั่นคงยิ่งเป็นครั้งแรก

การมีอำนาจรัฐที่สำคัญที่สุดคือการสามารถตั้งรัชทายาทได้ชัดเจนแน่นอน ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 พระมหากษัตริย์เป็นวังหลวง และผู้เตรียมเป็นกษัตริย์พระองค์ต่อไปเป็นพระมหาอุปราชวังหน้า โดยมากมักตั้งจากน้องหรือพระญาติผู้ใหญ่ แต่เอาเข้าจริงขุนนางจะเป็นคนตั้งกษัตริย์ทั้งนั้น

สมัยรัชกาลที่ 5 วังหลวง (กษัตริย์) กับวังหน้า (อุปราช) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกันก็มีปัญหาบาดหมางกัน เพราะวังหน้าอายุมากกว่าและมีเจ้านายขุนนางเชียร์อยู่มาก ฝรั่งเองก็ยุให้รำตำให้รั่วหวังให้สยามแตกความสามัคคีกันเองในหมู่เจ้านาย

พอวังหน้าสิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 5 ให้ยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชวังหน้า เปลี่ยนมาตั้งตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารแทน คุณสมบัติคือต้องเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าชายที่ประสูติจากพระอัครมเหสีเท่านั้น

เดิมทรงตั้งสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณ หิศ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่สุดประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา (แม่กลาง) เป็นสมเด็จพระบรมฯ พระองค์แรก แต่เมื่อทิวงคตเสียเมื่อพระชนมายุ 17 พรรษา จึงทรงพิจารณาเรียงตามลำดับพระชนมายุของบรรดาพระราชโอรสทั้งหลายที่ประสูติจากพระอัครมเหสีทุกพระองค์โดยไม่จำเป็นต้องร่วมพระครรภ์เดียวกัน ลำดับจึงมาตกที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี (แม่เล็ก)

ก่อนสวรรคตปีเศษ มีพระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าที่ลานใหญ่หน้าพระราชวังดุสิต พระบรมรูปนี้ปั้นแบบและหล่อจากฝรั่งเศสตามแบบพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงม้าหน้าวังแวร์ซายส์ รัชกาลที่ 5 ทรงทำพิธีเปิดเอง ข้อความที่จารึกที่ฐาน สมเด็จพระบรมฯ หรือรัชกาลที่ 6 ก็ทรงตรวจแก้เอง จึงถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์นัก

วาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพของรัชกาลที่ 5 คือ ทรงพระประชวรพระโรคไต พระอาการหนักลงเป็นลำดับมาตลอดเดือนตุลาคม พ.ศ. 2453 ขณะนั้นประทับอยู่ที่พระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งสร้างใหม่ในแผ่นดินนี้ ก่อนวันสวรรคตไม่กี่วันยังทรงรถม้าออกตรวจงานได้ กลับมาก็บรรทมนิ่งทรงปรารภใคร่จะเสวยขนมจีนน้ำยาปลาช่อน ฉู่ฉี่ปลาสลิดสด น้ำพริกผักจิ้ม น้ำผลไม้ เสวยไปได้ไม่กี่คำก็ประชวรพระนาภี (ปวดท้อง) ลงพระบังคน (ถ่าย) หลังจากนั้นไม่เสวยอะไรอีกเลย

สองวันต่อมาถึงวันที่ 23 ตุลาคมก็เสด็จสวรรคต ทางการอัญเชิญพระบรมโกศเข้าขบวนผ่านถนนราชดำเนินแห่กลับไปประดิษฐานที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตามโบราณราชประเพณี ชาวบ้านร้องไห้ส่งเสด็จไปตลอดสองข้างทาง เป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่จริง ๆ บ้านเมืองเงียบกริบไม่มีสถิติคดีโจรผู้ร้ายใด ๆ ในแผ่นดิน

เป็นอันว่าขึ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักเรียนนอกพระองค์แรกของไทย ทรงเชี่ยวชาญทั้งภาษา วรรณคดี การปกครอง การต่างประเทศ การทหาร และประวัติศาสตร์ ภาระอันยิ่งใหญ่ของในหลวงพระองค์ใหม่ คือ ทำอย่างไรจึงจะให้คนรู้สึกว่าสยามจากนี้ไปยังคงเจริญรุ่งเรืองไม่แพ้แผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงที่นานถึง 42 ปี

จุดนี้เองที่ทำให้รัชกาลที่ 6 ต้องทรงหันมาปลุกใจให้คนไทยรักชาติ ชาตินิยม สามัคคี และมีความภูมิใจในความเป็นไทยเพื่อจะรักษาบ้านเมืองไว้และมีขวัญกำลังใจไว้รับมือภยันตรายที่กำลังเข้ามา เรื่องเหล่านี้น่าสนใจว่าทรงทำอย่างไรบ้าง

รัชกาลนี้ดำเนินไปได้ 15 ปี ช่วงเวลานี้มีอะไรดี ๆ เกิดขึ้นไม่น้อย แต่คนไทยก็ยังกลุ้มใจกับควันหลงจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ผลกระทบจากการปฏิวัติในรัสเซียจนลัทธิคอมมิวนิสต์เริ่มระบาดไปทั่วและปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ เช่น เกิดการขบถคราวหนึ่งเรียกว่าขบถหมอเหล็ง ในเวลานั้น เจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าชายที่ประสูติจากพระอัครมเหสีของรัชกาลที่ 5 หลายพระองค์ก็ทยอยสิ้นพระชนม์ไปในขณะที่พระเจ้าอยู่หัวก็ยังไม่ทรงมีวี่แววว่าจะมีพระอัครมเหสีและมีผู้ใดไว้สืบราชสมบัติ

กล่าวได้ว่ารัชกาลที่ 6 ทรงมีเวลาเตรียมจะเป็นพระมหากษัตริย์อยู่นาน เมื่อสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษได้ทรงกลับมาทำราชการ เคยสำเร็จราชการแทนพระองค์คราวรัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปหนที่สอง (2450) เพื่อรักษาพระองค์ แต่สมเด็จพระบรมฯ เองก็เคยประชวรพระโรคลำไส้ครั้งอยู่อังกฤษมาแล้ว พระโรคนี้อีกหลายปีต่อมากำเริบขึ้นจนประชวรสวรรคต

เมื่อรัชกาลที่ 5 สวรรคตใน พ.ศ.2453 พระองค์ได้เป็นพระมหากษัตริย์โดยไม่มีข้อสงสัย สร้อยพระนามจึงมีว่า “บรมชนกาดิศรสมมติ” แปลว่าพ่อท่านตั้ง

พระบรมราโชบายสร้างความรักชาติคือการสร้างความเจริญสานต่อจากพระบรมราชชนก เช่น สร้างทางรถไฟไปภาคเหนือและภาคใต้ ตัดถนน สร้างสะพานทำให้คนสัญจรและค้าขายสะดวก ขยายกิจการไปรษณีย์โทรเลข วิทยุ ส่งเสริมการทหาร ขณะเดียวกันก็ทรงเปลี่ยนไปสร้างโรงเรียนแทนการสร้างวัด ทั้งทรงริเริ่มกิจการลูกเสือ ทรงตั้งกองเสือป่าฝึกนักเรียนและราษฎรให้รู้วิธีการของลูกเสือและมีวินัย แต่ความจริงคือพวกนี้อาจลุกขึ้นถืออาวุธรักษาบ้านเมืองได้อย่างดี ทั้งการไปซุ่มฝึกเสือป่าแถวราชบุรีก็มีนัยว่าถ้าจำเป็นอาจมีการล่าถอยไปตั้งรับแถวนั้นได้

ทรงแต่งบทละครและบทความหลายเรื่องที่ส่งเสริมการรักชาติ ทรงแปลบทละครฝรั่งหลายเรื่องเป็นภาษาไทยเพราะทรงเชี่ยวชาญทั้งภาษาอังกฤษ ฉันทลักษณ์ และภาษาบาลีสันสกฤตจนแทบไม่น่าเชื่อว่าคนที่อยู่เมืองนอกนาน ๆ จะสันทัดเช่นนี้ โดยใช้พระนามแฝง เช่น อัศวพาหุ รามจิตติ ศรีอยุธยา

ทรงออกกฎหมายให้คนไทยมีนามสกุลใช้เป็นครั้งแรก ทรงออกกฎหมายการเดินเรือในน่านน้ำสยาม และกฎหมายการศึกษาภาคบังคับ ทรงเร่งรัดการจัดทำประมวลกฎหมายให้ทันสมัยเพื่อนำไปต่อรองขอเอกราชทางการศาลคืนจากฝรั่ง เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงตัดสินใจส่งทหารไทยไปร่วมรบอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2460 ซึ่งชนะสงครามจึงทรงให้สร้างวงเวียน 22 กรกฎาเป็นที่ระลึก และทรงคิดให้มีธงไตรรงค์ขึ้นใช้ในคราวนั้นด้วย ทรงทดลองการปกครองในเมืองจำลองชื่อดุสิตธานี เพื่อให้คนคุ้นเคยกับการออกเสียงเลือกตั้งและการปกครองตนเอง เมื่อขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ ได้มีพระราชปรารภว่า 1. จะมีพระมเหสีพระองค์เดียว และไม่มีเจ้าจอมหม่อมพระสนมมากดังสมัยก่อน 2. จะไม่อภิเษกสมรสกับเจ้านายสตรีที่ร่วมพระบรมราชชนกเดียวกัน ผู้คนจึงคอยดูว่าในหลวงจะทรงเลือกใครเป็นพระราชินีเรียกว่าพอ ๆ กับที่คนอังกฤษสนใจเรื่องเจ้าชายวิลเลียมและชาวภูฏานสนใจเรื่องพระราชาธิบดีจิกมี

เพราะบัดนั้นการสืบราชสมบัติเปลี่ยนมาทางสายพระราชโอรสหรือพระราชอนุชาร่วมพระครรภ์ของพระองค์เท่านั้น

ต่อมาได้โปรด ม.จ.วรรณวิมล วรวรรณ พระธิดากรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงตั้งให้เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี พระคู่หมั้นแล้วเป็นพระวรกัญญาปทาน ทรงแต่งเรื่องศกุนตลาพระราชทาน แต่แล้วก็มีเรื่องขัดพระทัย พระองค์หญิงทรงแต่งกลอนย้อนคืนหนังสือเรื่องศกุนตลาและลงท้ายว่า “จงทรงพระเจริญเถิดราชา ข้าขอลาแต่บัดนี้ไป” จึงกริ้วถูกลงโทษกักบริเวณ “ติดศาลา” มีโซ่ทองใส่พานวางไว้ข้าง ๆ ให้รู้ว่าต้องโทษ

อยู่มาได้ทรงเสน่หา ม.จ.วรรณพิมล วรวรรณ พระธิดาอีกองค์ของเสด็จในกรมพระนราธิปฯ โปรดให้เป็นพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสี แต่เมื่อพระนางฯ ไม่มีพระราชโอรสธิดาถวาย จึงได้ทรงสมรสใหม่กับนางสาวเปรื่อง สุจริตกุล บุตรีเจ้าพระยา สุธรรมมนตรี

พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงเป็น กวี วงการหนังสือและละครเคารพนับถือท่านมาก เมื่อผมยังเด็ก ๆ เคยอ่านข่าวพระนางฯ ถูกคนสวนทำร้ายจนสิ้นพระชนม์ในพระตำหนัก เป็นข่าวใหญ่มากเมื่อหลายสิบปีก่อน

รัชกาลที่ 6 ทรงตั้งคุณเปรื่องเป็นพระสุจริตสุดา พระสนมเอก (ไม่ถือว่าเป็นเจ้า) พิธีสมรส (ไม่ได้อภิเษก) ทำแบบฝรั่ง เจ้าสาวสวมผ้าคลุมหน้าทรงคล้องแขนเดินลอดซุ้มกระบี่ทหาร แต่เมื่อไม่มีพระราชโอรสธิดาถวายก็ทรงเลิกร้างไป และไปโปรดคุณประไพ สุจริตกุล น้องสาว แท้ ๆ ของพระสุจริตสุดาแทน จนตั้งครรภ์จึงทรงตั้งเป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระบรมราชินี แต่เมื่อตก (แท้ง) เสียถึงสองครั้งและไม่ทรงพระครรภ์อีกต่อไปจึงทรงลดพระยศลงเป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายา ให้ประทับอยู่ที่พระที่นั่งวิมานเมฆ

ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกคุณเครือแก้ว อภัยวงศ์ หลานปู่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เป็นเจ้าจอมคนสุดท้าย พระราชทานชื่อใหม่ว่าเจ้าจอมสุวัทนา เมื่อตั้งครรภ์จึงทรงสถาปนาเป็นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ซึ่งได้ประสูติพระราชธิดาคือสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา วันต่อมารัชกาลที่ 6 ซึ่งประชวรพระอันตะ (ลำไส้) มานานก็สวรรคตใน พ.ศ. 2468

1 ปีก่อนหน้านั้นได้ทรงตรากฎ มณเทียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์เพื่อวางกฎเกณฑ์การสืบราชสมบัติไว้เป็นระเบียบแบบแผน กฎหมายฉบับนี้ยังคงใช้คู่กับรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับสืบมาจนบัดนี้

เป็นอันว่าสิ้นรัชสมัย 15 ปีของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเป็นนักคิด นักเขียน จนทางการถวายพระราชสมญาว่าพระมหาธีรราชเจ้า แปลว่ากษัตริย์นักปราชญ์

ราชสมบัติข้ามไปตกแก่เจ้านายหนุ่ม ซึ่งอ่อนทั้งพระชนมายุและพระประสบการณ์ และไม่เคยคาดฝันว่าจะต้องขึ้นเป็นกษัตริย์ท่ามกลางมรสุมทางเศรษฐกิจ การเมือง และความรุนแรงทางความคิดของคนรุ่นใหม่ตลอดจนนักเรียนนอกที่หากพูดได้คงตะโกนว่า “We need Change!”.


วิษณุ เครืองาม

wis.k@hotmail.com


ติดตามต่อพรุ่งนี้ค่ะ.............


●● //www.dailynews.co.th/


Create Date : 06 กรกฎาคม 2554
Last Update : 6 กรกฎาคม 2554 1:55:12 น. 0 comments
Counter : 2140 Pageviews.

Turtle Came to See Me
Location :
พัทลุง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]





★ที่มา ล็อกอิน ★Turtle Came to See Me ★( บทกวี Poem )
เป็นหนังสือ สำหรับเยาวชน
★Turtle Came to See Me
แต่งโดย :Margrita Engle
★★★★



BlogGang Popular Award #11

BlogGang Popular Award #12
Friends' blogs
[Add Turtle Came to See Me's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.