คลังรีดรายได้108กองทุน รื้อพอร์ตสินทรัพย์ประเทศ2.68ล้านล.

"คลัง" ไล่บี้จัดระเบียบบริหารสินทรัพย์กองทุนนอกงบประมาณ 2.68 ล้านล้านบาท เผย รมช.คลัง "วิรุฬ" สั่งกรมบัญชีกลางเรียกเงินนำส่งรายได้จากกองทุน 108 แห่ง ที่มีรายรับคงเหลือ

ปีละราว 1 แสนล้านบาท นำร่องปีนี้ 36 ทุน คาดล้วงเงินเข้าคลังหมื่นล้านบาท ขณะที่ "กิตติรัตน์" ชี้เป็นแค่การบริหารเงินของหน่วยงานรัฐให้มีประสิทธิภาพ



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม ครม.เมื่อ 3 ก.ค. 2555 ได้รับทราบรายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2553 ของรัฐบาลกลางและหน่วยงานภาครัฐ กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวม 8,082 หน่วยงาน จากทั้งหมด 8,392 หน่วยงาน ซึ่งในส่วนของกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ 104,844 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26% ของรายได้รวม โดยมีรายได้ 390,396 ล้านบาท และค่าใช้จ่าย 285,551 ล้านบาท

เนื่องจากกองทุนและทุนหมุนเวียนมีการใช้ทรัพยากรบางส่วนร่วมกับส่วนราชการในรูปค่าใช้จ่ายแฝง ดังนั้น ที่ประชุม ครม.จึงเห็นควรว่าควรพิจารณาให้เงินทุนหมุนเวียนที่มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายนำเงินส่งคลัง เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจ

คลังล้วงเงินกำไร 108 กองทุน

แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งให้ทางกรมบัญชีกลาง สำรวจ และรายงานสถานะของกองทุนและทุนหมุนเวียน ที่ปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 108 ทุน ซึ่งหากมีรายได้ที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายก็ให้มีการนำส่งเข้าคลัง โดยอาจจะให้นำส่งในสัดส่วน 20-30% ของรายได้ให้กับกระทรวงการคลัง โดยในปีงบประมาณนี้คาดว่าจะเริ่มต้นที่ 36 ทุน โดยคาดว่าจะได้เงินเข้าคลังประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

"การขอเรียกเงินรายได้ส่วนเกินคืนจากกองทุนและทุนหมุนเวียนนั้น เคยมีการเสนอเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็น รมว.คลัง ตอนนั้นมีการขอเรียกเงินคืน 2-3 พันล้านบาท จากกองทุนน้ำบาดาล ที่อยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางกระทรวงทรัพย์ก็ได้หารือไปที่กฤษฎีกา สอบถามว่ากระทรวงการคลังมีอำนาจทำได้หรือไม่ แต่สุดท้ายกฤษฎีกาก็ตอบมาว่าทำได้" แหล่งข่าวกล่าว

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้รับคำสั่งจากฝ่ายนโยบายให้เร่งพิจารณาว่า กองทุนและทุนหมุนเวียนใดบ้างที่มีรายได้มาก แต่ไม่ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยฝากธนาคารไว้เฉย ๆ ก็ให้นำส่งคืนให้คลัง ซึ่งจะเริ่มจากทุนหมุนเวียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลังก่อน 36 ทุน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลข

รายงานข่าวระบุว่า กรณีที่จะเริ่มต้นจาก 36 ทุน เพราะทุนเหล่านี้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ซึ่งในมาตรา 13 ระบุว่า องค์กร

ใด ๆ ของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นแล้วก่อนหรือหลังประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ หรือจัดตั้งขึ้นใหม่ บรรดาที่ใช้ทุนหรือทุนหมุนเวียนนั้น ให้รัฐมนตรีสามารถกำหนดข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำทุนหรือผลกำไรเข้าบัญชีคงคลังในบัญชีที่ 1 ได้

เพิ่มประสิทธิภาพใช้เงินนอกงบฯ

อย่างไรก็ดี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า มติ ครม.คือการให้ไปดูการบริหารงานของทุนหมุนเวียนแต่ละแห่ง ว่าการบริหารเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งอาจไม่ได้เป็นการไปเรียกเงินส่งคืนคลัง เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้รับความยินยอมหรือไม่ แต่คลังมีหน้าที่ไปดูว่า ทรัพยากรทางการเงินของหน่วยงานรัฐทั้งหลาย ได้ถูกบริหารจัดการอย่างดี ตามประโยชน์ที่เป็นหน้าที่หลักของหน่วยงานต่าง ๆ

น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กระทรวงการคลังได้รายงาน ครม.ว่ามีแผนจะปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไรบ้าง ซึ่งทางกระทรวงการคลังเห็นว่าเงินที่กองทุนและทุนหมุนเวียนมีเก็บเอาไว้เองในจำนวนที่สูง

"อย่างกองทุนเหรียญกษาปณ์ของกรมธนารักษ์ มีการตั้งงบประมาณทำเหรียญ 100 ล้านบาท มีรายได้จากการขายเหรียญกษาปณ์ 200 ล้านบาท ปกติก็ต้องนำส่งคลังทั้งหมด แต่เขาบอกว่าต้องเก็บไว้เป็นทุนหมุนเวียน พอผลิตเหรียญได้เท่าไหร่ เงินก็นอนอยู่ที่นั่น ซึ่งเรื่องนี้ปล่อยมานานแล้ว ทำให้มีเงินสดเหลือเยอะ เราก็จะพยายามเรียกเงินสด หรืออย่างค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ที่เก็บค่าผ่านทาง เขาก็เก็บอย่างเดียว ไม่นำส่งคลัง" น.ส.สุภากล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2555 มีการประมาณการเงินสดคงเหลือของ 36 ทุน ว่าจะมีทั้งสิ้นเกือบ 1 หมื่นล้านบาท โดยการเรียกเงินนำส่งได้เสนอแนวทางให้ รมช.คลังพิจารณาแล้ว ซึ่งต้องมีการทำระบบนำส่งให้มีความโปร่งใส ทั้งนี้ จะให้นำส่งส่วนที่เป็นเงินคงเหลือ "เกินความจำเป็น" เท่านั้น ไม่ใช่ว่าเหลือเท่าไหร่ต้องส่งคืนทั้งหมด ซึ่งสามารถประเมินได้ โดยดูจากแผนการลงทุนในปีถัดไป

"คลังเห็นว่า ณ วันนี้จำนวนทุนมีเยอะมาก และเงินคงคลังเหลือก็เยอะมาก 4 แสนล้านบาท จึงควรจะมีการเซตระบบเหมือนรัฐวิสาหกิจ คือเรียกนำส่งทุกปี ไม่งั้นจะไปโชว์ยอดอยู่ในเงินคงคลัง แต่เป็นเงินคงคลังที่มีเจ้าของ ซึ่งนำมาใช้ไม่ได้

ดังนั้นแนวทางที่กำลังจะดำเนินการนี้จะปลดล็อกจากความเป็นเจ้าของ มาใส่เป็นเงินรายได้แผ่นดิน จะได้บริหารจัดการง่ายขึ้น ซึ่งทำได้ตามอำนาจ รมว.คลัง กฤษฎีกาตีความมาแล้ว ไม่เช่นนั้นเงินเหล่านี้ไปกองไว้เป็นรัฐอิสระหมด" แหล่งข่าวกล่าว

ชำแหละ 108 กองทุน 2.68 ล้าน ล.

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า กองทุนหรือทุนหมุนเวียน ซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณประเภทหนึ่ง ที่ตั้งขึ้นตามความจำเป็นของหน่วยงานรัฐหรือตามนโยบายของรัฐบาล โดยอาศัยอำนาจตาม

พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ซึ่งจากข้อมูลที่รายงาน ครม.ระบุว่า ปัจจุบันทุนหมุนเวียนมีอยู่ทั้งสิ้น 108 ทุน จำแนกได้ 5 ประเภท คือ 1.ทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืม 18 ทุน 2.ทุนหมุนเวียนเพื่อการจำหน่ายและการผลิต 17 ทุน 3.ทุนหมุนเวียนเพื่อการบริการ 6 ทุน 4.ทุนหมุนเวียนเพื่อการสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม 17 ทุน และ 5.ทุนหมุนเวียนเพื่อการสนับสนุน

ส่งเสริม 50 ทุน

โดยการจัดตั้งทุนหมุนเวียนมี 2 ลักษณะคือ จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เช่น เงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญและทำของ, เงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู, เงินทุนหมุนเวียนเพื่อจัดทำแผ่นป้ายทะเบียนรถ, เงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตและขยายพันธุ์พืช เป็นต้น

และจัดตั้งโดยกฎหมายเฉพาะ เช่น กองทุนประกันสังคม, กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นต้น

โดยในปีงบประมาณ 2554 พบว่ามีกองทุนและทุนหมุนเวียนรวม 108 ทุน มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย 4.6 หมื่นล้านบาท โดยมีรายได้ 3.69 แสนล้านบาท และมีค่าใช้จ่าย 3.22 แสนล้านบาท ปี 2553 มีจำนวน 102 ทุน รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย 1.03 แสนล้านบาท ปี 2552 มี 107 ทุน รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย 8.11 หมื่นล้านบาท และปี 2551 มี 95 ทุน รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย 1.05 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ทุนหมุนเวียนถือเป็นเงินนอกงบประมาณ ซึ่งปัจจุบันมี 108 ทุน มีสินทรัพย์รวมประมาณ 2.68 ล้านล้านบาท คิดเป็น 25% ของ GDP ในปี 2554 หรือ 129% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554

ทบทวนยุบเลิกกองทุนที่หมดภารกิจ

รายงานข่าวจากกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมได้ทำระบบประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนมาตั้งแต่ปีบัญชี 2547 โดยเริ่มต้นนำร่อง 10 ทุน และขยายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในปีบัญชี 2555 มีแผนที่จะประเมินผลทุนหมุนเวียนที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบประเมินผล ที่เหลืออีก 4 ทุน ได้แก่ กองทุนการพัฒนาพรรคการเมือง กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง กองทุนเพื่อการพัฒนาและเผยแพร่ประชาธิปไตย และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

จากการประเมินผลยังพบว่า มีทุนหมุนเวียนที่มีผลการปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์ต่ำติดต่อกันหลายปี หรือหมดความจำเป็นในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง หรือภารกิจมีความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ซึ่งกระทรวงการคลังเห็นว่าควรทบทวน ปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงาน รวมถึงพิจารณายุบเลิกหรือการยุบรวม เช่น เงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกู้ยืมเพื่อชำระหนี้สิน กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน เงินทุนหมุนเวียนดำเนินการโครงการผลิตถ่านหินเป็นพลังงานทดแทน เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย เงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา เงินทุนหมุนเวียนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และเงินทุนหมุนเวียนโรงงานในอารักษ์ เป็นต้น

บี้ธนารักษ์สำรวจที่ราชพัสดุ

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ครม.เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ยังได้มีมติให้กรมธนารักษ์ไปดำเนินการบันทึกที่ดินราชพัสดุให้ครบถ้วนเป็นปัจจุบัน เพื่อให้มีข้อมูลในการบริหารจัดการที่ราชพัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป เนื่องจากมีรายงานของผู้สอบบัญชีของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ว่าการบันทึกมูลค่าที่ดินราชพัสดุว่ามีกว่า 3.36 ล้านล้านบาท ไม่ได้แสดงมูลค่าตามราคาประเมินปัจจุบันให้ครบถ้วน

นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ธนารักษ์พื้นที่ทุกจังหวัดเร่งดำเนินการสำรวจที่ดินราชพัสดุ ทั้งส่วนที่เป็นอาคาร ทั้งการใช้ที่ดิน หรือโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ให้มีความเหมาะสม เป็นปัจจุบันมากที่สุด เพราะไม่ได้มีการสำรวจมานานแล้วก่อนตนเข้ามารับตำแหน่ง โดยสำรวจครั้งสุดท้ายก็กว่า 10 ปีก่อน ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เพื่อจัดทำแผนการใช้ที่ดินให้มีศักยภาพ

ขณะเดียวกันทางกรมธนารักษ์จะพิจารณาปรับปรุงกฎหมายการขอคืนที่ราชพัสดุที่ส่วนราชการไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะปัจจุบันเป็นกฎหมายเชิงบริหาร แต่ไม่มีอำนาจบังคับใช้ ดังนั้นแม้จะมีมติ ครม.ให้ส่วนราชการส่งมอบคืน แต่หลายหน่วยงานก็ไม่ยอมส่งคืน

นอกจากนี้ อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าวด้วยว่า กรมอยู่ระหว่างศึกษาการตีราคาที่ราชพัสดุที่อยู่ในความครอบครองของส่วนราชการต่าง ๆ ว่าแต่ละแปลงมีมูลค่าเท่าใด หากคิดค่าเช่าตามราคาตลาดจะเป็นเท่าใด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเรียกเก็บจากหน่วยราชการจริง แต่อาจจะมีผลกับการตั้งงบประมาณ

"กำลังศึกษา โดยคำนวณมูลค่าว่า ที่ดินที่อยู่ในความครอบครองของส่วนราชการนั้น ๆ ต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาทุกหน่วยงานใช้ฟรีหมด ไม่ได้เช่าแม้แต่บาทเดียว ซึ่งจะตีราคาให้เหมาะสมตามราคาตลาด เพื่อให้ส่วนราชการตระหนักว่า มีที่ดินราคาแพงอยู่ในมือ ต้องใช้ให้คุ้มค่า" นายนริศกล่าว

 * ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ *




Create Date : 09 กรกฎาคม 2555
Last Update : 9 กรกฎาคม 2555 14:06:00 น. 0 comments
Counter : 1521 Pageviews.

angelica0819
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2555
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
9 กรกฏาคม 2555
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add angelica0819's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.