พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2556
 
7 พฤศจิกายน 2556
 
All Blogs
 
มหากาพย์พระวิหาร บทสำคัญวันที่11เดือน11

มหากาพย์พระวิหาร บทสำคัญวันที่11เดือน11

จันท์เกษม รุณภัย



ปราสาทพระวิหารเป็นปมแห่งคดีระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้าน ไทย-กัมพูชาที่มีมาเนิ่นนาน



ในวันที่ 11 พ.ย. 2556 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก (ไอซีเจ) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีกำหนดออกบัลลังก์ เพื่ออ่านคำตัดสินกรณีที่รัฐบาลกัมพูชาเป็นฝ่ายร้องขอให้ศาล "ตีความ" คำพิพากษาปราสาทพระวิหารที่ได้ตัดสินไปแล้วเมื่อปี 2505



หากย้อนดูประวัติศาสตร์ของคดีคงทำให้ประเมินได้ว่าคดีจะยังไม่ปิดฉากเด็ดขาดในวันที่ 11 เดือน 11 หากแต่จะเป็นบทสำคัญในมหากาพย์ของคดีนี้



2442 ค้นพบปราสาท

ความเป็นมาของเรื่องปราสาทพระวิหารระหว่างไทยและกัมพูชานั้นเริ่มขึ้นในปี 2442 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงค้นพบปราสาทพระวิหาร ต่อมาในปี 2447 สยามและฝรั่งเศสจัดทำ "อนุสัญญากำหนดเขตแดนระหว่างสยาม-อินโดจีน" (รวมถึงพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่)



ในปี 2447-2550 คณะกรรมการปักปันผสมสยาม-ฝรั่งเศส ชุดที่ 1 ปักปันเขตแดนระหว่างสยาม-อินโดจีน ตามอนุสัญญา พ.ศ.2447



จากนั้น 1 ปีให้หลัง ฝรั่งเศสจึงจัดทำแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 (จำนวน 11 ระวาง) และจัดส่งให้ประเทศไทย แต่ไม่ได้รับรองโดยคณะกรรมการปักปันผสม



ในปี 2473 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จเยือนปราสาทพระวิหาร โดยมีข้าหลวงฝรั่งเศสต้อนรับ



ต่อมาในปี 2496 กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคม และในปี 2502 จึงฟ้องไทยต่อศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร



2505 คดีสู่ศาลโลก

กระทั่งเมื่อ 15 มิ.ย. 2505 ศาลโลกมีคำพิพากษาตัดสินให้ "อธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา" ให้ไทยถอนทหารและตำรวจออกจากปราสาทและบริเวณใกล้เคียงปราสาท รวมทั้งคืนวัตถุโบราณที่อาจได้นำออกมาจากปราสาทแก่กัมพูชาด้วย



คำพิพากษาครั้งนั้น ศาลโลกไม่ได้พิพากษาชี้ขาดเรื่องเส้นเขตแดนระหว่างประเทศทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ได้พิพากษาว่าเขตแดนจะต้องเป็นไปตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000



ส่งผลให้รัฐบาลไทยในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำพิพากษาของศาลโลก แต่ในฐานะสมาชิกสหประชาชาติ ไทยจะปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าว



ต่อมารัฐบาลไทยมีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 ก.ค. 2505 ว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าว จากนั้นกำหนดขอบเขตปราสาท คือ ทิศเหนือที่ระยะ 20 เมตร จากบันไดนาคไปทางทิศตะวันออกจนถึงช่องบันไดหัก และทิศตะวันตกที่ระยะ 100 เมตร จากแกนตัวปราสาทไปทางทิศใต้จรดขอบหน้าผา ตามด้วยการถอนทหารและตำรวจออกจากปราสาทพระวิหาร พร้อมเคลื่อนย้ายเสาธงออกจากพื้นที่ "โดยไม่เชิญธงชาติไทยลงจากยอดเสา" ในเวลา 12.00 น. วันที่ 15 ก.ค. 2505



เมื่อ 5 ม.ค. 2506 สมเด็จพระนโรดม สีหนุ เสด็จเยือนปราสาทพระวิหารในพิธีเข้าครอบครองปราสาทพระวิหารอย่างเป็นทางการ



2549 มรดกโลก

1.พื้นที่พิพาทที่สำนักข่าวต่างประเทศเสนอข่าว

มุมล่างขวา -ภาพจาก world-heritage-site.com



เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนและ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของประชาชนของทั้งสองชาติ จึงเป็นที่มาของ "คณะกรรมา ธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา" จัดตั้งขึ้นในปี 2540



ผลจากการประชุมเจบีซีหลายครั้ง ยังผลให้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-กัมพูชา เมื่อ 30 พ.ค.-1 มิ.ย. 2546 ในสมัยที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันที่จะร่วมมือพัฒนาเขาพระวิหารและบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทพระวิหาร



แต่ต่อมากัมพูชาได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ในวันที่ 30 ม.ค. 2549 และที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ภายใต้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก สมัยที่ 32 มีมติให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก



เหตุการณ์ความตึงเครียดและการปะทะตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ในพื้นที่ใกล้ปราสาทพระวิหาร ในสมัยของรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเลวร้ายลง แม้มีความพยายามเจรจากันหลายครั้งแต่ประสบผลล้มเหลว และยังคงเกิดเหตุปะทะระหว่างกองทัพของทั้งสองฝ่ายเรื่อยมาจนกระทั่ง



เมื่อ 14 ก.พ. 2554 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ประชุมเกี่ยวกับกรณีเหตุการณ์ปะทะตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา โดยประธานการประชุมได้ออกแถลงข่าวเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความอดทน อดกลั้นและยุติการปะทะอย่างถาวรโดยเร็ว รวมทั้งให้มีการเจรจาโดยให้อาเซียนมีบทบาทสนับสนุน



Vicinity - ปมแห่งคดี

แต่จากนั้นกัมพูชากลับตัดสินใจยื่นขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 และขอให้ศาลโลกออกคำสั่งมาตรการชั่วคราว เมื่อ 28 เม.ย. 2554 โดยหัวใจหลักที่ฝ่ายกัมพูชาต้องการให้ศาลโลกตีความนั้นคือ "บริเวณปราสาทพระวิหาร" หรือ Vicinity - วิซินิตี้ ว่ามีขอบเขตแค่ไหน โดยอ้างเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 (แผนที่ภาคผนวก 1)



ไทยจำเป็นต้องไปให้การต่อศาลเพื่อต่อสู้คดี เนื่องจากตามข้อ 53 ของธรรมนูญศาลโลก



นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อธิบายว่า ข้อ 93 วรรค 1 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ ระบุว่า "สมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติเป็นภาคีธรรมนูญแห่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยพฤตินัย" หมายความว่าไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ย่อมมีผลให้ไทยเป็นภาคีศาลโลกโดยปริยาย เพราะฉะนั้นทางเดียวที่ไทยจะถอนตัวออกจากภาคีศาลโลกนั้น คือไทยต้องถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติ



เมื่อ 18 ก.ค. 2554 ศาลโลกมีคำสั่งมาตรการชั่วคราว 4 ประการ รวมถึงการกำหนดเขตปลอดทหารชั่วคราวรอบปราสาทพระวิหาร เนื้อที่ประมาณ 17.3 ตารางกิโลเมตร



ในการสู้คดีนั้น เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2556 ศาลโลกเริ่มการนั่งพิจารณาด้วยการรับฟังถ้อยแถลงของกัมพูชาซึ่งเป็นฝ่ายยื่นคำขอตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 ด้วยเหตุผลที่ว่าคำพิพากษาดังกล่าวมีความไม่ชัดเจนในประเด็นที่กำหนดให้ไทยถอนทหารจากปราสาทและบริเวณใกล้เคียง และทั้งสองฝ่ายมีความเห็นแตกต่างกันว่าบริเวณใกล้เคียงปราสาทซึ่งไทยต้องถอนกำลังออกไปมีขอบเขตเพียงใด

1.-2.พื้นที่รอบปราสาท

3.สื่อการ์ตูนเผยแพร่ความเข้าใจในคดี

4.ตัวแทนกระทรวงบัวแก้วและกองทัพไปทำความเข้าใจกับประชาชน





ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ศาลจะมีอำนาจตีความได้ก็ต่อเมื่อคู่กรณีมีข้อพิพาทกันเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาเดิม ซึ่งไทยได้ต่อสู้ไปก่อนหน้านี้ในชั้นข้อเขียนว่า ศาลไม่สามารถตีความได้เนื่องจากคำพิพากษาเดิมมีความชัดเจนอยู่แล้วและไทยกับกัมพูชาไม่ได้มีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับคำพิพากษา



การสู้คดีของกัมพูชา

กัมพูชาพยายามโน้มน้าวให้เห็นว่าศาลมีอำนาจที่จะตีความในคดีนี้ เนื่องจากเข้าเงื่อนไขต่างๆ ที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนด กล่าวคือไทยและกัมพูชามีความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่า เมื่อปี 2505 ศาลได้ตัดสินประเด็นเรื่องเขตแดนและสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 แล้วหรือไม่



กัมพูชายกเอกสารหลักฐานหลายชิ้นเพื่อพิสูจน์ว่ากัมพูชาได้คัดค้านรั้วลวดหนามที่ไทยได้จัดทำขึ้นเมื่อปี 2505 (เพื่อกันขอบเขตปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา) ตามมติคณะรัฐมนตรีของไทย เพื่อหักล้างข้อต่อสู้ของไทยที่อ้างว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างครบถ้วนและกัมพูชาก็ได้ยอมรับการปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวของไทยแล้ว



นอกจากนั้น กัมพูชาต้องการชี้ให้ศาลเห็นว่าเส้นมติคณะรัฐมนตรีปี 2505 และแนวรั้วลวดหนามเป็นการตีความฝ่ายเดียวของไทย ซึ่งไม่สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาล



กัมพูชาเน้นย้ำว่า กัมพูชารวมถึงสมเด็จนโรดมสีหนุไม่เคยยอมรับรั้วลวดหนามที่ไทยได้สร้างขึ้นเมื่อปี 2505 ตามมติคณะรัฐมนตรีของไทย เพื่อหักล้างข้อต่อสู้ของไทยที่อ้างว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้วและกัมพูชาก็ได้ยอมรับการปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวของไทยแล้ว รวมทั้งชี้ว่าเส้นมติคณะรัฐมนตรี ปี 2505 และแนวรั้วลวดหนามเป็นการตีความฝ่ายเดียวของไทยซึ่งไม่สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาล



กัมพูชาขอให้ศาลชี้ให้ชัดว่าขอบเขตของปราสาทพระวิหารบนดินแดนของกัมพูชาจะต้องเป็นไปตามเส้นเขตแดนบนแผนที่ภาคผนวก 1 เนื่องจากแผนที่ดังกล่าวระบุในส่วนเหตุผลของคำพิพากษาในคดีเดิม และเป็นเหตุผลสำคัญเหตุผลเดียวที่จะทำให้เข้าใจคำพิพากษาได้



โดยศาลในคดีเดิมระบุด้วยว่าไทยยอมรับว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1 ตั้งแต่ปี ค.ศ.1908-1909 และการที่ไทยบอกว่า ศาลไม่ได้ตัดสินว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1 เปรียบเสมือนไทยเองเป็นฝ่ายต้องการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาคดีเดิม



การหักล้างจากไทย

ด้านฝ่ายไทยระบุว่า คำร้องของกัมพูชาที่ขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีดังกล่าว ไม่เข้าเงื่อนไขตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาล และด้วยเหตุนี้ ศาลไม่มีอำนาจที่จะตอบคำขอนั้น และ/หรือรับคำขอนั้นไว้พิจารณาได้ หรือหากศาลเห็นว่าตนมีอำนาจ ไทยก็ขอให้ศาลตัดสินว่าไม่มีเหตุผลที่จะตัดสินตามคำร้องของกัมพูชาที่ขอให้แสดงความเข้าใจความหมายของคำพิพากษา และไม่มีเหตุผลที่จะตีความคำพิพากษาปี 2505



นอกจากนี้ ไทยยังขอให้ศาลชี้ขาดอย่างเป็นทางการว่าคำพิพากษาปี 2505 ไม่ได้วินิจฉัยเส้นเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชาโดยมีผลผูกพัน และไม่ได้กำหนดขอบเขตของบริเวณใกล้เคียงปราสาท



หมัดเด็ดหนึ่งของไทย คือ การที่ไทยชี้ให้ศาลเห็นถึง "ความไม่เสมอต้นเสมอปลาย" ของกัมพูชา เกี่ยวกับแผนที่ซึ่งกัมพูชานำมาอ้างอิงเส้นเขตแดน โดยวาดขึ้นเองตามอำเภอใจและขัดแย้งกันกับแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาเคยแนบฟ้องไปในคดีเดิม เมื่อปี 2505 กัมพูชาอ้างอิงเส้นซึ่งแสดงสันปันน้ำจริงตามความเข้าใจของตนเพื่อพิสูจน์ว่าปราสาทอยู่ในฝั่งกัมพูชา แต่กัมพูชาในวันนี้กลับอ้างอิงเส้นสมมติเส้นหนึ่งเพื่อพิสูจน์อะไรอย่างอื่น



นอกจากนี้ยังระบุว่า กัมพูชาในปี 2505 และ 2506 ยังได้แสดงความพึงพอใจอย่างเป็นทางการ ต่อเส้นมติครม.ไทย ปี 2505 ดังที่ปรากฏในพื้นที่เป็นรั้วลวดหนามและป้ายต่างๆ แต่กัมพูชาในวันนี้ปฏิเสธว่า ไม่เคยรับทราบเรื่องนี้เลยจนกระทั่งปี 2550



ทั้งที่เคยแถลงในระดับสูงสุดของอำนาจรัฐว่า ความแตกต่างระหว่างเส้นมติคณะรัฐมนตรีไทยกับการอ้างสิทธิของตนในคดีเดิม คือเส้นภาคผนวก 66 ซีนั้น เป็นแค่เพียง "ไม่กี่เมตร" และ ไม่ว่าอย่างไรก็ถือว่า "ไม่สำคัญ" และมีผลน้อยมาก กัมพูชาในวันนี้กลับมาที่ศาลไม่ใช่เพื่ออ้างสิทธิเหนือพื้นที่ไม่กี่เมตรนี้ แต่เพื่อเรียกร้องพื้นที่ที่ใหญ่กว่ามาก คือประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร



11 พ.ย. และจากนั้น

ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าคณะสู้คดีฝ่ายไทย และ นาย สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศนำทีม พร้อมด้วย ศาสตราจารย์อแลง เปลเลต์ ศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ด และ ศาสตราจารย์โดนัลด์ แม็กเร จะไปร่วมฟังคำตัดสินที่ศาลโลก



นายวีรชัยคาดไว้ว่า ศาลอาจจะมีคำตัดสินออกมากว้างๆ 4 แนวทาง ได้แก่



1) ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดี



2) ศาลมีคำพิจารณาออกมาตามที่ฝ่ายกัมพูชาขอ



3) ศาลมีคำพิจารณาออกมาตามที่ฝ่ายไทยขอ



หรือ 4) ศาลมีคำพิจารณาออกมากลางๆ เพื่อให้ไปเจรจากันต่อ



"สำคัญคือการเตรียมพร้อมของฝ่ายไทยต่อการตัดสินของศาลตามแนวทางต่างๆ ที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะการจะมีกลไกตั้งขึ้นมาเพื่อให้เกิดความพร้อมในการพูดคุยกับฝ่ายกัมพูชา เพราะทั้งสองฝ่ายตกลงกันแล้วว่า ไม่ว่าศาลโลกจะมีคำตัดสินออกมาอย่างไรจะร่วมมือกัน และที่สำคัญคือจะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง" นายวีรชัยกล่าวทิ้งท้าย



เพราะการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกของประชาชนทั้งสองชาติย่อมสำคัญกว่าเส้นสมมติบนกระดาษไม่ว่าแผ่นไหนก็ตาม



Create Date : 07 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2556 8:04:15 น. 0 comments
Counter : 735 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.