พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2556
 
1 พฤศจิกายน 2556
 
All Blogs
 
ตะลึง! 'ปืนใหญ่' 8 กระบอกโผล่วังหน้า นักโบราณคดีชี้เป็นโรงทหารเก่า

ตะลึง! 'ปืนใหญ่' 8 กระบอกโผล่วังหน้า นักโบราณคดีชี้เป็นโรงทหารเก่า

ตะลึงขุดพื้นที่วังหน้า พบปืนใหญ่ 8 กระบอก พร้อมกระสุนอีกเพียบ นักโบราณคดีตรวจสอบแล้ว เผยไทยนำปืนเข้ามาใช้งานตั้งแต่สมัยอยุธยา ขณะที่พื้นที่ขุดพบเป็นโรงทหารเก่า สมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ กรมศิลป์นำขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ เตรียมอนุรักษ์เก็บรักษาไว้ในคลังพิพิธภัณฑ์พระนคร...

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่กรมศิลปากร นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า จากการที่กลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดี สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดี ในพื้นที่สนามด้านข้างของพระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในปีงบประมาณ 2556 ซึ่งจากการขุดค้น เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งจากบริษัทนอร์ทเทิร์นซัน จำกัด ผู้รับจ้างว่า การดำเนินการขุดค้นในพื้นที่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของสนามด้านข้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ได้พบกองปืนที่มีขนาดและลักษณะต่างๆ กัน รวม 8 กระบอก พร้อมลูกกระสุนปืนจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้คณะนักโบราณคดี เข้าไปตรวจสอบ พร้อมทั้งรายงานกลับมาว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ซึ่งตามหลักฐานตำนานวังหน้า จากพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงการใช้พื้นที่บริเวณนี้ ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพื้นที่ตรวจแถวทหารประจำวัง และโรงทหาร อีกทั้งยังปรากฏในแผนที่ช่วงสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2430 และแผนที่ช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พ.ศ.2461 ว่าเป็นที่ตั้งของอาคารโรงทหาร

นายเอนก กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบตำแหน่งของการขุดพบกลุ่มปืนใหญ่ขนาดต่างๆ พร้อมลูกกระสุนปืนนั้น พบว่า อยู่ด้านนอกของส่วนฐานรากอาคาร ที่สันนิษฐานว่าเป็นโรงทหาร มีการวางกองกันไว้อย่างไม่เป็นระเบียบ มีลักษณะเป็นปืนใหญ่ที่มีขนาดกระบอกปืนเล็ก บางกระบอกเป็นปืนประเภทปืนหลังช้าง หล่อด้วยสำริด และเหล็ก ขนาดกระบอกยาว ประมาณ 75-100 เซนติเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางปากกระบอกปืน ประมาณ 10-15 เซนติเมตร ลักษณะการยิงใช้ดินปืนเป็นตัวขับเคลื่อนลูกกระสุนปืน (ลูกเหล็กกลม) ใส่ลูกกระสุนปืนจากปากกระบอก แล้วจุดชนวนเพื่อให้ดินปืนขับลูกกระสุนออกไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ปืนใหญ่ดังกล่าวปรากฏมีการใช้ทั้งยุโรป และเอเชีย เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 และมีการพัฒนาศักยภาพการใช้งานอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยเริ่มมีการซื้อปืนใหญ่จากตะวันตก มาใช้ในการทหารนับตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามได้มีการสันนิษฐานว่า ปืนใหญ่ที่ค้นพบ อาจเป็นปืนที่ปลดประจำการแล้วและไม่สามารถใช้งานต่อไปได้ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อเนื่องถึงสมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ และเมื่อเปลี่ยนสภาพโรงทหาร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายหลังทรงโปรดเกล้าให้ยกเลิกตำแหน่งพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เมื่อปี 2429 อาคารโรงทหารดังกล่าวจึงเป็นส่วนแรกที่ถูกรื้อถอน พร้อมกับส่วนป้อมและกำแพงวัง ขณะที่อาวุธที่ไม่ได้ใช้งานเหล่านี้จึงถูกนำมากองไว้นอกอาคาร อย่างไรก็ตามภายหลังการตรวจสอบปืนใหญ่ที่พบแล้ว ทางกรมศิลปากร จึงได้นำบางส่วนไปขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ และให้ทางกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ดำเนินการอนุรักษ์ เพื่อใช้ประโยชน์ทางวิชาการ จากนั้นนำไปเก็บไว้ที่คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และจะนำมาจัดแสดงเพื่อเป็นองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์แก่ประชาชนในโอกาสต่อๆ ไป

“จากการขุดค้นในพื้นที่ดังกล่าว ยังได้พบสิ่งก่อสร้างด้วยอิฐสอปูน สร้างซ้อนทับกัน ซึ่งสอดคล้องกับตำแหน่งสันนิษฐานในการสำรวจข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ และการสำรวจทางธรณีวิทยาโบราณคดี สิ่งก่อสร้างด้วยอิฐนี้มีลักษณะเป็นส่วนฐานอาคาร ถนน รางระบายน้ำ ฯลฯ สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นอาคารโรงทหารที่มีการสร้างซ้อนทับกันหลายสมัย ทั้งยังพบหลักฐานทางโบราณคดีประเภทลูกกระสุนปืน เกือกม้า ฯลฯ อีกทั้งได้มีการสังเกตว่าสิ่งก่อสร้างดังกล่าวมีการรบกวนด้วยการขุดปรับพื้นที่เพื่อใช้ในกิจกรรมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในการสร้างเวทีสังคีตศาลา เมื่อปี 2505 เป็นต้นมา” นายเอนก กล่าว




Create Date : 01 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 1 พฤศจิกายน 2556 3:20:09 น. 0 comments
Counter : 1854 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.