พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2556
 
15 ตุลาคม 2556
 
All Blogs
 
โนราโรงครู (คอลัมน์ รู้ไปโม้ด น้าชาติ ประชาชื่น)

โนราโรงครู

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.com



โนราโรงครู ต่างจาก โนราธรรมดา อย่างไร ทำไมถึงชื่อโรงครู เป็นชาวภาคกลาง ไปสอนภาคใต้ อยากได้ความรู้เรื่องวัฒนธรรมพื้นบ้านเก็บไว้เป็นข้อมูล ขอบคุณค่ะ

ครูสุวดี

ตอบ ครูสุวดี

มีความรู้เรื่องโนราคู่ภาคใต้อยู่ในเอกสารของสำนักทรัพยากรการเรียนรู้ คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ว่าการรำโนราโรงครูเป็นการละเล่นที่เก่าแก่ของภาคใต้ นอกจากแสดงเพื่อความบันเทิงแล้วยัง เป็นพิธีกรรมความเชื่อทางพุทธศาสนาระดับชาวบ้าน ซึ่งผสมผสานกับลัทธิพราหมณ์และความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา รวมไปถึงเซ่นไหว้บรรพบุรุษ

โดยการเข้าทรงเป็นพิธีกรรมที่แสดงออกถึงคุณธรรมด้าน คารวธรรมที่มีความเคารพนับถือครูบาอาจารย์ กตัญญูรู้คุณ มีเมตตาธรรม ช่วยคลี่คลายปัญหาทางด้านร่างกายและจิตใจ และมีส่วนสำคัญในการสืบทอดรักษามรดกวัฒนธรรมศิลปะการเล่นโนราเอาไว้จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

โนราโรงครูคงมีมาพร้อมกับการกำเนิดโนรา บางท่านสันนิษ ฐานว่าเกิดครั้งยุคศรีวิชัย ทั้งนี้ ตำนานโนราในเขตจังหวัดพัทลุงกล่าวถึงการรำโนราโรงครูว่า เมื่อ นางนวลทองสำลี ถูกเนรเทศไปติดอยู่เกาะกะชัง (เชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของเกาะใหญ่ในทะเลสาบสงขลา) นางได้อาศัยอยู่กับตาพราหมณ์ ยายจันทร์

ครั้นพระยาสายฟ้าฟาดผู้เป็นพระบิดาให้รับนางคืนกลับเมือง นางได้รำโนราถวายเทวดาและตายายทั้งสองเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที การรำโนราถวายเทวดาและบูชาตายายของนางนวลทองสำลีครั้งนั้นถือว่าเป็นการรำโนราโรงครูครั้งแรก

ขณะที่ทางจังหวัดสงขลา โนราวัด จันทร์เรือง แห่ง ต.พังยาง อ.ระโนด เล่าว่า การรำโนราโรงครูครั้งแรกเป็นการรำของอจิตกุมาร ซึ่งเป็นบุตรนางนวลทองสำลี ตอนเข้าเฝ้าพระยาสายฟ้าฟาด ในพิธีได้พบพระพี่เลี้ยงที่ขจัดพลัดพรายกันตอนที่นางนวลทองสำลี ถูกเนรเทศลอยแพ ซึ่งพระพี่เลี้ยงก็ได้รำถวาย โดยตั้งพิธีโรงครู มีเครื่องสิบสองและของกินต่างๆ จัดพิธี 3 วัน 3 คืน โดยพระยาสายฟ้าฟาดได้ประทานเครื่องต้นให้เป็นเครื่องแต่งตัวโนรา



ศิลปินโนราจะต้องบูชาครูหมอ โดยการทำพิธี "ลงครู" หรือ "รำโนราโรงครู" พิธีกรรมนี้จะต้องเชิญครูหมอมารับเครื่องเซ่นไหว้ในโรงพิธี ที่เรียกกันว่าโรงครู โดยการตั้งเครื่องบูชาและจัดคนทรงให้ถูกถ้วนตามธรรมเนียมนิยม

ว่ากันว่าครูหมอบางท่านเข้าทรงในร่างคนทรงโดยง่าย บางท่านมาก่อนกำหนดทำเอาเจ้าภาพวิ่งกันโกลาหล แต่ครูหมอบางท่านแม้จะได้ทำพิธีเชิญนานสักเท่าใดก็ไม่ยอมรับคำเชิญ จนเจ้าภาพอ่อนใจ คนทรงอ่อนแรง

โนราโรงครูมี 2 ชนิดคือ โนราโรงครูใหญ่ และ โนราโรงครูเล็ก โนราโรงครูใหญ่เป็นพิธีที่จัดเต็มรูป ปกติจัด 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันพุธไปสิ้นสุดในวันศุกร์ และจะต้องจัดตามวาระ เช่น ทุกปี ทุก 3 ปี ทุก 5 ปี แล้วแต่จะกำหนด การรำเช่นนี้จำเป็นต้องใช้เวลาเตรียมการนาน ใช้ทุนทรัพย์ค่อนข้างสูง ตั้งแต่การปลูกสร้างโรง การติดต่อคณะโนรา การเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ และการเตรียมอาหารเพื่อจัดเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน

ส่วนโนราโรงครูเล็กคือ การรำโรงครูอย่างย่นย่อ ใช้เวลารำเพียง 1 คืนกับ 1 วันเท่านั้น ปกติจะเข้าโรงครูในตอนเย็นของวันพุธไปสิ้นสุดในวันพฤหัสบดี การรำโนราโรงครูเล็กมีจุดมุ่งหมายเช่นเดียวกับการรำโนราโรงครูใหญ่ แต่ไม่อาจทำพิธีให้ใหญ่โตได้เพราะมีปัญหาเรื่องเวลา ความไม่พร้อมในด้านต่างๆ

ดังนั้น เมื่อถึงวาระที่ต้องทำการบูชาครูหมอโนราหรือตายายโนราตามที่ได้ตกลงไว้ เช่น ถึงวาระ 3 ปี 5 ปี จึงได้ทำพิธีอย่างย่นย่อเสียก่อนสักครั้งหนึ่งเพื่อมิให้ผิดสัญญาต่อครูหมอโนรา การทำพิธีอย่างย่นย่อนี้เรียกว่า รำโรงครูเล็ก หรือ ค้ำครู หรือโรงแก้บนค้ำครู แต่พิธีกรรมที่ถือว่าสำคัญ โดยเฉพาะการครอบเทริด หรือผูกผ้าใหญ่ จะจัดในพิธีโรงครูใหญ่เท่านั้น



Create Date : 15 ตุลาคม 2556
Last Update : 15 ตุลาคม 2556 11:12:35 น. 0 comments
Counter : 1339 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.