พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2555
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
26 มิถุนายน 2555
 
All Blogs
 
ปฐมบทพระพุทธรูป

ปฐมบทพระพุทธรูป

ปฐมอุบัติของพระพุทธรูปองค์แรกในโลกนั้น ต้องนับเนื่องจากการเข้ายึดอาณาจักรเปอร์เซีย โดย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ มหาราชกษัตริย์กรีก แห่ง มาซิโดเนีย (Macedonia) ก่อนคริสตกาลราว 330 ปี ข้ามเทือกเขาฮินดูกูฐ ยึดตักกสิลาและแคว้นปัญจาบของอินเดีย ทำให้อารยธรรมกรีก-โรมัน เข้ามามีอิทธิพลในบักเตรีย (Bactria) และคันธารราฐ แม้จะถูกพระเจ้าจันทรคุปต์ ราชวงศ์โมริยะ ขับไล่ออกไปในเวลาต่อมาก็ตาม

ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช อินเดียเป็นผู้นำทางการเผยแผ่พุทธศาสนา พระองค์ขยายอาณาเขตยึดบักเตรีย และสถาปนาพุทธศาสนาโดยส่งมัชฌันติกเถระและมหารักขิตเถระมายังดินแดนแถบนี้ พระองค์ทรงสร้างสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนามากมาย อาทิ ธรรมจักรกับกวางหมอบแทนการปฐมเทศนา ที่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน, แท่นดอกบัวแทนการประสูติ, พระสถูปแทนการปรินิพพาน หรือการสร้างรอยพระพุทธบาท หากยังมิได้มีการสร้างพระพุทธรูปแต่ประการใด

เมื่อสิ้นสมัยของพระองค์ ผู้เลื่อมใสศาสนาพราหมณ์เข้ามามีอำนาจแทนที่ ช่วงนี้นับเป็น "กลียุค" ของพุทธศาสนาในอินเดีย จนกระทั่งแม่ทัพกรีกชื่อ เมนันเดอร์ (Menander) หรือรู้จักกันดีในชื่อพระเจ้ามิลินท์ ผู้ถกเหตุผลทางพุทธศาสนากับพระนาคเสนใน "มิลินทปัญหา" ได้ยึดครองบักเตรีย อิทธิพลของการนับถือรูปเคารพเยี่ยงกรีกและโรมันจึงได้แพร่หลายไปตามแถบลุ่มแม่น้ำคาบูลและสินธุ ในแคว้นคันธารราฐ และหลังพุทธศตวรรษที่ 6 พระเจ้ากนิษกะ แห่งราชวงศ์กุษาณะ ได้ยึดครองคันธารราฐ พระองค์ทรงประกาศตัวเป็นองค์อุปถัมภกพระพุทธศาสนาและแก้ไขดัดแปลงศิลปะพระพุทธรูปขึ้น

จึงกล่าวได้ว่า พระพุทธรูปองค์แรกในโลกอุบัติขึ้นในแคว้นคันธารราฐ โดยได้รับอิทธิพลของกรีก-โรมัน ทั้งด้านความเชื่อในการสร้างรูปเคารพและศิลปะผสมผสานอยู่ในระดับสูง อันนับเป็นการกำหนดพุทธลักษณะของพระพุทธองค์ในลักษณาการเยี่ยงมนุษย์ครั้งแรกในโลก พระพุทธปฏิมากรรมรุ่นแรกๆ ที่ปรากฏจึงดูคล้ายเทพเจ้าต่างๆ เช่น ซีอุส อพอลโล โดยมี พระนาสิกโด่ง พระมัสสุดกงาม พระเกศาหยิกเป็นลอน เยี่ยงฝรั่งชาติกรีก ส่วนจีวรเป็นริ้วธรรมชาติแบบประติมากรรมโรมัน

ลักษณาการของพระพุทธรูปนั้น ช่างได้สร้างขึ้นตามทฤษฎีมหาบุรุษ เพื่อให้พระพุทธรูปดูแตกต่างจากมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้นิพนธ์ในตำนานพุทธเจดีย์ ว่า

"...ในขณะเมื่อแรกคิดแบบพระพุทธรูปนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วหลายร้อยปี รูปพรรณสัณฐานของพระพุทธองค์จะเป็นอย่างไรก็ไม่มีตัวผู้เคยเห็น มีแต่คำบอกกล่าว... เช่นว่ามีลักษณะอย่างมหาบุรุษในคัมภีร์มหาปุริสลักขณของพราหมณ์ ซึ่งแต่งไว้แต่ก่อนพุทธกาล...ถ้าทำเป็นพระพุทธรูปแต่เป็นอย่างสมณะก็จะสังเกตยากว่าพระพุทธรูปหรือรูปพระสาวก... พระพุทธรูปจึงมีพระเกตุมาลาด้วยประการฉะนี้..."

พระพุทธรูป จึงถือเป็นสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พุทธศาสนิกชน ทุกชาติทุกภาษากราบไหว้บูชา เพื่อระลึกถึงคำสั่งสอนของพระองค์ แต่ด้วยเหตุที่การสร้าง "พระ พุทธรูป" ได้ล่วงเลยเวลาที่พระพุทธองค์ปรินิพพานมานาน ทำให้การสร้างยึดตามแบบคัมภีร์ อันจะน้อมนำไปสู่คำสั่งสอนของพระพุทธองค์มากกว่าที่จะสร้างให้เหมือนจริง ต่อมามีผู้นิยมสร้างพระพุทธรูปกันอย่างแพร่หลาย และคิดทำเป็นพระพุทธรูปปางต่างๆ หลายปาง ตามเรื่องราวและอิริยาบถต่างๆ ในพุทธประวัติ

สำหรับสยามประเทศ มีหลักฐานการสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ มาตั้งแต่สมัยทวารวดี มีการกำหนดพระพุทธรูปปางต่างๆ ประจำวันตามนพเคราะห์ สำหรับสักการบูชาเนื่องด้วยพิธีทักษา สืบเนื่องจากศาสนาพราหมณ์เข้ามามีอิทธิพลในด้านความเชื่อที่ว่า เทพเจ้ากำหนดดวงชะตามนุษย์โลก

ดังนั้น การบูชาเทพเจ้าจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ โดยศาสนาพุทธยึดเอาคุณพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง และเมื่อเกิดเคราะห์หามยามร้ายก็จะกำหนดเอาพระปริตรเข้ามาสวดคุ้มครอง และตกแต่งพระปริตรแต่ละบทให้เข้ากับเรื่องราวของเทวดาแต่ละองค์ไปแทนโศลก (บทสวดของพราหมณ์) และกำหนดพระพุทธรูปปางต่างๆ ให้ตรงกับเทวดาที่เข้ามาเสวยอายุ ดังต่อไปนี้

พระอาทิตย์ ปางถวายเนตร เป็นพระพุทธรูปยืน พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานทับกันอยู่หน้าพระเพลา พระหัตถ์ขวาประกบทับพระหัตถ์ซ้าย ลืมพระเนตรทั้งสอง อยู่ในพระอาการสังวร

พระจันทร์ ปางห้ามสมุทร เป็นพระพุทธรูปยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองป้องไปข้างหน้า

พระอังคาร ปางไสยาสน์ หรือ ปางปรินิพพาน เป็นพระพุทธรูปนอนตะแคงข้างขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย ฝ่าพระ หัตถ์ขวารองรับพระเศียร พระกรซ้ายทาบไว้บนพระปรัศว์ซ้าย พระบาทซ้ายซ้อนไว้บนพระบาทขวา เหยียดปลายพระบาทเสมอกันทั้งสองข้าง

พระพุธ ปางอุ้มบาตร เป็นพระพุทธรูปยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างประคองบาตร มีบาตรวางอยู่ที่ฝ่าพระหัตถ์ทั้งสอง

พระพฤหัสบดี ปางสมาธิ เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสอง พระ หัตถ์ขวาซ้อนบนพระหัตถ์ซ้าย และ

พระศุกร์ ปางรำพึง เป็นพระพุทธรูปยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานพระอุระ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายเป็นกิริยารำพึง

คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง
โดย ราม วัชรประดิษฐ์




Create Date : 26 มิถุนายน 2555
Last Update : 26 มิถุนายน 2555 9:50:21 น. 0 comments
Counter : 4211 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.