Pollock ชีวิตนอกกรอบ



Pollock
ชีวิตนอกกรอบ

Starpics Movie Edition ฉบับที่ 578 มีนาคม 2545


*หลังจากได้ชม Pollock (2000) หนังที่เล่าเรื่องราวชีวิตจริงของ แจ๊คสัน พอลล็อค จิตรกรชาวอเมริกันจบลง ทำให้นึกขึ้นได้ว่าในกระบวนหนังแนวชีวประวัตินั้น มีอยู่ไม่น้อยที่เป็นเรื่องราวของศิลปินหลากหลายแขนง พร้อมกับเกิดคำถามว่าผู้สร้างหนัง(ผู้เขียนบท-ผู้กำกับ-ผู้อำนวยการสร้าง) สร้างหนังประเภทนี้เพื่ออะไร และชีวิตของศิลปินที่นำมานำเสนอนี้มี “คุณค่า” อย่างไรแค่ไหนถึงได้ถูกบันทึกบนแผ่นฟิล์ม

หนึ่งในเหตุผลสำคัญของการสร้างคงเป็นการยกย่อง เพราะในเมื่อหนังจัดเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง จึงเป็นไปได้ที่กลุ่มผู้สร้างหนังจะมีความสนใจในศิลปะที่ใกล้เคียงกัน จนถึงกับได้รับอิทธิพลหรือแรงบันดาลใจจากผลงานของศิลปิน หนังที่เริ่มต้นด้วยเหตุผลนี้จึงค่อนข้างมีความเป็นส่วนตัว มีเนื้อหาแสดงถึงวิธีการ อุปสรรคต่างๆ หรือแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานของศิลปิน ซึ่งถึงที่สุดแล้วผู้ชมจะรู้สึกได้ถึงการชื่นชมยกย่องต่อศิลปินคนนั้นๆ เช่น The Doors (1991) หนังของ โอลิเวอร์ สโตน ที่แสดงความเคารพต่อ จิม มอร์ริสัน และวง เดอะ ดอร์ส และ Chaplin (1992) ว่าด้วยชีวิตของ ชาร์ลี แชปลิน

ขณะเดียวกัน การบอกเล่าชีวิตของศิลปินจะเพื่อการยกย่องอย่างเดียวหรือไม่ก็ตาม ประวัติชีวิตของศิลปินจะต้องมีแง่มุมน่าสนใจจนแปลงเป็นบทหนังที่ดีได้ อาจเล่าเรื่องราวยาวนานหลายปี ครอบคลุมช่วงที่ตกต่ำและประสบความสำเร็จ เช่น The Buddy Holly Story (1978) ประวัติชีวิตของ บัดดี้ ฮอลลี่ หรือจับเฉพาะช่วงเวลาหรือแง่มุมหนึ่งที่น่าหยิบยกมาพูดถึง ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถของศิลปินเลยก็ได้ เช่น Surviving Picasso (1996) และ In Love and War (1996) ซึ่งว่าด้วยความรักของศิลปินดัง พาโบล ปิกัสโซ่ และนักเขียนใหญ่ เออร์เนสต์ เฮมมิ่งเวย์ ตามลำดับ

เห็นได้ว่าศิลปินที่เป็นตัวละครในหนังลักษณะนี้เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ดังนั้น คุณค่าของหนังจึงอยู่ที่การสะท้อนภาพชีวิตของศิลปินซึ่งเป็นที่สนใจอยู่แล้วนั่นเอง ขณะที่บางเรื่องได้เพิ่มคุณค่าขึ้นด้วยการชูหรือแฝงประเด็นทางสังคม วัฒนธรรม หรือการเมือง เช่น Quills (2000) เรื่องของ มาร์กีส์ เดอ ซาด ที่ชูประเด็นอิสรภาพทางความคิดและการกระทำ และ Before Night Falls (2000) โศกนาฏกรรมของ เรนัลโด้ อารีนาส กวีเกย์ชาวคิวบาซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองภาพรวมของหนังชีวประวัติศิลปินจะพบว่าต่างมีจุดร่วมสำคัญ คือศิลปินซึ่งเป็นตัวละครเอกล้วนแต่มีบุคลิกแปลกแยก เปลี่ยวเหงา จิตใจอ่อนไหว และประพฤติตนโดยไม่แยแสกฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานใดๆ จนคนอื่น(รวมทั้งผู้ชม) ไม่อาจเข้าใจได้แน่ชัด

*Pollock ชีวประวัติของ แจ๊คสัน พอลล็อค ก็อยู่ในกรอบคิดเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น เริ่มจากเหตุผลในการสร้างคือเพื่อยกย่อง โดย เอ๊ด แฮร์ริส ซึ่งรับบทเป็นพอลล็อคและลงมือกำกับเองเป็นเรื่องแรก มีความฝังใจในตัวจิตรกรผู้นี้และพยายามผลักดันสร้างหนังเรื่องนี้มาตลอด 15 ปี นับตั้งแต่พ่อของเขาบอกว่าแฮร์ริสมีส่วนคล้ายพอลล็อคมาก พร้อมกับมอบหนังสือ Jackson Pollock : An American Saga ให้อ่าน และหนังสือเล่มนี้นี่เองที่เป็นโครงเรื่องใช้ดัดแปลงเป็นบทหนัง

แล้ว แจ๊คสัน พอลล็อค เป็นใคร? ก่อนจะเข้าไปดูในส่วนของเนื้อหาของหนัง ขอบอกเล่าประวัติและผลงานของเขาสักเล็กน้อย

พอลล็อคเกิดที่รัฐไวโอมิ่ง เมื่อปี 1912 เรียนศิลปะที่ Manual Arts High School ในลอสแองเจลิส ก่อนศึกษาต่อที่สถาบัน Art Students League ในนิวยอร์ค ตลอดชีวิตพอลล็อคพบแต่ความผิดหวัง เขาเป็นคนอารมณ์ร้อน ไวต่อความรู้สึกมาก โดยเฉพาะต่อคำพูดวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของเขา เช่นครั้งหนึ่ง จิม สวีนีย์ แสดงความเห็นไว้ในบทความว่าพอลล็อคเป็นคนไม่มีหลักเกณฑ์ พอลล็อคโมโหมาก จึงลงมือเขียนภาพ Search for a Symbol แล้วหิ้วภาพนี้ไปพบสวีนีย์ พร้อมกับพูดว่า “ผมต้องการให้คุณเห็นว่า ภาพที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์เป็นอย่างไร” (ชะวัชชัย ภาติณธุ, ศิลปะศิลปิน หรือศิลปินศิลปะ, โอเดียนสโตร์ 2532, น.78-79)

เพราะนิสัยส่วนตัวเช่นนี้นี่เอง ที่ทำให้พอลล็อคลงมือทำงานอย่างจริงจังเพื่อแสดงตัวตนและลบคำสบประมาท จนเขาได้รับการยกย่องยอมรับว่าเป็นผู้นำขบวนการเขียนภาพแนวเอ็กเพรสชั่นนิสม์นามธรรม (abstract-expressionism) พร้อมกับเป็นต้นแบบสไตล์การเขียนภาพที่เรียกว่า จิตรกรรมแอ๊คชั่น (action painting) ด้วยการสาด เท หยด สลัดสีลงบนผ้าใบขนาดใหญ่ แสดงถึงความเคลื่อนไหวว่องไวและมีพลัง กระทั่งนิตยสารไทม์ให้สมญานามเขาว่า “แจ๊ค เดอะ ดริปเปอร์” (Jack the Dripper)

เรื่องราวของพอลล็อคเคยถูกสร้างเป็นหนังสารคดี 2 ครั้ง ครั้งแรกคือ Jackson Pollock (1987) โดยผู้กำกับ คิม อีแวนส์ อีกเรื่องหนึ่งชื่อ Jackson Pollock : Love and Death on Long Island (1999) โดย เทเรซ่า กริฟฟิธส์ เป็นประวัติชีวิตและผลงาน รวมทั้งภาพการทำงานของพอลล็อค นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์ ลี แครสเนอร์ เพื่อนๆ ศิลปินรุ่นหลัง รวมทั้งแฮร์ริส

สำหรับ Pollock หนังเริ่มต้นในปี 1941 เมื่อพอลล็อค (แฮร์ริส) ตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ ติดเหล้างอมแงม อาศัยอยู่กับ แซนดี้ (โรเบิร์ต นอตต์) พี่ชาย จนภรรยาของแซนดี้ไม่พอใจ ต้องพาแซนดี้และแม่ย้ายหนีไป จุดเปลี่ยนของชีวิตพอลล็อคคือการได้พบ ลี แครสเนอร์ (มาร์เซีย เกย์ ฮาร์เดน) จิตรกรหญิงผู้เชื่อมั่นในความสามารถของพอลล็อค แครสเนอร์แต่งงานกับเขาโดยมีข้อตกลงว่าพอลล็อคต้องเลิกดื่มเหล้าและมุ่งมั่นสร้างงานศิลปะ

ด้วยการหนุนหลังของแครสเนอร์ ผลงานของพอลล็อคจึงไปเข้าตา เพ็กกี้ กุกเกนไฮม์ (เอมี่ เมดิแกน) เจ้าของแกลลอรี่ใหญ่แห่งนิวยอร์ค ยอมจัดแสดงผลงานเดี่ยวให้พอลล็อค แม้จะขายภาพเขียนไม่ได้เลย แต่พอลล็อคก็เริ่มเป็นที่สนใจในวงการศิลปะ และเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้ค้นพบวิธีการสร้างงานรูปแบบใหม่ เมื่อต้องไปวาดผนังบ้านพักของกุกเกนไฮม์เป็นค่าตอบแทนตามสัญญา

หลังจากแต่งงานแล้ว พอลล็อคและแครสเนอร์ย้ายไปอยู่ที่ลอง ไอส์แลนด์ ชนบทอันสงบเงียบห่างไกลผู้คน ที่นี่เองที่พอลล็อคมีเวลาเต็มที่สำหรับทุ่มเทสร้างงานศิลปะ และพัฒนารูปแบบงานของเขาจนกลายเป็นสไตล์เฉพาะตัว เขาเริ่มมีชื่อเสียงเงินทอง มีกิจวัตรประจำวันที่เปลี่ยนไป แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ได้รับเหล่านี้กลับทำให้พอลล็อครู้สึกหวั่นไหว ที่สำคัญ...สิ่งที่เขาต้องการที่สุดแต่กลับไม่ได้คือลูก


ตลอดชีวิตช่วงหลัง พอลล็อคจมอยู่กับการดื่มเหล้า อารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว ไม่สนใจคนรอบข้างแม้กระทั่งแครสเนอร์ เขาหันไปคว้า รูธ (เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี่) หญิงสาวอ่อนวัยมาทดแทน กระทั่งเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ในปี 1956

จากเนื้อหาจะเห็นได้ว่าตัวตนของพอลล็อคก็คล้ายกับศิลปินคนอื่นๆ ที่เราเคยพบเห็นบ่อยครั้งในหนัง เรียกว่าเป็นแบบฉบับของตัวละครที่เป็นศิลปินไม่ว่าจะเป็นตัวละครสมมติหรือมีตัวตนจริงๆ ก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนไหวในจิตใจ และการยึดมั่นถือมั่นในตัวเองทำให้เป็นทุกข์ จนนำพาชีวิตให้ตกต่ำซ้ำเติมชะตากรรมของตน พอลล็อคก็เช่นกัน เขาหันเข้ามาเหล้า ทำร้ายตนเองจนพบจุดจบในที่สุด

แต่ไม่ว่าชีวิตจะเลวร้ายเช่นไร ศักยภาพในตัวศิลปินย่อมต้องแสดงออกมาเสมอ หนังได้จำลองภาพการทำงานของพอลล็อค ตั้งแต่การนั่งนิ่งจ้องมองความว่างเปล่าบนเฟรมภาพ ก่อนลงมือลงสีทั้งด้วยฝีแปรงและเทคนิคการเท สาด หรือสลัดสีอย่างรวดเร็วและรุนแรง ดุจอารมณ์ภายในที่ระเบิดออกมา กระทั่งภาพเสร็จสมบูรณ์ด้วยความรู้สึกที่พอลล็อคเปรียบเทียบว่าเหมือนเสร็จจากการร่วมรัก

พอลล็อคเคยเผยความรู้สึกของเขาถึงการสร้างงานศิลปะไว้เมื่อปี 1947 ว่า “บนพื้นห้อง ผมรู้สึกผ่อนคลายและรู้สึกถึงการเข้าไปใกล้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพเขียน เริ่มจากการเดินไปรอบๆ บนกรอบภาพ ลงสีจากทั้งสี่ด้าน กระทั่งไปอยู่ในภาพเขียนนั้นจริงๆ” ทุกครั้งที่พอลล็อคเขียนภาพจึงเหมือนกับว่าเขาได้ถอดเอาชีวิตจิตใจลงไปในภาพเขียน เป็นช่วงเวลาที่เขาสามารถควบคุมชีวิตตนเองได้ ต่างจากหลายฉากชีวิตนอกเวลาทำงานที่ใจเขากระเจิดกระเจิงไปจนไร้การควบคุม

การจำลองภาพการทำงานของพอลล็อคในหนังจึงช่วยเน้นย้ำให้เห็นว่าพอลล็อคมีชีวิตชีวาแค่ไหนขณะอยู่ในกรอบภาพ และต่างจากชีวิตนอกกรอบภาพอย่างไร

ย้อนกลับไปที่คำถามของผู้เขียนเกี่ยวกับเหตุผลในการสร้างและการหาคุณค่าของหนังแนวชีวประวัติศิลปิน เรารู้แล้วว่าแฮร์ริสสร้าง Pollock สืบเนื่องมาจากความฝังใจในอดีต ถือเป็นการแสดงความชื่นชมและยกย่องพอลล็อค แต่ในด้านคุณค่าของหนัง ถ้าเปรียบเทียบกับจิตรกรผู้มีชื่อเสียงทั้งรุ่นเก่าและร่วมสมัยหลายต่อหลายคน สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจศิลปะโดยตรงแล้ว คงไม่ได้นึกถึงชื่อพอลล็อคเป็นอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน

“คุณค่า” ของหนังแนวชีวประวัติอย่าง Pollock จึงไม่ใช่การสะท้อนภาพของศิลปินซึ่งเป็นที่สนใจของผู้ชมทั่วไป แต่เป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงหรือแนะนำให้รู้จักเสียมากกว่า ซึ่งแฮร์ริสก็ทำในจุดนี้ได้ดี เพราะนอกจากผู้ชมจะได้รู้จักพอลล็อคแล้ว ยังได้เห็นวิธีการทำงานศิลปะซึ่งแปลกและแตกต่างจากศิลปินคนอื่นๆ

แต่ถ้าดูเฉพาะเนื้อหา หนังเรื่องนี้ไม่ได้มีความแปลกใหม่หรือแตกต่างจากหนังแนวชีวประวัติเรื่องอื่นๆ ยังไม่ต้องพูดถึงการมองคุณค่าจากมุมกว้างผ่านชีวิตของพอลล็อค ยกตัวอย่างเช่นนิวยอร์คยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือแวดวงศิลปะในยุคนั้น เพราะยากที่จะเห็นอะไรชัดเจนจากหนังที่ให้ตัวละครเป็นตัวดำเนินเรื่องในลักษณะเป็น “ผู้กระทำ” ตลอดเวลาเช่นเรื่องนี้


ดังนั้น คนที่ได้รับประโยชน์หรือคุณค่าจากหนังไปเต็มๆ จึงเป็นใครไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ผู้ผลักดันสร้าง Pollock มาตลอดอย่างแฮร์ริส เพราะนอกจากจะเป็นการยกย่องศิลปินที่เขาชื่นชมแล้ว การที่แฮร์ริสสวมบทเป็นพอลล็อคเสียเอง ยังเป็นการสนับสนุนความเห็นของพ่อของเขาที่ว่าแฮร์ริสเหมือนพอลล็อคมาก ไม่เพียงการแสดงเป็นพอลล็อคในหนังของตนเองเท่านั้น แฮร์ริสยังจำลองฉากบางฉากในหนังปี 1951 ของ ฮันส์ นามุท ที่บันทึกภาพการทำงานของพอลล็อคมาใส่ไว้ในหนัง โดยมีเขาเป็นผู้สวมทับท่วงท่าอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปิน แทนการยกฟุตเตจจากหนังเรื่องดังกล่าวมาใส่ไว้เลยเพื่อความสมจริง

สำหรับการกำกับของแฮร์ริส แม้บทหนังจะขาดความน่าสนใจในด้านความแปลกใหม่ แต่ฝีมือการทำงานหลังกล้องครั้งแรกของเขาถือว่าทำได้ในระดับที่น่าชื่นชม แฮร์ริสทำให้สองตัวละครนำคือพอลล็อคและลี แครสเนอร์ นำพาหนังให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ดึงผู้ชมไว้ด้วยการแสดงอันเปี่ยมพลังของเขาเองและ มาร์เซีย เกย์ ฮาร์เดน จนทั้งสองทะลุเข้าชิงออสการ์เมื่อปี 2001 และสุดท้ายฮาร์เดนเป็นผู้สมหวังกับรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ส่วนแฮร์ริสได้รางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์โตรอนโตเป็นการปลอบใจ

ความสำเร็จเล็กๆ นี้พร้อมกับการได้ทำความต้องการของตนเองให้ลุล่วงคงทำให้ Pollock เป็นหนังส่วนตัวที่ เอ๊ด แฮร์ริส ภาคภูมิใจ

ส่วนผู้ชมจะได้อะไรติดไม้ติดมือไปบ้าง คงต้องอยู่ที่ความคาดหวังของแต่ละคน?!



Create Date : 27 พฤษภาคม 2550
Last Update : 27 พฤษภาคม 2550 3:57:13 น. 6 comments
Counter : 2168 Pageviews.

 
ไม่รู้จัก pollock มาก่อน
หนังน่าสนใจดีนะ อิอิ


โดย: หลานสะใภ้ลุงฉม IP: 124.120.103.15 วันที่: 27 พฤษภาคม 2550 เวลา:12:52:09 น.  

 
ตอนแรกที่เข้ามา เห็นความยาวของเนื้อหาแล้ว
ก็ว่าจะปิดหน้านี้ แล้วออกไปบล็อกอื่นค่ะ
แต่ก็คิดว่าลองอ่านดูซิ เผื่อมีอะไรน่าสนใจ
อ่านไปๆก็น่าสนใจจริงๆด้วยค่ะ
ตอนแรกนึกว่าเป็นแค่หนังเรื่องหนึ่ง
แต่พออ่านดูแล้วปรากฏว่าเป็นหนังเกี่ยวกับชีวประวัติ
สนใจหนังแนวนี้เหมือนกันค่ะ
เพราะเหมือนเราได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง
จากชีวิตคนๆหนึ่ง และหนังแนวนี้มักจะให้แง่คิดมากด้วย
ขอบคุณบทความดีๆ และหนังน่าสนใจอีกเรื่องที่เอามาแนะนำค่ะ


โดย: ฝากเธอ วันที่: 27 พฤษภาคม 2550 เวลา:17:51:49 น.  

 

โอ ...
นานๆทีจะมีหนังที่บอสพูดถึงแล้วหนูเคยดู !!!
จริงๆก็เลือนลางไปจากความทรงจำบ้างพอสมควรแล้วหล่ะ
แต่พออ่านไปเรื่อยๆ มันก็ค่อยๆเรียกความจำเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้กลับคืนมา ...
ฉากที่จำได้แม่นยำ ก็ตอนที่ Pollock ค้นพบวิธีหยดอ่ะค่ะ
เพราะมันทำให้หลังจากนั้นหนูก็เลย ไปเสิร์ชหารูปงานเค้ามาดู
(จริงๆไม่ค่อยชอบงานแนวๆเอ็กเพรสชั่นนิสม์เท่าไหร่ เลยไม่ค่อยได้สนใจ แต่ดูไปๆ มันก็สวยดีอ่ะค่ะ)

และเอ๊ด แฮร์ริส ก็ทำให้หนูเชื่อนะว่าเค้าเป็น แจ๊คสัน พอลล็อค จริงๆอ่ะ
ดูแล้วนึกถึง Lust for Life ที่ Kirk Douglas เล่นเป็น Van Gogh เหมือนกันเนาะ

ปล.
บอสๆ อยากรู้เกี่ยวกับเรื่อง The Devil's Backbone อ่ะ ช่วยสงเคราะห์หนูหน่อยนะ
ทู้มันเดือดละเกิน เลยอยากรู้กะเค้าด้วยคน

//www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A5450802/A5450802.html



โดย: LunarLilies* วันที่: 27 พฤษภาคม 2550 เวลา:22:38:28 น.  

 
ลุงเอ๊ดอาร์ทิสเรื่องนี้ยังไม่ได้ดูเลยค่ะ

ปอลอ.โบแรทสีดำเนี่ย ดาวเดียวเองหรอคะ พ่ายแพ้ลุงนิคเคจที่ได้สองดาวไปนิดเดียวเอง


โดย: renton_renton วันที่: 29 พฤษภาคม 2550 เวลา:17:06:07 น.  

 
ชอบตาเอ๊ดในเรื่องนี้มาก ๆ เลยอ่ะ


โดย: เจ้าชายไร้เงา วันที่: 31 พฤษภาคม 2550 เวลา:9:26:12 น.  

 
หนังแนวนี้มีเยอะแยะไปหมด
จนตามดูไม่ทันเลยค่ะ

ยืมมาทีไร
ก็ดองอยู่จนถูกปรับไปหลาย
T T


โดย: ม่วนน้อย วันที่: 2 มิถุนายน 2550 เวลา:8:16:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2550
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
27 พฤษภาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.