Ramchand Pakistani เพียงข้ามพรมแดน




Ramchand Pakistani
เพียงข้ามพรมแดน

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 7 ธันวาคม 2551


*หมายเหตุ : บทวิจารณ์นี้เขียนหลังจากเกิดเหตุวินาศกรรมในมุมไบ ปี 2551



หลังจากช่วงต้นปี Khuda Ke Liye (In the Name of God, 2007) ได้สร้างปรากฏการณ์เป็นหนังปากีสถานเรื่องแรกในรอบกว่า 4 ทศวรรษที่ได้ไปฉายอย่างเป็นทางการในอินเดีย ถึงเดือนสิงหาคมมีหนังปากีสถานเรื่องหนึ่งเดินตามรอยรุ่นพี่ได้สำเร็จ แถมยังพิเศษกว่าตรงที่เข้าฉายในช่วงเวลาเดียวกันทั้งในอินเดียและปากีสถาน

Ramchand Pakistani ผลงานของ เมห์รีน จาบบาร์ ผู้กำกับฯหญิงวัย 37 ปี ที่ขยับจากแวดวงละครและภาพยนตร์ทางโทรทัศน์มาจับงานหนังใหญ่เป็นครั้งแรก ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงเกี่ยวกับครอบครัวชาวปากีสถานซึ่งต้องพลัดพรากกันเพียงเพราะผืนดินที่พลั้งเผลอเดินเข้าไปไม่กี่ก้าวคือพรมแดนของอินเดีย

อันที่จริงเรื่องราวว่าด้วยครอบครัวพลัดพรากเนื่องจากปัจจัยเงื่อนไขทางการเมืองไม่ใช่พล็อตแปลกใหม่ แต่สำหรับ Ramchand Pakistani มีแง่มุมน่าสนใจตรงที่การพลัดพรากเกิดขึ้นกับครอบครัวชาวฮินดูในปากีสถานซึ่งสมาชิกถูกจับกุมคุมขังในอินเดีย หนังจึงมีแง่มุมเรื่องศาสนาและชนชั้นวรรณะคู่ขนานไปกับเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ

อีกความน่าสนใจคือหนึ่งในสมาชิกครอบครัวที่ต้องจากแผ่นดินถิ่นเกิดและถูกคุมขังเยี่ยงนักโทษเป็นเด็กชายอายุเพียง 8 ขวบ

เรื่องราวเกิดขึ้นในปี 2002 หลังจากเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายโจมตีรัฐสภาอินเดียจนสองประเทศคู่อริตั้งท่าก่อสงครามครั้งใหญ่ ความตึงเครียดบริเวณชายแดนทำให้ครอบครัวเกษตรกรยากจนชนชั้นดาลิตประกอบด้วยแชงการ์ผู้เป็นพ่อ แม่ชื่อจำปา และรามจัน ลูกชายหัวรั้นวัย 8 ขวบ ที่อาศัยในหมู่บ้านเล็กๆ ในแคว้นสินธุ์ ต้องประสบเคราะห์กรรมไม่คาดฝัน เมื่อรามจันเดินล้ำเส้นแบ่งเขตแดนที่มีเพียงหลักหินวางเรียงห่างๆ กันเข้าไปในประเทศอินเดียจนถูกทหารคุมตัวไว้พร้อมกับแชงการ์ที่เดินข้ามมาเพื่อตามหาลูกชาย

สองพ่อ-ลูกถูกสอบปากคำอย่างหนักด้วยข้อหาเป็นสายลับ ก่อนจะถูกส่งตัวมาคุมขังในเรือนจำในรัฐคุชราตร่วมกับเพื่อนร่วมชะตากรรมหลายสิบคนทั้งที่เป็นมุสลิมอินเดียและมุสลิมปากีสถาน การพลัดพรากจากบ้านและภรรยาด้วยเหตุซึ่งยากจะเข้าใจซ้ำยังต้องกลายเป็นนักโทษ ทำให้แชงการ์กลายเป็นคนเศร้าซึม หงุดหงิดง่าย และมักจะโทษรามจันว่าเป็นต้นเหตุ ฝ่ายรามจันซึ่งเป็นเพียงเด็กไม่ประสีประสาก็ออกอาการงอแง ดื้อดึง และร้องจะกลับไปหาแม่

ผ่านไประยะหนึ่งรามจันเริ่มปรับตัวได้ เขาได้เรียนหนังสือกับเจ้าหน้าที่สาวชื่อ กัมลา ซึ่งแม้ในตอนแรกเธอจะรังเกียจรามจันเพราะเป็นพวกดาลิต แต่ไม่นานต่างคนต่างเปิดใจยอมรับกันมากขึ้น รามจันเริ่มคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตในสถานที่แห่งนี้ สนิทกับนักโทษคนอื่นๆ หรือแม้แต่ผู้คุม แต่ถึงอย่างไรที่นี่ก็ไม่ใช่บ้านที่มีแม่เฝ้าคอยการกลับคืนของพวกเขา

...และความจริงอีกอย่างหนึ่งที่จำต้องยอมรับคือ พวกเขาต้องอยู่ในเรือนจำโดยไม่รู้ว่าอิสรภาพจะเดินทางมาถึงหรือไม่

*ฝ่ายจำปาหลังจากรู้ว่าสามีและลูกถูกอินเดียจับตัวไป เธอพยายามหาทางช่วยเหลือหรือติดต่อกับพวกเขาแต่ทุกหนทางดูมืดมน ไม่มีแม้แต่ข่าวคราวว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร แต่ละวันผ่านพ้นอย่างสิ้นหวัง ทั้งยังต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดตามลำพัง

กระทั่งพรมแดนแห่งการพลัดพรากราวกับดูดกลืนชีวิตของครอบครัวเล็กๆ นี้ไว้ตลอดกาล

ผู้กำกับฯเมห์รีน จาบบาร์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า เธอได้รับอิทธิพลจากงานของผู้กำกับฯอินเดียชั้นครูอย่าง สัตยาจิต ราย รุ่นใหญ่อย่าง ชยาม เบเนกอล และผู้กำกับฯหญิงรุ่นพี่อย่าง มีรา นายเออร์ ถ้าลองนำ Ramchand Pakistani มาเทียบเคียงดูก็พอจะเห็นร่องรอยของอิทธิพลที่อ้างถึงได้ เช่น ความเข้มแข็งในการนำเสนอตัวละครของราย ประเด็นชนชั้นวรรณะกับพลังของตัวละครหญิงของเบเนกอล และสีสันทางวัฒนธรรมแบบนายเออร์

ยังมีความสมจริงแบบนีโอ-เรียลิสม์ มีเด็กเป็นตัวละครนำแบบหนังอิหร่านหลายเรื่อง และวิธีเล่าเรื่องน้อยได้มากตามสไตล์คนทำหนังตุรกีรุ่นใหม่

จาบบาร์ผสมผสานอิทธิพลดังกล่าวได้อย่างลงตัวและอยู่มือ แม้เนื้อหา ฉากหลัง รวมทั้งประเด็นและแก่นสารของหนังจะค่อนข้างกว้างใหญ่ตั้งแต่เรื่องระดับครอบครัวจนถึงระดับประเทศ แทรกมิติทางสังคมละเอียดอ่อนอย่างเรื่องศาสนาและชนชั้นวรรณะ หนังเข้มข้นแต่ไม่เคร่งเครียด ไม่เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกจนล้นเกิน และดูไม่พยายามยัดเยียดประเด็นต่างๆ แต่ปล่อยให้ผู้ชมสังเกตคิดตามเรื่องราวตามแต่ใจ

แก่นสารหลักของหนังคือการชี้ว่าเส้นกั้นเขตแดนที่แบ่งแยกแผ่นดินผืนเดียวกันไม่เพียงก่อความขัดแย้งระหว่างประเทศหรือระดับรัฐต่อรัฐเท่านั้น แต่ยังทำลายครอบครัว-แบ่งแยกผู้คนตัวเล็กๆ ให้กลายเป็นอื่นได้เสมอ ขณะที่พล็อตและเรื่องราวย่อยๆ เช่น หนุ่มที่มาติดพันจำปาล่าถอยไปเพราะถูกคนตำหนิเรื่องชนชั้นวรรณะ เจ้าที่ดินให้จำปาและคนยากจนทำงานใช้หนี้อย่างเอารัดเอาเปรียบ กัมลารังเกียจรามจันในตอนแรกเพราะเห็นว่าเป็นพวกดาลิต หรือเพื่อนร่วมคุกซึ่งล้วนแต่เป็นชาวมุสลิมแต่ในที่สุดกลับรักใคร่เอ็นดูรามจัน

ทั้งหมดนี้พอจะสรุปได้เป็นประเด็นเดียวกันว่า ผู้คนในดินแดนแห่งนี้ล้วนแต่ถูกกางกั้น-กักขังด้วยเส้นแบ่งเขตแดนมากมาย แต่หากก้าวข้ามเส้นแบ่งดังกล่าวไปได้แล้ว หนทางข้างหน้าอาจไปได้ไกลเกินคาดคิด

หนังอย่าง Ramchand Pakistani คือตัวอย่างหนึ่งของการข้ามเส้นแบ่งเขตแดนได้สำเร็จ ทั้งเส้นแบ่งเขตแดนเรื่องความขัดแย้งระดับรัฐต่อรัฐ เรื่องการไม่ฉายหนังของกันและกัน และการตัดขาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แม้ในขั้นตอนการสร้างจะถ่ายทำในปากีสถานทั้งเรื่องโดยเซ็ตฉากคุกอินเดียในการาจี แต่จาบบาร์ได้เดินทางมาสำรวจคุกในคุชราตด้วยตนเองเพื่อให้ใกล้เคียงกับของจริง เพลงประกอบหนังแต่งโดยนักดนตรีชาวอินเดียและบันทึกเสียงในมุมไบ ที่สำคัญคือตัวละครจำปารับบทโดยนักแสดงสาวชาวอินเดียอย่าง นันทิตา ทาส โดยได้รับอนุญาตเป็นพิเศษจากทางการปากีสถาน กระทั่งคงเป็นเหตุผลหนึ่งที่หนังได้โอกาสฉายในอินเดีย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อึมครึมระหว่างสองประเทศที่ก่อตัวขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าเส้นแบ่งเขตแดนในทุกระดับจะกลับมาขึงตึงจนยากจะก้าวข้ามอีกครั้ง




 

Create Date : 16 ตุลาคม 2552
3 comments
Last Update : 16 ตุลาคม 2552 14:55:35 น.
Counter : 1692 Pageviews.

 


ไว้หามาดูบ้างค่ะ

 

โดย: renton_renton 20 ตุลาคม 2552 12:22:22 น.  

 

น่าดูจังเลยครับ แต่หนังน่าดูสำหรับผมส่วนมากจะหามาดูยาก

 

โดย: McMurphy 22 ตุลาคม 2552 13:25:24 น.  

 

ไปทะเลกันมั้ยคะ




 

โดย: เช้านี้ยังมีเธอ 24 ตุลาคม 2552 20:37:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
16 ตุลาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.