ABC Africa ตามติดชีวิตเด็ก‘ยูกันดา’



ABC Africa
ตามติดชีวิตเด็ก‘ยูกันดา’

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 11 กุมภาพันธ์ 2550


*ABC Africa เป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับเด็กติดเชื้อเอดส์ในแอฟริกา...เกริ่นแค่นี้อาจจะดูไม่น่าสนใจเท่าใดนัก แต่หากบอกว่านี่คืองานของ อับบาส เคียรอสตามี สำหรับคอหนังแล้วความน่าสนใจย่อมเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

อับบาส เคียรอสตามี เป็นนักสร้างหนังชาวอิหร่านผู้บุกเบิกที่ทางบนเวทีโลกให้แก่วงการหนังแดนเปอร์เซีย ด้วยหนังดังและดีเด่นในระดับนานาชาติอย่าง Through the Olive Trees(1994) และ A Taste of Cherry(1997) รวมทั้งงานใสซื่อเกี่ยวกับเด็กๆ อย่าง Where Is the Friend's Home?(1987) และ Homework(1989)

อาจเป็นเพราะเคยทำหนังเกี่ยวกับเด็ก รวมทั้งก่อนจะมาเป็นผู้กำกับฯดัง เคียรอสตามีเริ่มต้นอาชีพทำหนังด้วยการทำสารคดีให้กับองค์กรด้านเด็กและเยาวชนในอิหร่าน สหประชาชาติโดยกองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรม(International Fund for Agricultural Development-IFAD) จึงได้เลือกเคียรอสตามีเป็นผู้ถ่ายทอดชีวิตเด็กกำพร้าเหยื่อเอชไอวีในประเทศยูกันดา

เคียรอสตามีและทีมงานอีก 2 คน เดินทางไปยูกันดาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมปี 2001 โดยพกกล้องดิจิตอลไปเป็นเครื่องมือถ่ายทำ เขาตระเวนไปตามหมู่บ้านเด็กกำพร้าที่ดูแลโดย UWESCO(Uganda Women’s Effort to Save Orphans) อันเป็นองค์กรของผู้หญิงหลายร้อยคนที่รับเลี้ยงดูเด็กกำพร้า เด็กส่วนใหญ่สูญเสียทั้งพ่อและแม่เพราะโรคเอดส์ ขณะที่บางคนมีเชื้อเอชไอวีติดตัว เด็กๆ เหล่านี้จะอยู่ในความดูแลของหญิงหม้ายที่เสียสามีไปด้วยโรคเอดส์เช่นกัน

คำอธิบายของเจ้าหน้าที่ช่วยให้รู้วิธีบริหารจัดการชีวิตภายในหมู่บ้าน ส่วนคำบอกเล่าของชาวบ้านช่วยให้เข้าใจถึงสภาพความเป็นอยู่อันแออัดขัดสน ตัวอย่างเช่นบ้านหลังเล็กๆ หลังหนึ่งมีผู้อาศัยเป็นหญิงชราและหลานตัวเล็กๆ อีก 35 คน(เธอมีลูก 11 คน แต่เอดส์คร่าชีวิตไปหมดแล้ว)

*ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะโรคเอดส์ในยูกันดาที่หนังใส่เข้ามาคือ ในจำนวนประชากร 22 ล้านคน มีคนตายด้วยโรคเอดส์ไปแล้ว 2 ล้านคน อีก 2 ล้านคนเป็นผู้ติดเชื้อ ขณะที่เด็กกว่า 1.6 ล้านคน สูญเสียพ่อหรือแม่ หรือทั้งสองคนด้วยโรคเอดส์

เมื่อไปยังศูนย์ผู้ป่วยเอดส์ นอกจากจะเต็มไปด้วยผู้ทุกข์ทรมานจากโรคแล้ว ภาพหนึ่งที่เคียรอสตามีบังเอิญบันทึกได้ในวันนั้นคือร่างไร้ชีวิตของเด็กคนหนึ่งกำลังถูกห่อด้วยผ้าสีขาว...อันที่จริง นี่อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ความตาย ณ ศูนย์แห่งนี้เกิดขึ้นเสมอเป็นเรื่องปกติ ไม่อย่างนั้นทางเข้าศูนย์คงไม่มีโรงงานทำโลงศพตั้งอยู่ โดยโลงที่วางเรียงรายให้เห็นมีตั้งแต่ขนาดสำหรับผู้ใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็ก

ใช่ว่าเด็กกำพร้าและผู้ได้รับผลกระทบจากโรคร้ายจะอยู่ตามหมู่บ้านหรือศูนย์เท่านั้น แม้แต่ฝั่งตรงข้ามโรงแรมที่เคียรอสตามีเข้าพักก็มีครอบครัวเหยื่อเอดส์หลายครอบครัวอาศัยอยู่รวมกัน แสดงให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในยูกันดาอยู่ในขั้นวิกฤตจริงๆ เพราะไปที่ไหนก็เจอผู้เคราะห์ร้าย

เรื่องน่ายินดีคือวันที่เคียรอสตามีแวะไปคุยกับพวกเขาเป็นวันแต่งงานระหว่างพ่อหม้ายกับแม่หม้ายของ 2 ครอบครัวที่สูญเสียคนรักไปเพราะโรคเอดส์เหมือนกัน โดยต่างคนต่างมีลูกติดฝ่ายละ 1 คน อย่างไรก็ตาม เรื่องน่ายินดีนี้หากมองในมุมกลับ...การแต่งงานของทั้งคู่อาจจะเพิ่มจำนวนเด็กติดเชื้อขึ้นมาก็ได้

ตัวอย่างของปัญหาเรื่องเด็กกำพร้าถูกเล่าเพิ่มเติมโดยคู่สามีภรรยาชาวออสเตรียที่รับอุปการะเด็กถูกทอดทิ้งคนหนึ่ง พวกเขาหวังว่าเด็กคนนี้จะมีชีวิตที่ดีขึ้น มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ได้รับการศึกษา ไม่ต้องตกระกำลำบากอยู่ในยูกันดา

ฉากจบของหนังเป็นภาพเด็กและพ่อแม่บุญธรรมกำลังขึ้นเครื่องบินออกจากยูกันดา ภาพสุดท้ายคือภาพปุยเมฆขาวนวลถูกวางซ้อนจางๆ ด้วยภาพเด็กๆ แห่งยูกันดา เหมือนเคียรอสตามีกำลังส่งสารไปถึงชาวโลกให้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือเด็กผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้

นอกจากภาพและเรื่องราวของเด็กๆ ที่ช่วยให้รู้และเข้าใจสถานการณ์โรคเอดส์ในยูกันดาแล้ว ภาพแวดล้อมอย่างป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่รณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัยเพื่อความปลอดภัยในชีวิตซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป ตอกย้ำให้เห็นว่าเอดส์เป็นภัยร้ายที่คุกคามกลืนกินผู้คนทั้งประเทศ(ขณะที่ทางโบสถ์คาทอลิกรณรงค์ต่อต้านเอชไอวีด้วยการให้รักษาพรหมจรรย์)

การป้องกันการแพร่ระบาดของเอดส์นี่เองเป็นที่มาของคำว่า ABC ในชื่อหนัง โดยเป็นคำย่อในชุดถ้อยคำขั้นตอนเบื้องต้นเพื่อการต้านเอดส์ หมายถึง ละเว้นเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ยึดมั่นในคู่นอนคนเดียว และใช้ถุงยางอนามัย(being sexual Abstinent until marriage; Being faithful to a single partner or reducing the number of partners; and using a Condom, especially with multiple partners)

*เคียรอสตามีทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวแทนคนนอกเข้าไปเก็บภาพความจริงให้มากที่สุดเพื่อนำออกมาให้คนทั่วโลกได้ชม มีการพูดคุยสอบถามในฐานะของ “คนทำสารคดี” ไม่มากนัก เขาและซีโฟลาห์ ซามาดิยัน ทีมงานซึ่งไปด้วยกัน ถ่ายทำโดยถือกล้องบันทึกภาพแทนสายตา เห็นอะไรก็ถ่ายไปตามนั้นโดยไม่ได้ใส่ใจความสวยงามหรือการสื่อความหมาย ไม่เน้นสร้างความสะเทือนใจ

ภาพเด็กๆ เล่นล้อกับกล้องอย่างสนุกสนาน กระโดดโลดเต้น หรือร้องรำทำเพลง ซึ่งมีอยู่มากมายตลอดทั้งเรื่อง คือชีวิตชีวาตามแบบชาวแอฟริกันที่ยังดำเนินเคียงข้างขัดแย้งกับความตายและความทุกข์ยาก เหมือนเคียรอสตามีต้องการนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาให้คนในดินแดนอื่นเห็นใจและยื่นมือช่วยเหลือในฐานะของ “เพื่อนร่วมโลก” ไม่ใช่พลเมืองแห่งโลกที่สาม

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของคนนอกที่ใช้เวลาไม่กี่วันในยูกันดาเพื่อบันทึก “สิ่งที่ได้พบเห็น” อาจจะเป็นการทำงานเพียงเปลือกนอกจนเกินไปหากเทียบกับวิกฤตการณ์ซึ่งชาวยูกันดาประสบอยู่ เหตุแห่งปัญหาทั้งหมดไม่ถูกพูดถึง อะไรทำให้จำนวนตัวเลขของผู้ป่วยในทวีปแอฟริกาสูงกว่าที่อื่นๆ และการแก้ปัญหาที่ผ่านมาทำได้เป็นมรรคเป็นผลแค่ไหน มีอุปสรรคอย่างไร คำถามเหล่านี้ไม่มีคำตอบปรากฏ

โดยรวมแล้วหนังสารคดีเรื่องนี้จึงมีผลต่อผู้ชมในด้านการรับรู้และความรู้สึก ไม่ได้ให้คุณค่ามากกว่านั้นแม้แนวทางของหนังสารคดีสามารถทำได้

หากมองในแง่ดี...อย่างน้อยชื่อของเคียรอสตามีบนเครดิตหนังน่าจะช่วยให้คนจำนวนมากได้รับรู้ถึงปัญหาของเด็กๆ และวิกฤตการณ์โรคเอดส์ในยูกันดาและทวีปแอฟริกาบ้าง

ดีกว่าพอเห็นว่าเป็นเรื่องนี้แล้วมองผ่านเลยไปไม่ไยดี




 

Create Date : 29 เมษายน 2550
9 comments
Last Update : 29 เมษายน 2550 2:28:45 น.
Counter : 1976 Pageviews.

 

สนใจหนังเรื่องนี้เหมือนกันค่ะ
อย่างน้อย การที่ผกก.เลือกที่จะทำเรื่องนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นการช่วยเปิดหน้าต่าง ให้แดนดินอื่นๆได้เห็นได้รับรู้และตระหนัก และ เผื่อจะมีใครหันกลับไปมองในบ้านเมืองตัวเองบ้าง

 

โดย: renton_renton 29 เมษายน 2550 3:56:45 น.  

 

น่าดูแฮะ...

 

โดย: nanoguy 29 เมษายน 2550 10:27:10 น.  

 

มีข่าวดีมาฝากครับ
แวะไปอ่านในบล็อกผมสิ

 

โดย: เจ้าชายไร้เงา 29 เมษายน 2550 13:05:36 น.  

 

จะมาอ่านบ่อยๆ ค่า

 

โดย: garagay IP: 61.91.93.56 29 เมษายน 2550 13:08:48 น.  

 

น่าสนใจมากกๆๆ

 

โดย: fonejank 29 เมษายน 2550 14:30:33 น.  

 

เคยดูไตรภาคแผ่นดินไหว เพราะเอาไปทำรายงาน

หลับสนิท.......

 

โดย: merveillesxx 30 เมษายน 2550 15:22:04 น.  

 


เอดส์นี่มันน่ากลัวจริงๆเลยบอส

เมื่อเดือนก่อนจำได้ว่ามีคนมาตั้งกระทู้ในห้องสมุดว่า
ให้ช่วยแนะนำหนังสือที่อ่านแล้วรู้สึกว่าชีวิตเราไม่แย่อย่างที่คิดหน่อยได้ไหม อยากได้กำลังใจ
มีใครคนนึงเข้ามาตอบว่า สำหรับเขา เวลาที่ตัวเองรู้ว่าชีวิตมันแย่ๆๆๆมากๆๆๆ
เขาจะเข้าไปอ่านเว็บของคุณแก้ว (แก้วไดอารี่) เพราะพอเค้าเข้าไปอ่านแล้ว
เขาก็จะรู้สึกว่า เออ ชีวิตเราที่ว่าแย่นักแย่หนา มันเทียบไม่ได้เลยกับชีวิตของคนที่ติดเชื้อเอชไอวี
เพราะมันทำให้เค้ารู้สึกว่าชีวิตตัวเองยังมีค่า และเราก็ต้องเดินหน้าต่อไป อย่าไปท้อถอยกับอะไรง่ายๆ

ด้วยความที่หนูเคยอ่านหนังสือเรื่องเอดส์ไดอารี่ของคุณแก้วมาแล้ว
ก็เลยลองเข้าไปอ่านดู โอ้โห อ่านไปก็น้ำตาไหลไป
ทุกคนที่เค้าเข้ามาคุยกันในนั้นเค้าช่างมีพลังใจที่ดีมากๆ
ไม่ท้อแท้ ไม่สิ้นหวัง แม้ว่าบางทีจะมีเรื่องเครียดกันเยอะ
เช่นกินยาต้านนู่นนี่แล้วมีผลแทรกซ้อนต่างๆ ต้องนั่งกอดโถส้วมทั้งวันเพราะมันจะอาเจียน
หรือบางคนก็กังวลว่า ที่ทำงานมีตรวจสุขภาพประจำปีอีกแล้ว กลัวจังเลยว่าจะโดนไล่ออก
ฯลฯ
แล้วก็อะไรต่อมิอะไรอีกสารพัด อ่านไปก็รู้สึกเหมือนกับคนที่เค้ามาโพสต์บอกเลยว่า
ถ้าท้อแท้ ก็ให้ลองเข้าไปอ่านดู แล้วคุณจะรู้ว่า ชีวิตเรามันมีค่าจริงๆ

หลังจากนั้นก็ไปอ่านหนังสือเรื่องใส่สีชีวิตของคุณงามพรรณ เวชชาชีวะมาอีกเล่ม
คุณงามพรรณเล่าว่า เคยต้องทำหน้าที่เขียนหนังสือเพื่อนำไปเผยแพร่ทำความเข้าใจเรื่องเอดส์
แล้วทีนี้ก่อนเขียนเค้าก็จะมีวิดีโอ หรือสื่ออะไรมาให้ดูเพื่อเป็นข้อมูลก่อนการเขียน
ปรากฏว่ามีบทสัมภาษณ์ของเด็กๆที่ติดเชื้อเอชไอวีที่แกเขียนบรรยายความรู้สึก
ที่โดนชิงชังจากสังคมมาเพียบ เช่น เด็กผู้หญิงคนหนึ่งซื้อของขวัญไปจับฉลากปีใหม่ที่โรงเรียน
แต่เพื่อนๆไม่มีใครยอมให้ร่วมด้วย เธอเพียรอธิบายว่าเธอชี้ของให้คนขายหยิบไปห่อของขวัญแล้วใส่ถุงเลย
รับรองว่ามือเธอไม่ได้แตะถูกของแม้แต่นิดเดียว แต่ก็ไม่มีใครยอมฟัง
หรืออีกกรณี เด็กชายคนหนึ่งไม่เคยได้ร่วมเล่นกีฬาในชั่วโมงพละ โดยเฉพาะว่ายน้ำ
เพราะทุกคนจะได้เห็นรอยแผลตามตัวเวลาที่ถอดเสื้อ
เด็กชายบอกว่า การที่ไม่ได้ว่ายน้ำนั้นไม่เป็นไร เขาพอเข้าใจ
แต่สายตารังเกียจที่มองมาจากครูและเพื่อนต่างหากที่เป็นการฆ่ากันทั้งเป็น

โอ้ อ่านไปน้ำตาก็ร่วงไป

พล่ามมาเสียยาวไม่รู้ว่าเกี่ยวกับหนังของบอสหรือเปล่า
แต่รู้สึกถึงเรื่องนี้ทันทีที่อ่านบทความนี้จบเลยอ่ะค่ะ


 

โดย: LunarLilies* 30 เมษายน 2550 21:06:14 น.  

 

โห...เห็นตัวเลขผู้เสียชีวิตกับผู้ติดเชื้อแล้วต๊กกะใจ
ทำไมมันเยอะซะขนาดนั้น เรียกว่าเข้าขั้นวิกฤติเลยทีเดียว
อ่านแล้วให้ความรู้สึกหดหู่อ่ะ
แต่แปลกดีนะ ทำไมดูจากภาพแล้วยังเห็นเด็กๆดูมีชีวิตชีวา สนุกสนานสดชื่นนนกันดีทีเดียว
อืมมม...เชื่อแล้นๆ ความสุขมันอยู่ที่ใจนี่เองงง

 

โดย: G IP: 203.113.76.7 30 เมษายน 2550 23:07:53 น.  

 



บอสสสสส
อยู่ไหนอ่ะ ตื่นยางงงงงงงงงงง
หรือแมทช์เมื่อคืนทำเอาตาค้างงงงงง

โอ้วววว หนูว่าหนูได้กลิ่นบรรยากาศอิสตันบูลลอยตามลมมากับฝนดีเปรสชั่นยังไงชอบกล ม่ายรุ
อิอิอิ บอสว่างั้นแมะ

 

โดย: LunarLilies* 2 พฤษภาคม 2550 9:55:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
เมษายน 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
29 เมษายน 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.