The Cave of the Yellow Dog สุนัขสีเหลืองจากมองโกเลีย



The Cave of the Yellow Dog
สุนัขสีเหลืองจากมองโกเลีย

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 12 พฤศจิกายน 2549


* ปี 2003 สตรีชาวมองโกเลียแนะนำตัวให้โลกภาพยนตร์ได้รู้จักผ่านผลงานหนังสารคดีเรื่อง The Story of the Weeping Camel ว่าด้วยอูฐ 2 แม่ลูก ของครอบครัวคนเลี้ยงแกะแห่งทะเลทรายโกบี ซึ่งเธอกำกับฯร่วมกับ ลุยจิ ฟาลอร์นี หนังกวาดรางวัลมากมายจากหลายเวที รวมทั้งติด 1 ใน 5 ชิงออสการ์ สาขาหนังสารคดี และถือว่าเป็นตัวแทนจากมองโกเลียเรื่องแรกที่เข้าร่วมเวทีออสการ์ สาขาหนังภาษาต่างประเทศ

บียัมบาซูเรน ดาวา(Byambasuren Davaa) เกิดที่อูลานบาตอร์ เมืองหลวงของมองโกเลีย หลังจากเรียนจบด้านกฎหมายระหว่างประเทศและภาพยนตร์ในบ้านเกิดแล้ว เธอเรียนต่อด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์ ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี กระทั่งได้ทำ The Story of the Weeping Camel เป็นผลงานหนังขนาดยาวเรื่องแรก โดยมีบริษัทสร้างหนังสัญชาติเยอรมันเป็นผู้ออกทุน

ความสำเร็จจาก “อูฐร้องไห้” ยังไม่ทันจาง ปี 2005 ดาวามีผลงานเดี่ยวเรื่อง The Cave of the Yellow Dog ซึ่งมีส่วนคล้ายกับเรื่องแรกตรงที่เป็นเรื่องราวของชนพื้นเมืองเร่ร่อนในดินแดนห่างไกลแห่งมองโกเลีย มีเนื้อหากล่าวถึงวิถีชีวิตและความเชื่อดั้งเดิมของผู้คน และยังมีสัตว์เป็นตัวละครสำคัญ โดยคราวนี้เปลี่ยนจากอูฐเป็นสุนัข แต่ที่ต่างไปชัดเจนคือ The Cave of the Yellow Dog เป็นหนังดราม่า ไม่ได้นำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นจริงตามแบบหนังสารคดีเช่นเรื่องแรก

ฉากหลังคือทุ่งหญ้ากว้างใหญ่อากาศหนาวเย็นห้อมล้อมด้วยภูเขาทางภาคตะวันตกของมองโกเลีย แผ่นดินซึ่งชาวพื้นเมืองเร่ร่อนใช้เลี้ยงสัตว์ แต่ปัจจุบันคนเหล่านี้ต่างพากันย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองกันหมด หลงเหลือเพียงไม่กี่ครอบครัวที่ยังคงดำรงชีวิตแบบเดิม หนึ่งในนั้นเป็นครอบครัวที่ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูกสาว 2 คน และลูกชายคนเล็ก อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะละทิ้งดินแดนนี้ไปเช่นกัน เมื่อ นานซาล ลูกสาวคนโตวัย 6 ขวบ ต้องเข้าโรงเรียนในเมือง

วันหนึ่ง นานซาลพบลูกสุนัขในโพรงถ้ำ เธอนำกลับมาโดยตั้งชื่อว่า ซอกฮอร์ ซึ่งแปลว่า “จุด” ตามลวดลายบนตัว แต่พ่อของเธอไม่ยอมให้เลี้ยง บอกให้นานซาลรีบนำไปปล่อย เพราะกลัวว่าสุนัขหลงตัวนี้จะพาให้สุนัขป่าตามรอยมากินฝูงสัตว์ที่เลี้ยงไว้

*นานซาลพยายามดื้อรั้นดิ้นรนให้ซอกฮอร์ยังอยู่กับเธอต่อไป แต่เด็กตัวเล็กๆ ที่ต้องเชื่อฟังพ่อแม่อย่างเธอจะทำได้แค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาที่ครอบครัวต้องทิ้งดินแดนแห่งนี้อพยพโยกย้ายไปอยู่ในเมือง

เรื่องราวดังกล่าวอาจชวนให้นึกถึงหนังเด็กพล็อตมาตรฐานว่าด้วยความผูกพันระหว่างคนกับสัตว์ที่มีให้ได้ชมกันอยู่เรื่อยๆ อันที่จริง แม้จะมีหน้าตาคล้ายคลึง แต่ The Cave of the Yellow Dog แตกต่างออกไปพอสมควร

เริ่มจากหนังนำเสนอเรื่องราวโดยวางอยู่บน “ความเป็นจริง” เป็นหลัก จนพอจะเรียกได้ว่าใช้รูปแบบ “สารคดี” มาถ่ายทอดเนื้อหาที่กำหนดไว้แล้ว อารมณ์เร่งเร้าแบบเมโลดราม่าจึงไม่มีให้เห็น รูปแบบสารคดีเช่น การใช้ครอบครัวชนพื้นเมืองเร่ร่อนจริงๆ มาเป็นผู้แสดง และภาพชีวิตประจำวันที่เห็นในหนังคือวิถีแท้จริงในชีวิตของพวกเขา อันเป็นความตั้งใจของดาวาที่ต้องการถ่ายทอดวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองในขณะที่ยังดำรงอยู่ ก่อนจะกลืนหายไปกับกาลเวลา และนับเป็นคุณค่าเบื้องต้นของหนังเรื่องนี้โดยที่ยังไม่ต้องวัดจากความเป็นหนังเรื่องหนึ่งๆ

ดาวากล่าวว่า การถ่ายทำหนังเรื่องนี้ไม่มีการวางแผน เพราะชาวพื้นเมืองใช้ชีวิตโดยยึดอิงกับธรรมชาติ พวกเขาเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการพินิจธรรมชาติแล้วใช้ชีวิตไปตามนั้น ทำให้กองถ่ายทำไม่อาจรู้แผนงานล่วงหน้าได้ว่าวันรุ่งขึ้นต้องทำอะไร

นอกจากนี้ ภาพธรรมชาติต่างๆ อาทิ ทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ไกลลิบตา ท้องฟ้าครึ้มเมฆ เทือกภูนิ่งสงบงดงาม สอดผสานกับภาพฝูงสัตว์ทั้งวัว แพะ แกะ รวมทั้งฝูงนกแร้ง กับภาพธรรมชาติของเด็กๆ ที่ดาวาแอบบันทึกไว้แล้วนำมาใส่แทรกอยู่ในหนัง ทำให้หนังมีพื้นที่ของเรื่องราวที่ไม่ได้ผ่านการกำกับกะเกณฑ์จำนวนมาก จนดูเป็นธรรมชาติ ไร้จริต เหมาะกับเรื่องราวเรียบง่ายของผู้คนในดินแดนที่เราไม่คุ้นเคย

สำหรับแก่นสารของหนังไม่ใช่มิตรภาพระหว่างคนกับสัตว์ แต่เป็นความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยผูกโยงกับความเชื่อเรื่องโชคชะตา ชาติภพ และตำนานพื้นถิ่น ตามความเชื่อของชาวมองโกเลีย

หนังเริ่มต้นด้วยภาพพ่อกับนานซาลกำลังฝังศพสุนัข พ่อบอกว่าสุนัขจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในชาติต่อไป ความเชื่อดังกล่าวนี้เองคือที่มาของชื่อหนัง จากตำนานที่หญิงชราเล่าให้นานซาลฟังเกี่ยวกับสุนัขสีเหลืองที่ถูกนำไปขังไว้ในถ้ำเพื่อให้หญิงสาวคนหนึ่งหายจากป่วยไข้ เชื่อกันว่าสุนัขตัวนี้เมื่อตายไปแล้วได้เกิดใหม่เป็นบุตรของเธอ

เมื่อหนังดำเนินไปถึงตอนจบซึ่งซอกฮอร์ช่วยชีวิตใครคนหนึ่งไว้ จึงเป็นเหมือนโชคชะตาที่กำหนดให้การปรากฏตัวของสุนัขในถ้ำตัวนี้มีความหมายต่อชีวิตมนุษย์เช่นในตำนาน


อีกแก่นสารหนึ่งที่หนังบอกกล่าวคือ การรุกคืบของเมืองและการถอยร่นของวิถีดั้งเดิม เห็นได้ว่าขณะที่หนังถ่ายทอดวิถีชีวิตของชนพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัย การหุงหาอาหาร หรือการสร้างสิ่งของเครื่องใช้ด้วยวิธีธรรมชาติ เมื่อตัวละครพ่อซื้อหาสิ่งของจากในเมืองนำกลับมา เช่น ตุ๊กตาสุนัขสีชมพู หรือขันพลาสติกสีเขียว สิ่งของเหล่านี้ได้กลายเป็นความแปลกปลอมและดูไม่เข้ากับสภาพชีวิตของพวกเขา

ส่วนนานซาลหลังจากกลับมาจากโรงเรียนในเมือง การละเล่นของเธอคือสมมุติว่ามูลสัตว์แห้งที่เตรียมไว้ใช้เป็นเชื้อเพลิงคือกระโจมที่พัก(yurt) แล้วนำมาวางซ้อนกันเป็นชั้นๆ ผลคือบ้านอันเรียบง่ายของชนเร่ร่อนได้ถูกแต่งเติมให้เป็นตึกอาคารสูงหลายชั้นตามที่นานซาลเห็นมาจากในเมือง

ความเชื่อของพ่อที่ว่าซอกฮอร์เป็นสุนัขเลี้ยงที่ถูกเจ้าของเดิมทิ้งไว้เมื่อย้ายไปอยู่ในเมือง มันอาจไปรวมฝูงกับสุนัขป่า หากเก็บมาเลี้ยง สุนัขป่าจะตามรอยมาจัดการกับฝูงสัตว์ จึงเปรียบเทียบได้โดยตรงกับวิถีเมืองที่ตามรอยพ่อกับนานซาลมากลืนกินพวกเขาทีละน้อย

จนหลุดพ้นจากวิถีธรรมชาติไปทุกขณะ...




 

Create Date : 16 มกราคม 2550
5 comments
Last Update : 17 มกราคม 2550 12:41:04 น.
Counter : 2365 Pageviews.

 

เรื่องนี้น่าดูจังค่ะ (เราชอบอูฐจ๋าอย่าร้องไห้ด้วย อิอิ )

 

โดย: แพนด้ามหาภัย 16 มกราคม 2550 18:05:51 น.  

 

สวัสดีค่ะ

งึมงำ งึมงำ

หาดูยากอีกแล้วหรือเปล่าคะนี่

 

โดย: สาวไกด์ใจซื่อ 16 มกราคม 2550 18:46:26 น.  

 

น่าดูเนอะ

แต่อูฐจ๋า อย่าร้องไห้ก็ยังไม่ได้ดู

 

โดย: ทะเลอาบแสงจันทร์ 16 มกราคม 2550 22:59:05 น.  

 

เรื่องนี้ดูแล้วครับ แต่ยังไม่ได้ดูอูฐิจ๋าอย่าร้องไห้เลยอ่ะ

 

โดย: เจ้าชายไร้เงา 19 มกราคม 2550 17:53:57 น.  

 

โห พี่ขยันหาหนัง ตปท. ที่หาดูยากจัง5 5 แต่ดีนะ เพราะมันหาดูยาก พอมาได้อ่านก็ได้รู้จักด้วย

ป.ล.1บางครั้งเพลินกว่านั่งดูหนังอีกนะนั่น
ป.ล.2ดูไฟนัล สกอร์แล้ว โอเคดีค่ะดำเนินเรื่องดี น่าติดตาม (สำหรับหนังกึ่งสารคดี) ได้สัมผัสอารมณ์เด็กๆสอบเอ็นท์ฯ พลอยให้นึกถึงสมัยเรียนด้วยเหมือนกัน...ที่บางคนบอกว่าเด็กๆกลุ่มนี้มีโอเว่อแอคติ้งหน้ากล้องเป่า ถึงจะดำเนินเรื่องแบบเรียลลิตี้ไม่มีพล็อต มีบท...หรือมันเป็นบุคลิกเด็กเดี๋ยวนี้อยู่แล้ว

แต่เรื่องราวเด็กสอบเอ็นท์ฯ ชีวิตมันตึงเครียดรันทดจริงๆนะ หนังก็บอกได้ดี...

แถมเนื้อหามันก็ไม่ได้แค่พูดถึงเรื่องเอ็นท์ มันมีเรื่องความสับสนของวัยรุ่น อารมณ์ส่วนตัว แนวๆของเด็กพวกนี้

ชอบฉากที่เด็กๆมันคุยกันว่า "ความรู้คืออะไร"

 

โดย: tistoo 20 มกราคม 2550 17:17:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
มกราคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
16 มกราคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.