Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2558
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
30 ตุลาคม 2558
 
All Blogs
 
แกะรอยข้างหลังภาพ โดย อ.ชมัยภร แสงกระจ่าง และอ.จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

30 ตุลาคม 2558



ผมมีโอกาสได้ไปอบรมในโครงการการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในวาระครบรอบชาตะกาล 110 ปี”ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ซึ่งเป็นการเขียนนวนิยายโดยการแกะรอยนวนิยายของศรีบูพาเรื่อง “ข้างหลังภาพ” จัดโดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับกองทุนศรีบูรพา ในวันที่ 17-18 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยการอบรมในครั้งนี้สำหรับผู้ที่ได้เคยอ่านนวนิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” มาแล้ว ผมจึงขอสรุปคำบรรยายไว้สำหรับการกลับมาทบทวนในภายหน้า และเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจในการเขียนนวนิยายด้วย












โดยการอบรมในวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม 2558 ช่วงบ่ายเป็นการอบรมในหัวข้อ แกะรอยข้างหลังภาพ โดย อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง และอาจารย์จรูญพร ปรปักษ์ประลัย ซึ่งผมขอสรุปเป็นหัวข้อดังนี้


อ.ชมัยภร แสงกระจ่าง บอกว่า

-คนที่อ่านนวนิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” แล้วจะรู้สึกอิ่มเอิบและเอาใจช่วยตัวละคร มรว.กีรติ เสมอ

-ที่ผ่านมา อ.ชมัยภร สอนวิธีการเขียนเป็นหลัก ในการอบรมคราวนี้เลยได้เอานวนิยายมาลองแกะดูเพื่อให้รู้ว่านวนิยายที่ดีเขาเขียนกันอย่างไร โดยการเลือกเอาอมตะนิยายของศรีบูรพาเรื่อง “ข้างหลังภาพ” นี้มาเป็นต้นแบบในการแกะรอยวรรณกรรม

-การแกะรอย “ข้างหลังภาพ” ในครั้งนี้ก็เพื่อจะได้เห็นแก่ของเรื่อง ที่ศรีบูรพาตั้งใจนำเสนอ

-แก่นของเรื่องก็คือเรื่องของความรักต่างวัย ในสมัยนั้นถือว่าอายุของ มรว.กีรติและนพพรห่างกันมาก และเรื่องของความรักต่างวัยเป็นข้อห้ามทางสังคม และแก่นของเรื่องอีกประการก็คือความรักที่ไม่สมหวังด้วยฐานะที่แตกต่างกัน ดังนั้นแก่นของเรื่องจึงเป็นเรื่องของความรักต่างวัย+ต่างฐานะ


อ.จรูญพร ปรปักษ์ประลัย บอกว่า

-เรื่อง “ข้างหลังภาพ” ถือว่ามีพล็อตเป็นสูตรสำเร็จแบบ “ชายพบหญิง ชายรักหญิง ชายจากหญิงไป”

-มุมมองของการเล่าเรื่องเป็นการเล่าเรื่องผ่านตัวละครนพพรเป็นการใช้มุมมองแบบจำกัด ไม่ได้ใช้มุมมองแบบพระเจ้า ทำให้ผู้อ่านรู้แค่เพียงบางเรื่อง บางเรื่องก็ไม่รู้เลย และบางเรื่องผู้อ่านก็รู้ดี

-จดหมายถือว่าเป็นบทสนทนาอย่างหนึ่ง จึงทำให้ทั้งเรื่องนี้เป็นเล่าผ่านบทสนทนาทั้งหมด แทบจะไม่มีบทการกระทำเลย (มีน้อยมาก)

-สำหรับการวางโครงเรื่องนั้น ในตอนแรกเปิดเรื่องด้วยตอนในอนาคต (คือตอนปัจจุบันในเรื่อง) ส่วนที่เหลือไปจนถึงท้ายเรื่องนั้น (จนถึงตอนจบของเรื่อง) เป็นการเล่าย้อนกลับไปโดยเล่าผ่านความคิดคำนึงที่เป็นเรื่องเล่าของตัวละคร (ตัวนพพร)

-เล่าเริ่มต้นจากมีการพบกันของตัวละคร ทำให้รู้จักกันอย่างรวดเร็ว เป็นส่วนที่ทำให้เรื่องเดินไปข้างหน้าได้ (ภายในระยะ 8 สัปดาห์ที่ญี่ปุ่น)

-ในเรื่องตัวละครนพพรจะเป็นฝ่ายรุกเสมอ ส่วนตัวละคร มรว.กีรติ นั้นจะเป็นฝ่ายรับตลอดเช่นกัน ซึ่งเป็นการรุกรับกันเปรียบเทียบเหมือนดอกไม้กับแมลง ที่ดอกไม้จะหลอกล่อให้แมลงบินเข้าหาเสมอ (ตัวละคร มรว.กีรติ เหมือนมีแรงดึงดูดเพศชาย ด้วยคำพูดที่ไพเราะยั่วยวน) ทำให้แมลงหลงใหลไม่ยอมบินหนีไปจากดอกไม้เลย

-ฉากสำคัญที่สุดในเรื่องคือฉากที่มิตาเกะ มันคือห้องลับในที่โล่งสำหรับตัวละครทั้งสอง เป็นการพูดคุยกันสองต่อสองโดยไม่ต้องกระซิบกระซาบหรือพูดกันเบา ๆ เลย (พูดได้เต็มที่โดยไม่ต้องกลัวใครได้ยิน) ที่มิตาเกะนี้ตัวละคร มรว.กีรติ เผยความในใจให้ตัวละครนพพรทราบ เรื่องที่เธอจำใจต้องไปแต่งงานกับเจ้าคุณอธิการ นพพรจึงกล้าที่จะทำอะไรบางอย่าง (นพพรจูบ มรว.กีรติ)

-เหตุการณ์ที่มิตาเกะนั้นทำให้ทั้งคู่รักกันแล้ว (มีความรักชัดเจนทั้งคู่) แต่การแสดงออกนั้นไม่เหมือนกัน ซึ่งเหตุการณ์ที่มิตาเกะนี้เป็นจุดสูงสุดของเรื่อง หลังจากนั้นเรื่องก็หันหัวลงเมื่อ มรว.กีรติ บอกให้นพพรทำตัวปกติเมื่ออยู่ต่อหน้าเจ้าคุณอธิการ ความรู้สึกในใจของนพพรจึงได้ผ่อนลง

-เหตุการณ์ที่ท่าเรือ (ตอนส่งคุณหญิงกีรติขึ้นเรือกลับเมืองไทย) ถึงแม้เป็นที่โล่งเป็นที่สาธารณะ แต่ตัวละครทั้งสองกลับต้องพูดกันด้วยเสียงเบา ๆ ต้องแอบคุยกระซิบกัน และคุณหญิงกีรติพูดอะไรที่เป็นสัญลักษณ์บางอย่างด้วยคำพูดว่า “ลาก่อนคนดีของฉัน” ซึ่งการพูดว่าลาก่อนหลาย ๆ ครั้งนั้นก็คือการปฏิเสธนั้นเอง

-การจับมือกันของตัวละครทั้งสอง (ที่มิตาเกะ) เป็นการจับมือเพื่อเชื่อมตัวละครทั้งสองเข้าด้วยกันโดยการลดพื้นที่ว่างระหว่างกันไม่ให้เหลือเลย ถือว่าเป็นภาษากายอย่างหนึ่ง

-ในช่วงครึ่งหลังของเรื่อง ตัวละครทั้งสองได้สนทนากันผ่านจดหมายเท่านั้น คือหลังจากที่คุณหญิงกีรติขึ้นเรือกลับเมืองไทยจนถึงช่วงเวลาก่อนที่นพพรจะกลับเมืองไทยเป็นระยะ 6 ปี ดูแล้วอาจจะไม่สมดุลกับระยะเวลา 8 สัปดาห์ที่ทั้งสองอยู่ด้วยกัน คงเป็นความตั้งใจของศรีบูรพาผู้เขียนถึงความไม่สมดุลนี้

-จุดเปลี่ยนสำคัญอีกจุดหนึ่งในเรื่องก็คือ ตอนที่ท่านเจ้าคุณอธิการเสีย หลังจากนั้นมีคนมาจีบ มรว.กีรติ แต่เธอไม่สนใจ เหมือนเป็นสัญลักษณ์บอกว่าเธอกำลังรออะไรบางอย่างอยู่ก็ได้

-วันที่นพพรกลับถึงเมืองไทย มรว.กีรติจงใจใส่เสื้อน้ำเงินลายดอกขาวตัวเดิมไปรอรับนพพร เพื่อบอกเป็นนัยว่านัยเป็น “ฉันคนเดิม”

-หลังจากที่นพพรกลับมาอยู่เมืองไทยแล้ว นพพรไปเยี่ยม มรว.กีรติ 2 ครั้ง ครั้งแรกอยู่คุยกันยาวถึง 4 ชม. แต่ในครั้งที่ 2 พูดคุยกันไม่นานเพราะว่า มรว.กีรติป่วย เหมือนจะแสดงให้เห็นว่าใกล้จะถึงจุดจบของชีวิตแล้ว

-อ.จรูญพร บอกว่า ถ้าแบ่งเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ออกเป็น 2 ก้อนใหญ่ ๆ จะได้ดังนี้

ก้อนที่ 1 คือระยะเวลาที่ มรว.กีรติมีอิทธิพลต่อนพพร ช่วงที่ทำให้นพพรเกิดความรัก มรว.กีรติ

ก้อนที่ 2 คือระยะเวลาที่นพพรมีอิทธิพลต่อ มรว.กีรติ การ์ดแต่งงานของนพพรเหมือนคำสั่งประหารชีวิต มรว.กีรติ

-โดยเรื่อง “ข้างหลังภาพ” นี้ถ้ามองที่ตรีมหลัก (Theme) และมองที่คาแรกเตอร์หรือบุคลิกแล้ว ถือได้ว่า มรว.กีรติคือตัวละครหลักในเรื่อง เพราะเป็นการเล่าถึง มรว.กีรติ ตัวนพพรเป็นแค่ผู้เล่าเรื่องเท่านั้น










อ.ชมัยภร แสงกระจ่าง บอกว่า

-บุคลิกของคุณชนิด สายประดิษฐ์ (ภรรยาของศรีบูรพา) คือบุคลิกของตัวละคร มรว.กีรติ คือทั้งคู่ต่างก็งามสง่าและไม่แสดงออกเหมือนกัน

-การสร้างตัวละคร มรว.กีรตินั้น ศรีบูรพาสร้างผ่านคำบอกเล่าของตัวละครนพพร

-โดยทั่วไปแล้วนักเขียนมักจะเอาสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเองนำมาเขียน มีข้อสังเกตบางประการว่า ชุดสีน้ำเงินลายดอกขาวของ มรว.กีรติ และชุดเครื่องแบบนักศึกษาของนพพร อาจจะมาจากการที่ศรีบูรพาชอบสีน้ำเงินก็เป็นได้

-ศรีบูรพาทำให้เราเห็นภาพแรกของ มรว.กีรติคือ สง่างาม , อ่อนโยนและชดช้อย ซึ่งเป็นบุคลิกในแวบแรกที่นพพรเห็น

-เวลาที่นักเขียนสร้างตัวละครนั้น ภาพแรกของตัวละครเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้คนอ่านติดตามและประทับใจ อีกทั้งการสร้างตัวละครนั้นให้เอาจุดเด่นของตัวละครขึ้นมาก่อน ตัวอย่างเช่น มรว.กีรติ มีริมฝีปากที่สวยงามมองดูแล้วเห็นเป็นสามเหลี่ยมสามชิ้น อีกทั้งความชดช้อยก็เป็นจริตที่งดงามของผู้หญิงด้วย

-ตัวละครท่านเจ้าคุณอธิการแทบจะไม่มีบทบาทมากเท่าไหร่เลย ในเรื่องศรีบูรพาสามารถทิ้งตัวละครท่านเจ้าคุณอธิการได้โดยจงใจไม่เล่าถึงเลย แต่ตัวละครท่านเจ้าคุณต้องมีอยู่ในเรื่อง เพราะท่านเจ้าคุณอธิการเป็นอุปสรรคในเรื่อง คือเป็นปัญหาของตัวละคร มรว.กีรติ

-ตัวละครท่านเจ้าคุณอธิการจึงมีประโยชน์ต่อเรื่องคือ 1.ได้นำพาตัวละครให้มาเจอกัน 2.เป็นอุปสรรคเป็นปัญหาของ มรว.กีรติ

-ฉากที่มิตาเกะนั้นศรีบูรพาทำให้ผู้อ่านเห็นถึงธรรมชาติของผู้หญิงที่กำลังมีความรักเกิดขึ้น ผู้หญิงจะมีสติและควบคุมตัวเองได้ เหมือนตัวละคร มรว.กีรติที่ควบคุมโฮโมนในตัวไม่ให้เพ่นพล่านได้ ผิดจากพฤติกรรมของตัวละครนพพรที่ยังเด็กกว่า จึงมีพลังโฮโมนที่รุนแรงกว่า เนื่องจากผู้หญิงบางคนมีเสน่ห์ทางเพศสูง เช่น มรว.กีรติ เป็นต้น

-ศรีบูรพาเขียนเล่าเรื่องผู้หญิงได้มหัศจรรย์มาก เป็นผู้ชายที่เล่าเรื่องผู้หญิง เพราะศรีบูรพาได้รับข้อมูลจากผู้หญิงมาเยอะ โดยวิธีการนำเสนอนั้นในบางครั้งก็ใส่เป็นนัยยะ บางครั้งก็ใส่เป็นบทสนทนา เช่น พฤติกรรมที่ มรว.กีรติ ซ่อมเนคไทให้นพพรนั้น เป็นการแสดงออกว่ารัก เพราะถ้าไม่รักจะไม่ทำให้แน่ ๆ

-ฉากที่นพพรเอามือจับเท้าของ มรว.กีรติ แล้วบอกว่าเท่าสวยกว่าลำคอของเขานั้น ถือว่าเป็นพฤติกรรมของตัวละครท่ผู้อ่านจดจำได้เช่นกัน

-เรื่อง “ข้างหลังภาพ” นี้เหมือนว่าศรีบูรพาเอาชุดใส่ให้แก่ผู้หญิง เพราะว่าให้รายละเอียดของผหญิงได้ดีถึงขนาดนี้

-วิธีการเล่าเรื่องผ่านตัวละครนพพรนั้นทำ-ให้สามารถควบคุมตัวละครได้ อีกทั้งก็สามารถจะตัดตัวละครทิ้งได้เช่นกัน เช่นตัดตัวละครเจ้าคุณอธิการทิ้ง เป็นต้น

-ในเรื่องมีความสัมพันธ์ระหว่างฉากกับตัวละครด้วย เช่นฉากที่มิตาเกะ เหมือนเป็นห้องลับในที่โล่งอย่างที่ อ.จรูญพรบอกไว้ , ฉากที่ท่าเรือ เหมือนเป็นความลับทั้ง ๆ ที่เป็นสถานที่สาธารณะ , ฉากที่บ้านของ มรว.กีรติ ที่บางกะปิคุณหญิงกีรติต้องแต่งตัวให้ดูดีก่อนที่จะเจอกับนพพร ฯลฯ

-ศรีบูรพาไดให้รายละเอียดถึงความสงบไว้ในฉกที่บ้านของ มรว.กีรติที่บางกะปิ โดยไม่ได้อธิบายรายละเอียดถึงอาการป่วยของคุณหญิงกีรติที่เป็นโรควัณโรค อาจจะเป็นเพราะศรีบูรพาไม่ต้องการให้ผู้อ่านสะเทือนใจมากก็เป็นได้

-ฉากที่ มรว.กีรติ ใกล้จะตาย ที่นพพรไปเยี่ยมในครั้งสุดท้ายนั้น คุณหญิงกีรติพยายามใส่เสื้อผ้าปกปิดไว้ให้มิด เพื่อไม่ให้นพพรเห็นร่างกายที่เปลี่ยนไปจากการป่วยเป็นวัณโรค

-การที่ตัวละครนพพรถาม มรว.กีรติบ่อยมากกว่า “คุณหญิงรักผมไหม?” นั้น แสดงว่านพพรมีจริตในวัยเด็กอยู่ คือเป็นเด็กกว่าเยอะ (อายุ 22 ปีในขณะนั้น) และการที่ตัวละคร มรว.กีรติ มักจะเรียกนพพรว่า “คนดีของฉัน” แทนที่จะใช้คำว่า “ที่รัก” แสดงให้เห็นถึงวัยวุฒิที่สูงกว่าของ มรว.กีรติ

-เวลาที่เราจะสร้างตัวละคร เราควรเริ่มที่จุดเด่นของตัวละครก่อน เช่น ตัวละคร มรว.กีรติ มีริมฝีปากที่งดงาม นพพรมองเห็นเป็นรูปสามเหลี่ยม 3 ชิ้น แสดงเป็นนัยยะว่าปาก (คำพูด) เป็นจุกสำคัญของตัวละครนี้

-อ.ชมัยภร ให้ข้อสังเกตว่า ตัวละครที่เป็นนางเอกของ ทมยันตรี มักจะมีรูปร่างผอมบางดูตัวเล็ก และพระเอกต้องมีตัว (ร่างกาย) ที่ใหญ่และหนา ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเวลาที่นักเขียนสร้างตัวละครนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องอธิบายบอกทั้งตัว ให้เลือกจุดเด่นมาสร้างเป็นรูปลักษณ์ที่โดดเด่นได้ ส่วนตัวละครประกอบนั้นอาจจะไม่มีรูปลักษณ์ที่ชัดเจนมากก็ได้

-ภาพวาดวิวมิตาเกะในเรื่องนั้นเป็นภาพวาดสีน้ำ ไม่ใช่สีน้ำมัน เรื่องนี้มีการถกเถียงกันจนได้ข้อสรุปแล้วว่าเป็นภาพวาดสีน้ำ เพราะ มรว.กีรติ เอาภาพวาดนี้มานอนหนุนตัวแอบไว้ก่อนจะให้แก่นพพร













อ.จรูญพร ปรปักษ์ประลัย บอกว่า

-บทพูดของตัวละครเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในเรื่องนี้มีภาษาที่เก๋มาก โดยมีวิธีการเขียนที่เดินเรื่องด้วยคำพูดจาก 2 ส่วนคือ 1.จากปาก (คำพูด) 2.จากจดหมาย

-คำพูดของตัวละครในเรื่องไพเราะกว่าความเป็นจริง แต่ก็มีความสมจริง

-ทุกครั้งที่ตัวละครพูดจะมีสิ่งทีเรียกว่า Subtext อยู่ ซึ่งก็คือมีความหมายที่แท้จริงซ่อนตัวในคำพูด โดยเฉพาะตัวละคร มรว.กีรติ ที่มีคำพูดลักษณะนี้อยู่ตลอดเรื่อง ซึ่งเป็นคำพูดที่ประกอบไปด้วย คำพูด+ท่าทาง อันมีความหมายแฝงอยู่ตลอด

-ฉากที่มิตาเกะนั้น ตัวละคร มรว.กีรติ มีคำพูดเล่าเรื่องอย่างยืดยาว (เรื่องที่ต้องแต่งงานกับเจ้าคุณอธิการ) เพราะต้องการให้นพพรเห็นว่าเธอผ่านอะไรในชีวิตมาบ้าง

-ในเรื่องมีความขัดแย้งของตัวละคร ที่เรียกว่า Conflict อยู่ตลอดเช่นกัน เช่นพูดเรื่องมุมมองของความรักคนละมุมมองกัน , คำพูดที่ขัดแย้งกันของตัวละครทั้ง 2 เช่น จดหมายของทั้งคู่ที่นพพรบอกว่ารักคุณหญิงกีรติอย่างเดียว แต่คุณหญิงกีรติกลับปลอบให้นพพรไปเรียนหนังสือต่อเถอะ

-ในเรื่องมีการพูดอย่างหนึ่งแต่อาจจะมีความหมายแฝงเป็นอย่างอื่นก็ได้ ที่เรียกว่า Subtext เช่น คำพูดของ มรว.กีรติ ที่เรียกนพพรว่า “คนดีของฉัน” นั้นอาจจะมีความหมายมากกว่าที่ได้ยินก็เป็นได้

-บทสนทนาของตัวละครในเรื่องทันกันตลอด

-ในเรื่องมี Operative Word ที่มีความหมายถึงคำพูดหลักหรือคำหลัก Main Word อยู่ในคำพูดนั้น เช่น “จำได้ไหมนพพร ว่าอะไรเกิดขึ้นที่นั้น” เป็นคำพูดที่เน้นคำว่า “อะไร” ,”นพพรคนดีของฉัน” ในคำขึ้นต้นจดหมายที่ มรว.กีรติใช้ทุกครั้งนั้น อาจจะมีความหมายว่า มรว.กีรติ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยก็ได้

-การเขียนโดยมีการเน้นคำพูดสำคัญ Operative Word นั้นจะทำให้เกิดพลังเมื่อได้อ่าน

-ตัวละครในเรื่อง “ข้างหลังภาพ” นี้เป็นตัวละครที่โดดเด่นที่สุดในยุคนั้น ทั้ง มรว.กีรติ ที่มีบุคลิกงามสง่า และนพพรที่ได้ไปเรียนเมืองนอกเมื่ออายุยังน้อยอยู่ (22 ปี)

-บทสนทนาที่ใช้ในเรื่องเป็นการทำให้เกิดความคืบหน้าของเรื่อง เป็นบทสนทนาที่มีประโยชน์ต่อเรื่องทุกคำพูด


ท้ายสุด อ.ชมัยภร แสงกระจ่างได้สรุปไว้ว่า

-เรื่อง “ข้างหลังภาพ” นี้ เป็นเรื่องที่คนอ่านแล้วจำคำพูดของตัวละครได้ เช่น ประโยคอมตะในตอนท้ายของเรืองที่ว่า “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่ามีคนที่ฉันรัก” ในนวนิยายเรื่องอื่น ๆ นั้นแทบจะหายากมากที่คนอ่านจำคำพูดของตัวละครในเรื่องได้

-ในยุคสมัยนั้นถ้าผู้หญิงไม่ได้แต่งงานถือว่ามีปัญหามาก เรื่อง “ข้างหลังภาพ” จึงมีการวิพากษ์ถึงประเด็นนี้

-ในเรื่อง “แลไปข้างหน้า” ศรีบูรพาเขียนเปิดเรื่องโดยเอาตอนท้าย (ตอนจบ) ขึ้นไว้เป็นต้อนเรื่อง แต่เรื่องนี้ศรีบูรพาเขียนไม่จบ ผู้อ่านจึงไม่รู้ว่าคนที่นั่งอยู่ในศาลตอนต้นเรื่องคือใคร

-คุณชนิด สายประดิษฐ์ ผู้เป็นภรรยาของศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) นั้น เป็นเสมือนผู้ที่อยู่เบื้องหลังของศรีบูรพา โดยคุณชนิด สายประดิษฐ์นั้นมีความระมัดระวังเหมือนตัวละคร มรว.กีรติ เป็นอย่างมาก

-การเขียนนวนิยายนั้น ถ้าผู้เขียนเขียนด้วยอารมณ์คือใส่อารมณ์มากจนเกินไป เรื่องนั้นก็จะล้น มันจะเกินไป ไม่พอดี ดังนั้นผู้เขียนจึงควรพิจารณาว่าควรจะมีขอบเขตของเรื่องมากน้อยขนาดไหน

-สรุป นวนิยายแนวพาฝันนั้นจะเป็นเรื่องของตัวละครที่คนหนึ่งเป็นภาพ อีกคนหนึ่งเป็นฝัน โดยพระเอก (นพพร) เป็นภาพฝันของนางเอก (มรว.กีรติ) , นางเอกฝันถึงพระเอก หรือพระเอกอาจจะฝันถึงนางเอกก็ได้

-การบ้าน ให้ผู้เข้าอบรมทุกคนกลับบ้านไปเขียนอะไรที่ต่อเนื่องจากเรื่อง “ข้างหลังภาพ” โดยสมมุติว่าตัวเองเป็นตัวละครใดในเรื่องก็ได้



ท้ายสุดนี้ผมขอขอบคุณอ.ชมัยภร แสงกระจ่าง และอ.จรูญพร ปรปักษ์ประลัย ที่ให้ความรู้อันเป็นประโยชน์สำหรับผม รวมทั้งขอขอบคุณสถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมและกองทุนศรีบูรพา ที่ให้โอกาสผมได้เข้ารับอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้


ขอบคุณครับ









Create Date : 30 ตุลาคม 2558
Last Update : 30 ตุลาคม 2558 21:51:51 น. 8 comments
Counter : 2240 Pageviews.

 
ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
kae+aoe Parenting Blog ดู Blog
ชีริว Funniest Blog ดู Blog
อาคุงกล่อง Diarist ดู Blog

ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 5 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น

คุณกล่องโชคดีจัง ที่มีโอกาศพบท่านมีความรู้ต่าง ๆ
เยอะ

ผมค่อนข้างไกลห่างมาก ๆ ไปอยู่วงการอื่นเป็นส่วนใหญ่

ขอตอบ เรื่องของ ท่านไม้เมืองเดิม.. หนังสือต้นฉบับ
ผมไม่เคยอ่านแม้แต่บันทัดเดียว...

เคยดูหนังน่าจะของปี 2520 ช่วงที่นางเอกทำร้ายตัว
เอง ในน้ำ เห็นไม่ชัดครับ จำได้ว่ามีเลือดไหลปน
กับกระแสน้ำ(ความจำนะครับ)

ก่อนผมเขียน "คิดมาก" ผมเข้าค้นหา ในกูเกิ้ล หน้า
เดียวกัน ส่วนแรก เขียนว่า เชือดคอตัวเอง

ส่วนเรื่องย่อ หน้าเดียว ท่อนล่าง แทงตัวเองครับ

ที่อื่น มีคำว่าใช้มีดซุย แทงตัวเอง..

ผมจึงนำที่ตัวเองเคยเห็น จำได้ลาง ๆ มาเล่า.. แต่จุด
ใหญ่ คือ นางเอกฆ่าตัวเอง มิได้จะเขียนให้ผิด
เพี้ยนจากต้นฉบับเพราะไม่เห็นครับง.

เมื่อกี้เข้าไปดูกูเกิ้ลใหม่ เขียนสิ่งที่ต้องการ ไปเห็น
เรื่องย่อ ของหนังหลายเวอร์ชั่น มีแตกต่างกัน คง
เป็นด้วย การตลาดมั้ง แล้วเห็นคุณกล่องเขียนบล๊อก
เรื่องนี้ไว้ด้วย..

ขอบคุณนะครับที่ทักท้วงไป ผมเลยขยายความใน
บล๊อกผมเอง เพิ่มเติมอีกนิด คนจะได้ไม่เข้าใจผิด
ครับ


โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 30 ตุลาคม 2558 เวลา:16:30:25 น.  

 
เสียเวลามากเลยกับล๊อกนี้ อ่านจนตาห้อย
555
มีสาระมาก ๆ เลยนะคะ เล็กโหวตให้แล้วแต่ก้อบมาวางไม่เป็นแฮ่..


โดย: ปันฝัน วันที่: 30 ตุลาคม 2558 เวลา:21:08:04 น.  

 
เป็นครั้งแรกที่ได้อ่านวิจารณ์เรื่อง "ข้างหลังภาพ" แบบละเอียดละออ
วิเคราะห์ลักษณะและความรู้สึกของตัวละครแบบเจาะลึกมาก
ขอบคุณมากที่แบ่งปันประสบการณ์ดี ๆ แบบนี้นะคะ


โดย: haiku วันที่: 31 ตุลาคม 2558 เวลา:23:08:10 น.  

 
คุณกล่องเก็บข้อมูลได้ละเอียดมาก ชื่นชมๆ


โดย: sawkitty วันที่: 2 พฤศจิกายน 2558 เวลา:19:32:30 น.  

 
เข้ามาอ่านสองครั้งครับ ข้างหลังภาพ เป็นนิยายที่จับใจผมมาก

เท่ากับเรื่อง ชัยชนะของหลวงนฤบาล ของ ดอกไม้สด ครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 5 พฤศจิกายน 2558 เวลา:6:03:06 น.  

 
เรื่องนี้มี้ได้อ่านค่ะ ครูบังคับ หุหุ..หนังสือนอกเวลา...ตอนหลังได้ดูหนัง ดูละคร ก็เป็นอีกแบบไปนะคะ


โดย: kae+aoe วันที่: 5 พฤศจิกายน 2558 เวลา:16:03:34 น.  

 
ช่วงนี้ยังสอบไม่เสร็จ.. อดอ่านเลยค่ะ
เอาไว้มาคิดบัญชีย้อนหลัง


โดย: โอพีย์ (Opey ) วันที่: 6 พฤศจิกายน 2558 เวลา:23:39:51 น.  

 
ยามบ่ายๆ สวัสดีค่ะคุณกล่อง วันนี้เพิ่งเห็นรูปติหมาไม่ขึ้น เลยมาแก้ไข


โดย: sawkitty วันที่: 11 พฤศจิกายน 2558 เวลา:15:24:09 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

อาคุงกล่อง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 62 คน [?]




อาคุงกล่องเป็นชายไทยนิสัยดีมีความฝัน ผู้ผันตัวมาเป็นทาสวรรณกรรมอย่างแท้จริง ใช้ชื่อกำหนดตัวตนว่า “อาคุงกล่อง” เป็นนามปากกาสร้างสรรค์ผลงานในเชิงหัสนิยาย และงานเขียนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี ความเรียง บทกลอน ไดอารี่เพ้อเจ้อละเมอเพ้อฝันต่างๆ ฯลฯ

ปัจจุบัน “อาคุงกล่อง” เป็นนักอ่าน นักคิดและนักเขียน รวมทั้งเป็นนักจินตนาการออกมาเป็นตัวอักษรด้วย ผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่คือการเป็นนักเขียนมีคุณภาพที่สรรค์สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คาดว่าในเวลาอันใกล้นี้นาม “อาคุงกล่อง” จะเกิดปรากฎชัดในโลกวรรณกรรม จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่หนอนนักอ่านทั่วไทย



"ในชีวิตจริงของคนเรา มีอะไรอีกมากมายที่จะต้องรับรู้และรับผิดชอบ ในแต่ละวันเรามีโอกาสที่จะหัวเราะได้สักกี่ครั้ง? แต่ถ้าเราได้มีโอกาสหัวเราะเสียบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือคลายเครียด ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ"

ถ้าคุณเข้ามาในบล็อคของผมแล้ว คุณสามารถอมยิ้มหรือหัวเราะได้ ผมก็คงจะดีใจแล้วครับ (กรุณาช่วยทิ้งคอมเม้นท์วิจารณ์ไว้ให้ผมด้วยนะครับ จักขอบพระคุณมากเลยครับ)

akungklong@gmail.com
Friends' blogs
[Add อาคุงกล่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.