Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2557
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
27 พฤษภาคม 2557
 
All Blogs
 
โบตั๋น ... อักษรศิลป์ที่บานงดงามอย่างทรงคุณค่า

27 พฤษภาคม 2557


ถ้าพูดถึง “โบตั๋น” หลาย ๆ ท่านอาจจะคิดถึงดอกไม้หอมดอกใหญ่สัญชาติจีน มีหลากหลายสีสันงดงามชวนให้เข้าไปสัมผัสชมให้หลงใหลในยามเมื่อพบเห็น แต่สำหรับท่านที่เป็นนักอ่านคงทราบกันดีกว่า “โบตั๋น” นี้เป็นนามปากกาของนักเขียนอาวุโสท่านหนึ่ง ซึ่งมีผลงานนิยายในแนวสะท้อนสังคมออกมาให้ได้อ่านกันโดยต่อเนื่องตลอด ส่วนตัวผมแล้วผมก็ไม่เคยได้รู้จัก อ.โบตั๋น ผ่านสื่อใด ๆ มาก่อน ผมไม่เคยได้อ่านบทสัมภาษณ์หรือได้ดูข่าวเกี่ยวกับนักเขียนท่านนี้เลย จนกระทั่งเมื่อวันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมาผมจึงได้มีโอกาสได้รู้จักตัวตนของนักเขียนผู้ที่เป็นศิลปินแห่งชาติท่านนี้ ผ่านงานเสวนาที่มีชื่อว่า “อลังการผสานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ” ที่ห้างสรรพสินค้าซีคอน บางแค ได้จัดขึ้น












ก่อนหน้านี้ผมรู้จักนักเขียนที่มีนามปากกาว่า “โบตั๋น” ผ่านนิยายเรื่องเยี่ยมซึ่งก็คือ “จดหมายจากเมืองไทย” ผมได้อ่านนิยายเรื่องนี้จบแล้วผมเกิดความชื่นชอบและประทับเป็นอย่างมาก เรื่องราวนอกจากจะสนุกสนานชวนให้น่าติดตามโดยคลอดแล้ว ผู้เขียนยังสอดแทรกเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีอยู่ในเมืองไทยในช่วงเวลานั้นแฝงลงไปในเนื้อเรื่องได้อย่างแยบยล ซึ่งแน่นอนว่านิยายเรื่องนี้ได้ถูกคัดเลือกให้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในช่วงเวลานั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นเวลานานมากกว่า 40 ปีไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อผมได้หยิบ “จดหมายจากเมืองไทย” กลับขึ้นมาอ่านอีกครั้ง เนื้อหาในเรื่องถึงแม้ว่าจะเก่าไปบ้างตามกาลเวลา แต่ก็เป็นเรื่องราวที่บันทึกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี อีกทั้งตัวละครเอกนามว่า “ตันส่วงอู๋” ที่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยนั้น ดูเหมือนว่าตัวละครผู้นี้เพิ่งเดินผ่านตัวผมไปเมื่อผมพลิกหน้าสุดท้ายของหนังสือจบลง










“ดิฉันเป็นลูกจีนเก็บกด เพราะว่าอยากดังเลยได้กลายมาเป็นนักเขียน”

ประโยคข้างต้นนี้เป็นคำพูดวรรคทองบนเวทีเสวนา ซึ่งผู้พูดมีชื่อว่า นางสุภา ศิริสิงห สุภาพสตรีผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ในวัย 70 ปี เธอผู้นี้คือศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2542 ในนามปากกา “โบตั๋น”

อ.โบตั๋น ได้เล่าเรื่องราวความเป็นมาของท่านให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ฟังต่อว่า

“พ่อดิฉันเป็นต่างด้าว เป็นชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทย ดิฉันก็เลยเป็นลูกเจ๊กลูกจีนตามที่เขาเรียกกัน ยิ่งด้วยการที่เป็นลูกสาวของคนจีนด้วย ชีวิตจึงต้องรู้สึกว่าโดนบีบคั้นไปด้วยสภาพแวดล้อมของสังคมในช่วงเวลานั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดิฉันเรียนที่อักษรศาสตร์ เพื่อน ๆ ในคณะต่างก็เอาผลงานนิยายหรือบทกวีของตัวเองมาคุยโอ้อวดกัน ว่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ได้เขียนลงไปลงนิตยสารโน้นบ้างล่ะ นิตยสารนี้บ้างล่ะ ดิฉันก็นึกในใจว่าเรื่องนิยายแค่นี้ดิฉันก็เขียนได้ ว่าแล้วดิฉันก็เขียนเรื่องจดหมายจากเมืองไทยขึ้นมา โดยสาเหตุที่เลือกเขียนก็เพราะว่าเรื่องในลักษณะนี้ยังไม่เคยมีใครเขียนมาก่อน ตอนที่เขียนนั้นดิฉันยังเรียนอยู่ปี 3 อายุน่าสักประมาณ 21 หรือ 22 เอง”

หลังจากนั้น อ.โบตั๋น ก็ได้เล่าให้ฟังต่อว่า นิยายเรื่อง “จดหมายจากเมืองไทย” พอได้ลงเป็นตอน ๆ ในนิตยสารสตรีสารก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเยอะมาก รวมทั้งมีคนอยากจะรู้ว่าคนเขียนคือใคร แต่ในสมัยนั้นตัวนักเขียนเองค่อนข้างที่จะปิดตัวเอง ไม่กล้าเปิดเผยให้สังคมได้รู้จักสักเท่าไหร่ว่านักเขียนคนนี้คือใคร เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง จนกระทั่งอาจารย์บุญเหลือ (มล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ) ได้เสนอเรื่องนี้เข้ารับรางวัล สปอ. ในปีพ.ศ. 2512 หลังจากนั้นผู้อ่านจึงได้รู้จักกับนักเขียนที่นามปากกว่า “โบตั๋น” มากขึ้น

ถามว่าชื่อ “โบตั๋น” นี้มีที่มาอย่างไร?

อ.โบตั๋น ยิ้มพร้อมทั้งเล่าตอบให้ฟังอย่างอารมณ์ดีว่า

“ด้วยความที่อยากดัง ในช่วงนั้นเขามีนิยายเรื่องในฝัน ของโรสลาเรน โรสลาเรนก็คือดอกกุหลาบจักรพรรดิ์ เป็นดอกไม้ที่ยิ่งใหญ่ ดิฉันก็ต้องเอาบ้างสิ ไหน ๆ เราก็เป็นลูกคนจีนเอาดอกไม้จีนก็แล้วกันจะได้สื่อความหมายได้ถูกคน ว่าแล้วก็เลือกเอาดอกโบตั๋น เพราะว่าดอกโบตั๋นก็เป็นดอกไม้ที่ยิ่งใหญ่เหมือนกัน ครั้งหนึ่งดอกโบตั๋นเคยเป็นดอกไม้ประจำชาติจีน และเป็นดอกไม้ประจำพระองค์ของพระนางบูเช็คเทียนด้วย”

พูดถึงผลงงานนิยายของ อ.โบตั๋น แล้วหลาย ๆ ท่านก็คงทราบกันดีว่า เป็นนิยายเชิงสะท้อนสังคมที่เอาภาพความเป็นจริงของสังคมมาสะท้อนในเข้าไปในตัวละคร ซึ่งจะเป็นการช่วยชี้ถึงปัญหาและบอกผู้อ่านให้คิดหาแนวทางแก้ไขตามไปตลอด ซึ่งถือว่าเป็นนิยายที่นอกจากจะได้ความบันเทิงแล้วยังมีสาระและแง่คิดต่าง ๆ แฝงอยู่ในเนื้อเรื่องด้วย สำหรับแฟนประจำของ อ.โบตั๋น คงทราบกันดีว่า นิยายส่วนใหญ่นั้นเป็นเรื่องชีวิตที่รัดทน ตัวละครต้องฝ่าฟันอุปสรรคและปัญหาในชีวิตมากมาย เป็นนิยายแนวเครียดและกดดันตัวละคร โดยหลาย ๆ เรื่องไม่ได้จบลงแบบสุขนาฏกรรม แต่เป็นเรื่องที่เน้นการเตือนสติและการให้แง่คิดมากกว่า อีกทั้งจะหานิยายที่เป็นเรื่องรักใคร่แนวหวานซึ้งไม่ค่อยจะมีให้ได้อ่านกันเลย

“คนใกล้ตัวดิฉันยังต่อว่าเลยว่า เนี่ยเธอ ... เรื่องของเธอนางเอกตาย 3 เรื่องติดกันแล้วนะ เธอจะใจร้ายไปถึงไหนเนี่ย?”

อ.โบตั๋น ยังคงเล่าให้ผู้เข้าร่วมเสวนาฟังอย่างติดตลกได้เหมือนเดิม แล้วท่านก็เล่าถึงวิธีการคิดสร้างโครงเรื่องให้ได้ทราบว่า ด้วยความช่างสังเกตและเหมือนจะสนใจในปัญหาของสังคม จึงพยายามเอาปมปัญหาเหล่านั้นมาผูกเรื่องให้เห็นถึงตัวละคร ผูกปมปัญหาให้ตัวละครไปเรื่อย ๆ ทีละปม ทีละปม แล้วค่อย ๆ แก้ปมปัญหาให้ตัวละครในตอนท้าย โดยที่ไม่ทิ้งตัวละครให้ความสำคัญกับตัวละครเป็นหลัก ให้ตัวละครเป็นผู้เดินเรื่อง รวมทั้งเอาปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมในช่วงเวลานั้นมาเป็นประเด็นหรือแก่นของเรื่อง (Theme) แล้วสร้างตัวละครขึ้นมาให้เดินตามโครงเรื่อง (plot) อย่างเช่นเรื่อง “ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด” , “บัวแล้งน้ำ” , “ทองเนื้อเก้า” , “กว่าจะรู้เดียงสา” ฯลฯ

“อย่างตอนที่คิดตัวละครชื่อลำยอง ดิฉันก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ในตลาด เธอเป็นคนที่เลี้ยงลูกแบบปล่อยปะละเลย อาจจะดูแล้วสำมะเลเทเมาไปสักหน่อย แต่ไม่ได้ขี้เมาหรือร่านสวาทเหมือนในละครนะ แล้วเธอก็มีลูกชายเล็ก ๆ คนหนึ่ง พอลูกชายเธอไปบวชเณรแล้วก็มีคนพาเณรกลับมาโปรดมารดา พาเณรมาให้แม่กราบ เราเห็นแล้วก็นะ รู้สึกซึ้ง ก็เลยสะท้อนออกมาเป็นเรื่องที่เล่าว่าลูกชายแสนประเสริฐทั้ง ๆ ที่มีแม่ไม่ค่อยจะเอาไหนเลย”

อ.โบตั๋น เล่าให้ฟังถึงที่มาของนิยายเรื่อง “ทองเนื้อเก้า” ซึ่งผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาสามารถนำกลับไประยุกต์ใช้ในงานเขียนของตัวเองได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น อ.โบตั๋น ยังเปิดใจต่ออีกว่า นิยายเรื่องที่รักมากที่สุดในชีวิตคือเรื่อง “ความสมหวังของแก้ว” เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท่านชอบมากเป็นพิเศษ ส่วนรองลงมาก็คือเรื่อง “กว่าจะรู้เดียงสา” เป็นเรื่องที่หยิบเอาปัญหาโสเภณีเด็กที่เป็นปัญหาสังคมในช่วงเวลานั้นนำมาเขียนเป็นโครงเรื่อง

อ.โบตั๋น ย้ำทิ้งท้ายให้ผู้เข้าฟังเสวนาที่อยากจะเป็นนักเขียนได้จำไว้เสมอว่า ...

“ถ้าไม่มีปมก็ไม่มีเรื่อง ถ้ามีปมแล้วจะได้มีคำถามต่อไปว่า ทำไม? หรือเพราะอะไร? ดังนั้นในเรื่องจำเป็นต้องมีปม แล้วผูกปมเป็นชั้น ๆ จึงจะสร้างเป็นพล็อตเรื่องได้”

อ.โบตั๋น ในปัจจุบันนี้ยังคงเขียนนิยายอยู่ตลอด แม้ว่าท่านจะไม่ได้มีผลงานหลั่งไหลออกมาอย่างมากมาย แต่ท่านก็มีผลงานนิยายออกมาให้ได้อ่านกันอย่างต่อเนื่อง ในวัยที่อายุ 70 ปีนี้ท่านยังคงเขียนหนังสืออยู่เสมอ พยายามเขียนให้มีนิยายออกมาได้ปีละ 1 เรื่อง โดยเน้นที่ผลงานต้องออกมาดี พยายามไม่เขียนเยอะเพราะว่าคุณภาพไม่ดีแล้วจะไม่เป็นที่พอใจของตัวเอง อ.โบตั๋น ใช้เวลาในวันจันทร์ถึงวันศุกร์บริหารสำนักพิมพ์ชมรมเด็ก ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ก่อตั้งขึ้นมาร่วมกับสามีคู่ชีวิต ในวันที่สามีไม่อยู่แล้วท่านจึงต้องทุ่มเทเวลาสำหรับดูแลกิจการสำนักพิมพ์ให้ดำเนินก้าวหน้าต่อไปได้ โดยใช้เวลาว่างในวันเสาร์และอาทิตย์สำหรับการเขียนหนังสือ ซึ่ง อ.โบตั๋น ยังฝากทิ้งทายสำหรับแฟนประจำผู้ชื่นชอบผลงานในนามปากกา “โบตั๋น” ว่า เรื่องล่าสุดที่เพิ่งเขียนเสร็จเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (พ.ค. 2557) มีชื่อเรื่องว่า “สุดทางฝันวันฟ้าใส” ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ ผู้ที่สนใจอยากจะอ่านเรื่องล่าสุดนี้ก็สามารถไปตามหาซื้ออ่านกันได้ในงานสัปดาห์หนังสือ ที่บูธของสำนักพิมพ์ชมรมเด็ก ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2557 นี้

เขาว่ากันว่า ดอกไม้งามนั้นจะงามเมื่อแรกแย้ม กลีบดอกที่มีสีสันสวยงามของดอกที่บานแล้วสามารถดึงดูดหมู่มวลภมรให้บินมาชื่นชมได้ แต่ดอกไม้ใดที่มีคุณค่าเกินเลยความงดงามไปแล้ว ก็อาจจะทรงค่าเกินกว่าเพียงแค่ให้เหล่าแมลงได้บินตอมเท่านั้น ดอกไม้ดอกนั้นจึงควรจะได้รับการยกย่องเพื่อประดับคุณงามไว้ให้เหล่ามนุษย์ได้ชื่นชมอีกด้วย คงไม่ต่างไปจากดอกไม้งามเชื้อสายจีน ดอกไม้หอมดอกใหญ่ผู้มีนามว่า “โบตั๋น” ดอกนี้ จึงทรงค่าสำหรับการยกย่องเชิดชูให้เป็นศิลปินแห่งชาติอย่างแท้จริง






  อาจารย์รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ , คุณสุภา สิริสิงห (โบตั๋น) ศิลปินแห่งชาติ และอาจารย์ชุติมา เสวิกุล 




อ.โบตั๋น กำลังแจกลายเซ็นให้แก่นักอ่าน




ลายเซ็นที่ อ.โตั๋น มอบให้แก่ผม






@@@@@@@@@@


คุยกันท้ายเรื่อง

บทความเรื่องนี้ผมเขียนขึ้นหลังจากที่ผมได้ไปร่วมฟังงานเสวนาของ “โบตั๋น” ที่งาน “อลังการผสานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ” ซึ่งห้างสรรพสินค้าซีคอน บางแค ได้จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม 2557 โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 ท่านคือ คุณสุภา สิริสิงห (โบตั๋น) ศิลปินแห่งชาติ , อาจารย์รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ และอาจารย์ชุติมา เสวิกุล โดยในงานเสวนาได้พูดถึงเรื่องราวชีวิตการเป็นนักเขียนของ อ.โบตั๋น ผมได้ฟังแล้วรู้สึกประทับในผลงานของท่านอาจารย์โบตั๋นเป็นอย่างมาก ผมเลยเก็บรายละเดียดที่ได้ฟังจากในงานมาเรียบเรียงเพื่อเขียนเป็นบทความนี้ขึ้นมา ตัวผมเองก็ไม่แน่ใจนักว่าจะสามารถรายละเอียดได้ถูกต้องและครบถ้วนทั้งหมดหรือไม่? แต่ก็หวังว่าเรื่องราวในบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ที่สนใจได้บ้าง

ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านและเยี่ยมชมบล็อกนี้ ขอให้ท่านมีความสุขมาก ๆ ครับ

อิอิ




Create Date : 27 พฤษภาคม 2557
Last Update : 27 พฤษภาคม 2557 21:10:40 น. 15 comments
Counter : 5355 Pageviews.

 
เป็นเรื่องราวที่งดงามมากครับ



โดย: nulaw.m (คนบ้า(น)ป่า ) วันที่: 27 พฤษภาคม 2557 เวลา:16:25:35 น.  

 
ณกล่องโชคดีจัง


โดย: เริงฤดีนะ วันที่: 27 พฤษภาคม 2557 เวลา:16:58:52 น.  

 
เป็นศิลปินที่ผมรักมากครับ


โดย: คนขับช้า IP: 182.52.110.16 วันที่: 27 พฤษภาคม 2557 เวลา:17:40:26 น.  

 
อาคุงกล่อง Literature Blog

ตะกี้เข้ามาจากมือถือค่ะ
เลยเข้ามาอ่านอีกที
Vote อีกหน
โบตั๋น เป็นนักเขียนที่พี่อ้อชื่นชม มากๆเช่นกัน


โดย: เริงฤดีนะ วันที่: 27 พฤษภาคม 2557 เวลา:19:06:42 น.  

 
นักเขียนคนโปรดค่ะ
เสียดายจังไม่ได้ไปฟังเสวนา....ไม่รู้ข่าวเลย


โดย: Serverlus วันที่: 27 พฤษภาคม 2557 เวลา:23:23:58 น.  

 
เป็นนักเขียนที่ชื่นชอบมากท่านหนึ่งเลยครับ ผลงานของท่านมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากๆเลยครับ


โดย: สามปอยหลวง วันที่: 28 พฤษภาคม 2557 เวลา:7:53:04 น.  

 
ดีจังเลยนะคะ

บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้


โดย: มี๊เก๋+ป๊าโอ๋=ซีทะเล (kae+aoe ) วันที่: 28 พฤษภาคม 2557 เวลา:9:20:20 น.  

 
เป็นโอกาสดีเลยนะค่ะที่อาคุงกล่องได้มีโอกาสเข้าฟัง
การเสวนา อ่านทุกตัว เหมือนจะได้ไปนั่งฟังเองเสียอย่างนั้น
ล่ะค่ะ แบบว่าขนาดอ่านผ่านตัวหนังสือของคุงกล่อง ยังรู้สึก
สนุกได้ และรู้ว่า "โบตั๋น" เป็นหญิงวัย 70 ปีที่ยัง
มีอารมณ์คารมดีอยู่เสมอ

อ่านตอนผลงานเรื่องแรกออกมาตอนยังเรียนอยู่
ในวัย 20-21 แล้วทึ่งนะค่ะ เขียนออกมาในวัยเท่านี้
แล้วเป็นหนังสือดีและได้รับรางวัลด้วย โห ดีจังอ่ะ เราเอง
วัยเดียวกันยังไม่เป็นโล้ไม่เป็นพาย ไม่ได้อะไรเลยด้วยซ้ำ
แต่เห็นคนที่เค้าจริงจังกับการเขียน มีผลงานออกมาด้วยนี่น่าทึ่ง
น้อยเสียเมื่อไหร่ค่ะ


สุดยอดเลยค่ะ

ปล. ได้มาอ่านอย่างนี้แล้วอยากบอกว่า อยากอยู่เมืองหลวงนะ
เพราะมีกิจกรรมอะไรน่าสนใจไ ปมาหาสู่ง่ายมาก นี่อยู่ ตจว.
ไม่มีอะไรอย่างนี้บ่อยๆ เลยค่ะ ..




โดย: JewNid IP: 183.89.133.189 วันที่: 28 พฤษภาคม 2557 เวลา:10:16:28 น.  

 
อาคุงกล่องลองเข้าไปดูที่เวปนี้ เขาแจกโค๊ดเยอะมาก
อาจมีก็ได้

//www.codetukyang.com/html/


โดย: ยายเก๋า (ชมพร ) วันที่: 28 พฤษภาคม 2557 เวลา:18:28:51 น.  

 
ดีจังค่ะ





โดย: แม่ออมบุญ วันที่: 29 พฤษภาคม 2557 เวลา:13:07:46 น.  

 
ว้าวได้ลายเซนต์ของโบตั๋นด้วย ชอบจังเลยค่ะ ชอบอ่านหนังสือของโบตั๋น สะท้อนสังคมได้ดี เป็นกิจกรรมที่น่าไปมากๆ เลยคุณกล่อง


โดย: sawkitty วันที่: 29 พฤษภาคม 2557 เวลา:15:40:33 น.  

 
สวัสดีค่ะคุณกล่อง ต้องขอโทษด้วยนะคะที่มาฃ้าค่ะ พอดีไปโคราชอย่างรีบด่วนไม่ทันบอกเพื่อนๆเลยค่ะ เพิ่งกลับมารีบมาตอบเม้นท์เพื่อนๆ วันนี้มาบ้านคุณกล่องแล้วค่ะ ชอบอ่านนิยายาของโบตั๋นหลายเรื่องเหมือนกันค่ะ

โชคดีจังคุณกล่องได้ลายเซ็นนักเขียนใหญ่ด้วย

มีความสุขวันหยุดนะคะ




โดย: กิ่งฟ้า วันที่: 31 พฤษภาคม 2557 เวลา:12:55:16 น.  

 
ชื่อนี้คุ้นหูอยู่มากครับ น่าจะเคยเขียนเรื่องลงในหนังสือเรียนด้วย (ควรจะบอกว่าหนังสือเรียนเอาเรื่องไปลงมากกว่า)

เห็นงานแบบนี้แล้วรู้สึกอยากไปบ้างจริงๆ

+


โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 1 มิถุนายน 2557 เวลา:20:34:53 น.  

 
อ่านนิยายของท่านหลายเรื่องค่ะ โดยเฉพาะเรื่องที่แต่งนานมาแล้วค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 2 มิถุนายน 2557 เวลา:14:36:13 น.  

 
ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีดีค่ะ :)


โดย: Akanake T IP: 157.7.52.183 วันที่: 18 ธันวาคม 2559 เวลา:1:31:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อาคุงกล่อง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 62 คน [?]




อาคุงกล่องเป็นชายไทยนิสัยดีมีความฝัน ผู้ผันตัวมาเป็นทาสวรรณกรรมอย่างแท้จริง ใช้ชื่อกำหนดตัวตนว่า “อาคุงกล่อง” เป็นนามปากกาสร้างสรรค์ผลงานในเชิงหัสนิยาย และงานเขียนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี ความเรียง บทกลอน ไดอารี่เพ้อเจ้อละเมอเพ้อฝันต่างๆ ฯลฯ

ปัจจุบัน “อาคุงกล่อง” เป็นนักอ่าน นักคิดและนักเขียน รวมทั้งเป็นนักจินตนาการออกมาเป็นตัวอักษรด้วย ผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่คือการเป็นนักเขียนมีคุณภาพที่สรรค์สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คาดว่าในเวลาอันใกล้นี้นาม “อาคุงกล่อง” จะเกิดปรากฎชัดในโลกวรรณกรรม จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่หนอนนักอ่านทั่วไทย



"ในชีวิตจริงของคนเรา มีอะไรอีกมากมายที่จะต้องรับรู้และรับผิดชอบ ในแต่ละวันเรามีโอกาสที่จะหัวเราะได้สักกี่ครั้ง? แต่ถ้าเราได้มีโอกาสหัวเราะเสียบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือคลายเครียด ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ"

ถ้าคุณเข้ามาในบล็อคของผมแล้ว คุณสามารถอมยิ้มหรือหัวเราะได้ ผมก็คงจะดีใจแล้วครับ (กรุณาช่วยทิ้งคอมเม้นท์วิจารณ์ไว้ให้ผมด้วยนะครับ จักขอบพระคุณมากเลยครับ)

akungklong@gmail.com
Friends' blogs
[Add อาคุงกล่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.