Group Blog
 
<<
มีนาคม 2559
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
23 มีนาคม 2559
 
All Blogs
 

จิบน้ำชาในเวิ้งฟ้า สนทนากันให้ไพศาล

23 มีนาคม 2559









ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงานเสวนา “จิบน้ำชาในเวิ้งฟ้า สนทนากันให้ไพศาล” ว่าด้วยนวนิยายเรื่อง “ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล” ของอาจารญ์ชมัยภร แสงกระจ่าง โดยมีวิทยากรร่วมผู้คุยคือ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ , คุณอดุล จันทรศักดิ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ , ศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ดำเนินรายการโดยอาจารย์จรูญพร ปรปักษ์ประลัย งานนี้จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 19 มีนาคม 2559 ที่โรงแรมอโนมาแกรนด์ ราชประสงค์

ผมขอนำเอารายละเอียดของการเสวนาในวันนั้นมาเขียนสรุปให้ท่านได้อ่านกัน โดยผมอ่าจจะเขียนสรุปได้ไม่ครบทุกประเด็นและไม่ครบทุกคำพูดในงาน เนื่องจากผมจดเป็นบันทึก(เลคเชอร์)มาเขียนเพื่อสรุปอีกครั้ง ดังนั้นถ้ารายละเอียดส่วนใดขาดตกบกพร่องหรือคลาดเคลื่อนไปบ้าง ต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ











เริ่มจาก อ.จรูญพร ปรปักษ์ประลัยถามคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ในประเด็นเกี่ยวกับการตระหนักถึงความตาย ที่เป็นพล็อตเรื่องหลักของนวนิยายเล่มนี้

-คุณหญิงจำนงศรี บอกว่าสาเหตุที่ต้องออกมาพูดเรื่องความตายก็เพราะว่าตัวคุณหญิงอายุ 76 ปีแล้ว จึงมองว่าเวลาของตัวเองเหลือน้อยแล้ว

-มีงานวิจัยระบุว่า ทำไมคนแก่อายุ 50 ปีขึ้นไปจึงมีความสุขมากกว่าคนในวัยอื่น สาเหตุเป็นเพราะถึงวัยที่มองแล้วว่าชีวิตเหลืออีกไม่มาก ความสุขในชีวิตของคนจะต่ำสุดในช่วงอายุประมาณ 40 กว่า แล้วความสุขจะค่อย ๆ มีเพิ่มมากขึ้นเมื่อตอนอายุ 50 ปีขึ้นไป

-ดังนั้นเมื่อคนที่ใกล้จะเกษียณจะเริ่มรู้ว่าเวลาของชีวิตเหลืออีกไม่มาก ทำให้สมองจะเลือกจำสิ่งที่ดี ๆ โดยจะไม่จำสิ่งที่ไม่ดีสักเท่าไหร่ เมื่อมีการทดลองให้คนที่อายุ 50 ปีขึ้นไปดูภาพถ่ายใบหน้าของคนต่าง ๆ จำนวนมาก พบว่าคนแก่จะจดจำได้เฉพาะใบหน้าที่ยิ้มแย้มเท่านั้น ไม่จดจำใบหน้าที่บึ้งตึงเลย ถือว่าเป็นปัญญาโดยธรรมชาติของมนุษย์

-จึงสรุปว่าคนแก่อายุ 50 ปีขึ้นไปจะสุขง่ายแต่จะทุกข์ยากขึ้น

-สำหรับประเด็นเรื่อง มรณาสตินั้น เป็นเรื่องการคิดพินิจถึงความตาย ใครที่คิดถึงทุกวันชีวิตจะดีขึ้น




อ.จรูญพร ปรปักษ์ประลัย ถามผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ ว่าอ่านนวนิยายเรื่อง “ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล” แล้วมีความคิดเห็นอย่างไร?

-อ. สุวรรณา บอกว่าโดยปกติแล้ว อ.ชมัยภรมักจะชอบเล่าพล็อตเรื่องที่กำลังเขียนให้ท่านฟังอยู่เสมอ จึงได้รู้ถึงรายละเอียดของนวนิยายเรื่องนี้ตั้งแต่อ.ชมัยภรกำลังเขียนแล้ว

-อ.สุวรรณา บอกว่าชอบอ่านเรื่องเป็นตอน ๆ ที่ลงในนิตยสาร เพราะว่าถ้าอ่านหมดที่เดียวเหมือนกินกาแฟหมดทั้งกา ดังนั้นการอ่านทีละตอนจึงเหมือนการกินกาแฟทีละถ้วยซึ่งดีกว่า

-สำหรับการตามอ่านเป็นตอน ๆ ในนิตยสารนั้นถือว่าเป็นวัฒนธรรมการอ่านรูปแบบหนึ่ง ถือว่าเป็นวัฒนธรรมการอ่านที่ดีที่นิตยสารควรจะดำรงเอาไว้ โดยเฉพาะนิตยสาร สกุลไทยและขวัญเรือนที่ยังลงนวนิยายเป็นตอน ๆ อยู่

-การอ่านนวนิยายเป็นตอน ๆ ในนิตยสารนั้นถือว่าเป็นการกระตุ้นความอยากรู้ของผู้อ่าน ในช่วงที่รอตอนใหม่อยู่นั้นทำให้ผู้อ่านได้คิดพิจารณาและไตร่ตรองเกี่ยวกับเรื่องนั้นตามไปด้วยตลอด ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับกระบวนการอ่านเป็นอย่างมาก

-การเขียนนวนิยายเป็นตอน ๆ ลงในนิตยสารนั้นแสดงให้เห็นถึงฝีมืออันยอดเยี่ยมของผู้เขียนด้วย

-สำหรับนวนิยายเรื่อง “ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล” นี้อ่านแล้วรู้สึกว่า จันทรเป็นตัวละครที่น่าหมั่นไส้มาก เพราะเป็นคนเดียวที่ไม่รู้ ไม่ทราบ และชอบคิดอยู่คนเดียว จันทรเป็นตัวละครที่ไม่รู้ว่าจะจัดการกับชีวิตของตัวเองอย่างไร ซึ่งแตกต่างจากตัวละครตัวอื่น อาทิเช่น ตัวลูกสาว(พอเพลิน)ก็มีปัญหาชีวิตสมรส แต่เธอก็สามารถจัดการแก้ไขได้ เป็นต้น

-อ่านเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่าผู้เขียนกำลังบอกอะไรสักอย่าง? ผู้เขียนวางบุคลิกของตัวละคร(จันทร)ไว้จนคนอ่านรู้สึกรำคาญมาก แต่ผู้เขียนก็ได้ให้ตัวละครได้ข้อสรุปในตอนท้ายที่ออกมายืนมองท้องฟ้า

-ตัวละครจันทรไม่เคยเงยหน้าดูอะไรรอบตัวเลย คิดจากความรู้สึกของตัวเองทั้งหมด ในขณะที่ตัวละครอื่นยังรู้เลย ขนาดตัวละครที่ชื่อจิตซึ่งเป็นแม่บ้านยังรู้เลย เช่นตอนที่ไปนั่งสมาธิที่วัดป่า ตัวแม่บ้านยังได้อะไรบ้างในขณะที่จันทรไม่ได้อะไรกลับมาเลย

-เชื่อว่าผู้เขียนสร้างตัวละครขึ้นมาโดยรู้ว่าตัวละครจะมีจุดจบอย่างไร




อ.จรูญพร ถามศาสตราจารย์ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ว่าเห็นวิธีการนำเสนอแนวปรัชญาในนวนิยายเรื่องนี้อย่างไร?

-อ.รื่นฤทัย ขอเกริ่นออกตัวก่อนในประเด็นเรื่องการตามอ่านนวนิยายเป็นตอน ๆ ว่าตัวเองไม่ชอบอ่านนวนิยายเป็นตอน ๆ ในนิตยสาร แต่ว่าชอบอ่านตอนรวมเล่มแล้วมากกว่า

-อ่านเรื่อง “ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล” นี้แล้วรู้สึกหนักด้วยตัวละครจันทร จันทรช่างไม่รู้อะไรเลย จันทรสร้างกรงขังตัวเองเอาไว้ตลอดโดยไม่สนใจอะไรเลย

-อ.รื่นฤทัย ได้ให้ข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับพล็อตเรื่องนี้ว่า แต่หลังจากที่เธอ(จันทร)หลับมาตลอดเธอตื่นได้เร็วไป มันหักเร็วเกินไปหรือไม่?

-ส่วนในเรื่องการใช้ความคิดทางด้านศาสนาพุทธนั้น อ.รื่นฤทัย บอกว่างานเขียนของ อ.ชมัยภร มักจะแทรกความคิดธรรมะอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเขียนร้อยเรียงได้อย่างแนบเนียนมาก

-เมื่อได้อ่านตอนที่ไปปฏิบัติธรรมนั้น อ.รื่นฤทัย บอกว่าตัวท่านอาจจะเข้าไม่ถึงเพราะท่านอาจจะไม่มีประสบการณ์ด้านนี้ จึงไม่รู้สึกร่วมไปด้วยที่ตัวละครจันทรบอกว่า “คนที่ไม่ชอบก็ออกมาเดินด้วย” (เดินจงกรม)

-นวนิยายเรื่องนี้ชึ้ให้เห็นถึงความทุกข์ของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ทุกข์ตั้งแต่เกิดที่คลอดก่อนกำหนด ที่ตัวละครพอพันธ์ลูกของยาหยีคลอดก่อนกำหนด , ทุกข์ตั้งแต่เด็ก ที่ตัวละครโฟโต้ป่วยเป็นลูคีเมียคั้งแต่อายุ 7 ขวบ , ทุกข์ตอนโต ตัวละครพอพงศ์ทุกข์ที่คุณแม่รับลูกสะใภ้ไม่ได้ ตัวละครพอเพลินทุกข์กับชีวิตสมรส , ทุกข์ตอนตาย ตัวละครอาทิจจ์ตายตั้งแต่ต้นเรื่อง ตัวละครลูกชายคนเล็กตายจากอุบัติเหตุทางเครื่องบิน ฯลฯ

-เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ตัวละครทุกตัวมีกิเลสอยู่ในตัว ซึ่งเป็นกิเลสของมนุษย์ทุกคน

-อ่านนวนิยายเรื่องนี้แล้ว ทำให้ อ.รื่นฤทัย คิดถึงหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ “รัก หลง โกรธ แค้น คลั่ง บ้า” ที่เป็นรวมเรื่องสั้นของนักเขียนสตรี 5 คน (สร้อยแก้ว คำมาลา , ปรารถนา รัตนะ , อุรุดา โควินท์ , ชลัมพุ ณ ชเลลัม และ เอื้อ อัญชลี) เพราะว่าตัวละครจันทรมีบุคลิกครบถ้วนทั้งหมดเลย

-ในประเด็นศิลปะการสร้างตัวละคร มองว่า อ.ชมัยภรสร้างตัวละครได้ดีมากขึ้น แต่เดิมงานของ อ.ชมัยภร มักจะมีตัวละครทีไม่มีมิติหรือมีแค่มิติเดียว คือเป็นตัวละครที่ดีเกินไป แต่งานเขียนในช่วงหลังของ อ.ชมัยภร มีตัวละครที่ร้ายบ้าง ซึ่งความร้ายของตัวละครนี่เองที่ทำให้ตัวละครมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น




อ.จรูญพร ถามคุณอดุล จันทรศักดิ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ว่าอ่านเรื่องนี้แล้วมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง?

-คุณอดุล บอกว่าตัวละครจันทรเป็นอะไรที่ไม่มีดีเลย อะไรที่ไม่ดีรวมอยู่ในจันทรหมด เมื่ออ่านถึงตอนที่เกลียดลูกสะใภ้ เอาเสื้อผ้าของลูกสะใภ้มาโยนทิ้งหน้าบ้าน อ่านแล้วรู้สึกว่าจันทรคือหม่อมพรรณาราย สว่างวงศ์ ณ อยุธยา (หม่อมแม่) ในเรื่องบ้านทรายทองเลย

-ตัวละครอาทิจจ์เป็นคนที่ทำผิดได้ทั้งชีวิต ตายแล้วยังเป็นคนผิดเลยเพราะจันทรชอบบอกว่าเป็นความผิดของอาทิจจ์เสมอ นึกอะไรไม่ออกจันทรก็ด่าอาทิจจ์ตลอด อาทิจจ์ตายตั้งแต่ต้นเรื่องแต่ก็ยังมีบทบาทต่อทั้งเรื่อง

-ตัวละครยาหยีเป็นตัวละครที่น่าสนใจแต่มีมิติน้อยไปหน่อย ยาหยีเป็นผู้หญิงที่มีมุมมองในชีวิตดีมาก

-ตัวละครจันทรเป็นปัญหาทั้งหมดในเรื่อง

-ส่วนในประเด็นการอ่านเป็นตอน ๆ ในนิตยสารนั้น คุณอดุลบอกว่าตามอ่านไม่ไหว ต้องรอให้รวมเล่มก่อนถึงจะอ่าน




อ.จรูญพร ถามคุณหญิงจำนงศรี ว่าระหว่างสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการปฏิบัติธรรมกับเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้มีความใกล้เคียงกันอย่างไร?

-คุณหญิงจำนงศรี คิดว่าผู้เขียนไม่ได้ยกเอาเรื่องการปฏิบัติธรรมมาใส่ไว้ทั้งหมด แต่เจาะลึกเข้าไปในปัญหาของมนุษย์มากกว่า ซึ่งภาพรวมทั้งหมดของเรื่องก็คือตัวละครจันทร

-อ่านแล้วไม่ได้รู้สึกรำคาญตัวละครจันทรเลย แต่มองผ่านจันทรว่าผู้เขียนกำลังจะบอกอะไรแก่เรา เพราะว่าจันทรคือบ่อทุกข์ ผู้เขียนเล่นกับความรู้สึกข้างในของจันทรมากกว่า

-คุณหญิงจำนงศรีบอกว่าอ่านเรื่องนี้แล้วรู้สึกได้ถึงนวนิยายแนวกระแสสำนึก ที่จันทรเล่นเกมลูกกวาด (ในเรื่องเล่นเกมแคนดี้ครัช) แล้วมีตัวลูกกวาดที่เป็นช็อคโกแล็ตไหลเยิ้มออกมากินลูกกวาดเม็ดอื่นตลอด ประเด็นนี้เหมือนว่าจันทรที่จมอยู่กับอดีตจนแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นอดีต อันไหนเป็นปัจุบัน จนกระทั่งในที่สุดอดีตกับปัจจุบันมันไหลมารวมกันในความรู้สึกของจันทร

-คุณหญิงจำนงศรีให้ข้อสังเกตว่า ในเรื่องไม่ได้ให้ระยะเวลาที่จะพัฒนาตัวละครได้ยาวพอ คือว่าเรื่องมันสั้นไป น่าจะมีเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนให้กับตัวละครได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะบุคลิกของตัวละครยาหยี ที่มีการกระทำอะไรที่ทำให้เป็นจุดเปลี่ยนสำหรับจันทรได้มากกว่า ในเรื่องมันน้อยไปหน่อย

-คุณหญิงจำนงศรีบอกว่า ในเรื่องนี้มีคำพูดของตัวละครที่ได้เข้าถึงธรรมะคือคำว่า “หลุมชีวิต” กับ “ประตูที่ปิดสนิท”

-ในเรื่อง ตัวละครจันทรมีความทรงจำกับความรู้สึกที่แยกกันไม่ออก ถ้ามองในเชิงธรรมะคือ จันทรเหมือนไม่มีสติที่จะมองปัญหา จันทรจึงจมตัวเองไปสู้ความทุกข์ตลอด

-จุดเปลี่ยนในเรื่องต้องมีกุญแจ 2 ดอก คือกุญแจนอกกับกุญแจใน ซึ่งเปรียบเทียบคือกุญแจนอกความหมายถึงการไปปฏิบัติธรรม ส่วนกุญแจในคือการปฏิบัติธรรมแล้วตัวเองคิดได้มีสติมากขึ้น

-ตัวละครจันทรกลัวการสูญเสีย กลัวตัวเองไม่ได้เป็นที่หนึ่ง กลัวว่าตัวเองจะไม่เป็นศูนย์กลาง โดยในเรื่องมีประโยคที่ว่า “แม่ก็กลัว” อยู่ 4 หน อ่านแล้วทำให้คิดว่าผู้เขียนกำลังจะย้ำในเรื่องใด ซึ่งสรุปว่าปัญหาหลักของจันทรคือกลัวที่จะเสียตัวตนของตัวเอง










อ.จรูญพรถาม อ.สุวรรณา ในประเด็นเรื่องธรรมะว่ามีความคิดเห็นอย่างไร?

-อ.สุวรรณา บอกว่า ตัวละครจันทรทั้งหวงและห่วง จันทรหวงเพราะกลัวจะสูญเสียลูกชาย(กลัวลูกชายแต่งงานแยกไปจากตัวเอง) เป็นห่วงลูกสาว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความทุกข์ของจันทร ซึ่งจันทรเองก็กลัวความไม่ดีของตัวเองด้วย

-อ.สุวรรณา ให้ข้อสังเกตว่า ในงานเขียนของ อ.ชมัยภร มักจะมักจะมีตัวละครพระมาปรากฎอยู่เสมอ ส่วนใหญ่มาปรากฎในรูปของหลวงพ่อ อ.ชมัยภรใช้พระเยอะเกินไป (สร้างตัวละครพระเยอะเกินไป)

-โครงเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้สั้นมากคือ “ผัวจะนอกใจไหม?” ซึ่งตัวละครจันทรพยายามแก้ปมนี้มาโดยตลอด แต่ยิ่งแก้ก็ยิ่งวุ่นเหมือนลิงแก้แห

-ในเรื่องนี้มีพล็อตย่อยที่กระจายออกไป ซึ่งพล็อตย่อยคือเรื่องของลูกชาย , เรื่องของลูกสะใภ้ ,เรื่องของลูกสาว , เรื่องของเด็กชายโฟโต้ที่ป่วย ฯลฯ แต่ว่าในพล็อตย่อยต่าง ๆ นี้ตัวละคร(ในพล็อตย่อย)ไม่ได้พัฒนาไปมากเท่าที่ควร

-อ.สุวรรณา ให้ข้อสังเกตว่าพล็อตเรื่องนี้มันเกร็งไปนิด เพราะตัวละครจันทรไม่ยอมเข้าไปแก้ปัญหาของตัวเอง

-อ.สุวรรณา บอกต่อว่ามีทฤษฏีทางวรรณกรรมที่บอกว่าเรื่องราวเป็นเพราะอะไรให้ไปดูที่ตัวผู้เขียน ก็อาจจะสรุปได้ว่าเรื่องนี้สะท้อนชีวิตหรือตัวตนของผู้เขียนอยู่บ้าง

-นักเขียนอาจจะเขียนเรื่องจากประสบการณ์ที่ตัวเองมี แต่การเขียนโดยการสร้างเรื่องควบคู่ไปกับจินตนาการของตัวเองนั้นเป็นฝีมือของนักเขียนเอง ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่นักเขียนมีประสบการณ์น้อย เช่นเรื่องการไปปฏิบัติธรรม แต่นักเขียนสร้างจินตนาการเขียนออกมาได้ดีถือว่าเป็นนักเขียนที่มีฝีมือดี (สรุปว่าอ.สุวรณาชมอ.ชมัยภรแล้ว)

-คุณหญิงจำนงศรี ขอเสริมในประเด็นที่ว่า อ.ชมัยภรควรจะเขียนนวนิยายในแนวนี้อีกสักเรื่อง เขียนโดยให้มีการพัฒนาตัวละครเพื่อให้พล็อตใหญ่(พล็อตเรื่อง)มันแข็งแรงมากขึ้น ส่วนประเด็นการกลัวสูญเสียตัวตนนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่นักเขียนนำเสนอ เพราะว่าเราทุกคนเป็นเหมือนจันทร เพียงแต่ว่าเราจะเห็นมันหรือไม่เท่านั้น




อ.จรูญพร ถาม อ.รื่นฤทัย ในประเด็นการสร้างตัวละครกับความขัดแย้ง

-อ.รื่นฤทัย บอกว่า ในเรื่อง “ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล” นี้ ตัวละครกำลังสู้กับตัวเอง สู้กับอดีตของตัวเอง

-เพราะความกลัวเป็นกุญแจไขปมชีวิต ตัวละครจันทรก็เห็นว่าคนอื่นก็ทุกข์เหมือนกัน จันทรจึงพูดว่า “มันไม่ใช่เราคนเดียวที่เป็นแบบนี้ ... “

-ตัวละครโฟโต้ก็เป็นทุกข์ เจ็บปวดตั้งแต่เด็กจึงต้องสู้กับอาการป่วยของคนเอง

-ตัวละครยาหยีก็ทุกข์มาก เพราะกลัวจะเสียลูก ถึงขนาดเพ้อเรียกคุณแม่ของตัวเองให้มาช่วย (ในเรื่องคุณแม่ยาหยีตายไปแล้ว)

-ตัวละครยาหยีร้องเรียก “คุณแม่ ๆ” ในห้องคนไข้ จันทรได้ยินนึกว่ายาหยีเรียกตัวเอง จันทรจึงเอาอดีตมาทาบกับปัจจุบันได้ยินเสียงเรียกในความคิดคำนึง ซึ่งการที่คนสองคนได้มาแชร์ความรู้สึกเดียวกันทำให้รู้สึกเหมือนว่าไม่ได้สู้เพียงลำพัง

-อ.รื่นฤทัย คิดว่าในเรื่องที่แรงที่สุดคือประโยคที่ว่า “ก็มันตายไปแล้วไม่ใช่เหรอ?” ที่ตัวละครจันทรพูด

-มีวิธีการเดินเรื่องโดยเอาอดีตกับปัจจุบันมาทาบกันได้เป็นช่วง ๆ ทำให้ผู้อ่านทราบอดีตของตัวละคร รู้ว่าตัวละครผ่านอะไรมาแล้วบ้าง ซึ่งการทาบอดีตกับปัจจุบันแบบนี้ทำให้ผู้อ่านได้รู้จักชีวิตของตัวละครมากขึ้นด้วย

-ในประเด็นที่ผู้เขียนเอาเกมลูกกวาดมาใช้เป็นสัญลักษณ์นั้น ช็อคโกแล็ตที่ไหลเยิ้มมากินตัวอื่นก็เหมือนกับการที่เราทำอะไรแล้วมีอุปสรรคมาขวางทาง , เจอลูกกวาดที่มีระเบิดเวลานั้นก็เหมือนว่าหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตจริงของคนเราก็ขึ้นอยู่กับเวลาทั้งนั้น ฯลฯ



อ.จรูญพร ถามคุณอดุล ว่าชอบตัวละครใดในเรื่องนี้บ้าง?

-คุณอดุล บอกว่าไม่ได้ชอบตัวใดเป็นพิเศษ แต่รู้สึกกับตัวละครเกือบทุกตัว ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องนี้จันทรพูดดีที่สุดในหน้า 195 ที่บอกกับหลวงพ่อว่า “คงทำไม่ได้แล้วเจ้าค่ะ ไม่ไหว ยากเหลือเกิน ... ยากที่จะสงบเย็นตามที่หลวงพ่อว่า อิฉันเรียนรู้ช้า เป็นพวกบัวใต้ตม ชาตินี้คงไม่ได้ผุดได้เกิด อยากปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่มีมารมาผขญตลอด ...” เป็นคำพูดที่รู้ตัวเองได้ดี

-ส่วนตัวละครพอพงศ์พูดดีที่สุดว่า (หน้า 57) “ผมขอให้คุณแม่รักลูกสะใภ้ไม่ได้ ผมก็อให้คุณแม่รักหลานนะครับ”

-คุณอดุลให้ความเห็นว่า ตัวละครจันทรหนาไปด้วยอัตตา ยังไม่หลุดพ้น อ.ชมัยภรเขียนชีวิตของจันทรได้สะใจมาก แต่อ่านแล้วก็รู้สึกว่ามันเร็วไปสักนิดนึงเช่นกัน

-คุณอดุลให้คำแนะนำว่า ถ้าเราอยู่กับปัญหาเราจะมองไม่เห็นปัญหานั้น เราจึงต้องถอยหลังออกมาสักหนึ่งก้าว แล้วมองกลับเข้าไปใหม่เราถึงจะเห็นปัญหานั้น

-ตัวละครหลวงพ่อในเรื่องเป็นตัวละครที่รู้ดีไปหมด พอพงศ์มาหาก็รู้ว่ากลุ้มใจเรื่องแม่ , รู้ด้วยว่าจันทรจะมีปัญหาเลยรีบไล่พอพงศ์กลับไปดูแม่ ฯลฯ คุณอดุลบอกว่าคล้ายกับตัวละครหลวงพ่อในเรื่องเพชรพระอุมา ของพนมเทียนเลย

-ตัวละครยาหยีเป็นตัวละครที่อดทนมาก ขนาดจันทรสร้างกำแพงหนาไว้ยาหยียังอดทนได้

-ประโยคหลักของนวนิยายเรื่องนี้คือ “พรุ่งนี้กับความตาย ไม่รู้อะไรจะมาถึงก่อนกัน” เป็นประโยคที่อธิบายเรื่องราวในนวนิยายนี้ได้เป็นอย่างดี

-คุณอดุลทิ้งท้ายว่า คนที่เขียนหนังสือแล้วทำให้เรารู้สึกได้เช่นนี้ ต้องถือว่าเขา(ผู้เขียน)เหนือกว่าเรามาก




มีผู้เข้าร่วมงานเสวนาถามถึงชื่อเรื่องของนวนิยายว่ามีที่มาอย่างไร?

-คุณหญิงจำนงศรี แสดงความคิดเห็นว่า ผู้เขียนเล่นกับชื่อ อาทิจจ์ และจันทร ที่ต้องอยู่ในท้องฟ้า รวมถึง สุดฟ้าฝัน ด้วย คำว่า “ท้องฟ้า” จึงเป็นสัญลักษณ์ที่นักเขียนจะพูดถึง ส่วนในเวิ้งฟ้าเหมือนสัจธรรมที่ว่า ชีวิตกับความตายเป็นวงจรของสัจธรรม



อาจารย์นรีภพ สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการนิตยสารสกุลไทย ที่เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนาพูดถึงนวนิยายเรื่อง “ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล” นี้ว่า

-ในตอนแรกที่อ่านก็ไม่ชอบตัวละครจันทรเลย รู้สึกว่าจันทรเป็นคนที่ไม่ดีเลย แต่พออ่านไปสักพักก็เริ่มเข้าใจจันทรมากขึ้น

-อ.นรีภพสรุปว่าชอบนวนิยายเรื่องนี้ อ่านแล้วทำให้เราคิดว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราต้องแกร่งเสมอ




อ.จรูญพร ให้วิทยากรทั้งสี่ท่านพูดสรุปทิ้งท้ายถึงนวนิยายเรื่อง “ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล” นี้

-อ.รื่นฤทัย บอกว่าเรื่องนี้นวนิยายเรื่องนี้มันซ้อนกันระหว่างนวนิยายทั่วไปกับเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกภายในของตัวเอง ส่วนเรื่องชื่อเรื่องนั้น เปรียบเทียบเหมือนเราเป็นเถ้าธุลีเล็ก ๆ ในเวิ้งฟ้า ที่จะตายไปเมื่อไหร่ก็ได้

-อ.สุวรรณา ทิ้งท้ายว่าใครที่ยังไม่ได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้ให้ไปหามาอ่าน

-คุณหญิงจำนงศรี บอกว่าอ่านนวนิยายเรื่องนี้แล้ววางไม่ลง เรื่องนี้เป็นการศึกษาถึงเหตุแห่งทุกข์ได้ดี

-คุณอดุล ทิ้งทายโดยเปรียบเปรยว่า ถ้าชีวิตเป็นสายธารสายหนึ่ง ความตายก็แค่น้ำเพียงแค่หยดเดียว นวนิยายเรื่องนี้บอกถึงวิถีอันพึ่งปฏิบัติ แต่ตัวละครจันทรปฏิบัติไม่ได้ โดยผู้เขียนเขียนให้กดดันผู้อ่านผ่านตัวละครจันทรตลอด จนผู้อ่านอย่างผมคิดว่าเมื่อไหร่จันทรจะตายไปสักที จันทรแบกทุกอย่างที่เป็นอัตตาไว้หมด












ช่วงท้ายสุดของการเสวนาเป็นการเปิดใจอาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง “ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล” นี้

-อ.ชมัยภรบอกว่า การเสวนาข้างต้นที่ผ่านมานี้ถือเป็นระบบของการวิจารณ์หนังสือ ซึ่งผู้เขียนไม่ได้ตอบโต้ (อ.ชมัยภร นั่งฟังอยู่ข้างล่างตลอด) ดังนั้นจึงขอพูดถึงนวนิยายเรื่องนี้ด้วยความเข้าใจของผู้เขียน

-ตอนที่เขียนก็ไม่ได้คิดว่าชื่อของตัวละครจันทร จะมาคล้องกับชื่อชมัยภรของตัวเอง จึงทำให้ผู้อ่านบางท่านคิดว่าเป็นเรื่องของผู้เขียน

-จริง ๆ แล้วนวนิยายเรื่องนี้เป็นการบ้านส่งพระไพศาล (มีรายละเอียดเขียนอธิบายไว้แล้วในคำนำของเรื่อง)

-“พรุ่งนี้กับความตาย ไม่รู้อะไรจะมาถึงก่อนกัน” เป็นคำพูดของพระไพศาลในตอนที่สอนในหัวข้อ “ชีวิตกับความตาย”

-ก่อนเขียนได้มีการวางพล็อตเรื่องให้เห็นถึงเรื่องความตาย หลังจากนั้นมีการหาประเด็น เอาประเด็นเรื่องเกลียดลูกสะใภ้ , เรื่องการตาย ฯลฯ มาใส่ในเรื่อง

-ประเด็นเรื่องเกลียดลูกสะใภ้ เคยได้ยินเรื่องเล่าถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่ดีพร้อมทุกอย่าง แต่มีข้อเสียในใจคือเกลียดลูกสะใภ้เป็นอย่างมาก

-ประเด็นเรื่องความตาย พอดีว่าที่ผ่านมามีคนในหมู่บ้านที่สามีเขาตายแล้วแต่ภรรยาไม่รู้ ภรรยาลงมาใส่บาตรตอนเช้าทั้ง ๆ ที่สามีนอนตายอยู่บนห้องนอน

-ประเด็นเรื่องแท้ง เป็นเรื่องคาใจของคนใกล้ตัวที่เคยแท้งลูกแฝดตอนคลอด

-ประเด็นเรื่องความกลัว เก็บเอามาจากคุณยายของตัวเอง เพราะคิดว่าความกลัวนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของมนุษย์ เพราะความกลัวเป็นเรื่องที่แรงมาก ๆ ถ้าเราต่อสู้กับมันไม่ได้เราจะรู้สึกแย่มาก

-ประเด็นเรื่องความเศร้าที่ไหลวนในความร้อน มีท่านอาจารย์ญาดา อารัมภี มาช่วยพูดอธิบายให้ฟัง (ในระหว่างที่อ.ญาดาพูด ผมไม่ทันจดมั่วแต่ฟังเพลินครับ)

-ส่วนชื่อเรื่องนั้น หมายความว่า เมื่อเราเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้าถือว่าเป็นความรู้ตื่นในทันที ส่วนชื่อเรื่องที่มีคำว่า “ไพศาล” นั้นพอดีสำหรับการระลึกถึงพระคุณของท่านพระอาจารย์ไพศาล

-ส่วนประเด็นค้างใจนั้น เขียนโดยเอาเรื่องราวในอดีตของตัวละครมาทาบกับเรื่องราวในปัจจุบัน “ก็เด็กคนนั้นมันตายไปแล้ว” จันทรพูดหมายถึงลูกของตัวเองที่แท้งไปตอนคลอด แต่คนฟัง (พอพงศ์,ยาหยี) คิดว่าจันทรพูดถึงหลานที่เพิ่งคลอดออกมา




ท้ายสุดของท้ายสุดจริง ๆ อ.จรูญพร ขอให้ท่านวิทยากรทุกท่านพูดสรุปทิ้งท้ายสั้น ๆ

-อ.รื่นฤทัย พูดถึงประเด็นมิติที่ทับซ้อนในเรื่อง ถือว่าเป็นรายละเอียดในนวนิยายที่ผู้เขียนต้องมีมืออย่างมาก

-อ.สุวรรณา บอกว่าเวลาที่เราทุกข์เราต้องเดินออกมาให้ได้ เพราะเวลาที่เราจมกับความทุกข์ของตัวเอง เราจะมองไม่เห็นอะไรรอบข้างเลย

-คุณหญิงจำนงศรี บอกว่าเวิ้งฟ้าหมายถึงเมื่อเราเงยหน้าขึ้นไปมองท้องฟ้าเราจะได้ความเข้าใจมากมาย สำหรับเรื่องความทุกข์นั้นใครไม่โดนก็ไม่รู้หรอก

-คุณอดุล บอกว่าเป็นความสำเร็จของการเขียนนวนิยาย เพราะว่าสร้างตัวละคร(จันทร)ให้ผู้อ่านจดจำได้

-อ.ชมัยภร ทิ้งท้ายแจ้งข่าวว่า จะมีการจัดงาน 3 ทศวรรษศิลปินแห่งชาติ โดยจะจัดให้อบรมเขียนให้แก่ผู้สูงอายุ (แต่ไม่ได้บอกว่าอายุเท่าไหร่) ทุกวันศุกร์ เริ่มตั้งแต่ศุกร์ที่ 13 พ.ค. 59 ถึง 11 มิ.ย.59 จัดที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่สะพานผ่านฟ้า ท่านใดสนใจก็ลองติดตามข่าวสารดูนะครับ





ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้มาอ่านและเยี่ยมชมบล็อกนี้ ขอให้ท่านมีความสุขมาก ๆ นะครับ






 

Create Date : 23 มีนาคม 2559
15 comments
Last Update : 23 มีนาคม 2559 0:20:09 น.
Counter : 1758 Pageviews.

 

แวะมาเยี่ยมค่ะคุณกล่อง
อ่านไปได้ประมาณครึ่งหน้า ขอเสียมารยาทเบรคก่อนนะคะ
ไว้สะดวกจะมาอ่่านให้ครบค่ะ

 

โดย: ณ ปลายฉัตร 23 มีนาคม 2559 0:44:13 น.  

 

อาคุงกล่อง Book Blog ดู Blog


หลังๆทิดกล่องเหมือนตัดสินใจจะเอาดีทางด้านนี้นะ

 

โดย: หอมกร 23 มีนาคม 2559 10:26:16 น.  

 

ตอนที่อ่านครั้งแรกก็รู้สึกรำคาญจันทรมากๆ เหมือนกันค่ะ
แต่อาจเป็นเพราะอ่านอาทิตย์ละตอนที่ลงในสกุลไทย เลยไม่ทำให้ความรู้สึกรำคาญนั้นติดอยู่ในใจมากนัก อ่านๆ ไปเรื่อยๆ ก็ติด อยากรู้ว่าจันทรจะหลุดพ้นจากวังวนความคิดของตัวเองได้อย่างไร
อ่านจบแล้วก็สรุปกับตัวเองได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เรื่องหนึ่งเลยค่ะ ชอบมาก ^^

 

โดย: มุลิลาวิฬาร์มาเลศ 23 มีนาคม 2559 12:20:00 น.  

 

ขอบคุณที่นำมาเล่าค่ะ

ชอบผลงานของอ.ชมัยภร แสงกระจ่าง แต่ยังไม่ได้อ่านเรื่องนี้เลยค่ะ

 

โดย: Raizin Heart 23 มีนาคม 2559 14:03:50 น.  

 

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
อาคุงกล่อง Book Blog ดู Blog

มาถึงก็แปะ โหวตให้ อย่าเพิ่งแคลงใจนะครับคุณกล่อง ผมอ่าน
ข้างบนทั้งหมดแล้ว..

ผมเห็นคุณฉัตร เขาไปแซวคุณกล่องที่เฟชแล้ว...เลยทำใจว่า
ต้องเขียน ยาวแน่ 555

อ่านข้างบน เกิดการอิจฉา ที่คุณกล่องมีโอกาศได้ไปฟัง
ท่านนักประพันธ์ และผู้รู้ เขียนที่มาของหนังสือ เทคนิค
เป็นประโยชน์มากจริง ๆ

ผมว่าการเขียน นิยายหรือ บทความเป็นตอน ๆ คงจะดีเหมือน
กันเป็นการเช็ค เรตติ้งไปในตัว.. จะได้ปรับแผนหรือแนวการ
เขียนไปด้วย..

โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบอ่านเรื่องเป็นตอน ๆ เช่นของคุณ
พนมเทียน.. น้อยอินทนนท์ ของ รศ.ดร.สุจิตรา อ่อนค้อม
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทั้งชุด

แต่ก็รู้ว่า ท่านนักประพันธ์ต้องกลั่น หรือใส่แก๊ก.ตอนจบตอน
มันต้องใช้สมอง 555 คนจะได้ติดตามต่อ

ผมอ่านข้างบน แล้วนับถือคุณกล่องที่ จดมาได้เยอะ.. ส่วนผม
คงจะม่อยกระรอก.. จำอะไรไม่ค่อยได้ เพราะใช้ความจำ
ที่อาจจะตราตรึง ได้บางส่วนในส่วนของสมองอันน้อยนิด 555

อ้อ... มาตอบชั้แจง เรื่อง ตัวอักษรในกล่องเม้นท์

ขอตอบว่า ผมไม่รู้จริง ๆ ว่ากล่องเม้นท์ของผม มีอักษรมีหาง
อันวิจิตรปรากฏเมื่อยาม เพื่อน ๆ มาเม้นท์

ของผมเอง ก็ไม่เห็น.. เห็นเพื่อน ๆ มาบอกว่า สวยดี ทำ
ได้อย่างไร...

ลางเนื้อชอบลางยา..จะใช้ได้หรือเปล่า ค่อยว่ากันนะคุณกล่อง

 

โดย: ไวน์กับสายน้ำ 24 มีนาคม 2559 16:14:12 น.  

 

สวัสดีค่ะอาคุงกล่อง
ช่วงนี้มิลอ่านหนังสือน้อยมาก อ่านในเนตเยอะเลย 555

โหวตหนังสือให้นะคะ

อ่านไม่จบเอาไว้อารมณ์นิ่งๆแวะมาอ่านต่อค่ะ
ตอนนี้ติดตามข่าวก่อการร้ายแล้วหดหู่ค่ะ

 

โดย: Mintra-april 24 มีนาคม 2559 16:28:28 น.  

 


อ่านยังไม่จบค่ะว่างๆมาอ่านต่อ คนที่อายุมากขึ้นแล้วมีความสุขง่าย

ขึ้นน่าจะมาจากผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากผ่านทุกข์สุขมาทำให้เข้าใจ

ชีวิตมากขึ้น โหวตให้ด้วยค่ะ

 

โดย: พรไม้หอม 24 มีนาคม 2559 17:47:48 น.  

 

ตามมาอ่านงานตะพาบค่ะคุณกล่อง แต่อ่านยังไม่จบนะคะแหะๆแปะใว้ก่อนโหวตให้เลยค่ะ

 

โดย: zungzaa 24 มีนาคม 2559 21:44:36 น.  

 

แวะมาโหวตค่าคุณกล่อง ^^

 

โดย: ปลาแห้งนอกกรอบ (ปลาแห้งนอกกรอบ ) 24 มีนาคม 2559 22:30:24 น.  

 

แวะมาอ่านบันทึกเรื่องเล่างานเสวนา... ท่านวิทยาการดังๆระดับประเทศทั้งนั้ยเลย
รายละเอียดอื่นๆค่อยมาเก็บอีกครั้งนะคะ ขอโหวตให้คนเก่งคนขยันคะ

โหวต Book Blog ให้คร้า

 

โดย: Tui Laksi 24 มีนาคม 2559 23:01:40 น.  

 

เป็นงานที่ดีและน่าสนใจมาก ๆ ค่ะ
เสียดายที่ไม่ค่อยจะมีโอกาสไปร่วมงานแบบนี้เท่าไหร่
ต้องขอบคุณคุณกล่องมาก ๆ ที่เล่าบรรยากาศแบบเก็บรายละเอียดมาฝากกันนะคะ โหวตให้ค่ะ
และขอบคุณมาก ๆ ที่แวะไปฟังเพลงและโหวตให้ด้วยค่ะ

 

โดย: haiku 24 มีนาคม 2559 23:27:47 น.  

 

กว่าจะเช้าใจตัวละครสักตัวนี้ต้องใช้จิตจินตนาการไปด้วยนะคะ
แบบลึกๆ เลย อิอิ


บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
ปรัซซี่ Food Blog ดู Blog
**mp5** Dharma Blog ดู Blog
haiku Fanclub Blog ดู Blog
lovereason Literature Blog ดู Blog
หอมกร Movie Blog ดู Blog
อาคุงกล่อง Book Blog ดู Blog



 

โดย: Rinsa Yoyolive 24 มีนาคม 2559 23:53:12 น.  

 

บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
อาคุงกล่อง Book Blog ดู Blog

 

โดย: **mp5** 25 มีนาคม 2559 22:42:35 น.  

 

น่าสนใจมากค่ะ

สนใจตรงที่ตัวละครกลัวการสูญเสียตันตนของตัวเอง

เพราะเป็นสิ่งที่ตัวเองกลัวอยู่เหมือนกัน

เป็นอีกเรื่องที่น่าอ่านมาก


บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต

อาคุงกล่อง Book Blog

 

โดย: ชลบุรีมามี่คลับ 25 มีนาคม 2559 22:56:50 น.  

 

มาทักทายตอนค่ำๆค่ะคุณกล่อง
อีกไม่นานเราก็จะมีความสุขขึ้นเรื่อยๆแระ อิอิ
อาคุงกล่อง Book Blog ดู Blog

 

โดย: phunsud 30 มีนาคม 2559 18:58:26 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


อาคุงกล่อง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 62 คน [?]




อาคุงกล่องเป็นชายไทยนิสัยดีมีความฝัน ผู้ผันตัวมาเป็นทาสวรรณกรรมอย่างแท้จริง ใช้ชื่อกำหนดตัวตนว่า “อาคุงกล่อง” เป็นนามปากกาสร้างสรรค์ผลงานในเชิงหัสนิยาย และงานเขียนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี ความเรียง บทกลอน ไดอารี่เพ้อเจ้อละเมอเพ้อฝันต่างๆ ฯลฯ

ปัจจุบัน “อาคุงกล่อง” เป็นนักอ่าน นักคิดและนักเขียน รวมทั้งเป็นนักจินตนาการออกมาเป็นตัวอักษรด้วย ผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่คือการเป็นนักเขียนมีคุณภาพที่สรรค์สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คาดว่าในเวลาอันใกล้นี้นาม “อาคุงกล่อง” จะเกิดปรากฎชัดในโลกวรรณกรรม จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่หนอนนักอ่านทั่วไทย



"ในชีวิตจริงของคนเรา มีอะไรอีกมากมายที่จะต้องรับรู้และรับผิดชอบ ในแต่ละวันเรามีโอกาสที่จะหัวเราะได้สักกี่ครั้ง? แต่ถ้าเราได้มีโอกาสหัวเราะเสียบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือคลายเครียด ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ"

ถ้าคุณเข้ามาในบล็อคของผมแล้ว คุณสามารถอมยิ้มหรือหัวเราะได้ ผมก็คงจะดีใจแล้วครับ (กรุณาช่วยทิ้งคอมเม้นท์วิจารณ์ไว้ให้ผมด้วยนะครับ จักขอบพระคุณมากเลยครับ)

akungklong@gmail.com
Friends' blogs
[Add อาคุงกล่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.