Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2558
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
6 ตุลาคม 2558
 
All Blogs
 

การเขียนสารคดี โดย คุณสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ


พอดีว่าตัวผมได้มีโอกาสไปอบรมการเขียนในหัวข้อ “เขียนอย่างมืออาชีพ ปี58” ที่ทางสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา โดยการอบรมในครั้งนี้สำหรับผู้ที่เตรียมตัวส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการประกวดวรรณกรรมแว่นแก้ว ครั้งที่ 12 ประจำปี 2558

เมื่อผมได้รับการอบรมความรู้ที่เป็นประโยชน์ก็อยากจะบันทึกเนื้อหาความรู้จากการอบรมในครั้งนี้ไว้สำหรับตัวของผมเองและผู้สนใจ โดยเนื้อหาในบล็อกนี้ผมเรียบเรียงเขียนขึ้นมาใหม่จากการที่ผมได้จดบันทึก (เลคเชอร์) ตามความเข้าใจของผม ถึงแม้ว่าจะไม่ครบถ้วนหรือถูกต้องทั้งหมดตามที่ท่านวิทยากรสอน แต่ก็คาดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจเป็นอย่างมาก

โดยท่านวิทยากรผู้สอนในหัวข้อการเขียนสารคดีนี้ก็คือ คุณสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ ท่านเป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสารสารคดี ถือว่าเป็นท่านวิทยากรที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการเขียนสารคดีเป็นอย่างดี โดยท่านได้สอนเรื่องราวที่เป็นประโยชน์สำหรับการเขียนสารคดีดังนี้









@การเขียนสารคดีนั้นไม่มีการสอนเป็นสูตรสำเร็จ ส่วนใหญ่นั้นเป็นการเรียนจากประสบการณ์ของผู้เขียนสารคดีมากกว่า

@สารคดีคืออะไร? นิยามสั้น ๆ ของคำว่าสารคดีก็คือ “สารคดีเป็นการนำเสนอความจริง”

@การเขียนสารคดีนั้นแตกต่างจากการเขียนนวนิยาย เพราะว่าการเขียนนวนิยายต้องแต่งเรื่องให้เหมือนความจริงมากที่สุด (เขียนให้เหมือนเรื่องจริง) แต่การเขียนสารคดีนั้นคือการเล่าเรื่องที่เป็นจริง เป็นการเล่าเรื่องความจริงโดยที่มีจุดประสงค์ของการนำเสนอ

@การเขียนสารคดีต้องไม่มีการใส่ทัศนคติของผู้เขียนลงไป เรื่องราวที่นำเสนอจะได้ไม่มีความโน้มเอียง แต่ถ้าเขียนโดยใส่ทัศนคติของผู้เขียนลงไปด้วยจะทำให้ความจริงผิดเพี้ยนไป

@ในการเขียนสารคดีนั้นมีรายละเอียดเยอะ การเขียนสารคดีไม่ใช่แค่เขียนเพียงจุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการเขียนให้ครอบคลุมเนื้อเรื่องทั้งหมด เช่น การเขียนสารคดีเกี่ยวกับยุงก็ควรเขียนถึงลูกน้ำด้วย เพราะว่าลูกน้ำเกิดมาเป็นยุง , ถ้าเขียนถึงเรื่องกบก็ต้องเขียนถึงเรื่องลูกอ๊อดด้วยเช่นกัน ฯลฯ

@ดังนั้นการเขียนสารคดีจึงไม่ได้มองเพียงแค่จุดใดจุดเดียว การทำให้งานเขียนสารคดีมีความสมบูรณ์จำเป็นต้องเจาะลึกลงไปในรายละเอียดด้วย เพื่อให้คนอ่านรู้ว่าเรื่องราวนั้นเป็นมาอย่างไร มีรายละเอียดและขั้นตอนใด ๆ บ้าง

@การเขียนสารคดีจึงต้องมีความลุ่มลึก ทำให้เห็นภาพตั้งแต่อดีตไปจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากว่าในโลกนี้มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่มีความสัมพันธ์กัน ถ้าเราสามารถหารายละเอียดที่เชื่อมโยงกันได้จะทำให้ผู้อ่านได้รู้เรื่องราวที่ไม่เคยรู้มาก่อน

@มีข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องความกลัวของคน ดังนั้นในนิตยสารคดีจึงไม่ค่อยมีเรื่องราวของงู และไม่เคยมีภาพงูขึ้นปกนิตยสารสารคดีด้วย เนื่องจากมีคนหลายคนกลัวงูเป็นอย่างมากทางผู้จัดทำนิตยสารสารคดีจึงพยายามหลีกเลี่ยงในประเด็นนี้

@มีความเชื่อในข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างว่า มนุษย์กับพืช (ต้นไม้) มีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกันมาก

@การเขียนสารคดีคล้ายกับการทำสกู๊ปข่าว เพราะว่ารายการข่าวเพียงแค่รายงานถึงความจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่สกู๊ปข่าวจะเจาะลึกลงไปอีกหลายชั้น ให้ข้อมูลรายละเอียดที่มากกว่าจนทำให้รู้ได้ว่า เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรและมีความเป็นมาอย่างไร

@คนทำสารคดีต้องหัดมอง 2 มุมหรือมองหลาย ๆ มุม นักเขียนสารคดีต้องมีอิสระที่จะเลือก โดยเลือกได้ทั้งซ้ายและขวา เลือกได้ทั้งมุมมองของผู้เสียประโยชน์และได้ประโยชน์ ฯลฯ

@มีคำกล่าวว่า “บอกความจริงแล้วเขาจะคิดอยู่ 1 วัน แต่ถ้าบอกให้เขาใช้เหตุผลแล้วเขาจะคิดไปตลอดชีวิต” คงเหมือนกับคำคมอมตะจากเรื่องเจ้าชายน้อยที่กล่าวไว้ว่า “สิ่งความสำคัญมิอาจมองเห็นได้ด้วยตา”

@การเขียนสารคดีนั้นเราจะเขียนเรื่องอะไรก็ได้แต่ต้องมาจากความจริง โดยมีกฎข้อที่ 1 กล่าวไว้ว่า “ถ้าอยู่บนพื้นฐานของความจริงเป็นสารคดี”

@สารคดีแตกต่างจากสาระนิยาย เพราะสาระนิยายนั้นเพียงแค่เอาความจริงมาเขียนแต่งเป็นนิยาย ดังนั้นจึงไม่ใช่ความจริงทั้งหมด สาระนิยายก็เช่นเรื่อง “เหมืองแร่” ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่เอาประสบการณ์ในชีวิตจริงมาเขียนแต่งเป็นนิยาย , วินทร์ เลียววาริณ เอาข้อมูลข้อเท็จจริงในอดีตมาแต่งเป็นเรื่อง “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” ฯลฯ

@สารคดีแตกต่างจากบทความทางวิชาการในประเด็นรสชาติของเรื่อง เพราะว่าการเขียนบทความทางวิชาการนั้นผู้เขียนไม่สนใจเลยว่าอ่านแล้วจะเบื่อหรือว่าจะหลับหรือไม่ ส่วนงานสารคดีต้องทำให้อ่านแล้วสนุกน่าติดตามไปกับเนื้อเรื่องด้วย

@สารคดีแตกต่างจากสารานุกรมในเรื่องของโครงสร้างหรือรูปแบบการเขียน เพราะสารนุกรมนั้นเป็นเรื่องราวสาระที่เป็นความรู้มักจะมีโครงสร้างเรียงตามตัวอักษรเป็นหลัก สารานุกรมนั้นเน้นเรื่องความรู้เป็นหลักโดยอาจจะไม่ได้เน้นเรื่องความบันเทิงเลย แต่สารคดีต้องมีความกลมกลืนกันระหว่างความรู้กับความบันเทิงด้วย

@งานเขียนที่เป็นการแสดงทัศนคติเป็นหลักนั้นคืองานเขียนในรูปแบบของคมลัมน์นิสต์ ที่เน้นการแสดงทัศนคติควบคู่ไปกับเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอ

@นักเขียนสารคดีท่านหนึ่งที่มีงานเขียนสารคดีอออกมาอย่างต่อเนื่องคือ ส.พลายน้อย เขาเขียนสารคดีโดยเอาเรื่องราวต่าง ๆ มาเล่า ซึ่งข้อมูลในการเขียนก็คือสิ่งที่เขารู้ , ความรู้และประสบการณ์ส่วนตัว

@องค์ประกอบหลักของการเขียนสารคดีสามารถสรุปได้เป็น 4 ประเด็นใหญ่ ๆ คือ
1.ข้อมูล
2.เสียง สี แสง
3.มุมมอง
4.เส้นเรื่อง
+ (1) ความคิดสร้างสรรค์



(1) ข้อมูลที่ใช้ในการเขียนสารคดีแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1.ข้อมูลแห้ง ได้จากสรรพปัญญาต่าง ๆ จากหนังสือความรู้ต่าง ๆ จากกูเกิ้ล ฯลฯ

2.ข้อมูลสด ได้จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน เป็นประสบการณ์ตรงที่มีความลึกซึ้งในรูปแบบต่าง ๆ เช่นการไปสัมภาษณ์แหล่งข้อมูล , การลองสัมผัสเองหรือการไปลองทำดู

@ดังนั้นการเขียนสารคดีจะใช้เฉพาะแค่ข้อมูลแห้งอย่างเดียวไม่ได้ เพราะจะทำให้งานของเราออกมาไม่มีความลุ่มลึกพอ อาจจะดูแห้งแล้งในสายตาของผู้อ่าน ดังนั้นเราควรใช้ทั้งข้อมูลแห้งและข้อมูลสดผสมกัน เช่น การเขียนสารคดีเรื่องปลา จะอ่านเพียงหนังสือเรื่องปลาอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องไปดูที่พิพิธภัณฑ์ปลา , ไปดำน้ำลงไปสัมผัสกับปลาเป็น ๆ , ไปตลาดไปซื้อปลา , ไปตกปลาในทะเล ฯลฯ

@ในการเขียนสารคดีต้องตั้งคำถามก่อนว่าจริงไหม? จะเขียนเรื่องอะไรคุณควรจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนั้นให้มากที่สุด ดังนั้นถ้ามีประสบการณ์เรื่องใดที่ดีกว่าคนอื่นก็ถือว่าได้เปรียบคนอื่นด้วย เช่น คนที่มีอาชีพเฉพาะทาง (แอร์โฮสเตส , ช่างทำผม ฯลฯ) จะเขียนเรื่องนั้น ๆ ได้ดีกว่าคนที่อยู่ในอาชีพอื่น

@งานเขียนสารคดีนั้นสำคัญที่สุดคือเรื่องข้อมูล ถ้าพลาดเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูลก็ถือว่าตกม้าตาย ข้อมูลไม่ครบหรือข้อมูลผิดพลาดถือว่าเป็นความบกพร่องมากที่สุด เพราะสารคดีถูกตราหน้าแล้วว่าเป็นความจริงเสมอ

@เมื่อมีวัตถุดิบ (ข้อมูล) แล้ว จะเขียนอย่างไรให้ออกมาดีที่สุด? การเขียนสารคดีนั้นนอกจากจะให้ความรู้แก่คนอ่านแล้ว ยังต้องอ่านสนุกอีกด้วย

@เวลาที่จะเขียนเรื่องอะไร เมื่อเรามีข้อมูลแล้วหรือหาข้อมูลมาได้มากพอแล้ว ก่อนเขียนเราควรจะถามตัวเองว่ารู้จริงในเรื่องนั้นมากน้อยขนาดไหน? เช่น เราจะเขียนเรื่องฉลามวาฬ เราหาข้อมูลมาแล้วเราต้องถามตัวเองว่ารู้จักฉลามวาฬดีเพียงพอแล้วหรือยัง?

@การเขียนสารคดีนั้น ในบางครั้งจะใช้ข้อมูลแห้งมากเกินไปหรือว่าใช้ข้อมูลสดมากไปนั้นอยู่ที่ตัวของเขียนจะเป็นผู้ตัดสินเอง เพราะว่าเป็นเรื่องของประสบการณ์ในการเขียนเป็นหลัก

@จากประสบการณ์การเป็นกรรมการตัดสินการประกวดสารคดีที่ผ่านมาของ อ.สุวัฒน์ บอกว่าข้อดีของการเขียนเล่าเรื่องที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวก็คือ เรื่องราวนั้นเล่าเรื่องได้ดีกว่าคนอื่น แต่มีข้อเสียก็คือเรื่องนั้นมันไม่ลึกและมันไม่กว้างพอ

@การจะเป็นนักเขียนที่ดีนั้นจำเป็นต้องหมั่นเขียนบันทึกอยู่เสมอ อาจจะเขียนไดอารี่ประจำวันก็ได้ หรือเขียนโพสข้อความในเฟสบุ๊คส์ก็ได้ เพราะการเขียนเหล่านั้นจะเป็นการฝึกในเรื่องของการคัดเลือกคำและการคัดเลือกประโยคต่าง ๆ มาใช้ ดังนั้นนักเขียนควรทำการเขียนบันทึกให้สม่ำเสมอ

@การเขียนบันทึกเรื่องราวที่เป็นจริงหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงนั้นถือว่ามีคุณค่าอยู่ในตัวมันเองแล้ว แต่คุณค่านั้นจะกลายเป็นประโยชน์ต่อใครบ้างในอนาคตก็ยังไม่สามารถบอกได้ในตอนนี้ เพราะ “การบันทึกคือการช่วยจำความเป็นไปของโลกใบนี้” เช่น บันทึกลับของแอนน์แฟรงค์ เป็นต้น

@คนไทยมีจุดอ่อนคือขาดการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ อย่างเช่นในช่วงโลกครามโลกครั้งที่ 2 นั้น แทบจะไม่มีการบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยบุคคลทั่วไปเลย ดังนั้นในการค้นคว้าเราจึงขาดข้อมูลที่สำคัญและเรื่องราวในช่วงเวลานั้น เพราะมีผู้จดบันทึกไว้ไม่เยอะมาก เลยขาดความหลากหลายด้านมุมมอง

@ในการจดบันทึกนั้น เราควรจดบันทึกด้วยข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง โดยให้ความรู้ว่าใครทำอะไร? ที่ไหน? อย่างไร?



(2) เสียง สี แสง

@เสียง สี และแสงในสารคดีก็คือบทสนทนาและบรรยากาศของเรื่องนั้นเอง

@งานเขียนสารคดีจึงควรใช้เรื่องวรรณศิลป์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การเลือกใช้คำและภาษานั้นเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของผู้เขียน งานเขียนที่ดีนั้นทำให้ภาพของความเป็นจริงปรากฏขึ้นแก่ผู้อ่าน เช่นเขียนเรื่องท้องทุ่งนา ต้องหาคำมาเขียนเพื่ออธิบายให้ผู้อ่านรู้สึกได้ว่ากำลังอยู่ในท้องทุ่งนาจริง ๆ

@งานเขียนที่ อ.สุวัฒน์ แนะนำให้อ่านในเรื่องของการใช้คำและภาษาที่สละสลวยคือ เรื่องสั้นชื่อ “ยามเช้าของชีวิต” โดยกนกพงศ์ สงสมพันธ์

@ดังนั้นนักเขียนจึงควรต้องมีคลังคำของตัวเองเตรียมพร้อมไว้สำหรับการเรียกนำมาใช้ในการเขียน เพื่อเขียนให้ผู้อ่านอ่านแล้วเห็นภาพตาม อ่านแล้วได้ยินเสียงตาม อ่านแล้วได้กลิ่นตาม และอ่านแล้วได้รสตามไปด้วย



(3) มุมมอง

@ในการเขียนสารคดีเรื่องของมุมมองก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ในงานเขียนที่สมบูรณ์ควรมีข้อมูลจากหลากหลายมุมมองเพื่อนำมาประกอบกัน

@ในทุก ๆ เรื่องทุก ๆ สิ่งจะมีมุมมองที่แตกต่างกันเสมอ และในแต่ละมุมมองก็ล้วนแต่มีความคิดและอารมณ์ที่เป็นของตัวเอง ขึ้นอยู่ว่าจะมองจากมุมมองไหน? หรือใครเป็นผู้มอง?

@ในการเขียนสารคดีเราต้องพยายามหามุมมองต่าง ๆ แล้วจับเอามาชนกันให้ได้ งานเขียนนั้นจึงจะเกิดมิติและมีความลุ่มลึก รวมทั้งจะเป็นเรื่องที่ไม่แบนจนเกินไป เช่น การเขียนสารคดีเรื่องการสร้างเขื่อน นอกจากมุมมองเรื่องผลประโยชน์จากภาครัฐแล้ว ยังต้องมีมุมมองคนผู้เสียประโยชน์ที่ต้องถูกขับไล่ที่ด้วย

@ในการแนะนำงานเขียนสารคดีที่มีความหลากหลายเรื่องมุมมองนั้น อ.สุวัฒน์ แนะนำให้ไปหาสารคดีเรื่อง “สงสัย ... ตายเพราะหมอ” ที่เขียนโดยคุณอรสม สุทธิสาคร ในเรื่องพูดถึงการตายของคนไข้ โดยมีทั้งมุมมองของญาติผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้เสียหาย , มุมมองของหมอผู้รักษาที่ถูกฟ้องร้อง และมุมมองของจากนักวิชาการผู้ที่เป็นกลางด้วย

@ ในการทำงานเขียนสารคดีนั้น เราต้องทำมากกว่าที่เขียน คือจำเป็นต้องหาข้อมูลให้ได้มากกว่า เยอะกว่าที่จะเขียน ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นการหามุมมองที่หลากหลายด้วย



(4) เส้นเรื่อง

@เส้นเรื่องในการเขียนสารคดีก็คือโครงเรื่องนั้นเอง เส้นเรื่องคือ = เปิดเรื่อง > เนื้อเรื่องหลัก > จบเรื่อง

@จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของ อ.สุวัฒน์ งานสารคดีประกวดส่วนใหญ่ขาดการลำดับเรื่องที่ดี คือเหมือนเรื่องเล่าทั่วไป ขาดการดำเนินเรื่องที่ดีจึงทำให้เรื่องนั้นขาดความน่าสนใจไปด้วย

@การเขียนสารคดีต้องจับลำดับการเล่าเรื่องที่ดีให้ได้ โดยการปูพื้นเรื่อง แนะนำตัวละคร แล้วแสดงให้เห็นว่าเกิดปัญหาอย่างไร? ก่อนจะนำไปสู่บทสรุปของเรื่อง

@การเล่าเรื่องต้องมีวิธีเล่าให้มีผลกระทบต่อผู้อ่านด้วย เช่น อ่านแล้วรู้สึกเศร้าตาม , อ่านแล้วรู้สึกชื่นชม ฯลฯ

@วิธีเล่าเรื่องก็คือการดำเนินเรื่องนั้นเอง หรือการลำดับเรื่อง ที่ทำให้เกิดเส้นเรื่องขึ้นมา โดยส่วนใหญ่มักจะเล่าตามลำดับดังนี้ 1.สถานที่ > 2.เวลา > 3.บุคคล > 4.ประเด็น

@การเขียนสารคดีคือการนำผู้อ่านจากต้นเรื่องไปสู่บทสรุปตอนท้ายให้ได้

@การใช้ภาพประกอบในเรื่อง ถ้าใช้เป็นภาพสีทั่วไปก็เป็นข้อมูลที่ดี สีจากภาพอาจจะช่วยดึงดูดความสนใจได้ แต่ถ้าใช้ภาพขาวดำจะเน้นให้เห็นเส้นโดยรอบ หรือให้เห็นโครงสร้างมากกว่า

@สรุป งานเขียนสารคดีที่ดีต้องมีองค์ประกอบ 4 อย่างคือ
(1) ข้อมูล
(2) เสียง สีแสง
(3) มุมมอง
(4) เส้นเรื่อง
+ 1. ความคิดสร้างสรรค์

@ความคิดสร้างสรรค์นั้นจะทำให้งานเขียนของเราเป็นงานเขียนที่ดีที่ก้าวข้ามงานเขียนพื้น ๆ ไปได้

@การเขียนสารคดีนั้นถ้าเรามีวัตถุดิบไม่เหมือนคนอื่น งานของเราก็จะไม่เหมือนของคนอื่นเช่นกัน โดยถ้าเรามีอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวเฉพาะตัวเรา (ยูนีค , เฉพาะตัว) และเรารู้จริงในเรื่องนั้นมากที่สุด งานเขียนของเราจะออกมาดีกว่างานของคนอื่นเสมอ

@การเขียนสารคดีนั้นต้องคำนึงด้วยว่า เขียนออกมาแล้วดีไหม? คนอ่านรู้สึกร่วมไปกับเราด้วยไหม? คนอ่านได้มุมมองครบถ้วนหรือไม่?

@การเขียนสารคดีที่เป็นเรื่องของความสูญเสียนั้น ต้องพยายามเขียนให้จบอย่างมีความหวังด้วย

@ในการเขียนข้อมูลที่เป็นความจริงอยู่เสมอ (เป็นยูนิแวลแซล) เราควรอ่านข้อมูลเพื่อความเข้าใจก่อน แล้วถึงเอาความเข้าใจของเรามาเขียน โดยถ้าผู้เขียนมีความเข้าใจแล้วก็เขียนจากรากฐานความเข้าใจของตัวเอง ถือว่าเป็นการย่อยข้อมูลก่อนส่งต่อให้แก่ผู้อ่าน

@ปัญหาของการเขียนถึงเรื่องความรู้นั้นคือมักจะเป็นอะไรที่อ่านยาก ผู้เขียนจึงควรย่อยข้อมูลเพื่อทำให้ผู้อ่านอ่านแล้วเข้าใจเหมือนผู้เขียนด้วย

@แต่ในกรณีที่เราไม่รู้หรือไม่แน่ใจว่าเรื่องนั้นมันเป็นอย่างไรกันแน่? เวลาเขียนเราควรจะอ้างอิงถึงแหล่งข้อมูลที่เรานำมาเขียนด้วย เช่น นักวิชาการ ก. เคยกล่าวไว้ว่า .... , หนังสือชื่อ ... ระบุไว้ว่า ฯลฯ

@การเขียนสารคดีนั้นควรคำนึงถึงด้วยว่า คนอ่านได้อะไรจากการอ่านเรื่องของเราบ้าง?

@วิธีการเลือกเรื่องเพื่อที่จะนำมาเขียนเป็นสารคดีคือ เลือกจาก กระแส , จากประเด็น , จากความรู้ , อะไรที่ยังไม่เคยมีใครเขียนถึง , เลือกตามวาระแห่งชาติ ฯลฯ

@ทุกเรื่องในโลกถ้าเห็นประเด็นที่น่าสนใจก็นำมาเขียนเป็นสารคดีได้

@การเขียนสารคดีนั้น ตัวเราเองที่เป็นผู้เขียนนั้นยังไม่อาจจะตัดสินเองได้ว่างานของเราดีเพียงพอหรือไม่? จำเป็นต้องให้สังคม (ผู้อ่าน) เป็นผู้ตัดสิน

@วิธีเขียนสารคดีส่งนิตยสาร เบื้องต้นควรเขียนเป็นเรื่องให้จบภายใน 10 ถึง 12 หน้า แล้วถ้าเรื่องมีความน่าสนใจมากอาจจะขยายประเด็นเพื่อเขียนอธิบายเพิ่ม โดยอาจจะเขียนเป็นเรื่องยาวออกมาขนาดหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คส์เลยก็ได้

@การเขียนสารคดี คนเขียนต้องเรียงลำดับการเขียนเพื่อนำเสนอให้แก่ผู้อ่านได้รับรู้ โดยรูปภาพที่ใช้เป็นแค่ส่วนประกอบของเรื่องเท่านั้น

@การเขียนสารคดีนั้นจะมีผู้เล่าเรื่องอยู่ในเรื่องหรือไม่มีก็ได้ บางครั้งอาจจะเขียนโดยที่ผู้เขียนอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยก็ได้ เช่นการเขียนสารคดีท่องเที่ยวอาจจะมีผู้เขียนอยู่ในเรื่องเล่านั้นด้วยก็ได้ , การเล่าถึงชีวิตของอื่นผู้เขียนอาจจะไม่อยู่ในเรื่องเลยก็ได้

@เราจะเขียนสารคดีเรื่องอะไร? เราควรเลือกเรื่องที่เรามีภาษีดีกว่าคนอื่น (รู้เรื่องดีกว่าคนอื่น)

@ The Book of LASTS ในชื่อเรื่องภาษาไทยว่า “วาระสุดท้ายของทุกอย่าง” เป็นรูปแบบการเขียนสารคดีที่แปลก ควรไปหามาอ่านเพื่อศึกษา

@นักเขียนสารคดีควรคิดให้เป็นระบบก่อนเขียน นำความรู้จากข้อมูลมาจัดเป็นหมวดหมู่ให้ได้แล้วค่อยนำมาประกอบเป็นประเด็นย่อย ๆ และต้องมีการจัดโครงสร้างของเรื่องด้วย

@“คนสร้างคำ” ของสำนักพิมพ์สารคดี เป็นการเขียนเรื่องเกี่ยวกับคนที่เป็นผู้ค้นคิดหรือสร้างคำต่าง ๆ ขึ้นมา

@สารคดีที่ควรหามาอ่าน “ชำแหละวิทยาศาสตร์จอมปลอม” นำเสนอเรื่องหลอกหลวงต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์ เช่นเรื่องเครื่องตรวจหาระเบิดปลอม GTX2000 เป็นต้น , “สอ เสถบุคร ดิกชันนารีแห่งชีวิต” ที่เป็นการเล่าประวัติของ สอ เสถบุตร ตั้งแต่ตัวอักษร A ถึง Z (เลียนแบบดิกชันนารี) โดยเอาตัวอักษรมาใช้เป็นตัวนำเรื่อง รูปแบบการเขียนจึงไม่เหมือนใคร

@ในทุกวงการยังมีคนตัวเล็ก ๆ ที่ทำอะไรบางอย่างอยู่ แล้วยังไม่เคยมีใครเขียนถึงเขามาก่อน เรื่องของคนพวกนี้น่าจะนำมาเขียนเป็นสารคดีมาก เช่น คนทาสีเครื่องบิน เป็นต้น

@“เรื่องเล่าจากพลเมืองปาย” เป็นสารคดีที่เขียนโดยใช้ข้อมูลจากคนที่เคยอยู่ใน อ.ปาย ทำให้ได้ข้อมูลและเรื่องราวที่หลากหลายก่อนที่จะสรุปให้เห็นภาพเมืองปายในปัจจุบัน

@การเขียนสารคดีชีวิตนั้น เทคนิคการเขียนต้องทำให้เรื่องกลม คือมีการผสมผสานในแง่มุมและประเด็นต่าง ๆ ต้องเขียนให้คนที่เป็นปูชนียบุคคลกลายมาเป็นคนธรรมดาได้ คือต้องเขียนให้เป็นเรื่องราวของชีวิตที่คนรับรู้ได้ในทุกอย่าง ไม่เฉพาะด้านที่ดีเลิศเพียงอย่างเดียว

@การเขียนสารคดีนั้นต้องมีการตั้งประเด็น (ตั้งคำถาม) มีการเก็บข้อมูล แล้วจึงนำมาสู่ช่วงการเขียน ซึ่งในการเขียนครั้งแรกนั้นยังไม่ถือว่ามีความสมบูรณ์ทั้งหมด จำเป็นต้องนำมาเขียนแก้ไขใหม่หลาย ๆ ครั้ง การเขียนในครั้งแรกเป็นเสมือนการสเก็ตภาพร่างเท่านั้น

@งานสารคดีที่เขียนเสร็จแล้วควรวางทิ้งไว้สักพัก (2-3 เดือน) ก่อนที่จะนำมาอ่านเพื่อการเขียนแก้ไขอีกครั้ง หลังจากนั้นควรนำไปให้คนใกล้ตัวอ่านเพื่อขอคำแนะนำหรือคำวิจารณ์ ก่อนที่จะแก้ไขให้เป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุด

@การเขียนสารคดีนั้นเป็นเรื่องของศิลปะในการเขียนในแง่ของการลดทอน(ข้อมูล) , การตัดออก , การแก้ไขแก้ประโยค , การเลือกหาคำที่จะนำมาใช้ และการนำคำมาแทนความหมายต่าง ๆ

@การเขียนสารคดีเพื่อส่งเข้าประกวด ความถูกต้องของข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด รวมทั้งตัวสะกดคำต่าง ๆ ต้องไม่ผิดด้วย

@นักเขียนต้องเขียนอย่างมีวินัย ต้นฉบับต้องเนี๊ยบและดีสุดยอดที่สุด

@การเขียนแล้วไม่มีย่อหน้าถือว่าผู้เขียนมีปัญหาในเรื่องการจับประเด็นสำคัญ อีกทั้งการย่อหน้ายังช่วยให้ผู้อ่านได้พักสายตาด้วย

@งานเขียนเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียนในทันทีที่เขียนเสร็จ ดังนั้นผู้เขียนควรทำสำนวนต้นฉบับงานเขียนเก็บไว้ด้วย

@ในงานเขียนทุกอย่างจะมีข้อมูลแฝงที่เราหยิบยืมมา ซึ่งกลายมาเป็นความรู้ของเรา ดังนั้นเราควรจะอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลด้วย ซึ่งการอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่มานั้นเพื่อนำให้ผู้อ่านไปหาอ่านต่อเอง ในกรณีที่ผู้อ่านต้องการรู้มากขึ้น ถือว่าเป็นการต่อยอดความรู้ที่เพิ่มเติมมากขึ้นด้วย

@เทคนิคการสัมภาษณ์แหล่งข้อมูลคือ พยายามทำให้เขาไม่รู้สึกว่ากำลังถูกสัมภาษณ์อยู่ ยกเว้นการสัมภาษณ์เพื่อทำเป็นบทสัมภาษณ์ ดังนั้นเราจึงต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้ถูกสัมภาษณ์ด้วย เพื่อลดความเกร็งจากการถูกสัมภาษณ์ เช่น ต้องทำตัวตีเนียนกับผู้ถูกสัมภาษณ์ ต้องทำความรู้จักกันก่อนเพื่อทำให้มีความกลมกลืนและรู้สึกสนิทสนมกันมากที่สุด

@สรุป สารคดีนั้นให้ทั้งสาระและความบันเทิง คือต้องมีทั้ง 1.ความจริง + 2.ความรู้ + 3.ความสวยงาม ซึ่งเป็นการให้ข้อมูล + หลักฐาน โดยปราศจากการชี้นำ






ท้ายสุดนี้ผมต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ ที่ได้ถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับผม และผมต้องขอขอบคุณทางสำนักพิมพ์นานมีบุ๊ส์ด้วย ที่ให้โอกาสผมได้เข้าไปเรียนรู้วิชาการด้านการเขียนสารคดีในครั้งนี้

ขอบคุณครับ








 

Create Date : 06 ตุลาคม 2558
7 comments
Last Update : 6 ตุลาคม 2558 11:10:49 น.
Counter : 2136 Pageviews.

 

สวัสดีค่ะ ขอบคุณที่นำมาฝากกันด้วยนะคะคุณกล่อง

 

โดย: kae+aoe 6 ตุลาคม 2558 14:12:02 น.  

 

ดีจังค่ะ ขอบคุณที่เอามาแบ่งปันนะคะ

โหวตความรู้ให้นะคะ


@มีความเชื่อในข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างว่า มนุษย์กับพืช (ต้นไม้) มีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกันมาก

เพิ่งรู้เลยค่ะอันนี้

 

โดย: สาวไกด์ใจซื่อ 7 ตุลาคม 2558 8:47:27 น.  

 


อาคุงกล่อง Education Blog ดู Blog



 

โดย: หอมกร 7 ตุลาคม 2558 8:58:03 น.  

 

ถือเป็นความรู้ใหม่เลยครับ

อาคุงกล่อง Education Blog ดู Blog

 

โดย: PZOBRIAN 8 ตุลาคม 2558 10:45:16 น.  

 

ขอบคุณที่เก็บรายละเอียดมาบอกเล่าต่อค่ะ

 

โดย: นัทธ์ 11 ตุลาคม 2558 19:10:04 น.  

 

คุณกล่องเล่าประสบการณ์การอบรมได้ละเอียดมาก
เป็นประโยชน์สำหรับมือใหม่หัดเขียนสารคดีจริง ๆ
กดไลค์กับโหวตหมวด Education ให้ค่ะ

 

โดย: haiku 12 ตุลาคม 2558 23:49:22 น.  

 

แวะมาโหวตให้อาคุงค่ะ เมื่อไหร่ออกหนังสือเล่มแรก สะกิดกันบ้างนะคะ
โหวต หมวดEducation ให้นะคะ

 

โดย: Mintra-april 13 ตุลาคม 2558 19:39:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


อาคุงกล่อง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 62 คน [?]




อาคุงกล่องเป็นชายไทยนิสัยดีมีความฝัน ผู้ผันตัวมาเป็นทาสวรรณกรรมอย่างแท้จริง ใช้ชื่อกำหนดตัวตนว่า “อาคุงกล่อง” เป็นนามปากกาสร้างสรรค์ผลงานในเชิงหัสนิยาย และงานเขียนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี ความเรียง บทกลอน ไดอารี่เพ้อเจ้อละเมอเพ้อฝันต่างๆ ฯลฯ

ปัจจุบัน “อาคุงกล่อง” เป็นนักอ่าน นักคิดและนักเขียน รวมทั้งเป็นนักจินตนาการออกมาเป็นตัวอักษรด้วย ผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่คือการเป็นนักเขียนมีคุณภาพที่สรรค์สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คาดว่าในเวลาอันใกล้นี้นาม “อาคุงกล่อง” จะเกิดปรากฎชัดในโลกวรรณกรรม จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่หนอนนักอ่านทั่วไทย



"ในชีวิตจริงของคนเรา มีอะไรอีกมากมายที่จะต้องรับรู้และรับผิดชอบ ในแต่ละวันเรามีโอกาสที่จะหัวเราะได้สักกี่ครั้ง? แต่ถ้าเราได้มีโอกาสหัวเราะเสียบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือคลายเครียด ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ"

ถ้าคุณเข้ามาในบล็อคของผมแล้ว คุณสามารถอมยิ้มหรือหัวเราะได้ ผมก็คงจะดีใจแล้วครับ (กรุณาช่วยทิ้งคอมเม้นท์วิจารณ์ไว้ให้ผมด้วยนะครับ จักขอบพระคุณมากเลยครับ)

akungklong@gmail.com
Friends' blogs
[Add อาคุงกล่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.