Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2556
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
1 กรกฏาคม 2556
 
All Blogs
 

พินิจชีวิตศิลปินผ่านงานศิลปะของ อ.ชลูด นิ่มเสมอ

1 กรกฎาคม 2556


ตัวผมไม่ใช่ศิลปินและไม่ใช่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางด้านศิลปะโดยตรง แต่ผมก็เป็นคนที่ชื่นชมและติดตามชมผลงานศิลปะต่าง ๆ อยู่เสมอ แม้ว่าในบางครั้งผมก็อาจจะเข้าไม่ถึงแก่นแท้ของงานศิลปะชิ้นนั้น ๆ ก็ตาม แต่มันก็ยังไม่ใช่สาเหตุที่จะทำให้เลิกเสพงานศิลปะ สาเหตุก็คงเป็นเพราะว่า ในทุก ๆ ครั้งที่ได้ชมงานศิลปะมันมักจะก่อให้เกิดจินตนาการและแรงบันดาลใจใหม่ ๆ เสมอ









ผมได้รู้จักชื่อของท่านอาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ครั้งแรกจากหนังสืออนุสรณ์ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ลูกศิษย์ทั้งหมดของอาจารย์ศิลป์ได้ร่วมกันเขียนขึ้น โดยผมได้อ่านเรื่องราวที่ อ.ชลูด นิ่มเสมอ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ได้เขียนรำลึกถึงท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งเป็นอัครศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ด้วย ผมจึงทราบว่าท่านอ.ชลูด ก็เป็นลูกศิษย์รุ่นแรก ๆ ของอาจารย์ศิลป์ด้วย หลังจากนั้นเมื่อไม่นานมานี้ผมก็ได้ทราบข่าวการจัดงานนิทรรศการจิตรกรรมฝาผนังของอาจารย์ชลูด และผลงานย้อนหลัง ซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ ผมเลยไม่พลาดที่จะไปชมงานแสดงศิลปะของศิลปินฝีมือระดับอาจารย์ท่านนี้

คำว่า “จิตรกรรมฝาผนัง” ที่ผมเคยรู้จักนั้น ก็คือภาพวาดเกี่ยวกับเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องราวเกี่ยวชาดก หรือเรื่องราวทางพุทธศาสนาต่าง ๆ ที่ได้ถูกวาดไว้ที่ฝาผนังของโบสถ์ตามวัดต่าง ๆ แต่เมื่อผมได้เดินเข้ามาชมห้องแรกที่แสดงผลงานจิตรกรรมฝาผนังของอ.ชลูด แล้ว ผมถึงกับแปลกใจในผลงานซึ่งแตกต่างจากที่ผมได้คิดเอาไว้ในใจก่อนหน้านั้น ผลงานที่จัดแสดงของอ.ชลูด เป็นภาพจิตรกรรมที่ถูกวาดขึ้นบนกระดาษสาและกระดาษวาดเขียนขนาดต่าง ๆ จำนวนมากมายหลายร้อยภาพ ภาพทั้งหมดถูกจัดเรียงติดเอาไว้บนฝาผนังทั้ง 3 ด้านของห้องจัดแสดง ถึงแม้ว่าภาพแต่ละภาพนั้นอาจจะไม่ได้สื่อเป็นเรื่องราวเดียวกันที่สามารถไล่ชมไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ว่าผลงานโดยรวมทั้งหมดกลับมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สะกดให้ผู้ชมไม่อาจจะละสายตาจากการจ้องมองอย่างละเอียดไปทีละภาพได้ ถึงแม้ว่าแต่ละภาพที่ติดตั้งอยู่ข้าง ๆ กันจะไม่เป็นเรื่องราวที่สอดคล้องกันเลย แต่ก็มีจุดหนึ่งที่เชื่อมโยงภาพทั้งหมดเอาไว้ด้วยกันได้

ในแต่ละภาพจะมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปินแสดงอยู่ ภาพของหญิงสาวใบหน้ากลมไว้ผมทรงกะลาครอบที่เปิดหน้าผากกว้าง คิ้วโค้งข้างหนึ่งของหญิงสาวยาวเรียวลงมาเป็นรูปสันจมูก ดวงตาที่หรี่มองลงสู่เบื้องล่างเสมอนั้นเหมือนกริยาที่พึ่งสำรวม ปากซึ่งนิ่งสนิทไม่แสดงความรู้สึกใด ๆ นั้น ดูแล้วมีขนาดเล็กพอประมาณเข้ากับสัดส่วนโดยรวมของรูปหน้าได้เป็นอย่างดี ใบหน้าของหญิงสาวในภาพจิตรกรรมฝาผนังของ อ.ชลูด นี้ช่างเหมือนกับใบหน้าของพระพุทธรูปในสมัยโบราณเป็นอย่างมากเลย

เกือบทุกภาพในงานแสดงจิตรกรรมฝาผนังนี้มีภาพของหญิงสาวคนนี้อยู่ด้วย จะต่างไปก็เพียงเครื่องแต่งกายและองค์ภาพอื่น ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละภาพ ความหมายของศิลปินที่ต้องการสื่อออกมานั้นช่างดูเรียบง่ายแต่กลับแฝงความหมายที่ลึกซึ้งเมื่อได้มองพิจารณาอย่างละเอียดในแต่ละภาพ การที่ได้ไปยืนชมผลงานจิตรกรรมฝาหนังในห้องนี้ ผมกลับมีความรู้สึกเหมือนว่ากำลังยืนอยู่ท่ามกลางของหมู่คนจำนวนมาก ที่เหมือนว่าจะมีใบหน้าคล้ายกัน แต่ความรู้สึกกลับดูเหมือนแตกต่างไม่เหมือนกันเลยในแต่ละคน จริง ๆ แล้วศิลปินต้องการจะสื่อความหมายเช่นใดกันแน่?










เมื่อเดินออกจากห้องแสดงผลงานจิตรกรรมฝาผนังก็จะได้ชมห้องจัดแสดงผลงานย้อนหลังของอ.ชลูด นิ่มเสมอ โดยเป็นการจัดแสดงผลงานแยกเป็นชุด ๆ ตามช่วงเวลาที่ศิลปินได้สร้างสรรค์งานศิลปะนั้น ๆ ขึ้นมา โดยเริ่มตั้งแต่ผลงานที่ค่อนข้างใหม่หรือเป็นปัจจุบันที่สุดย้อนหลังไปจนกระทั่งถึงผลงานชุดแรกของศิลปิน ผลงานโดยรวมของอ.ชลูดนั้นมีทั้งผลงานจิตรกรรมและประติมากรรม ในส่วนของผลงงานจิตรกรรมนั้นในบางครั้งก็ดูได้เข้าใจง่ายตั้งแต่ได้เห็นในขณะแรก เพราะผลงานที่เป็นภาพวาดนั้นสามารถสื่อให้เราเข้าใจตามที่เห็นได้อย่างชัดเจน ผลงานจิตกรรมของอ.ชลูด ที่จัดแสดงไว้นั้นมีอยู่หลายชุด อาทิเช่น ผลงานวาดเส้นที่เป็นเทคนิคการวาดเส้นซึ่งเป็นวิธีการสร้างงานศิลปะที่อ.ชลูด ชื่นชอบเป็นพิเศษ

ผลงานชุดลูกสาว ที่เป็นวาดภาพเด็กผู้หญิงที่มีใบหน้าคล้ายคลึงกัน แต่อยู่ในชุดเครื่องแต่งกายที่แตกต่างกันออกไป โดยรวมแล้วดูเรียบง่ายในรูปแบบที่ซ้ำซ้อนแต่ชัดเจนในรายละเอียดที่ต่างกันออกไป ผลงานชุดบทกวี ที่เป็นภาพจิตรกรรมเชิงสัญลักษณ์ ที่ดูเหมือนได้แนวคิดมาจากโครงสร้างของการแต่งบทกวี เพียงแต่ไม่ได้ถ่ายทอดออกมาผ่านเป็นตัวอักษร แต่แสดงออกมาเป็นรูปทรงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏขึ้นมาเป็นภาพ












ผลงานชุดวาดเส้นภาวนา ที่เป็นภาพวาดลายเส้นภาพเล็กรวม 40 ภาพ ซึ่งจัดแสดงเรียงเป็นหมู่ติดกัน ซึ่งถ้าดูโดยภาพกว้างโดยรวมแล้วเหมือนรูปถ่ายขาวดำหลาย ๆ ภาพ ที่นำเสนอถึงเส้นทางชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ต้นไม้ ทางเดิน รวมทั้งสายลมที่พัดอยู่ในจินตนาการของผู้ชมที่ได้ชมภาพผลงานในชุดนี้

ผลงานชุดธรรมศิลป์ ซึ่งถ่ายทอดผลงานออกมาในเชิงพุทธศิลป์ในรูปแบบของอ.ชลูด ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากผลงานที่เป็นพุทธศิลป์โดยทั่วไป ผลงานใช้สื่อสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาเช่น รอยพระพุทธบาท หรือโบสถ์ วิหารจากวัดต่าง ๆ มาช่วยดึงความคิดผู้ชมไปสู้ความรู้สึกที่ดีงามทางศาสนา ซึ่งผลงานของ อ.ชลูด ในชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศึกษาปฏิบัติธรรมในช่วงเวลาหนึ่ง (2530 – 2539)

ผลงานชุดปลูกป่า ที่สะท้อนความรู้สึกเสียดายที่ป่าไม้ถูกทำลาย โดยอ.ชลูด ได้ถ่ายทอดออกมาผ่านภาพวาดของหญิงสาวในชุดแต่งกายพื้นเมืองทางภาคเหนือ โดยมีพื้นหลังเป็นภาพของป่าเขาและสายน้ำ ซึ่งสื่อความหมายถึงความผูกพันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

ผลงานวาดเส้นจากโรม เป็นผลงานในช่วงเวลาที่อ.ชลูด ได้ทุนไปศึกษาต่อที่อิตาลี เป็นภาพวาดและภาพพิมพ์ประเภทต่าง ๆ ที่แสดงถึงภาพวิวจากสถานที่ต่าง ๆ สะท้อนถึงความแปลกใหม่ที่ศิลปินได้พบเห็นในช่วงเวลานั้น จนกระทั่งย้อนไปถึงผลงานยุคแรกของศิลปิน ที่อ.ชลูด ได้สร้างสรรค์ในช่วงปี 2498 – 2505 ที่เป็นช่วงแรกของการเป็นศิลปิน












ในส่วนของผลงานทางด้านประติมากรรมนั้น ในบางครั้งเราคงต้องการคำอธิบายเรื่องแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาเราถึงจะเข้าใจได้ ซึ่งงานประติมากรรมของอ.ชลูด ก็มีอยู่หลากหลายชุดเช่นกัน อาทิเช่น ผลงานประติมากรรมชนบท ที่เป็นภาพชุดการนำวัสดุสำเร็จรูปในชีวิตประจำวันมาห้อยแขวนและจัดวางตามแบบชนบท ดูกลาดเกลื่อนไร้รูปทรงบังคับแต่มีจินตนาการทางศิลปะอย่างมากมาย ดูแล้วน่าจะเป็นผลงานการนำเสนอรูปแบบแปลกใหม่ในช่วงเวลานั้น ที่สามารถสื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับการดำเนินชีวิตในสภาพแวดล้อมชนบทได้เป็นอย่างดี

ผลงานชุดประติมากรรมแบกะดิน ที่เป็นการนำแบบร่างและผลงานประติมากรรมในเทคนิคต่าง ๆ ของอ.ชลูด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มาจัดวางเรียงร่ายอย่างกลมกลืนเพื่อสร้างอรรถรสที่เป็นความงามทางศิลปะในเชิงจินตนาการให้แก่ผู้ชม











นอกจากนั้นยังมีรูปจำลองของผลงานประติมากรรมกลางแจ้งขนาดใหญ่ของ อ.ชลูด จัดแสดงไว้ให้ชมพร้อมทั้งคำอธิบายความหมายรวมถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์งานประติมากรรมชิ้นนั้น ๆ ด้วย ซึ่งหนึ่งในผลงานประติมากรรมกลางแจ้งขนาดใหญ่ที่หลายท่านอาจจะเคยพบเห็นและรู้จักกันดีก็คือ “โลกุตระ” ที่อยู่หน้าศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเปลวรัศมีของพระพุทธรูปในศิลปะสุโขทัย ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการหลุดพ้น เปรียบเสมือนดอกบัวที่โผล่พ้นโคลนตม ก้านของดอกบัวทั้งแปดก็คือมรรคที่เป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์และพระอริยบุคคลทั้งแปดในพุทธศาสนา สำหรับท่านที่ชื่นชอบงานประติมากรรมและอยากทราบความหมายหรือการตีความของผลงานประติมากรรมในแต่ละชิ้น ท่านก็สามารถตามชมผลงานประติมากรรมของอ.ชลูด ได้อย่างรื่นรมย์เป็นแน่แท้




ประติมากรรม "โลกุตระ" ที่หน้าศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์









เมื่อผมได้ชมผลงานย้อนหลังที่มีระยะเวลายาวนานกว่า 60 ปีตลอดระยะเวลาการเป็นศิลปินของ อ.ชลูด แล้ว ผมก็ต้องเดินย้อนกลับมาชมผลงานชุดจิตรกรรมฝาผนังใหม่อีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นผลงงานล่าสุดของ อ.ชลูด ที่สร้างสรรค์ในช่วงปี 2553-2556 ภาพจิตรกรรมที่แสดงติดอยู่บนฝาผนังที่หลากหลายถูกนำเสนอรวมกัน ทำให้สื่อให้เห็นถึงเรื่องราวทางสังคม ที่พูดถึงวัฒนธรรมการดำรงชีวิตแบบไทยที่ปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงเวลา แม้ว่าแต่ละภาพจะไม่มีชื่อภาพแต่ก็สามารถทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจความหมายที่ศิลปินต้องการจะสื่อได้อย่างชัดเจน ผลงานในชุดนี้ทั้งหมดเป็นการรวบรวมเอาประสบการณ์ในอดีตทั้งหมดมาถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาดจิตรกรรมที่มีรูปแบบซึ่งคงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ อ.ชลูด ผู้เป็นศิลปิน ภาพของหญิงสาวที่อยู่ในเกือบจะทุกภาพนั้นน่าจะสื่อถึงความหมายในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ที่มีวัฒนธรรมซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา การใช้ภาพของหญิงสาวนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่แทนความรู้สึกที่บริสุทธิ์และอ่อนโยน ส่วนภาพเครื่องแต่งกายหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไปนั้น น่าจะสื่อความหมายถึงวัฒนธรรมความเป็นไทยที่ดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางองค์ประกอบทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางสังคม

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดในทุกช่วงผลงงานของ อ.ชลูดนั้นก็คือ การนำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทย การดำเนินชีวิตที่แผงไปด้วยแนวคิดทางวัฒนธรรม ผ่านรูปแบบของหญิงสาวที่มีความเรียบง่ายแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวเป็นตนของศิลปินได้อย่างชัดเจน ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของอ.ชลูด นั้นได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นวาดภาพหลายร้อยภาพ อันแสดงให้เห็นถึงบทสรุปในเชิงศิลปะที่เรียงร้อยไปด้วยประสบการณ์อันยาวนานในมุมมองของศิลปิน แต่ละภาพแสดงออกเพื่อสะท้อนแนวคิดของศิลปินที่ต้องการสื่อให้เห็นถึงความเงียบง่ายแต่แฝงไปด้วยเรื่องราวในความทรงจำที่หลากหลาย สิ่งที่พบเจอ สิ่งที่คงอยู่ และสิ่งที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ถึงแม้ว่าภาพโดยรวมจะไม่ได้สื่อออกมาในเชิงพุทธศาสนาโดยตรงก็ตาม แต่ความเงียบง่ายในผลงานที่สื่อถึงการปล่อยวางนั้น ได้ดึงจินตนาการของผู้ชมเข้าไปสู่แง่คิดในเชิงทางพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี

ผลงานของ อ.ชลูด ที่ผมได้ชมมาทั้งหมดในนิทรรศการครั้งนี้ ได้ทำให้ผมได้เห็นและรู้จักเรื่องราวทางศิลปะได้มากขึ้นกว่าเดิม แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าผลงานทางศิลปะที่ได้ถูกจัดแสดงนั้นสามารถเป็นครูที่สอนให้เราได้ศึกษาความเป็นไปของชีวิตได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น อ.ชลูด ท่านพูดเสมอว่าตัวท่านนั้นเป็นเพียง “ศิลปินชนบท” ผลงานของท่านจึงได้แสดงความเป็นไทยแบบเรียบง่ายออกมาได้อย่างโดดเด่นและชัดเจน

และอีกหนึ่งประโยคที่ท่าน อ.ชลูด มักพูดก็คือ

“ศิลปินดำรงชีวิตอย่างไร ผลงานศิลปะก็แสดงออกมาเช่นนั้น”

มาถึง ณ จุดนี้ผมก็ได้ทราบเรื่องราวการดำเนินชีวิตของศิลปินผู้มีนามว่า อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ มากขึ้นผ่านผลงานศิลปะอันหลากหลายและมากมายตลอดระยะเวลาการเป็นศิลปินอันยาวนานของท่าน การที่ศิลปินผู้หนึ่งจะสร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่องและยาวนานมาได้ถึงขนาดนี้ ศิลปินผู้นั้นจะต้องดำรงตนเป็นศิลปินอย่างเต็มตัวเสมอ ซึ่งบทสรุปทั้งหมดนี้เองที่ทำให้ผมได้ทราบว่า ศาสตราจารย์เกียรติคุณชะลูด นิ่มเสมอ ท่านนี้ท่านเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งของประเทศไทยเลย





เครดิต : ขอขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.facebook.com/ChaloodsMuralPainting








@@@@@@@@@@@@@@@

คุยกันท้ายเรื่อง


ก่อนอื่นผมต้องขอบอกก่อนว่า เรื่องราวในบล็อกนี้ผมพยายามเขียนขึ้นในรูปแบบของบทความทางศิลปะ สำหรับส่งเข้าพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การเขียนบทความทางศิลปะ ที่ทางหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจัดขึ้น ซึ่งผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าบทความของผมนี้จะพอใช้ได้และเข้าตากรรมการที่ทำการคัดเลือกหรือไม่? แต่ผมก็อยากจะลองเอาบทความที่ผมเขียนนี้มาลงในบล็อกให้เพื่อน ๆ ได้ลองได้อ่านกันดูครับ

ผมต้องบอกว่าความรู้ทางทฤษฎีในเชิงศิลปะนั้นผมไม่เคยศึกษามาโดยตรงเลย ผมแค่อาศัยความรู้สึกและจินตนาการส่วนตัวมาใช้สำหรับเขียนบทความนี้เท่านั้นครับ ดังนั้นบทความนี้จึงไม่น่าจะมีความถูกต้องในเชิงวิชาการที่ท่านสามารถจะคัดลอกไปใช้ได้ ขอย้ำว่า ... ข้อความในงานเขียนชิ้นนี้ของผมเป็นเพียงแค่ความคิดเห็นส่วนตัวของผมเท่านั้นครับ

หวังว่าท่านที่ได้อ่านบทความชิ้นนี้แล้วน่ามีความสนใจในศิลปะมากขึ้นก็เป็นได้ สำหรับท่านใดที่ต้องการไปชมงานนิทรรศการ "จิตรกรรมฝาผนังของอาจารย์ชลูด และผลงานย้อนหลัง" นี้ด้วยตัวเอง ท่านก็ยังสามารถตามไปชมได้ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (สี่แยกปทุมวัน ตรงข้ามห้างมาบุญครอง) ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9 ซึ่งงานนิทรรศการนี้จัดแสดงระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม จนถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2556 นี้ โดยไม่เสียค่าผ่านประตูในการเข้ารับชม ไปชมกันได้ฟรีเลยครับ น่าจะลองพาลูกหลานไปดูงานศิลปะบ้างก็คงจะดีครับ

ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมบล็อกนี้ของผม ขอให้ท่านมีความสุขมาก ๆ ครับ

อิอิ




 

Create Date : 01 กรกฎาคม 2556
17 comments
Last Update : 1 กรกฎาคม 2556 1:26:08 น.
Counter : 10552 Pageviews.

 

ไม่อาจวิจารณ์ในเชิง "บทความ" ได้นะคะ เพราะเราเองก็ไม่ได้เขียนบทความ เอาเป็นว่า คุณกล่างเล่าเรื่องผลงานอ.ชลูดที่ไปชมมา ให้กับคนที่ชอบชมและศึกษางานศิลปะอย่างเรา อยากไปชมบ้าง ...ว่าแต่ว่า งานนี้มีสูจิบัตรด้วยรึป่าวคะ

 

โดย: นัทธ์ 1 กรกฎาคม 2556 7:00:49 น.  

 

อยากดูนิทรรศการจังเลยค่ะ

 

โดย: sawkitty 1 กรกฎาคม 2556 7:42:48 น.  

 


Like ให้เป็นคนที่ 4
พี่อุ้มว่าน้องกล่องเขียนเข้าตากรรมการจ๊ะ
เพียงแต่ว่าอาจจะทะลุออกไปสี่แยกปทุมวัน
เลี้ยวซ้ายไปประตูน้ำ
ไปไกลมากกรรมการเลยไม่เห็นน่ะ อิอิอิ
ไหนว่าไปแล้วกลับหน้าฝน ...โหมุกนี้
สุดยอด แหล่ม

 

โดย: อุ้มสี 1 กรกฎาคม 2556 22:19:46 น.  

 

ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะ
เพิ่งทราบว่าประติมากรรมโลกุตระที่ศูนย์สิริกิตต์เป็นผลงานของท่าน
งานดูมีเอกลักษณ์มากเลยค่ะ
หลายภาพมีภาพผู้หญิงในอิริยาบถเดียวกันทั้งนั้นเลย

 

โดย: lovereason 2 กรกฎาคม 2556 0:06:28 น.  

 

สวัสดีวันอังคาร คะ
ขอให้มีแต่เรื่องดี ๆ เข้ามาในชีวิตนะคะ
- Have a nice day - คะ คุณอาคุง .^o^


 

โดย: ลงสะพาน...เลี้ยวขวา 2 กรกฎาคม 2556 7:01:34 น.  

 

เห็นแล้ว ทำให้อยากไปเห็นคาตา
จะได้ร่วมวิจารณ์ เอ๊ย!! แชร์ ความรู้สึกร่วมกัน

อจ.ชลูด ยังแข็งแรงนะคะ
เห็นแล้วคิดถึงพ่อจัง( อยากให้ลูกศิษย์ อจ.ศิลป์)แข็งแรงๆแบบนี้บ้าง

 

โดย: เริงฤดีนะ 2 กรกฎาคม 2556 9:37:25 น.  

 

สวัสดียามสายๆ ค่ะ
ตามมาชมศิลปะค่ะ แต่แหม บอกตามตรงว่าไม่ค่อยจะเข้าใจนัก อาจจะเห็นว่าสวย (ตามความคิดของเรา) แต่จะให้บรรยายก็คงบอกไม่ถูกค่ะ
ชมได้อย่างเดียว ติ-ชม ไม่เป็น แหะๆ
ขอให้ผลงานผ่านการพิจารณาก็แล้วกันค่ะ
---
55555 นางเอกของงานตะพาบส่วนใหญ่ยังโฉด เอ๊ย โสดอยู่ค่ะ ค่อยมาหาคู่เอาในเรื่องเลย อิๆ

เรื่องซื้อหวยนี่เป็นความหวังเล็กๆ ที่บางทีก็ก่อปัญหาใหญ่นะคะ บางคนถึงกับจำนำจำนองที่ดินกับเจ้ามือหวยเลยทีเดียว เล่นกันยังไงไม่รู้ ทั้งที่รู้ว่าเล่นแล้วไม่ได้ก็ยังจะดันทุกรังเล่นต่อ มีแต่เจ้ามือที่รวยอยู่คนเีดียวค่ะ

มีความสุขกับการทำงานนะคะ

 

โดย: ประกายพรึก 2 กรกฎาคม 2556 10:16:12 น.  

 

สวัสดีค่ะคุณอากล่อง
แวะมาทักทาย แวะมาชมศิลปะค่ะ
ไม่ค่อยเข้าใจหรอกค่ะ แค่ดูว่าสวยก็โอเคแล้ว

คุณอ่กล่องมีความสุขมากๆนะคะ

 

โดย: tanjira 2 กรกฎาคม 2556 18:54:51 น.  

 

อ่านบทความของคุณกล่องจบแล้ว ถือว่าแสดงออกทางความคิดได้ดีมากครับ มีความเข้าใจในงานศิลปะ
สำหรับการพิจารณาบทความนั้น กรรมการจะคิดอย่างไร ก็เป็นส่วนของกรรมการ ไม่มีใครตัดสินได้ว่าดีหรือไม่ดี มีแต่ถูกใจหรือไม่ถูกใจ

ขอให้คุณกล่องได้รับคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การเขียนบทความทางศิลปะ ในครั้งนี้นะครับ

คำที่อาจตกไป "เรื่องราวเกี่ยวชาดก" คงเป็น "เรื่องเกี่ยวกับชาดก"

 

โดย: Insignia_Museum 2 กรกฎาคม 2556 19:43:36 น.  

 

ไม่มีความรู้เรื่องศิลปะเลยค่ะคุณกล่อง

แต่ชอบดูศิลปะ ภาพวาด ต่างๆค่ะ

 

โดย: LoveParadise 3 กรกฎาคม 2556 12:32:19 น.  

 

สวัสดีครับพี่อาคุงกล่อง

ถือเป็นการเขียนบล้อกแนวใหม่ของพี่เลยนะครับ
ได้อรรถรสที่แปลกออกไป

แต่เม้นท์ของพี่ที่บล้อกผมนั้น
อาคุงกล่องตัวจริงเสียงจริงเลยครับ 5555






 

โดย: กะว่าก๋า 3 กรกฎาคม 2556 12:49:17 น.  

 

คิดว่าใบหน้ารูปที่วาดก็คล้าย ๆ อาจารย์อยู่ค่ะ

 

โดย: tuk-tuk@korat 3 กรกฎาคม 2556 14:08:07 น.  

 

สวัสดียามเช้าครับพี่อาคุง







 

โดย: กะว่าก๋า 4 กรกฎาคม 2556 6:34:10 น.  

 

ขอบคุณค่ะ ไว้ต้องหาเวลาไปค่ะ

 

โดย: never the last 4 กรกฎาคม 2556 8:59:06 น.  

 

ได้ข่าวนิทรศการนี้มาพักใหญ่แล้ว กะว่าจะไปชมค่ะ อาทิตย์ที่ผ่านมาไปหอศิลป์กทม. แต่ไม่ได้ขึ้นไปชมเพราะไม่มีเวลา เสียดายที่เขาห้ามถ่ายภาพ ไม่งั้นถ้าไปชมคงได้อัพบล็อกแน่ ๆ ขอบคุณคุณกล่องที่เขียนบล็อกนี้นะคะ อ่านแล้วแอบทึ่งคุณกล่องที่วิเคราะห์งานศิลปะออกมาได้ดีจัง กดไลค์และโหวตหมวดศิลปะให้ค่ะ

 

โดย: haiku 4 กรกฎาคม 2556 9:00:13 น.  

 

หวัดดีค่าอาคุงกล่อง

อาจารย์เค้ามีฝีมือมากๆ เลยนะคะ
ที่สามารถสื่องานออกมาได้ภาพที่เข้าแบบว่า

มีความรู้สึกอารมณ์ร่วมกับภาพด้วย
ที่ทำให้เรารู้ว่า สื่อถึืง .... อะไร



 

โดย: Rinsa Yoyolive 4 กรกฎาคม 2556 23:37:24 น.  

 

แวะเข้ามาอ่านค่ะ ^^ เพิ่งรู้ว่าอาคุงกล่องชอบดูงานศิลปะด้วย

 

โดย: ผึ้งหลังวัง IP: 110.77.192.132 8 กรกฎาคม 2558 16:26:25 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


อาคุงกล่อง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 62 คน [?]




อาคุงกล่องเป็นชายไทยนิสัยดีมีความฝัน ผู้ผันตัวมาเป็นทาสวรรณกรรมอย่างแท้จริง ใช้ชื่อกำหนดตัวตนว่า “อาคุงกล่อง” เป็นนามปากกาสร้างสรรค์ผลงานในเชิงหัสนิยาย และงานเขียนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี ความเรียง บทกลอน ไดอารี่เพ้อเจ้อละเมอเพ้อฝันต่างๆ ฯลฯ

ปัจจุบัน “อาคุงกล่อง” เป็นนักอ่าน นักคิดและนักเขียน รวมทั้งเป็นนักจินตนาการออกมาเป็นตัวอักษรด้วย ผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่คือการเป็นนักเขียนมีคุณภาพที่สรรค์สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คาดว่าในเวลาอันใกล้นี้นาม “อาคุงกล่อง” จะเกิดปรากฎชัดในโลกวรรณกรรม จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่หนอนนักอ่านทั่วไทย



"ในชีวิตจริงของคนเรา มีอะไรอีกมากมายที่จะต้องรับรู้และรับผิดชอบ ในแต่ละวันเรามีโอกาสที่จะหัวเราะได้สักกี่ครั้ง? แต่ถ้าเราได้มีโอกาสหัวเราะเสียบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือคลายเครียด ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ"

ถ้าคุณเข้ามาในบล็อคของผมแล้ว คุณสามารถอมยิ้มหรือหัวเราะได้ ผมก็คงจะดีใจแล้วครับ (กรุณาช่วยทิ้งคอมเม้นท์วิจารณ์ไว้ให้ผมด้วยนะครับ จักขอบพระคุณมากเลยครับ)

akungklong@gmail.com
Friends' blogs
[Add อาคุงกล่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.