สิงหาคม 2553
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
3 สิงหาคม 2553
 
 
“นางลอย” : อีกหนึ่งความทรงจำอันล้ำค่า

“ การแสดงโขนครั้งนี้ไม่ใช่จะประสบความสำเร็จเพียงแค่ได้เผยแพร่ศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยเราเท่านั้น แต่ยังเกิดสิ่งที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้นมาอีก คือพวกเราได้สร้างช่างฝีมือรุ่นใหม่เอี่ยมขึ้นมา รุ่นใหม่ที่เข้าใจถ่องแท้ถึงศิลปะการสร้างเครื่องแต่งกายโขน และได้เห็นความผูกพันอย่างใกล้ชิดแบบสังคมไทยสมัยโบราณ ลูกหลานจูงพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย คนแก่ในบ้าน ไปดูโขนครั้งนี้ ได้เห็นการแสดงความรัก เอื้ออาทรต่อกันในครอบครัว ก็เป็นภาพที่สร้างความสุขใจแก่ผู้พบเห็นทุกคน และเสียงที่เรียกร้องว่าให้จัดการแสดงโขนขึ้นอีกนั้น ข้าพเจ้าก็รับฟัง และกำลังตรึกตรองว่าจะเลือกตอนไหนมาจัดแสดงใหม่ แต่ก็ต้องฝึกซ้อมนานหน่อย ขอให้ นี่เขาสั่งให้ข้าพเจ้าพูดว่า ขอให้แฟนๆ โขนคอยติดตามข่าวต่อไป เขาสั่งมา อย่าลืมรับสั่งตรงนี้ให้ได้ โฆษณาไปในตัวรับรองว่า ต่อไปต้องมีให้ชมแน่นอน ”

เนื้อความในข้างต้นเป็นพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีพระราชดำรัสไว้เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ในวโรกาสที่คณะบุคคลต่างๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา จากพระราชดำรัสนี้สะท้อนให้เห็นถึงความใส่พระราชหฤทัยต่อนาฏศิลป์ชั้นสูงอย่างการแสดงโขน อันถือเป็นสมบัติสำคัญที่อยู่คู่ชาติไทยของเรามาเป็นเวลานาน ซึ่งจากความสำเร็จอย่างงดงามในการแสดงโขน ชุดพรหมาศ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ และกลับมาแสดงอีกครั้งเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ นั้น สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการแสดงโขนขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ทรงเลือกตอน “นางลอย” มาทำการแสดง ในระหว่างวันที่ ๒๓-๒๖ กรกฏาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการแสดงโขน ตอนนางลอยเป็นปฐมทัศน์ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฏาคม พ.ศ.๒๕๕๓



“นางลอย” หลายท่านที่ไม่คุ้นเคยกับวรรณคดีไทยเรื่อง รามเกียรติ์ ก็อาจจะสงสัยว่า นางลอยคือใคร ทำไมต้องเป็นนางลอย ? เหตุที่ทำให้เกิดชื่อตอนว่า “นางลอย” นั้น มีอยู่ว่า หลังจากที่ทศกัณฐ์ พญายักษ์แห่งกรุงลงกา ได้ลักพานางสีดามาจากพระราม ผู้เป็นสวามีไปนั้น ได้ทำให้เกิดศึกสงครามระหว่างพระรามกับบรรดายักษ์แห่งกรุงลงกา ครั้นทัพพระรามยกมาประชิดติดกรุงลงกา ทศกัณฐ์จึงหาทางคิดตักศึก ให้พระรามล่าถอยถอนทัพกลับคืนไป พญายักษ์จึงได้ใช้ให้นางเบญกาย จำแลงแปลงกายเป็นนางสีดา ทำทีเป็นตายลอยน้ำไปติดยังริมฝั่งแม่น้ำที่พระรามทรงใช้สรงสนาน เพื่อให้พระรามเข้าใจผิดคิดว่านางสีดาตาย และยกทัพกลับไป เพราะไร้ประโยชน์ที่จะทำสงครามชิงนางสีดากลับคืนมาอีก แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อหนุมาน ทหาญเอกของพระราม จับพิรุจได้ จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตนำศพของนางสีดาจำแลง ไปพิสูจน์โดยการเผาไฟ สุดท้ายความจริงก็ปรากฏว่า ศพนางสีดาที่ลอยน้ำมานั้น หาใช่ตัวจริงไม่ หากแต่เป็นนางเบญกายที่จำแลงแปลงกาย ทำทีลอยน้ำมาเพื่อหลอกกองทัพพระรามนั่นเอง นี้จึงเป็นที่มาของโขนที่ใช้ชื่อตอนว่า “นางลอย”



การแสดงโขน ตอนนางลอยในครั้งนี้ แบ่งการแสดงออกเป็นสองรอบ คือรอบประชาชนทั่วไป จัดแสดงระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ กรกฏาคม และรอบนักเรียน นักศึกษา จัดแสดงในวันที่ ๒๖ กรกฏาคม ซึ่งการแสดงทั้งสองรอบจะใช้ผู้แสดงหลัก (ได้แก่ พระราม พระลักษมณ์ นางสีดา ทศกัณฐ์ นางเบญกาย และนางตรีชฏา) คนละชุดกัน กล่าวคือ การแสดงรอบประชาชนทั่วไปนั้น จะใช้ผู้แสดงหลักจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ส่วนการแสดงในรอบนักเรียน นักศึกษา จะใช้ผู้แสดงที่เป็นนักศึกษาทางด้านนาฏศิลป์ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ให้มาร่วมทำการแสดงในบทสำคัญๆ ซึ่งแม้ทั้งสองรอบจะใช้ผู้แสดงหลักที่ต่างกัน แต่ฝีไม้ลายมือในการแสดงการหาได้ต่างกันไม่ เพราะจากความรู้สึกของผู้เขียน คิดว่าผู้แสดงทั้งสองชุดก็ล้วนแสดงได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน นั่นอาจเป็นเพราะบรรดาผู้แสดงทั้งหลายได้รับการถ่ายทอดและฝึกสอนจากครูบาอาจารย์ ที่ถือปรมาจารย์ทางด้านโขนละครของไทยมาด้วยกันทั้งสิ้น









ก่อนจะเข้าชมการแสดง ขอแวะไปเก็บบรรยากาศที่ด้านหน้าหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยสักเล็กน้อย เพราะที่นี่มีการจัดบอร์ดนิทรรศการแสดงเบื้องหลังของโขนชุดนี้ไว้พอสมควร รวมทั้งมีการนำเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ และเครื่องพัสตราภรณ์โขนละครมาจัดแสดงไว้ให้ชมเป็นตัวอย่าง ถือเป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนเข้าสู่การแสดงจริง







และแล้วเวลาที่รอคอยก็มาถึง หลังจากเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีจบลง วงปี่พาทย์ก็บรรเลงเพลง ประกอบการขับร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ เนื้อหาในเพลงนี้ พรรณนาถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย ตลอดระยะเวลา ๖๐ ปีที่ทรงเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะพระราชินีของปวงชนชาวไทย การแสดงชุดต่อไปเป็นการแสดงรำเบิกโรงกิ่งไม้เงินทอง ใช้ผู้แสดงเป็นผู้หญิงล้วนจำนวน ๖ คน แต่งการยืนเครื่องตัวพระ ถือกิ่งไม้เงินและกิ่งไม้ทอง ร่ายรำประกอบทำนองเพลง และคำร้อง ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความเป็นสวัสดิมงคลก่อนที่จะเริ่มทำการแสดง





เมื่อการแสดงรำเบิกโรงกิ่งไม้เงินทองจบ ก็เข้าสู่การแสดงโขน ตอนนางลอย อย่างเป็นทางการ โดยการแสดงครั้งนี้แบ่งออกเป็น ๕ องก์ องก์แรก เป็นฉากท้องพระโรงกรุงลงกา ที่เมื่อเปิดม่าน เผยให้เห็นฉากที่แสนวิจิตรอลังการเท่านั้น ก็สามารถเรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมได้ทั่วทั้งหอประชุมใหญ่เลยทีเดียว เพราะความมลังเมลืองจากฉากหลังที่เขียนลวดลายยืนพื้นด้วยสีแดง แท่นที่ประทับของทศกัณฐ์ ซึ่งทั้งสองข้างมีเครื่องราชูปโภคที่ทอดไว้งดงามสมจริง ทั้งยังมีการตั้งเครื่องสูง และหุ่นของราชสีห์กับคชสีห์ประกอบในฉากเพื่อเพิ่มความสง่าสม สมเกียรติแห่งท้องพระโรงของเจ้ากรุงลงกา หลายท่านที่เคยชมการแสดงโขนครั้งก่อน ในตอนพรหมาศ ก็จะคุ้นเคยกับฉากนี้ แต่อยากบอกว่า ฉากท้องพระโรงในตอนนางลอยนี้ อลังการกว่าเมื่อตอนพรหมาศหลายเท่านัก



สำหรับเนื้อเรื่องในองก์ที่ ๑ กล่าวถึงทศกัณฐ์ที่ประทับออกว่าราชการ โดยมีกุมภกรรณ ผู้เป็นอนุชาและอุปราชกรุงลงกา พร้อมด้วยอินทรชิต ผู้เป็นโอรส เข้าเฝ้าอยู่ในท้องพระโรงฝ่ายหน้าโดยทศกัณฐ์ได้ใช้ให้นางเบญกายลูกสาวของพิเภกกับนางตรีชฏา แปลงกายเป็นนางสีดาทำตายลอยน้ำไปที่หน้ากองทัพพระราม และด้วยความที่นางเบญกายกลัวพระอาญาของทศกัณฐ์ ผู้เป็นลุง จึงไม่อาจทัดทานได้ นางเบญกายได้ทูลต่อทศกัณฐ์ว่า ตนเองยังไม่เคยเห็นรูปร่างหน้าตาของนางสีดามาก่อน จึงขอดูรูปร่างนางสีดาเพื่อจะได้แปลงกายให้ถูกต้อง ทศกัณฐ์จึงจัดให้ขบวนวอสีวิกากาญจน์แห่นางเบญกายเพื่อไปดูรูปโฉมนางสีดา ณ อุทยานท้ายกรุงลงกา





องก์ที่ ๒ เป็นฉากอุทยานท้ายกรุงลงกา เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า เมื่อขบวนวอของนางเบญกายมาถึงที่อุทยานท้ายกรุงลงกาแล้ว นางเบญกายจึงเข้าไปหานางตรีชฎาผู้เป็นมารดา ซึ่งถูกถอดยศให้มาคอยรับใช้นางสีดา นางตรีชฎาครั้นรู้ว่าทศกัณฐ์ใช้นางเบญกายมาด้วยจะทำกล จึงเสียใจเป็นยิ่งนัก ด้วยพิเภกผู้สามี ได้ไปอยู่กองทัพพระราม นางเบญกายจึงขอเข้าไปดูตัวนางสีดา ครั้นถึงจึงเข้าไปเฝ้านางสีดาทูลถวายตัวว่าเป็นบุตรของพิเภกและตรีชฎาพร้อมทั้งลอบดูโฉมนางสีดา ครั้นจำได้มั่นคงจึงทูลลานางสีดากลับ





ในองก์นี้เป็นอีกหนึ่งฉากที่ได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชม ทั้งจากขบวนวอสีวิกากาญจน์ของนางเบญกาย ที่สง่างามด้วยขบวนเสด็จของเจ้านายฝ่ายในแบบโบราณ มีตำรวจหวาย นางเชิญโคม นางเถ้าแก่ นางสนมเชิญเครื่องอิสริยยศนำและตามขบวนเสด็จ นอกจากนี้ยังได้ชมเทคนิคการเปลี่ยนฉากแบบหมุน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่นำเทคนิคนี้มาใช้ในการแสดงโขน โดยเปลี่ยนจากฉากที่ประทับใต้ต้นไม้ของนางตรีชฏา เป็นศาลาที่ประทับของนางสีดา ในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น





องก์ที่ ๓ เป็นฉากท้องพระโรงฝ่ายในกรุงลงกา เนื้อเรื่องกล่าวถึงนางเบญกาย เมื่อจดจำรูปโฉมนางสีดาได้แล้ว จึงได้จำแลงแปลงกายเป็นนางสีดาไปเข้าเฝ้าทศกัณฐ์ที่ท้องพระโรงฝ่ายใน ซึ่งขณะนั้นทศกัณฐ์กำลังสำราญอยู่ในฝ่ายในท่ามกลางนางกำนัล ครั้นเห็นเบญกายจำแลงมา ก็เข้าใจว่าเป็นนางสีดาเข้ามาหา จึงได้ออกไปเกี้ยวพาราสีด้วยความเข้าใจผิด นางเบญกายอับอายเป็นยิ่งนักจึงแปลงกายคืนเช่นเดิม ครั้นทศกัณฐ์เห็นนางเบญกาตผู้เป็นหลานสาว จึงแก้เก้อ รีบสั่งให้นางเบญกายรีบไปที่กองทัพพระรามในทันที

ฉากท้องพระโรงฝ่ายในของกรุงลงกา ได้ใช้เทคนิคการเขียนฉากโดยใช้เส้นนำสายตา และใช้ฉากลับแลวางเป็นแนวเฉียง ให้ดูว่าฉากนั้นเป็นมุมลึกลงไป เแล้วทำซุ้มบุษบกยื่นออกมาจากฉากให้ดูเป็นสามมิติ โดยขณะที่นางสีดาจำแลง ร่ายรำเข้ามาเฝ้าในท้องพระโรงนั้น พระแท่นที่ทศกัณฐ์ประทับจะค่อยๆเลื่อนออกมาโดยอัตโนมัติ จนหยุดอยู่ที่หน้าซุ้มบุษบก ในองก์นี้เป็นฉากที่เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของผู้ชมได้มากที่สุด จากท่าทางขวยเขินของทศกัณฐ์ ที่นานๆครั้งเราถึงจะได้เห็นท่วงท่าอาการที่น่ารักของพญายักษ์ที่แสนจะน่าเกรงขามผู้นี้ (บรรดานางกำนัลที่เฝ้าแหนอยู่ในฉาก ก็พลอยโดนลูกหลงไปด้วย โทษฐานที่หัวร่อต่อกระซิก นินทาเจ้านาย จึงโดนทศกัณฐ์เคาะศีรษะกันไปคนละทีสองที)

องก์ที่ ๔ เชิงเขาเหมติรัน เนื้อเรื่องมาถึงตอนที่นางเบญกายกราบลาทศกัณฐ์ออกมาจากท้องพระโรงฝ่ายในแล้ว จึงได้เหาะข้ามมหาสมุทรไปจนถึงเขาเหมติรัน แล้วแปลงกายเป็นนางสีดา ทำทีตายลอยน้ำ ไปวนอยู่ที่ท่าน้ำซึ่งพระรามทรงใช้สรงสนาน ในฉากนี้แสดงเทคนิครอกในการเหาะเหินเดินอากาศของนางเบญกาย เพื่อมายังเชิงเขาเหมติรัน

องก์ที่ ๕ พลับพลาพระรามริมฝั่งแม่น้ำ ครั้นรุ่งเช้าพระรามตื่นบรรทมพร้อมพระลักษมณ์ จึงตรัสชวนพระลักษมณ์ และเหล่าวานร ไปสรงน้ำริมฝั่งแม่น้ำ เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นนางเบญกายแปลง ตายลอยน้ำมาพระรามเข้าใจว่าเป็นนางสีดา จึงวิ่งเข้าไปอุ้มมาบนฝั่ง และทรงพระกรรแสง ด้วยคิดว่าเป็นนางสีดาจริง เมื่อพระรามทอดพระเนตรเห็น หนุมานจึงกริ้วโกรธด้วยคิดว่าหนุมานไปหักสวนขวา และฆ่าสหัสกุมารบุตรทศกัณฐ์ตาย ทศกัณฐ์จึงฆ่านางสีดาทิ้ง น้ำมาหนุมานจึงทูลว่า นางสีดานี้อาจเป็นยักษ์แปลงมาด้วยศพก็ยังไม่เน่าเปื่อย และลอยทวนน้ำมาจนถึงหน้าพลับพลา หนุมานจึงขอพิสูจน์โดยการนำศพมาเผาไฟ แม้เป็นนางสีดาจริง หนุมานยอมถูกประหารชีวิต พระรามเห็นด้วย จึงสั่งให้สุครีพคุมวานรทำเชิงตะกอนเพื่อเผาศพนางสีดาแปลง เมื่อเชิงตะกอนเสร็จจึงให้นำศพนางสีดาวางบนเชิงตะกอน แล้วจุดไฟเผาให้เหล่าทหารวานรล้อมไว้ เบญกายครั้นโดนไฟเผาทนไม่ได้จึงเหาะขึ้นตามเปลวควันหนีไป หนุมานจึงเหาะตามจับนางเบญกาย เพื่อนำตัวมาถวายพระรามเพื่อให้รับโทษ



ฉากนี้ถือเป็นฉากสุดท้ายของการแสดง และถือเป็นฉากสำคัญที่สุดของการแสดงโขน ตอนนางลอยนี้ เริ่มจากฉากพลับพลาที่ประทับของพระราม ที่ใช้เทคนิคการสร้างฉากแบบสามมิติ ทำให้ฉากพลับพลาที่ประทับนูนเด่นออกมาจากฉากที่เป็นภาพวาด ต่อด้วยตอนที่พระรามเสด็จพร้อมพระอนุชาและเหล่าวานรไปสรงสนานที่ริมฝั่งแม่น้ำ วงปี่พาทย์พร้อมนักร้องก็จะบรรเลงและร้องเพลงเต่าเห่ ซึ่งถือเป็นเพลงเด่นของการแสดงโขน ตอนนางลอย ผลงานพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งความไพเราะของเพลงนี้อยู่ที่การขับร้องประสานเสียงแบบไทย ที่ประสานเสียงกันระหว่างนักร้องฝ่ายหญิงและฝ่ายชายได้อย่างลงตัว พร้อมกันนั้นก็ได้เห็นกิริยาอาการที่แสนน่ารักของบรรดาลิงน้อยใหญ่ ที่ตามเสด็จพระรามไปยังริมแม่น้ำ



แต่ฉากที่ได้รับความฮือฮาจากผู้ชม เห็นจะเป็นฉากนางสีดาจำแลงลอยน้ำมายังหน้าที่สรงสนานของพระราม เพราะได้ใช้พื้นที่บริเวณหน้าเวที เนรมิตเป็นแม่น้ำใหญ่ ที่นำร่างของนางสีดาจำแลงลอยทวนน้ำเสมือนจริงมายังเบื้องหน้าของพระราม





ความเศร้าโศกของพระรามที่สูญเสียนางอันเป็นที่รัก หนุมานที่ดูเหมือนจะเป็นเพียงคนเดียวที่ไม่เชื่อว่าศพของนางสีดาที่อยู่เบื้องหน้าจะเป็นนางสีดาจริงๆ ดังนั้นขณะที่พระราม พระลักษมณ์ และบรรดาวานรร่ำไห้เสียใจ แต่หนุมานกลับชะเง้อ และแสดงอาการสงสัยอย่างเห็นได้ชัด



จนพระรามสังเกตเห็น ได้ทรงตรัสบริภาษหนุมาน ว่าเพราะหนุมานไปเผากรุงลงกา จึงทำให้ทศกัณฐ์โกรธ จนฆ่านางสีดาแก้แค้นในที่สุด ท่าทางที่ลนลาน ตกใจ และเกรงพระราชอาญาของหนุมาน สร้างความขบขันได้ไม่แพ้ฉากเขินอายของทศกัณฐ์ เพราะหนุมานตกใจกระโดดจนตัวลอย (ย้ำว่ากระโดดจนตัวลอยจริงๆ) ซ้ำยังก้มหน้าก้มตารับการตรัสบริภาษของพระรามด้วยความเกรงกลัว





ความสงสัยของหนุมานเริ่มเป็นจริง เมื่อพระรามอนุญาตให้หนุมานพิสูจน์ด้วยการนำร่างของนางสีดาจำแลงไปเผาไฟ ฉากนี้มีการทำกองฟืนจำลองสำหรับใช้เผาศพของนางสีดาจำแลง ที่เมื่อถึงตอนที่ไฟลุกก็สามารถทำได้เสมือนจริง เพราะมีทั้งควันและเปลวไฟที่ดูตื่นตามากๆ เมื่อนางสีดาจำแลงทนความร้อนของเปลวไฟไม่ไหว จีงได้กลับร่างกลายเป็นนางเบญกาย เหาะหนีขึ้นไปในอากาศ โดยเป็นการเปลี่ยนผู้แสดงระหว่างผู้ที่แสดงเป็นนางสีดา และนางเบญกายในเวลาเพียงเสี้ยววินาที ซึ่งผู้แสดงเป็นนางเบญกายสามารถขึ้นรอกเหาะทะยานไปบนอากาศในช่วงเวลาเดียวกับที่นางสีดาจำแลงถูกสลับตัวลงไป





อีกหนึ่งฉากที่น่าชมและเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของการแสดงโขน ตอนนางลอย ก็คือฉากหนุมานจับนางเบญกาย ที่มีการตามจับตัวนางเบญกายทั้งบนอากาศ (โดยใช้เทคนิครอก) และบนเวที ด้วยท่วงท่าที่น่าตื่นเต้น จากการตีลังกาของหนุนาน การเยื้องย่างของนางเบญกายที่พยายามหลบหนีหนุมาน แต่สุดท้ายก็ยากจะหนีฝีมือของทหาญเอกพระราม อย่างหนุมานไปได้











ฉากจบของการแสดงเป็นฉากที่พระราม พระลักษมณ์ พิเภก และบรรดาพลวานรน้อยใหญ่จ้องมองหนุมานที่จับนางเบญกายเหาะมาบนอากาศ แล้วม่านก็ค่อยๆเลื่อนลงปิดฉากการแสดงในองก์สุดท้าย จากนั้นผู้แสดงทั้งหมดจึงปรากฏตัวอีกครั้งเพื่อขอบคุณผู้ชมและทีมงานผู้จัดการแสดง







สำหรับท่านที่พลาดโอกาสชมการแสดงโขน ตอนนางลอยเมื่อวันที่ ๒๓-๒๖ กรกฏาคมที่ผ่านมา ก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะการแสดงชุดนี้จะกลับมาเปิดการแสดงอีกครั้ง ในวันที่ ๑๙-๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓ นี้ แต่อยากกระซิบบอกว่าอย่านิ่งนอนใจ ให้รีบไปจับจองบัตรเข้าชมเสียแต่เนิ่นๆ เพราะหากช้าท่านอาจจะพลาดชมอีกแน่นอนครับ



โขน ถือมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่ล้ำค่า และควรแก่การอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา เราในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ที่แม้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสดง หรือการฝึกหัดโขน แต่เราก็สามารถช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมแขนงนี้ได้ ด้วยการเป็นผู้ชมที่ดี ให้การสนับสนุนเท่าที่กำลังของเราจะทำได้ เพื่อช่วยให้ศาสตร์และศิลป์ของการแสดงโขน อยู่คู่แผ่นดินไทยสืบไป....



Create Date : 03 สิงหาคม 2553
Last Update : 4 สิงหาคม 2553 20:29:14 น. 11 comments
Counter : 24855 Pageviews.

 
ดูเหมือนว่า รอบที่เราดูนั้น ตัวแสดงที่เป็นนางสีดานั้น เป็นตัวที่ผ่านการคัดเลือกมาล่ะ ...แต่น้องรำสวยและแสดงได้ดีที่ดี
การชมโขนพระราชทานนี้ นอกจากจะอลังการงานสร้างแล้ว ยังปลาบปลื้มที่ได้เห็นภาพการจูงมือของครอบครัว ชวนกันมาชมนาฎศิลป์ไทย เพราะเหมือนจะเป็นสิ่งที่หาได้ยากให้สังคมปัจจุบันนี้ไปซะแล้ว


โดย: นัทธ์ วันที่: 3 สิงหาคม 2553 เวลา:22:44:56 น.  

 
เหมือนที่สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ท่านทรงมีพระราชดำรัสไว้แหล่ะครับ ว่าน่าปลื้มใจที่การแสดงโขนพระราชทานของพระองค์ท่าน มีภาพของ "ความผูกพันอย่างใกล้ชิดแบบสังคมไทยสมัยโบราณ ลูกหลานจูงพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย คนแก่ในบ้าน ไปดูโขนครั้งนี้ ได้เห็นการแสดงความรัก เอื้ออาทรต่อกันในครอบครัว ก็เป็นภาพที่สร้างความสุขใจแก่ผู้พบเห็นทุกคน"


โดย: พ ณ.ลำพู วันที่: 4 สิงหาคม 2553 เวลา:0:24:15 น.  

 
ไปดูมาแล้วค่ะ สนุกมากมาย ชอบตอนที่ทศกัณฐ์เขินจริงๆ ด้วย คนหัวเราะกันทั้งโรง ทั้งเทคนิคและแสงสีเสียง ตระการตามากค่ะ ถ้ามีโอกาสอาจจะไปดูอีกรอบ


โดย: แก้วกังไส IP: 124.121.241.71 วันที่: 4 สิงหาคม 2553 เวลา:17:44:20 น.  

 
ขอบคุณ คุณแก้วกังไส ที่แวะมาเยี่ยมชมนะครับ

ผมเองก็ตั้งใจว่าเดือนพฤศจิกายนนี้ จะต้องไปดูโขน นางลอย ให้ได้อีกสักรอบแน่นอนครับ


โดย: พ ณ.ลำพู วันที่: 4 สิงหาคม 2553 เวลา:20:33:19 น.  

 
ขอบคุณมากที่แวะไปอ่านบล็อคโขนนางลอยนะคะ เห็นภาพกับฟังคุณเล่าให้ฟังแล้วยิ่งอยากดูใหญ่เลยค่ะ ชอบใจที่ภาพประกอบในบล็อค ถ่ายให้เห็นบรรยากาศของการแสดงที่ต่างไปจากที่เห็นในนสพ. ขอบคุณที่เขียนบล็อคนี้ขึ้นมานะคะ


โดย: haiku วันที่: 5 สิงหาคม 2553 เวลา:19:02:30 น.  

 
เปิดรอบใหม่ ไปดูอีกไหมครับ


โดย: สุพจน์ วันที่: 21 สิงหาคม 2553 เวลา:17:09:07 น.  

 
ไปแน่นอนครับคุณสุพจน์

(จองบัตรไปเรียบร้อยแล้วสองรอบครับ ^_^)


โดย: พ ณ.ลำพู (อักษรชนนี) IP: 115.67.77.42 วันที่: 26 สิงหาคม 2553 เวลา:0:56:57 น.  

 
พบคุณอักษรชนนีที่นี่แล้ว และต้องขอขอบคุณคุณนัทธ์ มาณที่นี้ด้วยค่ะ


โดย: Oh_veena วันที่: 12 กันยายน 2553 เวลา:12:27:26 น.  

 
กำลังจะไปดูรอบวันที่ 23 พ.ย.อยู่พอดีเลยครับผม


โดย: อ้น IP: 202.12.97.100 วันที่: 10 พฤศจิกายน 2553 เวลา:9:58:31 น.  

 
Nice info


โดย: HazelEarl (สมาชิกหมายเลข 6552294 ) วันที่: 29 กรกฎาคม 2564 เวลา:16:24:36 น.  

 
Hello,

New club music, download MP3/FLAC, Label, LIVESETS, Music Videos https://0daymusic.org


0daymusic Team


โดย: Lewishic IP: 51.210.176.129 วันที่: 17 เมษายน 2567 เวลา:8:27:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 

พ ณ.ลำพู
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add พ ณ.ลำพู's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com