Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2552
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
7 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 

บทที่ 1 การวิจัยธุรกิจ MGT 4901

การวิจัย
คือ “การแสวงหาความรู้ ข้อเท็จจริงอย่างมีระบบและแบบแผน เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ หรือเกิดประโยชน์แก่มนุษย์ โดยอาศัยวิธีการที่เป็นที่ยอมรับในแต่ละสาขา” (จริยา เสถบุตร,2526:4)

ความหมายตามของราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง การค้นคว้าหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนตามหลักวิชา

การวิจัยเป็นการศึกษาค้นคว้าเพื่อพิสูจน์หรือหาคำตอบหรือหาข้อเท็จจริงอะไรบางอย่าง ที่อาจจะยังไม่มีการค้นพบในเรื่องนั้นมาก่อนหรืออาจจะมีการค้นพบมาแล้ว แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปก็ต้องการค้นหาใหม่อีกครั้งหนึ่ง

@สรุป การวิจัย คือ กระบวนการค้นคว้าหาความรู้ที่เชื่อถือได้ โดยมีลักษณะดังนี้
1. เป็นกระบวนการที่มีระบบ แบบแผน
2. มีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนและชัดเจน
3. ดำเนินการศึกษาค้นคว้าอย่างรอบคอบ ไม่ลำเอียง
4. มีหลักเหตุผล
5. บันทึกและรายงานออกมาอย่างระมัดระวัง

@ลักษณะที่ดีของการวิจัย
- ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญ และมีระบบ
- มีเหตุผล และมีเป้าหมาย
- ต้องมีเครื่องมือ เทคนิคในการเก็บรวบรวมข้อมูล ที่มีความเที่ยงตรงและเชื่อถือได้
- การรวบรวมข้อมูลใหม่ จะต้องได้ความรู้ใหม่
- มุ่งหาข้อเท็จจริง เพื่อใช้อธิบาย พัฒนา หรือใช้พยากรณ์ แก้ไขปัญหา
- อาศัยความพยายาม ซื่อสัตย์ กล้าหาญ และใช้เวลาในการติดตามผลอย่างละเอียด

@ลักษณะที่ไม่ใช่การวิจัย

- การที่นักศึกษา ไปศึกษาบางเรื่องจากเอกสาร ตำรา วารสาร แล้วนำเอาข้อความต่าง ๆ มาตัดต่อกัน
- การค้นพบ (Discovery) โดยทั่วไป เช่น นั่งคิดแล้วได้คำตอบไม่ใช่การวิจัย เพราะการค้นพบไม่มีระบบ และวิธีที่ต้องถูกต้อง อาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ
- การรวบรวมข้อมูล นำมาจัดเข้าตารางซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ
- การทดลองปฏิบัติการ ตามคู่มือที่แนะนำไว้

@ประเภทของการวิจัย
1.ตามลักษณะข้อมูล
- เชิงคุณภาพ
- เชิงปริมาณ
2.ตามจุดมุ่งหมาย
- การวิจัยพื้นฐาน
- การวิจัยประยุกต์
3.ตามระเบียบวิธีวิจัย
- เชิงประวัติศาสตร์
- เชิงบรรยายหรือพรรณนา
/การศึกษาสำรวจ
/การวิจัยเชิงสัมพันธ์
/การวิจัยเชิงพัฒนาการ
- เชิงทดลอง
/การวิจัยเชิงทดลองแท้
/การวิจัยกึ่งทดลอง

1. ประเภทตามลักษณะข้อมูล

@ การวิจัยเชิงคุณภาพ หรือคุณลักษณะ (Qualitative Research)
- เป็นการแสวงหาความรู้โดยการพิจารณาปรากฏการณ์สังคมจากสภาพแวดล้อมตามความเป็นจริงในทุกมิติ
- สนใจข้อมูลด้านความรู้สึกนึกคิด การให้ความหมายหรือคุณค่ากับสิ่งต่างๆ ตลอดจนค่านิยม หรืออุดมการณ์ของบุคคล
- เน้นการเข้าไปสัมผัสข้อมูล หรือปรากฏการณ์โดยตรง
- มักใช้เวลาในการศึกษา ติดตามยาวนาน
- ไม่เน้นสถิติตัวเลขในการวิเคราะห์ข้อมูล แต่ใช้การสังเกตและการสัมภาษณ์ เป็นหลักในการเก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการตีความ สร้างข้อสรุป

@การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research)
- เป็นการวิจัยที่ค้นหาความรู้ความจริง โดยอาศัยข้อมูลที่เป็นเชิงปริมาณ แสดงผลเป็นตัวเลข และค่าสถิติ
- ในการวิเคราะห์ข้อมูลจะต้องใช้วิธีการทางสถิติเข้ามาช่วย
- การอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์
- เน้นข้อมูลที่สามารถวัดลักษณะและวัดพฤติกรรมได้ โดยมีมาตรวัดและนำข้อมูลที่วัดได้มาวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติ

2.ประเภทตามจุดมุ่งหมาย

@การวิจัยพื้นฐาน หรือวิจัยบริสุทธิ์ (Basic or Pure Research) : มุ่งเน้นแสวงหาความจริง ความรู้ใหม่ๆ เพื่อสนองความอยากรู้ เพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาการ สร้างกฎ สูตร หรือทฤษฎีต่างๆเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษา ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการในสาขานั้นๆจึงจะทำได้ดี

@การวิจัยประยุกต์ (Applied Research) : มุ่งเน้นการนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อ เช่นการนำไปใช้ในการแก้ปัญหา ประกอบการตัดสินใจ การพัฒนา วางแผน ควบคุมสถานการณ์ หรือเพื่อช่วยในการดำรงชีวิตให้ดีขึ้น

3.ประเภทตามระเบียบวิธีวิจัย

@เชิงประวัติศาสตร์ (Historical Research) : ศึกษาหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีต ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ต่างๆ นำมาวิเคราะห์ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ นำมาสร้างเป็นกฏเกณฑ์ เพื่อใช้ควบคุมเหตุการณืในปัจจุบัน หรือวางแผนในอนาคต เช่น
- การวิเคราะห์เศรษฐกิจในอดีต เปรียบเทียบกับการปัจจุบัน
- สภาพการค้าของไทยระหว่างปี 2540-2551
- บทบาทเอกชนในการจัดการศึกษาในประเทศ พ.ศ. 2461-2497

@ลักษณะที่สำคัญของการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์

- เป็นการวิจัยที่พยายามอธิบายเหตุการณ์ในอดีต เพื่อใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน และทำนายเหตุการณ์ในอนาคต
- เป็นการวิจัยเอกสาร ไม่ต้องเก็บข้อมูลภาคสนาม
ข้อมูลต่างๆเกิดขึ้นในอดีตส่วนใหญ่ได้จากแหล่งทุติยภูมิ

ทุติยภูมิ (Secondary Data) :ข้อมูลที่ถูกจัดทำและรวบรวมโดยบุคคลหรือองค์กรอื่นตามวัตถุประสงค์ของผู้จัดทำ ที่ถูกรวบรวม สรุปผล และเผยแพร่ให้ทราบในรูปแบบต่าง ๆ
ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) : เป็นข้อมูลประเภทที่จัดเก็บจากต้นกำเนิดของข้อมูลโดยตรง จึงให้รายละเอียดที่ลึกซึ้ง ทันสมัย มีความผิดพลาดน้อย แต่เป็นข้อมูลที่ยังต้องนำมาจัดระเบียบ รวบรวมตีความ และประมวลผล เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น

ลักษณะที่สำคัญของการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์

- ผู้วิจัยไม่มีส่วนร่วมในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
- ไม่สามารถสร้างสถานการณ์เพื่อทดสอบใหม่ได้
- การวิเคราะห์ข้อมูลจะใช้วิธีทางตรรกวิทยา วิพากษ์วิจารณ์ข้อมูลมากกว่าจะใช้วิธีการทางสถิติ

ตรรกวิทยา (Logic) : การใช้ความคิด อ้างเหตุและผลแสดงออกมาเป็นภาษา

@เชิงบรรยายหรือพรรณา (Descriptive Research) :

เป็นการศึกษาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ และนำผลที่ได้มาทำนายปรากฎการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ลักษณะการวิจัยเชิงบรรยาย

- เป็นการศึกษารวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสภาพปัจจุบัน เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ของเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านมาแล้วและส่งผลถึงปัจจุบัน
- ในกระบวนการวิจัยเชิงบรรยาย จะไม่มีการสร้างสถานการณ์ใด ๆ ขึ้นมา แต่จะเป็นการศึกษาสภาพต่าง ๆ ที่เป็นข้อเท็จจริง
- ส่วนใหญ่จะไม่มีการกำหนดตัวแปรอิสระและตัวแปรตามแต่อย่างใด แต่อาจมีการกำหนดสมมติฐานขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการศึกษาวิจัย

@@การวิจัยเชิงบรรยายแบ่งเป็น 3 ประเภท

1.การศึกษาเชิงสำรวจ (Survey Studies) : เป็นการวิจัยเพื่อศึกษาปัญหาอย่างกว้างๆ โดยการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความเป็นจริงหรือลักษณะทั่วๆไป ให้เกิดความเข้าใจ หรือนำไปปรับปรุงในการปฎิบัติงานด้านต่างๆ

@@@การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research)
- การสำรวจองค์กร หรือแหล่งเงินทุน (Organization Survey) : สภาพทั่วไปขององค์กรเช่น ทางด้านการบริหารและการจัดการ บุคลากร การเรียนการสอน การวางแผน การวัดและประเมินผล การเงิน อาคาร สถานที่ทำเล ที่ตั้ง สภาพแวดล้อม
- การวิเคราะห์งาน (Job Analysis) : โครงสร้างของงาน สภาพการทำงาน ความรับผิดชอบ และประสิทธิภาพของบุคลากรในการทำงาน การสรรหา คัดเลือก ค่าตอบแทน
- การวิเคราะห์เอกสาร (Documentary or Content Analysis) : เป็นการวิจัยเพื่อสำรวจและศืกษาสภาพความเป็นจริงของเหตุการณทั้งในอดีตและปัจจุบัน จากตำรา เอกสาร บทความ สิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมทั้งจากฐานข้อมูลเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรากฏเป็นหลักฐานและมีการเผยแพร่อยู่ในปัจจุบัน
- การสำรวจประชามติ (Public Opinion Survey) มติมหาชน : เป็นการวิจัยเพื่อสำรวจความคิดเห็นและความนิยมของประชากรเกี่ยวกับปัญหาหรือประเด็นที่น่าสนใจต่างๆ เช่น “ความคิดเห็นของประชาชนในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีต่อถนนคนเดิน”

(การสำรวจประชามติ ความหมายใกล้เคียงกับคำว่าการทำโพล (Poll) การสำรวจที่ครอบคลุมท้งั การสำรวจความคิดเห็น เจตคติ ความเชื่อ และพฤติกรรมของประชาชนต่อปรากฏการณ์ทางสังคมทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว หรืออาจจะยังไม่เกิดขึ้นก็ได้)

- การสำรวจชุมชน (Community Survey) เป็นการวิจัยเพื่อสำรวจประชากรเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในด้านต่าง ๆ รวมทงั้ เจตคติและสิ่งแวดล้อม เช่น อาชีพ เชื้อชาติ ศาสนา ครอบครัว ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม สุขภาพ การเกิด การตาย ที่อยู่อาศัย การศึกษา ความเชื่อ ความคิดเห็น การปกครอง และกฎหมาย เป็นต้น

2. การวิจัยเชิงความสัมพันธ์
(Interrelationship Research)

เป็นการวิจัยเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริงหรือตัวแปรต่าง ๆ ว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่ และมีความสัมพันธ์กันอย่างไร การวิจัยประเภทนี้จะทำให้ได้รับความรู้ในเชิงลึกและสามารถวินิจฉัยได้ถูกต้องขึ้นเกี่ยวกับตัวแปรที่ศึกษา เพื่อ นำผลการวิจัยไปพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงของอีกตัวแปรหนึ่งหากทราบความสัมพันธ์ของทั้งสองตัวแปร

@การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ จำแนกได้ 3 ประเภท

1] การศึกษารายกรณี หรือกรณีศึกษา (Case Studies) การศึกษาแบบนี้มุ่งเน้น การศึกษาเฉพาะเรื่อง เช่น การศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคของแต่ละชุมชน
2] การวิจัยเปรียบเทียบผลเพื่อศึกษาสาเหตุ (Casual Comparative Studies) เป็นการศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ เช่น “การศึกษาสาเหตุที่ทำให้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เกิดปัญหาไวรัส”
3] การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ (Correlation Research) เป็นการหาระดับความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์หรือผลของตัวแปรอิสระหรือตัวแปรต้นที่เกิดขึ้นกับตัวแปรตาม เช่น “การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อกับระดับความรู้ที่มีต่อสินค้า”

3.การวิจัยเชิงพัฒนาการ (Developmental Research)

เป็นการวิจัยที่มุ่งเน้นการติดตามลักษณะการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์หรือสภาพการณ์ใดๆ เมื่อเวลาล่วงเลยไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อศึกษาพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของสิ่งต่างๆที่ต้องการศึกษาว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือมีพัฒนาการอย่างไร ผลสรุปจากการติดตามลักษณะการเปลี่ยนแปลง จะนำไปใช้ในการวางแผนการดำเนินการต่อไป

@@@ การวิจัยเชิงทดลอง
หมายถึง กระบวนการที่ผู้วิจัยจงใจเปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือสร้างสภาพการณ์ขึ้นเอง เพื่อศึกษาถึงผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง เช่น
“เปลี่ยนแปลงปริมาณแสงสว่างบนโต๊ะอ่านหนังสือ เพื่อศึกษาว่าจะมีผลต่อพฤติกรรมการอ่านอย่างไร”

แบ่งเป็น 2 ประเภท
1. การวิจัยเชิงทดลองแท้ (True Experimental Research) : เป็นการวิจัยในห้องทดลอง หรือห้องปฏิบัติการ ซึ่งสามารถควบคุมตัวแปรได้ทั้งหมด
2. การวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Research) : เป็นการวิจัยทางพฤติกรรม และสังคม ที่ศึกษาข้อมูลของคน หรือเป็นการทดลองภาคสนาม ที่ทำในสภาพธรรมชาติ สามารถทำได้ง่ายและมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ แต่ไม่สามารถสรุปผลได้ชัดเจน

สรุปแบ่งตามระเบียบวิธีวิจัย

@การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Research) เป็นการวิจัยเพื่อค้นหาความจริงในอดีตที่ผ่านมา
@การวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Research) เป็นการวิจัยเพื่อค้นหาความจริงในสภาพปัจจุบัน
@การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) เป็นการวิจัยเพื่อค้นหาความรู้ความจริงที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์มาช่วย เพื่อพิสูจน์ผลของตัวแปรที่ศึกษา มีการทดลองและควบคุมตัวแปรต่าง ๆ

Business research @ Management Tools

การวิจัยธุกิจ เป็นการสำรวจที่มีระบบ มีการควบคุม ค้นคว้าทดลอง ใช้หลักการและเหตุผล เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่สนใจ เพื่อการตัดสินใจในการบริหาร

@@ความหมายของการวิจัยธุรกิจ
คือ การศึกษาค้นคว้าหาความจริงที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ด้วยวิธีที่มีหลักเกณฑ์ถูกต้องตามระบบระเบียบ มีวัตถุประสงค์ ขอบเขตที่ชัดเจน และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ธุรกิจดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้ผู้บริหารดำเนินการตัดสินใจทางธุรกิจ

@ขอบเขตของการวิจัยธุรกิจ

1. การวิจัยทางด้านการจัดการ (Management Research) : เกี่ยวข้องกับโครงสร้างอำนาจหน้าที่ ประสิทธิผลของการจัดการ การตัดสินใจ แรงจูงใน เช่น “การวิจัยทัศนคติของผู้จัดการที่มีต่อบุคลากรในหน่วยงานควรจะเป็นอย่างไร และควรจะใช้นโยบายแบบประชาธิปไตยหรือแบบเผด็จการ”
2. การวิจัยด้านการบัญชี (Accounting Research) : การวิเคราะห์ต้นทุน บันทึกทางการเงิน สรุปผลและตีความหมายทางการเงิน
3. การวิจัยด้านการเงิน (Finance Research) : การวิจัยฐานะการเงิน อัตราดอกเบี้ย ราคาหุ้นในตลาด เงินทุนหมุนเวียน
4. การวิจัยด้านการตลาด (Marketing Research) : การวิจัยแรงจูงใจในด้านการซื้อ การพยากรณ์ตลาด การตั้งราคา การเลือกช่องทางการจัดจำหน่าย การส่งเสริมการขาย การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดสายงานด้านการตลาด
5. การวิจัยด้านการผลิต (Production Management Research) : การวิจัยเกี่ยวกับการตั้งอาคารโรงงานที่เหมาะสม ระบบการติดต่อภายในโรงงานมีประสิทธิภาพ การควบคุมการผลิต การกำหนดวิธีการผลิต สินค้าคงคลังการกำหนดเวลาและอัตราการผลิต การจ่ายงาน การจัดสายงาน การกำหนดบุคลากรในแผนการผลิต
6. การวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ (Business Economics Research) : การพยากรณ์อุปสงค์ในสินค้า ความหยืดหยุ่นของราคาสินค้า นโยบายเกี่ยวกับงบประมาณเงินทุน
7. การวิจัยทางสังคมศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ : การวิจัยถึงความสัมพันธ์ระว่างธุรกิจและการเมือง จิตวิทยาและสังคมวิทยา
- วิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ เช่น รายได้ประชาชาติ อัตราการจ้างงาน ดอกเบี้ย
- วิจัยด้านสังคม เช่น การศึกษา การกระจายของประชากร เชื้อชาติ ประเพณี ศาสนา
- วิจัยด้านการเมือง เช่น นโยบายของรัฐบาล กฎหมาย
- วิจัยในด้านการแข่งขัน เช่น ศึกษาสภาพของธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมคล้ายกัน เพื่อทราบจุดแข็ง จุดอ่อนของกิจการ

@@ระเบียบวิธีวิจัยธุรกิจ

1.การกำหนดปัญหา
2.การตรวจเอกสาร
3.การตั้งสมมติฐานของการวิจัย
4.การออกแบบการวิจัย
5.การเก็บรวบรวมข้อมูล
6.การวิเคราะห์ข้อมูล
7.การอภิปรายผล หรือการตีความข้อมูล
8.การเขียนรายงานวิจัย

1. การกำหนดปัญหา
- เริ่มจากเลือกเรื่องที่เราสนใจเพื่อกำหนดประเด็นปัญหาวิจัย
- ต้องแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตั้งแต่สองตัวแปรขึ้นไป
- ควรเน้นเรื่องที่มีประโยชน์และให้ความรู้ใหม่จริงๆ
- เป็นปัญหาของการวิจัยที่สามารถหาคำตอบได้
- กำหนดขอบเขตของปัญหาชัดเจน ไม่คลุมเครือ
- กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ทราบทิศทางในการวิจัย
2. การตรวจเอกสาร
เป็นการทบทวนเอกสาร ตำรา ทฤษฎีและผลงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบถึงแนวคิด หลักการ หรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆว่าเป็นอย่างไรเพื่อให้แน่ใจว่า งานวิจัยที่จะทำนั้น เหมือนกันหรือแตกต่างกันกับงานวิจัยของผู้อื่นที่ทำไว้หรือไม่
3. การตั้งสมมติฐานของการวิจัย
เป็นข้อความที่บอก หรือคาดคะเนว่าตัวแปรที่จะศึกษานั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร คาดคะเนว่าคำตอบของปัญหาในการวิจัยนั้นคืออะไร โดยอาศัยแนวความคิดจากทฤษฎีและต้องกำหนดตัวแปร แยกว่าอะไรเป็นตัวแปรอิสระ อะไรเป็นตัวแปรตาม
4. การออกแบบการวิจัย
เป็นการวางแผนกำหนดวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบของปัญหา หรือข้อสมมติฐานของการวิจัย เช่น
- ต้องการข้อมูลเรื่องอะไร : What
- หาข้อมูลจากที่ใด : Where
- ข้อมูลจากใคร : Who
- ใช้เครื่องมืออะไรในการเก็บข้อมูล
- วิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร : How
- นำผลการวิจัยไปใช้อะไร : Why
5. การเก็บรวบรวมข้อมูล
การเก็บข้อมูลจากเอกสาร การเก็บข้อมูลภาคสนาม
6. การวิเคราะห์ข้อมูล
- วิเคราะห์ค่าของตัวแปรที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ และปฐมภูมิ เช่น ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย
- ข้อสมมติฐานที่ต้องพิสูจน์ ต้องใช้สถิติประเภท T-test, Z-test, F-test, X-square หรือ ANOVA
7. การอภิปรายผล หรือตีความข้อมูล
เป็นการอธิบายผลของการวิเคราะห์ข้อมูล ตีความหมาย อธิบายรายละเอียดเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ
8. การเขียนรายงานการวิจัย
นำผลการวิจัยที่ได้ออกเผยแพร่แก่ผู้ที่สนใจ

@ประโยชน์ของการวิจัยธุรกิจ

1. ทำให้ได้ทฤษฎี หรือแนวทางความคิดใหม่ เรียกว่า “วิจัยบริสุทธิ์ หรือ การวิจัยพื้นฐาน (Pure Research)”
2. สามารถนำมาช่วยในการแก้ปัญหา หรือตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ เรียกว่า “การวิจัยประยุกต์ (Applied Research)”


@@ประโยชน์ของการวิจัยประยุกต์กับธุรกิจ
1. การวางแผน (Planning) : เพื่อกำหนดแผนงานไว้ล่วงหน้า ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง และต้องทำอย่างไร
2. การจัดองค์กร (Organizing) : เพื่อให้การดำเนินงานภายในมีความคล่องตัว ยืดหยุ่นในการประสานงาน
3. การจูงใจ (Motivation) : เพื่อหาสิ่งจูงใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจและเต็มใจ
4. การควบคุม (Controlling) : เพื่อตรวจสอบ วัดผลงานให้เป็นไปตามแผน และหาข้อผิดพลาดเพื่อทำการแก้ไข

@@@ประโยชน์ที่ผู้บริหารจะได้รับจากการวิจัย
1. ช่วยให้เกิดความรู้ใหม่ๆ รู้ในสิ่งที่ไม่รู้ เข้าใจในสิ่งที่รู้มากยิ่งขึ้น เช่น ทฤษฎีราคา การโฆษณา การปรับปรุง เปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ ฯลฯ
2. ช่วยในการแก้ปัญหา เช่น ลดค่าใช้จ่าย ต้นทุนลดลง ธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น
3. ช่วยในการกำหนดนโยบายและวางแผนการลงทุนอย่างรัดกุม
4. ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของนักบริหารในการวินิจฉัยสั่งการ หรือตัดสินปัญหาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
5. ช่วยให้นักบริหารสามารถติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของตนได้
6. ช่วยให้มีผลงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น และนำไปพัฒนาระบบต่างๆให้ดียิ่งขึ้น
7. ช่วยให้เกิดการประสานงานและความเข้าใจกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ


การนำผลวิจัยไปใช้ในทางธุรกิจ สามารถนำไปใช้ได้กับ ผู้ผลิต ผู้จัดการ นักการตลาด นักการเงินและบัญชี รวมถึงพ่อค้าขายส่งและขายปลีก เช่น

@ ทางด้านการเงิน : ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเงินโดยตรง เช่น การจัดการธนาคาร บริษัทเงินทุน การค้าหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงการดำเนินงานด้านการเงินขององค์กรธุรกิจ
@ ทางด้านการผลิต : การจัดตั้งโรงงาน ทำเลที่ตั้งของอุตสาหกรรม การปลูกสร้างอาคาร ระบบการสื่อสารภายใน การควบคุมการผลิต การกำหนดวิธีการผลิต
@ ทางด้านการตลาด : ทำเลค้าขาย ราคา การส่งเสริมการขาย ส่วนแบ่งทางการตลาด พฤติกรรมของผู้บริโภค




 

Create Date : 07 พฤศจิกายน 2552
12 comments
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2552 9:31:18 น.
Counter : 22195 Pageviews.

 

ขอบคุนคัพ

 

โดย: ม่อนจัง IP: 192.168.77.70, 61.19.69.59 8 พฤศจิกายน 2552 17:17:07 น.  

 


ขอบคุณมากค่ะ
มีประโยชน์มาก
พอดีกำลังจะสอบ

 

โดย: น้ำฝน IP: 114.128.55.46 15 กุมภาพันธ์ 2553 10:37:34 น.  

 

ขอบคุณนะคะ จะเอาไปเขียนรายงานแก้ I

 

โดย: หนูน้ำ IP: 202.176.96.86 3 ตุลาคม 2553 12:51:59 น.  

 

ยินดีค่ะ ขอให้สอบได้นะคะ

 

โดย: อ.หน่อย (Benjawan_B ) 5 ตุลาคม 2553 12:32:30 น.  

 

ถ้าหนูน้ำยัง I ไม่หยุด แนะนำให้กินยาแก้ I ตราตะขาบ 10 ตัวค่ะ

 

โดย: อ.หน่อย (Benjawan_B ) 8 ตุลาคม 2553 9:25:28 น.  

 

ขอบคุณที่แบ่งปัน ติว

 

โดย: swkt (tewtor ) 12 เมษายน 2554 0:09:40 น.  

 

ขอบคุณมาก

 

โดย: ซากุระ IP: 125.27.28.78 20 มิถุนายน 2554 10:22:33 น.  

 

เจ๋งอ่ะ

 

โดย: ขวัญ IP: 27.55.161.66 27 ธันวาคม 2555 0:09:34 น.  

 

ขอความรู้ครับว่าเมื่อใดธุรกิจ หรือนักธุรกิจต้องทำวิจัย

 

โดย: ณัฎฐ์ IP: 101.109.113.28 9 เมษายน 2556 10:25:08 น.  

 

การทำวิจัยธุรกิจสามารถทำได้ตลอดช่วงเวลาที่ต้องการ ในกรณีที่อยากจะขยายธุรกิจ ธุรกิจมีแนวโน้มที่ขาดทุน หรือ เริ่มธุรกิจใหม่ แต่ถ้ามองตาม business life cycle ก็สามารถวิเคราะห์ใด้ทุกวงจร อย่าลืมนะคะว่าธุรกิจเราไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม และการแข่งขันค่ะ

 

โดย: อ.หน่อย (Benjawan_B ) 11 เมษายน 2556 13:13:27 น.  

 

แล้วความเป็นมาละคร๊ มีความเป็นมาอย่างไร

 

โดย: nook IP: 110.168.185.154 29 เมษายน 2558 20:16:49 น.  

 

ความเป็นมาหมายถึงการเล่าประวัติของธุรกิจ ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใครเป็นผู้ก่อตั้ง มีแรงบันดาลใจอย่างไรค่ะ

 

โดย: อ.หน่อย (Benjawan_B ) 7 มิถุนายน 2558 12:18:27 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Benjawan_B
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 93 คน [?]




วิทยากร, ที่ปรึกษาธุรกิจ ด้านการบริหารและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRM & HRD), การบริหารความเสี่ยงองค์กร, การจัดการมาตรฐานแรงงาน, กฎหมายแรงงาน,เขียนหนังสือและบทความ
New Comments
Friends' blogs
[Add Benjawan_B's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.