มรกตนาคสวาท : แมวๆ พิคเจอร์

ขอได้รับความขอบคุณจากแมวๆ พิคเจอร์เช่นเคยค่ะ
<<
เมษายน 2548
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
9 เมษายน 2548
 
 
...สงกรานต์ที่บ้านเกิด -- เมื่อปีกลาย...





++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++



ปีนี้ไม่มีโอกาสกลับบ้านในวันสงกรานต์เหมือนทุกๆ ปี ด้วยหลายๆ เหตุผล

แต่ด้วยความคิดถึงบ้าน เลยขอเก็บภาพงานสงกรานต์ที่บ้านเกิดเมื่อปีกลาย มาฝากทุกๆ ท่านที่เข้ามาอ่านบล็อกของผีเสื้อแสนดีค่ะ

ภาพอาจไม่ค่อยคมชัด เพราะตอนนั้นยังถ่ายภาพไม่เก่ง แล้วก็ถ่ายในสภาพแสงน้อยโดยไม่ใช้แฟลชด้วยค่ะ

เชิญอ่านตามอัธยาศัยค่ะ


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++




สงกรานต์เป็นงานบุญใหญ่ของคนไทยดั้งเดิมค่ะ
ดังนั้นจึงเข้าใจได้ว่าเหตุใด ลูกจ้างหรือคนงานของท่านจึงพยายามจะลากลับบ้านวันนี้ให้ได้

สงกรานต์ปรกติมีสามวัน คือ 13-15 เมษายนค่ะ

แต่เราต้องเตรียมตัวกันตั้งแต่วันที่ 12
เพราะว่าที่บ้านข้าพเจ้าจะต้องเตรียมทำขนมกวน (กาละแม) ซึ่งเป็นอาหารประจำเทศกาลสงกรานต์
ทุกบ้านต้องมีขนมกวนไปตักบาตรในวันนี้ บ้านไหนไม่มีถือว่าผิดธรรมเนียม
ส่วนมากจะกวนกันเองใต้ถุนบ้าน บางทีก็รวมกันหลายๆ บ้านมากวน
ปีที่ผ่านมาแม่ข้าพเจ้า กวนขนมกวนเอง มีน้องชายสองคนเป็นผู้ช่วยค่ะ
แต่ข้าพเจ้ากลับบ้านทีหลัง ไม่ได้ถ่ายรูปไว้จ้า

อ่า อันนี้ศาลาการเปรียญของวัดในหมู่บ้านค่ะ





จริงๆ เย็นวันที่ 12 จะเป็นวันแรกที่เขาก่อพระทรายกันด้วยค่ะ

ปรกติที่หมู่บ้านจะก่อกองทรายกองเดียวเป็นเจดีย์ใหญ่
แต่ปีที่แล้วนี้ไม่รู้เป็นไง มีแนวคิดใหม่ ก่อเป็นหลายกอง
เหมือนจะบอกว่า เริ่มมีความขัดแย้ง อิอิ

ถ่ายภาพนี้ตอนเช้าที่ไปวัดค่ะ

ที่หมู่บ้านจะมีการเล่นเพลง "พิษฐาน" หลังจากก่อพระทรายเสร็จแล้วด้วยค่ะ
ไม่เคยได้ยินใช่ไหมหละ
อิอิ
ไม่ร้องให้ฟังหรอก





อย่างไรก็ตาม วันที่ 13 แม้จะเป็นการทำบุญใหญ่ แต่นอกจากการตักบาตรด้วยขนมกวนแล้วก็ไม่มีอะไรพิเศษมาก

ตอนเช้าก็ไปทำบุญกันที่วัด ตอนเย็น ก็ไปก่อพระทรายเป็นวันที่สองค่ะ

ภาพนี้คือ โบสถ์ของที่วัดในหมู่บ้านค่ะ



วันที่ 14 เป็นวันเนา ก็เหมือนวันรวมญาติ คือ พี่น้องทุกคนกลับมาอยู่บ้าน
ช่วยกันทำความสะอาดบ้าน แล้วก็เตรียมทำอาหารพิเศษสำหรับไปวัดในวันที่ 15

ตอนเช้าวันที่ 14 ก็มีงานตักบาตรที่วัดนะคะ แต่ว่า อาจจะไม่สำคัญเท่าวันอื่นๆ
เพราะอาหารที่นำไปตักบาตรก็เป็นอาหารธรรมดา ไม่มีอะไรที่ต้องปรุงเป็นพิเศษ


แต่อาหารที่ต้องนำไปตักบาตรเป็นพิเศษในวันที่ 15 ที่ทำให้ทั้งครอบครัวต้องมานั่งเตรียมอาหารร่วมกันก็คือ
๑. ข้าวเหนียวหน้าปลาเกลือ
๒. หอมทอด (หอมแดงจักเป็นรูปดอกไม้ชุบแป้งผสมปลาเค็มตำละเอียด ทอดในน้ำมันร้อนๆ ค่ะ)


ในภาพคือ ข้าวเหนียวหน้าปลาเกลือที่เตรียมใส่จานสำหรับไปตักบาตรในวันพญาวันค่ะ

ปีกลายกลับไปช่วยแม่หั่นหอมชุบแป้งทอดคลุกปลาเค็ม จนแสบตา

เมื่อก่อน เขาจะจักหัวหอมเป็นดอกไม้นะคะ
แต่แม่บอกว่า มันจะช้าไป
ให้ข้าพเจ้าหั่นแบบซอยเอาเลยแล้วกัน

ขอบอกว่า อร่อยมากๆ




เย็นวันที่ 14 มีการก่อพระทรายอีกวัน

ตอนกลางคืนวันเนา เราต้องเตรียมโกศกระดูกปู่ย่าตายายหรือญาติที่เสียชีวิตแล้วออกมาขัดให้ขึ้นเงาวับ
เพื่อเตรียมนำไปทำพิธีมาติกาบังสุกุลอ้ะค่ะ และนี่แหละ คือส่วนที่สำคัญที่สุดของการทำบุญสงกรานต์

นอกจากนี้ก็ยังต้องเตรียมการหว่านทาน เพราะการทำบุญในวันพญาวัน ต้องมีการหว่านทานด้วยค่ะ

ทานที่เตรียมไว้หว่าน เป็นแบบนี้ค่ะ



เอาล่ะค่ะ เตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว เช้ามืด วันที่ 15 ก็ตื่นมาเตรียมทำบุญตอนเช้า

นี่ค่ะ การจัดเตรียมอุปกรณ์ทำบุญ แบบชาวบ้านนอกอย่างเรา

ตอนนี้พร้อมที่จะเดินทางไปวัดแล้วค่ะ



ต้องเตรียมช่อดอกไม้ไปวัดด้วย
แต่ไม่ต้องสวยเลิศเลอค่า เอาที่มีในหมู่บ้าน ที่ปลูกเองที่บ้านก็ได้

ไม่ได้ประกวดกันนี่คะ ทำด้วยใจล้วนๆ ค่ะ



อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมไปวัดอีกอย่างที่ขาดไม่ได้ก็คือนี่ค่ะ อุปกรณ์สำหรับกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล



อย่างไรก็ตาม ก่อนออกจากบ้าน ต้องเตรียมอาหารถวายพระภูมิก่อน

ท่านจะได้คุ้มครองคนในบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข




โดยทั่วไปศาลพระภูมิ เป็นศาลเสาเดียวนะคะ
แล้วก็จะตั้งอยู่ที่มุมใดมุมหนึ่งของบ้าน
มีข้อแม้ว่า การตั้งศาลพระภูมิ จะต้องไม่ตั้งในที่ที่เงาของตัวบ้านจะทอดมาทับ
มิฉะนั้นจะเกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัย

บ้านของคนไทยแต่เดิมจะมีแต่ศาลพระภูมิเสาเดียวแบบนี้ค่ะ

แต่ภายหลัง เข้าใจว่า วัฒนธรรมมอญ ที่มีการตั้งศาลเจ้าที่สี่เสาไว้ข้างๆ ศาลพระภูมิ
(โดยมากจะต้องเตี้ยกว่าศาลพระภูมินะคะ)
ได้แพร่หลายไปทุกท้องถิ่นในประเทศไทย
เราจึงมักเห็นภาพศาลพระภูมิตั้งอยู่ใกล้ๆ ศาลเจ้าที่ด้วยค่ะ

แต่ที่บ้านยังเป็นแบบเดิม คือมีแต่ศาลพระภูมิ ตั้งอยู่มุมบ้านด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

การบูชาพระภูมิ ให้จุดธูปเจ็ดดอกค่ะ


อ่า .. ประเพณีที่บ้านค่อนข้างละเอียดเรื่องจำนวนธูปอะค่ะ
ว่าจุดบูชาอะไร กี่ดอก

เช่น ถ้าลอยกระทง ที่บ้านถือว่าบูชาพระแม่คงคา จะใช้ธูป สองดอก
ไม่เหมือนที่อื่นๆ ที่จะจุดธูปสามดอกในกระทงอ้ะค่ะ






ได้เวลาไปวัดแล้วค่า

เนื่องจากงานบุญวันพญาวันเป็นงานบุญที่ใหญ่ที่สุดในรอบปี
(รองจากนี้ คือ งานเทศน์มหาชาติหลังออกพรรษา)

วันพญาวันคือวันปีใหม่ อย่างที่บอกน่ะค่ะ
วันนี้ชาวบ้านจะแต่งตัวด้วยชุดที่สวยที่สุด
ถ้าเป็นไปได้ ก็มักจะเป็นชุดที่ใหม่ที่สุดด้วย
เพราะจะรับกับความเชื่อที่ว่า ปีใหม่จะได้เจอแต่สิ่งดีๆ ค่ะ

ภาพนี้แอบถ่ายคนที่ไปทำบุญที่วัดค่ะ แสงไม่พอ
มือไม่นิ่ง กลัวแม่ดุ ภาพเลยเบลอๆ ค่ะ
คงไม่ว่ากันนะคะ




เมื่อเข้าไปในวัด ต้องแบ่งเงินทำบุญเป็นส่วนๆ
ส่วนหนึ่งคือ "น้ำไหลไฟสว่าง"

เป็นค่าสาธารณูปโภคของวัด คือ ค่าน้ำค่าไฟ

จะลอมบุญ (อีสานว่า ฮอมบุญ หรือ โฮมบุญ ภาษากลางว่า ทำบุญ)
กี่บาทก็ได้แล้วแต่ศรัทธา แต่โดยมากเขามักทำเป็นเลขคู่
ตั้งแต่สองบาทเป็นต้นไป

เคล็ดลับการทำบุญต้องทำให้ครบบาทนะคะ
ไม่งั้นชาติหน้าเกิดมาไม่เต็มเต็งไม่รู้ด้วย

เห็นกรอบกระจกข้างๆ ไหมคะ
อันนั้นเป็นเงินรอมบุญซื้อสบงสรงน้ำพระ
มีการตั้งกล่องนี้เฉพาะวันพญาวันที่จะมีการสรงน้ำพระ
กับวันเข้าพรรษาเท่านั้นค่ะ

ภาพนี้ถ่ายไม่ชัด เพราะแอบๆ ถ่ายอีกแล้วอ้ะ
โดนแม่ว่า บ้าถ่ายรูป ไม่สนใจคุยกะคนอื่นๆ เท่าไร

แงๆ ก็หนูออกจากหมู่บ้านมาตั้งแต่อายุ 17 จะรู้จักใครสักกี่คนเชียว

แถมไม่ค่อยถนัดเข้าเฝ้า เอ๊ย เข้าหาผู้ใหญ่ด้วยอ้ะ
ครูที่คณะก็ดุอยู่บ่อย ๆ
แต่ถ้ากับเพื่อนๆ นะ นอนคุยทั้งคืนก็ยังไหว ถ้าไม่เผลอหลับไปก่อน แหะๆ

ถ่ายภาพ ขัน "น้ำไหล ไฟสว่าง" มาฝากจ้า



การทำบุญที่สำคัญที่สุดของวันพญาวัน คือ การนำกระดูกปู่ย่าตายาย
หรือญาติๆ ที่เสียชีวิตไปแล้ว ไปให้พระสวดมาติกาบังสุกุลที่วัด

นี่แหละ คือสาเหตุสำคัญว่าทำไมคนไทยจะต้องกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์

เขาถือเป็นหน้าที่ของลูกหลานที่ดี ที่ต้องมีความกตัญญูน่ะค่ะ

แต่เนื่องจากในหมู่บ้านมีวัดสองวัด คือหัวบ้าน ท้ายบ้าน

พ่อเป็นหนึ่งในทีมมัคนายก
(คำที่ถูกต้องนะคะ ไม่ใช่ มรรคทายก
เพราะมัคนายก แปลว่าผู้นำทางในพิธีกรรมในวัด)
ของวัดหัวบ้าน หรือวัดเหนือ หรือวัดท่านา
ก็เลยปล่อยพ่อไปปฏิบัติหน้าที่ที่วัดดังกล่าว
ส่วน กะแม่ก็ไปที่วัดใต้ หรือวัดหนองปรือ กันสองคนแม่ลูก

พ่อบอกว่า ตอนมีชีวิตอยู่ ปู่กะย่า มักจะไปทำบุญที่วัดเหนือ
ดังนั้น พ่อจึงอาสาจะนำกระดูกปู่กะย่าไปที่วัดเหนือแทน

อ่า ปล่อยท่านมัคนายกท่านทำหน้าที่ลูกกตัญญูไปเหอะ อิอิ

ส่วนกระดูกตากับยาย ลุง ป้า แล้วก็หลานที่เสียไปแล้วนั้น
อยู่ในความรับผิดชอบของน้า ซึ่งอยู่ในอีกหมู่บ้านหนึ่ง
น้าก็เลยรับผิดชอบนำกระดูกไปที่วัดนั้น


แอบถ่ายภาพกระดูกปู่ย่าตายายชาวบ้านจากวัดใต้ มาแทน

โปรดสังเกตว่า เขาจะมีเทียนขี้ผึ้ง สำหรับจุดตอนสวดมาติกาบังสุกุล
แล้วก็มีสายโยงจากตะกร้าโกศกระดูกไปยังพระที่สวดอยู่ค่ะ



ทีนี้ก็มาถึงทานที่เตรียมไว้หว่าน

การทำบุญที่ขาดไม่ได้อีกอย่างของวันพญาวันก็คือ การหว่านทาน

ที่นี่มีประเพณีการหว่านทานแค่สองครั้งเท่านั้นในรอบปี
คือ
๑. เมื่อมีการบวชพระ ตอนที่นาคจะเข้าโบสถ์ นาคต้องหว่านทาน
๒. วันพญาวัน ไปวัดต้องเตรียมทานเป็นเงินไปหว่านทานด้วย

แต่เดิม การหว่านทานทั้งสองครั้งนี้ มักจะเอาเงินเหรียญเสียบเข้าไปในผลมะเดื่อ
หรือตะโกดิบ แต่หลังๆ หาเจ้าสองผลนี่ยากเต็มที
เลยใช้วิธีห่อกระดาษแก้วกระดาษของขวัญ หรือถุงพลาสติกใสแทน

อันนี้ของที่บ้านค่ะ ห่อละสามบาทเชียวนะนั่น อิอิ ห่อเองกะมือ

มีความเชื่อของบางคนด้วยว่า หากเก็บทานที่คนอื่นหว่านมา
จะต้องมีการใช้หนี้ เช่นไปทำงานรับใช้ หรือรับภาระบางอย่างแทน
ที่บ้านเลยถือเรื่องนี้มากๆ แม่สั่งว่าไม่ให้เก็บทานใคร ให้หว่านได้อย่างเดียว
แต่บางคนก็ถือว่า เงินทานที่เก็บได้นี้ คือขวัญถุง ถ้าเก็บได้จะโชคดีและมีเงินมีทองไปตลอดปีค่ะ

ป้าคนนี้กำลังหว่านทานค่ะ

โดยปรกติมักจะหว่านทานไปด้านหลังนะคะ
เพื่อที่จะได้เป็นการให้ทานโดยไม่จำเพาะเจาะจงผู้รับ

แต่ตอนที่ข้าพเจ้าถ่ายๆ รูปอยู่นะ
โดนทานที่เขาหว่านเข้าที่หัวดังป๊อก

เจ็บชะมัด หัวแทบปูด

อ่า ลืมๆๆ เขาจะเริ่มหว่านทานกันตอนที่พระสวด สพฺพีตีโย วิวชฺชนฺตุสพฺพโร โก... นะคะ



ภาพต่อไป
เมื่อตักบาตรทำบุญรับพรพระเรียบร้อยแล้ว
ชาวบ้านบางคนที่ไม่อยากออกมาสรงน้ำพระตอนบ่าย
ซึ่งจะมีทั้งสรงน้ำพระพุทธรูป และสรงน้ำพระภิกษุ
รวมทั้งสรงน้ำต้นโพ และซุ้มสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในวัด

เนื่องจากตอนบ่ายอากาศร้อนจัด ก็เลยสรงน้ำพระตั้งแต่ตอนนี้เลย

ในภาพชาวบ้าน (นางแบบถ้าจำไม่ผิดชื่อน้องชมพู่)
กำลังสรงน้ำพระพุทธรูปเก่าแก่ประจำวัด ชื่อ หลวงปู่ดู่ ค่ะ

อ่า โพสต์ภาพหลวงปู่แบบนี้ จะเป็นอันตรายแก่องค์หลวงปู่ไหมเนี่ย




ภาพต้นโพเก่าแก่ภายในวัดค่ะ



ส่วนภาพนี้เป็นภาพต้นลั่นทมในวัดค่ะ
อันที่จริงดอกลั่นทมก็สวยนะคะ แต่คนถ่ายภาพ ถ่ายไม่สวยอ้ะ ขอสุมา




ภาพสุดท้ายของการทำบุญวันสงกรานต์ เมื่อปีกลาย
คือ การรดน้ำดำหัวพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ยังมีชีวิตอยู่ค่ะ

ถือเป็นประเพณีปฏิบัติว่า หลังจากทำบุญปีใหม่มาครบสามวัน คือ วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันพญาวันแล้ว

แม่บ้านมีหน้าที่เตรียมเย็บบายศรีนมแมว (บายศรีตัวเล็กๆ น่ะค่ะ)
เตรียมน้ำมะกรูดส้มป่อย หรือซอมป่อย และเตรียมด้ายผูกข้อมือผู้มารดน้ำดำหัว ใส่ไว้ในพาน

จากนั้น ลูกๆ ทุกคน จะต้องนำพานนี้ไปรดน้ำดำหัว พระพุทธรูปทั้งหมดที่อยู่ในบ้าน

อ่า ที่หมู่บ้านทุกบ้านจะมีพระพุทธรูปประจำบ้านอยู่แล้ว และจะต้องนำพระดังกล่าว มาอาบน้ำจริงๆ ก่อน โดยการใช้น้ำสะอาดล้างเช็ดถูองค์พระให้สะอาด
จากนั้นจึงสรงน้ำด้วยน้ำมะกรูดส้มป่อย แล้วกราบสามครั้ง

ต่อไปก็จะเป็นการอาบน้ำกระดูกปู่ย่าตายาย
ก็ใช้วิธีเดียวกัน คือ เปิดโกศกระดูกแล้วทุกๆ คนก็ประพรมน้ำมะกรูดส้มป่อยลงไป
จากนั้นจึงกราบหนึ่งครั้ง ไม่แบมือ

แล้วก็ถึงขั้นตอนของการรดน้ำดำหัวพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ยังมีชีวิตอยู่

ถ้าพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายแก่มากๆ ก็ต้องมีการอาบน้ำให้ท่านจริงๆ โดยการเตรียมน้ำสะอาดอาบให้ท่านที่นอกชานบ้าน แล้วเตรียมผ้านุ่งผืนใหม่ ผ้าขาวม้าผืนใหม่ไปให้ท่านด้วย

อาบน้ำจริงๆ เสร็จแล้ว จึงถึงขั้นตอนของการอาบด้วยน้ำมะกรูดส้มป่อย

ท่านผู้ใหญ่ก็จะผูกข้อมือรับขวัญ โดยที่หมู่บ้านจะต่างจากที่อื่นๆ คือ
จะใช้ด้ายขาวแดง ผูกข้อมือสำหรับปีใหม่
ในขณะที่การผูกข้อมือรับขวัญงานอื่นๆ จะใช้ด้ายขาวเท่านั้นค่ะ


นอกจากผูกข้อมือแล้ว พ่อแม่ปู่ย่าตายายบางคนอาจจะมอบเงินก้นถุงให้แก่ลูกๆ ด้วย
นัยว่า จะได้มีเงินเยอะๆ ไปตลอดปีค่ะ

ที่บ้านข้าพเจ้า ปู่ย่าตายายเสียชีวิตไปหมดแล้ว ก็เหลือแต่พ่อแม่ น้าสาว น้าเขย อำ (อาผู้ชาย) อาสะใภ้ แล้วก็น้าชาย น้าสะใภ้

แต่อำ อา แล้วก็น้าๆ บอกว่า เพิ่งอายุห้าสิบกว่าๆ ยังไม่แก่ ไม่ต้องดำหัว

เลยได้แต่ดำหัว แม่ พ่อ น้าสาว น้าเขย เท่านั้นค่ะ

ไม่ได้ถ่ายพานมงคลมานะคะ
แต่ถ่ายภาพด้ายผูกข้อมือมา



เห็นชัดเลยค่ะ ว่าสีขาวแดง แบบนี้ อิมพอร์ตจากบ้านหนองตาชื่น หนองบัวใต้ แน่ๆ

อ้อ ด้ายนี้ห้ามแกะออกจนกว่าจะหลุดไปเองด้วยนะคะ
ไม่งั้นเขาว่าจะขึด และไม่ดี

นอกจากเตรียมด้ายผูกข้อมือแล้ว แม่บ้านยังต้องเตรียมด้ายขาวแดงนี้ สำหรับผูกเสาเอกของเรือน และเครื่องมือเครื่องใช้ทุกอย่างในบ้านด้วย

ก่อนผูกก็ต้องไม่ลืมประพรมน้ำมะกรูดส้มป่อยก่อนค่ะ


สุดท้าย ฝากภาพพระอาทิตย์ตกที่บ้านนอกเมื่อสงกรานต์ปีที่แล้วไว้ให้ชมกันเล่นๆ ค่ะ





หวังว่าเรื่องและภาพในบล็อกที่ยาวที่สุดของข้าพเจ้านี้ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ ในแง่การเปิดรับความรู้บางอย่างบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ


ขอบพระคุณที่ติดตามค่ะ






Create Date : 09 เมษายน 2548
Last Update : 20 พฤษภาคม 2548 11:33:03 น. 16 comments
Counter : 5387 Pageviews.

 
ถ่ายรูปสวยจังครับ
ขอให้มือใหม่ศึกษาไว้เป็นแบบอย่างนะครับ


โดย: น้ำพริกหมูแดง วันที่: 9 เมษายน 2548 เวลา:4:05:27 น.  

 
นี่ขนาดตอนถ่ายภาพไม่ค่อยเก่งนะคะ




...


โดย: ขอบคุณที่รักกัน (blueberry_cpie ) วันที่: 9 เมษายน 2548 เวลา:6:42:26 น.  

 
ได้รับรู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ครับ...


แต่อยากเห็นด้วยตา สัมผัสด้วยมือ
กับวิถีชีวิต ที่สงบไม่วุ่นวาย
ความเป็นอยู่ที่ไม่ใช่การแสดง
ประเพณีที่คนเมืองไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็น



ไม่รู้จะยังมีโอกาสอยู่หรือเปล่า


โดย: P'หมอน IP: 61.90.4.75 วันที่: 9 เมษายน 2548 เวลา:7:52:23 น.  

 
รูปสวยจังค่ะ


เขียน Blog ยาวดีจังเลยค่ะ ^^


โดย: ฮิปโปปาร์ตี้ วันที่: 9 เมษายน 2548 เวลา:13:53:56 น.  

 
ดีจังค่ะ เขียนเล่าเรื่องราวได้ดีจัง...
ภาพสวยอีกต่างหาก
อ่านแล้วรู้สึกดี
เป็นคนบ้านนอกเหมือนกันค่ะ ^^
อ่านแล้ว อยากกลับบ้านจัง
ภูมิใจจริงๆที่เป็นคน"บ้านนอก"
...อิอิ


โดย: แครอทเค้ก วันที่: 9 เมษายน 2548 เวลา:13:56:43 น.  

 
ได้ความรู้มั่ก


โดย: suparatta IP: 202.57.166.234 วันที่: 9 เมษายน 2548 เวลา:14:30:26 น.  

 
ได้ความรู้จังค่ะ
ภาพก็สวยมาก


โดย: prncess วันที่: 9 เมษายน 2548 เวลา:15:27:53 น.  

 
มาอ่านแล้วได้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีกลับไปเยอะแยะเลยครับ รูปประกอบสวยงามด้วย :D

สงกรานต์นี้ทำให้ญาติพี่น้องจากทุกสารทิศกลับมาเจอกันพร้อมหน้าพร้อมตาที่บ้านเกิดนะครับเนี่ย คงเป็นเวลาที่ญาติผู้ใหญ่รู้สึกอบอุ่นและชื่นใจมาก

ปีนี้ผมไปเที่ยวหัวหินกันทั้งครอบครัวน่ะครับ นานๆทีจึงจะได้ไปเที่ยวทะเลกันพร้อมหน้าพร้อมตา ยิ่งพอผมอยู่มหาลัยแล้ว เรียนหนัก กิจกรรมเยอะ นี่ แหะๆ... เสาร์อาทิตย์ยังแทบไม่ได้พักเลย

ต้องขอขอบคุณย้อนหลังสำหรับความรู้เรื่อง ที่มาของชื่อถนนพระอาทิตย์และท่าพระจันทร์ที่ผมเคยไปตั้งถามไว้ในpantip.comด้วยนะครับ :D
สุดท้ายมันกลายเป็นภาพชุดนี้ครับ

//www.pantip.com/cafe/gallery/topic/G3360621/G3360621.html


โดย: EncodeO วันที่: 9 เมษายน 2548 เวลา:19:12:04 น.  

 
วิถึไทย...

ช่างงดงามเป็นเอกลักษณ์ยากที่จะหาใครเทียมได้...

ขอบคุณมากครับสำหรับเรื่องราวดีๆ


โดย: ตะเกียงลาน วันที่: 11 เมษายน 2548 เวลา:10:04:57 น.  

 
vbvb


โดย: ws=soj IP: 203.146.239.195 วันที่: 11 เมษายน 2548 เวลา:15:05:20 น.  

 
เพิ่งรู้ค่ะว่ามีด้ายแดงขาวสำหรับปีใหม่ด้วย ......


โดย: เปา โรซ่าค่ะ IP: 61.90.5.120 วันที่: 12 เมษายน 2548 เวลา:23:18:54 น.  

 
มือสั่นไปหน่อย ให้นิ่งๆจะดีกว่านี้


โดย: หมาร่าหมาหรอด วันที่: 13 เมษายน 2548 เวลา:17:23:05 น.  

 
อ่านแล้วอยากไปวัด
ขอบคุณที่เอาภาพและเรื่องราวดีๆมาถ่ายทอด
ให้ได้ชมค่ะ

ทำให้ถามตัวเองว่านานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้ไปวัด
และทำบุญ



โดย: อยู่ไกลบ้าน IP: 210.18.17.50 วันที่: 14 เมษายน 2548 เวลา:12:02:04 น.  

 
มาสาดน้ำวันสงกรานต์ค่ะ ปะแป้งด้วย เย็นชุ่มฉ่ำๆ ^^





...


โดย: ขอบคุณที่รักกัน (blueberry_cpie ) วันที่: 15 เมษายน 2548 เวลา:12:20:04 น.  

 
ไม่ได้ก่อพระทราย มานานมากแล้วนะคะ เห็นรูปก่อพระทรายแล้ว ทำใคดถึง เมื่อยังเป็นเด้ก ไปวัดกับย่า ทุกปี ตอนน้ย่าไม่อยู่แล้ว ทำให้ ไม่รู้จะไปกับใคร

ขอบคุณน้องแอนที่เอาเรื่องราวดี ๆ มาแบ่งปันนะคะ

ระลึกถึงน้องแอนเสมอค่ะ อย่าลืมแวะไปทักทายป้าอ้อ และพี่ใช่ฯ ที่หัวใจเดินทางบ้างนะคะ


โดย: อ้อแอ้เอง วันที่: 15 เมษายน 2548 เวลา:21:56:52 น.  

 


โดย: นันค่ะ IP: 222.123.140.56 วันที่: 19 สิงหาคม 2550 เวลา:0:14:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 

มรกตนาคสวาท
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




มายาแห่งมาหยา

ยินดีต้อนรับ...

สู่

บล็อกคนชอบถ่ายรูปฝีมือธรรมดาๆ
หน้าตาไม่ดี นิสัยไม่ดี
งานเยอะ ไม่มีเวลาพูดเล่นกับใคร
ไม่ประสงค์จะสนิทสนมกับคนแปลกหน้า




ผีเสื้อ
ชรัส เฟื่องอารมณ์



.....ผีเสื้อตัวน้อยน้อย
บินล่องลอยกลางพนาไพร
โผผินร่อนบินระเริงใจ
คลุกเคล้าดอกไม้ใจชื่นบาน



แสงแดดยามสายสาย
งามพร่างพรายต้องสายธาร
ฉาบทองเมื่อมองแสนตระการ
ผีเสื้อสุขสราญนะเจ้าเอย



***...ท้องฟ้าสีอำพัน
ผีเสื้อสุขสันต์มากเหลือ
เจ้าไม่คิดไม่ต้องหวัง
ดอกไม้ยังกูลเกื้อ
แสงแดดจุนเจือชีวี...



...อยากจะเป็นผีเสื้อตัวน้อย
บินล่องลอยเสรี
สีสันดุจอัญมณี
สุขใดหรือจะมีเช่นผีเสื้อ



***...ท้องฟ้าสีอำพัน
ผีเสื้อสุขสันต์มากเหลือ
เจ้าไม่คิดไม่ต้องหวัง
ดอกไม้ยังกูลเกื้อ
แสงแดดจุนเจือชีวี...



...อยากจะเป็นผีเสื้อตัวน้อย
บินล่องลอยเสรี
สีสันดุจอัญมณี
สุขใดหรือจะมีเช่นผีเสื้อ

... สุขใดหรือจะมีเช่นผีเสื้อ...




เพลงผีเสื้อ




งานที่มีการเขียนลงบน WEB SITE แล้วส่งผ่านอินเตอร์เนตนั้นถือว่าเป็น สิ่งเขียนซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของงานวรรณกรรม ดังนั้นย่อมได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (มาตรา 15) หากผู้ใดต้องการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน มิฉะนั้นจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ (มาตรา 27) การดัดแปลงงานจากอินเตอร์เนตเป็นภาษาไทย จึงต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นการคุ้มครองอัตโนมัติ เจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้สร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิตามกฎหมายลิขสิทธิ์

ที่มาของข้อความ:เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา







New Comments
[Add มรกตนาคสวาท's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com