มหาสมุทรสีเทาขาว ล้ำลึกเหลือคณา

โอ้ละหนอ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Group Blog
 
 
ตุลาคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
31 ตุลาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add โอ้ละหนอ's blog to your web]
Links
 

 
พี่คะ พี่ขา พี่น่ะแหล่ะ .. มา "ดม" หนูหน่อย .. {PHEROMONES}

วันนี้จะมานำเสนอเรื่องราวที่เราคุ้นหู แต่ไม่ค่อยรู้กันค่ะ



...... ฟีโรโมน ......



ฟีโรโมน ( Pheromone ) คืออะไร

เมื่อ ค.ศ. 1959 Peter Karlson และ Martin Luscher ศึกษาสารเคมีบางอย่างที่พวกแมลงปล่อยออกมานอกร่างกายแล้วดึงดูดเพศตรงข้ามให้เข้ามาหาได้ จึงตั้งชื่อสารดังกล่าวว่า Pheromone โดยฟีโรโมนชนิดแรกที่สกัดจาก silk moth ตัวเมีย (Bombyx mori) เลยให้ชื่อสารว่า Bombykol เป็นสารที่หลั่งจากผีเสื้อตัวเมีย เพื่อดึงดูดผีเสื้อตัวผู้


ฟีโรโมน ต่างกับ ฮอร์โมน ตรงไหน?

ฟีโรโมน หมายถึง
สารเคมีที่สร้างออกมานอกร่างกาย จากต่อมมีท่อ (Exocrine gland) แล้วสามารถไปมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและสรีรวิทยาในสัตว์ตัวอื่นที่เป็นสัตว์ชนิดเดียวกันได้

ฮอร์โมนสร้างจากต่อมไร้ท่อ (Endocrine gland)
มีผลทางสรีรวิทยาเฉพาะแต่ภายในร่างกายของสัตว์เท่านั้น ส่วน ฟีโรโมนจะไปมีผลต่อสัตว์ตัวอื่นที่เป็นชนิดเดียวกัน


ฟีโรโมนมีระบบการจำแนกหลายระบบ อาจจำแนกเป็น 2 ชนิด ตามความเร็วของปฏิกิริยาของ Pheromone

1. Releaser pheromone

เป็นฟีโรโมนที่มีผลโดยตรงต่อระบบประสาทกลางของสัตว์ที่ได้รับ ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองขึ้นในทันทีทันใด

(Pheromones that induce an immediate modification of the behavior of the receiving individual)

2. Primer pheromone

เป็นฟีโรโมนที่มีผลต่อต่อมใต้สมองส่วนหน้าทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองที่ช้า ต้องกระตุ้นเป็นเวลานานจึงจะเกิดปฏิกิริยาทางสรีรวิทยา

(Pheromones that induce some major modifications of the physiology in the receiving individual)


Pheromone เข้าสู่ร่างกายได้ยังไง?

สัตว์จะได้รับฟีโรโมน 3 ทางด้วยกัน

1. การกิน (Ingestion)

เช่น ผึ้ง นางพญาจะสร้างสารจากต่อมบริเวณระยางค์ของปากส่วน mandible เรียกสารนั้นว่า Queen substance เอาไว้ล่อผึ้งงาน โดยไปยับยั้งรังไข่ของผึ้งงาน ( ผึ้งงานมีเฉพาะตัวเมีย ) ไม่ให้มีการเจริญเติบโตและสร้างรังไข่ จึงไม่มีโอกาสสืบพันธุ์

2. การดูดซึม (Absorption )

พบเฉพาะในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเท่านั้น เช่นแมงมุมบางชนิด และแมลงสาบ

ตัวเมียจะปล่อยฟีโรโมนทิ้งเอาไว้จนกระทั่งตัวผู้มาสัมผัส ก็จะซึมเข้าไปกระตุ้นให้เกิดความต้องการทางเพศ ติดตามหาตัวเมียจนพบและผสมพันธุ์ แต่ในตั๊กแตนตัวผู้จะปล่อยฟีโรโมนทิ้งเอาไว้หลังผสมพันธุ์ เมื่อตัวอ่อนมาสัมผัสฟีโรโมนนั้นก็จะดูดซึมเข้าไปกระตุ้นให้เติบโตเป็นตัวเต็มวัยและสืบพันธุ์ได้

3. ทางการสูดดม (Olfaction)



สัตว์รับรู้ฟีโรโมนผ่านการสูดดมได้อย่างไร?

การรับรู้กลิ่น (Odor) ต่างกับการรับรู้ฟีโรโมนค่ะ

การรับรู้กลิ่น อณูของกลิ่นถูกสูดเข้าไปตามทางเดินหายใจ และตกลงไป ละลายที่เยื่อบุโพรงจมูก ซึ่งมีตัวรับกลิ่น (Olfactory receptor) เปลียนเคมีให้กลายเป็นสัญญาณประสาทแล้วส่งไปประมวลที่สมอง

ส่วนฟีโรโมนยังไม่ทราบกลไกแน่ชัด

แต่มีทฤษฎีว่าสัตว์รับรู้ฟีโรโมนผ่านอวัยวะส่วน Vomeronasal organ (หรือ Jacobson's organ) ซึ่งอยู่ในโพรงจมูก เมื่ออณูของฟีโรโมนถูกสูดดม ฟีโรโมนจะกระตุ้นให้เกิดกระแสประสาท ไปตามเส้นประสาทที่เลี้ยง Vomeronasal organ แล้วตรงไปที่สมองส่วนกลาง

จากรูปจะเห็นว่าเจ้า Vomeronasal organ จะอยู่ใกล้โพรงจมูก ในตำแหน่งค่อนข้างจะลี้ลับอยู่สักหน่อย ดังนั้นในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายประเภท จึงมีพฤติกรรมที่เรียกว่า "Flehmen" เป็น การอ้าปาก เผยอริมฝีปากบน กระดกลิ้น ทำหน้าแหย เพื่อสูดกลิ่น และฟีโรโมนค่ะ



แสดงการเกิด Flehmen ในสัตว์ประเภทต่างๆค่ะ








แล้วในมนุษย์มีพฤติกรรม Flehmen หรือเปล่า ? แล้วถ้าไม่มี ทำไมถึงไม่มีล่ะ มันหายไปไหน ?


Flehmen มาจากภาษาเยอรมันแปลว่าม้วนริมฝีปากบน (curl the upper lip) เป็นลักษณะที่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้นค่ะ จุดประสงค์ที่สัตว์ทำหน้ายิ้มหวานแบบนี้ (แต่เราเรียกว่าหน้า หื่ น) เพี่อให้สารที่บ่งบอกภาวะร่างกายของสัตว์ในปัสสาวะ เช่น ฟีโรโมน หรือกลิ่นที่บอกว่าสัตว์เข้าสู่ช่วงเป็นสัด เข้าไปสัมผัส Vomeronasal organ (หรือ Jacobson's organ) ได้ค่ะ

สัตว์ที่พบว่ามีการทำหน้าแบบ Flehmen ได้ คือ แมว ม้า ควาย เสือ สมเสร็จ สิงโต ยีราฟ แพะ ลามา ฯลฯ

ส่วนคน ถึงแม้จะมี Vomeronasal organ เหมือนกัน แต่คงไม่ได้ใช่ detect ภาวะการเป็นสัดของผู้หญิงหรอกค่ะ (ก็ผู้หญิงไม่มีรอบการติดสัดนี่) หรือถึงมีคงเก็บอาการกันน่าดู

แต่ถ้าคนมีการแสดงออกแบบ Flehmen จริงๆ คง...







แล้วฟีโรโมนหลั่งมาจากไหนล่ะ?

ขอพูดถึงโมเดลที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ สุนัข และแมว แล้วกันนะคะ

แหล่งที่พบว่ามีการปล่อยฟีโรโมน ในสุนัขแมว พบอยู่หลักๆ 6 แห่งค่ะ

1. บริเวณใบหน้า (The facial area)

ทั้งสุนัขและแมว พบต่อมที่มีการหลั่งฟีโรโมนกระจายไปตาม คาง ริมฝีปาก และแก้ม รวมทั้งบริเวณหูด้วย (ที่หูพบในสุนัข)

แมวจะมี facial pheromones 5 ประเภท ได้แก่ F1 - F5
ปัจจุบัน เรารู้แล้วว่าฟีโรโมน F2, F3, และ F4 ทำงานอย่างไร เช่น ..

F2

เป็นฟีโรโมนที่แมวตัวผู้ใช้ประกาศอาณาเขตว่าสาว (แมวตัวเมีย) นางนี้ ข้าจองแล้วนะเฟร้ยยย ในช่วงผสมพันธุ์ ส่วนแมวตัวผู้ที่ตอนแล้ว ฮอร์โมนตัวนี้จะลดลงค่ะ

F3

ใช้สำหรับการสำรวจสภาพแวดล้อม โดยจำแนกวัตถุว่าเป็น วัตถุที่รู้จัก ‘‘known objects’’ และ วัตถุที่ไม่รู้จัก ‘‘unknown objects’’

F4

เป็นฟีโรโมนเพื่อสังคมค่ะ เรียกอีกชื่อว่า “Allomarking pheromone” เป็นฟีโรโมนเพื่อสื่อสารว่าเราเป็นพวกเดียวกันนะ พบในกลุ่มสัตว์ที่อยู่ร่วมกันเช่น ในฝูงแมว การอยู่ร่วมกันในสุนัขและแมว หรือมนุษย์กับแมว โดยส่งผลลดพฤติกรรมก้าวร้าว และการหวงอาณาเขต


พฤติกรรมที่ทำให้ทาสแมวชื่นใจ...
การสี ไม่ใช่การอ้อน แต่เป็นการประกาศว่าหร่อนนน่ะ ทาสในเรือนเบี้ยของชั้น..




2. บริเวณฝ่าเท้า (The pedal complex)

พบฟีโรโมนทั้งที่ฝ่าเท้า (Plantar pads) และผิวหนังระหว่างนิ้ว (Skin of the interdigital region) ในสุนัข และแมว ฟีโรโมนจากบริเวณฯี้จะหลั่งออกมาทำหน้าที่ประกาศอาณาเขต และเป็นสัญญาณเตือนภัย (Alarm pheromones)

โดยจะสังเกตได้ว่าสัตว์จะตะกุย ดิน หรือขอนไม้ เพื่อประกาศอาณาเขต ร่วมกับปัสสาวะ



3. บริเวณต่อมก้น (The perianal complex)

คนเลี้ยงสุนัขบางคนอาจเคยประสบปัญหา (และกลิ่น..มหากาฬ..) สุนัขไถก้นกับพื้น แล้วต้องเอาสุนัขมาให้หมอ (หมา) บีบต่อมข้างก้น เนื่องจากต่อมข้างก้นในสุนัขมักอักเสบบ่อยๆด้วย

หน้าที่ของฟีโรโมนจากต่อมข้างก้นของสุนัข และแมวยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเป็นฟีโรโมนที่สร้างโดยสุนัขตัวผู้จะกระตุ้นสุนัขตัวเมียในช่วงผสมพันธุ์ และเกี่ยวข้องกับการจัดลำดับของสังคมฝูง

ต่อมจ้นน เจ้าปัญหาาา....



4. บริเวณ อวัยวะสืบพันธุ์ (The genital complex)

ต่อมที่สร้างเป็น sebaceous glands ที่หนังหุ้มลิงค์ หรือหนังหุ้มค ลิ ตอริส (Prepuce) หรือที่ vulva และ urethral or genital mucous glands

ในสุนัข ใช้สื่อสารทางสังคม และเพื่อการผสมพันธุ์ โดยสุนัขตัวเมียใช้ดึงดูดตัวผู้ในช่วงผสมพันธุ์


ภาพอันคุ้นเคย เวลาสุนัขดมก้นทักทายกัน จริงๆแล้วเป็นการสื่อสารผ่านกลิ่น

แสดงตำแหน่งของต่อมที่ผลิตฟีโรโมนในสุนัข
1. Labial glands.
2. Auricular glands.
3. Perianal glands.
4. Vulva หรือ Preputial glands.
5. Interdigitous glands.



5. บริเวณ เต้านม (The mammary complex)

เป็นฟีโรโมนที่เพิ่งพบเมื่อเร็วๆนี้ โดยแยกได้ครั้งแรกจากแม่หมู ยังไม่ทราบหน้าที่ของฟีโรโมนที่พบจากบริเวณนี้ แต่คาดว่าน่าจะใช้เพื่อการสื่อสารระหว่างแม่และลูก (โดยเฉพาะการจำแนกกลิ่นของทารกโดยแม่)

ส่วนความรัก ผูกพันจะเกิดจากการทำงานร่วมกันของฮอร์โมนหลายประเภท เช่น Prolactin Oxytocin....

ในสุนัขและแมว ฟีโรโมนที่สร้างจากบริเวณเต้านมจะสร้างหลังคลอด 3 - 4 วัน และยังสร้างต่อไปหลังสัตว์หย่านมแล้ว 2 – 5 วัน
(ลูกสุนักหย่านมอายุ 4 เดือน ลูกแมว หย่านมอายุ 6–12 สัปดาห์)


6. ปัสสาวะ และอุจจาระ (Urine and feces)

ในปัสสาวะ และอุจจาระมีส่วนประกอบของฟีโรโมนที่สร้างจากต่อมในลำไส้ใหญ่ และทางเดินปัสสาวะ และจากการหมักของ
saprophytic bacteria

ปัญหาการประกาศอาณาเขตโดยการสเปรย์ฉี่ เป็นปัญหาหนักอกของเหล่าทาสแมวเป็นอันมาก การสเปรย์ฉี่ในแมวทำเพื่อประกาศอาณาเขต และพบการสเปรย์ฉี่ในแมวตัวเมียเพื่อประกาศให้แมวตัวผู้รู้ว่ากำลังเข้าสู่ช่วงเป็นสัด ซึ่งตัวผู้มักตอบสนองเวลาได้กลิ่นฉี่จากน้องนางด้วยการทำหน้า Flehmen


(อ๊ะ โซฟาใหม่ เอ้า ปรี๊ดดด.. อันนี้ของช้านนะยะ เจ้าทาส)



ในสุนัข จะใช้ปัสสาวะ เพื่อสื่อสารหลายอย่าง เช่น การประกาศอาณาเขต สถานะทางสังคม สภาวะการเป็นสัด และอื่นๆ โดยร่วมกับการตะกุยพื้นดิน เพื่อปล่อยฟีโรโมนที่สร้างจากฝ่าเท้าด้วย


ตำแหน่งรอยฉี่ก็สำคัญ สุนัขตัวใหญ่ จะมีตำแหน่งรอยฉี่สูงกว่าตัวเล็ก




เอิ่ม ... เปรี้ยว จริง ๆ ........ (- _-“)…





แล้วฟีโรโมนของมนุษย์หล่ะ..

ฟีโรโมน สเน่หาจากจุ๊กกูแร้...


แหล่งผลิตฟีโรโมนที่สำคัญของคน อยู่ที่บริเวณรักแร้ ซึ่งมีต่อมต่างๆมากมาย รวมทั้งแบคทีเรียที่เป็น microflora อยู่ด้วย

ส่วนการรับรู้ คาดว่ามนุษย์ใช้ vomeronasal organ (รูปอยู่ คคห. 1 ค่ะ) ซึ่งลดการทำงานและความสำคัญลงเมื่อเทียบกับสัตว์อื่น และอาจทำงานร่วมกับ olfactory system


ตัวอย่างผลของฟีโรโมนในมนุษย์

- McClintock effect (Martha McClintock, of the University of Chicago)

ปรากฎการณ์เหนี่ยวนำให้เกิดประจำเดือนพร้อมกันในกลุ่มผู้หญิงที่อาศัยอยู่ด้วยกัน โดยทำการทดลองโดยใช้กลิ่นเหงื่อของผู้หญิงในช่วงก่อนและ หลังไข่ตกมาให้อาสาสมัครดม และพบว่าวงรอบการเกิดประจำเดือนของกลุ่มอาสาสมัครออกมาใกล้เคียงกัน

- การจดจำทารกโดยใช้กลิ่นระหว่างแม่ กับทารก จากฟีโรโมนที่สร้างบริเวณเต้านม

- การเลือกคู่

กลิ่นอาจช่วยในการเลือกคู่ โดยคาดว่ากลิ่นจะแสดงระบบภูมิคุ้มกัน และมนุษย์มีแนวโน้มที่จะเลือกคู่ที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่ต่างจากตนเอง แสดงถึงความไม่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือด (Disassortative mating)

- พบว่า สมองของ homosexual men จะตอบสนองต่อฟีโรโมนในแบบเดียวกับสมองผู้หญิง (heterosexual women)

และอื่นๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม การทดลองเกี่ยวกับผลของฮอร์โมนต่อพฤติกรรมมนุษย์ยังมีข้อจำกัดอีกหลายด้าน ...


แล้วเราสกัดฟีโรโมนมาใช้ได้หรือยัง ?

ถึงจะมีน้ำหอมที่โฆษณาว่ามีฟีโรโมนผสม แต่ยังไม่มีรายงานที่บอกว่าฟีโรโมนที่สกัดออกมามีผลต่อพฤติกรรมมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญค่ะ


ฟีโรโมนของคนมีกลิ่นหรือไม่ ?

ยังไม่ทราบแน่ชัดค่ะ

การรับรู้ "กลิ่น" เกิดชึ้นได้โดยโมเลกุลของกลิ่นตกลงไปและละลายในเยื่อบุของโพรงจมูก แล้วตัวรับกลิ่น (Olfactory receptor) จะเปลี่ยนสัญญาณจากเคมีกลายเป็นสัญญาณประสาท แล้วส่งไปที่สมองค่ะ

ตอนนี้เราทราบกันแล้วว่า Vomeronasal organ คือ อวัยวะที่รับรู้ฟีโรโมนในสัตว์ และมนุษย์ แต่เพิ่งจะมีการค้นพบว่า "บางส่วน" ของระบบการรับรู้กลิ่นก็ตอบสนองต่อฟีโรโมนได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม กลไกการรับรู้ฟีโรโมนในมนุษย์ยังต้องศึกษาต่อไปค่ะ

เรื่องของการรับรู้กลิ่น ไปอ่านเพิ่มได้ที่นี่ค่ะ
//health.howstuffworks.com/smell.htm


ฟีโรโมนมีเฉพาะผู้หญิงใช่หรือไม่ ?

มีทั้งหญิงและชายค่ะ
ตัวอย่างเปเปอร์ที่บอกว่ากลิ่นตัวชาย (+ฟีโรโมน) มีผลต่อหญิง

Smelling a single component of male sweat alters levels of cortisol in women //www.jneurosci.org/cgi/content/full/27/6/1261



อ่าสสส์... กลิ่นฟีโรโมน หอมชื่นนนนจายยยยย....






จบแล้วค่ะ


ที่ม๊า ที่มา...

1. //en.wikipedia.org/wiki/Pheromone

2. Pageat P, Gaultier E. Current research in canine and feline pheromones. Vet Clin North Am Small Anim Pract. 2003 Mar;33(2):187-211.

3. Wysocki CJ, Preti G. Facts, fallacies, fears, and frustrations with human pheromones. Anat Rec A Discov Mol Cell Evol Biol. 2004 Nov;281(1):1201-11

4.//www.vet.ku.ac.th/std/CAI/physio/47/anim_behav/wn/lesson_5_47.PPT

5.//web.bangmod.ac.th/NewsBoard/view_news.asp?



3 ต.ค. 52 01:15:54




Create Date : 31 ตุลาคม 2552
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2553 15:16:12 น. 1 comments
Counter : 7386 Pageviews.

 


โดย: หน่อยอิง วันที่: 31 ตุลาคม 2552 เวลา:20:09:58 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.