62. งานก่อสร้างบ้าน(24) : งานบันได ตอนที่1 งานโครงสร้างบันได


      เคยเกริ่นมานานสำหรับเรื่องงานบันได วันนี้งานคืบหน้าไปส่วนหนึ่งแล้วครับ เลยได้ฤกษ์เขียนตอนแรกสักที ซึ่งก็จะเกี่ยวกับที่มา และงานโครงสร้างบันได เพราะถ้าจะรอจนงานเสร็จสมบูรณ์ ก็คงต้องรอบ้านเสร็จ เพราะงานพวกติดราวบันได Accessory ต่างๆ เอาไว้โน่นเลยครับ ตอนทุกอย่างในบ้านเสร็จหมด ซึ่งคงอีกสักสองเดือน

     ที่ผมต้องแยกเขียนเรื่องงานบันได เพราะบันไดบ้านผมเรียกได้ว่าเป็นบันไดโชว์ของบ้าน เป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปัตย์ของบ้านด้วยครับ เป็นบันไดโครงเหล็กทั้งหมด ไม่ใช่บันได คสล.ทั่วๆไป ทำให้ต้องแยกมาทำต่างหากจากโครงสร้างของบ้าน ก็มีปัญหาต่างๆหลายอย่างที่ผมจะเล่าให้ฟัง และบันไดอีกอันคือบันไดปูนเปลือยทางขึ้นระเบียงห้องโฮมเธียเตอร์นอกบ้าน ตรงนี้ก็ต้องแยกทำต่างหากเช่นกันครับ โดยผมจะเล่าเรื่องบันไดหลักในบ้านก่อนนะครับ

    บันไดหลักของบ้านผมที่เลือกจะใช้บันไดโครงเหล็กเพราะผมกับแฟน ได้ไปดูบ้านโครงการณ์นึงมาครับ สิ่งที่สะดุดตาเลยคือบันไดบ้าน


นี่เลยครับ บันไดตัวปัญหา ยั่วกิเลสผมกับแฟนเลย

    เห็นบันไดบ้านนี้ปุ๊บ Love at First Sight เลยครับ ตั้งธงเลยว่าทำบ้านขอแบบนี้ กอรปกับบ้านผมมันเป็นโถงโล่งอยู่แล้ว เลยได้โอกาสให้สถาปนิกใส่บันไดลักษณะนี้ลงไปเลยครับ จริงถ้าเรา Google หาก็จะเจอเยอะมากเลยนะครับ บันไดโครงสร้างเหล็ก ใครสนใจก็ลองหาแบบสวยๆ แล้วให้สถาปนิกออกแบบมาให้เหมาะกับบ้านเราได้ครับ

    เนื่องจากบันไดนี้โครงสร้างเป็นเหล็กทั้งหมด ทำให้ตอนทำงานโครงสร้างบ้านไม่ต้องทำ คสล. ไว้รองรับตัวบันไดครับ แต่ต้องทำคานมารับเพลตเหล็ก ไม่งั้นไม่มีที่ยึด ปกติการสร้างบ้านทั่วไป บันไดจะทำหร้อมเทพื้นชั้นสอง แต่บ้านผมกว่าจะทำบันได ปาไปโน่นน โครงสร้างเสร็จหมดแล้ว จะขึ้นชั้นสองทีต้องขึ้นทางนั่งร้านทางเดียวกับช่าง ขึ้นลงทีต้องระวัง กว่าจะขึ้นทางบันไดหลักได้...เรามาดูงานโครงสร้างกันครับ

แบบโครงสร้างของบันได


    ด้านบนเป็นแบบโครงสร้างของบันได แบ่งเป็นสามช่วงตัว U ช่วงแรก 5 ขั้น ช่วงที่สอง 8 ขั้น และช่วงที่สาม 5 ขั้น ซึ่งจะใช้เหล็กบีมรูปตัว I สามส่วน แล้วยึดกับคานด้วยเพลตครับ ตรงนี้เองที่มีปัญหาอันดับแรก เพราะระยะของเหล็กบีม และเพลตยึด จะอยู่ในแบบโครงสร้าง ซึ่งมันจะฝังไปในคาน แต่ระยะของงานสถาปัตย์บันได (พวกลูกนอน เพลตลูกนอน ชานพัก) มันอิงระยะ Finishing ปูนก่อฉาบครับ


นี่เป็นแบบสถาปัตย์บันได อิงระยะ Finishing


  ปัญหาก็เกิดตรงที่ระยะลูกนอนกับชานพักจะหายไปประมาณ 5 เซนครับ (ระยะฝังเพลต+ระยะปูนฉาบ) ซึ่งกว่าจะรู้ปัญหา ผรม.ก็ติดตั้งโครง I beam ไปหมดแล้ว มาดูรูปกันครับ


โครง I beam ที่เตรียมมา และเพลตรับลูกนอน



ก่อนติดตั้ง ก็ต้องถ่ายระยะเข้าผนังก่อนครับ ว่าบีมอยู่ตรงไหน ลูกนอนอยู่ตรงไหน



ฝังเพลตหลักเข้ากับคาน ตรงนี้ก็ต้องออกแบบคานไว้ก่อนตั้งแต่แรกนะครับ บ้านใครอยากเปลี่ยนใจมาใช้บันไดโครงเหล็ก ถ้าไม่ออกแบบคานไว้รับเพลต ก็จบเลยครับ อาจต้องดีไซน์ใหม่เลย



ย้อนไปดูตอนงานคานบ้าน ที่วงไว้คือคานที่ทำมารับบันไดโดยเฉพาะ



ตัด I beam ตามแบบ แล้วยึดกับพื้นด้วยเพลต รูปนี้มีการเอาเพลตรับลูกนอนบันไดมาวางและถ่ายระยะด้วยครับ จะเห็นรอยวาดบนกำแพง



ด้านบนก็ยึดกับคานสะพาน




ทยอยเชื่อมยึด I Beam จนเสร็จ



หลังจากติด I Beam เสร็จ ก็ทยอยติดเพลตลูกนอนไปเรื่อยๆตามระยะ 



 ภาพรวมๆ ณ ตอนติดตั้งเพลตจนเสร็จ

  จากรูปข้างบนนี้ ติดเพลตไปหมดแล้ว ผมเพิ่งทราบว่าระยะลูกนอนช่วงที่สองนั้น จะสั้นลง 5 เซน เนื่องจากเหตุผลด้านบน (ของเดิมออกแบบไว้ 110 เซน) ก็จะเหลือ 105 เซน ซึ่งพอเอาไม้ลูกนอนมาเทียบก็พบว่าสั้นมาก



ลองเอาไม้ลูกนอนมาวางเทียบ จะเห็นว่าไม้ล้นมาเยอะมาก (ไม้ที่ซื้อมายาว 120 เซน)


      ผมงี้เซ็งเลยครับ ระยะลูกนอนบันไดที่เหมาะสมคือ 90 เซนก็จริง แต่ถ้าจะเดินสวนสบายๆก็ 120 เซน เจอหดเหลือ 105 เซนนี่ผมถึงกับเงิบ พอต่อว่าโฟร์แมน แกก็บอกสถาปนิกออกแบบมาแบบนี้ พอโทรไปด่าเพื่อน มันก็บอกว่า กุออกแบบแบบนี้ก็จริง แต่หน้างานควรทำตามแบบ Finishing สิ เฮ้อ โยนกันไปมา ถ้าจะแก้กันใหม่ ก็ต้องรื้อใหม่เลย สั่งเหล็กใหม่ ททุกอย่างเริ่มต้นใหม่ ผมก็เลยช่างมัน แก้ปัญหาโดยการตัดไม้ให้เหลือ 110 เซนละกัน ถึงมองจากด้านล่างจะไม่บาลานซื แต่ยังยอมรับได้ ดีกว่าเหลือ 105 เซน มันสั้นเกิน.....ปัญหาแรกจบไป ปัญหาที่สองเกิด...



เจ้าของบ้านผู้ไม่ประสงค์ออกนาม เดินทดสอบความแข็งแรง..ก็พบว่าช่วงที่สองของบันไดมันโยกตัวครับ

   ก็คือปัญหาบันใดมันโยกแกว่ง (โฟร์แมนเรียกว่ามันให้ตัว..ให้ตัวอะไรหว่า) เนื่องจากแกน I beam มันยาว เวลาเดินแล้วเหมือนสะพานแขวน ปัญหานี้ ผรม.ก็ทักตั้งแต่แรก แต่ผมก็ว่ามันจะแค่ไหนกันเชียว ปรากฏว่าแกว่งเยอะเลยครับ ไม่ถึงกะแบบสะพานแขวน แต่รู้สึกได้เลย ผรม. บอกว่าต้องแก้ด้วยการเพิ่มขนาด I beam อาจจะต้องเป็น H beam แต่ข้อเสียคือ รูปร่างมันเทอะทะ จะออกมาเหมือนบันไดตามโรงงาน ไม่สวย ก็เลยต้องแก้ปัญหาด้วยการยึดน๊อตตัวเพลตกับผนังไปเลยครับ


ยึดพุกน๊อต กับผนังเลย



ยึดเพลตกับผนัง ทุกขั้นเลย ในช่วงที่สองของบันได



จากนั้นก็ทำงานกรีดผนัง วางท่อ เพื่อติดไฟส่องขั้นบันไดครับ ไฟตัวนี้ผมสั่งจากจีนครับ สวย ราคาถูกกว่าแบบเดียวกันในไทยเยอะเลย

       หลังจากติดเพลต ก็รอกันนานนน เลยครับ เพราะต้องรอให้ช่างไม้เข้ามาติดตั้ง ผมไม่อยากให้เข้ามาก่อน เพราะกลัวช่างอื่นๆเดินขึ้นลงจะทำให้ไม้พัง พอได้เวลาก็ให้ช่างไม้เข้ามาติดครับ ปัญหาที่สามก็เกิดอีกแล้ว  โดยก่อนติดตั้งไม้บันได ผมเองก็เข้าไปบอกช่างเพื่อให้ทราบว่าจะติดตรงไหนยังๆง ยื่นมากี่เซน ห่างผนังเท่าไหร่ และที่เป็นปัญหาคือการวางไม้ลูกนอนตรงชานพักครับ 


จากแบบจะเห็นว่าชานพักบันได ให้วางไม้ตามแนวแบบนี้ ก็คือเดินขึ้นมาจะเห็นขอบด้านยาวของลูกนอนของชานพัก ซึ่งก็จะเรียบ สวยงาม



ไม่ใช่บอกด้วยแบบอย่างเดียวนะ มีการวางให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย





พอบอกหน้างานเสร็จ ช่างก็ลงมือเจาะเหล็กเพลต เพื่อเตรียมยึดไม้ครับ การยึดจะใช้น๊อตยึดหกตัว และมีกาว PU อีกชั้น เพื่อความแข็งแรง

    หลังจากถ่ายรูปนี้ ผมก็กลับไปทำงาน ตอนเบ็นกลับไปดูอีกที...เงิบเลยครับ ช่างทำผิดแบบที่ผมบอกไว้ ดันกลับด้านลูกนอนชานพักที่สอง


ดูตรงที่ผมเอาลูกศรชี้ครับ ช่างดันเอาด้านรอยต่อไปไว้ทางนี้ ซึ่งมันไม่สวยเลยครับ นึกภาพเดินขึ้นมา เจอไม้เรียง 4 อัน เห็นเสี้ยนไม้และรอยต่อ ผมงี้แทบเป็นลม มันเซ็งจนไม่ได้ถ่ายรูปไอ้รอยที่ไม่สวยนั่นมาเลยครับ

  ผมก็โทรไปโวยเลย บอกเลยว่าต้องรื้อ ต้องแก้ ถ้าไม้เสีย ผมไม่รับผิดชอบ พอถามช่าง ช่างก็บอกผมทำตามแบบ แม่ม แบบห่านไรฟะ พอให้ดูแบบ เอารูปถ่ายยืนยัน ก็ทำหน้าจ๋อยครับ นึกภาพพวกรถมอไซค์ ที่ชอบขับเฟี้ยวฟ้าว พอมาชนรถเราจับได้ ทำหน้าหมาหงอยแบบนั้นเลย เพราะไม้บันไดมะค่า แผ่นละ 2700 นะครับ แล้วถ้ารื้อแตก 4 แผ่นนี่เป็นหมื่น ทาง บ.ก็ไม่รับผิดชอบ บอกช่างทำผิด ให้ช่างซื้อเอง บรรยากาศตอนนั้นมาคุมากครับ

   สุดท้าย ผมเลยแก้ปัญหาโดยให้เอาไม้ที่เหลือจากการตัด มาทำเป็นคิ้วปิดตามแนวขวางไปซะ เพื่อไม่ให้เห็นรอยต่อไม้ ถ้าออกมาสวยก็วินวิน ช่างไม่ต้องควักเงินเองด้วย


เอาเศษไม้ยาวที่เหลือ มาเข้าลิ้น ปิดขอบบันไดครับ



ผลลัพท์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ ชานพักสวยดี มีมิติขึ้น ไม้ก็ไม่ต้องรื้อ



ตรงส่วนน๊อตยึดเพลต ก็ใช้โรตารี่เหลาเจาะเข้าไปในเนื้อไม้ มองจากด้านล่างแบบนี้ มองด้านบนไม่เห็นรอยครับ



มองจากด้านบนลูกนอนก็ออกมาเนียนดีครับ



มองลองไปจากทางเดินชั้นสอง


ภาพรวมตอนนี้ครับ..รอยเท้านั่น คงไม่ต้องบอกว่าฝีมือใคร มันน่าจริงๆ

ตอนนี้ก็เอาลูกฟูกห่อเอาไว้ เพื่อกันไม้เป็นรอย รอขัด ทำสี และงานติดตั้งราวบันได เป็นขั้นตอนสุดท้ายเลยครับ 


     บันไดอีกอันที่สำคัญของบ้านผมคือบันไดตรงห้องโฮมครับ อาจจะเคยผ่านตามาบ้างแล้ว บันไดนี้เกิดจากการที่ผมอยากได้พื้นที่หลังคาแสลปของโฮมเธียเตอร์ ทำเป็นระเบียงชั้นสอง ทีนี้ตรงทางขึ้น เลยอยากได้บันไดที่ดูชิคๆหน่อยครับ ตอนแรกจะเอาบันไดเหล็กแบบในโรงงาน แต่มันดิบไป เลยขอเป็นบันไดปูนเปลือยลอยละกันครับ


บันไดตรงส่วนนี้ครับ



นี่คือแบบที่ต้องการครับ เขาเรียก Floating Concrete Stair



ทางสถาปนิกเลยออกแบบมาให้ใกล้เคียงครับ  แต่ของผมจะมีจมูกบันไดด้วย เพื่อกันลื่น เพราะปูนเปลือยขัดมันมันจะลื่น บันไดตั้งกลางแจ้ง ถ้าฝนตกลื่นหัวแตกแน่ครับ



บันไดส่วนนี้จะเป็นส่วนผนังห้องโฮมครับ เลยต้องก่อไปพร้อมกัน โดยจะมีเหล็กคานบันได ที่ทำรอไว้เมื่อชาติที่แล้ว ก็ดัดงอเข้าแนว แล้วก่ออิฐขึ้นมารองเป็นแบบเทคานเลยครับ



ก่ออิฐ เข้าแบบ เป็นคานไปในตัว



จากนั้นก็ตีกล่องแบบบันได ไปเรื่อยๆ



ผูกเหล็ก



เทปูน



แกะแบบเรียบร้อย เว้นส่วนหน้าบันไดไว้ติดจมูกเสตนเลส



กรีดผนัง ฝังไฟส่องบันไดทางขึ้น



ดูไกลๆ ก็หน้าตาโอเคเลยครับ ถูกใจมากเลย


ตอนนี้งานบันได ก็จบแค่นี้ครับ ที่เหลือเป็นงาน Finishing ติดอุปกรณ์ ราวกันตก ขัดมัน ขัดสีไรก็ว่าไป ซึ่งจะเขียนตอนที่สองเมื่อเสร็จสมบูรณ์เลยครับ ล่าสุดคุยกับ ผรม. บอก เสร็จทันปีใหม่แน่นอนครับ แต่อาจเหลืองานเก็บ..เอิ่ม มันก็คือไม่เสร็จป่ะคับ -_-"




Create Date : 27 พฤศจิกายน 2558
Last Update : 22 เมษายน 2560 15:24:34 น.
Counter : 58044 Pageviews.

5 comments
  
เขียนรีวิวละเอียดมากค่ะ ชอบเข้ามาเก็บข้อมูล
ขนาดชั้นทำงานอยู่ในสายก่อสร้าง แต่ด้านเอกสารนะคะ
ยังไม่มีความรู้ขนาดนี้เลยค่ะ แพลนจะทำบ้านในอีก 2 ปี เลยหาข้อมูลไว้ค่ะ
โดย: รอแฟนมาขอแต่งงาน วันที่: 30 พฤศจิกายน 2558 เวลา:11:16:01 น.
  
แบบบันไดเท่ห์ดีครับ มีเวลาคิดและค่อยๆออกแบบและค่อยๆทำงานเยอะดีครับ ของบ้านผม มีสัญญาก่อสร้าง ผรม.เลยรีบทำรีบจบ
โดย: yongsak (เมี่ยง42 ) วันที่: 7 ธันวาคม 2558 เวลา:12:02:17 น.
  
ดีครับชอบ
โดย: ฉัตรแก้ว พัดใหม่ IP: 49.230.197.137 วันที่: 21 มิถุนายน 2559 เวลา:9:23:24 น.
  
-การก่อสร้างของช่างไทย การก่อสร้างจริงกับแบบในแปลนมักคลาดเคลื่อน เพราะไม่ตรจสอบใหัความสำคัญแบบละเอียดของขนาด ความหนา ระยะและระดับ
-โดยเฉพาะส่วนที่เป็นช่องและปล่องบันได ความผิดพลาด จะส่งผลต่อขนาดขั้นบันได ความชันบันได ความกว้างบันได ระยะดิ่งบันได และที่รุนแรง รูปแบบบันไดอาจต้องเปลี่ยนแปลงด้วย ต้องวัดระยะต่างๆจากหน้างานจริง แล้วออกแบบ-คำนวณใหม่
-การสร้างบันไดโดยใช้ระบบโครงสร้างการรับแรงและน้ำหนักแบบแม่บันไดเดี่ยว/กลาง โดยใช้วัสดุเหล็ก I BEAM หรือ WIDE FLANGE นั้นมักพบว่ามีการโยกตัวและสั่น เพราะเหล็กรูปพรรณทั้ง 2 รับแรงดัดได้ดี แต่รับแรงบิดไม่ได้ดี ถ้าจะใช้ต้องเสริมโครงสร้างเพิ่ม
โดย: เตือนใจ พรปรีชา IP: 114.109.182.23 วันที่: 22 ตุลาคม 2560 เวลา:12:37:48 น.
  
ด่า ผรม. มันส์ดีครับ ชอบ โง่ ใน โง่
โดย: SHINGU IP: 212.47.252.101 วันที่: 15 ตุลาคม 2561 เวลา:22:39:20 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Agent Molder
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 381 คน [?]



พฤศจิกายน 2558

1
2
3
4
5
6
7
8
9
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
28
29
30
 
 
All Blog