64.ค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นในการสร้างบ้าน
      สวัสดีครับ หลายท่านอาจแปลกใจ ทำไมผมถึงเขียน blog ขึ้นมา บ้านเสร็จยัง? หรือยังไง คำตอบคือยังไม่เสร็จครับ 555+ เรื่องงานสร้างบ้านช่างมันก่อนที่ผมเขียน blog นี้เพราะว่าตอนนี้บ้านผมก็ใกล้เสร็จแล้วแหล่ะครับซึ่งก็ต้องมีการซื้อของเข้าบ้าน และซื้ออุปกรณ์ ”จำเป็น” สำหรับบ้านเช่นอุปกรณ์ fitting ห้องน้ำ ก๊อก ที่พาดผ้าเช็ดตัว ที่ใส่สบู่ กระดาษชำระ รวมไปถึงผ้าม่านวอลเปเปอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวต่างๆอีกมากมายจากเงินที่ผมได้สำรองไว้ระดับนึงก่อนสร้างบ้าน ผมประมาทครับ คิดว่าน่าจะพอแต่พอถึงตอนนี้ ขอบอกเลยว่า “ไม่พอ” แล้วครับ ตอนนี้ต้องขายหุ้น ลดพอร์ต ขายกองทุนและถึงกับหยิบยืมบุพการีแล้วครับ T_T

    ที่เรียกว่าค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็น เพราะว่าเป็นสิ่งที่คนที่คิดจะสร้างบ้านไม่ค่อยนึกถึงตอนเริ่มสร้าง ทำให้พอสร้างๆไปแล้ว ทำไมเงินมันหายไปไหน หรือที่เรียกว่า บาน นั่นเอง คนที่คิดจะสร้างบ้าน ผมให้เกินครึ่งเลยครับ จะมองเรื่องงบประมาณการสร้างบ้านแค่ “เงินกู้”ซึ่งผิดมหันต์เลยนะครับ เงินกู้ได้แค่อิฐแค่ปูน (หรือใครกู้เกินก็ได้เพิ่มมานิดหน่อย)แต่เงินที่มองไม่เห็นนี่น่ากลัวครับ บางคนบ้านสร้างเสร็จแล้วยังไม่ได้อยู่เป็นปีก็มี เพราะเงินส่วนนี้ไม่มีนั่นเองครับ

     ถ้าจำกันได้ ผมเคยเขียน blog ใน ตอนที่ 29 ว่าด้วยเรื่องการวางแผนการเงินในการสร้างบ้านในตอนนั้นผมมีแต่ทฤษฎีครับ ก็ได้แบ่งเงินตามสัดส่วนที่ควรจะเป็น แต่พอเอาเข้าจริงมันมีอะไรมากกว่านั้นเยอะ ประกอบกับมีพี่คนนึงแกก็โทรมาปรึกษาผมเรื่องสตร้างบ้านและการเตรียมเงินต่างๆ ผมเลยเขียนเป็น blog แนะนำไปเลยดีกว่าครับเผื่อใครอยากสร้างจะได้วางแผนกันแต่เนิ่นๆ จากประสบการณ์ตรง ของผมเลยครับ คิดซะว่า blog นี้เป็นภาคปฏิบัติต่อยอดจากตอนที่ 29 ก็ได้โดยผมจะเริ่มตั้งแต่ก่อนสร้างบ้านเลยนะครับ (วงเงินกู้เอามาก่อสร้างหรือเงินตามสัญญาก่อสร้างกับผรม. ผมไม่นับนะครับ แยกออกไปอีกกองเลย)


1.ค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นก่อนการสร้างบ้าน

- ค่าใช้จ่ายในการซื้อที่ดิน แน่นอนครับ จะมีบ้านได้ ก็ต้องมีที่ดินก่อนแต่เงินส่วนนี้หลายๆท่านก็กันออกจากกองสร้างบ้านอยู่แล้ว หรือใครมีที่มรดกก็โชคดีไปครับ

- ค่าเคลียริ่ง ไถ ถมดิน มีที่ดินแล้ว ที่ดินเราก็ต้องพร้อมที่จะปลูกสร้างครับซึ่งก็คือค่าใช้จ่ายในการเคลียริ่งที่ดิน ไถเรียบ ปรับหน้าดิน และถ้าที่ดินใครต่ำกว่าถนนหรือต้องการให้ที่ดินบ้านเราสูงๆ ก็ต้องถมดินครับ ซึ่งค่าไถ ถม เคลียริ่งนี้ก็แล้วแต่เจ้ารถดินที่ตกลงราคาไม่ตายตัว ราคาเฉลี่ยเคลียริ่งและถมดิน ในที่ดิน 1 ไร ให้สูง 1 เมตร อยู่ที่สามแสนห้าครับ(ราคาปี 58) ที่ดินใครมากน้อยเท่าไหร่ ก็ลองหารตามสัดส่วนดูครับ(ดูรายละเอียดได้ใน blogที่ 6,12,15,24ครับ)


ไถ ถม เคลียริ่ง (ภาพจาก เชียงรายโฟกัส)

- ค่าทำรั้วบ้าน และคานกันดิน  บ้านส่วนใหญ่ก็ต้องทำรั้ว ก่อนทำบ้านครับ เพื่อกันดินถมไม่ให้ไหล ยิ่งถ้าแปลงที่ดินเรามีทางเข้าทางเดียว ถ้าหากสร้างบ้านไปแล้วจะทำรั้วยากครับก็ต้องทำรั้วก่อน  ค่าทำรั้วนี่แพงระยับเลยนะครับ ผมลองให้ ผรม.ตีราคารั้วครึ่งปูน ครึ่งเหล็กกล่อง+ไม้ แบบโมเดิร์น ปาไปเมตรละ 9000บาท รั้วผมยาว 100 เมตร ออกมาเกือบล้าน ซีดเลยครับ ผมเลยถอยมาตั้งหลักก่อนเพราะบ้านผมเหลือที่เยอะ ค่อยทำรั้วที่หลังได้ครับ แต่ก็ต้องเตรียมกันเงินไว้ครับ


นี่เป็นแบบรั้วบ้านผมที่สถาปนิกเขียนมาให้ ตีราคาตกเมตรละประมาณเก้าพัน



รั้วแบบนี้ตกเมตรละ 1600 - 2000 บาท

   - ค่าแบบ ค่าสถาปนิกและอินทีเรีย ถ้าบ้านสร้างเอง ตรงนี้ต้องจ่ายก่อนสร้างแน่ๆจะจ่ายเท่าไหร่ก็แล้วแต่ความอลังการของบ้านเราครับ ตีคร่าวๆก็ 5-10% ของราคาก่อสร้างของบ้านเราที่คิดไว้ เช่นเราต้องการสร้างบ้านราคา 10 ล้านเงินค่าสถาปนิกก็ตจะตกอยู่ที่ ห้าแสน ถึงล้านบาท แล้วแต่ความไฮโซของบ.สถาปนิกที่คุณจ้าง แต่เงินส่วนนี้บางทีถ้าคุณจ้าง บ.รับสร้างบ้าน หรือผรม.ประเภทออกแบบให้ด้วยสร้างให้ด้วย(เรียกว่า Turn key)เขาก็จะเอาไปหักกลบกับเงินค่าก่อสร้าง ก็ว่ากันไปครับแล้วแต่ตกลง ส่วนค่าอินทีเรียถ้าท่านยังไม่อยากเสียเงินจ้างตอนนี้ ก็รอบ้านเสร็จก่อนก็ได้ครับค่อยว่ากันบางคนก้ไม่จ้างเลย จัดบ้านเอง ก็ประหยัดไปอีกแบบครับ (อ่านรายละเอียดเรื่องสถาปนิกได้ใน blog ที่ 10)

- ค่าโอน จดจำนองกับแบงค์ ถ้าท่านต้องกู้เงินเพื่อมาสร้างบ้าน ก็ต้องมีการเอาที่ดินไปจำนองกับแบงค์ ก็ต้องเสียส่วนนี้ด้วยนะครับ ประมาณ 2% ของวงเงินกู้ ถ้ากู้สิบล้าน ก็จ่ายฟรีๆ เปล่าๆปลี้ๆ สองแสนเลยครับ


แบงค์กริงกอตส์กันเลยทีเดียว

- ค่าสาธารณูปโภค ขอน้ำ ขอไฟ จ่ายให้หมู่บ้าน ค่าผ่านทางสาธารณะพวกนี้บางครั้งผู้รับเหมาก็ทำให้นะครับ (โดยก็รวมอยู่ใน คชจ.ในสัญญาก่อสร้างแล้ว)หรือเราจะทำเองก็ได้ครับ อยู่ราวๆสองสามหมื่นบาท


2.ค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นระหว่างการสร้างบ้าน

- ดินถมปรับระดับภายในบ้าน พื้นชั้นหนึ่งที่เป็นพื้นหล่อในที่ ต้องทำการถมดินเพื่อรองรับพื้นที่จะเท ส่วนใหญ่ก็จะใช้ดินที่ขุดเพื่อทำฐานรากต่อม่อ เอามาถมตรงนี้ แต่บางครั้งถ้าดินไม่พอหรือพื้นหล่อในที่เรามีเยอะ ก็อาจต้องสั่งดินมาถมเพิ่มเพื่อปรับระดับ ตรงนี้ขึ้นกับว่าอยู่ในสัญญาหรือเปล่าครับถ้าสัญญาระบุว่า ผรม.เป็นคนทำ เราก็ไม่ต้องเสียเงิน

- อุปกรณ์ต่างๆภายในบ้านที่ไม่เกี่ยวกับงานโครงสร้างได้แก่วัสดุ Finishing เช่นกระเบื้อง หินอ่อน หินประดับ ,อุปรณ์ไฟฟ้า ปลั๊ก ดวงโคมดาวน์ไลท์สวิตช์ไฟ ไฟกิ่ง ไฟซ่อน  ,อุปกรณ์ห้องน้ำเช่นโถสุขภัณท์ ที่ใส่สบู่ แขวนผ้าเช็ดตัว  ,อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวที่ต้องบิ้วอิน เช่นไม่โครเวฟ เตาอบ ซิ๊งค์ เตาแก๊ซ ,อุปกรณ์ประตูเช่นลูกบิด บานพับ รางเลื่อนมือจับต่างๆ บางคนอาจคิดว่า เอ้า พวกนี้ผรม.ไม่ได้หามาให้เหรอ..ผมขอเรียกอุปกรณ์พวกนี้ว่า อุปกรณ์แฟชั่นครับ เพราะรูปแบบต่างๆมันขึ้นกับความชอบของเจ้าของบ้านเลยครับ ลายกระเบื้อง ที่แขวนผ้าสุขภัณท์ โคมไฟ พวกนี้มีทั้งแบบวินเทจ คลาสสิค โมเดิน เยอะมากๆ แล้วถ้าท่านให้ผรม.เลือก มันจะออกมาหน้าตายังไงล่ะครับ

สวิตช์ ปลั๊ก เต้าเสียบ


Accessory ในห้องน้ำ



แชนเดอเรียสุดหรู

     แต่ในบางครั้งผรม.อาจกำหนดราคามาให้คร่าวๆเช่น สุขภัณท์ไม่เกินหนึ่งหมื่น กระเบื้องไม่เกินตร.ม.ละ 500 อะไรพวกนี้ ซึ่งพอเอาเข้าจริง ผมไม่เห็นมีใครเอาตามนี้เลยครับ 555+ เปลี่ยน หรือเพิ่มแทบทุกราย ดังนั้นก็ต้องกันส่วนนี้ไว้ด้วยครับอย่าคิดว่าเล็กน้อยนะครับ อุปกรณ์ติดประตู ห้องน้ำ ของบ้านผมรวมๆแล้วหลายแสนเลยครับ ยิ่งถ้าลองเอาพวกอุปรณ์ที่ซื้อเองทั้งหมด ไม่ว่าไฟ ห้องน้ำกระเบื้องรวมๆกันนี่เกินล้านเลยครับ

- ค่าเงินงวดที่อาจต้องออกล่วงหน้า อย่างที่เคยเขียนไว้ใน blog ที่ 44 การแบ่งงวดงานงวดเงินแบงค์ ว่า สัญญาของ ผรม. กับสัญญาของแบงค์มันอาจจะคนละตัวกัน ซึ่งการแบ่งงวดงานจะไม่เท่ากัน และแบงคืก็จะเขี้ยวมากๆถ้าไม่ตรงตามที่ระบุเขาจะไม่ให้เงินเลย หรือให้ไม่ครบ เช่นงวดนี้ต้องมีหน้าต่างนะแต่เอาเข้าจริงหน้าต่างยังติดไม่ได้ แต่ ผรม.ขอทำส่วนอื่นแทนไปก่อน แบงค์ก็จะไม่ให้เงินเรา หรือให้แต่ให้แค่ 60-70% ของวงเงิน ซึ่งทำให้เราต้องควักกระเป๋าไปก่อนครับ ก็เป็นจำนวนไม่ใช่น้อยๆเลย ผมแนะนำว่าให้มีเงินนอนสำรองไว้สัก 1.5 – 2 เท่าของค่างวดเลยครับ

- ค่างานเพิ่มเติมจากที่ระบุในสัญญา บางครั้งเมื่อบ้านเราสร้างไปถึงจุดหนึ่ง ซึ่งเราอาจจะอยากได้โน่น นี่นั่นเพิ่ม ก็ต้องให้ ผรม.ตีราคาเพิ่มเติมเป็นส่วนของงานเพิ่มไป ตรงนี้ผรม.บางเจ้าขอเก็บเงินเลย บางเจ้าก็เอาไปรวมตอนท้ายงวด หรืออย่างเจ้าผมก็รอจนจบการสร้างบ้านเลย ค่อยหักลบกับงานลด แล้วคิดอีกก้อนต่างหากจากเงินงวดซึ่งตรงนี้ถ้าไม่สำรองเงิน หรือจ่ายไปก่อน ผรม.บางคนก็ไม่ทำให้นะครับเพราะถือเป็นงานจ้างนอกสัญญา แต่ถ้าใครไม่มีงานเพิ่มเติมก็ไม่ต้องกังวลครับ(ซึ่งบอกได้เลย มีแน่ 55+)


3.ค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นภายหลังบ้านเสร็จหรือช่วงที่บ้านใกล้เสร็จ

- ค่าติดตั้งผ้าม่าน จะบอกว่าบ้านเสร็จเข้าอยู่เลยไม่ต้องติดม่าน..คงไม่ใช่มั๊งครับผ้าม่านนี่ก็เป็นค่าใช้จ่ายก้อนโตเช่นกัน ถ้าต้องการดีๆ ผ้าสวยๆ ช่างดีๆก็หลักหลายแสนครับ ยิ่งบ้านใหญ่ ยิ่งแพง จะไม่ติดก็ไม่ได้ดังนั้นกันเงินส่วนนี้ไว้แต่เนิ่นๆเลยครับ


ผ้าม่าน และอุปกรณ์ (ภาพจากร้อยเอ็ดการม่าน)


- Security พวกกล้องวงจรปิดสัญญาณกันขโมยพวกนี้ ก็แล้วแต่ท่านเจ้าของบ้าน จะติดไม่ติดก็แล้วแต่ครับแต่ถ้าคิดจะติด ก็ต้องเตรียมเงินไว้ประมาณห้าหมื่น ถึงแสนเลยครับตอนแรกผมก็จะยังไม่ติด แต่ไปๆมาๆก้ติดดีกว่า เงินก็ไม่ได้กันเอาไว้โยกเงินกันหัวปั่นเลยครับ

- ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแอร์/ระบบปรับอากาศ กว่า 90% ของการสร้างบ้าน ไม่ว่า ผรม.ทั่วไป หรือ บ.สร้างบ้าน จะไม่ทำระบบปรับอากาศให้นะครับ ดังนั้นท่านก็ต้องหาจ้างร้านแอร์มาทำให้ และยิ่งถ้าท่านต้องการแอร์ซ่อนผนัง ซ่อนฝ้า เดินท่อไปไว้ในจุดเดียวกัน ก็ต้องมีการเจาะผนัง เดินท่อ ก็มีค่าใช้จ่ายอีกมากเลยครับ นี่ยังไม่รวมตัวเครื่องแอร์เลยนะครับ แต่ถ้าท่านจะประหยัด ก็ใช้วิธีเดินลอยใส่รางครอบท่อ เจาะออกผนังไปวางนอกห้องแบบพวกห้องแถวหรือคอนโดก็ได้ครับ ถูกดีแต่มันจะไม่สวย ก็เลือกเอาตามกำลังทรัพย์เลยครับ

- เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นและเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่จำเป็น พวกโทรทัศน์ ตู้เย็น ไมโครเวฟ เตียง ที่นอน โซฟา ตู้ลอยตัวต่างๆพวกนี้ก็จำเป็นต้องมีนะครับ ไม่งั้นก็เข้าอยู่ไม่ได้แน่ๆ

- Landscape บ้าน ไม่ได้มีแต่ตัวบ้าน ก็ต้องมีพื้นที่สวนหย่อม หรือสนามภายในบ้าน ซึ่งก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเช่นกันไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ใหญ่เล็ก น้ำตก ทางเดิน ศาลา บ่อปลาต่างๆคงไม่มีใครอยู่แบบรอบบ้านมีแต่ดินกับทรายใช่ไหล่ะครับ ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็ไม่ใช่น้อย ส่วนผมจะขอแค่ปูหญ้าไปก่อน ต้นไม้ใหญ่ค่อยลงทีหลังแต่บางบ้านต้นไม้ใหญ่ต้องลงเลยก็มีครับ เพราะมันจะเอาไปวางไม่ได้ถ้าหากสร้างบ้านปิดทางเข้าออกไปแล้ว แต่บ้านผมยังพอมีที่ให้รถใหญ่เข้าได้อยู่ครับ


จัดเต็มเลย เปิดให้เข้าชมด้วยเลยมั๊ย

    จะเห็นว่ามีค่าใช้จ่ายอีกมากมายที่เราอาจไม่ได้คิดเอาไว้ว่ามันต้องมี บางคนคิดแค่กู้ผ่านแบงค์ได้ มีเงินจ่าย ผรม.ได้ก็เพียงพอแล้ว แต่จริงๆมันไม่ใช่เลยครับ ถึงมีคนกล่าวเสมอว่าจะสร้างบ้านต้องเตรียมเงินสดสำรองไว้อย่างน้อยหนึ่งในสาม หรืออาจจะครึ่งนึงของราคาบ้านที่สร้าง ก็ไม่ผิดเลยครับ

 ..แต่ก็อย่าเพิ่งตกใจ หรือนอยด์เกินไปนะครับตราบใดที่เรายังทำงานมีรายได้ เราก็จะมีเงินเติมเข้ามาในระบบอยู่เรื่อยๆบ้านที่สร้างปีกว่าๆ เราก็พอมีเงินอุดช่องว่างไว้ไม่มากก็น้อย ถ้าเราไม่โลภหรือใช้อุปกรณ์ในบ้านที่หรูหราแพงเกินไปนัก ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ลงได้หรือถ้าใครไม่มีเงินมากพอที่จะสำรอง แต่อยากสร้างบ้านแล้ว ก็ทำเหมือนบ้านจัดสรรสร้างเสร็จเลยครับคือไม่ต้องคิดมากทั้งสิ้น สร้างให้เสร็จ เข้าไปอยู่ แล้วค่อยสะสมที่ละน้อยเพิ่มเติมไปทีหลังก็ได้ครับอยู่ไปปีสองปีค่อยทำก็ยังได้ บ้านเราเองนิ

หวังว่า Blog นี้จะเป็นประโยชน์กับคนที่คิดจะสร้างบ้านไม่มากก็น้อยนะครับผมขอตัวไปทะเลาะกับช่างอินทีเรียก่อนนะครับ เรื่องเยอะ ปัญหาแยะ ปวดหัวมากช่วงนี้ไว้จะมาเล่าในโอกาสหน้าครับ สวัสดี




Create Date : 14 มกราคม 2559
Last Update : 16 มีนาคม 2559 15:38:26 น.
Counter : 9914 Pageviews.

4 comments
  
คะ โยสร้างบ้านมา3 ปีแล้วไม่เสร็จสักที ตามอ่านของพี่มาตลอด เพื่อเอาไปปรับใช้กับบ้านตัวเอง เป็นกำลังใจให้นะคะ
โดย: โย IP: 183.88.137.236 วันที่: 14 มกราคม 2559 เวลา:15:46:43 น.
  
จนป่านนี้แล้วรั้วบ้านผมยังไม่มีเลยครับ
โดย: งามหน้า วันที่: 14 มกราคม 2559 เวลา:16:05:40 น.
  
เข้ามาลงชื่อติดตามครับ ณ เวลานี้ ของผม 2 ปี 2 เดือน ครับ ยังไม่เสร็จเหมือนกันครับ เรื่องระบบน้ำ ของผมต้องจัดหาเอง เรื่องpump น้ำ ชั้นล่าง ชั้น บน ถังเก็บน้ำชั้นล่างชั้นบน ก็ หลายอยู่ครับ
อีกทั้ง มี ระบบsolar cell ที่คุณผ.บ. order อีก เตรียมสายไว้ แต่ยังไม่ได้ติด งบหมดต้องไปจุดอื่นอีก ปล. เหนื่อยจริงๆ ครับ
สู้ๆ ครับ เป็นกำลังใจให้ น้องหมอ ออร์โธ เหมือนกันครับ
โดย: เด็กใต้ IP: 134.196.140.19 วันที่: 16 มกราคม 2559 เวลา:14:23:13 น.
  
เดี๋ยวงานอินทีเรียกับงานแลนสเคปก็มีที่ให้บานอีกเยอะค่ะ
บ้านนุ้ยจากงบ 3.5 ล้าน(ก่อนจะไปคุยกับสถาปนิก) สร้างเสร็จ 1x,xxx,xxx กันเลยทีเดียว (ราคาปี 55-56 ก่อนค่าแรง 300บาท)
ขายหุ้นกองทุนทอง ยังไม่พอ สรุปจบที่บุพการีค่ะ
จนถึงวันนี้ยังใช้หนี้แม่ไม่หมดเลย...
บ้านสร้างเสร็จก็จ่ายอีกเรื่อยๆค่ะ ยิ่งบ้านหลังใหญ่ ค่าmaintenance แพงมากกกก
โดย: หมีอ้วนกับหมูอวบ IP: 110.164.93.226 วันที่: 27 มกราคม 2559 เวลา:14:20:56 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Agent Molder
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 381 คน [?]



มกราคม 2559

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog