Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
1 กรกฏาคม 2554
 
All Blogs
 
เมื่ออารมณ์กลายเป็นอาวุธ


เมื่ออารมณ์กลายเป็นอาวุธ




เคยนึกสงสัยบ้างไหม?
ทำไมคุณถึงปวดหัวข้างเดียว หรือปวดตึงท้ายทอยเวลาเครียด
ทำไมความดันจึงขึ้นสูง ทุกครั้งที่คุณโกรธ
ทำไมอยู่ๆ ก็เป็นโรคกระเพาะ ยามที่รู้สึกวิตกกังวล ทั้งที่กินอาหารตรงเวลา

คำตอบคือ อารมณ์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วยามแล้วผ่านพ้นไป แต่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายอีกมากมาย ทำให้กลายเป็นความเจ็บป่วยซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า การเจ็บป่วยทางกายที่เนื่องมาจากจิตใจ หรือ Phychosomatic disease เช่น โรคความดันสูง หลอดเลือดหัวใจ ไมเกรน หอบหืด ภูมิแพ้ ฯลฯ อาการเหล่านี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยา หากต้องรักษาอารมณ์ ความคิด เหตุผล และเข้าใจรากเหง้าของปัญหานั้น


รู้จักอารมณ์ของตัวเอง
อารมณ์ หมายถึง การทำงานของสมองที่ตอบสนองต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มากระทบจิตใจ อาจแสดงออกเป็นคำพูด การกระทำ ว่าพึงพอใจหรือไม่ ซึ่งเป็นกลไกที่ถูกสร้างมาพร้อมกับมนุษย์เพื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างกัน

กระบวนการเกิดอารมณ์ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ มีสิ่งเร้า แปลความหมาย แล้วจึงเกิดเป็นอารมณ์ เช่น มีใครคนหนึ่งตำหนิคุณ( สิ่งเร้า) สมองจะค้นหาข้อมูลเก่าที่เคยเก็บไว้ว่าสิ่งเร้านี้มีความหมายอย่างไร หากเป็นคนที่คุณมีอคติเป็นทุนเดิม อาจแปลความหมายว่า เขากำลังหาเรื่อง แต่หากเป็นเพื่อนสนิท คุณอาจแปลความว่าเขาหวังดี แล้วจึงเกิดอารมณ์ไม่พอใจหรือขอบคุณ ดังนั้นการเกิดอารมณ์จึงมาจากการตีความและแปลความหมายของเรานั่นเอง

อารมณ์แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
อารมณ์ด้านบวก เช่น ดีใจ พอใจ เบิกบาน ร่าเริง สดใส ปลื้มปิติ
อารมณ์ด้านลบ เช่น เศร้า น้อยใจ หดหู่ อ่อนล้า เครียด โกรธ ผิดหวัง
อารมณ์แบบกลางๆ ซึ่งอาจเป็นด้านสุขหรือทุกข์ก็ได้ตามสภาวะนั้นๆ


เมื่ออารมณ์กลายเป็นอาวุธ
อารมณ์เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือสื่อสารระหว่างมนุษย์ ฉะนั้นหากมีอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นบ้างไม่มากหรือน้อยเกินไปถือว่าเป็นเรื่องปกติ และเมื่ออารมณ์เป็นเพียงเครื่องมือคุณจึงต้องตระหนักรู้ที่จะเป็นนายของอารมณ์ ไม่ปล่อยให้อารมณ์เข้าครอบงำจนกลายเป็นอาวุธทำลายตัวเอง เพราะทุกครั้งที่เกิดอารมณ์ด้านลบ กลไกการทำงานของสารเคมีในร่างกายทั้งระบบฮอร์โมน ภูมิคุ้มกัน และระบบประสาทอัตโนมัติจะทำงานแปรปรวน หลั่งสารแห่งความเครียดออกมา เพื่อเตรียมตอบสนองต่อสิ่งเร้าว่าจะ สู้ หรือ หนี อวัยวะที่เกี่ยวข้องจะทำงานหนักขึ้น

ส่วนอวัยวะที่ไม่เกี่ยวข้องก็หยุดการทำงาน เพื่อสงวนพลังงานส่วนที่เหลือไว้สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินครั้งนั้น ถ้าคุณมีอารมณ์ด้านลบเกิดขึ้นบ่อยๆ ร่างกายจึงเหมือนประกาศภาวะฉุกเฉินตลอดเวลา แทนที่ทุกระบบจะทำงานเท่าเทียมกัน กลับกลายเป็นบางระบบทำงานหนัก บางระบบไม่ทำงาน

นายแพทย์ประกอบ ผู้วิบูลย์สุข จิตแพทย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า "เมื่อเกิดอารมณ์เครียด ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น ต่อมเหงื่อทำงานมาก ไตขับของเสียได้น้อยลง ทำให้ของเสียคั่งค้างในร่างกาย หัวใจเต้นเร็วและแรง เส้นเลือดในท้องและผิวหนังหดตัว อาหารไม่ย่อย ไขมันที่ถูกสะสมในกล้ามเนื้อละลายออกมาเป็นฟรีฟอร์ม อยู่ในภาวะพร้อมใช้งานทันที ไขมันในเลือดสูงขึ้น ถ้าเกิดบ่อยๆ ก็อุดตันตามเส้นเลือดกลายเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง"

มีงานวิจัยหลายชิ้นพบหลักฐานข้อมูลเหล่านี้ เช่น มหาวิทยาลัยมิชิแกนพบว่าผู้มีความรู้สึกเกลียดชัง ความดันจะสูงขึ้น 40 วินาที ความโกรธทำให้ความดันสูงขึ้น 80 วินาที เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่พบว่า เมื่อหยดสารอะดรีนารีนลงไปในกระแสเลือด ทำให้เส้นเลือดตีบตันเป็นช่วงๆ แสดงว่าอารมณ์ด้านลบมีผลทำให้การไหลเวียนของโลหิตติดขัดจริง

สอดคล้องกับทฤษฎีความสัมพันธ์ของโรคกับอารมณ์ ซึ่งการแพทยย์แผนจีนอธิบายว่า อารมณ์ดีใจ เกี่ยวข้องกับหัวใจและลำไส้เล็ก การดีใจเกินไปมีผลทำลายหัวใจเพราะเลือดไหลเวียนช้า จิตใจไม่มีสมาธิ

อารมณ์โกรธ เกี่ยวข้องกับตับและถุงน้ำดี ถ้าโกรธมากเกินไปจะมีผลทำลายตับ เพราะพลังวิ่งสู่ด้านบนทำให้ปวดหัว หงุดหงิด ตามัว ความดันเลือดสูง หากเป็นมากอาจทำให้หมดสติ

อารมณ์วิตกกังวล เกี่ยวข้องกับม้ามและกระเพาะอาหาร มีผลต่อระบบการย่อยและดูดซึมอาหาร ทำให้เบื่ออาหาร ท้องอืด แน่นท้อง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ถ่ายเหลว ถ้าเป็นเรื้อรังทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความจำเสื่อม นอนไม่หลับ เนื่องจากพลังในการย่อย การดูดซึมถูกขัดขวาง เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อย

อารมณ์โศกเศร้าและเสียใจ เกี่ยวข้องกับปอดและลำไส้ใหญ่ ทำให้การไหลเวียนอากาศในปอดถูกอุดกั้น จึงรู้สึกหดหู่ อ่อนเพลีย

อารมณ์กลัวและตกใจ เกี่ยวกับไตและกระเพาะปัสสาวะ ทำให้พลังย้อนลงล่าง มีผลต่อการเหนี่ยวรั้ง เช่น กลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่อยู่ ขาไม่มีแรง


สติบำบัด : ทางลัดจัดการอารมณ์
สติ หมายถึงการรู้ตัว ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ ความคิด ธรรมชาติ
สติบำบัด (Awareness therapy) จึงหมายถึงแนวทางการบำบัดอาการทางจิตใจ โดยใช้หลักการของสมาธิร่วมกับความฉลาดทางอารมณ์

การรู้ตัวเป็นผลต่อเนื่องจากการฝึกสมาธิ จึงควรฝึกสมาธิเสียก่อน เพราะยิ่งรู้ตัวมาขึ้นเท่าไร ยิ่งควบคุมตัวเองได้มากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะการรู้ตัวด้านอารมณ์มีความสำคัญมาก ช่วยลดการเปลี่ยนอารมณ์ด้านลบไปสู่อาการทางกายได้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยให้การบำบัดรักษาง่ายขึ้น เนื่องจากรู้ว่าการเจ็บป่วยนั้นมาจากอารมณ์ใด

ทั้งนี้อารมณ์ด้านบวกก็อาจทำร้ายคุณได้ หากคุณเป็นคนอ่อนไหวต่อสิ่งเร้าง่ายเกินไป เช่น มีความสุขง่าย แต่ถ้ามีสิ่งไม่ดีมากระทบก็เศร้าได้ง่ายเช่นกัน การมีอารมณ์ตอบสนองเร็วเกินไปจึงเป็นผลเสียมากกว่า เช่น มีคนขับรถปาดหน้า คุณโกรธทันที จึงปาดหน้าคืนด้วยความสะใจ เพราะยิ่งช่วงเวลาตั้งแต่เกิดสิ่งเร้าจนถึงเกิดอารมร์สั้นเพียงใด คุณก็จะเลือกปฏิกริยาตอบสนองไม่ได้ แต่เทคนิคสติบำบัดช่วยให้ช่วงเวลาดังกล่าวยาวขึ้น ความรุนแรงของอารมณ์ลดลง ระยะเวลาที่รู้สึกโกรธสั้นลง จึงเลือกปฏิกริยาตอบสนองได้ดีขึ้น แทนที่จะเอาคืนก็เหลือเพียงสบถกับตัวเอง และกลับสู่ภาวะปกติ

ฝึกร่างกายให้มีสติ
หากมีพื้นฐานการฝึกสมาธิมาก่อน ขั้นตอนนี้จะง่ายขึ้นเพราะการฝึกร่างกายประกอบด้วยสองส่วน คือ การฝึกจดจ่อกับลมหายใจ โดยหายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องยุบ ทำให้ร่างกายเกิดความผ่อนคลาย


การฝึกผ่ามือร้อน ช่วยจิตใจนิ่งขึ้น เนื่องจากต้องจดจ่อกับความรู้สึกทางกาย ผลพลอยได้คือการมีสมาธิและสติ


ขั้นตอนการฝึก
1. ตั้งฝ่ามือระดับทรวงอก หันฝ่ามือทั้งสองเข้าหากัน ห่างกันประมาณ 2-3 นิ้ว
2. ขยับมือเข้าและออกช้าๆ จิตใจจดจ่ออยู่กับความรู้สึกที่ฝ่ามือ
3. เมื่อเกิดสมาธิ ผู้ฝึกจะรู้สึกร้อนและมีแรงดูดคล้ายประจุที่ฝ่ามือ ทำติดต่อกันอย่างน้อย 10 นาที จิตใจจะสงบ ร่างกายผ่อนคลายขึ้น

นอกจากนี้การปรับจิตใจก็สำคัญ เพราะปัญหาทางอารมณ์มาจากการควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือการมีวิธีคิดในด้านร้าย หากฝึกการละวางอารมณ์ได้ปัญหาต่างๆ ย่อมน้อยลง เทคนิคการฝึกจิตใจมีหลายวิธีเช่น ฝึกคิดอารมร์ตรงข้าม นอกจากรู้เท่าทันอารมณ์ตนเองแล้ว ยังต้องรู้ที่จะละวางอารมณ์นั้นลงด้วย วิธีที่ช่วยให้ละวางง่ายขึ้น คือ ฝึกคิดถึงอารมณ์คู่ตรงข้ามกับอารมณ์ที่เรารู้สึก เช่น คนที่โกรธง่ายต้องฝึกการใช้อภัยหรือเมตตากรุณา อย่างน้อยสิ่งเหล่านี้ก็ช่วยลดความรุนแรงของอารมณ์ลง


อารมณ์เป็นการตอบสนองสิ่งที่เกิดขึ้น แม้เพียงชั่วคราว ก็อาจมีผลต่อสุขภาพโดยรวม การจัดการอารมณ์จึงไม่ใช่การห้ามความรู้สึก แต่ควรรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง เพราะคงไม่คุ้มค่าเลยที่จะเอาความรู้สึกที่เปลี่ยนอยู่เรื่อยมาแลกกับร่างกายที่ต้องใช้ตลอดไป...










Create Date : 01 กรกฎาคม 2554
Last Update : 2 กรกฎาคม 2554 0:09:27 น. 0 comments
Counter : 702 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เอ็กซ์ซ่า
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 43 คน [?]




Friends' blogs
[Add เอ็กซ์ซ่า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.