a whispering star
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




คุณแม่น้องเจเจ-จ๊ะจ๋าค่ะ ^^
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2551
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
11 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add a whispering star's blog to your web]
Links
 

 
Thailand’s Secret War : การต่างประเทศของไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

รายงานนี้เป็นการนำเสนอภาพสถานการณ์ของประเทศไทย และความสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อไทยในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้แก่ ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และประเทศจีน จากมุมมองเศรษฐกิจการเมือง โดยจะนำเสนอภาพรวมสถานการณ์ในแต่ละช่วงของประเทศไทย และมุมมองของประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินนโยบายของประเทศนั้น ๆ ต่อประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้ความช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกให้แก่การดำเนินงานของขบวนการเสรีไทยในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเจรจาตกลงต่างๆ ในช่วงยุติสงคราม

ข้อเสนอของผู้เขียนในรายงานนี้ คือ การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายของรัฐบาลจอมพล ป. ในการยอมให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่น หรือการดำเนินงานต่าง ๆ ของขบวนการเสรีไทยนั้น ต่างก็เป็นนโยบาย และการดำเนินงานที่ถูกกำหนดให้เป็นไปตามกระบวนการของระบบทุนนิยมโลก โดยมีอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาเป็นตัวแสดงหลักที่สำคัญที่สุด ในขณะที่ญี่ปุ่น และจีน ก็เป็นตัวแสดงสำคัญที่มีส่วนในการกำหนดบทบาทและการดำเนินนโยบายของไทยในแต่ละสถานการณ์ ดังนั้น จึงไม่เป็นการยุติธรรมต่อไทยเท่าไรนัก หากจะบอกว่า ประเทศไทยดำเนินนโยบายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในลักษณะของการตีสองหน้า

นอกจากนี้ ข้อเสนออีกประการหนึ่งที่ผู้เขียนได้จากการพิจารณาแนวทางในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของตัวแสดงหลักในระบบทุนนิยมโลกทั้งสอง ได้แก่ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยพิจารณากรณีนโยบายต่อประเทศไทย และขบวนการเสรีไทยเป็นหลัก ก็คือการดำเนินนโยบายที่ไม่ลงรอยกันของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเดียวที่เป็นเอกราชในภูมิภาคนี้ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเครื่องบ่งชี้ที่สำคัญถึงแนวโน้มของความขัดแย้งกับระหว่างระเบียบโลกเดิมของอังกฤษ หรือ Pax Britanica ที่เน้นระบบจักรวรรดินิยมอันมีอังกฤษเป็นศูนย์กลาง กับความพยายามของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการล้มกระดาน และสร้างระเบียบโลกใหม่ที่มีอเมริกาเป็นศูนย์กลาง หรือ Pax Americana ดังที่เราจะเห็นจากการที่อังกฤษพยายามที่จะไม่ให้การรับรองเอกราชของไทย เพื่อให้ไทยตกอยู่ในสถานะอาณานิคม หรือกึ่งอาณานิคมของอังกฤษ (คือการเป็นส่วนหนึ่งของ Pax Britanica) ในขณะที่สหรัฐอเมริกาให้การรับรองความเป็นเอกราชของไทยอย่างเต็มที่ ตลอดจนให้ความมั่นใจว่าจะสนับสนุนการดำเนินการต่าง ๆ ของไทยในฐานะรัฐเอกราชที่เป็นมิตรที่ดีกับอเมริกา (คือเป็นส่วนหนึ่งของ Pax Americana)

ข้อคิด และคำถามที่สำคัญที่ได้จากการศึกษาเรื่องนี้ คือ จากการที่ชาติมหาอำนาจทั้งสอง คือ อังกฤษ และอเมริกา ต่างก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเทศไทย และต้องการดึงไทยเป็นส่วนหนึ่งของ Pax ด้วยกันทั้งคู่ แม้ว่าอาจจะมีมุมมองด้านผลประโยชน์ที่ต้องการจะได้รับจากไทยแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาที่ต้องการใช้ความเป็นรัฐเอกราชที่ประสบความสำเร็จของไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นหมุดหมายสำคัญของการเริ่มต้น Pax Americana .ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ซึ่งประเด็นนี้ทำให้เราสามารถมองได้ว่า การเกิดขึ้นของขบวนการเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา และในอังกฤษนั้นเปรียบเสมือนการเตะอ้อยเข้าปากช้าง กล่าวคือ เป็นการเปิดทางให้ชาติมหาอำนาจเข้ามามีอิทธิพลในการควบคุมการเมืองและการดำเนินนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านการทหารและความมั่นคงในประเทศไทยได้พอดี และทำให้น่าคิดว่า หากไม่มีขบวนการเสรีไทย และไทยมีแต่รัฐบาลจอมพล ป. ที่ได้ประกาศเข้าข้างกับญี่ปุ่นแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว

1)ประเทศมหาอำนาจที่ต่างก็ต้องการจะแสวงหาประโยชน์จากประเทศไทยทั้งสองนี้ จะมีแนวทางอย่างไรในการเข้ามาหาประโยชน์จากประเทศไทย ? จะมีกลไกอื่นเกิดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกที่เริ่มต้นจากฝั่งอเมริกา

2)อเมริกาจะมีแนวทางอย่างไรที่จะเริ่มต้น Pax Americana ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถ้าไม่เริ่มที่ไทย? อาจจะเริ่มที่ฟิลิปปินส์

1.สถานการณ์ของประเทศไทยช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นยุคสมัยของการล่าอาณานิคมโดยชาติตะวันตกนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศเอกราชประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพิ่งผ่านการปฏิรูปเปลี่ยนประเทศเป็นรัฐสมัยใหม่ โดยที่กรุงเทพมีอำนาจแบบรวมศูนย์เหนือหัวเมืองต่าง ๆ

การที่ประเทศไทยเป็นประเทศเอกราชประเทศเดียว และตั้งอยู่ในจุดที่เหมาะสมแก่การยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่น น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นเลือกทาบทามไทยเป็นพันธมิตรประเทศแรกในเอเชีย ซึ่งรัฐบาลไทยในขณะนั้นมีความเห็นแตกต่างกันไปเป็นสองฝักสองฝ่ายในการที่จะให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่น กล่าวคือ ฝ่ายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (หลังจากที่พยายามดำเนินนโยบายเป็นกลางแล้ว แต่ไม่ได้ผล เพราะอังกฤษและอเมริกาไม่ช่วยอะไร) เห็นว่าไทยไม่อาจทำอะไรได้นอกจากยินยอมให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นโดยดี เนื่องจากได้พยายามขอความช่วยเหลือ และขอนโยบายไปทางอังกฤษและสหรัฐอเมริกาแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับความมั่นใจว่าจะให้ความช่วยเหลือ หรือการคุ้มครองใด ๆ และฝ่ายของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ไม่เห็นด้วยกับการร่วมมือกับญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี เมื่อญี่ปุ่นยกทัพขึ้นมาแล้ว โดยที่กองทัพไทยเองก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะต่อต้านได้ในขณะนั้น จอมพล ป. จึงจำเป็นต้องเจรจากับญี่ปุ่นก่อน โดยต่อรองกับญี่ปุ่นว่า กองทัพไทยจะไม่ขัดขวางการเคลื่อนพลของญี่ปุ่น เพียงแต่ขอให้ไม่เคลื่อนพลผ่านเมืองหลวง ทั้งนี้ จอมพล ป. ตระหนักดีว่า การดำเนินการเช่นนี้เป็นความเสี่ยงอย่างมาก เพราะถ้าญี่ปุ่นชนะสงคราม ก็จะต้องเข้ายึดครองประเทศไทยอย่างแน่นอน เนื่องจากเป้าหมายที่สำคัญที่สุดหนึ่งในการทำสงครามครั้งนี้ของญี่ปุ่นก็คือเพื่อตอบสนองความต้องการของระบอบทุนนิยมในญี่ปุ่นเองที่ก่อให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาแหล่งทรัพยากรมาสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ และแหล่งจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม แต่ถ้าญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยก็จะต้องอธิบายกับชาติสัมพันธมิตร เช่น อังกฤษ จีน และสหรัฐอเมริกาที่มีความสัมพันธ์อันดีกับไทยมาแต่เดิมได้ว่าเกิดอะไรขึ้น


2.มุมมอง และการดำเนินนโยบายของชาติมหาอำนาจต่อประเทศไทยในช่วงก่อนสงคราม

• ญี่ปุ่น


เหตุผลสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นเลือกประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ต้องการเป็นพันธมิตรด้วยนั้น น่าจะเป็นเพราะมองว่าประเทศไทยในฐานะประเทศเอกราช จะเป็นฐานกำลังที่ดีในการผ่านเข้าไปในเขตอาณานิคมของอังกฤษ ได้แก่มลายา และพม่า และคิดว่าจะได้รับความร่วมมือจากจอมพล ป. ที่เป็นผู้นำที่มีความทะเยอทะยาน จึงน่าจะเห็นถึงศักยภาพญี่ปุ่นที่เป็นเอเชียเหมือนกัน ประกอบกับการที่จอมพล ป. ดูจะเป็นผู้นำเผด็จการมากขึ้นเรื่อย ๆ การตัดสินใจของจอมพล ป. จึงไม่น่าจะมีใครคัดค้านมากนัก

• อังกฤษ

สหราชอาณาจักร หรืออังกฤษนั้น อาจนับได้ว่าเป็นชาติตะวันตกที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคอาณานิคม และมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทยมาเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่ช่วงที่ชาติตะวันตกต่าง ๆ เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และล่าอาณานิคมหลังจากที่อิทธิพลของจีนจางลงในช่วงปลายศตวรรษที่ 19
ในหมู่ประเทศต่างๆ ที่มาล่าอาณานิคมเหล่านี้ ไทยจะชื่นชมความสามารถของอังกฤษเป็นพิเศษเพราะสามารถยึดพม่า (ซึ่งเป็นศัตรูของไทยมานาน) ทางตอนเหนือ และมลายา (ซึ่งเป็นรัฐที่มีความเข้มแข็ง) ทางตอนใต้ของไทยเป็นอาณานิคมได้ อย่างไรก็ดี การที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิยมประเทศเพื่อนบ้านของไทย ก็ทำให้กษัตริย์ไทยตระหนักถึงภัยคุกคามของอังกฤษที่คงจะต้องการยึดไทยเป็นอาณานิคมไปด้วย จึงชิงดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับอังกฤษเสียก่อนทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง จนกระทั่งกลายเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของอังกฤษ โดยเฉพาะการค้าข้าว และการขนส่งสินค้าไปมลายา จนถูกเปรียบเทียบว่าเป็น virtual rice bowl ของอังกฤษเลยทีเดียว


• สหรัฐอเมริกา

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น สหรัฐอเมริกานับว่ามีบทบาท และความสัมพันธ์กับไทยค่อนข้างน้อย และไม่เคยแสดงท่าทีว่าจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์โดยตรงกับไทยแต่อย่างใด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ไทยเชื่อใจจ้างเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายการต่างประเทศตั้งแต่ปี 1902 โดยส่วนใหญ่แล้วจะช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องการเจรจาเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาค้าที่ไม่เป็นธรรมที่เคยทำกับชาติตะวันตก อย่างไรก็ดี ในช่วงต้น ๆ นั้นดูเหมือนว่าอเมริกาจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับสนธิสัญญาการค้าต่างๆ ของไทยนัก แม้ว่าในช่วงต่อมา อุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งทำให้เกิดความต้องการยางพารา จะทำให้อเมริกาสนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่บ้าง

สหรัฐอเมริกาเริ่มให้ความสนใจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในภาพรวม และประเทศไทยมากยิ่งขึ้นเมื่อมีการจัดทำ Project War and Peace Studies ในปี 1939 ที่เป็นการประเมินความพึ่งพาตัวเองได้ (self –sufficiency) ของภูมิภาคต่าง ๆ ในโลก โดยจากการประเมินพบว่า เยอรมนีเป็นประเทศที่มีการพึ่งพาตัวเองได้สูง และเข้มแข็งมากกว่าประเทศตะวันตกอื่น ๆ ทั้งหมด ทำให้สหรัฐอเมริกาอยู่ในสถานภาพที่ไม่มั่นคงถ้าจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ นอกเสียจากว่าจะหาทางเจาะเข้ามาในอาณานิคมของอังกฤษได้

• จีน

ประเทศจีนมีความสัมพันธ์กับไทยมาเป็นเวลานานมาก โดยคนจีนจำนวนมากได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน แต่งงานกับคนไทย และมีลูกมีหลานอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดเป็นเป็นชนชั้นที่เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ มีกลุ่มวัฒนธรรมเป็นของตนเอง และมีพลังทางเศรษฐกิจมากกว่าคนไทยเองที่เป็นเจ้าของประเทศ จนทำให้คนไทยเกิดความหวาดระแวงว่าจะเข้ามาครอบงำ แม้แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็ไม่ไว้วางพระทัย และเรียกคนจีนว่าเป็น ชนชาติยิวแห่งตะวันออก (Jews of the East)

การที่ไทยไม่ค่อยไว้วางใจจีนนี้ น่าจะเป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่า เพราะเหตุใดเมื่อไทยถูกญี่ปุ่นรุกราน รัฐบาลจึงไม่อยากติดต่อและมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนมากนัก เนื่องจากกลัวว่าความช่วยเหลือจากจีนที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของนโยบาย ที่ปรึกษา หรือกำลังคน ก็อาจจะกลายเป็นการส่งเสริมให้จีนเข้าครอบงำระบบการเมืองของไทยเข้าไปอีก (จากที่ครอบงำระบบเศรษฐกิจเยอะมาก) เนื่องจากตามปกติก็มีคนจีนเข้ามาทำงานรับราชการมากอยู่แล้ว

3. สถานการณ์ของประเทศไทยในช่วงสงคราม

แม้ว่ารัฐบาลจอมพล ป. จะได้ประกาศตนเป็นมิตรของญี่ปุ่นไปแล้ว แต่กระแสการต่อต้านญี่ปุ่น และเห็นว่าไทยไม่ควรร่วมมือกับญี่ปุ่นก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทย และในหมู่คนไทยในต่างประเทศ ที่ได้มีการจัดตั้งขบวนการต่อต้านฝ่ายอักษะ (โดยเฉพาะญี่ปุ่น) และสนับสนุนการดำเนินงานของฝ่ายสัมพันธมิตรขึ้น เรียกว่ากลุ่มเสรีไทย (Free Thai Movement) โดยตั้งใจให้เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวที่เข้มแข็งของคนไทยที่ไม่ต้องการให้ประเทศตกอยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่น และได้เรียนเชิญ มรว. เสนีย์ ปราโมทย์ เอกอัครราชทูตไทยในสหรัฐอเมริกา เป็นผู้นำ เนื่องจากเห็นว่า มรว. เสนีย์ รับราชการในตำแหน่งด้านการทูตในระดับสูง สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษคือ Oxford และสอบผ่านเนติบัณฑิตของอังกฤษ เป็นพระญาติ (เหลน) ของ ร. 2 ถือว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชวงศ์จักรีของไทย ถ้าพิจารณาจากความสามารถและชาติตระกูลแล้ว ก็ไม่มีจุดไหนที่อังกฤษ / อเมริกาจะเอามาเป็นเหตุในการอ้างเพื่อไม่ให้ความร่วมมือได้เลย

มรว. เสนีย์ ได้ติดตามสถานการณ์ของประเทศไทยมาตลอดตั้งแต่เริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่จอมพล ป. ประกาศนโยบายเป็นกลาง ได้ขอความเห็นไปยังรัฐบาลอเมริกาว่า จะให้ความช่วยเหลืออย่างไร และได้รับคำตอบว่า จะให้ความช่วยเหลือแบบเดียวกับที่ช่วยจีน มรว. เสนีย์จึงเป็นคนแรก ๆ ที่เสนอต่อรัฐบาลไทยในขณะนั้นว่าให้เตรียมแผนการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นไว้ด้วย และพยายามสื่อสารกับสหรัฐอเมริกาอยู่ตลอดเวลาว่า รัฐบาลไทยตระหนักดีถึงความน่ากลัวของญี่ปุ่น และคนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เชื่อใจญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยเองนั้น รัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งประกาศยอมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นไปแล้ว ก็ได้พยายามเตือนพวกเสรีไทยทางรายการวิทยุว่า การเข้ากับอังกฤษและอเมริกาก็เท่ากับประกาศตนเป็นศัตรูกับญี่ปุ่น อาจจะทำให้ประเทศชาติลำบากได้


4.มุมมอง และการดำเนินนโยบายของชาติมหาอำนาจต่อประเทศไทยในช่วงระหว่างสงคราม

แม้ว่าจะเป็นชาติในกลุ่มสัมพันธมิตรเหมือนกัน แต่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และจีน ก็เริ่มแสดงท่าที และดำเนินนโยบายที่แตกต่างกันต่อไทย ดังจะเห็นได้จากการตัดสินใจให้การสนับสนุน หรืออำนวยความสะดวกในการดำเนินงานให้แก่ขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่าง และความต้องการที่แตกต่างกันของชาติมหาอำนาจในการเข้ามาจัดระเบียบเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ

• อังกฤษ

หลังจากที่ มรว. เสนีย์ได้ให้มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดำเนินการจัดตั้งเสรีไทยไปยังคนไทย / นักเรียนไทยในอังกฤษ ก็ได้มีการรวมรวมและก่อตั้งกลุ่มเสรีไทยในอังกฤษ นำโดย มจ. ศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ อย่างไรก็ดี กลุ่มที่จัดตั้งขึ้นนี้ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือความเห็นใจจากรัฐบาลอังกฤษแต่อย่างใด จนกระทั่ง มจ. ศุภสวัสดิ์ได้เสนอแผนต่ออังกฤษว่า ประเทศไทยเป็นจุดอ่อนของการบุกของญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือเป็นจุดที่ญี่ปุ่นตั้งใจจะใช้เป็นทางผ่าน และฐานกำลัง ดังนั้น ถ้าจะส่งสายลับเข้าไป หรือให้คนไทยเป็นสายสืบ ก็จะได้ประโยชน์มาก ทำให้อังกฤษเริ่มเกิดความสนใจที่จะส่งทหาร หรือสายลับเข้าไปในประเทศไทย คณะเสรีไทยในอังกฤษจึงได้รับความช่วยเหลือในการฝึกทหารจาก Special Operation Executive (SOE) รวมทั้งรับคนไทย เช่น มจ. ศุภสวัสดิ์เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ อย่างไรก็ดี กองทัพอังกฤษไม่ได้ให้เกียรติคนไทยมากนัก โดยมักมองว่าเป็นพวกเดียวกับพม่า (คือเป็นอาณานิคมนั่นเอง)

เป็นที่น่าสังเกตว่า อังกฤษไม่มีการแสดงท่าทีอย่างชัดเจนเลยว่าจะดำเนินนโยบายอย่างไรกับไทยทั้งในระหว่างสงคราม และหลังสงคราม ซึ่งหากพิจารณาจากข้อเท็จจริงช่วงก่อนสงครามที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีความต้องการไทยเป็นอาณานิคมอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่าอังกฤษยังมีความต้องการที่จะยึดครองไทยเป็นอาณานิคมอยู่ หากอังกฤษจะแสดงความต้องการนี้ออกมาตรง ๆ ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ในหมู่สัมพันธมิตรด้วยกันมีปัญหาอย่างแน่นอน เนื่องจากจีนเองก็ดูเหมือนจะต้องการยึดครองไทยด้วยเหมือนกัน ส่วนสหรัฐอเมริกานั้นได้แสดงท่าทีว่าไม่สนับสนุนให้มีจักรวรรดินิยมอีกต่อไป แต่อังกฤษก็หวังว่าประสบการณ์ และความฉลาดทางการเมือง / การดำเนินนโยบายอย่างชาญฉลาดของตน น่าจะทำให้พอรักษาระเบียบโลกแบบจักรวรรดินิยมไว้ได้

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้จีนมีอิทธิพล หรือมีความร่วมมือกับไทยมากไปกว่าตน (ซึ่งอาจทำให้จีนเข้ามาครอบงำไทยได้สะดวกหลังสงคราม) อังกฤษจึงไม่พยายามที่จะร่วมมือกับจีนในการสนับสนุนเสรีไทย หากแต่พยายามนำเสนอว่า ถ้าอังกฤษจะร่วมมือกับเสรีไทย ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องผ่านจีน แต่อาจให้ผ่านทางอินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษแทน เช่น ในการจัดตั้งกองบัญชาการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อังกฤษก็ต้องการให้เจ้าหน้าที่ไทยคนสำคัญ ๆ ไปที่อินเดีย ไม่ใช่ที่จีน ดังนั้น อังกฤษจึงประกาศรับรองคณะเสรีไทยในอินเดีย และได้แสดงความหวังว่าจะรับรองรัฐบาลของนายปรีดีในอนาคต

• สหรัฐอเมริกา

ในช่วงต้น ๆ ของการเข้าร่วมสงครามนั้น สหรัฐอเมริกาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจอมพล ป. ไปเข้ากับญี่ปุ่น และ( มรว. เสนีย์เห็นว่า) อเมริกาไม่ได้ให้ความสนใจกับไทยมากนัก เพราะเห็นเป็นประเทศเล็ก ๆ อย่างไรก็ดี อเมริกาตอบรับข้อเสนอของเสนีย์ให้มีการจัดตั้งกองกำลังทหารไทยขึ้นมา โดยอยู่ภายใต้ Office of Strategic Services (OSS) ซึ่งเป็นกองกำลังที่จะถูกส่งไปจีน

อย่างไรก็ดี ในระยะเวลาต่อมา อเมริกาได้มีการทำการศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญของจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกมากหลายชิ้น ที่สำคัญมากได้แก่ผลการศึกษาจาก Peace Studies Project ของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะที่เป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ และความสำคัญของการที่จะต้องควบคุม หรือแสดงอิทธิพลทางด้านการเมือง และเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะ “มหามิตร” ของประเทศที่มีแนวโน้มที่จะชื่นชม และยินดีเป็นมิตรกับอเมริกาอยู่แล้วในภูมิภาคนี้ ดังนั้น เมื่อไทยพยายามให้สหรัฐรับรองรัฐบาลพลัดถิ่นของนายปรีดี และขอให้ปล่อยเงินที่เก็บไว้ในสหรัฐให้ สหรัฐจึงให้ความหวัง และแสดงเจตนารมณ์ที่ดีต่อไทยอย่างเต็มที่


นอกจากนี้ ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 1944 เป็นต้นมา ที่รัฐบาลปรีดีเริ่มมีความชัดเจนขึ้น ก็มีรายงานการศึกษา และบันทึกข้อตกลง (memoranda) ออกมาหลายชิ้น ซึ่งเป็นการแสดงว่า อเมริกาทวีความสนใจในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ในฐานะประตูไปสู่พื้นที่ ๆ มีความสำคัญ (คือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เช่น งานของนักวิเคราะห์ Dwight Bulkley เรื่อง The Importance of Thailand’s Political Future ที่กล่าวถึงความสำคัญของประเทศไทยในฐานะที่เป็นตัวอย่างเดียวของชาติในเอเชียติก (Asiatic Nation) ที่มีความมั่นคง มีความสามารถ และมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น สถานะหลังสงครามของประเทศไทย จะเป็นตัวอย่างที่ดีต่อประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย และจะเป็นสิ่งที่ตัดสินว่า อเมริกาจะมีความหวัง และมีความมั่นใจกับภูมิภาคนี้ได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ รายงานนี้ยังกล่าวถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในฐานะเส้นทางการบิน เพื่อเป็นการสื่อความหมายโดยนัยว่า อเมริกาไม่ควรปล่อยให้สนามบินดอนเมืองตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอังกฤษ รวมทั้งได้เสนอให้อเมริกาสร้างความเชื่อใจ เพื่อให้ได้รับความร่วมมือจากไทยในอนาคต โดยการรับรองเอกราชทางการเมืองของไทยหลังสงคราม สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้นำไทย และบอกไทยว่าอเมริกาตระหนักดีถึงการคุกคามของอังกฤษและจีนต่อไทย
ในส่วนของอังกฤษนั้น อเมริกาได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า การร่วมรบในสงครามโลกครั้งนี้ อเมริกาไม่ได้ต่อสู้เพื่อรักษาอาณานิคมอังกฤษ (British Empire) ไว้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และหากอังกฤษต้องการอย่างนั้น ก็ขอเชิญวางแผนไปคนเดียว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของอเมริกาว่า ไม่ได้ต้องการจะรักษา หรือแม้แต่จะอยู่ในระเบียบโลกเดิมที่มียุโรปเป็นศูนย์กลาง แต่ต้องการสร้างระเบียบโลกใหม่เลย

ในส่วนของประเทศจีนนั้น สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญ และมีความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจีนพอสมควร เนื่องจากระแวงว่าจะมีการสร้าง Asiatic Blog นำโดยจีน โดยการสนับสนุนของอินเดีย และประเทศอื่นๆ ตั้งแต่อัฟกานิสถานไปจนถึงญี่ปุ่น และอาจรวมไปถึงตุรกีและอียิปต์เมื่อสิ้นสุดสงคราม จึงเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องพยายามมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลจีนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้


ความพยายามที่จะสร้างระเบียบโลกใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของสหรัฐอเมริกา โดยมีไทยเป็นกุญแจสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจเห็นได้จากการที่อเมริกาแสดงท่าทีว่าต้องการส่งเสริมเอกราชของประเทศไทยหลังสงครามอย่างเต็มที่ โดนยอมรับคณะของนายปรีดี และเน้นว่า ไม่ได้ต้องการเข้าปกครองประเทศไทยหลังสงคราม ซึ่งเป็นการแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าอเมริกาไม่ต้องการเล่นเกมล่าอาณานิคมที่เป็นส่วนหนึ่งของระเบียบโลกเก่า

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าอเมริกาจะมีท่าทีที่เป็นมิตรกับไทยขนาดไหน และดูเหมือนว่าจะเข้าใจเป็นอย่างดีว่าอังกฤษซึ่งเป็นชาติจักรวรรดินิยมนั้นไม่เต็มใจให้การสนับสนุนไทยอย่างไรบ้าง แต่ก็ดูเหมือนว่าอเมริกาจะไม่สามารถทำให้อังกฤษ (ที่เป็นชาติพันธมิตรเหมือนกันและน่าจะคุยกันรู้เรื่อง) ปรับเปลี่ยนนโยบายมาสนับสนุนเอกราชหลังสงครามของไทยอย่างชัดเจนได้เลย ทั้งยังไม่ได้แสดงความตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะทำด้วย ซึ่งก็น่าจะเป็นเพราะเพราะอเมริกาไม่ได้ตั้งใจจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอังกฤษอยู่แล้วนั่นเอง

• จีน

ประเทศจีนเป็นประเทศใหญ่และค่อนข้างมีอิทธิพลมากในเอเชีย จึงเป็นที่หวาดระแวงว่า อาจเป็นผู้นำในการสร้าง Asiatic Blog ดังนั้นหลังเหตุการณ์ Pearl Harbor ทั้งอังกฤษและอเมริกาจึงพยายามเตือนรัฐบาลจอมพล ป. ให้ระแวงว่าจีนจะยึดไทยเป็นอาณานิคมไว้ ซึ่งก็สอดคล้องกับความกลัวของรัฐบาลไทยเองเพราะตามปกติจีนก็เข้ามามีอิทธิพลทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองเยอะอยู่แล้ว

ด้วยความระแวงว่าประเทศจีนจะเข้ายึดครองไทยที่มีมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนเริ่มสงคราม ทำให้ไทยไม่ต้องการที่จะขอความช่วยเหลือจากจีน แม้แต่นายปรีดีเองก็หวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษและอเมริกามากกว่า แต่ในเมื่อต้องเดินทางผ่านจีน ก็เลยไม่สามารถละเลยจีนได้ และก็มีความหวังว่า จากการที่รัฐบาลจอมพล ป. มีนโยบายต้านจีน ทำให้จีนไม่ค่อยชอบรัฐบาลของจอมพล ป.น่าจะทำให้จีนสนับสนุนตนเองเป็นหัวหน้ารัฐบาลพลัดถิ่นมากกว่า

ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น แม้ว่าจะเข้าร่วมในฐานะกลุ่มประเทศสัมพันธมิตร ประเทศจีนก็ตระหนักถึงความแปลกแยกของตนเองเมื่อรวมอยู่กับประเทศอื่น ๆ เนื่องจากรู้สึกว่าอังกฤษ และอเมริกาที่เป็นประชาธิปไตย และทุนนิยมเสรีน่าจะเข้ากันได้ดีกว่า ประธานาธิบดี Roosevelt คำนึงถึงข้อเท็จจริงตรงนี้ จึงพยายามตีตัวออกห่างจากอังกฤษ เพื่อให้เป็นการรักษาความสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรด้วยกัน เพื่อป้องกันไม่ให้จีนตีตัวออกห่างหรือไปร่วมกับญี่ปุ่น และ/หรือประเทศอื่น ๆ ในเอเชียจัดตั้ง Asiatic blog รัฐบาลอเมริกันทำเช่นนี้โดยการแสดงท่าทีว่าไม่พอใจลัทธิจักรวรรดินิยม และเห็นว่าการล่าอาณานิคมของยุโรปนั้นเป็นการเอารัดเอาเปรียบและล้าหลัง ซึ่งก็เป็นทัศนคติที่ถูกจริตคนอเมริกันในยุคนั้นที่ต้องการจะแสดงให้เห็นว่าตนเองเป็นพวกมีจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติและต่างจากพวกยุโรป

สำหรับอังกฤษนั้น แม้จะเป็นชาติพันธมิตรเหมือนกัน แต่จีนก็ไม่อาจร่วมมือด้วยได้อย่างสนิทใจ เนื่องจากจีนได้ต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษมาเป็นเวลานาน ทั้งยังมีความไม่พอใจอังกฤษที่ให้ความช่วยเหลือจีนน้อยมากเวลาที่ถูกญี่ปุ่นรุกราน และไม่ค่อยเห็นคุณค่าเวลาส่งทหารจีนไปช่วยรบ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า อังกฤษเองก็ไม่ต้องการให้ความร่วมมือกับจีน และเสรีไทยโดยผ่านทางจีน จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้การดำเนินงานของคณะจำกัดที่จีนมีอุปสรรคเนื่องจากมักต้องรอนานมากกว่าจะได้เจรจาแต่ละครั้ง แม้ว่าการเจรจาแต่ละครั้งจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ก็ปรากฏว่าเสรีไทยไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลจีน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้บอกว่าจะต่อต้าน เพราะจีนเองก็ได้สนับสนุนขบวนการเสรีไทยโดยการฝึกทหารให้ และจัดตั้งกองกำลังเหมือนกัน หากในบางครั้งแต่ก็ทำเหมือนขัดขวางการดำเนินงาน หรือไม่พยายามอำนวยความสะดวกให้เลย เช่น กักตัวจำกัดไว้นาน จนดูเหมือนพยายามขวางไม่ให้ติดต่อกับเสรีไทยอังกฤษ กีดกันไม่ให้จำกัดพบกับ มจ. ศุภสวัสดิ์ เพราะไม่อยากให้ได้อิทธิพลจากอังกฤษมากนัก และมีส่วนสำคัญในการประวิงเวลาให้การดำเนินงานทุกอย่างล่าช้า เนื่องจากไม่มีใครทำอะไรในจีนได้โดยไม่ผ่านรัฐบาลจีน

5.มุมมอง และการดำเนินนโยบายของชาติมหาอำนาจต่อประเทศไทยในช่วงสงครามกำลังจะยุติ และหลังสงครามสงบ


ในช่วงก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะสงบ หลังจากที่จอมพล ป. ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการอยู่ในขณะนั้นได้แต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และตัดสินใจดำเนินนโยบายต่อต้านญี่ปุ่น โดยกรณีที่ชัดเจนมากกรณีหนึ่ง คือการปฏิเสธไม่ให้กู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการทหาร 100 ล้านบาท ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่น่าเอามาเป็นเหตุผลในการอ้างได้ เพราะไทยได้ให้ญี่ปุ่นกู้ยืมเงินไปแล้วร่วม 420 ล้านบาทตั้งแต่ 6 เดือนแรกของ 1945 แต่ก็ได้ผลดีในการสื่อสารกับอังกฤษและอเมริกาว่าไทยจะต่อต้านญี่ปุ่นจริง ๆ

• อังกฤษ

จากรายงานการศึกษาของสหรัฐอเมริกาพบว่า อังกฤษ ซึ่งยังคงต้องการผลประโยชน์จากชาติอาณานิคมของตนแต่เดิมอยู่นั้น จะต้องพยายามดำเนินการใด ๆ ก็ตามเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์สูงสุดในการเจรจาต่อรองผลประโยชน์หลังสงครามเลิกอย่างแน่นอน แม้แต่การสนับสนุนให้ไทยกับญี่ปุ่นปะทะกัน เพื่อให้สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยไม่มีเสถียรภาพ อังกฤษจะได้ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อเข้ามาปกครองได้ง่าย

เจตนารมณ์ของอังกฤษที่เห็นได้ผ่านพฤติกรรมต่าง ๆ ในช่วงก่อนยุติสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชาติพันธมิตรจะชนะสงครามนั้น บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า อังกฤษต้องการกลับมามีอิทธิพลในฐานะมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจเหนือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอาจผ่านทางสหพันธ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Federation) กล่าวคือ มีความต้องการที่จะการรื้อฟื้นจักรวรรดินิยมของอังกฤษขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลายาที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งขยายอำนาจทางการทหารในภูมิภาคนี้ โดยครอบคลุมประเทศไทยไปด้วย และการที่ต้องการเข้ามาควบคุมทางเศรษฐกิจ ก็เพื่อที่จะฟื้นฟูอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม อย่างไรก็ดี การดำเนินการเช่นนี้ย่อมเป็นการขัดขวางการค้าของอเมริกา ซึ่งอเมริกาย่อมไม่เห็นชอบด้วยอย่างแน่นอน

ดังนั้น อังกฤษจึงยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจน และไม่เปิดเผยนโยบายที่จะใช้ในการดำเนินการกับไทยในช่วงหลังสงครามแม้ว่ารัฐบาลไทยจะพยายามขอเจรจาด้วย ส่วนใหญ่จะแสดงความคิดเห็นในลักษณะกลาง ๆ ชื่นชมปฏิบัติการของไทย แต่ไม่บอกว่าจะสนับสนุนเอกราชหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปรีดีตัดสินใจดำเนินนโยบายต้านญี่ปุ่นชัด ๆ ไปเลย

• สหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกาตระหนักดีถึงเจตนาของอังกฤษ รวมทั้งประเทศเจ้าอาณานิคมอื่น ๆ เช่น ฝรั่งเศส และดัชท์ ในการจะรื้อฟื้นอาณานิคมตัวเอง และยึดครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการครอบครองประเทศแถบนี้ทั้งหมดว่าเป็นความเห็นแก่ตัว และไม่แปลกใจที่ญี่ปุ่นเลือกที่จะเล่นบทผู้ปลดปล่อยประเทศแถบนี้จากการเป็นอาณานิคม ซึ่งทำให้เกิดกระแสชาตินิยมขึ้นมาอย่างมากมายอย่างไรก็ดี อเมริกาก็ยังไม่อาจจะแสดงท่าทีที่ขัดแย้งกับประเทศยุโรปเหล่านี้ได้อย่างเปิดเผย เพราะยังคงต้องการให้ประเทศพวกนี้อยู่ข้างตัวเองในสงครามเย็น แต่สำหรับไทยซึ่งเป็นเอกราชอยู่เดิมนั้น อเมริกาสามารถแสดงท่าทีออกมาชัด ๆ ได้เลยว่า สนับสนุนให้เป็นเอกราช ทั้งยังสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นของไทย เช่น เข้าร่วมบัญชาการกองทหาร (แต่ก็ไม่อาจจะใช้กำลังทหารตัวเองหนุนได้ถ้าไทยจะลุกฮือขึ้นมาต้านการยึดครองของญี่ปุ่น เพราะคิดว่าเป็นการกระทำที่ไม่คุ้ม ต้านได้อย่างมากก็เดือนเดียว แล้วถ้ามีการต่อต้านเกิดขึ้นก่อนกาลอันควร (premature outbreak) ญี่ปุ่นก็อาจจะใช้เป็นเหตุผลในการนำกำลังเข้ายึดไทยได้)

การดำเนินการเหล่านี้ของอเมริกาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาลไทยและคนไทย ซึ่งก็สอดคล้องกับความต้องการของอเมริกาในการเสริมสร้างความรู้สึกนิยมชมชอบอเมริกาในกรุงเทพฯ ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้อเมริกาเลือกดำเนินนโยบายเช่นนี้ ก็เพราะประเทศไทยเป็น “หนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประชาธิปไตยแบบทุนนิยม (Capitalist democracy) ในตะวันออก” ที่ถ้าหากได้เป็นมิตรแล้ว ก็ย่อม “เอื้ออำนวยให้มีการปฏิบัติการลับใด ๆ ก็ได้แทบจะทุกอย่าง ” นอกจากนี้ การที่มีประเทศไทยเป็นประเทศเอกราช และเป็นประเทศที่รุ่งเรืองดีมีความสุขอยู่ประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น จะเป็นหนามยอกอกที่สำคัญของของอังกฤษที่เป็นนักล่าอาณานิคมด้วย


6.การเจรจาตกลงระหว่างชาติมหาอำนาจ และประเทศไทยช่วงหลังสงคราม : ข้อตกลงอังกฤษ – ไทย (Anglo-Thai Agreement) และข้อตกลงอังกฤษ – อเมริกัน (Anglo-American Agreement)

แม้เมื่อสงครามได้ยุติลงแล้ว อังกฤษก็ยังคงมิได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อไทย ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ตัดสินใจเชิญ มรว. เสนีย์ ปราโมทย์มาเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเชื่อว่าว่าการที่ มรว. เสนีย์ เป็นบุคคลสำคัญที่ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับเสรีไทยในต่างชาติทั้งหลาย น่าจะช่วยทำให้ชาติพันธมิตรทุกชาติแสดงท่าทีที่ชัดเจนกับไทยได้ นอกจากนี้ นายปรีดียังได้ขอความร่วมมือจากอเมริกาในการเรียกร้องให้อังกฤษรับรองเอกราชของประเทศไทยหลังสงครามด้วย ในที่สุด อังกฤษก็ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจน โดยการเสนอ ข้อตกลงอังกฤษ – ไทย ( Anglo – Thai Agreement) ซึ่งประกอบด้วยข้อเสนอจำนวน 21 ข้อต่อไทย

ข้อตกลงอังกฤษ - ไทย (Anglo-Thai Agreement) หรือที่เรียกว่า ข้อตกลงสมบูรณ์แบบ มีประเด็นที่เป็นหลัก (Standing issues) อยู่ 3 ประเด็นได้แก่ 1) สถานภาพของไทยหลังสงคราม 2) สิ่งที่ไทยจะต้องทำเพื่อเป็นการชดเชยหลังจากเลิกสงคราม และ 3) การปลดอาวุธในประเทศไทย โดยที่ข้อตกลงนี้มีที่มาจากการประเมินของคณะกรรมการตะวันออกไกลของคณะรัฐมนตรีอังกฤษในสภาวะสงคราม (War cabinet’s Far Eastern committee) ซึ่งเห็นว่า อังกฤษจะต้องดำเนินการฟื้นฟูสภาพการเงินอย่างเร่งด่วน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทย ก็คือจะต้องรื้อฟื้นที่เคยครอบงำการค้าต่างประเทศส่วนใหญ่ที่สุดของไทยให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องข้าว ที่อังกฤษและมลายาขาดแคลนมากช่วงสงคราม เพราะการขนส่งไม่ดี ดังนั้นจะต้องเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนเสบียงข้าวนี้โดยเร่งด่วน ติดตรงที่อังกฤษเองก็ตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองหลังสงคราม และข้าวไทยก็ทำท่าจะขึ้นราคาถ้าปล่อยให้เป็นระบบตลาดเสรี ไทยจะกลายเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์บนความทุกข์ของประเทศเพื่อนบ้าน (คือพวกอาณานิคมเดิม) ถ้าปล่อยให้เป็นหนึ่งในประเทศที่ชนะสงคราม เพราะอเมริกาเองก็สนับสนุนอยู่ อังกฤษจะต้องทำยังไงก็ได้ให้ไทยให้ข้าวอังกฤษฟรี ๆ ดังนั้น อังกฤษก็จะเน้นแต่ว่าไทยได้ประกาศเข้าข้างรัฐบาลจอมพล ป. ไปแล้วอยู่ตลอดเวลา หรือเสนอภาพของประเทศไทยออกมาในลักษณะของประเทศที่เอาแต่ได้ เช่น นสพ. The Straits Time ของอังกฤษ (แต่พิมพ์ที่สิงคโปร์) กล่าวหาว่าไทยดำเนินนโยบายแบบตีสองหน้า และเป็นศัตรูของอังกฤษ นอกจากนี้ การปล่อยให้ประเทศไทยเป็นประเทศเอกราชที่ขาดการควบคุมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลาง หรือจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติและความขัดแย้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


หลังจากความพยายามหลายครั้งที่จะเจรจากันให้ชัดเจน คณะผู้แทนของอังกฤษ (นำโดยนายพล Mountbatten) ก็จัดทำและเรียกร้องให้ผู้แทนไทย (นำโดยนายพลศักดิ์ เสนาณรงค์ และทวี ตะเวทิกุล) ลงนามในสัญญา 21 ข้อ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าคล้ายกันมากกับข้อเรียกร้อง 21 ข้อของญี่ปุ่นต่อประเทศจีนในปี 1915 เนื้อหาของสัญญาก็เป็นข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่อังกฤษต้องการให้ไทยทำหลังสงคราม โดยอ้างว่าไทยจะต้องทำอะไรอีกมากเพื่อพิสูจน์ตนเอง และไม่อยู่ในสถานะที่จะต่อรองกับอังกฤษได้ โดยที่นายพล Mountbatten ได้เร่งให้ผู้แทนไทยลงนามเร็ว ๆ เพราะตัวเองจะต้องบินไปร่วมพิธียอมจำนน (surrender ceremony) ที่สิงคโปร์ ภายในวันที่ 9 กันยายน อย่างไรก็ดี นายพลศักดิ์ไม่ยอมลงนามโดยอ้างว่า ตนเองไม่ได้รับอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องที่นอกเหนือจากการทหาร นายพล Mountbatten ก็เลยบังคับให้รับรองข้อที่เกี่ยวข้องกับการทหารก่อน แล้วส่งที่เหลือไปกรุงเทพ ทวีก็แจ้งอเมริกาทันทีว่าอังกฤษบังคับให้ไทยลงนามในสัญญาภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งเมื่ออเมริกาได้รับรายงานว่า อังกฤษบังคับทำสัญญากับไทยในนามพันธมิตร ก็คัดค้านทันทีว่าทำไมอังกฤษจึงทำข้อตกลงในนามพันธมิตร (เพราะในสัญญาเขียนว่าเป็น Allied Military Authorities ) โดยที่สหรัฐอเมริกาไม่รู้เรื่องเลย ทั้งนี้ ผู้แทนอเมริกาในไทยรายงานไปยังรัฐบาลกรุงวอชิงตันว่า ไทยยินดีที่จะลงนามในสัญญาใด ๆ ก็ตามกับพันธมิตร แต่ไม่ยินดีที่จะลงนามในสัญญาใด ๆ ที่อาจจะทำให้อังกฤษได้รับสถานภาพพิเศษ และอเมริกาก็แนะนำมาว่าไทยไม่ควรจะกลัวอังกฤษ และรัฐบาลไทยจะดูดีกว่ามากถ้าไม่ลงนามในสัญญาอะไรที่ไม่เป็นธรรม

Charles Yost ซึ่งเป็นที่ปรึกษาสหรัฐของประเทศไทย เห็นว่าท่าทีของอังกฤษต่อไทยนั้นค่อนข้างประหลาดๆ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเพราะ 1) โกรธที่ไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่น และเกรงว่าจะไปเข้าร่วมกับชาติหัวรุนแรง / ชาติที่คิดจะก่อการอะไรอีกในอนาคต 2) ต้องการแสวงหาประโยชน์จากสถานภาพของประเทศไทยในฐานะผู้แพ้สงคราม เพื่อที่จะได้เอาประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองจากภูมิภาคนี้ให้เต็มที่ 3) มีทัศนคติแบบนักล่าอาณานิคม ว่าพวกอาณานิคมแถว ๆ นี้ความสามารถต่ำต้อยปกครองตัวเองไม่ได้ ซึ่งทัศนคติ และการดำเนินนโยบายเช่นนี้ของอังกฤษ สะท้อนให้เห็นว่า อังกฤษมีนโยบายในการที่จะดึงประเทศไทยลงมาอยู่ในสถานะเดียวกับพม่า และมลายา และมีผู้กล่าวว่า หากประเทศไทยยอมตามอังกฤษจริง ๆ ก็จะเหมือนเป็นการจำนองประเทศต่อจักรวรรดิอังกฤษไปเลย

อย่างไรก็ดี อเมริกาตระหนักดีว่าอังกฤษซึ่งประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักหลังสงครามนั้นต้องการอะไร และตระหนักถึงสถานภาพที่แท้จริงของอังกฤษว่าแม้จะต้องการ แต่ก็ไม่มีความสามารถที่จะทำตามความมุ่งหวังของตัวเองที่จะควบคุมประเทศไทยหลังสงครามโลกได้ เพราะปัญหาความวุ่นวายด้านการเมืองและเศรษฐกิจของตัวเอง อเมริกาจึงเสนอให้ไทยเสนอให้ข้าวฟรีกับอังกฤษ ซึ่งนายปรีดีก็ยินดีเสนอให้ นอกจากนี้ อเมริกายังช่วยโน้มน้าวอังกฤษทางอ้อม โดยการเสนอข่าวผ่าน New York Times ว่าไทยเป็นหนึ่งในแหล่งข่าวสำคัญเกี่ยวกับญี่ปุ่น คือเน้นความร่วมมืออเมริกัน – ไทย ระหว่างสงคราม เพื่อให้อังกฤษตระหนักได้ว่าตนเองก็ได้ให้ความร่วมมือกับเสรีไทยในระหว่างสงครามด้วยเช่นกัน

มรว. เสนีย์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีฟังคำแนะนำของอเมริกา และตระหนักดีว่าข้อเสนอทั้ง 21 ข้อของอังกฤษฟังดูแปลก ๆ แต่ปรีดี กับ มจ. ศุภสวัสดิ์เห็นว่า ไทยไม่สามารถละเลยข้อเสนอของอังกฤษได้ เนื่องจากอังกฤษดูเป็นประเทศมหาอำนาจใหญ่โตมากช่วงก่อนสงคราม (เพราะเป็นมหาอำนาจในระเบียบโลกนั้น) ในขณะที่อเมริกาดูมีบทบาทนิดเดียว นอกจากนี้ มจ. ศุภสวัสดิ์ยังมองเห็นด้วยว่า มรว. เสนีย์อาจจะระแวงอังกฤษมากไป เพราะว่าอังกฤษยากจนมากหลังสงคราม ไม่น่าจะสามารถขยายอาณานิคมมายึดครองไทยได้ ในขณะที่อเมริกาก็อาจจะแค่พูดอะไรเพื่อเอาใจไทยแค่นั้นก็ได้

ดังนั้น ไทยจึงส่งคณะผู้แทนชุดใหม่ไปร่วมการลงนามในข้อตกลงดังกล่าวที่ศรีลังกา (Kandy) (นำโดย มจ. วิวัฒนชัย ไชยยันต์) เพื่อไปพบกับคณะผู้แทน / ที่ปรึกษาจากสหรัฐ (นำโดย Charles Yost) ที่จะให้คำแนะนำการลงนามทำข้อตกลงใด ๆ หลังสงคราม ทั้งนี้ ไทยจะไม่ลงนามในข้อตกลงใดๆ ถ้าอเมริกาไม่เห็นชอบด้วย

ในขณะเดียวกันนั้น อังกฤษและอเมริกาก็กำลังมีการทำข้อตกลงร่วมกันที่เรียกว่า ข้อตกลงอังกฤษ – อเมริกัน (Anglo –American Agreement) ซึ่งอเมริกาพยายามต่อรองให้อังกฤษยอมเปิดประตูให้มีการค้าเสรี (แลกกับการให้เงินกู้ที่อังกฤษต้องการมาก) แต่ก็ต่อรองไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ จึงได้ส่งข่าวมาทางไทย ว่าไม่ควรลงนามในสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรจะลงนามใน Anglo-Thai agreement ก่อนที่ฝั่ง Anglo-American จะตกลงกันเรียบร้อย ในประเด็นที่เกี่ยวกับข้าว และการรักษาความมั่นคงหลังสงคราม โดยอเมริกาเสนอให้ไทยส่งข้าว 240,000 ตันผ่านทางสหประชาชาติแทนที่จะส่งให้กับอังกฤษโดยตรง เมื่ออังกฤษเห็นว่าการเจรจาจะยืดเยื้อ และไทยก็ยังไม่ยอมส่งข้าวให้ (เพราะยังไม่ได้ลงนามในสัญญา) ทำให้เสบียงขาดแคลนมาก ก็เลยเสนอว่าจะจ่ายเงินให้ครึ่งหนึ่งก่อน

มรว. เสนีย์และปรีดีตกลงว่าจะไม่ลงนามใด ๆ ถ้าไม่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ จึงบอก มจ. วิวัฒนชัยให้ชะลอการลงนามไว้จนกระทั่งอังกฤษและอเมริกาตกลงกันได้ โดยอังกฤษยอมให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการข้าว โดยมีกรรมการฝ่ายอเมริกาและไทยเข้ามาร่วมในการจัดสรรโควต้า และการจัดส่งข้าว ให้การเรียกร้องทางการเงินต่อไทยไม่เกินต่อความสามารถของประเทศที่จะจ่ายได้ และอเมริกาต้องมีส่วนร่วมด้วยในข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการทหารด้วย ไทยจึงได้ลงนามใน Anglo –Thai Agreement คนไทยส่วนใหญ่ก็จึงมีทัศนคติที่ดีต่ออเมริกา เนื่องจากเห็นว่าช่วยไทยเยอะมากในการเจรจาครั้งนี้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าอเมริกาจะแสดงท่าทีชัดเจนว่าสนับสนุนให้ไทยเป็นเอกราช เช่น ประกาศออกวิทยุ Voice of America แต่ก็ไม่ได้แสดงการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่อังกฤษกลัวว่าจะเสื่อมความนิยม ซึ่งจะนำไปสู่การเสื่อมอิทธิพลในฐานะชาติมหาอำนาจในไทย จากการทำ Anglo-Thai agreement จึงส่งนายพล Mountbatten เข้ามาร่วมฉลอง Peace agreement ช่วง 18 – 22 มกราคม แต่ปัจจัยสำคัญที่ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทย - อังกฤษได้จริงๆ คือการที่อังกฤษยอมจ่ายค่าข้าวให้ไทย และส่งเรือสินค้าเข้ามาถึงไทยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 1946


7. สรุป และมุมมองต่อการดำเนินนโยบายของไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2


เป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าใจผิดว่า การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการดำเนินนโยบายแบบตีสองหน้า โดยพิจารณาจากการที่ จอมพล ป. ยอมร่วมมือกับญี่ปุ่น ในขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ มรว. เสนีย์ ปราโมทย์ และคนไทยกลุ่มใหญ่ ๆ อีกกลุ่มหนึ่งร่วมกันจัดตั้งคณะเสรีไทยเพื่อเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ดูเหมือนว่าไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะสงคราม ไทยก็จะอยู่ในฝ่ายที่ได้รับผลประโยชน์อยู่ดี อย่างไรก็ตาม หากเรามองให้ครอบคลุมถึงการดำเนินนโยบาย และความชัดเจนของท่าทีของประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ที่มีต่อประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยเป็นเพียงตัวแสดงตัวหนึ่งบนเวทีโลก ที่บทบาทส่วนใหญ่ถูกจำกัดด้วยบริบทการตัดสินใจและการดำเนินนโยบายต่างๆ ของประเทศมหาอำนาจ แม้ว่าอาจจะมีการตัดสินใจได้ด้วยตัวเองบ้างแต่ก็น้อยมาก การดำเนินนโยบายที่ดูเหมือนกับว่าเป็นการตีสองหน้าของไทยนั้น จึงเกิดจากความไม่ชัดเจนของนโยบายของมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษต่อไทยมากกว่า

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะทำให้เราเห็นภาพนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือเมื่อรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์จัดการสวนสนามเพื่อแสดงถึงการสนับสนุนต่อชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรของไทยในวันที่ 25 กันยายน สหรัฐอเมริกาได้ส่งทหารเข้าร่วมด้วย ในขณะที่อังกฤษปฏิเสธที่จะเข้าร่วม ทำให้นักวิเคราะห์นำมาเป็นประเด็นในการมองว่าเป็นการดำเนินนโยบายแบบสองฝักสองฝ่ายอีกครั้งหนึ่ง เพราะการที่อเมริกาเข้าร่วมพิธีสวนสนามโดยที่อังกฤษไม่ได้เข้าร่วม ทำให้ดูเหมือนไทยพยายามแยกการติดต่อระหว่างอังกฤษกับอเมริกาซึ่งเป็นมหาอำนาจทั้งคู่อีก โดยการเชิญเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ แยกกัน ทั้ง ๆ ที่ที่จริงไทยไม่ได้ตั้งใจจะแยกเลย เพียงแต่อังกฤษกับอเมริกาไม่ยอมทำงานร่วมกันเองต่างหาก ทั้งนี้ นักวิชาการเช่น Edmund Taylor ได้แสดงทัศนะความไม่ลงรอย และการไม่ร่วมมือกันระหว่างอเมริกา และอังกฤษในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยว่า มุมมองของทั้งสองชาติมหาอำนาจต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปรียบเสมือนน้ำกับน้ำมันที่ไม่มีทางผสมกลมกลืนกันได้อยู่แล้ว

สำหรับในแง่ของการดำเนินนโยบายต่อไทยของสองชาติมหาอำนาจของไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นการศึกษาหลายชิ้น เช่น งานของ John Coast และ Frank Darling เห็นว่า การดำเนินนโยบายของอังกฤษนั้นเป็นไปโดยสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง (realistic) และมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์โดยไม่จำกัดหลักการ (pragmatic) มากกว่า อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าอเมริกาจะเข้าใจเจตนาของญี่ปุ่นได้ดีกว่า ว่าตั้งใจจะทำให้การปกครองอาณานิคมของอังกฤษเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้น วิธีการของอังกฤษจึงไม่น่าจะได้ผล นอกจากนี้ นักวิชาการเช่น Nicholas Tarling และ Christopher Thorne ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินนโยบายของอังกฤษนั้นมีเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน และดูลึกลับ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อเมริกาไม่ไว้ใจ ในขณะที่การดำเนินนโยบายของอเมริกาต่อประเทศไทยนั้นดูจะมีความสอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน (coherent) รวมทั้งชัดเจนและสม่ำเสมอ (consistent) มากกว่า ซึ่งอาจจะเป็นเพราะอเมริกาไม่ได้มีผลประโยชน์มากในภูมิภาคนี้มาก่อน ทำให้การดำเนินนโยบายใด ๆ เป็นไปได้โดยอิสระ นอกจากนี้ นโยบายของสหรัฐอเมริกาต่อประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ออกมานั้นดูมีมนุษยธรรม และเห็นแก่ผลประโยชน์ของผู้อื่นมาก อย่างไรก็ดี Darling ตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินนโยบายของอเมริกาดูจะมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งหวังผลสัมฤทธิ์อยู่เหมือนกัน ก็คือการทำลายระเบียบโลกแบบจักรวรรดิ์นิยม และสร้างระเบียบโลกใหม่ โดยที่มีตนเองเป็นศูนย์กลางขึ้นมาแทน โดยเริ่มจากการสร้างชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ ขึ้นเป็นต้นแบบของจักรวรรดินิยมโลกเสรี (“Free world” imperialism) ที่อเมริกา (ในฐานะมหามิตร) ตระหนักถึงความเป็นเอกราช และยินดีให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจให้เป็นระบบเสรี ตลอดจนทรัพยากรด้านการทหาร แต่ไม่เข้ามาแทรกแซงการดำเนินการเมืองการปกครองในประเทศนั้น ๆ ด้วยตนเอง

หมายเหตุ : สรุปความจาก Reynolds, E. Bruce. (2005) Thailand’s Secret War. Cambridge: Cambridge University Press



Create Date : 11 มิถุนายน 2551
Last Update : 11 มิถุนายน 2551 8:13:08 น. 14 comments
Counter : 18888 Pageviews.

 
ได้เข้ามาอ่าน entry นี้โดยบังเอิญ พบว่ามีเนื้อหา
ครอบคลุมเกี่ยวกับการต่างประเทศของไทยสมัย
สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างน่าสนใจมากครับ ^_^

น่าเสียดายที่รายงานชุดนี้ขาดบทบาทของฝรั่งเศส
ในช่วงเวลาเดียวกันไป ทั้งที่ประเทศฝรั่งเศสก็มี
บทบาทอิทธิพลในภูมิภาคนี้ไ่ม่น้อย โดยเฉพาะ-
บทบาทในอาณานิคมที่มีพรมแดนติดต่อกับไทย
คือลาวและเขมร บทบาทของฝรั่งเศสในยุคนั้น
ยังส่งผลต่อไทยมาถึงปัจจุบัน เช่น กรณีพิพาท-
ประสาทพระวิหาร ที่ทำให้ปีก่อน (2551) มีรัฐมนตรี
ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและถูกบีบให้พ้นตำแหน่ง

ถ้ามีการเขียนภาคต่อในส่วนบทบาทของฝรั่งเศส
กับไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ลงเพิ่มในบล็อก
ก็น่าจะเป็นประโยชน์ทางวิชาการนะครับ ^_^


โดย: jerasak IP: 61.90.70.37 วันที่: 4 เมษายน 2552 เวลา:2:57:51 น.  

 
หนูกำลังหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับชาติมหาอำนาจต่างๆๆ แต่หนูกะว่าจะเจาะที่ญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นมีน้อยหนูจึงกะว่าจะเอาอังกฤษแทนค่ะ ขอบคุณค่ะที่นำมาลงให้ ทำให้หนูมีงานส่งและรู้เรื่องมากขึ้นค่ะ ขอขอบคุณจริงๆๆค่ะ


โดย: เมย์ IP: 58.9.52.32 วันที่: 1 สิงหาคม 2552 เวลา:16:41:53 น.  

 
เป็นงานที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และมีประโยชน์ ทำให้เห็นภาพการเมืองระหว่างประเทศและทำให้เข้าใจถึงอธิพลของการเมืองระหว่างประเทศต่อผลกระทบต่อการเมืองในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ผมขออนุญาตนำรายงานของคุณไปเรียบเรียงโดยไม่ตัดทอนลงเอกสาร word เก็บไว้ด้วยคนนะครับ และใคร่ขออนุญาตเผยแพร่เอกสารดังกล่าวแก่ผู้สนใจท่านอื่น โดยอ้างอิงถึงหน้าเว็บนี้ด้วยครับ

ขอบคุณครับ


โดย: ๋jacobin IP: 202.12.73.6 วันที่: 20 กันยายน 2552 เวลา:13:32:03 น.  

 
ขอบคุณ สำหรับข้อมูลนะค่ะ


โดย: Joy IP: 203.144.144.165 วันที่: 24 มกราคม 2553 เวลา:1:58:26 น.  

 
ช่วยตอบได้มั้ยว่าผมหามาแล้วไม่มีเลยใครได้ช่วยตอบทีครับ

คำถามมีอยู่ว่าอะไรคือการเมืองและความเป็นการเมืองและอะไรคือจุดมุง่หมายและหัวใจสำคัญของการเมืองและการปกครองและปรัชญาการเมืองมีความสัมพันธ์และสำคัญอย่างไรบ้างต่อการเมืองและรัฐศาสตร์


ขอบคุนคราฟฟฟฟ


โดย: นายโน้ต IP: 203.144.144.164 วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:1:34:45 น.  

 
ช่วยตอบได้มั้ยว่าผมหามาแล้วไม่มีเลยใครได้ช่วยตอบทีครับ

คำถามมีอยู่ว่าอะไรคือการเมืองและความเป็นการเมืองและอะไรคือจุดมุง่หมายและหัวใจสำคัญของการเมืองและการปกครองและปรัชญาการเมืองมีความสัมพันธ์และสำคัญอย่างไรบ้างต่อการเมืองและรัฐศาสตร์


ขอบคุนคราฟฟฟฟ


โดย: นายโน้ต IP: 203.144.144.164 วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:1:36:50 น.  

 
ขอบคุณที่แวะมาอ่านนะคะ ^^


โดย: a whispering star วันที่: 15 กรกฎาคม 2553 เวลา:11:15:57 น.  

 
ขอขอบคุณสำหรับเนื้อหาครับ ความรู้จริงๆ


โดย: Maxnasad17 IP: 49.230.143.27, 82.145.208.209 วันที่: 17 มิถุนายน 2554 เวลา:10:35:07 น.  

 
ขอบคุณความรู้ที่นำมาแบ่งปันคะ นั่งอ่านตอนนี้ นอนดึกเลยเรา















printer black Friday
sale black Friday
wii black Friday sale
hdtv black Friday
black Friday lcdtv


โดย: YoKoSoHoShi วันที่: 1 ตุลาคม 2554 เวลา:2:58:13 น.  

 
ขอบคุณสำหรับเนื้อหานะครับ
กะว่าจะอ่านเล่มนี้พอดี
สรุปได้ดีมากครับ


โดย: LOVE HISTORY IP: 115.249.128.2 วันที่: 24 มีนาคม 2556 เวลา:13:56:50 น.  

 
ขอบคุณมากค่ะ ขอบคุณสำหรับเื้นื้อหาดีๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆค่ะ


โดย: tan IP: 223.206.150.157 วันที่: 8 กรกฎาคม 2557 เวลา:21:24:24 น.  

 
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี


โดย: Suhaiming IP: 202.28.70.11 วันที่: 14 ตุลาคม 2559 เวลา:6:40:36 น.  

 
ขอบคุณสาระดีดีคับ


โดย: Top IP: 192.95.30.51 วันที่: 17 พฤศจิกายน 2559 เวลา:9:54:47 น.  

 
ขออนุญาติก็อปปี้หน่อยได้มั้ยคะ


โดย: Benz (สมาชิกหมายเลข 3335872 ) วันที่: 6 มกราคม 2560 เวลา:22:53:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.