ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
26 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
การให้ทานกับการรบ

อาทิตตชาดก
ว่าด้วยการให้ทานกับการรบ


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ อสทิสทาน (ทานอันไม่มีทานอื่นเสมอ) จึงได้ตรัสเรื่องนี้ ดังนี้

เรื่อง อสทิสทาน มีเนื้อความพิสดารใน มหาโควินทสูตร.
เรื่องอสทิสทาน
สมัยหนึ่ง ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวจาริกไปตามชนบทแล้วทรงมาถึงพระเชตวันมหาวิหาร พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกระทำมหาทานแข่งกับพวกประชาชน โดยได้นิมนต์พระพุทธองค์พร้อมเหล่าภิกษุทั้งหมดมาเพื่อจะถวายทาน ในวันที่สองพวกชาวกรุงถวาย พระราชาทรงถวายยิ่งกว่าทานของพวกชาวกรุงเหล่านั้นอีก พวกชาวกรุงก็ถวายยิ่งกว่าทานของพระองค์ เป็นดังนี้ ครั้นเมื่อล่วงไปหลายวันอย่างนั้น พระราชาทรงเกรงว่าจะแพ้พวกชาวกรุง ทีนั้นพระนางมัลลิกาเทวีผู้เป็นพระมเหสีได้กราบทูลขอจัดอสทิสทานถวายพระนางมัลลิกาเทวีได้ทรงกราบทูลให้พระราชาจัดทานดังนี้
พระองค์จงรับสั่งให้เอากระดานไม้สาละชนิดดีมาสร้างมณฑป แล้วให้เอาดอกอุบลเขียวมามุง รับสั่งให้ปูที่นั่ง ๕๐๐ ที่ ทางด้านหลังที่นั่งยืนช้างไว้ ๕๐๐ เชือก ให้ช้างแต่ละเชือกถือเศวตฉัตร ๕๐๐ คัน ยืนกั้นอยู่เบื้องบนแห่งภิกษุแต่ละรูป ระหว่างที่นั่งแต่ละ คู่ ๆ ธิดากษัตริย์แต่ละนาง ๆ ตกแต่งด้วยเครื่องสำอางพร้อมสรรพ บดเครื่อง หอมที่เกิดจากไม้สี่ชนิด ธิดากษัตริย์นางอื่นก็ใส่เครื่องหอมที่บดเสด็จแล้ว ๆ ในเรือทองคำที่สำหรับใส่ของหอมในที่ตรงกลาง ธิดากษัตริย์อีกนางหนึ่งก็เอากำอุบลเขียวโบกกระพือเครื่องหอมนั้น ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุแต่ละรูป ๆ ก็มีธิดากษัตริย์สามนาง ๆ เป็นบริวาร ผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่แต่งเครื่องสำอางพร้อม สรรพถือใบตาลพัด นางอื่นเอาที่กรองน้ำ หญิงอื่นนำเอาน้ำจากบาตร สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า มีของสี่อย่างตีราคาไม่ได้ ของสี่อย่างที่ตีราคาไม่ได้เหล่า นี้คือ ที่เช็ดพระบาท ที่รองของ กระดานพิง มณีเชิงฉัตร ไทยธรรมสำหรับ ภิกษุใหม่ในสงฆ์มีค่าแสนหนึ่ง
เพราะเหล่าชาวเมืองย่อมหาเจ้าหญิงไม่ได้ ย่อมหาเศวตฉัตรไม่ได้ ย่อมหาช้างไม่ได้ ด้วยของเหล่านี้เป็นของที่มีเฉพาะกับพระราชาเท่านั้น ชาวเมืองก็จะต้องแพ้อย่างแน่นอน
พระราชาจึงรับสั่งให้จัดมหาทานตามวิธีที่พระนางกราบทูลแล้ว แต่ก็ปรากฏว่าช้างยังขาดไปเชือกหนึ่ง พระราชาตรัสบอกว่าพระนางมัลลิกา ที่จริง มีช้างพอ ๕๐๐ เชือก แต่ช้างที่เหลืออยู่เป็นช้างดุร้าย เมื่อเห็นภิกษุทั้งหลายเข้าก็จะพยศ
พระเทวีจึงทูลพระราชาว่า ให้จัดเอาช้างที่ดุร้ายนั้นยืนอยู่ข้างพระผู้เป็นเจ้าที่ชื่อว่าองคุลิมาล
พระราชารับสั่งให้ราชบุรุษทำอย่างนั้น ก็ปรากฏว่าด้วยเดชของพระเถระ ช้างเชือกนั้น แม้สักว่าพ่นลมจมูก ก็ไม่กล้าทำ ช้างสอดหางเข้าในระหว่างขา ได้ปรบหูทั้งสอง หลับตายืนอยู่แล้ว
พระราชาทรง อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยอาหารอันประณีตแล้ว ถวายบังคมพระศาสดา กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิ่งใดเป็น กัปปิยภัณฑ์หรือเป็นอกัปปิยภัณฑ์ ในโรงทานนี้ หม่อมฉันจักถวายสิ่งนั้น ทั้งหมดแด่พระองค์เท่านั้น”
ทานที่พระนางมัลลิกาจัดชื่อ อสทิสทาน
ก็ในทานนั้นแล ทรัพย์มีประมาณ ๑๔ โกฏิ เป็นอันพระราชาทรง บริจาคโดยวันเดียวเท่านั้น ก็ของ ๔ อย่าง คือเศวตฉัตร ๑ บัลลังก์ สำหรับนั่ง ๑ เชิงบาตร ๑ ดั่งสำหรับเช็ดเท้า ๑ เป็นของหาค่ามิได้เทียว เพื่อพระศาสดา ใครๆ ผู้สามารถเพื่อทำทานเห็นปานนี้แล้ว ถวายทาน แด่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ได้มีแล้วอีก เพราะเหตุนั้นนั่นแล ทานนั้นจึงเรียกว่า “อสทิสทาน” ได้ยินว่า อสทิสทานนั้น มีแด่พระพุทธเจ้า ทุกๆ พระองค์ ครั้งเดียวเท่านั้น
ก็ในวันที่ ๒ จากวันที่พระเจ้าโกศลถวายอสทิสทานแล้ว ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย พระเจ้าโกศล ทรงฉลาดเลือกเนื้อนาบุญอันประเสริฐ ถวายมหาทานแด่อริยสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ? เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การเลือกถวายทานในเนื้อนาบุญอันสูงยิ่งของพระเจ้าโกศล ไม่น่าอัศจรรย์ บัณฑิตทั้งหลายในครั้งก่อนก็ได้เลือกเฟ้นแล้ว จึงได้ถวายมหาทานเหมือนกัน ดังนี้ แล้ว ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:
ในอดีตกาล พระเจ้าเภรุวมหาราช ครองราชสมบัติในเภรุวนคร สีวิรัฐ ทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรม สงเคราะห์มหาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ ทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นมารดาบิดาของมหาชน ได้ให้ทานแก่คนกำพร้า วณิพก และยาจกทั้งหลายมากมาย พระองค์มีอัครมเหสีพระนามว่า สมุททวิชยาเป็นบัณฑิตสมบูรณ์ด้วยญาณ
วันหนึ่ง พระเจ้าเภรุวมหาราช เสด็จทอดพระเนตรโรงทาน ทรงพระดำริว่า ปฏิคาหกทั้งหลายล้วนเป็นผู้ทุศีล เหลวไหล บริโภคทานของเราข้อนั้น ไม่ทำให้เรายินดีเลย เราใคร่จะถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มีศีล เป็นอรรคทักขิไณยบุคคล แต่ท่านเหล่านั้นอยู่ในหิมวันตประเทศ ใครหนอจักไปนิมนต์ท่านมาได้ เราจักส่งใครไปนิมนต์ได้ ทรงพระดำริดังนี้แล้ว ได้ตรัสบอกความนั้นแด่พระเทวี
ลำดับนั้น พระเทวีได้ทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระองค์ขอพระองค์อย่าทรงวิตกเลย เราจักส่งดอกไม้ ไปนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ด้วยกำลังทานที่จะพึงถวาย กำลังศีลและกำลังความสัตย์ของเราทั้งหลาย ครั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมาถึงแล้ว จึงจักถวายทานที่สมบูรณ์ด้วยบริขารทุกอย่าง พระราชาทรงรับสั่งว่าดีแล้ว ดังนี้แล้วรับสั่งให้ตีกลองประกาศว่า ชาวพระนครทั้งสิ้น จงสมาทานศีล ส่วนพระองค์เองพร้อมด้วยราชบริพาร ก็ทรงอธิษฐานองค์แห่งอุโบสถ บำเพ็ญมหาทาน แล้วให้ราชบุรุษถือกระเช้าทองใส่ดอกมะลิเต็ม เสด็จลงจากปราสาทประทับที่พระลานหลวง ทรงกราบเบญจางคประดิษฐ์เหนือพื้นดิน แล้วผินพระพักตร์ไปทางทิศปราจีน ถวายนมัสการแล้วประกาศว่า ข้าพเจ้าขอนมัสการพระอรหันต์ทั้งหลายในทิศปราจีน ถ้าคุณความดีอะไรๆ ของข้าพเจ้ามีอยู่ไซร้ ขอท่านทั้งหลาย จงอนุเคราะห์พวกข้าพเจ้า โปรดมารับภิกษาหารของข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด ประกาศดังนี้แล้ว ทรงซัดดอกมะลิไป ๗ กำมือ ในวันรุ่งขึ้นไม่มี พระปัจเจกพุทธเจ้ามา เพราะในทิศปราจีนไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้า
ในวันที่ ๒ ทรงนมัสการไปทางทิศทักษิณ ก็หามีพระปัจเจกพุทธเจ้ามาไม่ วันที่ ๓ ทรงนมัสการไปทางทิศปัจฉิมก็หามีพระปัจเจกพุทธเจ้ามาไม่ วันที่ ๔ ทรงนมัสการไปทางทิศอุดร ก็แหละครั้นทรงนมัสการแล้ว ทรงซัดดอกมะลิไป ๗ กำมือ อธิษฐานว่า ขอพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายที่อยู่ในหิมวันตประเทศด้านทิศอุดร จงมารับภิกษาหารของข้าพเจ้า
ดอกมะลิได้ลอยไปตกลงเหนือพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ๕๐๐ องค์ ที่เงื้อมภูเขานันทมูลกะ พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นพิจารณาดูก็รู้ว่าพระราชานิมนต์ วันรุ่งขึ้น จึงเรียกพระปัจเจกพุทธเจ้ามา ๗ องค์ แล้วกล่าวว่า แน่ะ ท่าน พระราชานิมนต์ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงสงเคราะห์พระราชาเถิด พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น เหาะมาลงที่ประตูพระราชวัง พระเจ้าเภรุวมหาราชทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น แล้วทรงโสมนัส นมัสการแล้ว นิมนต์ขึ้นปราสาท ทรงสักการะบูชาเป็นการใหญ่แล้วถวายทาน ครั้นฉันเสร็จแล้วได้นิมนต์ให้มาฉันวันต่อๆ ไปอีกจนครบ ๖ วัน ในวันที่ ๗ ทรงจัดแจงบริขารทานทุกอย่าง แต่งตั้งเตียงตั่งที่วิจิตรด้วย แก้ว ๗ ประการ ทรงวางเครื่องสมณบริโภคทั้งปวงมีไตรจีวรเป็นต้น ในสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ ถวายนมัสการตรัสว่า ข้าพเจ้าขอถวายบริขารเหล่านี้ทั้งหมดแด่พระคุณเจ้าทั้งหลาย เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นฉันเสร็จแล้ว พระราชาและพระเทวีทั้ง ๒ พระ องค์ประทับยืนนมัสการอยู่
ลำดับนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นใหญ่ในหมู่เมื่อจะอนุโมทนา แด่พระราชาและพระเทวี จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า:
[๑๑๘๐] เมื่อเรือนถูกไฟไหม้ บุคคลผู้เป็นเจ้าของขนเอาสิ่งของอันใดออกได้ สิ่ง
ของอันนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เจ้าของนั้น แต่ของที่ถูกไฟไหม้ย่อมไม่
เป็นประโยชน์แก่เขา.
[๑๑๘๑] โลกถูกชราและมรณะเผาแล้วอย่างนี้ บุคคลพึงนำออกเสียด้วยการให้ทาน
ทานที่ให้แล้วจะน้อยก็ตามมากก็ตาม ชื่อว่าเป็นอันนำออกดีแล้ว.
พระสังฆเถระ ครั้นอนุโมทนาอย่างนี้แล้ว ได้ให้โอวาทแด่พระราชาว่า มหาบพิตร พระองค์อย่าทรงประมาท แล้วเหาะขึ้นอากาศ ทำช่อฟ้าปราสาทให้แยกเป็นสองช่องไปลง ณ เงื้อมภูเขานันทมูลกะ แม้บริขารที่พระราชาถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ลอยตามไปกับพระปัจเจกพุทธเจ้าลงที่เงื้อมภูเขานั้นเหมือนกัน พระสกลกายของพระราชาและพระเทวีเต็มตื้นไปด้วยปิติ เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นใหญ่ในหมู่ไปอย่างนี้แล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้าที่ยังคงเหลืออยู่ ๖ องค์ ได้อนุโมทนาด้วยคาถา องค์ละคาถาว่า:
[๑๑๘๒] คนใดให้ทานแก่ท่านผู้มีธรรมอันได้แล้ว ผู้บรรลุธรรมด้วยความเพียรและ
ความหมั่น คนนั้นล่วงเลยเวตรณีนรกของพระยายมไปได้แล้ว จะเข้า
ถึงทิพยสถาน.
[๑๑๘๓] ท่านผู้รู้กล่าวทานกับการรบว่ามีสภาพเสมอกัน นักรบแม้จะมีน้อยก็ชำนะ
คนมากได้ เจตนาเครื่องบริจาคก็เหมือนกัน แม้จะน้อย ย่อมชำนะหมู่
กิเลสแม้มากได้ ถ้าบุคคลเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ย่อมให้ทานแม้
น้อย เขาก็เป็นสุขในโลกหน้า เพราะการบริจาคมีประมาณน้อยนั้น.
[๑๑๘๔] การเลือกทักขิณาทานและพระทักขิไณยบุคคลแล้วจึงให้ทาน พระสุคต
ทรงสรรเสริญ ทานที่บุคคลถวายในพระทักขิไณยบุคคล มีพระพุทธเจ้า
เป็นต้น ซึ่งมีอยู่ในสัตว์โลกนี้ ย่อมมีผลมาก เหมือนพืชที่หว่านลงใน
นาดี ฉะนั้น.
[๑๑๘๕] บุคคลใดไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายเที่ยวไปอยู่ ไม่ทำบาป เพราะกลัวคน
อื่นจะติเตียน บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลผู้กลัวบาปนั้น ย่อม
ไม่สรรเสริญบุคคลผู้กล้าในการทำบาป เพราะว่าสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่
ทำบาป เพราะความกลัวถูกติเตียน.
[๑๑๘๖] บุคคลย่อมเกิดในสกุลกษัตริย์เพราะพรหมจรรย์อย่างต่ำ เกิดในเทวโลก
เพราะพรหมจรรย์อย่างกลาง และบริสุทธิ์ได้เพราะพรหมจรรย์อย่างสูง.
[๑๑๘๗] ทานท่านผู้รู้สรรเสริญโดยส่วนมากก็จริง แต่ว่าบทแห่งธรรมแลประเสริฐ
กว่าทาน เพราะว่าสัตบุรุษทั้งหลายในครั้งก่อน หรือว่าก่อนกว่านั้นอีก
ผู้มีปัญญาเจริญสมถวิปัสสนาแล้วได้บรรลุนิพพานนั่นเทียว.
พระปัจเจกพุทธเจ้า ๗ พระองค์พรรณนาอมตมหานิพพานแด่พระราชา ด้วยอนุโมทนาคาถาอย่างนี้แล้วกล่าวสอนพระราชาด้วยอัปปมาทธรรม แล้วไปที่อยู่ของตนๆ ตามนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล พระราชาพร้อมด้วยพระอัครมเหสี ก็ได้ถวายทานจนตลอดพระชนมายุ ครั้นเคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้ว ก็ได้เสด็จไปสู่สวรรค์
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า แม้ในกาลก่อน บัณฑิตก็ได้เลือกถวายทานด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายในครั้งนั้น ปรินิพพานแล้ว พระสุททวิชยาเทวี ได้เป็นมารดาพระราหุล พระเจ้าเภรุวราช คือเราตถาคต ฉะนี้แล

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
https://abhinop.blogspot.com
https://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.




Create Date : 26 สิงหาคม 2554
Last Update : 26 มีนาคม 2564 13:19:13 น. 1 comments
Counter : 735 Pageviews.

 
ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love. _/|\_



โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 11 ธันวาคม 2563 เวลา:11:22:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.