ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
25 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
ผู้ลักเอาเหง้ามัน

ภิสชาดก
ว่าด้วยผู้ลักเอาเหง้ามัน
พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงพระปรารภภิกษุผู้กระสัน ตรัสเรื่องนี้ ดังนี้.
ก็เรื่องปัจจุบันจักแจ่มแจ้งในกุสชาดก แต่ว่าในกาลครั้งนั้น พระศาสดาตรัสถามพระภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอเป็นผู้กระสัน จริงหรือ ครั้นภิกษุนั้นรับว่า จริงพระเจ้าข้า ตรัสถามต่อไปว่า อาศัยอะไร เมื่อทูลว่า กิเลสพระเจ้าข้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอบวชในศาสนาอันมีธรรมเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้เห็นปานนี้ เหตุไรยังจะอาศัยกิเลส แล้วกระสันอยู่เล่า บัณฑิตในครั้งก่อน เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ ได้บวชในลัทธิเป็นพาเหียร ยังพากันปรารภถึงวัตถุกาม และกิเลสกามกระทำได้เป็นคำสบถอยู่ได้เลย ทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ผู้มหาศาล มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ พวกญาติพากันขนานนามว่า มหากาญจนกุมาร ครั้นเมื่อท่านเดินได้ พราหมณ์ก็เกิดบุตรคนอื่นอีกคนหนึ่ง พวกญาติขนานนามว่า อุปกาญจนกุมาร โดยลำดับอย่างนี้ ได้มีบุตรถึง ๗ คน แต่คนสุดท้องเป็นธิดาคนหนึ่ง พวกญาติขนานนามว่า กาญจนเทวี
มหากาญจนกุมารโตแล้วเรียนศิลปะทั้งปวงมาจากเมืองตักกศิลา ครั้งนั้นมารดาบิดาปรารถนาจะผูกพันท่านไว้ด้วยฆราวาส จึงพูดกับท่านว่า เราพึงสู่ขอทาริกาจากสกุลที่มีกำเนิดเสมอกันให้เจ้า เจ้าจงดำรงฆราวาสเถิด
ท่านบอกว่า คุณพ่อคุณแม่ครับ ข้าพเจ้าไม่ต้องการครองเรือนเลย เพราะภพทั้ง ๓ ปรากฏแก่ข้าพเจ้า ว่ามีภัยน่าสะพรึงกลัวเหมือนไฟติดอยู่ทั่ว ๆ ไป เป็นเครื่องจองจำเหมือนเรือนจำ เป็นของพึงเกลียดชังอย่างยิ่ง เหมือนกับแผ่นดิน อันเป็นที่เทโสโครก ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเมถุนธรรมแม้แต่ความฝัน บุตรคนอื่น ๆ ของท่านมีอยู่ โปรดบอกให้เขาครองเรือนต่อไปเถิด
แม้จะถูกอ้อนวอนบ่อย ๆ แม้จะถูกท่านบิดามารดาส่งพวกสหายไปอ้อนวอน ก็คงไม่ปรารถนาเลย ครั้งนั้นพวกสหายพากันถามท่านว่า เพื่อนเอ๋ย ก็แกปรารถนาอะไรเล่าจึงไม่อยากจะบริโภคกามคุณเลย ท่านบอกอัธยาศัยในการออกจากกามแก่พวกนั้น มารดาบิดาฟังเรื่องนั้นแล้วก็ขอร้องบุตรที่เหลือ แม้บุตรเหล่านั้นต่างก็ไม่ต้องการ กาญจนเทวีก็ไม่ต้องการเหมือนกัน
อยู่มาไม่ช้า มารดาบิดาก็พากันถึงแก่กรรม มหากาญจนบัณฑิต ครั้นกระทำกิจที่ต้องทำให้แก่มารดาบิดาแล้ว ก็ให้มหาทานแก่คนกำพร้าและคนขัดสนด้วยทรัพย์ ๘๐ โกฎิ แล้วชวนน้องชาย ๖ คนและน้องสาว ทาสชายคนหนึ่ง ทาสหญิงคนหนึ่ง และ สหายคนหนึ่ง ออกมหาภิเนษกรมณ์เข้าสู่ป่าหิมพานต์
ท่านเหล่านั้นอาศัยสระปทุมในป่าหิมพานต์นั้นสร้างอาศรม ณ ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์แล้วพากันบวช เลี้ยงชีพด้วยมูลผลาหารในป่า ท่านเหล่านั้นไปป่าก็ไปร่วมกัน ผู้หนึ่งพบต้นไม้ หรือใบไม้ ณ ที่ใด ก็เรียกคนอื่น ๆ ไป ณ ที่นั้น ต่างพูดกันถึงเรื่องที่เห็น ที่ได้ยินเป็นต้นไปพลาง เลือกเก็บผลไม้ใบไม้ไปพลาง เป็นเหมือนที่ทำงาน ของชาวบ้าน
ดาบสมหากาญจน์ผู้อาจารย์ดำริว่า อันการเที่ยวแสวงหาผลาผล ด้วยอำนาจความคะนองเช่นนี้ ดูไม่เหมาะแก่พวกเราผู้ทิ้งทรัพย์ ๘๐ โกฏิมาบวชเสียเลย ตั้งแต่นี้ไปเราคนเดียวจักหาผลไม้มา พอถึงอาศรมแล้วท่านก็เรียกดาบสเหล่านั้นทุกคนมาประชุมกันในเวลาเย็น แจ้งเรื่องนั้นให้ทราบแล้วกล่าวว่า พวกเธอจงอยู่ทำสมณธรรมกันในที่นี้แหละ ฉันจักไปหาผลาผลมา
ครั้งนั้นดาบสมีอุปกาญจนะเป็นต้น พากันกล่าวว่า ท่านอาจารย์ขอรับ พวกข้าพเจ้าพากันอาศัยท่านบวชแล้ว ท่านจงกระทำสมณธรรม ณ ที่นี้แหละ น้องสาวของพวกเราก็ต้องอยู่ที่นี้เหมือนกัน ทาสีเล่าก็ต้องอยู่ในสำนักของน้องสาวนั้น พวกข้าพเจ้า ๘ คนจักผลัดกันไปนำผลาผลมา
ตั้งแต่บัดนั้น คนทั้ง ๘ ก็ผลัดกันวาระละหนึ่งคน หาผลาผลมา ที่เหลือคงอยู่ในศาลาของตนนั้นเอง ไม่จำเป็นก็ไม่ได้รวมกัน ผู้ที่ถึงวาระหาผลาผลมาแล้ว ก็แบ่งเป็น ๑๑ ส่วน เหนือแผ่นหินซึ่งมีอยู่แผ่นหนึ่ง เสร็จแล้วตีระฆัง ถือเอาส่วนแบ่งของตนแล้วเข้าไปที่อยู่ ดาบสที่เหลือพากันออกมาด้วยเสียงระฆังอันเป็นสัญญา ไม่กระทำเสียงเอะอะ เดินไปด้วยท่าทางอันแสดงความเคารพ ถือเอาส่วนแบ่งที่จัดไว้เพื่อตน แล้วไปที่อยู่ ฉันแล้วทำสมณธรรมต่อไป กาลต่อมา ดาบสทั้งหลายนำเหง้าบัวมาฉัน พากันมีตบะรุ่งเรือง มีตบะแก่กล้า ชำนะอินทรีย์ได้อย่างยอดเยี่ยม ต่างกระทำกสิณกรรมอยู่.
ครั้งนั้น พิภพของท้าวสักกะหวั่นด้วยเดชแห่งศีลของดาบสเหล่านั้น ท้าวสักกะเล่าก็ยังทรงระแวงอยู่นั้นเองว่า ฤๅษีเหล่านี้ยังน้อมใจไปในกามอยู่ หรือหามิได้หนอ ท้าวเธอทรงดำริว่า เราจักคอยจับผิดฤๅษีเหล่านี้ จึงแล้วสำแดงอานุภาพ ซ่อนส่วนแบ่งผลาผลของพระมหาสัตว์เสียตลอด ๓ วัน
วันแรกพระมหาสัตว์ ไม่เห็นส่วนแบ่งก็คิดว่า คงจักลืมส่วนแบ่งของเราเสียแล้ว ในวันที่สองคิดว่า เราคงมีโทษ ชะรอยจะไม่ตั้งส่วนแบ่งไว้เพื่อเราด้วยต้องการจะประณาม ในวันที่สามคิดว่า เหตุการณ์อะไรเล่านะถึงไม่ตั้งส่วนแบ่งแก่เรา ถ้าโทษของเราจักมี เราต้องขอให้งดโทษ แล้วก็ตีระฆังเป็นสัญญาในเวลาเย็น
เมื่อได้ยินเสียงระฆัง ดาบสทั้งหมดก็มาประชุมกัน พูดกันว่าใครตีระฆัง
ท่านตอบว่า ฉันเอง พ่อคุณ
ดาบสทั้งหลายพากันถามว่า เพราะเหตุไรเล่า ขอรับ
ท่านอาจารย์ตอบว่า พ่อคุณทั้งหลาย ในวันที่ ๓ ใครหาผลาผลมา ดาบสท่านหนึ่งลุกขึ้นยืนกราบเรียนว่า ข้าพเจ้า ขอรับท่านอาจารย์
ถามว่า เมื่อเธอแบ่งส่วนผลาผล ได้แบ่งส่วนไว้เผื่อฉันหรือไม่เล่า
ตอบว่า แบ่งครับท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าแบ่งไว้ขอรับ
ถามว่า เมื่อวานเล่า เวรใครไปหามา
ท่านผู้อื่นลุกขึ้นยืนกราบเรียนว่า ข้าพเจ้าขอรับ
ถามว่า เมื่อเธอแบ่งส่วน ได้นึกถึงฉันหรือไม่
ตอบว่า ข้าพเจ้าตั้งส่วนไว้เผื่อท่านครับ
ถามว่า วันนี้เล่าใครหามา
อีกท่านหนึ่งลุกขึ้นยืนกราบเรียนว่า ข้าพเจ้า
ถามว่า เมื่อเธอแบ่งส่วน ได้นึกถึงฉันหรือไม่
ตอบว่า ข้าพเจ้าตั้งส่วนไว้เพื่อท่านแล้วครับ
ท่านกล่าวว่า พ่อคุณทั้งหลาย ฉันไม่ได้รับส่วนแบ่งสามวันทั้งวันนี้ ในวันแรกฉันไม่เห็นส่วนแบ่ง คิดว่า ผู้แบ่งส่วนคงจักลืมฉันเสีย ในวันที่สองคิดว่า ฉันคงมีโทษอะไร ๆ ส่วนวันนี้คิดว่า ถ้าโทษของฉันมี ฉันจักขอขมา จึงเรียกเธอทั้งหลายมาประชุมด้วยการตีระฆังเป็นสัญญา เธอทั้งหลายต่างบอกว่า พวกเราพากันแบ่งส่วนเหง้าบัว เหล่านี้ แล้วฉันไม่ได้ ควรจะรู้ตัวผู้ขโมยกินเหง้าบัวเหล่านั้น ขึ้นชื่อว่าการขโมยเพียงเหง้าบัวก็ไม่เหมาะแก่ผู้ที่ละกามแล้วบวช ดาบสเหล่านั้นฟังคำของท่านแล้ว ต่างก็มีจิตเสียวสยองกันทั่วทีเดียวว่า โอ กรรมหนักจริง.
เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นไม้อันใหญ่ในป่า ณ อาศรมบทนั้น ลงมาจากคาคบ นั่งอยู่ในสำนักของดาบสเหล่านั้นเหมือนกัน
ช้างเชือกหนึ่งถูกจำปลอกอยู่ในหมู่บ้าน ไม่สามารถทนทุกข์ได้ ทำลายปลอกหนีเข้าป่าไป ได้เคยมาไหว้คณะฤๅษีตามกาลสมควร แม้ช้างนั้นก็มายืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง
ยังมีลิงตัวหนึ่งเคยถูกให้เล่นกับงู รอดมาได้จากมือหมองู เข้าป่าอาศัยอยู่ใกล้อาศรมนั้นเอง วันนั้นลิงแม้นั้นก็นั่งไหว้คณะฤๅษีอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง
ท้าวสักกะดำริว่า จักคอยจับคณะฤๅษีก็ไม่ได้ สำแดงกายให้ปรากฏยืนอยู่ในสำนักของดาบสเหล่านั้น ขณะนั้นอุปกาญจนดาบสน้องชายของพระโพธิสัตว์ ลุกจากอาสนะไหว้พระโพธิสัตว์แล้ว แสดงความนอบน้อมแก่ดาบสที่เหลือถามว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าไม่ได้ปรารถนาสิ่งอื่นเลย จะได้เพื่อจะชำระตนเองหรือไม่ ท่านตอบว่า ได้จ๊ะ อุปกาญจนดาบสนั้น ยืนในท่ามกลางคณะฤๅษี เมื่อจะกระทำสบถว่า ถ้าข้าพเจ้าฉันเหง้าบัวของท่านแล้ว ขอให้เป็นอย่างนี้เถิด จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า
[๑๙๒๑] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงได้ม้า
วัว เงิน ทอง และภรรยาที่น่าชอบใจ จงพร้อมพรั่งด้วยบุตรและภรรยา
มากมายเถิด.*
* พึงทราบว่า เขากล่าว ติเตียนวัตถุกามทั้งหลายว่า ปิยวัตถุมีประมาณเท่าใด ความโศกและความทุกข์ มีประมาณเท่านั้นย่อมเกิดขึ้น เพราะความวิปโยคเหล่านั้น.
คณะฤๅษีได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านผู้นิรทุกข์ คำสบถของท่านหนักยิ่งปานไร พากันปิดหู ส่วนพระโพธิสัตว์กล่าวว่า พ่อคุณเอ๋ย คำสบถของเธอหนักยิ่งนัก เธอไม่ได้ฉัน จงนั่ง ณ อาสนะสำหรับเธอเถิด เมื่ออุปกาญจนดาบสทำสบถนั่งลงแล้ว น้องคนที่ ๒ ลุกขึ้นไหว้พระมหาสัตว์ เมื่อจะชำระตนด้วยคำสบถ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า
[๑๙๒๒] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงได้ทัด
ทรงระเบียบ ดอกไม้ ลูบไล้กระแจะจันทน์ แคว้นกาสี จงเป็นผู้
มากไปด้วยบุตร จงกระทำความเพ่งเล็งอย่างแรงกล้าในกามทั้งหลายเถิด *
* ความว่า จงกระทำความเพ่งเล็งอย่างแรงกล้าในวัตถุกามและกิเลสกาม คำนี้ เขากล่าวด้วยอำนาจการปฏิเสธทุกข์เท่านั้นว่า ผู้ใดมีความเพ่งเล็งอย่างแรงกล้าในวัตถุกามและกิเลสกามเหล่านั้น ผู้นั้นย่อมได้รับทุกข์อย่างมหันต์ เพราะความวิปโยคเหล่านั้น.
เมื่อน้องชายที่ ๒ นั่งแล้ว ดาบสที่เหลือต่างก็ได้กล่าวคาถาคนละ คาถา ตามควรแก่อัธยาศัยของตนว่า
[๑๙๒๓] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงเป็น
คฤหัสถ์มีธัญชาติมากมาย สมบูรณ์ด้วยเครื่องกสิกรรม มียศ จงได้บุตร
ทั้งหลาย มั่งมีทรัพย์ ได้กามคุณทุกอย่าง จงอยู่ครองเรือนอย่างไม่เห็น
ความเสื่อมเลย.
[๑๙๒๔] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจง
ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์บรมราชาธิราช มีกำลัง มียศศักดิ์ จงครอบ
ครองแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขตเถิด.
[๑๙๒๕] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงเป็น
พราหมณ์มัวประกอบในทางทำนายฤกษ์ยาม อย่าได้คลายความยินดีใน
ตำแหน่ง ท่านผู้เป็นเจ้าแคว้น ผู้มียศ จงบูชาผู้นั้นไว้เถิด.
[๑๙๒๖] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอชาวโลกทั้งมวล
จงสำคัญผู้นั้นว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญเวทมนต์ทั้งปวง ผู้เรืองตบะ ชาว
ชนบททั้งหลายทราบดีแล้ว จงบูชาผู้นั้นเถิด.
[๑๙๒๗] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงครอบ
ครองบ้านส่วย อันพระราชาทรงประทานให้ เป็นบ้านที่มั่งคั่ง สมบูรณ์
ด้วยเหตุ ๔ ประการ ดุจท้าววาสวะพระราชทานให้ อย่าได้คลายความ
ยินดีจนกระทั่งถึงความตายเถิด.
[๑๙๒๘] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงเป็น
นายบ้าน บันเทิงอยู่ด้วยการฟ้อนรำขับร้องในท่ามกลางสหาย อย่าได้
รับความพินาศอย่างใดอย่างหนึ่งจากพระราชาเลย.
[๑๙๒๙] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ หญิงใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้พระมหา
กษัตริย์ผู้ทรงเป็นเอกราช ทรงปราบปรามศัตรูได้ทั่วพื้นปฐพี ทรงสถาปนา
ให้หญิงนั้นเป็นยอดสตรีจำนวนพัน ขอหญิงนั้นจงเป็นมเหสีผู้ประเสริฐ
กว่านางสนมทั้งหลายเถิด.
[๑๙๓๐] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ หญิงใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้หญิงนั้น
จงเป็นทาสีไม่สะดุ้งสะเทือน กินของดีๆ ในท่ามกลางคนทั้งปวงที่มา
ประชุมกันอยู่ จงเที่ยวโอ้อวดลาภอยู่เถิด.
[๑๙๓๑] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ผู้ใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ผู้นั้นจงได้
เป็นเจ้าอาวาสในวัดใหญ่ๆ จงเป็นผู้ประกอบนวกรรมในเมืองกชังคละ
จงกระทำหน้าต่างตลอดวันเถิด.
[๑๙๓๒] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ช้างเชือกใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ช้าง
เชือกนั้น จงถูกคล้องด้วยบ่วงบาศตั้งร้อย จงถูกนำออกจากป่าอันน่า
รื่นรมย์มายังราชธานี จงถูกทิ่มแทงด้วยประตักและสับด้วยขอเถิด.
[๑๙๓๓] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ลิงตัวใดลักเอาเหง้ามันของท่านไป ขอให้ลิงตัว
นั้นมีพวงดอกไม้สวมคอ ถูกเจาะหูด้วยดีบุก ถูกเฆี่ยนด้วยไม้เรียว
เมื่อฝึกหัดให้เล่นงู เข้าไปใกล้ปากงู ถูกมัดตระเวนเที่ยวไปตามตรอก
เถิด.
ก็เมื่อชนทั้ง ๑๓ สบถกันอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ดำริว่า บางทีพวก เหล่านี้พึงกินแหนงในเราว่า ผู้นี้กล่าวถึงสิ่งที่ไม่หายไปเลยว่าหายไป ดังนี้ เราต้องสบถบ้าง เมื่อทำสบถ จึงกล่าวคาถานี้ว่า
[๑๙๓๔] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ใดแกล้งกล่าวถึงของที่ไม่หายว่าหายก็ดี หรือผู้ใด
สงสัยคนใดคนหนึ่งก็ดี ขอให้ผู้นั้นจงได้บริโภคกามทั้งหลาย จงเข้าถึง
ความตายอยู่ในท่ามกลางเรือนเถิด.
ก็แลเมื่อฤๅษีทั้งหลายพากันสบถแล้ว ท้าวสักกะทรงกลัว คิดว่าเราหมายจะทดลองพวกนี้ดู จึงทำให้เหง้าบัวหายไป พวกเหล่านี้พากันติเตียนกามทั้งหลาย ประหนึ่งก้อนน้ำลายที่ถ่มทิ้ง ทำสบถกัน เราต้องถามพวกเหล่านั้นถึงเหตุที่ติเตียนกามคุณดู แล้วทรงสำแดงกายให้ปรากฏ ทรงไหว้พระโพธิสัตว์ เมื่อตรัสถามได้ตรัสคาถาสืบไปว่า
[๑๙๓๕] สัตว์ทั้งหลายในโลก ย่อมพากันเที่ยวแสวงหากามใด เป็นสิ่งที่น่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าฟูใจของสัตว์เป็นอันมาก ในชีวโลกนี้
เพราะเหตุไร ฤๅษีทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญกามเลย.
ครั้งนั้น เมื่อพระมหาสัตว์จะแก้ปัญหาของท้าวเธอ ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
[๑๙๓๖] ดูกรท่านผู้เป็นจอมภูต เพราะกามนั่นแล สัตว์ทั้งหลายจึงถูกประหาร
ถูกจองจำ เพราะกามทั้งหลาย ทุกข์และภัยจึงเกิดเพราะกามทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายจึงประมาทลุ่มหลงกระทำกรรมอันเป็นบาป สัตว์เหล่านั้น
มีบาป จึงประสบบาปกรรม เมื่อตายไปแล้วย่อมไปสู่นรก เพราะเห็น
โทษในกามคุณดังนี้ ฤๅษีทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญกาม.
ท้าวสักกะทรงสดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์มีพระมนัสสลด ตรัสคาถา ต่อไปว่า
[๑๙๓๗] ข้าแต่ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ข้าพเจ้าจะทดลองดูว่า ฤๅษีเหล่านี้ยัง
น้อมไปในกามหรือไม่ จึงถือเอาเหง้ามันที่ฝั่งน้ำไปฝังไว้บนบก ฤๅษี
ทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีบาป นี้เหง้ามันของท่าน.
พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้วกล่าวว่า
[๑๙๓๘] ดูกรท้าวสหัสนัยน์เทวราช ฤๅษีเหล่านั้นมิใช่นักฟ้อนของท่าน และมิใช่
ผู้ที่ท่านจะพึงล้อเล่น ไม่ใช่พวกพ้องและสหายของท่าน เพราะเหตุไร
ท่านจึงมาดูหมิ่นล้อเล่นกับฤๅษีทั้งหลาย?
ครั้งนั้นท้าวสักกะ เมื่อจะขอขมาท่าน จึงกล่าวคาถาที่ ๒๐ ว่า
[๑๙๓๙] ข้าแต่ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้มีปัญญากว้าง ท่านเป็นอาจารย์และ
เป็นบิดาของข้าพเจ้า ขอเงาเท้าของท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าผู้พลั้ง
พลาด ขอได้โปรดอดโทษครั้งหนึ่งเถิด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่มีความ
โกรธเป็นกำลัง.
พระมหาสัตว์ยกโทษแก่ท้าวสักกเทวราชแล้ว เมื่อจะให้คณะฤๅษียกโทษด้วยตนเอง จึงกล่าวคาถาต่อไปว่า
[๑๙๔๐] การที่พวกเราได้เห็นท้าววาสวะผู้เป็นจอมภูต นับเป็นราตรีเอกของพวก
เราเหล่าฤๅษีซึ่งอยู่กันด้วยดี ท่านผู้เจริญ ทุกคนจงพากันดีใจเถิด เพราะ
ท่านพราหมณ์ได้เหง้ามันคืนแล้ว.
ท้าวสักกเทวราชบังคมคณะฤๅษีแล้วเสด็จไปสู่เทวโลก ฝ่ายคณะฤๅษีพากันยังฌานและอภิญญาให้เกิดแล้ว ต่างได้เข้าถึงพรหมโลก.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตในสมัยก่อนพากันทำสบถละกิเลสอย่างนี้ แล้วทรงประกาศสัจจะ เวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้กระสันดำรงในพระโสดาปัตติผล เมื่อพระศาสดาจะทรงประชุมชาดก ได้ตรัสพระคาถาสุดท้ายอีก ๓ คาถาว่า
[๑๙๔๑] เราตถาคต สารีบุตร โมคคัลลานะ กัสสปะ อนุรุทธะ ปุณณะและ
อานนท์ เป็น ๗ พี่น้อง ในครั้งนั้น อุบลวรรณาเป็นน้องสาว ขุชชุตตรา
เป็นทาสี จิตตคฤหบดีเป็นทาส สาตาคีระเป็นเทวดา ปาลิเลยยกะเป็น
ช้าง มธุทะผู้ประเสริฐเป็นวานร กาฬุทายีเป็นท้าวสักกะ ท่านทั้งหลาย
จงทรงชาดกไว้ ด้วยประการฉะนี้แล.

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
https://abhinop.blogspot.com
https://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.




Create Date : 25 สิงหาคม 2554
Last Update : 29 มีนาคม 2564 13:58:58 น. 1 comments
Counter : 627 Pageviews.

 
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
//abhinop.blogspot.com
//abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 29 มีนาคม 2564 เวลา:15:46:52 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.