ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
25 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
อานิสงส์ถวายรองเท้า

สังขพราหณชาดก
(บาลีเป็น สังขชาดก)
ว่าด้วยอานิสงส์ถวายรองเท้า


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภถวายบริขารทั้งปวง จึงตรัสเรื่องนี้ ดังนี้.

ได้ยินว่า ในพระนครสาวัตถี มีอุบาสกคนหนึ่ง ฟังธรรมเทศนาของพระตถาคตแล้ว มีจิตเลื่อมใสในพระศาสดา จึงเข้าไปนิมนต์ เพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น แล้วให้ทำมณฑปใกล้ประตูเรือนของตน ประดับตกแต่งเป็นอย่างดี วันรุ่งขึ้นให้คนไปกราบทูลภัตกาลต่อพระตถาคต พระศาสดามีภิกษุ ๕๐๐ เป็นบริวาร เสด็จไป ณ ที่นั้น ประทับนั่งบนบวรพุทธาอาสน์ที่อุบาสกปูลาดไว้ อุบาสกพร้อมด้วยบุตรภรรยาและบริวารชน ถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ได้นิมนต์ฉันถวายมหาทานอย่างนี้ต่อไปถึง ๗ วัน ในวันที่ ๗ ได้ถวายเครื่องบริขารทุกอย่าง แลเมื่อจะถวายนั้น ได้จัดทำรองเท้าถวายเป็นพิเศษ คือคู่ที่ถวายแด่พระทศพล ราคาพันหนึ่ง ที่ถวายพระอัครสาวกทั้งสอง ราคาคู่ละ ๕๐๐ ที่ถวายพระภิกษุ ๕๐๐ นอกนั้น ราคาคู่ละร้อย อุบาสกนั้นครั้นถวายเครื่องบริขารทุกอย่าง ดังนี้แล้ว ได้ไปนั่งอยู่ในสำนักพระผู้มีพระภาคกับบริษัทของตน.
ครั้งนั้น พระศาสดาเมื่อจะทรงอนุโมทนาด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะแก่อุบาสกนั้น ได้ตรัสว่า นี่แน่ะอุบาสก การถวายเครื่องบริขาร ทุกอย่างของท่านโอฬารยิ่ง ท่านจงชื่นชมเถิด ครั้งก่อนเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เกิดขึ้น ชนทั้งหลายถวายรองเท้าคู่หนึ่งแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า เรือไปแตกในมหาสมุทรซึ่งหาที่พึ่งมิได้ เขายังได้ที่พึ่งด้วยผลานิสงส์ที่ถวายรองเท้า ก็ตัวท่านได้ถวายเครื่องบริขารทุกอย่างแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ผลแห่งการถวายรองเท้าของท่านนั้น ทำไมจักไม่เป็นที่พึ่งเล่า ดังนี้แล้ว อุบาสกนั้นทูลอาราธนาให้ตรัสเรื่องราว จึง ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:
ในอดีตกาล พระนครพาราณสีนี้ มีนามว่าโมลินี พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงโมลินี มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อสังขะ เป็นผู้มั่งคั่ง มีโภคทรัพย์มาก มีเครื่องที่ทำให้ปลื้มใจ เช่น ทรัพย์ ข้าวเปลือกและเงินทองมากมาย ให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือประตูเมือง ๔ ประตู ที่กลางเมือง และที่ประตูเรือน สละทรัพย์วันละ ๖ แสนให้ทานเป็นการใหญ่ แก่คนกำพร้าและคนเดินทางเป็นต้นทุกวัน
วันหนึ่ง เขาคิดว่า เมื่อทรัพย์ในเรือนสิ้นแล้ว เราจักไม่อาจให้ทานได้ เมื่อทรัพย์ยังไม่สิ้นไปนี้ เราจักลงเรือไปสุวรรณภูมินำทรัพย์มา คิดดังนี้แล้ว จึงให้ต่อเรือบรรทุกสินค้าจนเต็ม แล้วเรียกบุตรภรรยามาสั่งว่า พวกท่าน จงให้ทานของเราเป็นไปโดยไม่ขาดจนกว่าเราจะกลับมา แล้วก็แวดล้อมไปด้วยทาสและกรรมกร กั้นร่มสวมรองเท้าเดินตรงไปยังบ้านท่าเรือจอด ในเวลาเที่ยง.
ในขณะนั้น ที่ภูเขาคันธมาทน์ มีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง พิจารณาดูก็ได้เห็นพราหมณ์นั้นกำลังจะเดินทางเพื่อนำทรัพย์มา จึงพิจารณาดูว่า มหาบุรุษจักไปหาทรัพย์ จักมีอันตรายในสมุทรหรือไม่หนอ ก็ทราบว่า จักมีอันตราย จึงคิดว่า มหาบุรุษนั้นเห็นเราแล้ว จักถวายร่มและรองเท้าแก่เรา เมื่อเรือแตกกลางสมุทร เขาจักได้ที่พึ่งด้วยอานิสงส์ที่ถวายรองเท้า เราจักอนุเคราะห์แก่เขา แล้วก็เหาะมาลง ณ ที่ใกล้สังขพราหมณ์ เดินเหยียบทรายร้อนเช่นกับถ่านเพลิง เพราะลมแรงแดดกล้า ตรงมายังสังขพราหมณ์.
สังขพราหมณ์พอเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเท่านั้นก็ยินดีว่า บุญเขตของเรามาถึงแล้ว วันนี้เราควรจะหว่านพืช คือทานลงในบุญเขต นี้ จึงรีบเข้าไปนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพื่ออนุเคราะห์ข้าพเจ้า ขอท่านได้ลงจากทางสักหน่อย แล้วเข้าไปที่โคนต้นไม้นี้ พอพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปโคนต้นไม้ ก็พูนทรายขึ้นแล้วเอาผ้าห่มปูลาด นมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วล้างเท้าด้วยน้ำที่อบและกรองใสสะอาด ทาเท้าด้วยน้ำมันหอม ถอดรองเท้าที่ตนสวมออก เช็ดแล้วทาด้วยน้ำมันหอม แล้วสวมเท้าพระปัจเจกพุทธเจ้า ถวายร่มและรองเท้าด้วยวาจาว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงสวมรองเท้า กั้นร่มไปเถิด.
พระปัจเจกพุทธเจ้าเพื่อจะอนุเคราะห์สังขพราหมณ์ จึงรับร่มและรองเท้า และเพื่อจะให้ความเลื่อมใสเจริญยิ่งขึ้น จึงเหาะไปภูเขาคันธมาทน์ให้สังขพราหมณ์แลเห็น.
สังขพราหมณ์โพธิสัตว์ได้เห็นดังนั้นแล้ว ก็มีจิตเลื่อมใสยิ่งขึ้น เดินไปสู่ท่าลงเรือ เมื่อสังขพราหมณ์กำลังเดินทางอยู่กลางมหาสมุทร พอถึงวันที่ ๗ เรือได้ทะลุ น้ำไหลเข้า ไม่มีใครสามารถจะวิดน้ำให้หมดได้ มหาชนกลัวต่อมรณภัย ต่างก็พากันนมัสการเทวดาที่นับถือของตนๆ ร้องกันเซ็งแซ่ พระมหาสัตว์กับอุปัฏฐากคือคนใช้คน ๑ ทาสรีระด้วยน้ำมัน เคี้ยวจุรณน้ำตาลกรวดกับเนยใสพอแก่ความต้องการแล้ว ให้อุปัฏฐากกินบ้าง แล้วขึ้นบนยอดเสากระโดงกับอุปัฏฐาก กำหนดทิศว่า เมืองของเราอยู่ข้างทิศนี้ เมื่อจะทำให้ตนพ้นจากอันตรายจากปลา และเต่า จึงโดดออกไปห่างจากเรือประมาณอุสภะ ๑ (ประมาณ ๕๐ เมตร) พร้อมกับอุปัฏฐากนั้น เมื่อเรือแตกแล้ว ลูกเรืออื่น ๆ พากันจมน้ำตายเป็นอาหารของสัตว์ทะเลทั้งหมด ส่วนพระมหาสัตว์กับอุปัฏฐากพยายามว่ายข้าม มหาสมุทรไปได้ ๗ วัน วันนั้นเป็นวันอุโบสถ พระโพธิสัตว์ได้บ้วน ปากด้วยน้ำเค็มแล้ว รักษาอุโบสถ.
ครั้งนั้น นางเทพธิดาชื่อมณิเมขลา ท้าวโลกบาลทั้ง ๔ ตั้งไว้ให้พิทักษ์รักษาสมุทร ด้วยคำสั่งว่า ถ้าเรือมาแตกลง มนุษย์ที่ถือไตรสรณคมน์ก็ดี มีศีลสมบูรณ์ก็ดี ปฏิบัติชอบในมารดาบิดาก็ดี มาตกทุกข์ในสมุทรนี้ ท่านพึงพิทักษ์รักษาเขาไว้ นางตั้งอยู่ในความประมาทด้วยความเป็นใหญ่ของตนเสีย ๖ วันไม่ออกตรวจตราดูท้องทะเล พอถึงวันที่ ๗ นางจึงออกตรวจดูสมุทร ได้เห็นสังขพราหมณ์ประกอบด้วยศีลและอาจาระ ก็เกิดสังเวชจิตคิดว่า พราหมณ์นี้ ตกทะเลมาได้ ๗ วันแล้ว ถ้าพราหมณ์จักตายลง เราคงได้รับครหาเป็นอันมาก แล้วนางได้จัดถาดทองใบหนึ่ง ให้เต็มไปด้วยทิพยโภชนะอันมีรสเลิศต่างๆ เหาะไป ณ ที่นั้นโดยเร็ว ยืนอยู่บนอากาศตรงหน้าสังขพราหมณ์ กล่าวว่า ข้าแต่พราหมณ์ ท่านอดอาหารมา ๗ วันแล้ว จงบริโภคโภชนะทิพย์นี้เถิด สังขพราหมณ์แลดูนางเทพธิดา แล้วกล่าวว่า จงนำภัตของท่านหลีกไปเถิด เรารักษาอุโบสถ ลำดับนั้น อุปัฏฐากอยู่ข้างหลังไม่เห็นเทวดาได้ฟังแต่เสียง จึงคิดว่า พราหมณ์นี้เป็นสุขุมาลชาติโดยปกติ มาถูกอดอาหารลำบากเข้า ๗ วัน ชรอยจะบ่นเพ้อเพราะกลัวตาย เราจักปลอบโยนเขา คิดดังนี้แล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า:
[๑๓๕๗] ข้าแต่สังขพราหมณ์ ท่านเป็นพหูสูต ได้ฟังธรรมมาแล้ว และสมณะ
พราหมณ์ทั้งหลาย ท่านก็ได้เห็นมาแล้ว เหตุไร ท่านจึงแสดงคำพร่ำเพ้อ
ในขณะอันไม่สมควร คนอื่นนอกจากข้าพเจ้า ใครเล่าที่จะมาเจรจากับ
ท่านได้?
สังขพราหมณ์ได้ฟังคำของอุปัฏฐากแล้ว จึงคิดว่า ชะรอยเทวดา นั้น จะไม่ปรากฏแก่เขา จึงกล่าวว่า แน่ะสหาย เรามิได้กลัวมรณภัย ผู้อื่นที่มาเจรจากับเรามีอยู่ แล้วกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า:
[๑๓๕๘] นางเทพธิดามีหน้างาม เลอโฉม ประดับเครื่องประดับทอง ยกถาดทอง
เต็มด้วยอาหารทิพย์ มาร้องเชิญให้ข้าพเจ้าบริโภค นางเป็นผู้มีศรัทธา
และปลื้มใจ ข้าพเจ้าตอบกะนางว่า ไม่บริโภค.
ลำดับนั้น อุปัฏฐากได้กล่าวคาถาที่ ๓ แก่สังขพราหมณ์นั้น ว่า:
[๑๓๕๙] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ บุรุษผู้ปรารถนาความสุขได้พบเห็นเทวดาเช่นนั้นแล้ว
ควรถามให้ได้ความ ขอท่านจงลุกขึ้นประนมมือ ถามเทวดานั้นว่า ท่าน
เป็นเทวดาหรือมนุษย์?
พระโพธิสัตว์คิดว่า อุปัฏฐากพูดถูก เมื่อจะถามนางเทพธิดานั้น ได้กล่าวคาถาที่ ๔ ว่า:
[๑๓๖๐] เพราะเหตุว่า ท่านมามองดูข้าพเจ้าด้วยสายตาอันแสดงความรัก ร้อง
เชิญให้ข้าพเจ้าบริโภคอาหาร ดูกรนางผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอถาม
ท่าน ท่านเป็นเทวดาหรือมนุษย์?
ลำดับนั้น นางเทพธิดา ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า:
[๑๓๖๑] ข้าแต่ท่านสังขพราหมณ์ ข้าพเจ้าเป็นเทวดาผู้มีอานุภาพมากมาในกลาง
สมุทรนี้ ก็เพราะเป็นผู้มีความเอ็นดู จะได้มีจิตประทุษร้ายก็หาไม่
ข้าพเจ้ามาในที่นี้เพื่อประโยชน์แก่ท่านนั่นเอง.
[๑๓๖๒] ข้าแต่ท่านสังขพราหมณ์ ในสมุทรนี้มีข้าวน้ำ ที่นอน ที่นั่ง และยาน
พาหนะ มากมายหลายอย่าง ใจของท่านปรารถนาสิ่งใด ข้าพเจ้าจะให้
สิ่งนั้นทุกอย่างแก่ท่าน.
พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้ว คิดว่า เทวดานี้กล่าวว่าจะให้อย่างนั้นอย่างนี้แก่เราในท้องน้ำ เธอปรารถนาจะให้ด้วยบุญกรรมที่เราทำไว้ หรือจะให้ด้วยพลานุภาพของตน เราจักถามดูก่อน เมื่อจะถามจึงได้กล่าวคาถาที่ ๗ ว่า:
[๑๓๖๓] ข้าแต่เทพธิดาผู้มีร่างกายสวยงาม ตะโพกผึ่งผาย คิ้วงาม เอวบางร่างน้อย
ยัญ และการเส้นสรวงของข้าพเจ้าอย่างใด อย่างหนึ่งที่มีอยู่ ท่านเป็น
ผู้สามารถรู้วิบากแห่งกรรมของข้าพเจ้าทุกอย่าง การที่ข้าพเจ้าได้ที่พึ่งใน
มหาสมุทรนี้ เป็นวิบากแห่งกรรมอะไร?
นางเทพธิดาได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงคิดว่า พราหมณ์นี้ชะรอยจะถาม ด้วยสำคัญว่า เรารู้กุศลกรรมที่เขาทำไว้ บัดนี้ เราจักกล่าวทานของเขา เมื่อจะกล่าวก็ได้กล่าวคาถาที่ ๘ ว่า:
[๑๓๖๔] ข้าแต่ท่านสังขพราหมณ์ ท่านได้ถวายรองเท้ากะพระภิกษุรูปหนึ่ง ผู้เดิน
กระโหย่งเท้า เดินสะดุ้งลำบากในหนทางอันร้อน ทักขิณานั้นอำนวยผล
สิ่งที่น่าปรารถนาแก่ท่านในวันนี้.
พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้ว มีจิตยินดีว่า การถวายรองเท้า ที่เราได้ถวายแล้ว มาให้ผลที่น่าปรารถนาแก่เราทุกอย่างในมหาสมุทร อันหาที่พึ่งมิได้เช่นนี้ โอ! การที่เราถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นการถวายที่ดีแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๙ ว่า:
[๑๓๖๕] ขอเรือต่อด้วยแผ่นกระดาน น้ำไม่รั่ว มีใบสำหรับพาเรือให้แล่นไป
จงบังเกิดมี เพราะในสมุทรนี้ ไม่มีพื้นที่สำหรับยานพาหนะอย่างอื่น
ขอท่านได้ส่งข้าพเจ้าให้ถึงเมืองโมลินีในวันนี้เถิด.
พึงทราบความแห่งคำอันเป็นคาถานั้นว่า
ดูก่อนนางเทพธิดา เมื่อเป็นเช่นนั้น ขอท่านจงเนรมิตเรือ ลำหนึ่ง แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด แต่ขอจงเนรมิตเรือเล็กๆ ลำหนึ่ง ประมาณ เท่าเรือโกลน อนึ่ง เรือที่ท่านจักเนรมิตขอให้เป็นเรือที่ต่อด้วยแผ่นกระดานหลายๆ แผ่น ที่ตรึงดีแล้ว ที่ชื่อว่า น้ำไม่รั่ว ประกอบด้วยใบที่จะพาแล่นไปได้อย่างสะดวก เพราะในสมุทรนี้การที่จะใช้ยานพาหนะอื่น เว้นแต่เรือ เป็นไปมิได้ ขอท่านได้ส่งข้าพเจ้าให้ถึงเมืองโมลินีด้วยเรือลำนั้น ในวันนี้เถิด.
นางเทพธิดาได้ฟังคำของพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว มีจิตยินดี เนรมิตเรือขึ้นลำหนึ่ง ซึ่งแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ เรือลำนั้นยาว ๘ อุสภะ (๔๐๐ เมตร) กว้าง ๔ อุสภะ (๒๐๐ เมตร) ลึก ๒๐ วา (๔๐ เมตร) มีเสากระโดง ๓ เสา แล้วไป ด้วยแก้วอินทนิล มีสายระโยงระยาง ที่ทำด้วยทอง มีรอกกว้านที่ทำด้วยเงิน มีหางเสือ ที่ทำด้วยทอง เทวดาเอารัตนะ ๗ ประการ มาบรรทุกเต็มเรือ แล้วอุ้มพราหมณ์ขึ้นบนเรือที่ประดับแล้ว แต่มิได้เหลียวแลบุรุษอุปัฏฐากของพระโพธิสัตว์เลย พราหมณ์ได้ให้ส่วนบุญที่ตนได้กระทำไว้แก่อุปัฏฐาก อุปัฏฐากก็รับอนุโมทนา ทันใดนั้น เทวดาก็อุ้มอุปัฏฐากนั้นขึ้นเรือด้วย ลำดับนั้น เทวดาก็นำเรือไปสู่โมลินีนคร ขนทรัพย์ขึ้นเรือนพราหมณ์ แล้วจึงไปยังที่อยู่ของตน.
พระศาสดา ผู้ตรัสรู้แล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้เป็นที่สุดว่า:
[๑๓๖๖] นางเทพธิดานั้น มีจิตชื่นชมโสมนัสปราโมทย์ นิรมิตเรืออันงดงามแล้ว
พาสังขพราหมณ์กับบุรุษคนใช้มาส่งถึงเมืองอันเป็นที่รื่นรมย์ยินดีอย่างยิ่ง.
แม้พราหมณ์ก็ครอบครองคฤหาสน์ อันมีทรัพย์นับประมาณมิได้ ให้ทานรักษาศีลจนตลอดชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตแล้ว พร้อมด้วยบริษัท ได้ไปเกิดในเทพนคร.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม เวลาจบสัจจะ อุบาสกดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า นางเทพธิดาในครั้งนั้น ได้มาเป็นนางอุบลวัณณาเถรีในบัดนี้ บุรุษอุปัฏฐากในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์ ในบัดนี้ ส่วนสังขพราหมณ์ ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ สังขพราหมณชาดก

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
https://abhinop.blogspot.com
https://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.




Create Date : 25 สิงหาคม 2554
Last Update : 13 มีนาคม 2564 14:41:59 น. 2 comments
Counter : 2177 Pageviews.

 
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
//abhinop.blogspot.com
//abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 13 มีนาคม 2564 เวลา:15:28:20 น.  

 
อันว่าบุคลใดมีเจตนาดีมอบให้ผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ย่อมจะได้รับสิ่งที่ดีงานอันประเสริฐแด่บุคลนั้นดั่งเรื่องชาดกนี้ ก็อยากผู้ต้องการจะเป็นก็ควงรคิดและพิจารณาเรื่องนี้เป็นบทธรรมะสอนเตือนใจเจริญพรท่านผู้หลาย


โดย: พระกรัณย์พล ปภาโส IP: 49.237.12.209 วันที่: 6 พฤศจิกายน 2565 เวลา:0:04:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.