ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
25 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
จักรกรดพัดบนศีรษะ

จตุทวารชาดก
ว่าด้วยจักรกรดพัดบนศีรษะ


พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ ภิกษุว่ายากรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ดังนี้

เรื่องปัจจุบันปรากฏโดยพิสดารใน คิชฌชาดก นวกนิบาต ดังนี้
ได้ยินว่า ภิกษุว่ายากรูปนั้นเป็นลูกผู้ดีคนหนึ่ง แม้บวชในศาสนาที่จะนำออกจากทุกข์ เมื่ออาจารย์อุปัชฌาย์และเพื่อนพรหมจารีผู้หวังดี กล่าวสอนว่า เธอพึงก้าวไปอย่างนี้ พึงถอยกลับอย่างนี้ มองไปข้างหน้าอย่างนี้ เหลียวซ้ายแลขวาอย่างนี้ คู้เข่าอย่างนี้ เหยียดออกอย่างนี้ นุ่งอย่างนี้ ห่มอย่างนี้ ถือบาตรอย่างนี้ พึงรับภัตแต่พอยังอัตภาพให้เป็นไป พิจารณาก่อนแล้วจึงฉัน พึงคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรเนืองๆ พึงรู้ธรรมเนียมต้อนรับอาคันตุกะ พึงรู้ธรรมเนียมของผู้เดินทาง พึงประพฤติ ด้วยดีในขันธกวัตร ๑๔ และมหาวัตร ๘๐ พึงสมาทานธุดงคคุณ ๑๓ ดังนี้เป็นผู้ว่ายากไม่อดทนต่อโอวาท ไม่ยินดีรับคำสอน กล่าวตอบว่า กระผมไม่ได้ว่าพวกท่าน เหตุไรพวกท่านจึงว่ากระผม กระผมเท่านั้น จักทำสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์สำหรับตน แล้วได้ทำตัวให้ใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้.
ได้ยินว่า พวกภิกษุรู้ว่าภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ว่ายาก จึงได้ประชุมกันกล่าวโทษในธรรมสภา พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอประชุมสนทนากันถึงเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว รับสั่งให้เรียกภิกษุนั้นมาแล้วตรัสถามว่า ได้ยินว่าเธอเป็นผู้ว่ายากจริงหรือ ? เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่าจริง จึงตรัสว่า เธอบวชในศาสนาที่จะนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ เหตุไรจึงไม่เชื่อคำของผู้ที่หวังดี แม้ในกาลก่อน เธอก็ไม่เชื่อคำ ต้องแหลกละเอียด ในช่องลมเวรัมพวาตมาแล้วดังนี้ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:
สำหรับในที่นี้มีความว่า พระศาสดาตรัสถามภิกษุรูปนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอเป็นผู้ว่ายากจริงหรือ ? เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ แม้ในกาลก่อนเธอก็ไม่เชื่อฟัง คำของบัณฑิตไปยินดีจักรกรด เพราะที่เป็นผู้ว่ายากดังนี้ แล้วทรงนำเอา เรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:
ในอดีตกาล ครั้งศาสนาพระกัสสปทศพล ในเมืองพาราณสี เศรษฐีมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิมีบุตรคนหนึ่ง ชื่อมิตตวินทุกะ มารดาบิดาของมิตตวินทุกะเป็นพระโสดาบัน แต่มิตตวินทุกะเป็นคนทุศีล ไม่มีศรัทธา.
ต่อมาเมื่อบิดาตายแล้ว มารดาตรวจตราดูแลทรัพย์สมบัติ วันหนึ่งกล่าวกะเขาว่า ลูกรัก ความเป็นมนุษย์เป็นของที่ได้ยาก เจ้าก็ได้แล้ว เจ้าจงให้ทานรักษาศีล กระทำอุโบสถกรรม ฟังธรรมเถิด
มิตตวินทุกะกล่าวว่า แม่ ทานเป็นต้นไม่เป็นประโยชน์แก่ฉัน แม่อย่าได้กล่าวอะไรๆ กะฉัน ฉันจะไปตามยถากรรม
ถึงแม้เขาจะกล่าวอยู่อย่างนี้ วันหนึ่งเป็นวันบูรณมีอุโบสถ มารดาได้กล่าวกะเขาว่า ลูกรักวันนี้เป็นวัน อภิลักขิตสมัยมหาอุโบสถ วันนี้เจ้าจงสมาทานอุโบสถ ไปวิหารฟังธรรม อยู่ตลอดคืนแล้วจงมา แม่จะให้ทรัพย์แก่เจ้าพันหนึ่ง
เขารับคำว่า ดีแล้ว สมาทานอุโบสถเพราะอยากได้ทรัพย์ พอบริโภคอาหารเช้าแล้วไปวิหาร อยู่ที่วิหารตลอดวัน แล้วนอนหลับอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งตลอดคืน โดยที่บทแห่งธรรมแม้บท ๑ ก็ไม่กระทบหู วันรุ่งขึ้นเขาล้างหน้าไปนั่งอยู่ที่เรือนแต่เช้าทีเดียว.
ฝ่ายมารดาของเขาคิดว่า วันนี้ลูกของเราฟังธรรมแล้ว จักพาพระเถระผู้ธรรมกถึกมาแต่เช้าทีเดียว จึงตกแต่งข้าวยาคูเป็นต้น แล้วปูลาดอาสนะไว้คอยท่าอยู่ ครั้นเห็นเขามาคนเดียว จึงถามว่า ลูกรัก เจ้าไม่ได้นำพระธรรมกถึกมาหรือ ?
เมื่อเขากล่าวว่า ฉันไม่ต้องการพระธรรมกถึก
มารดาของเขาจึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นลูกจงดื่มข้าวยาคูเถิด
เขากล่าวว่า แม่รับว่าจะให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่ฉัน แม่จงให้ทรัพย์แก่ฉันก่อน ฉันจักดื่มภายหลัง
มารดากล่าวว่า ดื่มเถิดลูกรัก แล้วแม่จักให้ทีหลัง
เขากล่าวว่า ฉันต้องได้รับทรัพย์ก่อนจึงจะดื่ม
ลำดับนั้น มารดาได้เอาห่อทรัพย์พันหนึ่งวางไว้ต่อหน้าเขา เขาดื่มข้าวยาคูแล้วถือเอาห่อทรัพย์พันหนึ่งไปทำการค้าขาย ในไม่ช้านักก็เกิดทรัพย์ขึ้นถึงแสนสองหมื่น ลำดับนั้น เขาได้มีความคิดดังนี้ว่า เราจักต่อเรือทำการค้าขาย ครั้นเขาต่อเรือแล้วได้กล่าวกะมารดาว่า แม่ ฉันจักทำการค้าขายทางเรือ
ครั้งนั้น มารดาได้ห้ามเขาว่า ลูกรัก เจ้าเป็นลูกคนเดียวของแม่ แม้ในเรือนนี้ก็มีทรัพย์อยู่มาก ทะเลมีโทษไม่น้อยเจ้าอย่าไปเลย
เขากล่าวว่า ฉันจักไปให้ได้ แม่ไม่มีอำนาจที่จะห้ามฉัน
แม้เมื่อมารดากล่าวว่า ลูกรัก แม่ต้องห้ามเจ้า แล้วจับมือเอาไว้ ก็สลัดมือผลักมารดาให้ล้มลง แล้วข้ามไปลงเรือแล่นไปในทะเล.
ครั้นถึงวันที่ ๗ เรือได้หยุดนิ่งอยู่บนหลังน้ำกลางทะเล เพราะมิตตวินทุกะเป็นเหตุ สลากกาลกัณณีที่แจกไปได้ตกในมือของมิตตวินทุกะคนเดียวถึงสามครั้ง
ครั้งนั้น พวกที่ไปด้วยกันได้ผูกแพให้เขา แล้วโยนเขาลงทะเล โดยที่คิดเห็นร่วมกันว่า คนเป็นจำนวนมากอย่ามาพินาศเสียเพราะนายมิตตวินทุกะนี้คนเดียวเลย ทันใดนั้นเรือได้แล่นไปในมหาสมุทรโดยเร็ว
มิตตวินทุกะนอนไปในแพลอยไปถึงเกาะน้อยแห่งหนึ่ง บนเกาะน้อยนั้นเขาได้พบนางชนี คือนางเวมานิกเปรต ๔ นาง อยู่ในวิมานแก้วผลึก นางเปรตเหล่านั้นเสวยทุกข์ ๗ วัน เสวยสุข ๗ วัน มิตตวินทุกะได้เสวยทิพยสมบัติอยู่กับนางเปรตเหล่านั้น ๗ วันในวาระสุข ครั้นถึงวาระที่จะเปลี่ยนไปทนทุกข์ นางทั้ง ๔ ได้สั่งว่า นาย พวกฉันจักมาในวันที่ ๗ ท่านอย่ากระสันไปเลย จงอยู่ในที่นี้จนกว่าพวกฉันจะมา ดังนี้แล้วพากันไป
มิตตวินทุกะเป็นคนตกอยู่ในอำนาจของตัณหา ลงนอนบนแพนั้นลอยไปตามหลังสมุทรอีก ถึงเกาะน้อยอีกแห่งหนึ่ง ได้พบนางเปรต ๘ นาง ในวิมานเงินบนเกาะนั้น เรื่องก็เป็นดังเช่นที่ได้กล่าวมาแล้ว มิตตวินทุกะก็ลงนอนบนแพนั้นลอยไปตามหลังสมุทรอีก ได้พบนางเปรต ๑๖ นาง ในวิมานแก้วมณีบนเกาะอีกแห่งหนึ่ง ได้พบ นางเปรต ๓๒ นาง ในวิมานทองบนเกาะอีกแห่งหนึ่ง โดยอุบายนี้แหละ ได้เสวยทิพยสมบัติอยู่กับนางเปรตเหล่านั้นทุกๆ เกาะ ดังกล่าวแล้ว เมื่อถึงเวลาที่นางเปรตแม้เหล่านั้นไปทนทุกข์ ก็ได้นอนบนหลังแพลอยไปตามห้วงสมุทรอีก
จนครั้งสุดท้ายเมื่อจากนางเปรต ๓๒ นางมา แพก็ได้ลอยมาจนพบเมืองๆ หนึ่งมีกำแพงล้อมรอบ มีประตู ๔ ด้าน ได้ยินว่าที่นี่เป็นอุสสทนรกเป็นที่เสวยกรรมกรณ์ของเหล่าสัตว์นรกเป็นจำนวนมาก แต่ได้ปรากฏแก่มิตตวินทุกะเป็นเหมือนเป็นเมืองที่ประดับตกแต่งไว้อย่างงดงาม
เขาคิดว่า เราจักเข้าไปเป็นพระราชาในเมืองนี้ แล้วเข้าไปได้เห็นสัตว์นรกตนหนึ่ง ทูนจักรกรดหมุนเผาผลาญอยู่บนศีรษะ ขณะนั้นจักรกรดบนศีรษะสัตว์นรกนั้นได้ปรากฏแก่มิตตวินทุกะเป็นเหมือนดอกบัว เครื่องจองจำ ๕ ประการที่อก ปรากฏเหมือนเป็นสังวาลย์เครื่องประดับทรวง โลหิตที่ไหลจากศีรษะเหมือนเป็นจันทน์แดงที่ ชะโลมทา เสียงครวญครางเหมือนเป็นเสียงเพลงขับที่ไพเราะ
มิตตวินทุกะเข้าไปใกล้สัตว์นรกนั้น แล้วกล่าวขอว่า ข้าแต่บุรุษผู้เจริญ ท่านได้ทัดทรงดอกบัวมานานแล้ว จงให้แก่ข้าพเจ้าเถิด
สัตว์นรกกล่าวว่า แน่ะสหาย นี้ไม่ใช่ดอกบัวมันคือจักรกรด
มิตตวินทุกะกล่าวว่า ท่าน พูดอย่างนี้เพราะไม่อยากจะให้แก่เรา
สัตว์นรกคิดว่า บาปของเราคงสิ้นแล้ว บุรุษผู้นี้ก็คงจะทุบตีมารดามาแล้วเหมือนเรา เราจักให้จักรกรดแก่มัน
ครานั้นสัตว์นรกได้กล่าวกะมิตตวินทุกะว่า มาเถิดท่านผู้เจริญ ท่านจงรับดอกบัวนี้เถิด แล้วขว้างจักรกรดไปบนศีรษะของมิตตวินทุกะ จักรกรดได้ตกลงพัดผันบนศีรษะเขา ขณะนั้นมิตตวินทุกะจึงรู้ว่าดอกบัวนั้นคือจักรกรด ได้รับทุกขเวทนาเป็นกำลัง คร่ำครวญว่า ท่านจงเอาจักรกรดของท่านไปเถิดๆ สัตว์นรกตนนั้นได้หายไปแล้ว.
คราวนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นรุกขเทวดา พร้อมด้วยบริวารใหญ่เที่ยวจาริกไปในอุสสทนรกได้ไปถึงที่นั้น มิตตวินทุกะแลเห็นรุกขเทวดา เมื่อจะถามว่า ข้าแต่เทวราชเจ้าจักรนี้ลงบดศีรษะประหนึ่งว่าจะทำให้แหลกเหมือนเมล็ดงา ข้าพเจ้าได้กระทำบาปอะไร ไว้หนอ ดังนี้ จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า:
[๑๓๑๙] เมืองนี้มีประตู ๔ ประตู มีกำแพงมั่นคงล้วนแล้วไปด้วยเหล็กแดง ข้าพเจ้า
ถูกล้อมไว้ด้วยกำแพง ข้าพเจ้าได้ทำบาปอะไรไว้?
[๑๓๒๐] ประตูทั้งหมดจึงปิดแน่น ข้าพเจ้าถูกขังเหมือนนก ข้าแต่เทวดา เหตุ
เป็นมาอย่างไร ข้าพเจ้าจึงลูกจักรกรดพัดศีรษะ?
ลำดับนั้น เทวราชเมื่อจะบอกเหตุแก่เขา จึงได้กล่าวคาถา ๖ คาถาว่า:
[๑๓๒๑] ท่านได้ทรัพย์มากมายถึงสองล้านแล้ว มิได้ทำตามคำชอบของญาติ
ทั้งหลายผู้เอ็นดู.
[๑๓๒๒] ท่านแล่นเรือไปสู่สมุทรซึ่งอาจยังเรือให้โลดขึ้นได้ เป็นสาครมีสิทธิ์น้อย
ได้ประสบนางเวมานิกเปรต ๔ นาง จาก ๔ นางเป็น ๘ นาง จาก ๘
นางเป็น ๑๖ นาง.
[๑๓๒๓] ถึงจะได้ประสบนางเวมานิกเปรตจาก ๑๖ นางเป็น ๓๒ นาง ก็ยังปรารถนา
ยิ่งไปกว่านั้น จึงได้ประสบจักรนี้ จักรกรดย่อมพัดผันบนศีรษะของ
คนผู้ถูกความอยากครอบงำ.
[๑๓๒๔] ความอยากเป็นของสูงใหญ่ไพศาล ยากที่จะให้เต็มได้ มักให้ถึงความ
วิบัติ ชนเหล่าใดย่อมยินดีไปตามความอยาก ชนเหล่านั้นต้องเป็นผู้ทรง
จักรกรดไว้.
[๑๓๒๕] อนึ่ง ชนเหล่าใดละทิ้งสิ่งของมากมายเสีย ไม่พิจารณาหนทางให้ถ่องแท้
ไม่ใคร่ครวญเหตุนั้นให้ถี่ถ้วน ชนเหล่านั้นต้องเป็นผู้ทรงจักรกรดไว้.
[๑๓๒๖] ผู้ใดพึงพิจารณาถึงการงาน และโภคะอันไพบูลย์ ไม่ส้องเสพความอยาก
อันประกอบด้วยความฉิบหาย ทำตามถ้อยคำของผู้เอ็นดูทั้งหลาย ผู้เช่น
นั้นไม่พึงถูกจักรกรดพัดผัน.
ความว่า ท่านทำอุโบสถได้รับทรัพย์พันหนึ่งจากสำนักของมารดา เมื่อทำการค้าขายจึงได้ทรัพย์ที่เป็นทุนพันหนึ่งและทรัพย์ที่เป็นกำไรตั้งหนึ่งแสนสองหมื่นแล้ว แต่ท่านไม่ยินดีด้วยทรัพย์นั้น แล่นเรือไปสู่สมุทรแม้ถูกมารดากล่าวถึงโทษในสมุทรแล้วห้ามอยู่ ก็ยังไม่เชื่อคำเตือนโดยชอบของญาติผู้เอ็นดูกลับทำร้ายมารดาผู้โสดาบัน แล้วฉวยโอกาสหนีออกไป
ท่านแล่นเรือไปแล้ว ครั้นเรือหยุดนิ่งเพราะท่านเป็นเหตุ ถูกพวกที่ไปด้วยกันผูกแพให้แล้วโยนลงทะเล ท่านยังได้หญิง ๔ คน ในวิมานแก้วผลึก เพราะอานิสงส์แห่งอุโบสถกรรมที่ตนได้กระทำในวันหนึ่ง เพราะอาศัยมารดา ต่อจากนั้นก็ได้ให้หญิงอีก ๘ คน ในวิมานเงิน ๑๖ คน ในวิมานแก้วมณี และ ๓๒ คน ในวิมานทอง
ถึงกระนั้น ท่านก็ยังไม่ยินดีด้วยปัจจัย เป็นผู้ปรารถนามากเกินไป เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยความปรารถนาเกินเลยสิ่งที่ตน ได้มาแล้วๆ อย่างนี้ว่า เราจักได้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ในสิ่งนี้ ดังนี้จัดว่าเป็น บุคคลเลวทราม เพราะความที่อานิสงส์แห่งอุโบสถกรรมนั้นสิ้นแล้ว จึงได้ผ่านพ้นหญิง ๓๒ คน แล้วมาสู่เปรตนครนี้ เพราะวิบากแห่งอกุศลกรรมคือการทำร้ายมารดานั้น จึงได้ประสบจักรนี้
บัดนี้ จักรนี้บดศีรษะของท่านนั้นอยู่ ชื่อว่า พัดผันบนศีรษะของคนที่ถูกความอยากครอบงำแล้ว ดุจจักรของนายช่างหม้อฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าความอยากนั้น เมื่อแผ่ไปย่อมเป็นของสูงใหญ่ไพศาล ยากที่จะเต็มได้ดุจทะเล ชื่อว่า มักให้ถึงความวิบัติ เพราะความปรารถนาอันเป็นเครื่องปรารถนาอารมณ์นั้นๆ ในบรรดาอารมณ์มีรูปเป็นต้น ชนเหล่าใดย่อมยินดีไปตามความอยากเห็นปานนี้ นั้นคือเป็นผู้กำหนัดยินดีติดอยู่บ่อยๆ ชนเหล่านั้นเป็นไปอยู่อย่างนี้ ชื่อว่า ย่อมทรงไว้ซึ่งจักรกรด
ชนเหล่าอื่นเหล่าใดไม่ใคร่ครวญ คือไม่คิดอ่าน เหตุการณ์นั้นให้ถ่องแท้ เหมือนท่านไม่พิจารณาหนทางสมุทรที่ตนจะต้องไป ชนเหล่านั้นเป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจของความอยาก ได้ละทรัพย์เป็นอันมาก อันเป็นของมารดาบิดา แล้วไม่พิจารณาทางที่จะไป แล้วดำเนินไป ย่อมเป็นผู้ทรงจักรไว้เหมือนท่าน
เพราะเหตุนั้น บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงเพ่งพินิจ ถึงกิจการงานที่ตนจะต้องทำว่ามีโทษหรือไม่หนอ พึงเพ่งพินิจแม้กองแห่งทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบธรรมของตน บุคคลเช่นนั้นจะไม่ถูกจักรนี้พัดผันคือทับยี
มิตตวินทุกะได้ฟังดังนั้นแล้วคิดว่า เทวบุตรนี้รู้กรรมที่เราทำไว้โดยถ่องแท้ เทวบุตรนี้คงจะรู้กำหนดกาลที่เราจะหมกไหม้อยู่ เราจะถามท่านดู ดังนี้แล้ว จึงได้กล่าวคาถาที่ ๙ ว่า:
[๑๓๒๗] ข้าแต่เทวดา จักรกรดจักตั้งอยู่บนศีรษะของข้าพเจ้านานสักเท่าไรหนอ
สักกี่พันปี ข้าพเจ้าขอถามความนั้น ขอท่านได้โปรดบอกแก่ข้าพเจ้า
เถิด?
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะบอกแก่มิตตวินทุกะนั้น จึงได้ กล่าวคาถาที่ ๑๐ ว่า:
[๑๓๒๘] ดูกรมิตตวินทุกะ ท่านจงฟังเรา ท่านจะต้องทนทุกข์ทรมานไปอีกนาน
จักรกรดจะพัดผันอยู่บนศีรษะของท่าน เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ จะพ้น
จักรกรดนั้นไปไม่ได้.
ข้อนี้มีอธิบายว่า ดูก่อนมิตตวินทุกะผู้เจริญ ท่านจงฟังคำของเรา ก็ท่านชื่อว่าต้องทนทุกข์ทรมานไปสิ้นกาลนาน เพราะความที่แห่งกรรมอันทารุณยิ่ง เป็นกรรมที่ท่านกระทำแล้ว อนึ่ง ท่านจะต้องทนทุกข์ทรมานไปสิ้นกาลนาน เพราะวิบากแห่งกรรมนั้นใครๆ ไม่สามารถจะบอกให้รู้ได้ด้วยการนับเป็นปี และเพราะท่านจักต้องถึงวิบากทุกข์อันใหญ่ยิ่ง ซึ่งหาประมาณมิได้ เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่สามารถที่จะบอกแก่ท่านได้ว่าเท่านี้พันปี เท่านี้แสนปี ดังนี้.
ตราบใดที่วิบากกรรมของท่านยังไม่สิ้นไปตราบนั้นเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ จักพ้นจักรกรดนั้นไปไม่ได้ แต่เมื่อวิบากกรรมสิ้นไปแล้ว ท่านก็จักละจักรกรดนี้ไปตามยถากรรม.
ครั้นเทวบุตรกล่าวคาถานี้แล้ว ก็ได้ไปเทพวิมานของตน ส่วนมิตตวินทุกะก็ได้ดำเนินไปสู่ทุกข์ใหญ่.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า มิตตวินทุกะในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุว่ายากรูปนี้ในบัดนี้ ส่วนเทวราชในครั้งนั้น คือเราตถาคต ฉะนี้แล.

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
https://abhinop.blogspot.com
https://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.




Create Date : 25 สิงหาคม 2554
Last Update : 13 มีนาคม 2564 14:43:35 น. 2 comments
Counter : 596 Pageviews.

 


โดย: แพ็ตตี้ (เพชรพญานาค ) วันที่: 6 ตุลาคม 2554 เวลา:16:27:44 น.  

 
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
//abhinop.blogspot.com
//abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 13 มีนาคม 2564 เวลา:15:29:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.