ตีความหนัง...ตีความชีวิต
สารบัญภาพยนตร์
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
<<
พฤษภาคม 2555
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
22 พฤษภาคม 2555

Badlands (1973)

สารบัญภาพยนตร์

Badlands (1973)


การค้นหาอัตลักษณ์ของหนุ่มสาว “อเมริกันดรีม”




ภาพยนตร์ Badlads เป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของผู้กำกับสันโดษชาว อเมริกัน นาม เทอเรนซ์ มาลิค ซึ่งหากนับจนถึงปัจจุบันเขาทำผลงานไปทั้งสิ้น 5 เรื่องเท่านั้นภายใต้ระยะเวลา 38 ปี(เฉลี่ย 7 ปีกว่าต่อเรื่อง) ทำให้เชื่อได้ว่าผลงานของเขาที่ผลิตออกมาแต่ละเรื่องนั้น ถูกจัดให้เป็นมาสเตอร์พีช อย่างไม่ต้องสงสัย ทั้ง Days of Heaven(1978) ,The Thin Red Line (1998),The New World(2005) และ The Tree of Life(2011)

โดย Badlands ถูกดัดแปลงมาจากเรื่องจริงของ มือปืนฆาตกร Charles Starkweather และ แฟนสาววัย 14 ปี Caril Ann Fugate ที่ฆ่าคนเกือบครึ่งโหล ก่อนที่ฝ่ายชายจะถูกจับและถูกประหารชีวิตด้วยเก้าอี้ไฟฟ้า ส่วนฝ่ายหญิงติดคุก 18 ปี ก่อนที่จะถูกปล่อยตัว

แต่เมื่อมันมาอยู่ในมือของ มาลิค แล้ว เรื่องราวคู่รักวัยหนุ่มสาวทั้งสองจึงไม่ธรรมดา แต่โลกของพวกเขา ด้วยวิธีคิดบุคลิกท่าทาง มูลเหตุการกระทำ ถูกวิเคราะห์และตีความจากนักวิจารณ์และนักดูหนังต่างๆ นานา และภาพยนตร์เรื่องนี้เองได้ทำให้ ชื่อเสียงของ เทอเรนซ์ มาลิค ขจรขจายไปไกล รวมทั้งตัวภาพยนตร์เองถูกจัดให้อยู่ใน 1,001 ภาพยนตร์ที่ต้องดูก่อนตายอีกด้วย



เรื่องราวในภาพยนตร์เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1959 คิท (Martin Sheen) คนเก็บขยะได้ไปหลงรักหญิงสาววัย 15 ฮอลลี่(Sissy Spacek) ก่อเกิดเป็นความรัก จนกระทั่งพ่อของ ฮอลลี่ รู้เข้าและได้ปิดกั้นคนทั้งสอง จนทำให้คิท หวังจะพาฮอลลี่ หนีไปอยู่ด้วยกัน แต่พ่อได้เข้ามาขัดขวางจนทำให้ คิท ลั่นไกปืนใส่พ่อฮอลลี่จนถึงแก่ความตาย และนั่นเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของพวกเขา ในการหนีออกไปสู่ตามชายแดนอเมริกาก่อนที่จะไปถูกจับและจบลง ณ ดินแดนรกร้าง Badlands

หากกล่าวในแง่องค์ประกอบภาพยนตร์ของ Badlans ในแง่ของการเป็นภาพยนตร์ที่มีตัวละครเป็นผู้ร้าย ที่จะมีแก่นหลักว่าด้วยการ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” คงผิดถนัดนักกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ใช่! สุดท้ายอาจจะถูกจับดำเนินคดีตามกฎหมายก็จริง แต่กลวิธีทางภาพยนตร์ไม่ได้เน้นย้ำเพื่อบ่งบอกถึงความเลวร้ายในการยิงคู่ต่อสู้ มิหนำซ้ำเสียงเพลงประกอบแสนโรแมนติก ยังขึ้นมาเพื่อทำให้รู้สึกแปลกแปร่ง การถ่ายภาพที่สวยสดงดงาม (ว่ากันว่า มาลิค มักถ่ายภาพยนตร์ของเขา ด้วยแสงธรรมชาติ ในช่วงเวลา “ชั่วโมงมหัศจรรย์” นั่นคือ ก่อนพระอาทิตย์จะขึ้นและตก) ทำให้ผู้ชมไม่ได้รู้สึกถึงความเลวร้าย ในตัวคิทและฮอลลี่เลย แล้วอะไรคือสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะนำเสนอ

สิ่งแรกที่น่าสนใจในตัวละคร คิท คือ การมีบุคลิกท่าทางหน้าตาที่คล้ายคลึง เจมส์ ดีน นี่คงเป็นสัญญะทางภาพยนตร์สำคัญที่มาลิคทิ้งให้ผู้ชมได้ติดตาม ด้วยการรับรู้ของผู้ชมที่รู้จัก เจมส์ ดีน ซึ่งเป็นบุคคลมีชื่อเสียง ที่ถูกโจษขานกันว่า เป็นภาพลักษณ์ของนักขบถ เหตุนี้เองจึงเป็นการสื่อความหมายแทนตัวตนของ คิท ได้เป็นอย่างดี



คิท คือชายหนุ่มวัย 25 ที่เป็นคนเก็บขยะ ซึ่งอาชีพเขานั่นเป็นที่รู้กันว่า เป็นอาชีพที่ไม่มีใครอยากทำ แต่เเพราะเขาไม่มีสิทธิ์เลือกอะไร ไม่ว่าปูมหลังเขาจะเป็นใคร แต่ด้วยการพร่ำบ่นทั้งการพูดคุย กับฮอลลี่ ผู้ชมจะถูกรับรู้ว่า คิท มักทอดถอนใจว่า เขาเป็นคนที่ไม่น่าสนใจ ไม่มีใครต้องการ ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครสนใจว่าเขาคิดอะไร ไม่คิดแม้จะถามความรู้สึกของเขา และยังพูดต่อว่าสังคม อีกด้วยว่า เขาเป็นคนเก็บขยะแล้วฮอลลี่ ก็ทำสีหน้าท่าทางพร้อมบอกว่า ถ้าพ่อรู้เข้าต้องไม่ชอบใจแน่ๆ เขาจึงกล่าวเปรียบเปรยว่า “คนเรามักไม่รู้เกี่ยวกับบางสิ่ง แต่ก็ปฎิเสธไว้ก่อน เหมือนสังคมที่วางกรอบไว้ทุกอย่าง จัดระเบียบไว้หมดแล้ว” นี่คงพอบอกเป็นนัยได้ว่า คิท เป็นคนที่มีปัญหากับกรอบสังคมอย่างชัดเจน สิ่งเดียวที่ทำให้เขาดูเป็นที่น่าสนใจ อาจเพราะความเหมือน เจมส์ ดีน ของเขาเพียงเท่านั้น

ในช่วงต้นนั้น คิท ดำเนินชีวิตของเขาไปตามปรกติ จนกระทั่งเขาได้มาเจอฮอลลี่ ซึ่งแม้ไม่ได้บอกว่าเขาได้หลงรักตั้งแต่แรกพบหรือไม่ แต่ความสัมพันธ์ของเขากับฮอลลี่ก็ได้ก่อตัวขึ้นมาเรื่อยๆ จนแปรเปลี่ยนเป็นความรัก ที่หลบๆซ่อนๆในสายตาพ่อของเธอ และความรักที่ฮอลลี่ มอบให้เขาเป็นการย้ำเตือนว่า แม้ในสังคมจะไม่มีอะไรเป็นที่น่าพอใจสำหรับเขา แต่สำหรับความรักแล้วนั้นคงไม่มีกรอบกั้นอะไรที่จะมาทำลายความสัมพันธ์ของ ฮอลลี่กับเขาลงได้พราะความรักเป็นเรื่องของคนสองคนเท่านั้น

แต่แล้วความสัมพันธ์ของคิทกับฮอลลี่ ได้เข้าไปถึงหูพ่อของฮอลลี่ เขาจึงทำโทษลูกสาวโดยการฆ่าหมาที่รักของเธอทิ้ง และบอกให้เลิกติดต่อกับคิท ทำให้คิทตัดสินใจเข้าไปเจรจาสารภาพรักฮอลลี่กับพ่อของเธอ แม้คิทจะพูดอย่างไร พ่อเธอก็ไม่สนใจ แต่ในบทสนทนานี้เป็นการบ่งบอกถึงความตัวตนคิทได้เป็นอย่างดี จากคำพูดที่ว่า “ความรักของเราจะไปด้วยดี แต่ถ้าไม่...เธอก็เลิกมันก็ได้ แค่เลือกว่าจะอยู่หรือไปผมไม่ว่าหรอก ผมคิดว่า..... ผมสมควรได้รับมัน”



คิท คิดว่า ความรักที่ฮอลลี่มอบให้เขานั้น เขาสมควรที่จะได้รับมัน เพราะถ้าเธอไม่ต้องการได้มันเธอก็มีสิทธิ์จากไปได้ทุกเมื่อ (คิททำให้เห็นแล้วว่า คำพูดนี้ เขาซื่อสัตย์แค่ไหนในฉากปลายเรื่อง ที่ฮอลลี่ เลือกที่จะจากเขาไป) แต่เขากลับถูกปฎิเสธจากพ่อของฮอลลี่ ซึ่งแน่นอนว่าในความหมายของคิท การถูกปฎิเสธในครั้งนี้เป็นการไร้ซึ่งความยุติธรรมเป็นที่สุด คำพูดของพ่อในการไล่เขาไปเป็นเหมือนเป็นการสิ้นสุดลงถึงความจมดิ่งทางการยอมรับสถานะทางสังคมที่เขาดำรงอยู่

หลังจากเหตุการณ์ต่อจากนี้ คิท ได้สร้างชุดจริยธรรมของเขาเองขึ้นมาใหม่ เพราะชุดจริยธรรมเดิมที่เขาได้ปฎิบัตินั้นมันไม่สามารถให้ความยุติธรรมกับเขาได้อีกต่อไป เขาจึงต้องเรียกร้องสิทธิสิ่งที่เขาพึงได้รับ ด้วยการเข้าไปบุกบ้านเพื่อหวังจะพาฮอลลี่หนีไปอยู่ด้วยกัน แต่ด้วยการขัดขวางจากพ่อ มิหนำซ้ำยังได้ขัดขืนคำสั่งของเขา และเดินไปแจ้งตำรวจหน้าตาเฉยๆ ทั้งที่คิทขู่ห้ามด้วยการมีปืนอยู่ในมือ ซึ่งไม่ต่างจากการมองเขาว่าเป็นคนไม่มีความสำคัญ เขาจึงลั่นไกใส่ พ่อฮอลลี่โดยทันที และนั่นคงเป็นเสียงปืนที่กึกก้องกังวาล เพื่อสร้างคำพูดว่า เขาก็มีตัวตนในสังคมนี้อยู่เหมือนกัน

ส่วนฮอลลี่นั่นเป็นหญิงสาววัย 15 ปี ที่ดูไร้เดียงสาอาศัยอยู่กับพ่อ ส่วนแม่เสียไปตั้งแต่เด็ก ภาพยนตร์มักใช้เสียงบรรยายของเธอเล่าความคิดและสิ่งที่เธอเห็นตลอดเรื่องดั่งเธอเป็นตัวละครที่สำคัญเทียบเท่ากับ คิท ฮอลลี่มักไม่ได้รับอิสระเท่าที่ควร อยู่ใต้กฎเกณฑ์ของพ่อตลอดมา และการที่เธอไร้ซึ่งอิสรภาพและความคิดทำให้เธอไม่ต่างจากวัตถุที่รับคำสั่งจากพ่อเพียงเท่านั้น



จนกระทั่งเธอได้มาพบคิท แม้เธอจะชอบคิท เพราะคิทสนใจเธอ ทั้งๆที่เธอไม่มีความโดดเด่นและน่าสนใจอะไรเลย แต่เธอก็ยังอยู่ในกรอบที่พ่อวางไว้ ไม่สามารถต่อต้านอะไร แม้เป็นการบอกให้เลิกคบกับคิทก็ตาม จนกระทั่งวันที่คิท ได้เข้ามาและฆ่าพ่อของเธอ ณ วินาทีนั้นชีวิตเธอต้องเปลี่ยนไป เธอไม่มีใคร และเธอรักคิท ดังนั้นเธอก็ต้องหนีไปอยู่กับคิท แม้ฉากในบ้าน ลังจากพ่อของเธอตายผู้ชมจะเห็นการเติบโตของ ฮอลลี่ ไม่มากก็น้อย ทั้งการหวังว่าต้องแจ้งตำรวจ ซึ่งวิธีคิดเหล่านี้ เป็นหลักจริยธรรมของบุคคลที่อยู่ในกรอบสังคมทั่วๆไป แต่ชั่วขณะหนึ่งเธอก็เริ่มเข้าใจ ว่าอิสรภาพกำลังเป็นของเธอ เธอเริ่มสูบบุหรี่เป็นครั้งแรกในบ้านของเธอ และตัดสินเดินทางไปหลบหนีไปกับคิท

คิทได้ละเลงน้ำมันและเผาบ้านของฮอลลี่ รวมทั้งศพพ่อของเธอด้วย และด้วยการเน้นย้ำด้วยภาพไฟไหม้ทั่วบ้าน และเสียงประกอบที่เป็นเสมือนดั่งบทสวดในโบสถ์ การเผาบ้านจึงไม่ต่างจากการทำลายพื้นที่ทางกรอบประเพณี พ่อของฮอลลี่เปลี่ยนไปไม่ต่างจากตัวแทนของความเป็นสังคมหรือรัฐ ที่คิทไม่เคยได้รับความยุติธรรม หรือสิทธิพึงได้อย่างพลเมืองทั่วๆไป และฉากเผาบ้านจึงเป็นการทำลายกฎเกณฑ์ข้อบังคับทุกอย่างที่สังคมได้วางกรอบไว้ให้มอดไหม้หมดสิ้นไป และเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของหนุ่มสาวที่ทำทุกอย่างภายใต้กฎเกณฑ์ข้อบังคับที่พวกเขาสร้างขึ้นมาด้วยตนเอง



ฮอลลี่ มีพื้นเพการยึดติดกับกรอบสังคมที่ถูกสร้างไว้ด้วยพ่อของเธอ แต่หลังจากเธอได้ออกเดินทางก็ใช่ว่า เธอจะเปลี่ยนแปลงโดยทันที เพราะเธอก็ยังได้กล่าวด้วยเสียงบรรยายว่า “ชะตาชีวิตขึ้นอยู่กับคิท ไม่ว่าจะดีหรือเลว การได้ใช้ชีวิต ในแต่ละอาทิตย์กับคนที่เรารัก มันย่อมดีกว่าการอยู่อย่างโดดเดี่ยว” นั้นพอเป็นหลักประกันได้ว่า ฮอลลี่ ได้เปลี่ยนจากการใช้พ่อเป็นสรณะเปลี่ยนไปเป็น คิท เป็นที่เรียบร้อยโดยทันที แต่การใช้กรอบของคิทเป็นสรณะนั้น มันมีความแตกต่างจากกรอบเดิมอย่างพ่อโดยสิ้นเชิง เพราะคิท ให้อิสรเสรีภาพกับฮอลลี่อย่างเต็มขั้น ทำให้ ฮอลลี่ ได้มีโอกาสค้นหาตนเองอย่างที่ไม่เคยมีโอกาสได้ทำมาก่อนจากพ่อของเธอ

การค้นหาตนเองของฮอลลี่ ถูกทำให้เด่นชัดเรื่อยมา ตั้งแต่การใช้ชีวิตบนบ้านต้นไม้ในป่า เธอเริ่มต้องปรับตัวกับชีวิต ที่แปลกไปจากเดิม แต่เธอก็ไม่วายแต่งหน้า เขียนตา ทาปาก ใส่โรลม้วนผม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการบ่งบอกถึงการแสดงความเติบโตและการค้นหาตนเอง ขอฮอลลี่ ซึ่งผู้ชมอาจรู้สึกแปลกใจ เพราะสถานะของเธอในตอนนั้นไม่จำเป็นต้องสวย หรือแต่งหน้าให้ใครเห็น เพราะไม่มีผู้คนให้อวดโฉม แต่ในความเป็นอัตลักษณ์ตัวตน เธอกำลังค้นหาความเป็นตัวเธอ และลบภาพความไม่น่าสนใจและไม่โดดเด่นในโรงเรียน ที่เธอกล่าวถึงในตอนต้นเรื่องออกไปให้หมดได้เป็นอย่างดี



ถ้ามองในแง่มุมที่เธอใช้กรอบอิสรภาพของคิทเป็นสรณะโดยทิ้งกรอบสังคมเดิมของพ่อลงไป แสดงว่า การยึดกรอบแบบสังคมเดิมนั้นเป็นอันที่จะทำให้ ฮอลลี่ ไม่สามารถค้นหาอัตลักษณ์ตนเองได้ ทำได้เพียงแต่ทำความต้องการของพ่อ(สังคม) ไปเรื่อยๆเท่านั้น แต่ก็ใช่ว่าชีวิตแบบอิสรภาพหนีเข้าป่าหลบๆ ซ่อนๆ ไร้ผู้คน ฆ่าคนในแบบที่ คิท กำลังทำอยู่นั้น จะเป็นชีวิตที่เลิศเลอในสายตาเธอ เพราะเมื่อภาพยนตร์ดำเนินเรื่องไปจนถึงกลางเรื่อง ฮอลลี่ก็เริ่มแสดงการพร่ำบ่นถึงความเบื่อหน่ายชีวิตในแบบที่คิทกำลังนำพาเธอไป เธอเริ่มคิดถึงชีวิตในสังคมที่จากมา และเธอเริ่มไม่มีความสุขกับชีวิตแบบนี้ “คิทต้องการฉัน แต่ฉันเลิกให้ความสนใจเขา และฉันตัดสินใจว่า จะไม่ใช้ชีวิตที่ล่องลอยไร้จุดหมายแบบนี้อีกแล้ว ถึงแม้ฉันจะรักคิทมากก็ตาม”

นี่จึงเป็นเหตุผลที่เธอตัดสินแยกทางกับคิท ในฉากปลายเรื่องเพื่อกลับไปใช้ชีวิตแบบสังคมเดิม และเป็นการย้ำเตือนผู้ชมในตอนจบว่า ฮอลลี่ได้แต่งงานกับทนายความที่ช่วยเขาให้รอดคดี ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่า เธอได้ค้นหาอัตลักษณ์ตัวตนของเธอเจอแล้ว และทนายความที่เธอแต่งงานด้วยนั้น จึงเป็นภาพแทนของคนรักษากฎหมายในสังคม เป็นการบอกว่าสุดท้ายฮอลลี่ ก็เลือกเดินทางตามสังคมแบบเดิม อย่างอเมริกันชน ทั่วๆไปควรกระทำ



กลับมาที่คิท หลังจากต้องหลบๆซ่อนๆกับฮอลลี่ แต่ระหว่างทางการตัดสินใจต่างๆ ก็ได้เปิดเผยความเป็นตัวตนของเขามากขึ้นเรื่อยๆ และที่เด่นชัดเจนละน่าสนใจที่สุด คงเป็นการเข้าไปหลบในบ้านเศรษฐีหลังหนึ่ง ซึ่งเขารู้สึกเป็นปลื้มกับบ้านหลังนั้นมากๆ อีกทั้งเขายังได้เล่นเครื่องบันทึกเสียง และกล่าวคำที่อาจทำให้ผู้ชมแปลกใจว่าเขาต้องการสิ่งใดกันแน่ “เชื่อฟังพ่อแม่และคุณครู พวกเขาขีดทุกอย่างไว้หมดแล้ว อย่าท้าเหมือนกับเขาเป็นศัตรู คุณสามารถเรียนรู้จากสิ่งภายนอกได้ พยายามเปิดใจ พยายามเข้าใจมุมมองของคนอื่นบ้าง รับฟังความคิดเห็นคนอื่นบ้าง และพยายามยอมรับมันถ้ามันเป็นความคิดที่ดี” นี่คือคำพูดที่เขาเอื้อนเอ่ยในเครื่องบันทึก ซึ่งเป็นไม่ต่างจากคำสารภาพ ต่อหน้าผู้ชม(ตัวละครคิทมองกล้องอย่างมีเลศนัย)

สิ่งที่เขาเอ่ยออกมานั้นช่างขัดแย้งกับสิ่งที่เขากำลังกระทำอยู่เป็นอันมาก เพราะชีวิตของเขาที่ดำเนินอยู่นั้นเป็นแบบนักขบถ แต่กลับกล่าวคำที่เป็นจริยธรรมที่ดีที่พลเมืองในสังคมควรจะปฎิบัติตาม แล้วหากเทียบเคียงต่อหลังจากเหตุการณ์นั้นที่น่าแปลกใจก็คือ เขาออกจากบ้านเศรษฐีคนนั้นโดยไม่ฆ่าเขา(ก่อนหน้านี้กลับฆ่าคน ที่ไม่จำเป็นต้องฆ่าเลย) มิหนำซ้ำยังจดชื่อรายการอาหารและข้าวของเครื่องใช้ที่เขาขอยืมจากเศรษฐีผู้นั้น จากข้อมูลและเหตุผลที่ผู้เขียนกล่าวมา ทำให้ผู้เขียนต้องตีความไปว่า ในตัวตนหรือความรู้สึกนึกคิดของ คิท นั้นไม่ได้ต้องการชีวิตแบบนี้เลย เขาต้องการเป็นพลเมืองของอเมริกันที่ดีคนหนึ่ง ต้องการดำเนินตามรอยอย่างที่คนทั่วไปปฎิบัติตาม บ้านและการเป็นเศรษฐีคนนั้นจึงเป็นไปไม่ต่างจากชีวิตในอุดมคติของคิทเอง

แต่คนเราไม่สามารถเลือกเกิดได้ เขาเกิดมาในฐานะชนชั้นแรงงาน ที่ไม่มีความน่าสนใจ อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้น ทั้งๆ ที่เขา ไม่ได้ต้องการให้มันเป็นแบบนี้เลย เขาอยากเป็นคนสำคัญและมีความน่าสนใจอยู่บ้าง แต่เขาจะหลุดรอดชะตาชีวิตแบบนี้ของเขาไปได้อย่างไร เพราะคนในสังคมตราหน้าเขาว่าเป็นคนที่ไม่น่าคบ ทั้งๆที่ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวกับเขาด้วยซ้ำ สังคมวางกรอบทิศทางมากจนเกินไป จนทำให้เขาไม่สามารถหลุดรอดออกไปได้ แม้กระทั่งการปิดกั้นในความรักของเขาทั้งๆ ที่ความรักมันเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล ซึ่งมันอยู่ภายในจิตใจ ไม่ใช่ภายนอกแบบสังคมด้วยซ้ำไปแต่ก็มิวายถูกกรอบสังคมทั่วไปมาทำลาย



สิ่งพิเศษสิ่งเดียวที่เขาพึงได้จากชีวิตของเขา คือการมีหน้าตาท่าทางเหมือน เจมส์ ดีน ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เขาถูกยอมรับจากคนในสังคม คิทมักสวมหมวกอยู่เสมอ แม้กระทั่งฉากไล่ล่าสุดท้ายที่รถตำรวจกำลังไล่กวดกันแทบเป็นแทบตาย คิทกลับมองกระจกและจัดแต่งทรงผมให้หล่อเหลาเอาการไว้ก่อน ซึ่งในฉากนั้นเขายังทำเท่โดยการหยุดรอให้ตำรวจมาจับอย่างโดยดี โดยการใส่มุขทั้งการยิงยางรถตนเองและนั่งเล่นวางหินเหมือนเด็กเพื่อรอให้ตำรวจมาจับ โดยในฉากนี้ฮอลลี่ ได้เลือกจากไปกับตำรวจ ตั้งแต่เหตุการณ์ก่อนหน้า เขาจึงหมดสนุกที่จะเล่นเกมแบบนี้ต่อไป เพราะไร้เป้าหมายในการปกป้องคนรักอย่างฮอลลี

หากสังเกตตลอดทั้งเรื่อง คิท ไม่ค่อยมีรอยยิ้มสักเท่าไหร่ แต่ในฉากที่เขาถูกจับ มุมปากเขากลับมีรอยยิ้ม หน้าตาเขาดูยิ้มแย้มสดใส ตำรวจและทหารนับร้อยๆนายหันมาสนใจเขา ทุกคนบอกเขาเหมือนเจมส์ ดีน เขาเหมือนคนดังแม้จะเป็นการมีชื่อเสียงในทางที่ผิดก็ตาม แต่ทุกคนทำท่าเคารพยกย่องเขา ทุกคนน่ารักกับเขา และเขาก็ทำตัวน่ารักกับทุกคน และนี้คงคือสิ่งที่เขาต้องการได้รับที่สุดในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของประเทศและสังคมแห่งนี้



และหากผู้เขียนลองคิดตีความ ว่าสิ่งใดคือแก่นสารของสิ่งที่ ผู้กำกับ เทอเรนซ์ มาลิค จะสอดแทรกมาให้กับผู้ชม สิ่งนั้นคงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอเมริกันที่ยกย่องเชิดชูคนเก่ง มีชื่อเสียง ร่ำรวย เป็นดารา สร้างกรอบให้พลเมืองต้องปฎิบัติตาม แม้จะเป็นรูปแบบประชาธิปไตย ในความเป็นนั้น มันได้แสดงถึงความบกพร่อง ซึ่ง คิท เป็นตัวแทนกลุ่มคน ที่ถูกปิดกั้นอย่างชัดเจน เขาไม่มีสิทธิ์เลือกงาน มีความรักก็ยังถูกปิดกั้น ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมเพราะชาติตระกูลต่ำต้อย อะไรต่างๆนานา แต่หลงลืมไปไม่ได้เลย คิทก็เป็นพลเมืองคนหนึ่งในอเมริกา ที่อยู่ในรัฐเดียวกัน มีวิธีคิดที่เหมือนกัน แต่กลับถูกคนในสังคมมองเขาอย่างกับเขาไม่ใช่พวกเดียวกัน ว่ากันง่ายๆ คือ รัฐ(สังคม) สร้างวิถีดำเนินชีวิตที่ประชาชนอเมริกันควรจะปฎิบัติตาม วิถีอเมริกันดรีมนั่นเอง คิทก็เป็นคนมีแนวคิด เช่นนี้ แต่กลับถูกปิดกั้น หรือถูกตีค่าว่าไม่ดี นั้นคือการแบ่งชนชั้นของสังคมนั่นเอง

ส่วนฮอลลี ซึ่งเป็นวัยรุ่นที่กำลังเติบโต และค้นหาตนเอง กลับถูก พ่อ ที่เป็นภาพแทนของรัฐ(สังคม) ครอบงำ และให้เดินตาม จนบางครั้งทำให้เธอไม่สามรถค้นหาตนเองได้ เพราะไม่ได้ฝึกให้คิด แต่เมื่อเธอได้ลองใช้ชีวิตแบบเสรีภาพกับคิท ทำให้เขาเริ่มคิดได้ว่าวิถีชีวิตแบบ อเมริกันดรีม คือสิ่งที่เธอต้องการ ซึ่งเป็นการวิพากษ์ว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมไม่ลองปล่อยให้ฮอลลี ได้มีความเป็นอิสระบ้าง โดยพ่อ(รัฐ)มีหน้าที่คอยดูแลอยู่ห่างๆ เพราะถ้าสังคมแบบนี้ดีจริง ยังไงก็ตามฮอลลี ก็ต้องดำเนินรอยตามสังคมอย่างแน่นอน



ซึ่งสรุปแล้ว Badlads เป็นภาพยนตร์ดั่งกวีนิพนธ์ของ เทอเรนซ์ มาลิค ที่มีความสวยงามทั้งภาพและเสียงบรรยาย และเชื่อว่า ความลึกซึ้งในงานของ มาลิค นั้นไม่มีใครที่จะตีความและถ่ายทอดออกมาได้อย่างหมดจรดแน่ ขึ้นอยู่ว่าแต่ละคนจะมีความรู้สึกไปในมุมมองใด จึงเป็นผลงานน่ายกย่องและน่าค้นหาสำหรับผู้ติดตาม

แต่ถึงอย่างไรนั้นผู้เขียนก็ยังเชื่อว่า คนรักหนุ่มสาวทั้งสอง ออกเดินทางทิ้งสังคมไว้ด้านหลัง และขับรถไปยังทุ่งร้างกลางป่าเขาลำนาไพร แม้ใครจะบอกเขาเป็นขบถสังคม แต่หารู้ไม่ว่า เขาเพียงกำลังค้นหาอัตลักษณ์ของพวกเขาเท่านั้นเอง และมาลิคก็เช่นกัน ผลงานชิ้นแรก ของเขา เขากำลังออกค้นหาความหมาย การดำเนินชีวิตในแบบ อเมริกันดรีม ทั้งๆที่เขารู้อยู่เต็มอกว่าเขาคงไม่มีทางชีวิตเช่นนั้นได้อย่างแน่นอน

คะแนน 8.75/10
เกรด A+



อ่านบทความเรื่องอื่นได้ที่:สารบัญภาพยนตร์

บทความที่เกี่ยวข้อง:วิจารณ์ The Tree of life



Create Date : 22 พฤษภาคม 2555
Last Update : 7 มิถุนายน 2556 10:07:53 น. 0 comments
Counter : 4233 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

A-Bellamy
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ย้ายบล็อกแล้วนะครับ ติดตามกันต่อได้ที่ http://www.A-Bellamy.com ครับ

พูดคุยเรื่องหนังกันได้ที่Facebook

สนุกกับการอ่านบล็อกนะครับ


บทความล่าสุด
Jack the Giant Slayer (2013)
The Tree of Life(2011)
Iron Man (2013)
ลัทธิ Constructivism
คู่กรรม(2013)
Stoker(2013)
Amour(2012)
Silver Linings Playbook(2012)
Zero Dark Thirty(2012)
Les Misérables(2012)


บทความแนะนำ
จัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2012
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(แยกตามลัทธิ)
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์(ตาม ค.ศ.)
สารบัญภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

[Add A-Bellamy's blog to your web]