"ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก มันถูกต้องอยู่แล้ว มีแต่ความเห็นของเราเท่านั้นที่ผิด (หลวงพ่อชา สุภัทโท)"
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2556
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
8 กรกฏาคม 2556
 
All Blogs
 
Blue Angel จะให้หรือจะรับ จิตใจก็แข็งแรง



เรากำลังนั่งรออะไร ? พยาบาลลืมจดคิวเราหรือเปล่า ? หรือว่าเรารออยู่ผิดที่ ? เห็นบอกว่าหมอคนนี้จะตรวจแค่ ๒ ชั่วโมง แล้วนี่ก็รอมาชั่วโมงครึ่งแล้ว วันนี้เราจะได้ตรวจไหม ?…

ความกังวลเพราะไม่รู้ว่ากำลังป่วยเป็นโรคอะไรกันแน่ บวกกับความกระวนกระวายใจหลายๆอย่างขณะนั่งรอคิวพบคุณหมอ เกิดขึ้นกับคนไข้แทบทุกคนที่มาเข้าโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแห่งที่มีผู้มาใช้บริการมากถึง ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ คนต่อวันอย่างโรงพยาบาลรามาธิบดี

“น้องๆ โทษทีนะ พี่หาห้องน้ำอยู่นานมาก ป้ายชี้ไปตรงนั้น แต่พี่หาไม่เห็นเจอเลย”

ฉันเกาหัวแกรก พยายามตอบคุณน้าคนนั้นไปเท่าที่จะจำได้ มาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีก็ครั้งที่ ๓ แล้วแต่ยังเดินหลงอยู่ ฉันเองไม่ได้มาในฐานะผู้ป่วย แต่มาตามคำบอกเล่าว่าที่นี่มี “นางฟ้า” ผู้ป่วยมานั่งรอจนล้นออกมาถึงหน้าระเบียงตึกตั้งแต่เช้า รถแท็กซี่วนเวียนเข้ามาจอดคันแล้วคันเล่า ตามโถงทางเดินมีผู้ป่วยทั้งที่นั่งรถเข็นและนอนอยู่บนเตียงล้อหมุน ที่นี่ผู้คนเข้าออกมากมายดูราวกับสถานีขนส่งหมอชิต ท่ามกลางความอลหม่านของผู้คนในช่วงเวลาเร่งด่วนที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก (เช้า ๐๙.๓๐-๑๑.๓๐ น. บ่าย ๑๖.๓๐-๑๘.๓๐ น.) เราสังเกตเห็นเจ้าหน้าที่ใส่เสื้อสูทสีฟ้าเข้มยืนอยู่ตามจุดรับผู้ป่วยนอกและแผนกต้อนรับ

พวกเขาคือ “Blue Angel” หรือ “หน่วยอำนวยความสะดวกผู้รับบริการ”
ที่คอยช่วยเหลือคนไข้ในทุกเรื่อง เช่น เข้าไปสอบถาม นำผู้ป่วยไปส่งตามห้องเจาะเลือด ห้องเอกซเรย์ ห้องตรวจคลื่นหัวใจ ฯลฯ ตรงแผนกต้อนรับนี่เองที่สำคัญกว่าที่ใครหลายคนคิดนัก เนื่องจากการ “รักษาดูแล” ผู้ป่วยนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ก้าวแรกที่ผู้ป่วยเข้าประตูโรงพยาบาลแล้ว

“ถ้าเรามีความรู้ เป็นแพทย์เป็นพยาบาลแล้วมาอยู่ด่านหน้า เราจะช่วยคนได้เยอะมาก” สาริณี โรหิตจันทร์ ผู้จัดการโครงการหน่วยอำนวยความสะดวกผู้รับบริการบอก คนไข้ที่กำลังจะหยุดหายใจ เด็กวัยรุ่นที่กินน้ำยาล้างห้องน้ำเพื่อฆ่าตัวตาย (แต่เปลี่ยนใจทัน และตัดสินใจมาโรงพยาบาลเองคนเดียว) คุณแม่ที่อุ้มทารกมาโดยไม่ทราบว่าลูกอาการหนักถึงขั้นต้องผ่าตัดด่วน ฯลฯ หากคนเหล่านี้จะต้องมามัวเดินหาช่องทำบัตรประวัติคนไข้ในสถานที่ที่ชุลมุนเช่นนี้ อะไรๆ ก็อาจจะแก้ไม่ทัน

คนอยู่ด่านหน้าอย่างบลูแองเจิลนี่แหละที่ช่วยคัดกรองว่าอะไรคือเรื่องฉุกเฉิน ต้องช่วยเหลือก่อนโดยไม่ต้องรอคิว อย่างไรก็ดีการทำบัตรประวัติผู้ป่วยโดยละเอียดก่อนเข้ารับการรักษาทุกครั้งก็เป็นเรื่องจำเป็นและมีผลทางกฎหมาย หากคนไข้เสียชีวิตก็จำเป็นต้องติดต่อญาติผู้ป่วย กรณีผู้ป่วยบังเอิญมีชื่อเดียวกันนามสกุลเดียวกันก็ยังเคยมีมาแล้ว โครงการบลูแองเจิลตั้งขึ้นในปี ๒๕๔๖ มีเจ้าหน้าที่จากหลายแผนกในโรงพยาบาลแบ่งเวลาว่างจากงานประจำอาสามาทำหน้าที่นี้โดยสมัครใจและไม่ได้เงินตอบแทน หลายคนทำมาติดต่อกันตั้งแต่ปีแรกและยังคงทำอยู่ อีกหลายคนเป็นพยาบาลที่เกษียณแล้วแต่ก็ยังมาช่วยที่นี่ทุกวัน

ชื่อโครงการ “Blue Angel” ตั้งขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และเพื่อให้มีชื่อเรียกสั้นๆ เนื่องจากชื่อเรียกหน่วยอาสาสมัคร “อำนวยความสะดวกผู้รับบริการ” นั้นยาวเกินไป ในส่วนของเครื่องแบบที่เป็นเสื้อสูทสีฟ้าก็เพราะขณะเปิดโครงการทางโรงพยาบาลได้รับมอบผ้าสีฟ้าจำนวนหนึ่งที่มีผู้บริจาคมาพอให้นำมาตัดสูทให้อาสาสมัครสวมใส่ได้ สาริณี ผู้จัดการโครงการฯ บอกว่าสูทสีฟ้านั้นต้องใส่แบบ “ทูอินวัน” คือแบ่งๆ กันใส่ เนื่องจากมีงบประมาณไม่พอตัดชุด โครงการบลูแองเจิลเป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลายๆ โรงพยาบาลเข้ามาขอดูงานและต้องการเปิดโครงการอาสาสมัครเช่นนี้บ้าง

ดังเช่นที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ก็เปิดโครงการอาสาสมัครคล้ายคลึงกันชื่อ “Yellow Bird” หลังรับการตรวจเลือด คุณตาฮั้งบุ๊ง แซ่แต้ นอนอยู่บนเตียงล้อหมุน พูดไม่ได้ ต้องใช้ถังออกซิเจนช่วยหายใจ หลานของคุณตาพามาถึงโรงพยาบาลตั้งแต่สิบเอ็ดโมง แต่นี่ก็บ่ายสองแล้ว ยังไม่ได้พบหมอ ผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่นั่งรอแน่นเอี้ยดในแผนกศัลยกรรมก็ต้องรอเช่นกัน อาสาสมัครบลูแองเจิลคนหนึ่งเดินเข้าไปสอบถาม จากนั้นจึงเดินไปที่ห้องเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยดูความถูกต้องของบัตรคิวห้องตรวจ

“เห็นมั้ยตา สวยมั้ย ?” [ฮื่อ สวย] คุณตาฮั้งบุ๊งพูดไม่ได้ แต่ตอบคำถามหลานด้วยสีหน้าแววตาที่หลานฟังเข้าใจ นางฟ้าคนนั้นคือ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ ดาราดังที่อาสามาเป็นบลูแองเจิลเหมือนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคนอื่นๆ โดยไม่ได้สตางค์ เธอทำทุกอย่างตั้งแต่ยกเก้าอี้ เช็ดเหงื่อผู้ป่วย วัดความดัน เข็นรถคนไข้ พาไปห้องน้ำ โบกแท็กซี่ จุดต่างเห็นจะเป็นตรงที่เธอไม่ใช่แพทย์หรือพยาบาล แต่สิ่งที่เธอมีคือ “ใจ”ที่อยากอาสาทำงานนี้ด้วยคน

เมื่อ ๘ ปีที่แล้วเธอเคยเป็นผู้ป่วยและเข้ารับการผ่าตัดโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะที่นี่ เคยมานั่งรอคิวแบบนี้เหมือนคนอื่นๆ เช่นกัน “ชีวิตคนเราเกิดมาแล้วต้องรู้จักคำว่าช่วยเหลือค่ะ” เธอบอก “พี่ก็ขอคุณหมอที่ดูแลพี่อยู่ว่าอยากจะทำตรงนี้ พอขอปุ๊บ คุณหมอก็อาจจะคิดว่าเราจะมาทำหยิบโหย่ง ไม่จริงใจอะไรมากมายนัก พอทำปุ๊บปั๊บแล้วก็จะไป ทีนี้เราพอทำอะไรแล้วก็จะทุ่มเท ซึ่งคุณหมอก็จะเห็นว่าเออเราทำจริง แต่ตอนงานยุ่งจริงๆ ก็จะมาในเวลาที่ปลีกตัวมาได้ ตอนนี้ก็ทำมา ๔ ปีเต็มแล้วค่ะ ได้ทำงานตรงนี้แล้วมีความสุขเพราะเมื่อเรามีรอยยิ้มให้กับเขา เขาก็จะมีรอยยิ้มให้เรา”
คุณยายสมศรี ชิดสิน ที่วันนี้มาพบหมอเพื่อนัดผ่าตัดลำไส้ ได้พบกับอาสาสมัครที่ชื่อเนาวรัตน์อีกครั้ง จากที่เมื่อ ๔ ปีที่แล้วก็เจอเพราะมาตรวจโรคเดียวกันนี้ “ลูกชายโตเป็นหนุ่มรึยังคะ” คุณยายถามกลับด้วยสีหน้ายิ้มแย้มเมื่อเนาวรัตน์เข้ามาทักทายถามไถ่

ทั้งที่มีครอบครัวมีบุตรที่ยังต้องดูแล และต้องเข้าเวรทำงานปรกติในตอนเที่ยง แต่เกือบทุกเช้า วรัชยา สุดเฉลียว เจ้าหน้าที่แผนกสูติ-นรีเวช จะแบ่งเวลามาปฏิบัติหน้าที่บลูแองเจิล “แฟนเข้างานแปดโมงเช้า ก็เลยมาพร้อมเขา ถ้าไม่มีโครงการนี้ตัวเองก็จะนั่งๆ นอนๆ ไม่ได้ทำอะไร หรือไม่ก็ไปเดินตามตลาดนัด ไม่ได้ประโยชน์อะไรค่ะ…งานอาสาก็รู้สึกเหนื่อยบ้าง แต่ก็สนุกไปกับงาน ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรจะเครียดมากกว่า บางทีเรามีเรื่องให้คิดให้เครียดเยอะ สู้เอาเวลามาทำประโยชน์อย่างนี้ดีกว่า”

วิลาวัลย์ อินทรประสงค์ ขณะนี้เกษียณจากการเป็นพยาบาลแล้ว แต่ทุกเช้าจะออกจากบ้านที่สะพานใหม่มาปฏิบัติหน้าที่บลูแองเจิลที่ถนนพระรามที่ ๖ และกลับบ้านตอนเที่ยงเพื่อไปเฝ้าอาการป่วยของพ่อแม่สามี เธอบอกว่า “คนที่เป็นพยาบาลต้องทำให้เขาหายป่วย ถ้าเขาไม่หายหรือเป็นอะไรขึ้นมา เราก็เกิดความเศร้า”

“ที่จริงแล้วเราเองอยากจะเป็นฝ่ายขอบคุณเขา(ผู้ป่วย)มากกว่า” เนาวรัตน์บอกเรา อาสาสมัครบลูแองเจิลต่างยึดคติที่ว่า คนไข้ที่เข้ามา ป่วยกายมาแล้วทุกคน อย่าได้สร้างความป่วยใจเพิ่มให้แก่เขาอีก แม้จะเดินเข้ามาด้วยสีหน้าทุกข์เพราะความป่วย แต่ขอให้เดินกลับไปด้วยรอยยิ้ม ผลที่ได้คือความสบายใจของทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ดังวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งของโครงการนี้ที่ว่า “เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ทั้งคนไข้และผู้ปฏิบัติ” เมื่อเราดูแลจิตใจผู้อื่น จิตใจของเราก็จะแข็งแรงไปพร้อมๆ กัน

*ผู้ที่จะอาสาเข้ามาเป็นบลูแองเจิลนั้นจำเป็นต้องมีความรู้ด้านแพทย์หรือพยาบาล และต้องผ่านการสอบคัดเลือกด้วย ส่วนกรณีที่ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ ได้เข้ามาเป็นโดยไม่มีความรู้ด้านนี้นั้น เพราะเธอเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลรามาธิบดีมาเป็นเวลานาน รู้จักสถานที่เป็นอย่างดี บวกกับใจที่มุ่งมั่นจะช่วยเหลือโครงการนี้ ทางโรงพยาบาลจึงรับเธอเป็นกรณีพิเศษ สำหรับบุคคลภายนอกหากต้องการเข้ามาทำจริงๆ ก็ต้องมีการปรึกษาเป็นกรณีไป ที่นี่ยังมีงานจิตอาสาที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาช่วยงานในหน่วยผู้ป่วยนอกได้ เช่น ต้อนรับผู้ป่วย ดูบัตรคิว วัดความดัน ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง นับยาจัดยาใส่ซองในห้องยา ช่วยพับผ้าในห้องผ้า นันทนาการผู้ป่วยเด็ก หรืออาสาเล่นดนตรีในแผนกต้อนรับผู้ป่วย อาสาสมัครเหล่านี้จะใส่เครื่องแบบสีฟ้าเช่นกัน ต่างกันตรงที่เป็นเสื้อกั๊ก ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์เสริมพลังสร้างสุขภาพ โรงพยาบาลรามาธิบดี โทร.๐-๒๒๐๑-๒๖๕๒

เรื่อง : สุวรรณา เปรมโสตร์ ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 296




Create Date : 08 กรกฎาคม 2556
Last Update : 8 กรกฎาคม 2556 6:07:46 น. 6 comments
Counter : 1972 Pageviews.

 
น่าชื่นชมมากเลยค่ะ

เช้านี้รถติดมากเลยค่ะลุง บ่นๆๆ


โดย: VELEZ วันที่: 8 กรกฎาคม 2556 เวลา:6:31:44 น.  

 
บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้
Rinsa Yoyolive About Weblog ดู Blog
ลุงกล้วย Diarist


บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
Rinsa Yoyolive About Weblog ดู Blog
ลุงกล้วย Diarist
บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
Rinsa Yoyolive About Weblog ดู Blog
ลุงกล้วย Diarist

ฮัลโลยามเช้าค่ะคุณลุงกล้วย
เคยได้ยินข่าวคุณจิ๊ก เป็นจิตอาสาใน รพ.ค่ะ
ชื่นชมที่เธอมีจิตใจคิดดี-ทำดีค่ะ
และชื่นชมทุกๆคนที่เป็นจิตอาสาเช่นนี้
ขอบคุณนะค่ะคุณลุงกล้วยที่มาแชร์เรื่องนี้
ถือว่าป็นจิตอาสา คนหนึ่งด้วยคร้า


โดย: tui/Laksi วันที่: 8 กรกฎาคม 2556 เวลา:8:50:26 น.  

 
สวัสดีค่ะคุณลุงกล้วย
แวะมาเยี่ยมวันจันทร์
ขอบคุณเรื่องดีๆที่นำมาแบ่งปัน
ทำงานด้วยความสุขนะคะ


โดย: pantawan วันที่: 8 กรกฎาคม 2556 เวลา:13:33:34 น.  

 
ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ คุณลุงกล้วย ^^
เพิ่งรู้ว่ามีหน่วยบริการแบบนี้ด้วย
อย่างนี้คนไข้ก็สุขใจ สบายใจ
ดีมากๆเลยนะคะ



โดย: lovereason วันที่: 8 กรกฎาคม 2556 เวลา:15:21:42 น.  

 
เราไปโรงบาลใหญ่ ๆ ก็โง่เหมือนกันค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 8 กรกฎาคม 2556 เวลา:16:48:26 น.  

 
อนุโมทนากับบรรดาจิตอาสาที่มีจิตใจดีงามเหล่านี้ด้วยคะ เป็นเรื่องราวดีๆที่อ่านแล้วอดยิ้มไม่ได้เลย


โดย: hi hacky วันที่: 11 กรกฎาคม 2556 เวลา:15:40:25 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ลุงกล้วย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




Friends' blogs
[Add ลุงกล้วย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.