มหาจุฬาลงกรณ์




มหาจุฬาลงกรณ์



วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันจุฬาลงกรณ์




เพลง ‘มหาจุฬาลงกรณ์’ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 11 ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานให้เป็นเพลงประจำ..’จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’



อนึ่ง เพลงพระราชนิพนธ์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย อีก 2 เพลง ได้แก่ เพลง 'ยูงทอง' พระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.... และเพลง 'เกษตรศาสตร์' พระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



ในตอนต้นปี พ.ศ. 2492 เนื่องจากในขณะนั้น จุฬาฯ ยังไม่มีเพลงประจำสถาบัน... ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเพลงประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทำนองเพลงให้



โดยทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 นับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ที่ใช้ทำนองเพลงแบบ Pentatonic Scale หรือ Five Tone Scale แทน Scale แบบสิบสองเสียง (Chromatic Scale) ซึ่งหมายถึง ในบทเพลงนี้จะประกอบด้วยตัวโน๊ตเพียง 5 เสียงเท่านั้น.... และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา และ สุภร ผลชีวิน เป็นผู้ประพันธ์คำร้องขึ้นถวาย



นับแต่นั้นเป็นต้นมา เพลง'มหาจุฬาลงกรณ์' ได้ใช้เป็นเพลงประจำสถาบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย เพลงแรกของประเทศ





























อนึ่ง ในปี พ.ศ. 2497 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล นำทำนองเพลง 'มหาจุฬาลงกรณ์' ซึ่งมีทำนองเพลงในแนวสากล มาปรับปรุงให้มีทำนองเพลงในแนวไทยเดิม เพื่อใช้สำหรับเป็นเพลงโหมโรงก่อนการบรรเลงดนตรีไทย



นายเทวาประสิทธิ์ รับพระราชทานลงมาทำและบรรเลงถวาย ด้วยวงปี่พาทย์ถึงสองครั้ง... หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงพระราชทาน 'เพลงโหมโรงมหาจุฬาลงกรณ์' แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นเพลงไทยเดิมเพลงแรก ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาจากเพลงไทยสากล



เมื่อนายเทวาประสิทธิ์ไปสอนดนตรีไทยให้แก่ชมรมดนตรีของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้นำ 'เพลงโหมโรงมหาจุฬาลงกรณ์' ไปสอนนิสิตชมรมดนตรีไทย และใช้เป็นเพลงโหมโรง ในการบรรเลงดนตรีไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตลอดมา









ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสถึงการแต่งเพลงประจำสถาบัน ไว้ว่า



"...เรื่องเพลงที่แต่งขึ้นใหม่นั้นต้องขอชี้แจงสักนิด ฟังแล้วอาจจะตกใจ เพราะว่าเพลงที่ประจำในมหาวิทยาลัยเมืองไทย เดี๋ยวนี้ก็มีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็ของธรรมศาสตร์ที่ได้ให้ทั้งสองเพลงนั้น กับเพลงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นี้ ต้องบอกว่ายาวเท่ากัน ไม่ต้องอิจฉาว่าของเขายาวกว่าหรือสั้นกว่า ยาวเท่ากัน แล้วก็การสร้างแบบนั้น ก็สร้างในแบบเดียวกัน ไม่ต้องอิจฉาอะไร แล้วก็ถ้าชอบก็บอกว่าชอบ ถ้าไม่ชอบก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อาจจะแก้ไข อย่างไรก็ตาม ก็มีอย่างหนึ่ง คือ เพลงของจุฬาฯ เขาก็บอกว่าเพลงของเขา เพราะที่สุด ถ้าไปถามชาวธรรมศาสตร์ว่าเพลงไหนเพราะที่สุด เขาก็บอกว่าเพลงธรรมศาสตร์ แล้วถ้าถามพวกเกษตร น่ากลัวบอกว่าเพลงเกษตรเพราะกว่า ก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไรนะ แต่ว่าเพลงของจุฬาฯ เขาโอ้อวดว่าสง่าผ่าเผยมาก แล้วก็เพราะมาก ถ้าพูดถึงว่าเพลงธรรมศาสตร์ เขาก็บอกว่าองอาจดี เดินก็ได้ จุฬาฯ เขาก็ตอบว่าของเขาก็เดินได้เหมือนกัน เป็นเพลงสำหรับนำแถวได้ เพลงของเกษตรนี้ก็ ที่จริง ก็ควรจะตัดสินเอาเองว่าเป็นยังไง แต่ความคิดส่วนตัวของผู้แต่ง รู้สึกว่าเป็นเพลงที่อ่อนหวาน อ่อนหวานกว่าเพลงโน้น แต่อ่อนหวานนี่ไม่ได้หมายความว่า ไม่เข้มแข็ง แต่อ่อนหวานนี่อาจจะมีความหมายได้ว่า ผลิตผลของทางการเกษตรรวมทั้งผลไม้หรือสิ่งที่บริโภค ถ้ารสหวาน รู้สึกว่าดี เพราะว่าเขานิยมกันอย่างนั้น ข้าวโพดหวานเขาก็ชอบ ก็เลยคิดว่า เพลงหวานไม่เป็นไร แต่ถ้านำไปเดินสำหรับนำแถวก็อาจจะได้ เปลี่ยนแปลงไปหน่อยก็อาจจะเป็นเพลงสำหรับแตรวงเดิน ก็อาจจะพอได้ แต่ขออย่างเดียวอย่าเดินขบวน..."




เพลง ‘มหาจุฬาลงกรณ์’ นี้ .... ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เมื่อครั้งที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ประพันธ์คำร้อง เพลง ‘เกษตรศาสตร์’ ได้กล่าวถึงเพลง ‘มหาจุฬาลงกรณ์’ ว่า ..."เนื้อเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ ดีเยี่ยม จนทำให้ผู้เขียนแหยงว่า ไม่มีทางประพันธ์เพลงให้ไพเราะใกล้เคียงกับเพลงนั้นได้"








เพลงพระราชนิพนธ์ ‘มหาจุฬาลงกรณ์’






เพลงพระราชนิพนธ์ ‘โหมโรงมหาจุฬาลงกรณ์’






น้ำใจน้องพี่สีชมพู

ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา

พระคุณของแหล่งเรียนมา

จุฬาลงกรณ์


ขอทูนขอเทิดพระนามไท

พระคุณแนบไว้นิรันดร

ขอองค์พระเอื้ออาทร

หลั่งพรคุ้มครอง


นิสิตพร้อมหน้า

สัญญาประคอง

ความดีทุกอย่างต่างปอง

ผยองพระเกียรติเกริกไกร


ขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง

นิสิตประสงค์เป็นธงชัย

ถาวรยศอยู่คู่ไทย

เชิดชัย ชโย


เพลงนี้ ชาวจุฬาฯไม่ว่ารุ่นเก่ารุ่นใหม่จะอยู่ ณ จุดไหนๆของประเทศ จะร้องกันได้ทุกคน

และทุกครั้งที่ร้อง หรือได้ยินเพลงนี้ ชาวจุฬาฯ จะยืนตรงนิ่ง







บางเรื่องราวในจุฬาฯ









1.


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ, เป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่ไม่ได้ขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘มหาวิทยาลัย’, และเป็นมหาวิทยาลัยเดียว ที่ ตัวย่อ ไม่เหมือนกับที่อื่น ใช้ตัวย่อว่า ‘จุฬาฯ’


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะกดตัว ณ มีเครื่องหมายการันต์ ด้วย





2.


จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่ ไม่มีป้ายบอกชื่อมหาวิทยาลัย มีเพียงป้ายบอกอาณาเขต ..ซึ่งมีอยู่ 2 แห่ง แห่งแรกคือ ตรงประตู สาธิตฯ ปทุมวัน/ เตรียมฯ ….ส่วนอีกแห่งหนึ่ง อยู่ด้านหลังของ มาบุญครอง/สนามกีฬาแห่งชาติ/สำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา





3.


จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่สถาปนาขึ้นโดยพระมหากษัตริย์... พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯมาทรงวางศิลาพระฤกษ์ด้วยพระองค์เอง ทรงพระราชทานที่ดินของพระคลังข้างที่ จำนวน 1,309 ไร่ ให้เป็นสถานที่ตั้งของจุฬาฯ นอกจากนั้นยังได้พระราชทานเงินทุน จำนวน 982,672.47 บาท เป็นทุนก่อสร้าง บวกกับ เงินหางม้า หรือ เงินที่ได้รับบริจาคจากประชาชน ...เพราะเป็นเงินที่เหลือจากการบริจาคสร้างพระบรมรูปทรงม้า เรียกว่า "เงินหางม้า" …."หางม้าสีชมพู"


คำขวัญของจุฬาฯ คือ “ความรู้คู่คุณธรรม” และ “เกียรติภูมิจุฬาฯ คือ เกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน”





4.


พระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล



ชาวจุฬาฯ ยึดธรรมเนียมปฏิบัติว่า ก่อนจะเข้าศึกษาชั้นปีที่ 1 จะต้องเข้าพิธีถวายสัตย์ และตอนเรียนจบปริญญา ก็ต้องเข้าพิธีถวายบังคมลา ต่อพระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล (รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6) ซึ่งประทับอยู่ด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ







และทุกวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี นิสิต – คณาจารย์ – และบุคลากรในจุฬาฯ จะทำพิธีเคารพสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัขกาล และ พระบรมรูปทรงม้า



เพียงทุกท่านพลิกธนบัตร 100 บาท ทุกท่านก็จะได้เห็นพระบรมรูป 2 รัชกาล ที่ประดิษฐานที่จุฬาฯ นับเป็นมหาวิทยาลัยเดียว ที่มีพระบรมรูปในมหาวิทยาลัย ปรากฏอยู่บนธนบัตร










5.


‘พระเกี้ยว’ เป็นสัญลักษณ์ของจุฬาฯ

ชาวจุฬาฯ เทิดทูนและภาคภูมิใจใน ‘พระเกี้ยว’ ….เป็น ‘ลูกพระเกี้ยว’



‘พระเกี้ยว’ เป็นเครื่องประดับพระเกศา ของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยว เป็นสัญลักษณ์ประจำรัชกาล เมื่อทรงตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก ต่อมาเมื่อโรงเรียนมหาดเล็กกราบบังคมทูลขอพระราชทานอัญเชิญพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายของโรงเรียน ก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต และเมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารก็ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนข้อความใต้พระเกี้ยวตามชื่อซึ่งได้รับพระราชทานใหม่








‘พระเกี้ยว’ องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่หอประวัติจุฬาฯ(ตึกจักรพงษ์) เป็นพระเกี้ยวซึ่งจุฬาฯได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สร้างจำลองขึ้นจาก พระเกี้ยวพระองค์จริง ที่ประดิษฐานอยู่ในพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง จุฬาฯสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2529 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเจิมและทรงพระสุหร่ายที่องค์พระเกี้ยว แล้วพระราชทานแก่มหาวิทยาลัย ต่อหน้าชาวจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา2531 วันที่ 13 กรกฎาคม 2532





6.


สีประจำจุฬาฯ คือ สีชมพู



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนมหาดเล็ก แต่งเครื่องแบบมหาดเล็ก ซึ่งมีอินทรธนูเป็นสีบานเย็น อันเป็นสีของกรมมหาดเล็ก ...สีบานเย็น จึงเป็นสีประจำโรงเรียนมหาดเล็ก


ต่อมาเมื่อมีการแข่งขันฟุตบอลประเพณีครั้งแรก ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ....ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล เมื่อครั้งยังเป็นนิสิตและนายกสโมสรนิสิตฯ ได้เสนอว่า ชื่อของมหาวิทยาลัย คือ พระปรมาภิไธยเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพ ในวันอังคาร และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สีชมพูเป็นสีประจำพระองค์ ...คณะกรรมการสโมสรนิสิตฯในสมัยนั้น จึงเห็นสมควรอัญเชิญ สีประจำพระองค์ เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเกียรติและสิริมงคล แก่ชาวจุฬาฯ





7.


จามจุรี เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย



นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นต่อชาวจุฬาฯ โดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ในวันที่ 15 มกราคม 2505 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนิน ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราชทานต้นจามจุรีแก่มหาวิทยาลัย จำนวน 5 ต้น ซึ่งพระองค์ทรงนำมาจากพระราชวังไกลกังวล หัวหินด้วยพระองค์เอง และทรงปลูกด้วยพระองค์เอง บริเวณด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ ฝั่งด้านสนามฟุตบอล ทางด้านขวา จำนวน 3 ต้น ด้านซ้ายจำนวน 2 ต้น และยังได้พระราชทานพระราชดำรัสถึงความผูกพันว่า ทรงมีความผูกพันต่อจุฬาฯมานานแล้ว ตั้งแต่สร้างมหาวิทยาลัย ทรงเน้นว่าดอกสีชมพูของจามจุรี เป็นสัญลักษณ์สูงสุดอย่างหนึ่งของจุฬาฯ ทรงเห็นว่าจามจุรีที่นำมานั้น โตขึ้น สมควรจะเข้ามหาวิทยาลัยเสียที และสถานที่นี้เหมาะสมที่สุด


"จึงขอฝากต้นไม้ไว้ ห้าต้น ให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล"


นำความปลาบปลื้มปิติเป็นล้นพ้น ต่อหัวใจชาวจุฬาฯทุกคน



ในปี พ.ศ. 2540 ในวาระจุฬาฯครบรอบ 80 ปี .... ชาวจุฬาฯ ร่วมใจดำเนินตามพระราชดำรัส ด้วยโครงการ "จุฬาฯ 80 ปี จามจุรี 80 ต้น" กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ชาวจุฬาฯทุกคนมีส่วนร่วมและภาคภูมิใจ โดยจะทยอยปลูกต้นจามจุรีในจุฬาฯ จนจุฬาฯ กลายเป็นอุทยานจามจุรี เพื่อให้ชาวจุฬาฯ รุ่นต่อไป ได้ร่มเงาจามจุรีเป็นที่กำบังร่มเงา และจามจุรีจะได้เป็นสัญลักษณ์ อยู่คู่จุฬาฯ ตลอดกาล


หมายเหตุ 1 .....เมื่อถึงวันงานประเพณีต้อนรับน้องใหม่ ของทุกปี นิสิตรุ่นพี่จะนำใบหรือกิ่งจามจุรีเล็กๆ มาผูกริบบิ้นสีชมพู คล้องคอให้นิสิตใหม่ทุกคน เพื่อเป็นการต้อนรับน้องใหม่ เข้าสู่จุฬาฯ ... อาณาจักรแห่งจามจุรีสีชมพู




เพลง ‘อุทยานจามจุรี’



คำร้องและทำนอง : ศาสตราจารย์วิกรม เมาลานนท์

เรียบเรียงเสียงประสาน : น.ต. ปิยะพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา








ณ อุทยานนี้งามด้วยจามจุรี

เขียวขจีแผ่ปกพสกจุฬาฯ

ไพศาลตระหง่านสาขา

ใต้ร่มพฤกษาจุฬาฯ ร่มเย็น


จามจุรีนี้เป็นฉัตรกั้น

ปลอบขวัญเตือนใจเมื่อเห็น

คราทุกข์ฉุกลำเค็ญ

ใครจะเว้นสู่สนามจามจุรี



งามเงาใจเรานี้เพราพิลาศ

ผุดผาดผ่องพิพัฒน์จรัสศรี

น้องจุฬาฯ พี่จุฬาฯ พร้อมกันมารื่นฤดี

รักเราพูนเพิ่มทวีนิจนิรันดร์.







8.


เครื่องแบบนิสิต



เครื่องแบบการแต่งกายของนิสิตจุฬาฯ เป็นเครื่องแบบพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่มีการสวมใส่เครื่องแบบ







เครื่องแบบนิสิตจุฬาฯ เป็นเครื่องแบบที่ถูกตราไว้ในพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2498 ดังนั้นการสวมเสื้อที่มีสาบหลังและมีส่วนพับปลายแขนเสื้อสีขาว มีเข็มกลัดตราพระเกี้ยวตามแบบของมหาวิทยาลัย รวมทั้งเข็มขัดหนังกลับสีนํ้าตาล ของนิสิตหญิง..... และ เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว กางเกงขายาวสีขาว ถุงเท้าสีดำหรือนํ้าตาลเข้ม รองเท้าหุ้มส้นสีดำหรือสีนํ้าตาลเข้ม เข็มขัดหนังสีดำ มีหัวเข็มขัดตราพระเกี้ยวตามแบบของมหาวิทยาลัย มีเนคไทมีตราพระเกี้ยวตามแบบของมหาวิทยาลัย ของนิสิตชาย... จึงเป็นเอกสิทธิ์ของนิสิตจุฬาฯ ตามข้อบัญญัติตามกฎหมาย ใครจะลอกเลียนแบบ มิได้


หมายเหตุ 2 .... เข็มกลัดตราพระเกี้ยว ต้องติดที่ อกเบื้องขวา เพราะเป็นของพระราชทาน (ของพระราชทานจะต้องติดที่เบื้องขวา)







เป็นเกียรติเป็นศรีเป็นศักดิ์ - - เป็นเอกลักษณ์งามสง่า - - สวมชุดนิสิตจุฬาฯ - - ประกาศค่าจุฬาลงกรณ์





9.


คณะในจุฬาฯ



ระหว่างปี พ.ศ. 2459 - 2465 จุฬาฯ มีการปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาระดับประกาศนียบัตร พร้อมกับเริ่มเตรียมการสอนระดับปริญญา โดยขณะนั้นจัดการศึกษาเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะรัฐประศาสนศาสตร์(หรือคณะรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน), คณะแพทยศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, และ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์(ในอดีต อักษรศาสตร์รวมสอนที่เดียวกับวิทยาศาสตร์)


ปี พ.ศ.2551 จุฬาฯ เปิดการเรียนการสอน รวม 18 คณะ หรือ 492 สาขาวิชา ได้รับยกย่องเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, วิทยาศาสตร์การแพทย์, สังคมศาสตร์, และมนุษยศาสตร์ อีกทั้งยังได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาในระดับดีมาก จาก สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา



พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกในไทย เกิดขึ้นในจุฬาฯ โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่บัณฑิตจุฬาฯ


ขอเชิญคลิก ดูเรื่องและรูปภาพ พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2493


หลังจากเสด็จนิวัติกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพระฐานะพระบรมราชูปถัมภกแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อจาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นั่นคือ การเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาฯ รวมทั้งได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬากลางแจ้ง ที่สนามหน้าหอประชุมจุฬาฯ และได้พระราชทานรางวัลแก่นิสิตผู้ชนะการแข่งขัน



หมายเหตุ 3 ... เป็นธรรมเนียมประเพณีของนิสิตจุฬาฯ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จจุฬาฯ นิสิตจุฬาฯ ชาย – หญิง จะนั่งพับเพียบกับพื้นถนน ริมถนนในจุฬาฯ และก้มกราบบนพื้น ขณะที่รถยนต์พระที่นั่งขับเคลื่อนผ่าน


หมายเหตุ 4 ... ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ของจุฬาฯ ….และจะเป็นมหาวิทยาลัยแรกสุดที่จะมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของทุกปี





10.


สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ



ระหว่างปีพ.ศ. 2495 - 2501 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระอาจารย์สอนนิสิตคณะอักษรศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 วิชาวรรณคดีฝรั่งเศส ...นิสิตชั้นปีที่ 3 วิชา phonetiquie .... และนิสิตชั้นปีที่ 2 วิชา conversation แต่หลังจากปีพ.ศ.2501 เมื่อพระองค์ทรงมีพระภารกิจมากขึ้น จึงได้ทรงหยุดทำการสอน





11.


สมเด็จพระเทพฯ



สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสอบเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เช่นสามัญชนทั่วไปเมื่อปีพ.ศ. 2516 พระองค์ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงศึกษาชั้นอุดมศึกษาในประเทศ เป็นที่ตื่นเต้นและชื่นชมยินดีของพสกนิกรและชาวจุฬาฯเป็นอันมาก


ระหว่างสี่ปี่ ที่ทรงศึกษาในจุฬาฯ ทรงเป็นนิสิต "ตัวอย่าง" เก่งทั้งด้านวิชาการ ทรงเป็นที่หนึ่งของรุ่นมาตลอดสี่ปี และไม่ทรงละเลยด้านกิจกรรม ทรงร่วมกิจกรรมของคณะอักษร และของจุฬาฯหลายด้าน เช่น ทรงเป็นนักกลอนน้องใหม่ นักดนตรีชมรมดนตรีไทย และทรงเป็นกองบรรณาธิการ วารสาร "อักษรศาสตรพิจารณ์"


สองปีแรกที่ทรงศึกษา ทรงสนพระราชหฤทัยในวิชา ด้านภาษาฝรั่งเศส ภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ในปีที่สามเมื่อถึงเวลาที่ต้องทรงเลือกวิชาเอก ทรงเลือกเรียนสาขาวิชาประวัติศาสตร์


หลายปีหลังจากนั้น เมื่อพระสหายกราบทูลถามถึงสาเหตุที่ทรงเลือกเรียนสาขานี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเล่าว่า ทรงสนพระราชหฤทัย วิชาประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงจำได้ว่าพระพี่เลี้ยงอ่านหนังสือเรื่อง "ไทยรบพม่า" ถวายตั้งแต่พระชนมายุสองพรรษา โปรดมาก ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นาถ ทรงอ่านและทรงเล่าเรื่องพงศาวดาร และเกร็ดประวัติศาสตร์ต่างๆพระราชทานเสมอ ทำให้ พระองค์ยิ่งทรงสนพระราชหฤทัย ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องสนุก เมื่อเจริญพระชันษาขึ้น ก็โปรดอ่าน หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ จึงทรงรู้เรื่องราวเก่าๆได้ดี ด้วยเหตุนี้เมื่อทรงสนทนากับ ‘พวกผู้ใหญ่’ มักทรงได้รับคำชมว่า “เก่ง” จึงทรงรู้สึกว่าการอ่านหนังสือประเภทประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องดี


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงเล่าต่อไปว่า... คราวที่ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปประเทศอังกฤษเมื่อพระชนมายุสิบเอ็ดพรรษา พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต นำเสด็จฯชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง พระองค์หญิงฯ ทรงเล่าเรื่องประวัติศาสตร์อังกฤษอย่าง มีสีสันสนุกสนาน เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก ไปหอคอยลอนดอน "ท่านเซอร์" ผู้รับเสด็จฯ แปลกใจและทึ่งมากที่เด็กวัยขนาดนี้ มีความรู้ความเข้าใจ สามารถซักถามเรื่องประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี "ท่านเซอร์" ประทับใจมาก จนกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะขอรับพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นบุตรบุญธรรม


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ.ทรงเชื่อว่าในภายภาคหน้า พระองค์จะทรงเล่าเรียนได้ดีทางด้านประวัติศาสตร์ ทรงรับสั่งต่อไปว่า นอกจากทรงสนพระราชหฤทัย ‘เรื่องเก่าๆ’ แล้ว ยังทรงอยากรู้เรื่องความเป็นไปของบ้านเมือง ซึ่งวิชาประวัติศาสตร์ให้ความรู้เรื่องเหล่านี้ พระองค์ทรงสรุปว่า ที่ทรงเลือกวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอกนั้น เพราะความสนพระราชหฤทัยเป็นสำคัญ











ระหว่างที่ทรงศึกษาสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ทรงมุ่งศึกษาเป็นพิเศษทางด้านประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์เอเชีย อาทิ ประวัติศาสตร์จีน ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ...ในการที่ทรงศึกษา นอกจากจะทรงฟังคำบรรยายของพระอาจารย์ผู้สอนแล้ว ทรงโปรดค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสือต่างๆทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เวลาที่ทรงทำรายงาน จะทรงค้นข้อมูลอย่างละเอียด พิถีพิถันตรวจสอบข้อมูล เนื่องจากทรงใช้เวลามากในค้นคว้าและรวบรวมข้อมูล จึงมักทรงเสียดายข้อมูลอยู่เสมอ บางครั้งควรจะสรุปความจากข้อมูลต่างๆ แต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ กลับใส่ข้อมูลเสียจนเต็มที่ จนพระอาจารย์ผู้สอนต้องถวายรายงานกลับคืน ขอให้ทรง "ย่อย" ข้อมูลเสียบ้าง กว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จะทรงจัดการตัดข้อมูลได้ ก็ทรงถอนพระทัยแล้วถอนพระทัยอีก พระสหายจึงถวายพระนามว่า "เจ้ากรมข้อมูล"


พระอัธยาศัยที่โปรดการเก็บรักษาข้อมูล และหลักฐานทางประวัติศาสตร์นี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดในเวลาต่อมา เมื่อจุฬาฯได้จัดนิทรรศการเรื่อง "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ได้พระราชทานเอกสารและหลักฐานส่วนพระองค์ขณะทรงศึกษาที่จุฬาฯ มาจัดแสดง เป็นเอกสารและหลักฐานจำนวนมาก ซึ่งทรงเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี นับแต่ บัตรประจำตัวนิสิต บัตรห้องสมุด สมุดจดงานตั้งแต่ชั้นปีที่หนึ่ง รายงาน และแม้กระทั่งกระเป๋าย่ามคู่พระทัย





12.


อาคารมหาจุฬาลงกรณ์



อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘เทวาลัย’ เป็นอาคารที่มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทย ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2457 เพื่อให้เป็นตึกบัญชาการของ โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ออกแบบโดย ดร. คาร์ล โดริง (Dr. Karl Dohring) นายช่างชาวเยอรมัน ซึ่งรับราชการในกระทรวงมหาดไทย และนายเอดวาร์ด ฮีลี (Mr. Edward Healey) นายช่างชาวอังกฤษ ซึ่งรับราชการในกระทรวงธรรมการ โดยนำศิลปะไทยโบราณที่สุโขทัยและสวรรคโลก มาคิดปรับปรุงขึ้นเป็นแบบของอาคาร


เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาพระฤกษ์ หลังจากนั้นในวันที่ 26 มีนาคม 2459 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการสถาปนา "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"


อาคารดังกล่าว ใช้เป็นสำนักงานบริหารและเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาฯ เรียกกันว่า "ตึกบัญชาการ" ต่อมาอาคารดังกล่าว ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ตึกอักษรศาสตร์" และ "อาคารมหาจุฬาลงกรณ์" ตามลำดับ







ตึกคณะอักษรศาสตร์ นี้ ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2530





13.


ศาลาพระเกี้ยว



ศาลาพระเกี้ยวเป็นอาคารรูปทรงแปลก ตั้งอยู่ใกล้คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ เป็นต้น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 ในสมัยจอมพลประภาส จารุเสถียร ดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เนื้อที่ด้านบน เป็นสถานที่ตั้งของสโมสรนิสิตฯ และเนื้อที่ด้านล่างเป็นสถานที่จอดรถ







แต่เมื่อศาลาพระเกี้ยวสร้างเสร็จ ก็ไม่ได้ใช้เป็นสถานที่ตั้งของสโมสรนิสิตฯ ดังวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ปัจจุบันศาลาพระเกี้ยวใช้เป็นอาคารเอนกประสงค์ของจุฬาฯ


บริเวณห้องโถงใหญ่ ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น งานจุฬาฯวิชาการ บริเวณด้านหลังใช้เป็นศูนย์อาหารของนิสิต และร้านอาหารของคณาจารย์ เป็นต้น


บริเวณชั้นใต้ดิน ใช้เป็นที่ตั้งของศูนย์หนังสือจุฬาฯ, ร้านสหกรณ์จุฬาฯ, และที่ทำการไปรษณีย์จุฬาฯ เป็นต้น





14.


สนามจุ๊บ



สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดิมชื่อ สนามกีฬาจารุเสถียร หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘สนามจุ๊บ’ เหตุที่เรียกว่า ‘สนามจุ๊บ’ เพื่อให้พ้องเสียง(เสียงเหมือนกับ)สนามกีฬาแห่งชาติ ‘สนามศุภฯ’







สนามจุ๊บ เป็นสนามฟุตบอลหญ้าสังเคราะห์แห่งแรกของประเทศไทย มีกิจกรรมซ้อมและแข่งฟุตบอล ซ้อมและแข่งกรีฑา ที่นั่น ..มีกิจกรรมซ้อมเชียร์ของลีดเดอร์จุฬาฯ และเป็นสถานที่ซ้อมของวงดนตรี CU Band และ CU Chorus ....สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่ใกล้โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะครุศาสตร์



ยิ่งกว่านั้นปัจจุบัน ส่วนงานกีฬาและนันทนาการของจุฬาฯ ได้ขยายงานกว้างใหญ่ขึ้น เป็น ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกิจกรรมผนวกเข้าไปอีกหลายอย่าง เช่น ที่สนามในร่ม1 มีตะกร้อ วอลเล่ย์บอล บาสเกตบอล เทเบิลเทนนิส ยูโด มวย ยิมนาสติก, ที่สนามในร่ม2 มีคอร์ตแบดมินตัน 4 คอร์ต และสนามชิพ-พัตกอล์ฟ, ที่สนามเทนนิส มีคอร์ตเทนนิส 10 คอร์ต, ที่สระว่ายน้ำ มีสระ 25 เมตร และ 50 เมตร, ที่อาคารฟิตเนส มีอุปกรณ์ออกกำลังกายทันสมัยจำนวนมาก.......เชิญคลิกดู รูปภาพประกอบ





15.


พื้นที่ของจุฬาฯ



จุฬาฯ มีพื้นที่เพื่อการศึกษาจำนวน 6 ส่วน ตั้งอยู่ในแขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน ได้แก่


ส่วนที่ 1 ฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท ประกอบด้วย พระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล, สนามรักบี้, หอประชุมจุฬาฯ, อาคารมหาจุฬาลงกรณ์, อาคารมหาวชิราวุธ, ศาลาพระเกี้ยว, หอประวัติ (ตึกจักรพงษ์), อาคารจุลจักรพงษ์, สระว่ายน้ำ, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, คณะศิลปกรรมศาสตร์, คณะอักษรศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์, คณะรัฐศาสตร์, คณะเศรษฐศาสตร์, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี, วิทยาลัยประชากรศาสตร์, สถาบันภาษา, สถาบันวิจัยสังคม, สถาบันเอเชียศึกษา, และสถาบันการขนส่ง


ส่วนที่ 2 ฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท ประกอบด้วย สำนักอธิการบดี, บัณฑิตวิทยาลัย, สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะนิเทศศาสตร์, คณะครุศาสตร์, คณะนิติศาสตร์, โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ, วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี, สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ, สถาบันวิทยบริการ, สถานีวิทยุจุฬาฯ, สำนักพิมพ์จุฬาฯ, ธรรมสถาน, สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ, หอพักนิสิตจุฬาฯ, หอพักศศนิเวศ, อาคารศศปาฐศาลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์


ส่วนที่ 3 ทิศเหนือของถนนพญาไท ติดกับสยามสแควร์ ประกอบด้วย คณะทันตแพทยศาสตร์, คณะสัตวแพทยศาสตร์, คณะเภสัชศาสตร์, โอสถศาลา, และอาคารวิทยกิตติ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ (สาขาสยามสแควร์), คณะพยาบาลศาสตร์ (ชั้น 12), และคณะจิตวิทยา (ชั้น 16)


ส่วนที่ 4 ทิศตะวันออกของถนนอังรีดูนังต์ บนพื้นที่ของสภากาชาดไทย เป็นที่ตั้งของ คณะแพทยศาสตร์, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, และวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย ซึ่งเป็นสถาบันสมทบของจุฬาฯ


ส่วนที่ 5 เป็นพื้นที่ที่จุฬาฯ ได้รับคืนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(พลศึกษา) คือ พื้นที่บริเวณระหว่างห้างมาบุญครอง และสนามกีฬาแห่งชาติ ในส่วนนี้เป็นกลุ่มอาคารจุฬาพัฒน์ อันเป็นที่ตั้งของ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา, คณะสหเวชศาสตร์, คณะพยาบาลศาสตร์, และคณะจิตวิทยา


ส่วนที่ 6 คือ พื้นที่ภายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และ โรงเรียนสาธิตปทุมวัน(ได้รับคืนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน) ในส่วนนี้เป็น กลุ่มอาคารจุฬาวิชช์ อันเป็นส่วนขยายของคณะศิลปกรรมศาสตร์, คณะจิตวิทยา, และโครงการขยายโอกาสอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



หมายเหตุ 5 ..... ระหว่างส่วนที่ 1 กับ ส่วนที่ 2 จุฬาฯ มีอุโมงค์ใต้ดินแห่งแรกของไทย เชื่อมสองส่วน อยู่ใต้ถนนพญาไท อุโมงค์นี้อยู่ใกล้กับคณะนิเทศศาสตร์ ในตอนกลางคืนจะปิดประตูอุโมงค์ ‘ห้ามเข้า’ ใช้ได้แต่ตอนกลางวัน






16.


หอพักนิสิตจุฬาฯ



จุฬาฯในอดีต อยู่กลางทุ่งพญาไท ไกลมากๆจากแหล่งชุมชน การเดินทางไป-กลับจะไม่สะดวก และอาจจะไม่ปลอดภัย จุฬาฯจึงสร้างหอพักสำหรับผู้มาเรียนจุฬาฯ นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า "นิสิต" แปลว่า ผู้ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยและอยู่หอพักมหาวิทยาลัย


หอพักนิสิตหญิงจุฬาฯในอดีต คือ มาบุญครองในปัจจุบัน ... หอพักนิสิตชายในอดีต ก็คือ ที่ตั้งของหอพักนิสิตจุฬาฯในปัจจุบัน


‘หอจุฬาฯ’ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘หอซีมะโด่ง’ สถานที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ...ในรั้วของหอจุฬาฯนั้น ปัจจุบันจะมีทั้งหอพักนิสิตหญิงและหอพักนิสิตชาย โดยมีอาคารทั้งหมด 5 หลัง ชื่อ จำปี พุดตาล พุดซ้อน เฟื่องฟ้า ชวนชม


หมายเหตุ 6 ....... ในอดีต จขบ.เคยพักอยู่หอซีมะโด่ง ที่หอตึก ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น หอชวนชม... เป็นอาคารสูงเพียง 3 ชั้น ไม่มีลิฟท์ ห้องเล็กพักได้ห้องละ 2 คน ห้องน้ำ ห้องสุขาอยู่นอกห้องพัก ใช้รวมกับผู้อื่น











โดยทั่วไป ห้องพักใหญ่ 1 ห้องจะพักรวมกัน 4 คน แต่ละคนจะมีเตียงนอนเดี่ยว มีโต๊ะอ่านหนังสือ และมีตู้เสื้อผ้าของตนเอง ดีไซน์ห้องจะแบ่งกันคนละมุม สี่มุมพอดี ส่วนห้องน้ำ ห้องสุขาจะอยู่นอกห้องนอน และใช้ร่วมกัน ....โดยทั่วไป จะจัดสรรให้รุ่นพี่ พักรวมกับรุ่นน้อง รุ่นพี่บางคนกำลังศึกษาปริญญาเอก หรือปริญญาโท หรือเป็นนิสิตชั้นปีที่ 4











ปัจจุบันค่าอยู่หอซีมะโด่ง ประมาณ 4,000 บาทต่อเทอม หรือประมาณ 8,000 บาทต่อปี





17.


จุฬาฯมีอะไร?



จุฬาฯ มีสถานีวิทยุจุฬาฯ คลื่น 101.5 FM, ….. มีสำนักพิมพ์จุฬาฯ พิมพ์หนังสือของจุฬาฯ, ..... มีสมุด มีแฟ้ม มีดินสอ มีที่ทับกระดาษ มีเสื้อ หมวก ร่ม ผ้าขนหนู กรอบรูป นํ้าดื่ม ฯลฯ ที่เป็นตราจุฬาฯ …. บัตรจอดรถสยามสแควร์ มีตราพระเกี้ยวอยู่บนบัตรด้วย แสดงถึงความเป็นเจ้าของที่ดินบริเวณนั้น





18.


จุฬาฯ ไม่ใช่ ดินแดนไฮโซ



หลายคนกล่าวว่า จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยไฮโซ มีรถส่วนตัวเยอะ แต่ความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่... เพราะในจุฬาฯ จะไม่มีที่ให้นิสิตจอดรถ ...ส่วนใหญ่นิสิตจะมารถเมล์ หรือรถไฟฟ้า หรือรถใต้ดิน ...สถานีสยาม เป็นสถานีที่ชาวจุฬาฯ ใช้ขึ้นและลงบ่อยที่สุด สถานีศาลาแดงเป็นสถานีที่ชาวคณะแพทย์ใช้ขึ้นและลงบ่อยที่สุด ส่วน รถใต้ดิน MRT ก็คงหนีไม่พ้นสถานีสามย่าน กับสถานีสีลม …วงเวียนชีวิตของชาวจุฬาฯ ช่วงเช้าคือลง BTS ที่สยาม และขึ้นรถป๊อป ตรงหน้าร้าน Dunkin' Donuts ส่วนช่วงเย็นก็ขึ้นรถป๊อป แล้วมาขึ้นรถไฟฟ้าBTS ที่สถานีสยาม ..รถป๊อป คือรถบริการรับส่งนิสิตจุฬาฯ จากนอกจุฬาฯแถวสยาม แล้ววิ่งประจำทาง เข้ามาในจุฬาฯ วนไปตามคณะต่างๆ
.









19.


จุฬาฯ มีทุนฟรี



จุฬาฯ มีทุนเล่าเรียนฟรี แบบเมื่อเรียนจบแล้วไม่ต้องใช้ทุนคืน และมีทุนอาหารกลางวันฟรีให้นิสิตด้วย ….ซึ่งเป็นการยืนยันว่า เรื่องฐานะนั้นไม่เกี่ยว จะรวยหรือจน ทุกคนสามารถเข้าเรียนในจุฬาฯได้.... ขอแต่ให้สอบแข่งขันเข้ามาให้ได้เท่านั้นเอง













20.


อดีตนิสิตจุฬาฯ



อดีตนิสิตจุฬาฯ..มีทั้งนักร้อง ดารา นักกีฬา นางสาวไทย ผู้ประกาศข่าว ยกตัวอย่าง เช่น วงเฉลียง, กวี ตันจรารักษ์(บีม), ภานุพล เอกเพชร(โจ-AF2), อลิสสา ซิม(กุ๊กไก่-AF2), ศรัญญู วงษ์กระจ่าง, ณัฐฐาวีรนุช ทองมี (จ๋า), ธีรเทพ วิโนทัย(ลีซอ), ธีรัช โพธิ์พานิช, อรอนงค์ ปัญญาวงศ์, สุจิตรา อรุณพิพัฒน์(นุ้ย), ปัญญา นิรันดร์กุล, สัญญา คุณากร, เกียรติ กิจเจริญ(ซูโม่กิ๊ก), เมทนี บูรณศิริ(นีโน่), เกียรติศักดิ์ อุดมนาค(เสนาหอย), พิษณุ นิลกลัด, พิสิทธิ์ กีรติการกุล, สู่ขวัญ บุลกุล(วิวรกิจ), พัชรศรี เบญจมาศ(กาละแมร์) เป็นต้น


ทุกคนล้วนผ่านการรับน้องใหม่ มีกิ่งจามจุรีคล้องคอ ถูกโปรยหัวด้วยใบจามจุรีในหอประชุมจุฬาฯ และ เคยหมอบกราบบนถนนในจุฬาฯ เมื่อรถพระที่นั่งเสด็จผ่านมาแล้วทั้งสิ้น


นิสิตจุฬาฯจะมีบัตรประจำตัวนิสิต เป็นบัตรATMของธนาคารไทยพาณิชย์…และ ในอินเตอร์เนต หลายๆคน จะชอบใช้ ฬ เรียกสั้นๆ แทน จุฬาฯ




รักคนอ่าน ครับ






yyswim








Create Date : 22 ตุลาคม 2551
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2551 22:36:18 น. 35 comments
Counter : 14541 Pageviews.

 

เพลงพระราชนิพนธ์ หลายเพลง อยู่ที่นี่ เชิญค้นหา


โดย: yyswim วันที่: 22 ตุลาคม 2551 เวลา:2:01:57 น.  

 

จขบ.จะไปต่างจังหวัด... ไม่เข้าบล๊อกหลายวันครับ


โดย: yyswim วันที่: 22 ตุลาคม 2551 เวลา:2:02:26 น.  

 



มาร่วมซึ้งถึงครั้งหนึ่งเราเคยร่วมค่ะ

จขบ เดินทางสนุกและปลอดภัยนะคะ


โดย: Sweety-around-the-world วันที่: 22 ตุลาคม 2551 เวลา:8:10:36 น.  

 
แวะมาเยือนจุฬา ด้วยเรื่องราวแบบบอกเล่าอย่างย่อๆ
ให้รู้จักกันเพิ่มเติมกับบล็อกคุณสินนะคะ .. อ่านแล้ว
แหม่ ถ้าหากว่าตอนนั้นตั้งใจเรียนสักนิด สอบติด คงได้เป็น
นิสิตจุฬาแล้วเหมือนกัน แฮ่ๆ ... พูดไปอย่างนั้น
ล่ะคะ แบบว่าไม่เก่ง เกเรียนเลยสอบที่ไหนก็บ่ติดซะงั้น


โดย: JewNid วันที่: 22 ตุลาคม 2551 เวลา:9:42:57 น.  

 



โอ้วววววววววยาวจัง
เดี๋ยวค่อยมาอ่านอีกทีครับพี่...


โดย: big-lor วันที่: 22 ตุลาคม 2551 เวลา:9:56:34 น.  

 
เดินทางปลอดภัยนะค้าบบ เพ่ สิน...

จุฬานี่ก้อเป็นไปตามกาลเวลานะเพ่..พ้มละช้อบชอบตอนรับปริญญาแต่ละปี สนุกสนานมั่กๆ..(เคยทำบล็อคไว้ตั้งแต่ใช้ชื่อลิงจ๊ากๆ ) มีหลายไฟท์ที่โดนรับจ้างไปถ่ายรูปให้.(แบบงูๆปลาๆ พี่ๆที่ให้ถ่ายเค้าบอกว่าเราหนะถ่ายแบบบ้าๆดี มุมแปลกๆ ) เคยมีตอนนึง ราตรีขยี้ตึกคณะนิติ สนุกดี
อยากบอกว่า..

ผู้ชายเรียนอักษร ไม่ได้เป็นแอบนะคร้าบบบบบบบ...
แต่นิเทศน์เยอะจัง..
สาวๆที่พ่อแม่ส่งคนรถมารอรับกลับบ้าน บางทีก้ออยากนั่งตุ๊กๆไปกินเตี๋ยวสาวรีย์ชัยนะคร้าบบบบ...
อุโมงค์เชื่อมสองฝั่ง เบื่อจัง มีพวกถ่ายโฆษณา หนังอะไรประมาณนี้..เดินก้อลำบากลำบน แถมบางทีกันไม่ให้เดินอีก..เฮ้อ..มันทำไมไม่ขุดเป็นของตัวเองซ๊ากกะที...
สามแยกปากหมาก้อได้มาจากคณะวิศวะมิไช่รึ ที่แซวสาวๆเดินผ่าน..

เฮ้อ..สาธยายนาน เดี๋ยวมาต่อดีฝ่า...อิอิ...


โดย: ทะลึ่งเบ่เบ๋ วันที่: 22 ตุลาคม 2551 เวลา:12:38:41 น.  

 
โอ้โห..ข้อมูลเพียบ

หลายๆเรื่องก็เพิ่งรู้นะเนี่ย


โดย: อดีตนิสิตจุฬาฯ (iamsquid ) วันที่: 22 ตุลาคม 2551 เวลา:12:39:55 น.  

 
อ่าน..จน เหนื่อยยยย ข้อมูลเยอะแท้


โดย: หวาน (Phumpanit ) วันที่: 22 ตุลาคม 2551 เวลา:13:42:36 น.  

 
+ ตอนสอบเอ็นท์ ทั่นแม่ก็อยากให้ผมเลือกจุฬาฯ อันดับ 1 ... ผมเลยเลือกคู่แข่งจุฬาฯ (ในคณะที่ผมจะเลือก) ซะงั้น แล้วก็ดันติด สรุปว่าไม่ได้เรียนจุฬาฯ เพราะความดื้อของตัวผมเองนี่แหละครับ แหะๆ

+ แต่ผมก็ผูกพันอยู่หลายที่ในนั้นนะ ศูนย์หนังสือฯ, งานลอยกระทง, ละครถาปัตย์, ทำฟัน, ฯลฯ อุๆ

+ ความรู้เยอะมากๆ อ่านไม่ทันเหมือนกัน เด๋วมีธุระต้องรีบกลับ ไว้วันจันทร์หน้า (ถ้าหน้านี้ยังอยู่) จะมาอ่านใหม่นะคร้าบ


โดย: บลูยอชท์ วันที่: 22 ตุลาคม 2551 เวลา:18:08:11 น.  

 
ได้รับรายละเอียดครบถ้วนเลยครับ
แต่ละภาพเป็นภาพแห่งความประทับใจจริงๆ


โดย: ลุงแอ๊ด วันที่: 22 ตุลาคม 2551 เวลา:21:46:54 น.  

 


สวัสดีค่ะพี่สิน
ได้ความรู้เกี่ยวกับจุฬาฯ กลับไปเยอะเลยค่ะ

พี่สินเดินทางโดยสวัสดิภาพนะคะ งุงิ

วันนี้ปอมีชามะนาวหน้าตาน่าทานมาฝากค่ะ ^ ^


โดย: Butterflyblog วันที่: 22 ตุลาคม 2551 เวลา:22:03:23 น.  

 
สวัสดีค่ะพี่สิน แวะมาทักทายในวันจุฬาลงกรณ์ค่ะ พี่สินมาลงได้ละเอียดมากเลย อ่านเพลินเลยค่ะ ^_^

ส่วนบีไปทอดกฐินกลับมาแล้วนะคะ มีรูปมาลงให้ดูด้วยค่ะ แวะไปชมได้นะคะ


โดย: นู๋ Beee เองค่ะ (Beee_bu ) วันที่: 23 ตุลาคม 2551 เวลา:11:45:35 น.  

 


โดย: พยัคฆ์ร้ายแห่งคลองบางหลวง วันที่: 23 ตุลาคม 2551 เวลา:12:53:13 น.  

 
ของฟรีครับ เอาไปเลยเพลงไหม่ๆ


ถอนตัว-bodyslam
//w15.easy-share.com/1702126608.html


แค่นั้นเอง-taxi
//w15.easy-share.com/1702126767.html


ลืม (เพลงนอกกระแสแต่เพราะมาก ลองดูนะ)
//w17.easy-share.com/1702126729.html


Hey-เธอ-Clash
//w13.easy-share.com/1702126702.html


ความทรงจำครั้งสุดท้าย-clash
//w14.easy-share.com/1702126680.html


ปล.ใจเย็นๆนะครับ ได้ทุกไฟล์


โดย: freee IP: 222.123.204.17 วันที่: 23 ตุลาคม 2551 เวลา:21:11:52 น.  

 
ของฟรีครับ เอาไปเลยรูปถ่ายอันทรงคุณค่า


//w14.easy-share.com/1702127915.html

//w14.easy-share.com/1702127907.html

//w14.easy-share.com/1702127901.html

//w14.easy-share.com/1702127894.html

//w14.easy-share.com/1702127881.html

//w14.easy-share.com/1702127879.html

//w14.easy-share.com/1702127871.html

//w14.easy-share.com/1702127869.html

//w14.easy-share.com/1702127857.html

//w14.easy-share.com/1702127856.html

//w13.easy-share.com/1702127842.html

//w14.easy-share.com/1702127836.html


ปล.ใจเย็นๆนะครับ ได้ทุกไฟล์


โดย: free รับรองไม่ผิดหวัง IP: 222.123.204.17 วันที่: 23 ตุลาคม 2551 เวลา:21:23:39 น.  

 
ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมเยียนที่บล็อกนะคะ แวะมาตอบช้าไปหน่อยคงไม่ว่ากัน

แต่บล็อกวันนี้อ่านเพลินเลยค่ะ
เรื่องเจ้านายบ้านเรา อ่านแล้วไม่เคยเบื่อ
ตอนเด็กๆ ก็อยากเข้าจุฬาฯ แต่เอาเข้าจริงไม่ได้เลือกเลยสักอันดับ
ไปอยู่ติดเจ้าพระยา ท่าพระจันทร์แทน
แต่ก็ชอบฟังเพลงพระราชนิพนธ์มหาจุฬาลงกรณ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนงานบอลประเพณีค่ะ


โดย: นางไม้หน้า3 วันที่: 24 ตุลาคม 2551 เวลา:2:51:53 น.  

 
กินข้าวเช้าที่จุฬาฯ เกี่ยวไหมเนี่ย

อยากมีส่วนร่วมอ่ะค่ะ


โดย: butbbj วันที่: 24 ตุลาคม 2551 เวลา:7:46:02 น.  

 
ผมนิสิตภาษาไทย สำนักอักษราเทวาลัยครับ

อยู่ใต้ร่มชงโคน้อยในป่าจามจุรี มีอาคารมหาจุฬาลงกณ์และอาคารมหาวชิราวุธโอบสระน้ำ ถัดไปมีอาคารบรมราชกุมารีที่สถิตเสถียรภูมิความรู้แห่งอักษรศาสตร์ ภายในห้อง ๕๐๓ มีพระสาทิสลักษณ์พระมิ่งขวัญจามจุรีศรีจุฬาฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯเสมือนทรงร่วมดูแลเหล่าเราชาวอักษรให้ตั้งใจพากเพียรเรียนศึกษาและเป็นหลักปัญญาในสายมนุษยศาสตร์ ให้สมกับคำ "ทั่วราชอาณาจักร นี้เราเป็นหลักอยู่แต่ละส่วน" อาคารเทวาลัยที่ตั้งตระหง่านด้านมหาจุฬาลงกรณ์ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู๋หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สองมหาราชผู้พัฒนาการศึกษาแห่งสยาม
เหล่านิสิตจักไม่วันลืมพระมหากรุณาธิคุณและความเมตตาของบรรพบุรุษทุกชั้นชนที่ร่วมกันสละเงินสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์แล้วเหลือเงินหางม้าสร้างสถานศึกษาแห่งนี้

นิสิตจุฬาฯจะร่วมกันสร้างจุฬาฯ ถาวระยศอยู่คู่ไทย เชิดชัยชโย


โดย: ดนย์ วันที่: 24 ตุลาคม 2551 เวลา:12:16:27 น.  

 

ข้อมูลเพียบจริงๆ

หลายเรื่องไม่เคยรู้มาก่อน

เที่ยวให้สนุก เดินทางไป - กลับปลอดภัยค่ะ


โดย: ตั่วเจ๊ IP: 124.121.214.96 วันที่: 24 ตุลาคม 2551 เวลา:20:17:42 น.  

 

สวัสดีค่ะ
ตั้งแต่เกิดมายังไม่ไปไม่เห็นจุฬาฯเลยสักครั้ง
แต่ในอนาคตคงมีโอกาศค่ะ
ขอบคุณค่ะ


โดย: ดอกหญ้าเมืองเลย วันที่: 25 ตุลาคม 2551 เวลา:1:38:00 น.  

 
สวัสดียามเช้าวันเสาร์ค่ะพี่ชาย
ไม่ค่อยได้เข้าคอมเมนต์เลยค่ะ

เน็ตที่ออฟฟิส..ยังใช้ไม่ได้เลยค่ะพี่ชาย




ชอบมากเลยค่ะ ** ตราพระเกี้ยว ** นิ
แต่ไร้ความสามารถที่จะได้ร่ำเรียนค่ะ
แต่ขอแจมความรู้กับสถาบันที่รักด้วยนะค่ะ


เสียดายจังค่ะที่ปีนี้เราไม่ได้แจมงานกฐินร่วมกัน
กระบินที่ไม่คาดคิดนะค่ะ..ว่าจะได้ทำ
สงสายได้บุญอย่าตั้งใจค่ะ
5555555555
แน่ะ..นี้นะนิแบบไม่หวังผล
อิๆๆๆๆๆ



ว่าแต่** ลอยกระทง **
ไปเที่ยวไหนกันดีค่ะนิ
5555555555


ขอให้ได้เที่ยวค่ะ
คุณแคทชอบนักแล

มีความสุขทุกวันนะค่ะพี่ชาย
ขอให้คุณแม่แข็งแรงเสมอนะค่ะ





โดย: catt.. (catt.&.cattleya.. ) วันที่: 25 ตุลาคม 2551 เวลา:7:25:30 น.  

 
อีสานลมแรง แต่ยังไม่หนาวเร้ยยย...เพ่สิน


โดย: ทะลึ่งเบ่เบ๋ วันที่: 26 ตุลาคม 2551 เวลา:13:06:14 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...


โดย: doctorbird วันที่: 26 ตุลาคม 2551 เวลา:17:33:57 น.  

 
แวะมาทักทายครับ พี่สิน ผมหายไปนานอีกตามเคยจนจะเป็นปกติอยู่แล้ว...


เพิ่งรู้ว่าต้นจามจุรีข้างหอประชุมปลูกโดยในหลวง ผมก็ปักหลักอยู่ตรงนั้นตลอดสี่ปีแหละครับ เรียนเสร็จก็มานั่งโต๊ะข้างหอประชุม เพราะตรงนั้นเป็นที่ชุมนุมไพร่พลของบรรดานิสิตที่มาจากโรงเรียนมัธยมเดียวกันกันผม

เตะบอลก็ตรงข้างหอประชุมนั่นแหละครับ ทะเลาะกับยามตลอดสี่ปีเหมือนกันเพราะทำให้สนามหญ้าเขาเสียหาย

ตอนเรียนก็ไม่ได้คิดอะไรนักหนาหรอกครับ ก็อยากเตะบอล ทำไมถึงมีปัญหากับเรานักหนา ก็ไม่เข้าใจ พอจบมาแล้วมานั่งนึกดูก็จริงของเขานะ ตรงนั้นคือหอประชุม จะเรียกว่าเป็นใจกลางของมหา'ลัยก็ว่าได้ ดันมีพวกไม่รู้เรื่องรู้ราวมาเตะบอลให้ภาพมันไม่ค่อยสวยงามต่อแขกไปใครมาอยู่ได้


หวังว่าพี่สินคงสบายดีนะครับ


โดย: คนทับแก้ว วันที่: 27 ตุลาคม 2551 เวลา:13:33:17 น.  

 
ยู้ฮู.....จขบกลับมายังครับเนี่ย
เพิ่งได้มาอ่าน
แหม...รั้วจามจุรีนี่มีเรื่องราวเยอะดีเจงเจง
ไอ้กระผมจบจากรั้วเฟื่องฟ้าครับพี่
ม.บ้านนอก....


โดย: big-lor วันที่: 27 ตุลาคม 2551 เวลา:14:04:15 น.  

 
ไม่ได้เข้ามานาน
แต่เนื้อหายังแน่นเหมือนเดิมเลยค่ะ
ขอบคุณมากมาก สำหรับความรู้


โดย: MDA วันที่: 27 ตุลาคม 2551 เวลา:22:36:49 น.  

 



ต้น"Cacoa"พืชพื้นเมืองทวีปอเมริกาใต้
ูรสชาติเหมือนกินมังคุดดิบ..แต่กลิ่นหอมละมุน
ส่วนเม็ดในสีดำที่นำไปสกัดเป็น"โกโก้"้ที่เราชงดื่มให้พลังงานค่ะ


โดย: เริงฤดีนะ วันที่: 28 ตุลาคม 2551 เวลา:0:12:16 น.  

 
มีอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่รู้เยอะ

พออ่านจนจบก็ทำให้รู้อะไรไปได้อีกเยอะ

"รักคนนำความรู้มาเล่าต่อค้าบบ"


โดย: err_or วันที่: 28 ตุลาคม 2551 เวลา:8:56:55 น.  

 
สมบูรณ์แบบเลยครับพี่สิน

ดีใจที่รูปผมพอจะมีประโยชน์บ้าง

(^_______^)



โดย: Mahdee41 คับผม IP: 161.200.255.162 วันที่: 29 ตุลาคม 2551 เวลา:20:52:41 น.  

 

บล็อกนี้ทำให้ผมหวนคิดถึงวันที่ยังเป็นนักเรียนขาสั้นที่เมียงมองแอบใฝ่ฝันที่อยากจะได้มาเป็นนิสิตของที่นี่ จากความเป็นเด็กนักเรียนที่หัวไม่ค่อยดีเรียนไม่ค่อยเอาไหนแต่ความฝันที่จะได้ผูกไทด์ที่มีพระเกี้ยวปักที่เห็นรุ่นพี่ผูกแล้วมันช่างสง่างาม จนผมต้องแอบฝ้นกลางวันและเข้าข้างว่าไอ้น้องชายจะได้เข้าไปเรียนบ้าง

โจทย์ที่ยิ่งใหญ่สำหรับการสอบเอ็นท์ครั้งนั้น ที่ผมกราบขอให้พระบารมีของล้นเกล้าทั้งสองพระองค์คุ้มครองประทานสติปัญญาสำหรับการสอบเพื่อให้ทุกอันดับผมขอเทใจให้จุฬาฯ หมดนั้นเป็นพอเป็นจริง แต่ท่ามกลางเหตุการณ์นั้นมีแต่ถูกตำหนิและเสียงถึงติติงถึงความไม่เจียมและไม่ประมาณตน

กลับกันเมื่อคิดวางแผนเช่นนั้นพลังฮึดที่มีมันกลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้พยายามทำทุกวิถีทางที่ใครว่าดีอะไรผมเป็นทำหมด รวมถึงการได้เรียนรู้จากแบบอย่างของพี่นิสิตหลายๆ คนที่วันนี้บางคนที่เป็นคนดังที่ผมอดขอบคุณไม่ได้สำหรับการให้ข้อคิดดีๆ ที่ทำให้ฝันของผมไม่เรือนลาง น้ำตาแห่งความสำเร็จรอให้ผมก้าวเข้าไปอีกก้าว

พี่สินเก็บรายละเอียดมาฝากแบบเยี่ยมยอดเลยครับ ครบแถมมีภาพประกอบให้คราหนึ่งของการที่ได้เป็นส่วนหนึ่งนั้นมันแจ่มชัดขึ้นอีกครา

น้องชายคิดว่าผมโชคดีที่ได้มีโอกาสเป็นจามจุรีใบหนึ่งที่ความสงบร่มเย็นยังคงยืนต้นอยู่ท้าเวลา แม้ชั่วกำหนดเวลาที่เรียนทำให้ผมอาจมากกว่าคนอื่นไปบ้าง แต่เมื่อความสำเร็จมาเยือนกลับรู้สึกใจหายเมื่อคราวที่ได้ยินเพลงนี้

//cuchorus.clubs.chula.ac.th/modules.php?name=Content&pa=showpage2&pid=19

น้ำตาไหลและรู้ว่าการผลัดใบที่ต้องจากสถาบันที่ทรงเกียรติแห่งนี้ ที่ประสิทธิประสาทและให้ความรู้จากเด็กที่ไม่ประสีประสาที่เล่าเรียนจากโรงเรียนวัดจนวันหนึ่งได้เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่จารด้วยประวัติอันยาวนานต้องใจหาย

สุดท้ายผมขอบคุณพี่สินครับที่ทำให้ผมได้ร่วมย้อนบันทึกเกร็ดของตัวเองที่คงเป็นความภูมิใจของผมที่สถาบันนี้สอนทุกอย่างให้ผมรู้จักเคารพให้เกียรติกันและกัน ถือความเป็นพี่เป็นน้องที่ชาวจุฬาฯ แทรกซึมอยู่ในจิตใจเสมอ สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นความดีงามเสมอที่จุฬาฯ ได้รักษาไว้

แม้นจะผ่านวันอันเป็นมิ่งมงคลนี้ไปชั่วระยะก็ตาม แต่ผมไม่อาจลืมพระมหากรุณาธิคุณที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่านได้และคงไม่มีสิ่งใดจะมาลดทอนความเคารพบูชาต่อพระเมตตาที่ได้มีสายพระเนตรที่ยาวไกลที่ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้น ที่ความภาคภูมิใจที่สุดของทุกคนคือการได้เป็นลูกพระเกี้ยว

ทุกครั้งที่ผมได้ผ่านและได้ก้มกราบพระบรมราชานุสาวรีย์ พลันภาพแห่งความทรงจำหลายอย่างผุดขึ้นมาในสมองอย่างมิรู้ลืม---

น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา
พระคุณของแหล่งเรียนมา จุฬาลงกรณ์


โดย: J.C. IP: 123.242.145.122 วันที่: 30 ตุลาคม 2551 เวลา:9:17:17 น.  

 
วันนี้ผมรอลุ้นผลแพทย์ กสพท ครับ



ไม่รู้เหมือนกันว่า เด็กบ้านนอกอย่างผม ที่ทุ่มเทและเตรียมพร้อมมาเป็นปี จะมีโอกาสก้าวถึงฝันอันสูงสุดไหม




ความฝันที่เกิดจากความรัก ผมรักในสถาบันแห่งนี้ ผมก็ยังคงหวังในสถาบันแห่งนี้ ผมอยากเป็น นิสิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ ^^

ตราบใดยังมีรักต้องมีหวัง ^^

อยากมีโอกาสพูดประโยคนี้พร้อมเพื่อนๆนิสิตในสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้ว่า

"ขออัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ มหาจุฬาลงกรณ์....
น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา
พระคุณของแหล่งเรียนมา จุฬาลงกรณ์..."


โดย: ตะ IP: 125.26.52.59 วันที่: 3 เมษายน 2552 เวลา:9:52:27 น.  

 
หนูไปเข้าค่ายจุฬามา !!~ รุ่นพี่โคราชที่ไปติดจุฬา ทุกคนเจ๋งมากเลย! ^^

เเล้วทุกคนจะรุ้ว่า

ถ้าเราทุกคนตั้งใจทัมมันจิงๆๆไม่ว่าผล !

จะออกมาดีหรือไม่ ..อย่างน้อยๆๆก็ภูมิใจนะ !!~

ที่ได้ตั้งใจทัมสุดความสามารถเเร๊ววว !! ^^

เเล้วเจอกันในพิธีถวายบังคมพ่อ ร.6+ร.5 นะเพื่อน!


จากใจเราเด็กเเอดปี 53 !! ^^


โดย: อ้อม ! IP: 125.26.88.14 วันที่: 22 ตุลาคม 2552 เวลา:17:10:55 น.  

 
ใต้ร่มพฤกษาจุฬาร่มเย็น
ขอบคุณค่ะ


โดย: พี่แก่ IP: 10.44.1.134, 202.28.180.202 วันที่: 27 พฤศจิกายน 2552 เวลา:8:25:48 น.  

 
ขอให้จุฬา คะแนน แอดปี 54 ไม่เปลี่ยนแปลงมากนะครับ

จากเด็กแอดปี 54 ( ปีหน้าแล้วครับ )


ขอบคุณครับ


โดย: เด็กใหม่ IP: 125.24.174.10 วันที่: 5 กรกฎาคม 2553 เวลา:17:58:21 น.  

 
ไปค่ายมาอยากเข้าจุฬามากๆค่ะ
ทำไงจะได้เป็นใบน้อยๆที่ติดตามกิ่งของร่มจามจุรีบ้างค๊ะ
แนะนำหน่อยค่ะ


โดย: ละอ่อนน้อย IP: 125.26.102.8 วันที่: 23 ธันวาคม 2553 เวลา:21:29:42 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

yyswim
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 40 คน [?]





บล็อกสรรสาระนี้ จขบ.ไม่ได้เขียน-ไม่ได้ถ่ายภาพ-ไม่ได้อัพโหลดคลิปเอง หากแต่ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการบล็อก เสาะหาเรื่องดีๆ รูปสวยๆ คลิปแปลกๆ มาไว้ในบล็อก


ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยม ขอเชิญชมหรืออ่านตามสบาย ไม่ต้องคอมเมนต์ก็ได้ จขบ.ชอบการเข้ามาเยี่ยม แบบกันเอง ง่ายๆ สบายๆ




เริ่มเขียนBlog เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2548


เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2550 เวลา 23.30 น.


เริ่มนับจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม




Latest Blogs

New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add yyswim's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.