ห้องสมุด Xiengyod
ว่าด้วยเรื่องธงต่างๆ ในเมืองไทยและนานาสาระ

เซียงยอด
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เซียงยอด's blog to your web]
Links
 

 

หมวดธงเสือป่าและลูกเสือ (ธงเสือป่า)

(คัดลอกจาก ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.)


หมวดธงเสือป่าและลูกเสือ



พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศต่างๆ ในโลกและของประเทศไทยในขณะนั้นอยู่ในสภาพที่ไม่น่าไว้วางใจ ไม่สมควรที่จะวางเฉยตั้งอยู่ในความประมาท จึงมีพระราชประสงค์ที่จะฝึกหัดข้าราชการพลเรือนทั้งหลายให้ได้เรียนรู้วิชาทหารไว้บ้าง เพื่อสามารถช่วยเหลือราชการในคราวจำเป็นหรือคับขัน เช่น การกรามปรามโจรผู้ร้าย การปราบปรามจลาจล รวมทั้งเวลาที่เกิดศึกสงครามเป็นต้น นอกจากนี้การฝึกหัดวิชาการทหารให้แก่บุคคลดังกล่าวยังจะก่อให้เกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่อีกด้วย คือ

- ช่วยปลูกฝังความจงรักภักดีต่อผู้เป็นประมุขของประเทศให้บังเกิดแก่บุคคลเหล่านั้น
- ปลูกฝังความรักชาติบ้านเมือง และความนับถือศรัทธาเลื่อมใสในศาสนาอย่างจริงใจ
- ปลูกฝังความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวในหมู่คณะ และไม่คิดทำลายซึ่งกันและกัน

ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากิจการเสือป่าขึ้นเป็นอันดับแรก โดยประกาศพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ตั้งแต่นั้นมากิจการเสือป่าก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ มีการแบ่งแยกออกเป็นกรมกองต่างๆ และแพร่ออกไปยังหัวเมือง ทั้งยังมีการฝึกซ้อมกันอยู่เสมอ

ธงของเสือป่ามีอยู่หลายประเภท ได้แก่ ธงชัยเฉลิมพลเสือป่า ธงประจำกรม กอง และหมวดต่างๆ ตลอดจนธงประจำตัวผู้บัญชาการกรม นายกอง นายหมวด นายหมู่ต่างๆ ธงประจำตัวนี้มีสีและรูปกลางธงโดยเฉพาะ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐ์ขึ้นเป็นสัญลักษณ์ตามวงศ์ตระกูล หรือนามบุคคลผู้ได้รับพระราชทาน เรื่องของธงประจำกรมกองและธงประจำตัวนี้ มีรายละเอียดปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่อง “เสือป่าและลูกเสือในประวัติศาสตร์รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งจมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ค้นคว้าเรียบเรียงออกเผยแพร่แล้ว ดังนั้นในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะธงชัยเฉลิมพลเสือป่าเท่านั้น



ธงมหาศารทูลธวัช

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นธงชัยเฉลิมพลของเสือป่า มีลักษณะ คือ เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กลางธงเป็นรูปเสือลายพาดกลอนเต็มตัวยืนหันหน้าไปทางเสา ใต้รูปเสือมีตัวอักษรว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” ริมธงทั้ง ๔ ด้าน เป็นตัวอักษรคาถาภาษาบาลี (รูปที่ ๕๐,๕๑)


รูปที่ ๕๐ ธงชัยเฉลิมพลเสือป่า (ธงมหาศารทูลธวัช)



รูปที่ ๕๑ ธงประจำกรมเสือป่าราบหลวง


ต่อมาธงชัยเฉลิมพลเสือป่าได้เปลี่ยนแบบใน พ.ศ. ๒๔๕๙ โดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนธงเสือป่าที่ได้พระราชทานไปแล้วใหม่ คือเปลี่ยนพื้นธงเป็นธงไตรรงค์ กลางธงมีพระปรมาภิไธยย่อ “รร.๖” ภายใต้รูปพระมหามงกุฎ มุมธงด้านบนยอดคันธง มีแถบแพรสีตามกรมเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กลางเป็นรูปหน้าเสือตรง ล้อมรอบด้วยอักษรชื่อกรมกองเสือป่านั้นๆ และคำขวัญว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” (รูปที่ ๕๒,๕๓) หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๖๘ แล้ว ในรัชกาลที่ ๗ กิจการเสือป่าก็ได้ร่วงโรยไป ในที่สุดก็เหลือแต่กิจการลูกเสือซึ่งนับเป็นสาขาหนึ่งของกิจการเสือป่าเท่านั้น




รูปที่ ๕๒ ธงกรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์



รูปที่ ๕๓ ธงกรมเสือป่าหลวงรักษาดินแดนกรุงเทพฯ




 

Create Date : 17 ตุลาคม 2550    
Last Update : 9 สิงหาคม 2551 17:16:14 น.
Counter : 4051 Pageviews.  

หมวดธงประจำกอง (ต่อ)

(คัดลอกจาก ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.)


ธงสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑



รูปที่ ๔๐ ธงสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ ด้านหน้า


รูปที่ ๔๑ ธงสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ ด้านหลัง


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นธงชัยเฉลิมพล สำหรับพระราชทานแก่กองทหารไทย ซึ่งไปร่วมรบช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรในทวีปยุโรป ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นธงที่สร้างขึ้นไว้ใช้ชั่วคราวในเหตุการณ์

ลักษณะธงเป็นธงสี่เหลี่ยม พื้นธงมีลักษณะสีเหมือนธงไตรรงค์ กลางธงด้านหน้าเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ รร. และเลข ๖ ภายใต้พระมหามงกุฎและรัศมี รูปทั้งหมดอยู่ภายในวงสีแดง ที่แถบสีแดงตอนบนจารึกคาถาว่า “พาหุํ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ ครีเมขลํ อุทิตโฆรสเสนมารํ” แถบสีแดงตอนล่างจารึกคาถาว่า “ทานาทิธมฺมวิธินา ชิตวา มุนินฺโท ตนฺเตชสา ภวตุเต ชยสิทฺธินิจฺจํ”

ธงด้านหลัง ตรงกลางเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าเสาอยู่ภายในวงกลมสีแดง แถบสีแดงตอนบนจารึกคาถาว่า “พาหุํํ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ ครีเมขลํ อุทิตโฆรสเสนมารํ” แถบสีแดงตอนล่างจารึกคาถาว่า “ทานาทิธมฺมวิธินา ชิตวา มุนินฺโท ตนฺเตชสา ภวตุเต ชยสิทฺธินิจฺจํ” คาถาที่จารึกนี้เรียกว่า “คาถาพุทธชัยมงคล ๘” หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่า “พาหุง” ที่ใช้คาถานี้เพราะ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปรียบเทียบว่า ฝ่ายตรงข้ามเหมือนมารหรืออธรรมที่มุ่งมาโจมตีฝ่ายธรรม แต่ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ไป ดุจที่พระพุทธเจ้าทรงมีชัยชนะแก่พระยามารกระนั้น อีกประการหนึ่ง คาถาบทนี้มักใช้สวดในพิธีต่างๆ เป็นการอวยชัยให้พร การจารึกคาถาบนผืนธงจึงเท่ากับการอวยพรและเป็นนิมิตแห่งชัยชนะและสวัสดิภาพของเหล่าทหารไทย (รูปที่ ๔๐,๔๑)



ธงประจำกองทหารเรือ


เริ่มกำหนดแบบอย่างขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๗๙ ตามความในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ส่วนที่ ๔ มาตรา ๑๑ ได้ระบุลักษณะธงไว้ดังนี้



รูปที่ ๔๒ ธงประจำกองทหารเรือ พ.ศ. ๒๔๗๙


ลักษณะอย่างเดียวกับธงไตรรงค์ ศูนย์กลางมีรูปสมอไขว้กับจักรภายใต้พระมหามงกุฎ สีของรูปทั้งหมดนี้เป็นสีเหลือง (รูปที่ ๔๒)

ส่วนธงประจำกองทหารเรือฝ่ายบก หรือหน่วยทหารเรือที่ไม่มีธงประจำกองในเวลายกพลขึ้นบก เมื่อต้องการให้มีธงไปในกองทหารด้วย ก็ให้ใช้ธงฉานเป็นธงประจำกอง ธงฉานสมัยนี้มีลักษณะพื้นธงเหมือนธงไตรรงค์ กลางธงมีรูปสมอไขว้กับจักรภายใต้พระมหามงกุฎสีเหลือง



รูปที่ ๔๓ ธงประจำกองทหารเรือ พ.ศ. ๒๔๘๒


พ.ศ. ๒๔๘๒ เพิ่มอักษรพระปรมาภิไธยย่อ อปร. ภายใต้พระมหามงกุฎที่มุมธงตอนบน (รูปที่ ๔๓)

ธงประจำกองทหารเรือแบบนี้คงใช้มาจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๕ จึงเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมลักษณะบางประการใหม่ ตามความในกฎกระทรวงกลาโหม ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๐๕) ออกตามความพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ว่าด้วยวัตถุที่ทำเป็นลวดลายในพื้นธงและส่วนประกอบธงประจำกองทหาร คือ



รูปที่ ๔๔ ธงประจำกองทหารเรือ พ.ศ. ๒๕๐๕


ยอดคันธงเป็นรูปช้างสามเศียรภายใต้พระมหามงกุฎ ทำด้วยโลหะสีทอง

คันธง ระหว่างฐานรูปช้างสามเศียรกับมุมธงด้านบน มีแถบธงชาติเป็นโบหูกระต่ายห้อยชายทั้งสองข้างยาวเลยมุมธงด้านล่าง ปลายชายแถบทั้งสองเป็นครุย

คันธง ตอนที่ตรงกับธง มีสักหลาดสีแดงต่อกับริมธงหุ้มรอบคันธง มีหมุดทำด้วยโลหะสีทอง ๑๕ หมุด หมุดที่ ๑ เป็นรูปประเทศไทย หมุดที่สองเป็นรูปเสมาธรรมจักร หมุดที่สามเป็นรูปพระปรมาภิไธยย่อ หมุดที่สี่เป็นรูปรัฐธรรมนูญ หมุดต่อไปเป็นรูปเครื่องหมายกองทัพบก หมุดที่ ๑ อยู่บนสุด หมุดต่อไปเรียงลงมาตามลำดับ

ริมธงด้านชิดคันธงมีเกลียวเชือกสีแดง
(รูปที่ ๔๔)

เนื่องจากกฎกระทรวงกลาโหมฉบับนี้ไม่ได้กำหนดลวดลายกลางพื้นธงไว้ จึงเข้าใจว่าจะใช้ตราแบบเดิม คือสมอไขว้กับจักรภายใต้พระมหามงกุฎสีเหลืองมีอักษรแจ้งนามกองทหารอยู่ใต้รูปดังกล่าว ธงประจำกองทหารเรือนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าธงชัยเฉลิมพล



ธงประจำกองทหารอากาศ



รูปที่ ๔๕ ธงประจำกองทหารอากาศ พ.ศ. ๒๔๗๙

เริ่มบัญญัติขึ้นใช้เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๗๙ ตามความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ว่าด้วยธงราชการทั่วไป มาตรา ๑๑ อนุมาตรา ๓ ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ คือกำหนดให้มีลักษณะพื้นธงเหมือนธงไตรรงค์ ตรงกลางเป็นรูปอุณาโลมทหารอากาศ (รูปที่ ๔๕)

ต่อมาได้มีกฎกระทรวงกลาโหมออกตามความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ออกประกาศเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ กำหนดลักษณะธงประจำกองทหารอากาศใหม่ คือ



รูปที่ ๔๖ ธงประจำกองทหารอากาศ พ.ศ. ๒๔๘๒


ยอดคันธง เป็นซุ้มเรือนแก้ว ประดิษฐานพระพุทธรูปภายใน ทำด้วยโลหะสีเหลือง

ใต้ฐานซุ้มชิดกับมุมบนของธงด้านเสา มีแถบธงชาติเป็นโบหูกระต่าย ห้อยชายทั้งสองข้าง มีส่วนยาวเลยมุมธงด้านล่าง ชายแถบทั้งสองเป็นครุย

พื้นธง มุมบนด้านคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลสีเหลืองภายใต้มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อสีแดง ขลิบริมสีเหลือง รัศมีสีฟ้า

รอบคันธง ตอนที่ตรงกับแถบธง เป็นสีแดงรอบคันธง ริมชายธงด้านชิดเสา เป็นเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ส่วนริมชายธงด้านอื่น ๆ เป็นแถบสีเหลืองแกมเขียว กล้าง ๒ เซนติเมตร
(รูปที่ ๔๖)

พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้มีกฎกระทรวงกลาโหม ฉบับที่ ๒ ออกตามความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ว่าด้วยวัตถุที่ทำเป็นลวดลายในพื้นธงและส่วนประกอบธงประจำกองทหาร ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ยกเลิกกฎกระทรวงฉบับเดิม และได้แก้ไขปรับปรุงลักษณะธงประจำกองทหารให้เหมาะสมยิ่งขึ้น คือ



รูปที่ ๔๗ ธงประจำกองทหารอากาศ พ.ศ. ๒๕๐๕


ยอดคันธง เป็นซุ้มเรือนแก้ว ประดิษฐานพระพุทธรูปภายใน ทำด้วยโลหะสีเหลือง

คันธง ระหว่างซุ้มเรือนแก้วกับมุมบนของธง มีแถบธงชาติผูกเป็นโบหูกระต่ายห้อยชายทั้งสองยาวเลยมุมธงด้านล่าง ปลายชายแถบทั้งสองเป็นครุย

พื้นธงมุมบนด้านคันธง มีพระมหามงกุฎและเลขหมายรัชกาลสีเหลือง ภายใต้มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อสีแดง ขลิบริบสีเหลือง รัศมีสีฟ้า

พื้นธง ที่ศูนย์กลางมีวงกลมสีฟ้าเป็นพื้นของอุณาโลมทหารอากาศ

คันธงตอนที่ตรงกับธง มีสักหลาดสีแดงต่อกับริมธงหุ้มรอบคันธง มีหมุดทำด้วยโลหะสีทอง ๕ หมุด หมุดที่ ๑ เป็นรูปประเทศไทย หมุดที่สองเป็นรูปเสมาธรรมจักร หมุดที่สามเป็นรูปพระปรมาภิไธยย่อ หมุดที่สี่เป็นรูปรัฐธรรมนูญ หมุดต่อไปเป็นรูปเครื่องหมายกองทัพบก หมุดที่ ๑ อยู่บนสุด หมุดต่อไปเรียงลงมาตามลำดับ

ริมธงด้านชิดคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบสีเหลือง กว้าง ๒ เซนติเมตร
(รูปที่ ๔๗)

ธงประจำกองทหารนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงชัยเฉลิมพล




ธงยุวชนนายทหาร



รูปที่ ๔๘ ธงยุวชนนายทหาร

ยุวชนเป็นหน่วยที่รัฐบาลไทยได้จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๘๐ เพื่อฝึกอบรมให้เยาวชนของชาติผู้มีความเข้มแข็งอดทนและอยู่ในระเบียบวินัย ธงยุวชนนายทหารเริ่มบัญญัติขึ้นใช้เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๘๑ ตามความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๘๑ ลงวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ มีลักษณะธง ดังนี้

พื้นธงเป็นธงไตรรงค์ ขนาดกว้าง ๕๐ เซนติเมตร ยาว ๗๐ เซนติเมตร กลางธงมีวงกลมพ้นสีแดง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๒ เซนติเมตร มีขอบสีเหลือง กว้าง ๖ เซนติเมตร กลางวงกลมมีรูปอย่างตราหน้าหมวกยุวชนทหารสีเหลือง แต่ไม่มีรูปสมอ (ตราหน้าหมวกยุวชนทหารเป็นรูปจักรไขว้กับสมอ กลางจักรมีอุณาโลมรอบนอกมีลายเปลว ในขอบวงจักรมีอักษรฉลุว่า “รักชาติยิ่งชีพ”) มีตัวอักษรขนาดพองามสีเหลืองว่า “ยุวชนนายทหาร” เป็นแถวโค้งโอบใต้ขอบวงกลม ที่มุมบนทางคันธงมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อสีแดง ขลิบริมสีเหลือง รัศมีสีฟ้า อยู่ภายใต้พระมหามงกุฎสีเหลือง ที่ยอดธงมีแถบธงชาติห้อยสองแถบ ยอดคันธงเป็นรูปปลายหอกสั้นทำด้วยโลหะสีเงิน มีรูปอุณาโลมทั้งสองข้าง ส่วนต่าง ๆ ที่ไม่ได้กำหนดขนาดไว้นั้นให้มีขนาดพองาม

ปัจจุบันเลิกใช้ธงยุวชนนายทหารนี้แล้ว เพราะขบวนการยุวชนทหารได้ล้มเลิกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ ตามความในพระราชบัญญัติเลิกพระราชบัญญัติยุวชนแห่ชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๖ พ.ศ. ๒๔๙๐ (รูปที่ ๔๘)



ธงยุวชนทหาร



รูปที่ ๔๙ ธงยุวชนทหาร

บัญญัติขึ้นใช้พร้อมกับธงยุวชนนายทหาร มีลักษณะรูปทรงทั่วไปเช่นเดียวกับธงยุวชนนายทหาร แต่ใต้วงกลมให้ระบุนามจังหวัดที่ได้รับพระราชทานโดยมีข้อความนำหน้านามจังหวัด ดังนี้ “ยุวชนทหารจังหวัด...................................”

ปัจจุบันเลิกใช้ธงนี้เช่นเดียวกับธงยุวชนนายทหาร (รูปที่ ๔๙)





 

Create Date : 18 สิงหาคม 2550    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2551 14:29:09 น.
Counter : 6042 Pageviews.  

หมวดธงประจำกอง

(คัดลอกจาก ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.)


ธงชัยเฉลิมพล



รูปที่ ๓๒ ธงชัยเฉลิมพลในรัชกาลที่ ๕

สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม พ.ศ. ๒๔๓๔ (ร.ศ. ๑๑๐) เป็นธงพื้นสีต่างๆ ตามแต่ทหารจะเห็นสมควร ที่มุมธงข้างบนมีแพรแดงเป็นรูปธงโตหนึ่งในหกส่วนของธงใหญ่ มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่พื้นธงนอกจากธงช้างที่มุมมีตราสำหรับกองทหารนั้น เป็นธงสำหรับใช้เมื่อมีการรับเสด็จในเวลามีพระราชพิธีใหญ่สำหรับเกียรติยศตามที่จะโปรดเกล้า ฯ ให้รับและใช้ เมื่อกองทหารจะไปปราบศัตรูก็ใช้ธงนี้ไปในกองทัพด้วย ธงนี้ใช้มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงเลิกโดยพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ (รูปที่ ๓๒)

การยกเลิกธงชัยเฉลิมพลครั้งนี้มิได้หมายความว่าเลิกใช้ธงเฉลิมพลโดยสิ้นเชิง เพียงแต่เลิกแบบธงชัยเฉลิมพลที่ใช้ใน พ.ศ. ๒๔๓๔ เท่านั้น กองทหารทั้ง ๓ เหล่าทัพของไทย สมัยต่อมามีธงชัยเฉลิมพลประจำกององตน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำนินทรงตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพลและบรรจุเส้นพระเจ้า ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชทานธงให้แก่กองทหารที่มีอัตรากำลังพลตั้งแต่กองพันขึ้นไปที่ยังไม่มีธงในโอกาสอันสมควร มีประเพณีของทหารใหม่ที่จะต้องทำพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพลของกองทหารที่ตนประจำราชการอยู่ และในวันที่ ๒๕ มกราคม ซึ่งเป็นวันกองทัพไทย จะมีพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพลของกองทหารทั้ง ๓ เหล่าทัพเป็นประจำทุกปี ลักษณะของธงชัยเฉลิมพลมีกำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติธง แต่เรียกชื่อว่าธงประจำกองทัพบก ธงประจำกองทหารเรื่อ ธงประจำกองทหารอากาศ ขอให้ดูรายละเอียดในหัวข้อนั้นๆ



ธงประจำกองทัพบก



รูปที่ ๓๓ ธงประจำกองทัพบก หรือ ธงจุฑาธุชธิปไตย

เป็นธงพื้นสีแดงขอบมีจักรสีขาวสามด้าน กลางเป็นรูปตราแผ่นดิน โปรดให้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ และได้พระราชทานแก่กองทหารซึ่งมหาอำมาตย์เอก จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เมื่อยังเป็น นายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ แม่ทัพ ได้ใช้ธงนี้นำทัพไปปราบฮ่อ ซึ่งเข้ามาก่อการจลาจลในเขตหัวพันห้าพกและสิบสองปันนา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ภายหลังพระราชทานนามธงนี้ว่า “ธงจุฑาธิปไตย” (รูปที่ ๓๓)

ถึงรัชกาลที่ ๖ โปรดให้สร้างธงมหาไพชยนต์ธวัช พื้นนอกสีแดง พื้นในสีดำ กลางมีรูปพานแว่นฟ้าสองชั้นรองรับวชิราวุธ มีเครื่องสูง ๕ ชั้นข้างละ ๑ องค์ ดังกล่าวมาแล้วในหมวดธงสำหรับแผ่นดิน แต่ก็ไม่ได้เลิกธงจุฑาธิปไตย



ธงประจำกองทหารบก



สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๔ พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางธงมีรูปพระมหาพิไชยมงกุฎ และเครื่องสูง ๗ ชั้น ๒ ข้าง ดังได้กล่าวมาแล้วในหมวดธงประจำพระองค์ ใช้เป็นธงประจำกองทหารรักษาพระองค์ปืนทองปราย ซึ่งมีอยู่แล้วตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ กองหนึ่ง กองทหารรักษาพระองค์เป็นปืนทองปลายหอกข้าหลวงเดิมใช้ซึ่งตั้งขึ้นในคราวเดียวกันนี้กองหนึ่ง กองทหารปืนใหญ่ซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๓๙๔ กองหนึ่ง กองทหารล้อมวังซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๗ กองหนึ่ง และกองทหารอย่างยุโรปซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ กองหนึ่ง รวม ๖ กอง ใช้ในเวลาเมื่อเสด็จประทับอยู่ในพระนคร และถ้ามิได้เสด็จประทับอยู่ในพระนครแล้ว ถ้ากองทหารมีการจำเป็นที่จะใช้ธงประจำกอง โปรดให้ใช้ธงสำหรับแผ่นดินรูปช้างไอยราพตสามเศียรทรงเครื่องยืนแทน หันหน้าเข้าข้างเสา มีบุษบกทรงอุณาโลมอยู่ภายใน ตั้งอยู่บนหลังมีเครื่องสูง ๗ ชั้นอยู่หน้าหลัง ข้างละ ๒ องค์ ดังกล่าวมาแล้วในหมวดธงสำหรับแผ่นดิน เป็นธงประจำกองแทนธงสำหรับพระองค์



รูปที่ ๓๔ ธงประจำกองทหารบก พ.ศ. ๒๔๓๕


ถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดให้เปลี่ยนธงสำหรับพระองค์ใหม่ ใช้ธงพื้นนอกสีแดงพื้นในสีขาบ กลางเป็นรูปโล่ตราแผ่นดิน มีจักรและตรีไขว้กันอยู่บนโล่ มหาพิชัยมงกุฎอยู่บนจักรี มีเครื่องสูง ๗ ชั้น ๒ ข้าง ดังกล่าวมาแล้วในหมวดธงประจำพระองค์แทน ส่วนธงประจำแผ่นดินคงใช้ไอยราพตอย่างรัชกาลที่ ๔ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๒ โปรดให้เปลี่ยนตราธงประจำกองทหารบกต่างๆ ที่ใช้อยู่ในเวลานั้นเป็นธงตราแผ่นดินบนพื้นผ้าแดง ได้พระราชทานแก่กองทหารเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ คือกองทหารม้าใน (ม้าหลวง) กองทหารปืนใหญ่นอก (ปืนใหญ่หลวง) กองทหารราบในมหาดเล็ก กองทหารราบนอกรักษาพระองค์ หองทหารราบนอกล้อมวัง กองทหารราบนอกฝีพาย รวม ๖ กอง (รูปที่ ๓๔)



รูปที่ ๓๕ ธงประจำกองทหารบก พ.ศ. ๒๔๕๑


พ.ศ. ๒๔๕๑ เมื่อทำการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก โปรดให้เปลี่ยนธงประจำกองทหารบกใหม่ ใช้ธงรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นแดง ที่มุมธงข้างหน้าช้างมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จ. สีเหลืองแก่ ป. สีน้ำเงิน ร. สีแดง และมีรัศมีจุลมงกุฎสีเหลืองอยู่เบื้องบน เป็นธงประจำกองทหารบก กรมต่างๆ รวม ๑๒ กรม (รูปที่ ๓๕)



รูปที่ ๓๖ ธงประจำกองทหารบก พ.ศ. ๒๔๕๔


ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้เปลี่ยนธงประจำกองทหารบกใหม่ ใช้ธงรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นแดง ที่มุมธงข้างหน้าช้างมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ วปร. สีน้ำเงินมีรัศมีและมหาพิไชยมงกุฎเบื้องบนสีเหลืองได้พระราชทานแก่ทหารบกกองต่างๆ เมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (รูปที่ ๓๖) เข้าใจว่าธงนี้ใช้ต่อมาจนสิ้นรัชกาล ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คงจะเปลี่ยนอักษรพระปรมาภิไธยย่อที่มุมธงบนหน้าช้างตามรัชกาล

พ.ศ. ๒๔๗๙ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีการออกพระราชบัญญัติธงฉบับใหม่เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน เรียกว่า พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ กำหนดลักษณะธงประจำกองทหารบกว่า มีลักษณะและสัณฐานอย่างเดียวกับธงไตรรงค์ แต่ที่ศูนย์กลางธงเป็นรูปอุณาโลมทหารบก ธงนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ธงชัยเฉลิมพล” (รูปที่ ๓๗)



รูปที่ ๓๗ ธงประจำกองทหารบก พ.ศ. ๒๔๗๙


พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้มีกฎกระทรวงกลาโหมออกตามความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ กำหนดลวดลายลักษณะส่วนประกอบธงประจำกองทหารบก ดังนี้





รูปที่ ๓๘ ธงประจำกองทหารบก พ.ศ. ๒๔๘๒


ยอดคันธง เป็นซุ้มเรือนแก้ว ประดิษฐานพระพุทธรูปภายใน ทำด้วยโลหะสีเหลือง

ใต้ฐานซุ้มชิดกับมุมบนของธงด้านเสา มีแถบธงชาติเป็นโบหูกระต่ายห้อยชายทั้งสองข้าง มีส่วนยาวเลยมุมธงด้านล่าง ชายแถบทั้งสองเป็นครุย

พื้นธงมุมบนด้านคันธง มีพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลสีเหลือง ภายใต้มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อสีแดง ขลิบริบสีเหลือง รัศมีสีฟ้า

กึ่งกลางธงมีรูปเหมือนตราหน้าหมวกทหารบกสีเหลือง แต่ส่วนที่เป็นรูปจักรสีขาว ลายจักรสีเหลือง ช่องระหว่างซี่จักร อักษร ตลอดจนเครื่องหมายขึ้นระหว่าง “สละชีพ” กับ “เพื่อชาติ” และพื้นอุณาโลมสีแดง กับแจ้งนามกองทหารด้วยอักษรสีแดง ขลิบริมสีเหลือง เป็นแถวโค้งโอบใต้รูปดังกล่าว

รอบคันธง ตอนที่ตรงกับแถบธง เป็นสีแดงรอบคันธง ริมชายธงด้านชิดเสาเป็นเกลียวเชือกแดงสลับดำ ส่วนริมชายธงด้านอื่น ๆ เป็นแถบสีเหลืองแกมเขียว กว้าง ๒ เซนติเมตร
(รูปที่ ๓๘)

ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้มีประกาศกระทรวงกลาโหม ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ออกตามความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ว่าด้วยวัตถุที่ทำเป็นลวดลายในพื้นธง และส่วนประกอบธงเป็นประจำกองทหาร โดยให้ยกเลิกกฎกระทรวงกลาโหม ซึ่งออกตามความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ แล้วใช้ข้อความตามประกาศใหม่นี่แทน คือ


รูปที่ ๓๙ ธงประจำกองทหารบก พ.ศ. ๒๕๐๕



ยอดคันธง เป็นซุ้มเรือนแก้ว ประดิษฐานพระพุทธรูปภายใน ทำด้วยโลหะสีทอง

คันธง ระหว่างซุ้มเรือนแก้วกับมุมบนของธง มีแถบธงชาติผูกเป็นโบหูกระต่ายห้อยชายทั้งสองยาวเลยมุมธงด้านล่าง ปลายชายแถบทั้งสองเป็นครุย

พื้นธงมุมบนด้านคันธง มีพระมหามงกุฎและเลขหมายรัชกาลสีเหลือง ภายใต้มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อสีแดง ขลิบริบสีเหลือง รัศมีสีฟ้า

พื้นธงมีนามกองทหาร อักษรย่อสีแดง ขลิบริมสีเหลือง เป็นแถวโค้ง โอบใต้รูปอุณาโลมทหารบก

คันธงตอนที่ตรงกับธง มีสักหลาดสีแดงต่อกับริมธงหุ้มรอบคันธง มีหมุดทำด้วยโลหะสีทอง ๕ หมุด หมุดที่ ๑ เป็นรูปประเทศไทย หมุดที่สองเป็นรูปเสมาธรรมจักร หมุดที่สามเป็นรูปพระปรมาภิไธยย่อ หมุดที่สี่เป็นรูปรัฐธรรมนูญ หมุดต่อไปเป็นรูปเครื่องหมายกองทัพบก หมุดที่ ๑ อยู่บนสุด หมุดต่อไปเรียงลงมาตามลำดับ

ริมธงด้านชิดคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแบสีเหลือง กว้าง ๒ เซนติเมตร

ทั้งนี้ให้มีส่วนและขนาดพองาม
ธงนี้ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน(รูปที่ ๓๙)





 

Create Date : 18 สิงหาคม 2550    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2551 14:29:02 น.
Counter : 3922 Pageviews.  

หมวดธงประจำพระองค์ (ต่อ)

(คัดลอกจาก ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.)


ธงเยาวราชธวัช


รูปที่ ๑๖ ธงเยาวราชธวัช


เป็นธงสำหรับราชตระกูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๔๐ โดยตราพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยามขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ มีลักษณะคล้ายธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ คือ พื้นธงสีแดง กลางธงมีรูปโล่ตราแผ่นดินและจักรี ยกเว้นมหาพิไชยมงกุฎ เครื่องสูง แท่น และพื้นสีน้ำเงินเท่านั้น ใช้สำหรับชักขึ้นที่เสาใหญ่ในเรือรบหรือเรือพระที่นั่ง ซึ่งราชตระกูลพระองค์นั้นเสด็จไปโดยพระราชอิสริยยศทางราชการ เป็นที่หมายว่าราชตระกูลอยู่บนเรือลำนั้น ธงเยาวราชธวัชนี้ใช้สำหรับพระบรมราชเทวี พระราชเทวี พระราชโอรส พระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดินพระบรมวงศ์ที่ทรงกรม (กรมสมเด็จ กรมพระยา กรมหลวง กรมขุน กรมหมื่น) และพระองค์เจ้าในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น ซึ่งมีราชอิสริยยศสมควรที่จะได้รับสลุตอย่างหลวง ในเรือรบทหารยืนเพลาและยิงสลุต ๒๑ นัด ทหารบกยืนแถวคลี่ธงจุฑาธิปไตย ธงชัยเฉลิมพล แตรเป่าเพลงสรรเสริญพระบารมีถวายคำนับเป็นเกียรติยศเท่านั้น ราชตระกูลนอกจากนี้ถ้ามีราชการไปที่ใดต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นการพิเศษเสียก่อนจึงจะใช้ธงเยาวราชธวัชได้ (รูปที่ ๑๖)

พ.ศ.๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ยกเลิกธงเยาวราชธวัช แล้งแบ่งธงประจำพระองค์ราชตระกูลตามลำดับชั้นพระอิสริยยศใหม่ สมเด็จพระราชินีนั้นมีธงราชินีดังกล่าวมาแล้ว และสถาปนาธงเยาวราชขึ้นเป็นธงประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามกุฎราชกุมาร ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖




ธงเยาวราช


รูปที่ ๑๗ ธงเยาวราช


พื้นสีขาบ ขนาดกว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน รูปเครื่องหมายกลางธงเป็นโล่ตราแผ่นดิน ๓ ช่อง ช่องบนเป็นรูปช้างไอยราพตสามเศียร หมายถึงภาคเหนือ กลาง และใต้ ช่องล่างข้างขวาเป็นรูปช้างเผือกบนพื้นชมพู หมายถึงแผ่นดินผ่ายลาว ช่องล่างข้างซ้ายเป็นรูปกริชคดและกริชตรงไขว้กันบนพื้นแดง หมายถึงดินแดนฝ่ายมลายู เบื้องบนโล่เป็นรูปจักรและตรีไขว้กันภายใต้พระมหาพิไชยมงกุฎ สองข้างโล่เป็นรูปเครื่องสูง ๕ ชั้น ธงนี้ใช้ชักบนเสาเรือพระที่นั่งหรือเรือรบที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จโดยพระราชอิสริยยศ เป็นเครื่องหมายว่าได้อยู่ในเรือลำนั้น ธงนี้แม้มีพระราชบัญญัติธงอีกฉบับออกประกาศใช้ ก็ยังคงมีลักษณะไม่เปลี่ยนแปลง และใช้ต่อมาจนสิ้นรัชกาล (รูปที่ ๑๗)

ปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธง ร.ศ. ๑๒๘ ขึ้นแทนพระราชบัญญัติเก่า ทรงแยกธงเยาวราชออกเป็น ๒ แบบ คือ ธงเยาวราชใหญ่ และธงเยาวราชน้อย

ธงเยาวราชใหญ่


รูปที่ ๑๘ ธงเยาวราชใหญ่


เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นนอกสีขาบ พื้นในสีเหลือง ส่วนกว้างเท่ากับครึ่งหนึ่งของพื้นนอก กลางธงเป็นรูปครุฑพ่าห์สีแดง ใช้สำหรับชักขึ้นบนเสาในเรือพระที่นั่งหรือเรือรบที่สมเด็จพระยุพราชเสด็จโดยพระราชอิสริยยศ เป็นเครื่องหมายว่าได้เสด็จโดยเรือลำนั้น (รูปที่ ๑๘)

ธงเยาวราชน้อย


รูปที่ ๑๙ ธงเยาวราชน้อย


แบ่งความยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะและสัณฐานเหมือนธงเยาวราชใหญ่ กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร ตอนปลายมีชายต่อสีขาว แปลงเป็นรูปธงยาวเรียว ปลายกว้างครึ่งหนึ่งของส่วนต้น ส่วนยาวโดยตลอดเป็น ๑๔ ส่วน ปลายธงตัดเป็นแฉกอย่างหางนกแซงแซว ลึก ๒ ส่วนของด้านยาว ใช้ชักแทนธงเยาวราชใหญ่ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ (รูปที่ ๑๙)

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๙ พระราชบัญญัติธงซึ่งตราออกใช้ในปีนี้ กำหนดลักษณะธงประจำพระองค์พระยุพราชเหมือนในพระราชบัญญัติเดิมทุกประการ และได้อธิบายขนาดธงเยาวราชน้อยไว้ชัดเจนเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น คือ ธงส่วนแรกกว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร ตอนปลายธงกว้างครึ่งหนึ่งของส่วนต้น ความยาวโดยตลอดเป็น ๘ เท่าของความกว้างตอนต้น ปลายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซวลึก ๓ ใน ๔ ของส่วนยาว ธงเยาวราชใหญ่และน้อยนี้ยังคงใช้ในปัจจุบัน




ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราช


รูปที่ ๒๐ ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราช


ธงสำหรับพระองค์พระวรชายาแห่งพระเยาวราชนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๔๒ ลักษณะเหมือนธงเยาราช แต่ตัดปลายเป็นแฉกอย่างหางนกแซงแซว (รูปที่ ๒๐)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๕๓ ตามข้อความในพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙ มาตรา ๔ ข้อ ๗ แบ่งเป็น ๒ แบบ คือใหญ่และน้อย

ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราชใหญ่

มีลักษณะเหมือนธงเยาวราชใหญ่ แต่ปลายเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ใช้ชักขึ้นเป็นเครื่องหมายแห่งพระวรชายาสมเด็จพระยุพราช

ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราชน้อย

มีลักษณะเหมือนธงเยาวราชน้อย ผิดกันแต่ชายเป็นสีแดง ใช้แทนธงใหญ่เมื่อไม่ต้องการให้มีการยิงสลุต

ธงทั้งสองนี้ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ แต่ลักษณะคงเดิม ตามความในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ มาตรา ๖ ข้อ ๗ และ ๘ คือ

ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน


รูปที่ ๒๑ ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน


รูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน ลักษณะ ๒ ใน ๓ ของส่วนยาวเหมือนธงเยาวราชใหญ่ ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปอย่างหางนกแซงแซว ลึก ๑ ใน ๓ ของส่วนยาว ใช้ประจำพระองค์พระวรชายาแห่งสมเด็จพระยุพราช

ธงเยาวราชน้อยฝ่ายใน


รูปที่ ๒๒ ธงเยาวราชน้อยฝ่ายใน


มีลักษณะและขนาดเช่นเดียวกับธงเยาวราชน้อย ผิดกันที่ชายธงเป็นสีแดง ใช้แทนธงใหญ่ในกรณีที่โปรดให้งดการยิงสลุต

ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายในและธงเยาวราชน้อยฝ่ายในยังใช้จนถึงปัจจุบัน (รูปที่ ๒๑,๒๒)




ธงราชวงศ์


รูปที่ ๒๓ ธงราชวงศ์


หมายถึงธงสำหรับพระราชวงศ์ สร้างขึ้นใช้เป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๐ ตามความในพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ มาตรา ๔ ข้อ ๕ เป็นธงรูปสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน พื้นสีขาบกลางธงเป็นรูปโล่ตราแผ่นดิน เบื้องบนโล่มีรูปจักรและตรีไขว้กันภายใต้พระมหามงกุฎ ใช้สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือรบ ซึ่งพระราชวงศ์องค์ใดองค์หนึ่งเสด็จโดยพระราชอิสริยยศทางราชการ เป็นที่หมายให้ทราบว่าพระราชวงศ์ได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น พระราชวงศ์องค์ใดจะใช้ธงนี้ได้ต้องเป็นพระราชวงศ์ใหญ่ ซึ่งมีอิสริยยศสมควรที่จะได้รับสลุตอย่างหลวง ๒๑ นัด ในเรือรบมีทหารยืนเพลาใบและทหารบกยืนแถวคลี่ธงชัย แตรบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีถวายความเคารพเป็นพระเกียรติยศเท่านั้น พระราชวงศ์ที่มีอิสริยยศต่ำกว่านั้นนับเป็นพระราชวงศ์ผู้น้อย ถ้ามีราชการไปต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษก่อน จึงจะใช้ธงนี้ได้ (รูปที่ ๒๓)

พ.ศ. ๒๔๔๒ โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ คือ พระราชบัญญัติธง ร.ศ. ๑๑๘ ตามความในมาตรา ๔ ข้อ ๖ ของพระราชบัญญัติธงฉบับนี้ ได้แบ่งธงราชวงศ์ออกเป็นฝ่ายหน้า (ชาย) ฝ่ายใน (หญิง) ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้ามีลักษณะเหมือนเดิม และคงใช้ชื่อเรียกว่าธงราชวงศ์เช่นเดิม

พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติธงฉบับเดิม แล้วตราพระราชบัญญัติธง ร.ศ. ๑๒๙ ขึ้นเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงแบ่งธงราชวงศ์ออกเป็น ๒ แบบ คือ ธงราชวงศ์ใหญ่ และธงราชวงศ์น้อย

ธงราชวงศ์ใหญ่


รูปที่ ๒๔ ธงราชวงศ์ใหญ่


พื้นสีขาบ ขนาดกว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ สวน (รูปสีเหลี่ยมจัตุรัส) ที่กลางธงมีวงกลมสีเหลืองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับ ๑/๒ ของส่วนกว้างของธง ภายในวงกลมมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง ใช้สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือลำใดลำหนึ่งเป็นเครื่องหมายว่า พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลใดๆ ก็ตาม เสด็จในเรือลำนั้นโดยพระอิสริยยศ (รูปที่ ๒๔)

ธงราชวงศ์น้อย


รูปที่ ๒๕ ธงราชวงศ์น้อย


แบ่งเป็น ๒ ตอน ตอนต้นมีลักษณะเหมือนธงราชวงศ์ใหญ่ กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร มีชายต่อสีขาวแปลงเป็นธงยาวเรียว ปลายธงกว้างเท่ากับ ๑/๒ ของความกว้างตอนต้น รวมความยาวทั้งหมดเป็น ๑๔ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่สองแห่งด้านยาว ใช้ชักแทนธงราชวงศ์ใหญ่ เมื่อไม่ต้องการให้ยิงสลุตถวายคำนับ (รูปที่ ๒๕)

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้มีข้อบังคับกระทรวงทหารเรือ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ออกประกาศเกี่ยวกับการใช้ธงราชวงศ์ทั้งสองแบบนี้เพื่อให้การใช้มีระเบียบยิ่งขึ้น ดังนี้

๑. เมื่อพระบรมราชวงศ์ชั้นที่ดำรงในพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมเหสี หรือสมเด็จพระเจ้าฟ้าเสด็จในเรือหลวงให้ใช้ธงราชวงศ์ใหญ่ เว้นไว้แต่มีพระประสงค์ให้ใช้ธงราชวงศ์น้อยเวลาใด จึงใช้ธงราชวงศ์น้อย
๒. พระบรมราชวงศ์ชั้นอื่น นอกจากที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๑ ถ้าเสด็จในเรือหลวงให้ใช้ธงราชวงศ์น้อย เว้นแต่ในขณะที่เสด็จเป็นพระอิสริยยศพิเศษ และมีคำสั่งกระทรวงทหารเรือเฉพาะคราวให้ใช้ธงราชวงศ์ใหญ่จึงจะใช้ได้

พ.ศ. ๒๔๗๙ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีการพระราชบัญญัติเรียกว่า “พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙” เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ขึ้นใช้แทนพระราชบัญญัติธงฉบับเก่าที่ยกเลิกไป ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้าในพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังแบ่งเป็น ๒ แบบ และมีลักษณะเหมือนเดิม ได้แก่ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า และธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้านั้นได้อธิบายขนาดไว้ชัดเจนเข้าใจง่ายขึ้น คือ ตอนต้นกว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร ปลายธงสุดกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ความยาวโดยตลอดเท่ากับ ๘ เท่าของความกว้างตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๓ ใน ๘ ของความยาว

พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้มีการตราพระราชบัญญัติธงขึ้นอีกเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน เรียกว่า พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๑ เพื่อยกเลิกความในมาตรา ๖ อนุมาตรา ๙ และ ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ซึ่งว่าด้วยลักษณะและการใช้ธงราชวงศ์ใหญ่ ลักษณะธงที่ปรากฏในพระราชบัญญัตินี้ยังคงเดิม แต่ผิดกันที่ระบุว่า ให้ใช้ธงราชวงศ์ใหญ่เป็นธงสำหรับองค์พระราชโอรสในพระมหากษัตริย์หรือองค์สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ หรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ซึ่งร่วมสมเด็จพระราชบิดาและสมเด็จพระชนนีกับพระมหากษัตริย์ไม่ว่ารัชกาลใดๆ

ธงราชวงศ์ใหญ่และธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้านี้ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน




ธงราชวงศ์ฝ่ายใน


รูปที่ ๒๖ ธงราชวงศ์ฝ่ายใน


หมายถึงธงประจำพระองค์พระราชวงศ์ที่เป็นหญิง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๔๒ ตามความในพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๘ มาตรา ๔ ข้อ ๗ ขณะนั้นยังเรียกว่า “ธงราชวงศ์”

ลักษณะเป็นธงพื้นสีขาบ กลางธงเป็นรูปโล่ตราแผ่นดิน เบื้องบนโล่มีรูปจักรและตรีไขว้กัน ภายใต้พระมหามงกุฎ ชายตัดเป็นรูปหางนกแซงแซว ได้ใช้ตลอดรัชกาล (รูปที่ ๒๖)

ต่อมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ โปรดให้แบ่งธงราชวงศ์ฝ่ายในออกเป็น ๒ แบบ ตามความในพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙ ซึ่งตราขึ้นเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ มาตรา ๑๐ ข้อ ๔ คือ

ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน


รูปที่ ๒๗ ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน


เป็นธงพื้นสีขาบ ภายในวงกลมสีเหลือง กลางวงศ์เป็นรูปครุฑพ่าห์สีแดง เหมือนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า แต่ชายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับพระธิดา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่ารัชกาลใดๆ ถ้าเสด็จในเรือลำนั้นโดยพระอิสริยยศ (รูปที่ ๒๗)

ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน


รูปที่ ๒๘ ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน


ลักษณะเหมือนธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า คือ แบ่งออกเป็น ๒ ตอน ตอนต้นพื้นสีขาบกว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร มีรูปวงกลมสีเหลืองภายในมีรูปครุฑพ่าห์สีแดงอยู่ตรงกลาง ตอนปลายธงมีชายต่อเป็นธงยาวเรียวปลายสีแดง ใช้แทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายในเมื่อไม่ต้องการให้ยิงสลุตถวายคำนับ (รูปที่ ๒๘)

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ธงราชวงศ์ใหญ่และธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน ยังคงมีลักษณะเหมือนเดิม ดังปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ มาตรา ๖ ข้อ ๑๑ และ ๑๒ แต่ได้อธิบายขนาดธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายในไว้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือ มีขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน ลักษณะและสัณฐานตอนต้น ๒ ใน ๓ ของส่วนยาวนั้นอย่างเดียวกับธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๑ ใน ๓ ของส่วนยาว

พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้มีการตราพระราชบัญญัติธงขึ้นเป็นฉบับที่ ๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เรียกว่า พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๑ เพื่อยกเลิกความในมาตรา ๖ อนุมาตรา ๙ และ ๑๑ อันว่าด้วยลักษณะและการใช้ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ้ายหน้าและฝ่ายใน ข้อความที่บัญญัติขึ้นใหม่นั้น ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายในคงมีขนาดและลักษณะเหมือนเดิม แต่กำหนดให้ใช้ เป็นธงสำหรับสมเด็จพระราชชนนี หรือองค์พระราชธิดาในพระมหากษัตริย์ หรือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ หรือสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ ซึ่งร่วมเสด็จพระราชบิดาและสมเด็จพระราชชนนีกับพระมหากษัตริย์ไม่ว่ารัชกาลใดๆ

ธงราชวงศ์ใหญ่และธงราชวงศ์น้อยฝ่ายในนี้ยังคงใช้สืบมาจนปัจจุบัน





 

Create Date : 06 สิงหาคม 2550    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2551 14:28:53 น.
Counter : 3661 Pageviews.  

หมวดธงแผ่นดิน

(คัดลอกจาก ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.)


ธงไอยราพต


รูปที่ ๒๙ ธงไอยราพต


ธงประจำแผ่นดินหมายถึงธงประจำแผ่นดินพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างธงรูปพระมหามงกุฎขึ้นเป็นธงประจำพระองค์ และชักขึ้นที่เสาในบรมมหาราชวังเวลาเสด็จประทับอยู่ในพระนคร ภายหลังเมื่อไม่ได้เสด็จประทับอยู่ในพระนครต้องลดธงประจำพระองค์ลง เสาธงว่างอยู่เป็นการไม่สมควร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำธงไอยราพตอย่างพระราชลัญจกรไอยราพตประจำแผ่นดินขึ้น สำหรับชักขึ้นบนเสาในพระบรมมหาราชวังในเวลาที่ไม่ได้เสด็จประทับอยู่ในพระนคร

ลักษณะธงเป็นธงพื้นแดง มีรูปช้างไอยราพตสามเศียรทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าข้างเสา มีบุษบกประดิษฐานอุณาโลมตั้งอยู่บนหลัง และมีเครื่องสูง ๗ ชั้น อยู่ทางหน้าและหลัง ข้างละ ๒ องค์ ธงไอยราพตนี้ได้ใช้ต่อมาจนถึงต้นรัชกาลที่ ๕ (รูปที่ ๒๙)



พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงลักษณะธงไอยราพตเล็กน้อย พระราชทานนามใหม่ว่า “ธงจุฑาธิปไตย” ใช้เป็นธงประจำแผ่นดิน ดังปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ข้อ ๒ ดังนี้




ธงจุฑาธิปไตย


รูปที่ ๓๐ ธงจุฑาธิปไตย


พื้นสีแดง มีรูปช้างไอยราพตสามเศียรทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าข้างเสา มีบุษบกอยู่บนหลัง ภายในบุษบกมีอักษร จปร. หมายถึงจุฬาลงกรณบรมราชาธิราชไขว้กัน และมีรูปจุลมงกุฎหรือพระเกี้ยวยอดอยู่เหนืออักษรพระนาม ด้านหน้าและด้านหลังข้างมีเครื่องสูงข้างละ ๒ องค์ ธงจุฑาธิปไตยนี้ใช้สำหรับชักขึ้นในพระนครเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และใช้เป็นราชธวัชสำหรับพลหลวงที่เรียกว่าทหารกรมต่างๆ ถ้าทหารกรมหนึ่งกรมใดจะไปราชการสงคราม แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จพระราชดำเนินในกองทัพนั้น ต้องใช้ธงนี้เป็นที่หมายสำคัญแทนพระองค์ หรือเวลาที่ออกยืนแถวรับเสด็จหรือเวลาเจ้านายต่างประเทศเสด็จ ให้เป็นเกียรติยศ (รูปที่ ๓๐)

ธงจุฑาธิปไตยนี้ใช้ต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงเปลี่ยนไปใช้ธงไอยราพตเป็นธงแผ่นดินตามแบบรัชกาลที่ ๔ ความใน พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ มาตรา ๔ ข้อ ๒ ใช้สำหรับชักขึ้นในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จประทับอยู่ในพระนคร พระราชบัญญัติธง ซึ่งตราขึ้นหลังจากนี้ ๒ ปีก็ยังคงใช้ธงไอยราพตเป็นธงแผ่นดินเช่นกัน จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาธงแผ่นดินขึ้นใหม่อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า “ธงมหาไพชยนต์ธวัช”




ธงมหาไพชยนต์ธวัช


รูปที่ ๓๑ ธงมหาไพชยนต์ธวัช


มีลักษณะพื้นนอกสีแดง พื้นในสีดำ กลางธงมีรูปพานแว่นฟ้าสองชั้นรองรับวชิราวุธ มีฉัตร ๕ ชั้นสองข้าง เหตุที่สร้างธงนี้ด้วยทรงพระราชปรารภว่า รูปครุฑสัมฤทธิ์หุ้มทองของโบราณที่ขุดได้ ณ ตำบลโคกพระ ในดงศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนยุรี ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลปราจีน นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงเมืองปราจีน ในวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้น เป็นโบราณวัตถุที่สันนิษฐานว่าจะเป็นยอดธงสำหรับนำทัพของพระราชาธิบดีในสมัยโบราณ การที่มีผู้นำมาทูลเกล้าฯ ถวายก็นับว่าเป็นวิ่งประกอบสวัสดิด้วยมงคล และธงจุฑาธุชธิปไตยอันเป็นธงสำคัญสำหรับประจำกองทัพบกนั้น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้สร้างขึ้นบรรจุเส้นพระเจ้า (ผม) แล้วพระราชทานไว้เพื่อประจำกองทัพบกสืบมา เป็นประเพณีอันดีงามควรที่จะปฏิบัติตามพระบรมชนกนาถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมรูปครุฑโบราณนั้นให้งดงามเพื่อติดบนยอดคันธง และโปรดให้ปักธงเป็นธงลายเหมือนพระราชลัญจกรประจำพระองค์ บนพื้นดำทับบนพื้นแดงอีกทีหนึ่ง พระราชทานนามว่า “ธงมหาไพชยนต์ธวัช” ตามนามแห่งธงท้าวอมรินทราธิราช ซึ่งได้ใช้นามเทพเสนาไปปราบอสูรเหล่าร้ายพ่ายแพ้แก่พระบารมี ใช้เป็นธงประจำกองทัพบกเพิ่มขึ้นอีกธงหนึ่ง อย่างธงจุฑาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รูปที่ ๓๑)



ธงประจำแผ่นดินของไทยมีเพียง ๓ รัชกาลดังกล่าวมาแล้ว หลังจากรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังไม่ปรากฏว่ามีธงประจำแผ่นดินอีก





 

Create Date : 06 สิงหาคม 2550    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2551 14:30:28 น.
Counter : 2935 Pageviews.  

1  2  3  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.