Adam Mindhouse
Group Blog
 
All Blogs
 

Biomechanics Yoga EP.6 โดยครูโยคะมีเครา

Biomechanics Yoga EP.6 โดยครูโยคะมีเครา
Hypermobility คืออะไร

จากโพสก่อนทุกคนจะรู้จักคำว่า “ความสามารถในการเคลื่อนที่เคลื่อนไหว” หรือ ”Mobility” กันไปแล้วนะครับ
โพสนี้ผมจะมาเสนอคำว่า Hypermobility กันครับ

Hypermobility คือ การที่ข้อต่อมีความอ่อนตัวเกินกว่าปกติ ทำให้สามารถที่จะเคลื่อนไหวได้มากกว่าปกตินั้นเอง เรามักจะสังเกตได้จากข้อเข่าหรือข้อศอกครับ หลายๆ คนข้อต่อทั้งสองจะเหยียดได้เกิน 180 องศา (hyperextension) ทั้งนี้ทั้งนั้น Hypermobility สามารถที่จะเป็นมาตั้งแต่เกิดตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการฝึก เช่น โยคะ หรือยิมนาสติก เป็นต้น

ในการฝึกโยคะส่วนใหญ่แล้วหลายคนจะคิดว่าถ้าเรายิ่งตัวอ่อนยิ่งดี เราจะฝึกโยคะได้เก่ง บางครั้งนักเรียนโยคะหลังอ่อนอยู่แล้ว แต่กลับไปเน้นการฝึกอาสนะทำให้หลังอ่อนเข้าไปอีก มิหน่ำซ้ำคนที่ Hypermobility มีแนวโน้มว่าเวลาเข้าอาสนะต่างๆ แล้ว แทบจะไม่รู้สึกอะไรเลยครับ บ่อยครั้งพวกเขาจะเหยียดข้อต่อแบบเต็มมุมการเคลื่อนไหว ซึ่งมันไม่เป็นผลดีครับ

ยกตัวอย่างเช่น การเหยียดเข่าจนสุดในท่าสามเหลี่ยม หรือเหยียดศอกตึงสุดในท่า Plank (ดังรูป) แทนที่จะเป็นการเกร็งกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อต่อเพื่อให้กล้ามเนื้อพยุงข้อต่อเอาไว้ กลับกันพวกเขาเหล่านั้นมักจะใช้การเหยียดข้อต่อจนสุดเพราะมันใช้แรงน้อยกว่าเหนื่อยน้อยกว่า แต่ผลที่ตามมาหากฝึกแบบนั้นนานวันเข้าจะทำให้ข้อต่อรับน้ำหนักมาก และมีโอกาสทำให้ปวดข้อมากขึ้นด้วยครับ

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากคือ ข้อสะโพกครับ การเปิดข้อต่อสะโพกเป็นอะไรที่พวกเราชาวโยคะชอบกันมาก เนื่องจากว่าการเปิดสะโพกถือเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าอาสนะต่างๆ จนบางครั้งเราเปิดจนสะโพก Hypermibility เช่นกัน ซึ่งสะโพกของเราเป็นฐานของกระดูกสันหลังครับ หากสะโพกของเราหย่อนตัวเกินไปมันจะส่งผลให้แนวกระดูกสันหลังอ่อนยวบ เวลาท่า Plank เราจะพบว่าหลังยวบๆ ครับ (หากไม่เกร็งกล้ามเนื้อให้ดี) (ดังรูป)

จำได้ไหมครับว่า Mobility ประกอบด้วย ความแข็งแรง ความอ่อนตัว และการควบคุม หากเราคิดเป็นคะแนน เราทำคะแนนความอ่อนตัวสูงปรี๊ด แต่คะแนนความแข็งแรงและการควบคุมเราต่ำเตี้ย ร่างกายก็ไม่สมดุล และแน่นอนความสามารถในการเคลื่อนไหวของเราก็ลดลงครับ

ไม่เชื่อลองทดสอบดูครับ
บางคนหลังอ่อน ทำ Headstand ไม่ได้ เพราะหลังยวบ
กลับกัน บางคน Headstand ได้ง่ายดาย แต่โค้งหลังไม่ได้ เพราะหลังแข็งเกิน

และเหมือนที่พูดบ่อยๆ ครับ โยคะ คือ ความสมดุล ผมมองว่าความสมดุลในที่นี้ควรที่จะสมดุลในทุกมิติ เพราะหากร่างกาย ไม่สมดุลเกิดการเจ็บป่วยเกิดความไม่สบายกาย เช่นนั้นแล้ว จิตของเราจะสงบได้เช่นไร ดังนั้นในแง่อาสนะแล้วเราก็ควรทำให้เกิดสมดุลด้วย จริงไหมครับ

ต่อไปนี้คือ 3 เทคนิคในการฝึกอาสนะ

1. อย่าเหยียดข้อต่อจนสุด
ดังเช่นที่ผมมักจะพูดในคลาสว่า “เหยียดเข่าตึงแค่ 98% แล้วเกร็งกล้ามเนื้อรอบเข่าพยุงไว้” มันไม่ได้ใช้ได้แค่ข้อเข่า แต่มันใช้ได้ในทุกข้อต่อครับ

2. ฝึกอาสนะให้สมดุล
หากฝึกอาสนะยืดเหยียดแล้ว อย่าลืมฝึกอาสนะแข็งแรง หากฝึกเข้าท่าแล้ว อย่าลืมฝึกคลายท่า !

3. ฝึกโฟกัสกล้ามเนื้อ
การจะปกป้องข้อต่อและเอ็นต่างๆ ไว้ได้ คือการใช้กล้ามเนื้อให้ถูกครับ นอกจากจะได้คะแนนความแข็งแรงเพิ่มขึ้นแล้ว สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มคะแนนการควบคุม(สติ) ของเราอีกด้วย

แล้วพบกันใหม่โพสหน้าครับ
ครูโยคะมีเครา

#ครูโยคะมีเครา #AdamYoga #adambeardyogi #yogabiomechanics #vinyasa #yogathailand #yogabangkok #yogabkk #yogamen #menyoga #flowyoga #flow




 

Create Date : 10 ตุลาคม 2562    
Last Update : 10 ตุลาคม 2562 10:41:45 น.
Counter : 727 Pageviews.  

Biomechanics Yoga EP.5 โดยครูโยคะมีเครา

Biomechanics Yoga EP.5 โดยครูโยคะมีเครา
Mobility คืออะไร

Mobility คือ ความสามารถในการเคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อครับ ซึ่งเกิดจากการทำงานของข้อต่อใดข้อต่อหนึ่งหรือหลายๆ ข้อต่อรวมกัน

จะทำยังไงให้มี mobility ดี....
ปัจจัยพื้นฐานของ mobility มีดังนี้ครับ

1. ความแข็งแรง ในที่นี้จะเน้นหนักไปที่ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อครับ เนื่องจากกล้ามเนื้อนั้นมีหน้าที่สำคัญ คือ ทำให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว และค้างท่าหรือทรงท่าทางต่างๆ ไว้โดยไม่ได้เคลื่อนไหว เช่น การยืน การนั่ง เป็นต้น หากกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือกล้ามเนื้อลีบ ความสามารถในการเคลื่อนไหวของเราย่อมลดลง

2. ความอ่อนตัว หากขาดความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆ สิ่งที่ตามมาคือ มุมในการเคลื่อนไหวของข้อต่อ หรือ range of motion (ROM) ลดลงครับ ยกตัวอย่าง คนที่ข้อไหล่ติด เวลาจะยกแขนขึ้นไปตากผ้า หรือโหนรถเมล์ก็ทำไม่ได้ใช่ไหมครับ นั่นแหละครับ ROM ลดลง ย่อมทำให้ mobility หรือความสามารถในการเคลื่อนไหวลดลง

3. การควบคุม มันคือความสามารถในการควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เคลื่อนไหวตามใจนึกครับ อันนี้จะเกี่ยวข้องกับระบบประสาทครับ ผมยกตัวอย่างเช่น บางคนมีความแข็งแรง และความอ่อนตัวพร้อม แต่มีการควบคุมที่ไม่ดี เวลาขึ้นท่า Headstand จะเห็นชัดเลยครับ เพราะท่านี้สายตาของเราจะกลับด้าน เราจะหลงทิศ เป็นท่าที่ท้าทายความสามารถในการควบคุมอย่างมากครับ กลับกันคนที่มีการควบคุมดี เวลาขึ้นไปจะเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง จัดระเบียบร่างกายได้ดี นั้นแหละครับคือการควบคุม

จากด้านบน หากขาดข้อใดข้อหนึ่งไป จะส่งผลให้ Mobility หรือความสามารถในการเคลื่อนไหว ลดลงครับ

แล้วจะทำยังไงให้มี Mobility ดี

ก็ต้องฝึกฝนหรือออกกำลังกายแบบครบองค์ประกอบด้านบนไงครับ มีรูปแบบการฝึก mobility training มากมาย แต่ในปัจจุบันแทบจะกลืนรวมเป็น Functional Training ที่เราเห็นบ่อยๆ ในยิมกันหมดแล้วครับ เพราะการฝึกแบบ Functional Training นั้น มุ่งเน้นให้ผู้ฝึกมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สมดุล มีความสามารถในการเคลื่อนไหวที่ดี พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันตามไลฟ์สไตล์ของตนเอง นั้นเองครับ

แล้วโยคะกับ mobility เกี่ยวข้องกันยังไง

Functional Training นั้นเป็นการออกกำลังกายที่ดีครับ แต่เพื่อนๆ ชาวโยคะอย่าเพิ่งรีบหนีไปยิมกันหมด เพราะจริงๆ แล้ว โยคะนั้นล้ำหน้ามาแล้วเป็นพันปีครับ
โยคะคือความสมดุล ถ้าพิจารณาเฉพาะอาสนะหรือท่าโยคะในแง่ของสรีรวิทยาการออกกำลังกายแล้ว ท่าโยคะต่างๆ สามารถใช้เป็น Mobility Training ได้เลยครับ ยกตัวอย่างเช่น

ความแข็งแรง = ท่าโยคะหลายๆ ท่าช่วยเพิ่มความแข็งแรง เช่น Virabhadrasana, Navasana, Bakasana, Sirsasana เป็นต้น

ความอ่อนตัว = ท่าโยคะมากมาย เช่น Pacchimottanasana, Ardha Matsyendrasana, Janu Sirsasana เป็นต้น

การควบคุม = อาสนะต่างๆ เน้นการเคลื่อนไหวอย่างมีสติ ซึ่งเป็นกุศโลบายในการฝึกระบบประสาทและเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมของร่างกาย

ดังนั้น ผู้ฝึกอาสนะเป็นประจำจึงพบว่ามีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงขึ้น สมดุลขึ้น และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุขมากขึ้นกว่าเดิม เป็นเพราะว่าอาสนะโยคะนั้น หากกล่าวในแง่ของกายภาพหรือสรีรวิทยาการออกกำลังกายแล้วนั้น มันเป็น mobility training ในตัวของมันเอง

แต่แน่นอนครับ อาสนะเป็นเพียงหนึ่งในองค์ประกอบของโยคะเท่านั้น และทุกๆ องค์ประกอบก็ล้วนแล้วแต่เป็นสะพานในการฝึกจิตทั้งสิ้น แต่อย่างน้อยโพสนี้ผมก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่ฝึกโยคะเพื่อดูแลสุขภาพนะครับ

พบกันใหม่โพสหน้าครับ
ครูโยคะมีเครา

#ครูโยคะมีเครา #AdamYoga #adambeardyogi #yogabiomechanics #vinyasa #yogathailand #yogabangkok #yogabkk #yogamen #menyoga #flowyoga #flow




 

Create Date : 10 ตุลาคม 2562    
Last Update : 10 ตุลาคม 2562 10:40:10 น.
Counter : 357 Pageviews.  

Biomechanics Yoga EP.4 โดยครูโยคะมีเครา

Biomechanics Yoga EP.4 โดยครูโยคะมีเครา
Range of motion คืออะไร

Range of motion หรือ R.O.M. คือ พิสัยการเคลื่อนไหวหรือมุมของการเคลื่อนไหวครับ ผมจะพูดถึงบ่อยๆ ในคลาสเนื่องจากสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการออกกำลังกาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำท่าโยคะต่างๆ ครับ อาจพูดได้ว่ามันเป็นหัวใจหลักในการเข้าใจกลไกของท่าโยคะเลยก็ว่าได้ มันหมายถึง ความสามารถในการเคลื่อนไหวของข้อต่อต่างๆ ครับ ยกตัวอย่างเช่น บางคนเหยียดแขนได้ไม่สุด ก็เรียกว่า ศอกเคลื่อนไหวได้ไม่เต็มมุมการเคลื่อนไหว หรือบางคนเหยียดแขนได้จนแอ่น ก็จะเรียกว่า ศอกเหยียดได้เกินมุมการเคลื่อนไหว เป็นต้น

ซึ่งเจ้ามุมการเคลื่อนไหวหรือพิสัยการเคลื่อนไหวที่ว่านี้มันไม่เท่ากันในแต่ละคนอยู่แล้วครับ อ้าว ถ้าอย่างนั้นแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่าเราผิดปกติหรือเพื่อนเราผิดปกติ ฮ่าฮ่าฮ่า

ไม่ต้องห่วงครับ พิสัยการเคลื่อนไหวที่ว่านี้มีเกณฑ์มาตรฐานของเขาอยู่แล้ว และก็มีกำหนดอยู่ในทุกข้อต่อเลยด้วยครับ เพื่อเป็นเกณฑ์ให้แพทย์และผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ทั้งหลายใช้เป็นเกณฑ์ในการรักษาหรือบำบัดนั้นเอง

แล้ว Range of motion นั้น สำคัญยังไงกับโยคะ
ผมขอยกตัวอย่างง่าย ดังนี้ครับ

จากรุปคือท่า Bakasana ใช่ไหมครับ หลายๆ คนจะให้ความสำคัญกับอะไรครับ? ความแข็งแรงของหน้าท้อง? หัวไหล่? แขน? (อย่าเพิ่งบอกว่าลมหายใจนะครับ ผมยังไม่นับรวมไปถึงลมหายใจ เอาแค่กลไกภายนอกก่อน)

สิ่งที่หลายๆ คนลืมไปก็คือ มุมของการเคลื่อนไหวของข้อมือ ครับ

ดังภาพ จะเห็นได้ว่าการเข้า Bakasana แบบเหยียดแขนตึงนั้น จำเป็นต้องอาศัยมุมการเคลื่อนไหวของข้อมือในลักษณะของการเหยียดข้อมือ (Wrist extension) ที่มากกว่าปกติครับ เพราะเกณฑ์มาตรฐานของ Wrist extension นั้นอยู่ที่ 60-75 องศา (Norkin, C., White, D. (2009). Measurement of Joint Motion. A Guide to Goniometry.  ) ครับ หากไม่เชื่อ ลองนั่งเหยียดแขนตึงแล้วเหยียดข้อมือดูก็ได้ครับ โดยปกติเราจะได้แค่นี้แหละ แต่จากรูปในวงกลม จะสังเกตได้ว่ามุมการเหยียดข้อมือนั้น เผลอๆ เกิน 90 องศาอีกครับ แล้วข้อมือเราเหยียดได้แค่ 75 องศา มันก็ตอบคำถามชัดเจนอยู่แล้วครับว่ายังทำ Bakasana แบบแขนตึงไม่ได้แน่นอน เป็นต้นครับ

มุมการเคลื่อนไหวของข้อมือที่เหยียดได้ขนาดนั้นเกิดจากการฝึกฝนครับ แน่นอนว่านี่เป็นเพียงตัวอย่างง่ายๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ R.O.M
การที่เรามีความเข้าใจเรื่องของ R.O.M. มากขึ้นจะทำให้เราเข้าใจท่ามากขึ้น และเมื่อเราเข้าใจท่ามากขึ้น มันจะนำไปสู่การฝึกฝนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นเองครับ
และสำหรับคนเป็นครูมันก็จะทำให้เราสามารถวางแผนการสอนการฝึกของนักเรียนได้อย่างต่อเนื่องตามไปด้วยนั้นเองครับ

ขอบคุณนางแบบ : ครู Sherry

เรียน 30Hrs. Biomechanics of Arm balance & Handstand และ R.O.M. Yoga ได้ที่ > เพจ ครูโยคะมีเครา
#ครูโยคะมีเครา #AdamYoga #adambeardyogi #yogabiomechanics #vinyasa #yogathailand #yogabangkok #yogabkk #yogamen #menyoga #flowyoga #flow




 

Create Date : 10 ตุลาคม 2562    
Last Update : 10 ตุลาคม 2562 10:33:57 น.
Counter : 257 Pageviews.  

Biomechanics Yoga EP.3 โดยครูโยคะมีเครา

Biomechanics Yoga EP.3 โดยครูโยคะมีเครา

มาต่อกันที่ EP.3 นะครับ หลังจากที่ได้โพส EP.2 ไปแล้วนั้น ก็มีนักเรียนถามคำถามที่น่าสนใจมากเข้ามาเกี่ยวกับ Headstand เนี้ยแหละครับ (อาจจะช้าหน่อยเพราะจะสอบ proposal แล้ว ขออภัยด้วยครับ)

คำถามคือ : ทำไมการขึ้น Headstand แบบยกสองขาตึงพร้อมกัน(ตามรูป) ถึงรู้สึกว่ายากกว่าการขึ้นแบบทีละขา ซึ่งผมได้ตอบพี่เขาไปแล้ว แต่อาจจะไม่เห็นภาพเลยขอยกมาตอบเพิ่มในโพสนี้นะครับ

ท่า Headstand นั้นเป็นท่าที่ต้องใช้การทรงตัวสูงมากครับ การเข้าท่าคือเราต้องการให้ตัวของเราตั้งตรงตามแนวเส้นสีเหลืองใช่ไหมครับ

แต่วิธีการเข้าท่าหรือการยกขาขึ้นไปที่แตกต่างกันเนี้ย ความยากง่ายของการเข้าท่าก็แตกต่างกันไปด้วยครับ

เรามาวิเคราะห์กันครับ...


ทำไมขึ้นทีละขาง่ายกว่า ?
การขึ้นท่า Headstand ทีละขานั้น เราไม่ต้องโน้มสะโพกล้ำศีรษะมากเท่ากับการขึ้นสองขาพร้อมกันครับ (รูปที่ 4) แปลว่าเราจึงสามารถจัดร่างกายของเราให้อยู่ในแนวเส้นสีเหลืองได้ตั้งแต่ขายังไม่ลอยจากพื้นเลย และอาศัยการยกขาอีกข้างตามขึ้นไปโดยอาศัยกล้ามเนื้อที่แข็งแรงเท่านั้นเองครับ

ส่วนเวอร์ชั่นขึ้นสองขาตึงพร้อมกัน
จังหวะที่เราต้องยกขาขึ้นลอยจากพื้นนั้น เราต้องโน้มสะโพกให้ล้ำศีรษะไปเล็กน้อยเพื่อชดเชยแรง ดังที่ได้กล่าวไว้ใน EP.2 ใช่ไหมครับ (ดูรูปที่ 1) ดังนั้น ตำแหน่งของร่างกายเราจึงออกห่างจากเส้นสีเหลืองที่เราต้องการไปค่อนข้างมาก

เมื่อขาลอยขึ้นมาได้แล้ว เราก็จะยกขาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ตัวเรามาอยู่ในตำแหน่งเส้นสีเหลืองและขาเราตั้งฉากกับพื้นเป็น Headstand ที่สมบูรณ์ใช่ไหมครับ แต่อุปสรรคของคนที่ยกขาขึ้นมาได้ แต่ทำท่าเต็มไม่ได้ อยู่ตรงนี้ครับ!!!

เพราะจังหวะนี้ เราต้องดันสะโพกกลับเข้ามา พร้อมกับดันขาขึ้นสูงกลับเข้าไปอยู่ในแนวเส้นสีเหลืองพร้อมๆกัน ในทิศทางตรงกันข้ามนั้นเองครับ(ดูรูปที่ 2) 

พูดง่ายแต่ทำจริงยากครับเพราะจุดนี้ถือเป็นจุดที่ยากอีกจุดหนึ่งและเป็นจุดติดของคนหลายๆ คนครับ นั้นคือการดึงร่างกายกลับเข้าสู่แนวที่ถูกต้อง ยิ่งออกจากแนวมากเท่าไร ก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้นครับ การจะทำเช่นนี้ได้นั้นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่างรวมเข้าด้วยกันครับ


หวังว่าพอจะเห็นภาพในเรื่องของ Yoga Biomechanics กันนะครับ อันนี้จะเป็นพื้นฐานในแง่ของการวิเคราะห์ท่าฝึกเท่านั้น เห็นไหมครับว่าถ้าเราเข้าใจพื้นฐานตรงนี้แล้ว เราก็จะสามารถดัดแปลงท่าฝึกให้เหมาะสมและเป็นไปตามสภาพร่างกายของเราและผู้อื่นได้ใช่ไหมครับ นอกจากนี้เรายังรู้จุดที่ต้องปรับปรุงและแก้ไขอีกด้วย วันนี้เอาแค่นี้ก่อนนะครับ เดี๋ยวจะงงกันเกินไป


หากใครมีจุดติดตรงไหน สามารถถามเข้ามาได้นะครับ แล้วพบกันใหม่ EP. หน้าครับ

ขอบคุณนางแบบ : ครู Sherry
#ครูโยคะมีเครา #AdamYoga #adambeardyogi #yogabiomechanics #vinyasa #yogathailand #yogabangkok #yogabkk #yogamen #menyoga #flowyoga #flow




 

Create Date : 10 ตุลาคม 2562    
Last Update : 10 ตุลาคม 2562 10:34:05 น.
Counter : 306 Pageviews.  

Biomechanics Yoga EP.2 โดยครูโยคะมีเครา

Biomechanics Yoga EP.2 โดยครูโยคะมีเครา


โพสที่แล้วอธิบายว่า Biomechanics Yoga คืออะไรไปแล้วนะครับ แต่ก็เชื่อว่าหลายคนไม่เห็นภาพหรอก

วันนี้ตามสัญญา คือ จะเป็นการวิเคราะห์ร่างกายง่ายๆ เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพมากขึ้นนะครับ

หากเวลาที่ผู้ฝึกโยคะทั่วไปมองท่าโยคะต่างๆ ก็คงมองที่ความสวยงามของท่า เสื้อผ้า หน้าผมใช่ไหมครับ แต่ในมุมมองคนที่เป็นครูมักจะมองต่างออกไป ครูออกกำลังกายหรือครูโยคะที่มีความรู้ในเรื่อง Biomechanics จะมองท่าแล้ว เหมือนในรูปนะครับ คือมองแนวแรง มอง alignment มองการจัดระเบียบร่างกาย

วันนี้จะยกตัวอย่างในจังหวะยกขาขึ้นจากพื้น ในท่า Headstand นะครับ

ในรูปที่ 1 จะเป็นท่า Headstand ในจังหวะที่หลายๆ คนติด (ไม่สามารถไปต่อได้) นะครับ ลองสังเกตดูเส้นที่ผมมาร์กเอาไว้นะครับ จะสังเกตได้ว่า แนวเส้น เกือบจะตั้งฉากหรือเรียกอีกว่าอย่างสะโพกยังมาไม่ถึงศีรษะใช่ไหมครับ

แล้วมาดูรูปที่ 2 ซึ่งเป็นจังหวะที่ยกขาลอยขึ้นจากพื้นไปแล้ว เราจะสังเกตได้ว่า แนวเส้นเดียวกัน ได้โน้มเอียงมาทางด้านซ้ายแล้ว หรือสะโพกโน้มล้ำศีรษะมาเล็กน้อย

โป๊ะเชะ ! จุดนี้แหละครับ เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถยกขาลอยจากพื้นในท่า Headstand ได้ซะที

นั้นก็เพราะ ส่วนใหญ่ที่ยังยกขาไม่ได้ เพราะคุณไม่ได้โน้มสะโพกมามากพอให้เหมือนดังเช่นรูปที่ 2

การโน้มสะโพกนี้ ร่างกายของเราจะต้องทำการชดเชยแรงอย่างมากครับ เพื่อให้สามารถยกขาลอยจากพื้นได้ ซึ่งเป็นจังหวะสำคัญที่ร่างกายจะเปลี่ยนจากการใช้แรงจากส่วนหนึ่งไปยังอีกส่วนหนึ่งครับ หรือเรียกอีกอย่างว่า body compensation ครับ

ถ้าอย่างนั้น เราก็แค่โน้มสะโพกก็ทำได้ใช่ไหม

ก็อาจจะไม่ใช่ครับ เพราะการโน้มสะโพกมาเป็นเทคนิคหนึ่ง แต่ที่เราไม่ทำกันเพราะว่าเราไม่สามารถทำได้เนื่องจากร่างกายหรือบางอย่างเราติดอยู่นั้นเองครับ

ถ้าให้พูดในโพสนี้คงยาวมากแน่ๆ เอาเป็นว่ายกตัวอย่างง่ายๆแค่นี้ก่อนนะครับ หากเรามีความรู้ด้าน Biomechanics Yoga เราก็จะสามารถวิเคราะห์ท่าและร่างกาย และแก้ไขจุดติดทั้งของตนเองและผู้อื่นได้ด้วยครับ

ขอขอบคุณนางแบบ KhunSher Sherry มากนะครับ ❤

#ครูโยคะมีเครา #AdamYoga #adambeardyogi #yogabiomechanics #vinyasa #yogathailand #yogabangkok #yogabkk #yogamen #menyoga #flowyoga #flow




 

Create Date : 10 ตุลาคม 2562    
Last Update : 10 ตุลาคม 2562 10:34:15 น.
Counter : 386 Pageviews.  

1  2  3  

ลูกชิ้นของฉันอร่อยจุงเบย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




: Users Online
Friends' blogs
[Add ลูกชิ้นของฉันอร่อยจุงเบย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.